ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ผมเคยกลัวความตาย แต่ตอนนี้ผมคอยท่าชีวิตที่ “บริบูรณ์”

ผมเคยกลัวความตาย แต่ตอนนี้ผมคอยท่าชีวิตที่ “บริบูรณ์”

ผม​เคย​กลัว​ความ​ตาย แต่​ตอน​นี้​ผม​คอย​ท่า​ชีวิต​ที่ “บริบูรณ์”

เล่า​โดย ปิเอโร กัตตี

เสียง​ล้อ​รถ​หนัก ๆ ค่อย ๆ ดัง​ขึ้น ๆ. แล้ว​เสียง​โหยหวน​ของ​สัญญาณ​เตือน​ภัย​ก็​ตาม​มา เตือน​ผู้​คน​ให้​หา​ที่​หลบ​ภัย. จาก​นั้น​ก็​มี​เสียง​อัน​น่า​กลัว​ของ​ลูก​ระเบิด การ​ทำลาย​ล้าง และ​เสียง​ดัง​สนั่น​แสบ​แก้ว​หู​ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​คน​ตื่น​ตระหนก.

นั่น​คือ​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ที่​เมือง​มิลาน​ประเทศ​อิตาลี​ใน​ปี 1943 และ 1944. ใน​ฐานะ​ทหาร​หนุ่ม​ที่​ประจำการ​อยู่​ที่​นั่น ผม​มัก​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ให้​ไป​เก็บ​ซาก​ศพ​ที่​ถูก​ฝัง​อยู่​ใน​หลุม​หลบ​ภัย​ที่​โดน​ระเบิด​ซึ่ง​ผู้​คน​ถูก​กัก​อยู่​ใน​นั้น ร่าง​กาย​ถูก​ฉีก​เป็น​ชิ้น ๆ จน​จำ​ไม่​ได้. และ​ไม่​ใช่​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​คน​อื่น ๆ เท่า​นั้น​ที่​ผม​เห็น​ต่อ​หน้า​ต่อ​ตา. บาง​ครั้ง​ตัว​ผม​เอง​ก็​เฉียด​ตาย​อย่าง​หวุดหวิด. เมื่อ​เกิด​เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น​ผม​ก็​จะ​อธิษฐาน สัญญา​กับ​พระเจ้า​ว่า​ถ้า​ผม​รอด​ตาย​จาก​การ​ทำลาย​ล้าง ผม​จะ​ทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์.

ขจัด​ความ​กลัว​ตาย

ผม​เติบโต​มา​ใน​หมู่​บ้าน​ที่​อยู่​ห่าง​จาก​เมือง​โกโม​ประเทศ​อิตาลี​ราว ๆ สิบ​กิโลเมตร ซึ่ง​อยู่​ใกล้​กับ​ชายแดน​ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์. ผม​เผชิญ​ความ​ทุกข์​โศก​เศร้า​และ​กลัว​ความ​ตาย​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย. ไข้หวัด​ใหญ่​สเปน​คร่า​ชีวิต​พี่​สาว​สอง​คน​ของ​ผม. และ​หลัง​จาก​นั้น​ใน​ปี 1930 ตอน​ที่​ผม​อายุ​แค่​หก​ขวบ ลุยจี​อา​แม่​ของ​ผม​ก็​เสีย​ชีวิต. เนื่อง​จาก​ผม​เติบโต​มา​ใน​ครอบครัว​คาทอลิก ผม​ปฏิบัติ​ตาม​กฎ​ศาสนา​และ​ไป​โบสถ์​เป็น​ประจำ. แต่​อีก​หลาย​ปี​ต่อ​มา​ความ​กลัว​ของ​ผม​จึง​ถูก​ขจัด​ออก​ไป​ได้ ไม่​ใช่​เพราะ​คริสตจักร แต่​เพราะ​ร้าน​ตัด​ผม​แห่ง​หนึ่ง.

ใน​ปี 1944 สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ทำ​ให้​คน​ตาย​เป็น​เบือ. ผม​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​บรรดา​ทหาร​อิตาลี​หลาย​หมื่น​คน​ที่​หนี​จาก​เขต​ที่​มี​การ​ปะทะ​กัน​ไป​ยัง​ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์​ที่​เป็น​กลาง. เมื่อ​ไป​ถึง​เรา​ถูก​นำ​ตัว​ไป​อยู่​ใน​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย. ผม​ถูก​ส่ง​ไป​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย​แห่ง​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ เมือง​สไตนัค​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​ประเทศ. ที่​นั่น​เรา​ได้​รับ​เสรีภาพ​พอ​สม​ควร. ช่าง​ตัด​ผม​ใน​เมือง​สไตนัค​ต้องการ​ผู้​ช่วย​ชั่ว​คราว​ใน​ร้าน​ของ​เขา. ผม​ไป​อยู่​และ​ทำ​งาน​กับ​เขา​เพียง​แค่​เดือน​เดียว แต่​นั่น​ก็​มาก​พอ​ที่​ผม​จะ​รู้​จัก​ใคร​คน​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​ชีวิต​ผม​เปลี่ยน​ไป.

ลูก​ค้า​คน​หนึ่ง​ของ​ช่าง​ตัด​ผม​คือ​อะดอลโฟ เตลลีนี​ซึ่ง​เป็น​ชาว​อิตาลี​ที่​อยู่​ใน​ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์. เขา​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ผม​ไม่​เคย​ได้​ยิน​เกี่ยว​กับ​กลุ่ม​นี้​มา​ก่อน ซึ่ง​ก็​ไม่​น่า​แปลก​ใจ​เพราะ​ตอน​นั้น​มี​พยาน​ฯ ใน​อิตาลี​ไม่​ถึง 150 คน. อะดอลโฟ​บอก​ให้​ผม​รู้​ความ​จริง​อัน​ยอด​เยี่ยม​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​กับ​คำ​สัญญา​ที่​จะ​มี​ชีวิต​ที่​สงบ​สุข​และ “บริบูรณ์.” (โย. 10:10; วิ. 21:3, 4) ผม​ประทับใจ​ข่าวสาร​เกี่ยว​กับ​อนาคต​ที่​จะ​ไม่​มี​สงคราม​และ​ความ​ตาย. เมื่อ​กลับ​มา​ยัง​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย ผม​เล่า​ความ​หวัง​นี้​ให้​กับ​จูเซปเป ตูบีนี​หนุ่ม​ชาว​อิตาลี​คน​หนึ่ง​ฟัง และ​เขา​ก็​รู้สึก​ประทับใจ​ด้วย. อะดอลโฟ​กับ​พยาน​ฯ คน​อื่น​มา​เยี่ยม​เรา​ที่​ค่าย​เป็น​ครั้ง​คราว.

อะดอลโฟ​พา​ผม​ไป​ที่​เมือง​อาร์​บอน​ที่​อยู่​ห่าง​จาก​สไตนัค​ประมาณ​สิบ​กิโลเมตร ซึ่ง​ที่​นั่น​มี​พยาน​ฯ กลุ่ม​เล็ก ๆ จัด​การ​ประชุม​เป็น​ภาษา​อิตาเลียน. ผม​รู้สึก​ตื่นเต้น​มาก​กับ​เรื่อง​ที่​ได้​ยิน​ได้​ฟัง​ถึง​ขนาด​ที่​สัปดาห์​ถัด​ไป​ผม​เดิน​ไป​ที่​นั่น. ต่อ​มา ผม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ของ​พยาน​ฯ ที่​จัด​ขึ้น​ที่​ห้อง​ประชุม​ใหญ่​ใน​เมือง​ซูริก. ผม​รู้สึก​ตะลึงงัน​เมื่อ​ได้​ชม​การ​ฉาย​ภาพ​นิ่ง​เกี่ยว​กับ​ค่าย​กัก​กัน​ที่​มี​การ​สังหาร​ทำลาย​ล้าง ซึ่ง​มี​ภาพ​ร่าง​ของ​เหยื่อ​ที่​กอง​สุม​กัน​หลาย​กอง. ผม​ได้​มา​รู้​ว่า​มี​พยาน​ฯ ชาว​เยอรมัน​หลาย​คน​ถูก​สังหาร​เพราะ​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา. ใน​การ​ประชุม​ใหญ่​นั้น ผม​พบ​มารีอา ปิซซาโต. เนื่อง​จาก​กิจกรรม​ที่​เธอ​ทำ​ใน​ฐานะ​พยาน​ฯ เธอ​ถูก​เจ้าหน้าที่​ฟาสซิสต์​ตัดสิน​จำ​คุก 11 ปี.

เมื่อ​สงคราม​สิ้น​สุด​ลง ผม​กลับ​ไป​ยัง​อิตาลี​และ​สมทบ​กับ​ประชาคม​เล็ก ๆ ใน​เมือง​โกโม. ผม​ไม่​ได้​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​เป็น​ระบบ แต่​ผม​มี​ความ​จริง​ขั้น​พื้น​ฐาน​ชัดเจน​อยู่​ใน​ใจ. มารีอา ปิซซาโต​ก็​อยู่​ที่​ประชาคม​นี้​ด้วย. เธอ​บอก​ผม​ว่า​คริสเตียน​ต้อง​รับ​บัพติสมา​และ​ชวน​ผม​ไป​เยี่ยม​มาร์เชลโล มาร์ตี​เนลลี ซึ่ง​อยู่​ที่​กัสตีโอเน อันเดเวนโน ซึ่ง​อยู่​ใน​แคว้น​ซอนดรีโอ. มาร์เชลโล​เป็น​พี่​น้อง​ผู้​ถูก​เจิม​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก 11 ปี​โดย​ระบอบ​เผด็จการ. ผม​ต้อง​ปั่น​จักรยาน 80 กิโลเมตร​เพื่อ​ไป​หา​เขา.

มาร์เชลโล​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​อธิบาย​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​คน​ที่​จะ​รับ​บัพติสมา หลัง​จาก​นั้น​เรา​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​และ​ไป​ที่​แม่น้ำ​อัดดา ซึ่ง​ผม​ได้​รับ​บัพติสมา​ที่​นั่น. ตอน​นั้น​เป็น​เดือน​กันยายน 1946. วัน​นั้น​เป็น​วัน​ที่​พิเศษ​จริง ๆ! ผม​ตื่นเต้น​มาก​ที่​ได้​ตัดสิน​ใจ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​และ​มี​ความ​หวัง​ที่​มั่นคง​สำหรับ​อนาคต​ถึง​ขนาด​ที่​พอ​ตก​เย็น​ผม​ก็​ปั่น​จักรยาน​ไป​แล้ว​ถึง 160 กิโลเมตร​ใน​วัน​นั้น​โดย​แทบ​ไม่​รู้​ตัว​เลย!

ใน​เดือน​พฤษภาคม 1947 มี​การ​จัด​การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​ประเทศ​อิตาลี​เป็น​ครั้ง​แรก​หลัง​สงคราม​ที่​เมือง​มิลาน. มี​ผู้​เข้า​ร่วม​ประมาณ 700 คน รวม​ถึง​หลาย​คน​ที่​ผ่าน​การ​ถูก​ข่มเหง​โดย​ระบอบ​เผด็จการ​ฟาสซิสต์. มี​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​ไม่​ธรรมดา​เกิด​ขึ้น ณ การ​ประชุม​ใหญ่​นี้. จูเซปเป ตูบีนี ซึ่ง​ผม​เคย​ประกาศ​ให้​เขา​ฟัง​ใน​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย​เป็น​ผู้​บรรยาย​บัพติสมา แล้ว​หลัง​จาก​นั้น เขา​เอง​ก็​รับ​บัพติสมา!

ใน​การ​ประชุม​ใหญ่​ครั้ง​นั้น ผม​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​พบ​กับ​บราเดอร์​นาทาน นอรร์ ที่​มา​จาก​เบเธล​บรุกลิน. ท่าน​สนับสนุน​ผม​กับ​จูเซปเป​ให้​ใช้​ชีวิต​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า. ผม​ตัดสิน​ใจ​ว่า ภาย​ใน​หนึ่ง​เดือน​ผม​จะ​เริ่ม​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา. เมื่อ​กลับ​ถึง​บ้าน ผม​บอก​ครอบครัว​เรื่อง​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​ผม และ​ทุก​คน​พยายาม​ชักชวน​ให้​ผม​เลิก​ล้ม​ความ​คิด. แต่​ผม​ตั้งใจ​แน่วแน่​แล้ว. ดัง​นั้น หนึ่ง​เดือน​ต่อ​มา​ผม​ก็​เริ่ม​รับใช้​ที่​เบเธล​ใน​เมือง​มิลาน. มี​มิชชันนารี​สี่​คน​รับใช้​ที่​นั่น: จูเซปเป (โจเซฟ) โรมาโน กับ อันเจลีนา ภรรยา​ของ​เขา; คาร์โล เบนันตี กับ กอสตันซา ภรรยา​ของ​เขา. สมาชิก​คน​ที่​ห้า​ของ​ครอบครัว​เบเธล​ได้​แก่​จูเซปเป ตูบีนี ซึ่ง​เพิ่ง​เข้า​มา​ร่วม​สมทบ และ​ผม​เป็น​คน​ที่​หก.

หลัง​จาก​รับใช้​ที่​เบเธล​ได้​หนึ่ง​เดือน ผม​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด และ​เป็น​ผู้​แล​หมวด​คน​แรก​ของ​ประเทศ​ที่​เกิด​ใน​อิตาลี. บราเดอร์​จอร์จ เฟรดีอาเนลลี มิชชันนารี​คน​แรก​ที่​มา​จาก​สหรัฐ​เพื่อ​รับใช้​ที่​อิตาลี​ใน​ปี 1946 ทำ​งาน​เดิน​หมวด​อยู่​แล้ว. เขา​ช่วย​ฝึก​อบรม​ผม​ไม่​กี่​สัปดาห์ จาก​นั้น​ผม​ก็​เริ่ม​ต้น​การ​ผจญ​ภัย​นี้​ตาม​ลำพัง. ผม​จำ​ประชาคม​แรก​ที่​ผม​ไป​เยี่ยม​ได้​ดี คือ​ประชาคม​ฟาเอนซา. คิด​ดู​สิ! จน​ถึง​ตอน​นั้น ผม​ยัง​ไม่​เคย​บรรยาย​ต่อ​หน้า​ประชาคม​มา​ก่อน​เลย! ถึง​กระนั้น ผม​สนับสนุน​ผู้​เข้า​ร่วม รวม​ทั้ง​เยาวชน​หลาย​คน ให้​คิด​ถึง​การ​รับใช้​เต็ม​เวลา. ใน​เวลา​ต่อ​มา เยาวชน​บาง​คน​ใน​ประชาคม​นี้​รับ​เอา​งาน​มอบหมาย​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ​มาก​ใน​เขต​งาน​ประเทศ​อิตาลี.

ผม​เริ่ม​ใช้​ชีวิต​ที่​น่า​ตื่นเต้น​ใน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง ซึ่ง​เป็น​ชีวิต​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​เรื่อง​ที่​คาด​ไม่​ถึง การ​ปรับ​เปลี่ยน ข้อ​ท้าทาย ความ​ยินดี และ​เป็น​ชีวิต​ที่​ทำ​ให้​ผม​ได้​รับ​ความ​รัก​อย่าง​ล้น​เหลือ​จาก​พี่​น้อง​ที่​รัก.

สถานการณ์​ทาง​ศาสนา​ใน​ประเทศ​อิตาลี​สมัย​หลัง​สงคราม

ขอ​ให้​ผม​เล่า​อะไร​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​สถานการณ์​ทาง​ศาสนา​ใน​ประเทศ​อิตาลี​สมัย​นั้น. คริสตจักร​คาทอลิก​กุม​อำนาจ​โดย​ไม่​มี​ใคร​กล้า​ท้าทาย. แม้​ว่า​รัฐธรรมนูญ​ใหม่​มี​ผล​บังคับ​ใช้​ใน​ปี 1948 แต่​ต้อง​รอ​จน​กระทั่ง​ปี 1956 กฎหมาย​ของ​รัฐบาล​ฟาสซิสต์​ที่​ห้าม​พยาน​ฯ ประกาศ​อย่าง​เสรี​จึง​จะ​ถูก​ยก​เลิก. ผล​ที่​เกิด​จาก​การ​กดดัน​ของ​พวก​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ก็​คือ​บ่อย​ครั้ง​การ​ประชุม​หมวด​ถูก​ก่อกวน. แต่​บาง​ครั้ง ความ​พยายาม​ของ​พวก​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ก็​ล้มเหลว​อย่าง​น่า​สังเวช เช่น​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1948 ที่​ซุลโมนา เมือง​เล็ก ๆ ใน​ภาค​กลาง​ของ​อิตาลี.

การ​ประชุม​หมวด​ครั้ง​นั้น​จัด​ขึ้น​ที่​ห้อง​ประชุม​แห่ง​หนึ่ง. เช้า​วัน​อาทิตย์​นั้น ผม​เป็น​ประธาน และ​จูเซปเป โรมาโน​เป็น​ผู้​บรรยาย​สาธารณะ. มี​ผู้​ฟัง​ล้น​หลาม​ที​เดียว​สำหรับ​สมัย​นั้น. ใน​ตอน​นั้น​มี​ผู้​ประกาศ​ทั่ว​ประเทศ​ไม่​ถึง 500 คน แต่​มี​ถึง 2,000 คน​อัด​แน่น​อยู่​ใน​ห้อง​ประชุม​นั้น. ตอน​ท้าย​ของ​คำ​บรรยาย มี​ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง ซึ่ง​ถูก​เสี้ยม​สอน​จาก​บาทหลวง​สอง​คน​ที่​นั่ง​อยู่​ใน​หมู่​ผู้​ฟัง กระโดด​ขึ้น​ไป​บน​เวที. ด้วย​เจตนา​ที่​จะ​สร้าง​ความ​วุ่นวาย เขา​เริ่ม​ตะโกน​สุด​เสียง. ผม​บอก​เขา​ทันที​ว่า “ถ้า​คุณ​อยาก​จะ​พูด​อะไร​ก็​ไป​เช่า​ห้อง​ประชุม​สิ แล้ว​คุณ​จะ​ได้​พูด​อย่าง​ที่​อยาก​จะ​พูด.” ผู้​ฟัง​ไม่​พอ​ใจ​เขา​และ​พา​กัน​ส่ง​เสียง​แสดง​ความ​ไม่​พอ​ใจ​จน​กลบ​เสียง​ของ​เขา. เมื่อ​เป็น​อย่าง​นี้ ชาย​หนุ่ม​คน​นี้​ก็​กระโดด​ลง​จาก​เวที​แล้ว​ก็​หาย​ตัว​ไป​เลย.

ใน​สมัย​นั้น การ​เดิน​ทาง​ค่อนข้าง​จะ​เป็น​เรื่อง​ผจญ​ภัย. บาง​ครั้ง​ผม​เดิน​จาก​ประชาคม​หนึ่ง​ไป​อีก​ประชาคม​หนึ่ง ปั่น​จักรยาน นั่ง​รถ​ประจำ​ทาง​บุโรทั่ง​ที่​มี​ผู้​โดยสาร​อัด​แน่น หรือ​นั่ง​รถไฟ. บาง​ครั้ง ผม​ต้อง​พัก​ที่​คอก​ม้า​หรือ​โรง​เก็บ​เครื่อง​มือ. สงคราม​เพิ่ง​สิ้น​สุด​ลง และ​ชาว​อิตาลี​ส่วน​ใหญ่​ก็​ยาก​จน. มี​พี่​น้อง​เพียง​ไม่​กี่​คน และ​พวก​เขา​ก็​ฐานะ​ไม่​ค่อย​ดี. ถึง​จะ​อย่าง​นั้น การ​ใช้​ชีวิต​ไป​กับ​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ก็​ยัง​ยอด​เยี่ยม​อยู่​ดี.

การ​อบรม​ที่​กิเลียด

ใน​ปี 1950 ผม​กับ​จูเซปเป ตูบีนี​ได้​รับ​เชิญ​ให้​เข้า​โรง​เรียน​กิเลียด​รุ่น​ที่ 16. ตั้ง​แต่​ตอน​เริ่ม​ต้น​เลย ผม​รู้​ตัว​ดี​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​สำหรับ​ผม​ที่​จะ​เรียน​ภาษา​อังกฤษ. ผม​พยายาม​ทำ​ให้​ดี​ที่​สุด แต่​ก็​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​จริง ๆ. เรา​ต้อง​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​ใน​ภาษา​อังกฤษ. เพื่อ​จะ​ทำ​อย่าง​นี้​ได้ บาง​ครั้ง​ผม​งด​อาหาร​เที่ยง​เพื่อ​จะ​ฝึก​อ่าน​ออก​เสียง. ใน​ที่​สุด ก็​ถึง​คิว​ที่​ผม​ต้อง​บรรยาย. ผม​จำ​คำ​ติ​ชม​ของ​ผู้​สอน​ได้​ดี​ราว​กับ​ว่า​เพิ่ง​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​วาน​นี้​เอง ที่​ว่า “ท่า​ทาง​และ​ความ​กระตือรือร้น​ของ​คุณ​สุด​ยอด แต่​ต้อง​บอก​ว่า​ภาษา​อังกฤษ​ของ​คุณ​ฟัง​ไม่​รู้​เรื่อง​เลย!” แม้​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ใน​ที่​สุด​ผม​ก็​สำเร็จ​หลัก​สูตร​จน​ได้. หลัง​จาก​นั้น ผม​กับ​จูเซปเป​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​กลับ​ไป​ที่​อิตาลี. โดย​ที่​ได้​รับ​การ​อบรม​เป็น​พิเศษ​อย่าง​นี้ เรา​ทั้ง​สอง​มี​ความ​สามารถ​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​รับใช้​พี่​น้อง.

ใน​ปี 1955 ผม​แต่งงาน​กับ​ลีเดีย ซึ่ง​ผม​เป็น​ผู้​บรรยาย​ตอน​ที่​เธอ​รับ​บัพติสมา​เมื่อ​เจ็ด​ปี​ก่อน. โดเมนีโก พ่อ​ของ​เธอ​เป็น​พี่​น้อง​ที่​รัก​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ช่วย​ลูก​ทั้ง​เจ็ด​คน​ให้​รับ​ความ​จริง แม้​ว่า​เขา​เคย​ถูก​กดขี่​โดย​ระบอบ​ฟาสซิสต์​และ​ถูก​ตัดสิน​เนรเทศ​เป็น​เวลา​สาม​ปี. ลีเดีย​เอง​ก็​เป็น​นัก​ต่อ​สู้​เพื่อ​ความ​จริง​ด้วย. เธอ​ถูก​พิจารณา​คดี​สาม​คดี​ก่อน​ที่​สิทธิ​ทาง​กฎหมาย​ของ​เรา​ใน​การ​ประกาศ​ตาม​บ้าน​จะ​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​ใน​ที่​สุด. หลัง​จาก​ที่​เรา​แต่งงาน​ได้​หก​ปี เบนีอามีโน​ลูก​ชาย​คน​แรก​ของ​เรา​ก็​เกิด​มา. ใน​ปี 1972 เรา​ได้​ลูก​ชาย​อีก​คน​หนึ่ง​คือ​มาร์โก. ผม​ดีใจ​ที่​ทั้ง​คู่​และ​ครอบครัว​ของ​พวก​เขา​กำลัง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​กระตือรือร้น.

ยัง​คง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​แข็งขัน

ใน​ช่วง​ที่​ผม​รับใช้​คน​อื่น ๆ อย่าง​มี​ความ​สุข ผม​มี​ประสบการณ์​ที่​น่า​จด​จำ​หลาย​เรื่อง. ตัว​อย่าง​เช่น ตอน​ต้น​ทศวรรษ 1980 พ่อตา​ผม​เขียน​จดหมาย​ถึง​ประธานาธิบดี​ของ​อิตาลี​ใน​ตอน​นั้น คือ​ซานโดร เปอร์ตีนี. ใน​ช่วง​ที่​ระบอบ​เผด็จการ​ฟาสซิสต์​เรือง​อำนาจ ทั้ง​สอง​ถูก​เนรเทศ​ไป​อยู่​ที่​เกาะ​เวนโตเตเน ซึ่ง​เป็น​ที่​กัก​ตัว​คน​ที่​รัฐบาล​ถือ​ว่า​เป็น​ศัตรู. พ่อตา​ผม​ขอ​สัมภาษณ์​ประธานาธิบดี​โดย​ตั้งใจ​จะ​ประกาศ​แก่​เขา. เมื่อ​คำ​ร้อง​ได้​รับ​อนุมัติ ผม​ไป​กับ​พ่อตา และ​เรา​ก็​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​อบอุ่น ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​เรา​ไม่​คุ้น​เคย​เลย. ประธานาธิบดี​ทักทาย​ด้วย​การ​โอบ​กอด​พ่อตา​ผม​อย่าง​อบอุ่น. แล้ว​เรา​ก็​คุย​กัน​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​และ​ให้​หนังสือ​บาง​เล่ม​แก่​เขา.

ใน​ปี 1991 หลัง​จาก​ที่​รับใช้​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​นาน​ถึง 44 ปี​และ​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ทั่ว​อิตาลี ผม​ก็​หยุด​เดิน​หมวด. สี่​ปี​ถัด​จาก​นั้น ผม​รับใช้​เป็น​ผู้​ดู​แล​หอ​ประชุม​ใหญ่​จน​กระทั่ง​ผม​จำเป็น​ต้อง​ลด​งาน​ลง​เนื่อง​จาก​ผม​ป่วย​หนัก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพราะ​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​ของ​พระ​ยะโฮวา ผม​ยัง​คง​รับใช้​เต็ม​เวลา. ผม​พยายาม​ทำ​ให้​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​ประกาศ​และ​สอน​ข่าว​ดี และ​ปัจจุบัน​ผม​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​บาง​คน. พี่​น้อง​ยัง​คง​พูด​กัน​ว่า​เมื่อ​ผม​บรรยาย​ผม​มี​ความ​กระตือรือร้น​แบบ​ที่ “แทบ​จะ​ลุก​เป็น​ไฟ.” ผม​รู้สึก​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ความ​กระฉับกระเฉง​ของ​ผม​ไม่​ได้​ลด​ลง​ไป​ตาม​วัย.

ตอน​ยัง​เด็ก ผม​กลัว​ความ​ตาย​อย่าง​มาก แต่​การ​รับ​ความ​รู้​ถ่องแท้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ​ให้​ผม​มี​ความ​หวัง​ที่​แน่นอน​ใน​เรื่อง​ชีวิต​นิรันดร์ ซึ่ง​พระ​เยซู​ทรง​เรียก​ว่า​เป็น​ชีวิต​ที่ “บริบูรณ์.” (โย. 10:10) นั่น​คือ​สิ่ง​ที่​ตอน​นี้​ผม​กำลัง​คอย​ท่า คือ​ชีวิต​ที่​เปี่ยม​ด้วย​สันติ​สุข ความ​มั่นคง ความ​สุข และ​พระ​พร​อัน​อุดม​จาก​พระ​ยะโฮวา. ขอ​ให้​เกียรติยศ​ทั้ง​สิ้น​มี​แด่​พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก ผู้​ที่​เรา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ถูก​เรียก​ตาม​พระ​นาม​ของ​พระองค์.—เพลง. 83:18

[แผนที่​หน้า 22, 23]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

สวิตเซอร์แลนด์

เบิร์น

ซูริก

อาร์บอน

สไตนัค

อิตาลี

โรม

โกโม

มิลาน

แม่น้ำ​อัดดา

กัสตีโอเน อันเดเวนโน

ฟาเอนซา

ซุลโมนา

เวนโตเตเน

[ภาพ​หน้า 22]

ระหว่าง​เรา​เดิน​ทาง​ไป​กิเลียด

[ภาพ​หน้า 22]

ถ่าย​กับ​จูเซปเป​ที่​โรง​เรียน​กิเลียด

[ภาพ​หน้า 23]

ใน​วัน​ที่​เรา​แต่งงาน

[ภาพ​หน้า 23]

ภรรยา​ที่​รัก​ซึ่ง​อยู่​เคียง​ข้าง​ผม​นาน​กว่า 55 ปี