ใครสำคัญที่สุดในชีวิตคุณ?
ใครสำคัญที่สุดในชีวิตคุณ?
“พระองค์ผู้เดียว . . . เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.”—เพลง. 83:18
1, 2. แม้ว่าสำคัญที่เราต้องรู้จักพระนามพระยะโฮวา แต่เราต้องทำอะไรด้วยเพื่อจะรอด?
ครั้งแรกที่คุณเห็นพระนามพระยะโฮวาอาจเป็นตอนที่มีคนเปิดบทเพลงสรรเสริญ 83:18 ให้คุณดู. คุณอาจแปลกใจเมื่ออ่านข้อคัมภีร์นี้ที่ว่า “เพื่อให้เขารู้ว่าพระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา. เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นับแต่นั้นมาคุณได้ใช้ข้อคัมภีร์นี้เพื่อช่วยคนอื่น ๆ ให้รู้จักพระยะโฮวา พระเจ้าของเราผู้เปี่ยมด้วยความรัก.—โรม 10:12, 13
2 แม้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนต้องรู้จักพระนามพระยะโฮวา แต่การรู้แค่นี้ยังไม่พอ. ขอให้สังเกตว่าผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเน้นความจริงอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเราจะรอดเมื่อท่านกล่าวว่า “พระองค์ผู้เดียว . . . เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในเอกภพทั้งสิ้น. ในฐานะพระผู้สร้างสรรพสิ่ง พระองค์ทรงมีสิทธิ์ที่จะคาดหมายว่าสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นจะอ่อนน้อมอยู่ใต้อำนาจของพระองค์อย่างเต็มที่. (วิ. 4:11) ดังนั้น เรามีเหตุผลที่ดีที่จะถามตัวเองว่า ‘ใครคือบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตฉัน?’ เป็นเรื่องสำคัญที่จะวิเคราะห์คำตอบของเราอย่างรอบคอบ!
ประเด็นที่เกิดขึ้นในสวนเอเดน
3, 4. ซาตานล่อลวงฮาวาได้อย่างไร และผลเป็นเช่นไร?
3 ความสำคัญของคำถามดังกล่าวอาจเห็นได้อย่างชัดเจนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนเอเดน. ที่นั่น ทูตสวรรค์ที่ขืนอำนาจ ซึ่งรู้จักกันในภายหลังว่าซาตานพญามาร ได้ล่อลวงฮาวาผู้หญิงคนแรกให้ทำตามความปรารถนาของนางเองแทนที่จะทำตามพระบัญชาของพระยะโฮวาที่ห้ามไม่ให้กินผลไม้จากต้นไม้ต้นหนึ่ง. (เย. 2:17; 2 โค. 11:3) นางยอมแพ้แก่การล่อลวงนี้และแสดงให้เห็นว่านางไม่นับถืออำนาจสูงสุดแห่งการปกครองของพระยะโฮวา. ฮาวาไม่ได้ยอมรับว่าพระยะโฮวาเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตนาง. แต่ซาตานล่อลวงฮาวาได้อย่างไร?
4 ซาตานใช้กลอุบายที่แยบยลหลายอย่างในการพูดกับฮาวา. (อ่านเยเนซิศ 3:1-5) ประการแรก ซาตานไม่ได้ใช้พระนามของพระเจ้า. มันเพียงแต่กล่าวถึง “พระเจ้า.” ตรงกันข้าม ผู้เขียนหนังสือเยเนซิศใช้พระนามของพระเจ้าในข้อแรกของบทที่สาม. ประการที่สอง แทนที่ซาตานจะพูดว่าพระเจ้า “ตรัสสั่ง” (ตามภาษาเดิม) ซาตานเพียงแต่พูดว่าพระเจ้า “ตรัส.” (เย. 2:16) ด้วยวิธีที่แยบยลแบบนี้ ซาตานอาจพยายามลดทอนความสำคัญของพระบัญชา. ประการที่สาม แม้ว่าพูดกับฮาวาคนเดียว มันใช้คำสรรพนาม “พวกเจ้า” (ตามภาษาเดิม). โดยทำอย่างนี้ มันอาจพยายามปลุกเร้าความหยิ่งทะนงโดยทำให้นางรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ ราวกับว่านางเป็นผู้พูดแทนตัวเองและสามี. ผลเป็นอย่างไร? ดูเหมือนว่าฮาวาถือดีและพูดแทนตัวเองและสามีโดยพูดกับงูว่า “ผลไม้ในสวนนี้เรา กินได้ทั้งหมด.”
5. (ก) ซาตานชักนำให้ฮาวาสนใจอะไร? (ข) การที่ฮาวากินผลไม้ต้องห้ามแสดงถึงอะไร?
5 นอกจากนั้น ซาตานยังบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วย. มันกล่าวเป็นนัย ๆ ว่าพระเจ้าไม่ยุติธรรมที่ทรงสั่งอาดามและฮาวาว่า “เจ้าอย่ากินผลไม้ทุกอย่าง ในสวนนี้.” ถัดจากนั้น ซาตานชี้ชวนให้ฮาวาคิดถึงตัวเองและวิธีที่ชีวิตนางจะดีขึ้น โดยที่นางจะเป็น “เหมือนพระ.” ในที่สุด มันทำให้นางคิดถึงแต่เรื่องต้นไม้และผลของต้นนี้แทนที่จะคิดถึงสายสัมพันธ์ที่นางมีกับผู้ที่ได้ประทานทุกสิ่งแก่นาง. (อ่านเยเนซิศ ) น่าเศร้า การที่ฮาวากินผลไม้นี้แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาไม่ใช่บุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตนาง. 3:6
ประเด็นในสมัยของโยบ
6. ซาตานกล่าวหาโยบอย่างไรในเรื่องประวัติความซื่อสัตย์จงรักภักดีของท่าน และเรื่องนี้ทำให้โยบมีโอกาสจะทำอะไร?
6 หลายศตวรรษต่อมา โยบผู้ซื่อสัตย์มีโอกาสแสดงให้เห็นว่าใครคือบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตท่าน. เมื่อพระยะโฮวาทรงยกประวัติความซื่อสัตย์จงรักภักดีของโยบขึ้นมาตรัสกับซาตาน มันตอบกลับว่า “โยบนั้นยำเกรงพระเจ้าด้วยเปล่าประโยชน์หรือ?” (อ่านโยบ 1:7-10) ซาตานไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าโยบเชื่อฟังพระเจ้า. แทนที่จะทำเช่นนั้น มันตั้งข้อสงสัยในเรื่องแรงจูงใจของโยบ. มันกล่าวหาโยบอย่างมีเลศนัยว่าท่านไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาเพราะความรัก แต่เพราะผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัว. มีเพียงโยบเท่านั้นที่สามารถตอบข้อกล่าวหานั้นได้ และท่านมีโอกาสที่จะทำอย่างนั้น.
7, 8. โยบต้องรับมือการทดสอบอะไรบ้าง และการที่ท่านอดทนอย่างซื่อสัตย์แสดงให้เห็นอะไร?
7 พระยะโฮวาทรงยอมให้ซาตานทำให้เกิดความหายนะอย่างแล้วอย่างเล่าแก่โยบ. (โยบ 1:12-19) โยบแสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่พลิกผันเช่นนั้นอย่างไร? พระคัมภีร์บอกเราว่า ท่าน “หาได้กระทำผิดสิ่งใดไม่, และมิได้กล่าวโทษอันใดต่อพระเจ้าเลย.” (โยบ 1:22) แต่ซาตานยังไม่ยอมเงียบ. มันยังบ่นต่อไปอีกว่า “หนังแทนหนัง จริงละ, คนย่อมสละอะไร ๆ ทุกสิ่งได้, เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนชีวิตของตนให้คงอยู่.” * (โยบ 2:4) ซาตานกล่าวหาว่า ถ้าตัวโยบเองต้องทนทุกข์ ท่านก็จะไม่ถือว่าพระยะโฮวาเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตท่านอีกต่อไป.
8 โยบเป็นแผลทั้งตัวเนื่องจากโรคที่น่ารังเกียจ และภรรยาของท่านก็กดดันท่านให้แช่งด่าพระเจ้าแล้วตายเสีย. ต่อมา ผู้ปลอบโยนจอมปลอมสามคนกล่าวหาว่าท่านทำผิด. (โยบ 2:11-13; 8:2-6; 22:2, 3) อย่างไรก็ตาม แม้ต้องทนทุกข์ด้วยเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด โยบไม่ยอมละทิ้งความซื่อสัตย์จงรักภักดี. (อ่านโยบ 2:9, 10) การที่ท่านอดทนอย่างซื่อสัตย์แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตท่าน. โยบยังแสดงให้เห็นด้วยว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์จะตอบข้อกล่าวหาผิด ๆ ของพญามาร แม้ว่าจะทำได้จำกัด.—เทียบกับสุภาษิต 27:11
ตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของพระเยซู
9. (ก) ซาตานพยายามใช้ความปรารถนาส่วนตัวของพระเยซูเพื่อล่อใจพระองค์อย่างไร? (ข) พระเยซูทรงตอบการล่อใจนี้อย่างไร?
9 ไม่นานหลังจากพระเยซูทรงรับบัพติสมา ซาตานพยายามล่อลวงพระองค์ให้ทำตามความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว แทนที่จะให้พระยะโฮวาเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตพระองค์. พญามารล่อใจพระเยซูสามครั้ง. ครั้งแรก มันพยายามกระตุ้นพระเยซูให้สนองความปรารถนาทางกายโดยยั่วยุพระองค์ให้เปลี่ยนหินเป็นขนมปัง. (มัด. 4:2, 3) พระเยซูเพิ่งอดอาหารมานานถึง 40 วันและทรง หิวมาก. พญามารจึงยุพระองค์ให้ใช้อำนาจอัศจรรย์ที่พระองค์มีเพื่อดับความหิว. พระเยซูทรงตอบอย่างไร? ไม่เหมือนกับฮาวา พระคำของพระยะโฮวาแจ่มชัดอยู่ในความคิดของพระเยซู พระองค์จึงปฏิเสธการล่อใจนั้นทันที.—อ่านมัดธาย 4:4
10. เหตุใดซาตานจึงท้าพระเยซูให้กระโจนลงจากกำแพงพระวิหาร?
10 ซาตานยังพยายามปลุกเร้าให้พระเยซูทำอย่างเห็นแก่ตัวด้วย. มันท้าพระเยซูให้กระโจนลงจากกำแพงด้านที่สูงที่สุดของพระวิหาร. (มัด. 4:5, 6) ซาตานหวังจะให้เกิดผลเช่นไร? ซาตานอ้างว่าถ้าพระเยซูไม่ได้รับบาดเจ็บเมื่อกระโจนลงมา นั่นย่อมพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงเป็น “บุตรของพระเจ้า.” เห็นได้ชัดว่า พญามารต้องการให้พระเยซูเป็นห่วงกังวลในเรื่องชื่อเสียงของตนเองมากเกินควร ถึงขนาดที่จะโอ้อวดให้คนอื่นเห็น. ซาตานรู้ว่าคนเราอาจยอมรับคำท้าให้เสี่ยงอันตรายเพราะความหยิ่งทะนงและเพราะกลัวจะเสียหน้าเมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่น. ซาตานใช้ข้อคัมภีร์อย่างผิด ๆ แต่พระเยซูทรงแสดงว่าพระองค์ทรงเข้าใจพระคำของพระยะโฮวาอย่างถี่ถ้วน. (อ่านมัดธาย 4:7) ด้วยการปฏิเสธคำท้านั้น พระเยซูทรงพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าพระยะโฮวาทรงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตพระองค์.
11. เหตุใดพระเยซูทรงปฏิเสธข้อเสนอของพญามารที่จะยกอาณาจักรทั้งหมดของโลกให้?
11 ในความพยายามครั้งสุดท้าย ซาตานถึงกับเสนอที่จะยกอาณาจักรทั้งหมดของโลกให้พระเยซู. (มัด. 4:8, 9) พระเยซูทรงปฏิเสธข้อเสนอนั้นทันที. พระองค์ทรงรู้ว่าการยอมรับข้อเสนอนั้นย่อมเท่ากับปฏิเสธอำนาจสูงสุดแห่งการปกครองของพระยะโฮวา. (อ่านมัดธาย 4:10) ในแต่ละกรณี พระเยซูทรงตอบซาตานโดยยกข้อคัมภีร์ที่มีพระนามพระยะโฮวา.
12. เมื่อใกล้จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตบนแผ่นดินโลก พระเยซูต้องตัดสินใจเรื่องที่ทำให้ลำบากใจมากอะไร และเราเรียนรู้อะไรได้จากปฏิกิริยาของพระองค์?
12 เมื่อใกล้จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตบนแผ่นดินโลก พระเยซูต้องตัดสินใจเรื่องที่ทำให้ลำบากใจมากเรื่องหนึ่ง. ตลอดช่วงที่ทรงรับใช้ พระองค์แสดงให้เห็นว่าพระองค์เต็มพระทัยจะสละชีวิตเป็นเครื่องบูชา. (มัด. 20:17-19, 28; ลูกา 12:50; โย. 16:28) อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงรู้ว่าพระองค์จะถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ และถูกตัดสินว่า มีความผิดตามระบบกฎหมายยิวและจะถูกสำเร็จโทษในฐานะผู้หมิ่นประมาทด้วย. การที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์แบบนี้ทำให้พระองค์ทรงทุกข์ใจอย่างยิ่ง. พระองค์ทรงอธิษฐานว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นได้ ขอทรงให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพเจ้า.” แต่พระองค์ตรัสต่อไปว่า “แต่อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด.” (มัด. 26:39) ใช่แล้ว การที่พระเยซูทรงซื่อสัตย์ตราบจนวันตายพิสูจน์ให้เห็นอย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่าใครคือบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตพระองค์!
เราจะตอบคำถามนี้อย่างไร?
13. เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของฮาวา โยบ และพระเยซูคริสต์?
13 จนถึงตอนนี้เราได้เรียนอะไรบ้าง? ในกรณีของฮาวา เราได้เรียนว่าคนที่ยอมแพ้แก่ความปรารถนาอันเห็นแก่ตัวหรือความรู้สึกว่าตัวเองสำคัญเผยให้เห็นว่าพระยะโฮวาไม่ใช่บุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา. ตรงกันข้าม จากบันทึกเรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดีของโยบ เราเรียนรู้ว่าแม้แต่มนุษย์ไม่สมบูรณ์ก็สามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกด้วยการอดทนความทุกข์ยากลำบากอย่างซื่อสัตย์ แม้ว่าไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ยากนั้น. (ยโก. 5:11) ท้ายสุด ตัวอย่างของพระเยซูสอนเราให้เต็มใจทนรับความอับอายและไม่ให้ความสำคัญมากเกินไปในเรื่องชื่อเสียงของตัวเอง. (ฮีบรู 12:2) แต่เราจะใช้บทเรียนเหล่านี้ได้อย่างไร?
14, 15. พระเยซูทรงแสดงปฏิกิริยาต่างกับฮาวาอย่างไรเมื่อถูกล่อใจ และเราจะเลียนแบบพระองค์ได้อย่างไร? (จงให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพในหน้า 18)
14 อย่ายอมให้การล่อใจทำให้คุณลืมพระยะโฮวา. ฮาวาปล่อยให้ตัวเองสนใจสิ่งที่ซาตานใช้เพื่อล่อใจนาง. นางเห็นว่าผลไม้นั้น “น่ากินและน่าดู และผลของต้นไม้นั้นก็งามสะดุดตาจริง ๆ.” (เย. 3:6, ล.ม.) ช่างต่างกันจริง ๆ กับปฏิกิริยาที่พระเยซูแสดงเมื่อถูกล่อใจทั้งสามครั้ง! แต่ละครั้ง พระองค์ทรงมองไกลไปถึงผลที่จะเกิดขึ้น และไม่สนใจการล่อใจนั้น. พระองค์พึ่งพระคำของพระเจ้าและใช้พระนามพระยะโฮวาด้วย.
15 เมื่อถูกล่อใจให้ทำสิ่งที่พระยะโฮวาไม่พอพระทัย เรามุ่งความสนใจไปที่สิ่งใด? ยิ่งเราสนใจการล่อใจมากเท่าไร ความปรารถนาที่ผิดก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น. (ยโก. 1:14, 15) เราจำเป็นต้องกำจัดความปรารถนาที่ผิดนั้นออกไปโดยเร็ว แม้ว่าการกระทำนั้นอาจดูเหมือนว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงราวกับกำจัดส่วนหนึ่งของร่างกายเราทิ้ง. (มัด. 5:29, 30) เช่นเดียวกับพระเยซู เราต้องมุ่งความสนใจไปที่ผลของการกระทำของเรา โดยพิจารณาว่านั่นจะส่งผลอย่างไรต่อสายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา. เราต้องระลึกถึงสิ่งที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า. โดยการทำอย่างนี้เท่านั้นจึงจะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตเรา.
16-18. (ก) อะไรอาจทำให้หัวใจเราท้อแท้หมดกำลังใจ? (ข) อะไรจะช่วยเราให้รับมือเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ใจ?
16 อย่าปล่อยให้ความทุกข์โศกของตัวเองทำให้คุณโกรธเคืองพระยะโฮวา. (สุภา. 19:3) ขณะที่เราเข้าใกล้อวสานของโลกชั่วนี้มากขึ้น ก็จะมีประชาชนของพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและโศกนาฏกรรม. เราไม่คาดหมายว่าจะได้รับการปกป้องอย่างอัศจรรย์ในเวลานี้. ถึงกระนั้น เช่นเดียวกับโยบ เราอาจท้อแท้หมดกำลังใจเมื่อเราสูญเสียผู้เป็นที่รักหรือเมื่อเราเองประสบความยุ่งยากลำบาก.
17 โยบไม่เข้าใจว่าทำไมพระยะโฮวาทรงยอมให้บางสิ่งเกิดขึ้นกับท่าน และบางครั้งเราอาจไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งร้าย ๆ จึงเกิดขึ้น. เราอาจได้ยินข่าวว่าพี่น้องที่ซื่อสัตย์ของเราเสียชีวิตจากแผ่นดินไหว เช่นที่เฮติ หรือเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติอื่น ๆ. หรือเราอาจรู้จักพี่น้องที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่รุนแรงหรือเสียชีวิตในอุบัติเหตุร้ายแรง. หรือเราอาจประสบความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ใจหรือที่เราคิดว่าไม่ยุติธรรม. ความทุกข์ระทมที่เราประสบอาจทำให้เราคิดว่า ‘โอ้ พระยะโฮวา. ทำไมต้องเป็นข้าพเจ้า? ข้าพเจ้าทำอะไรผิดหรือ?’ (ฮบา. 1:2, 3) อะไรจะช่วยเราให้รับมือได้ในช่วงเวลาเช่นนั้น?
ลูกา 13:1-5) ภัยพิบัติหลายอย่างเป็นผลมาจาก “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า.” (ผู้ป. 9:11, ล.ม.) แต่ไม่ว่าความทุกข์ยากนั้นเกิดจากอะไร เราจะรับมือได้ถ้าเราหมายพึ่ง “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง.” พระองค์จะประทานความเข้มแข็งที่จำเป็นแก่เราเพื่อรักษาความซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป.—2 โค. 1:3-6
18 เราต้องระวังไม่ทึกทักเอาเองว่าเหตุการณ์เช่นนั้นบ่งชี้ว่าพระยะโฮวาไม่พอพระทัยเรา. พระเยซูทรงเน้นให้เห็นข้อเท็จจริงนี้เมื่อตรัสถึงโศกนาฏกรรมสองครั้งในสมัยของพระองค์. (อ่าน19, 20. อะไรช่วยพระเยซูให้อดทนการดูหมิ่นเหยียดหยาม และอะไรจะช่วยเราให้ทำอย่างเดียวกันได้?
19 อย่าปล่อยให้ความหยิ่งทะนงหรือความกลัวว่าจะเสียหน้ากลายเป็นเรื่องที่คุณให้ความสำคัญมากที่สุด. ความถ่อมของพระเยซูทำให้พระองค์สามารถ “สละพระองค์เองแล้วรับสภาพทาส.” (ฟิลิป. 2:5-8) พระองค์สามารถอดทนการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะพระองค์ทรงหมายพึ่งพระยะโฮวา. (1 เป. 2:23, 24) โดยทำอย่างนั้น พระเยซูให้พระประสงค์ของพระยะโฮวามาเป็นอันดับแรก และนี่ทำให้พระองค์ได้รับการยกชูให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น. (ฟิลิป. 2:9) พระเยซูทรงแนะนำเหล่าสาวกให้ดำเนินชีวิตแบบเดียวกับพระองค์.—มัด. 23:11, 12; ลูกา 9:26
20 บางครั้ง การทดสอบความเชื่อของเราบางอย่างอาจทำให้เราอับอาย. กระนั้น เราควรเชื่อมั่นแบบเดียวกับอัครสาวกเปาโลที่กล่าวว่า “ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงทนความยากลำบากเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่อาย. เพราะข้าพเจ้ารู้จักพระองค์ผู้ที่ข้าพเจ้าเชื่อนั้น และข้าพเจ้ามั่นใจว่าพระองค์จะทรงสามารถรักษาสิ่งที่ข้าพเจ้าฝากไว้กับพระองค์จนกว่าจะถึงวันนั้น.”—2 ติโม. 1:12
21. แม้ว่าผู้คนในโลกมีทัศนคติที่เห็นแก่ตัว คุณตั้งใจแน่วแน่จะทำเช่นไร?
21 คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าว่าในสมัยของเรา ผู้คนจะ “รักตัวเอง.” (2 ติโม. 3:2) ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่ผู้คนรอบตัวเราถือว่าตัวเองสำคัญที่สุด. ขอเราอย่ารับเอาทัศนคติที่เห็นแก่ตัวเช่นนั้น! แต่ไม่ว่าเราจะถูกล่อใจ ประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ใจ หรือเผชิญความพยายามที่ทำให้เราอับอาย ขอให้เราแต่ละคนตั้งใจแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตเราจริง ๆ!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนคิดว่าวลี “หนังแทนหนัง” อาจหมายถึงการที่โยบเห็นแก่ตัวและเต็มใจให้ลูกและฝูงสัตว์ของตนสูญเสียหนังหรือชีวิต ตราบใดที่ตัวท่านเองไม่ต้องสูญเสียหนังหรือชีวิต. ผู้คงแก่เรียนคนอื่น ๆ คิดว่าวลีนี้เน้นการที่ใครคนหนึ่งจะเต็มใจสูญเสียหนังบางส่วนถ้านั่นจะช่วยรักษาชีวิตเขาไว้ได้. ตัวอย่างเช่น ใครคนหนึ่งอาจยกแขนป้องศีรษะไว้ไม่ให้ถูกตี ซึ่งการทำอย่างนั้นทำให้เขาสูญเสียหนังที่แขนเพื่อรักษาหนังที่ศีรษะไว้. ไม่ว่าสำนวนนี้หมายถึงอะไรจริง ๆ เห็นได้ชัดว่าวลีนี้หมายถึงโยบจะยินดีสละทุกสิ่งเพื่อรักษาชีวิตของท่านไว้.
เราเรียนอะไรได้จาก . . .
• วิธีที่ซาตานหลอกลวงฮาวา?
• ปฏิกิริยาของโยบต่อความทุกข์โศกเศร้าของตัวท่านเอง?
• สิ่งที่พระเยซูทรงถือว่าสำคัญที่สุด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 17]
ฮาวาไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่สายสัมพันธ์ของนางกับพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 18]
พระเยซูทรงปฏิเสธการล่อใจจากซาตาน และมุ่งความสนใจไปที่การทำตามพระประสงค์ของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 20]
การประกาศตามเต็นท์ หลังเกิดแผ่นดินไหวที่เฮติ
ในยามทุกข์ร้อน เราสามารถหมายพึ่ง “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง”