‘ให้เอาพวกม้วนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้วนที่เป็นแผ่นหนังมาด้วย’
‘ให้เอาพวกม้วนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้วนที่เป็นแผ่นหนังมาด้วย’
โดยกล่าวดังถ้อยคำข้างต้น อัครสาวกเปาโลขอติโมเธียว เพื่อนมิชชันนารีของท่าน ให้รีบนำม้วนหนังสือบางส่วนมาให้ท่าน. เปาโลกล่าวถึงม้วนหนังสือที่เป็นแผ่นหนังและม้วนหนังสืออะไร? อะไรทำให้ท่านกล่าวอย่างนี้? และเราอาจเรียนอะไรได้จากคำขอนี้?
ราว ๆ กลางศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช เมื่อเปาโลเขียนข้อความดังกล่าว หนังสือคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู 39 เล่มได้ถูกแบ่งเป็นหนังสือ 22 หรือ 24 เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นม้วนหนังสือที่แยกต่างหากกัน. ศาสตราจารย์อลัน มิลลาร์ด ชี้ว่าแม้ม้วนหนังสือเหล่านี้มีราคาแพง แต่ก็ “ไม่เกินกำลังที่คนผู้มีฐานะพอสมควรจะซื้อได้.” บางคนมีม้วนหนังสืออย่างน้อยหนึ่งม้วน. ตัวอย่างเช่น ขันทีชาวเอธิโอเปียมีม้วนหนังสือม้วนหนึ่งในรถม้าและเขา “อ่านหนังสือของผู้พยากรณ์ยะซายาห์โดยการออกเสียง.” เขาเป็น “ข้าราชการที่มีอำนาจมากของกันดาเก คือราชินีแห่งเอธิโอเปีย และเป็นผู้ดูแลคลังทรัพย์ของพระนาง.” เขาคงต้องมั่งคั่งพอที่จะมีส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ไว้เป็นส่วนตัว.—กิจ. 8:27, 28
เปาโลเขียนถึงติโมเธียวและขอร้องท่านว่า “เมื่อท่านมา ให้เอาเสื้อคลุมที่ข้าพเจ้าฝากไว้กับคาร์ปุสที่เมืองโตรอัสมาด้วย รวมทั้งพวกม้วนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้วนที่เป็นแผ่นหนัง.” (2 ติโม. 4:13) นี่แสดงว่าเปาโลมีม้วนหนังสือของตนเองหลายม้วน. ในบรรดาม้วนหนังสือทั้งหลายในห้องสมุดของท่าน มีอะไรหรือที่สำคัญยิ่งไปกว่าพระคำของพระเจ้า? เอ. ที. โรเบิร์ตสัน ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับวลี “ม้วนที่เป็นแผ่นหนัง” ในข้อนี้ โดยบอกว่า “ม้วนหนังสือที่ท่านขอเป็นพิเศษนี้น่าจะได้แก่ฉบับสำเนาหนังสือในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ทั้งนี้ม้วนหนังสือที่เป็นแผ่นหนังแพงกว่าม้วนที่ทำจากพาไพรัส.” ตั้งแต่เด็ก เปาโล “รับการสอนโดยตรงจากท่านกามาลิเอล” ซึ่งเป็นผู้สอนพระบัญญัติของโมเซและได้รับความนับถือจากทุกคน. จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่เปาโลจะมีม้วนหนังสือพระคำของพระเจ้าเป็นของตัวเอง.—กิจ. 5:34; 22:3
วิธีที่คริสเตียนใช้ม้วนหนังสือ
อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีม้วนหนังสือคัมภีร์บริสุทธิ์เป็นส่วนตัว. ถ้าอย่างนั้น คริสเตียนส่วนใหญ่ในเวลานั้นได้ประโยชน์จากพระคำของพระเจ้าโดยวิธีใด? เรารู้เรื่องนี้ได้จากจดหมายที่เปาโลเขียนถึงติโมเธียวก่อนหน้านั้น. ท่านเขียนว่า “จงเอาใจใส่ในการอ่านให้คนอื่นฟัง . . . จนกว่าข้าพเจ้าจะมา.” (1 ติโม. 4:13) การอ่านให้คนอื่นฟังเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบวาระการประชุมของประชาคมคริสเตียน ซึ่งเป็นกิจปฏิบัติที่สืบทอดกันมานานในหมู่ประชาชนของพระเจ้านับตั้งแต่สมัยของโมเซ.—กิจ. 13:15; 15:21; 2 โค. 3:15
ในฐานะผู้ปกครอง ติโมเธียวต้อง “เอาใจใส่” ในการอ่านออกเสียง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ไม่มีพระคัมภีร์เป็นของตัวเอง. แน่นอน ระหว่างที่อ่านพระคำของพระเจ้า
ให้คนอื่นฟัง ทุกคนตั้งใจฟังเพื่อจะไม่พลาดแม้แต่คำเดียว และบิดามารดารวมทั้งบุตรคงต้องได้พิจารณาเรื่องที่อ่านในการประชุมนั้นด้วยกันที่บ้าน.ม้วนหนังสือยะซายาที่มีชื่อเสียงซึ่งค้นพบที่ทะเลเดดซียาวเกือบ 7.3 เมตร. ม้วนหนังสือแต่ละม้วนคงจะหนักทีเดียว เพราะแต่ละด้านมีแกนไม้และมักมีปลอกหุ้มเพื่อป้องกันม้วนหนังสือ. คริสเตียนส่วนใหญ่คงไม่สามารถนำม้วนหนังสือหลายม้วนไปด้วยเพื่อใช้ในการประกาศ. แม้ว่าเปาโลมีม้วนหนังสือพระคัมภีร์ที่จะใช้เป็นส่วนตัวอยู่หลายม้วน ท่านคงไม่สามารถนำม้วนหนังสือของท่านไปด้วยทั้งหมดในการเดินทาง. ดูเหมือนว่าท่านได้ฝากม้วนหนังสือบางส่วนไว้กับคาร์ปุสเพื่อนของท่านที่เมืองโตรอัส.
เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเปาโล?
ก่อนจะไหว้วานติโมเธียว เปาโลซึ่งถูกคุมขังเป็นครั้งที่สองในกรุงโรม เขียนว่า “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งจนถึงเส้นชัยแล้ว . . . ตั้งแต่นี้ไป มีมงกุฎแห่งความชอบธรรมไว้สำหรับข้าพเจ้า.” (2 ติโม. 4:7, 8) ท่านคงเขียนถ้อยคำดังกล่าวเมื่อประมาณ ส.ศ. 65 ในช่วงที่จักรพรรดิเนโรข่มเหงคริสเตียน. ครั้งนี้ การคุมขังเข้มงวดมาก. ที่จริง ท่านรู้สึกได้ว่าท่านคงจะถูกประหารในอีกไม่ช้า. (2 ติโม. 1:16; 4:6) เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากที่เปาโลแสดงออกว่าท่านปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีม้วนหนังสืออยู่ในมือ. แม้ท่านเชื่อมั่นว่าได้ต่อสู้อย่างดีแล้วจนถึงเส้นชัย ท่านปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเสริมกำลังตัวเองให้เข้มแข็งด้วยการศึกษาพระคำของพระเจ้าต่อ ๆ ไป.
ติโมเธียวคงยังอยู่ที่เมืองเอเฟโซส์เมื่อเปาโลไหว้วานท่าน. (1 ติโม. 1:3) จากเมืองเอเฟโซส์ไปยังกรุงโรมโดยใช้เส้นทางที่ผ่านเมืองโตรอัสเป็นระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร. เปาโลกระตุ้นติโมเธียวในจดหมายฉบับเดียวกันนี้ว่า “ให้ท่านพยายามมาถึงก่อนฤดูหนาว.” (2 ติโม. 4:21) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เปิดเผยว่าติโมเธียวหาเรือเพื่อเดินทางไปยังกรุงโรมทันเวลาที่เปาโลต้องการให้ไปถึงหรือไม่.
เราเรียนอะไรได้จากคำขอของเปาโลที่ให้นำ “พวกม้วนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้วนที่เป็นแผ่นหนัง” มาให้ท่าน? ท่านยังคงมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้พระคำของพระเจ้าแม้ว่าอยู่ในช่วงที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต. คุณเห็นมิใช่หรือว่านี่เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ท่านตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอและรับใช้อย่างขันแข็ง อีกทั้งเป็นแหล่งที่ให้กำลังใจแก่หลายคน?
ทุกวันนี้ ช่างเป็นพระพรสักเพียงไรที่เรามีคัมภีร์ไบเบิลครบชุดเป็นส่วนตัว! บางคนมีหลายเล่มและมีหลายฉบับแปลด้วยซ้ำ. เช่นเดียวกับเปาโล เราจำเป็นต้องพัฒนาความปรารถนาที่จะเข้าใจพระคัมภีร์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น. ในจำนวนจดหมาย 14 ฉบับที่เปาโลมีสิทธิพิเศษได้เขียนโดยได้รับการดลใจ จดหมายฉบับที่สองที่เขียนถึงติโมเธียวเป็นฉบับสุดท้าย. คำขอร้องเป็นส่วนตัวของท่านอยู่ส่วนท้ายของหนังสือนี้. ที่จริง คำวิงวอนของเปาโลที่ขอให้ติโมเธียวนำ “พวกม้วนหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้วนที่เป็นแผ่นหนัง” มาให้เป็นคำขอสุดท้ายของท่านตามที่มีบันทึกไว้.
คุณปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะต่อสู้อย่างดีจนถึงที่สุดเพื่อรักษาความเชื่อเช่นเดียวกับเปาโลไหม? คุณขันแข็งอยู่เสมอในการรับใช้พระยะโฮวาและพร้อมจะเข้าร่วมในการประกาศต่อ ๆ ไปตราบเท่าที่องค์พระผู้เป็นเจ้าประสงค์ให้เราทำไหม? ถ้าอย่างนั้นคุณน่าจะทำอย่างที่เปาโลกระตุ้นคริสเตียนให้ทำ. “จงหมั่นเอาใจใส่ตัวท่านเองและการสอนของท่าน” โดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างกระตือรือร้นและสม่ำเสมอ. ในเวลานี้ ผู้คนมากมายสามารถหาอ่านคัมภีร์ไบเบิลได้ในรูปของหนังสือซึ่งสะดวกกว่าม้วนหนังสือ.—1 ติโม. 4:16
[แผนที่/ภาพหน้า 18, 19]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
เอเฟโซส์
โตรอัส
กรุงโรม