“จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ” ทำไมจึงสำคัญมาก?
“จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ” ทำไมจึงสำคัญมาก?
“อะไรจะเป็นสัญญาณบอกว่าพระองค์ประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค?” (มัด. 24:3) เมื่อตอบคำถามนี้ พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่าจะมีสัญญาณที่ชัดเจน ละเอียด มองออก และไม่ผิดพลาด ดังบันทึกไว้ที่มัดธายบท 24 มาระโกบท 13 และลูกาบท 21. พระองค์ตรัสเพิ่มเติมว่า “จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ.”—มัด. 24:42
ถ้าสัญญาณนั้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว ทำไมต้องให้คำแนะเตือนนี้อีก? ขอให้พิจารณาสองสิ่งที่อาจเป็นเหตุให้พระเยซูเตือนอย่างนั้น. ประการแรก สิ่งล่อใจต่าง ๆ อาจชักนำให้บางคนไม่สนใจสัญญาณนั้น ซึ่งทำให้เขาสูญเสียสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าและไม่เฝ้าระวัง. ประการที่สอง คริสเตียนอาจมองสัญญาณบางอย่างออก แต่เพราะสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวทำให้เขาไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบโดยตรง. เมื่อเป็นอย่างนั้น เขาอาจชักเหตุผลว่า “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ซึ่งเป็นจุดสุดยอดของคำพยากรณ์ของพระเยซู ยังอยู่อีกไกลและเพราะเหตุนั้นจึงไม่จำเป็นต้อง “เฝ้าระวังอยู่เสมอ.”—มัด. 24:21
“พวกเขาไม่แยแส”
พระเยซูทรงเตือนให้เหล่าสาวกนึกถึงผู้คนในสมัยของโนอาห์. เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะไม่สังเกตเห็นการประกาศของโนอาห์ การสร้างเรือขนาดมหึมา และความรุนแรงที่มีอยู่ในสมัยนั้น. อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ “ไม่แยแส.” (มัด. 24:37-39) ทัศนคติคล้าย ๆ กันนี้ที่มีต่อคำเตือนมีอยู่แพร่หลายในทุกวันนี้. ตัวอย่างเช่น ป้ายจำกัดความเร็วบอกอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าควรทำอะไร แต่หลายคนไม่สนใจจะทำตาม. เจ้าหน้าที่มักจำเป็นต้องติดตั้งคันชะลอความเร็วตามถนนต่าง ๆ ในเมืองเพื่อบังคับให้คนขับรถลดความเร็ว. คล้ายกัน คริสเตียนอาจตระหนักถึงสัญญาณของสมัยสุดท้าย แต่เขาก็ยังยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำให้เขาไม่ตื่นตัว. อารีเอลล์ วัยรุ่นชาวแอฟริกาตะวันตกคนหนึ่งเคยมีประสบการณ์อย่างนี้.
อารีเอลล์ ชอบดูการแข่งขันแฮนด์บอลหญิงทางโทรทัศน์. เมื่อโรงเรียนเธอจัดตั้งทีมแฮนด์บอล เพราะเธออยากเล่นในทีมนี้มาก เธอจึงไม่ทันคิดว่าการทำอย่างนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสายสัมพันธ์ของเธอกับพระเจ้า. เธอสมัครเป็นผู้รักษาประตู. เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น? เธอเล่าว่า “เพื่อนร่วมทีมบางคนของหนูมีแฟนซึ่งใช้ยาเสพติดและสูบบุหรี่. พวกเขาหัวเราะเยาะหนูที่แตกต่างจากพวกเขา แต่หนูคิดว่าหนูรับมือได้. หนูไม่คิดเลยว่าเกมการแข่งขันเองจะค่อย ๆ เซาะกร่อนสภาพฝ่ายวิญญาณของหนู. หนูหายใจเข้าเป็นแฮนด์บอล หายใจออกก็เป็นแฮนด์บอล. ระหว่างการประชุมคริสเตียน ความคิดของหนูมักล่องลอยจากหอประชุมไปที่สนามแฮนด์บอล. บุคลิกภาพแบบคริสเตียนของหนูก็ได้รับผลเสียหายด้วย. จากที่ตอนแรกหนูเล่นด้วยใจรัก ทีหลังหนูเปลี่ยนไป กลายเป็นเล่นด้วยความกระหายชัยชนะ. เพราะถูกกระตุ้นจากน้ำใจที่จะเอาชนะคู่แข่งให้ได้ หนูจึงฝึกซ้อมอย่างหนัก. ความเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ. หนูถึงกับยอมทิ้งเพื่อน ๆ เพื่อทุ่มเทให้กับแฮนด์บอล.
“แล้วช่วงเวลาสำคัญก็มาถึงเมื่อทีมคู่แข่งได้ลูกจุดโทษในการแข่งขันครั้งหนึ่ง. หนูตั้งท่าพร้อมจะป้องกันประตู.
โดยไม่ทันรู้ตัว หนูได้อธิษฐานขอให้พระยะโฮวาช่วยป้องกันลูกโทษลูกนั้น! เหตุการณ์นี้ทำให้หนูรู้ตัวว่าสภาพฝ่ายวิญญาณของหนูแย่ขนาดไหนแล้ว. หนูแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร?“หนูเคยดูดีวีดีหนุ่มสาวถามว่า—ฉันจะทำอย่างไรกับชีวิตของฉัน? * หนูตัดสินใจว่าจะดูอีกครั้งหนึ่งและครั้งนี้จะดูอย่างจริงจัง. ที่จริง หนูก็ตกอยู่ในสภาพที่สับสนเหมือนกับอันเดร ชายหนุ่มในละครเรื่องนี้. หนูสนใจเป็นพิเศษในคำแนะนำที่ผู้ปกครองคนหนึ่งแนะให้อันเดรทำ คืออ่านและใคร่ครวญฟิลิปปอย 3:8. การทำอย่างนี้ได้ผลจริง ๆ. หนูถอนตัวออกจากทีม.
“การทำอย่างนั้นทำให้เกิดผลที่แตกต่างจากเดิมมากทีเดียว! น้ำใจแข่งขันและความเครียดหายไป. หนูรู้สึกมีความสุขมากขึ้นและใกล้ชิดเพื่อน ๆ คริสเตียนมากขึ้น. กิจกรรมฝ่ายวิญญาณก็มีความหมายมากยิ่งขึ้น. หนูจดจ่อกับการประชุมและมีความยินดีกับการประชุมอีกครั้งหนึ่ง. งานรับใช้ของหนูก็ดีขึ้น. ตอนนี้ หนูรับใช้เป็นไพโอเนียร์สมทบประจำ.”
ถ้ามีสิ่งล่อใจที่ฉุดรั้งคุณทำให้ไม่สนใจสัญญาณที่พระเยซูทรงให้ไว้ จงลงมือทำขั้นเด็ดขาดเหมือนกับที่อารีเอลล์ได้ทำ. คุณอาจลองทำบางสิ่งดังต่อไปนี้. ค้นดัชนีสรรพหนังสือของว็อชเทาเวอร์ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งบางคนเรียกว่าลายแทงขุมทรัพย์. ดัชนีนี้ให้รายชื่อหนังสือต่าง ๆ ที่มีคำแนะนำดี ๆ รวมทั้งประสบการณ์จากคนที่เป็นเจ้าของเรื่องเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขารับมือการล่อใจ. จงรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการประชุมคริสเตียนโดยเตรียมตัวอย่างดีและจดบันทึก. บางคนพบว่าการนั่งใกล้ ๆ เวทีช่วยได้มาก. ถ้าเป็นส่วนที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม จงพยายามให้ความเห็นตั้งแต่ช่วงต้น ๆ. นอกจากนั้น จงรักษาความตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอด้วยการเทียบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณและลักษณะอื่น ๆ ของ “สมัยสุดท้าย.”—2 ติโม. 3:1-5; 2 เป. 3:3, 4; วิ. 6:1-8
“จงเตรียมพร้อม”
สิ่งที่เป็นสัญญาณของสมัยสุดท้ายนั้นปรากฏให้เห็นในประเทศต่าง ๆ “ทั่วแผ่นดินโลก.” (มัด. 24:7, 14) หลายล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด การขาดแคลนอาหาร แผ่นดินไหว และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่มีบอกไว้ล่วงหน้า. ตรงกันข้าม คนอื่น ๆ อีกจำนวนมากอาศัยอยู่ในที่ที่ค่อนข้างมีสันติสุขและสงบเงียบ. หากตัวคุณเองไม่เคยประสบเหตุการณ์เหล่านั้นที่เป็นสัญญาณของสมัยสุดท้าย คุณควรชักเหตุผลว่าความทุกข์ลำบากใหญ่ยังอยู่อีกไกลไหม? คงไม่ฉลาดที่จะชักเหตุผลอย่างนั้น.
ตัวอย่างเช่น ขอให้ใคร่ครวญสิ่งที่พระเยซูทรงบอกไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับ “โรคระบาดและการขาดแคลนอาหาร.” (ลูกา 21:11) ประการแรก พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าสิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อทุกพื้นที่ในเวลาเดียวกันหรือในระดับเดียวกัน. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ตรัสว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น “แห่งแล้วแห่งเล่า.” ดังนั้น เราไม่อาจคาดหมายว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างเดียวกันทั่วทุกแห่งหนในเวลาเดียวกัน. ประการที่สอง ไม่นานหลังจากที่พระเยซูตรัสถึงการขาดแคลนอาหาร พระองค์ทรงชี้ว่าสาวกบางคนของพระองค์จะต้องตื่นตัวเพื่อจะไม่กินมากเกินไปโดยทรงเตือนว่า “จงระวังตัวให้ดีเพื่อว่าใจของเจ้าจะไม่หมกมุ่นอยู่กับการกินมากเกินไป.” (ลูกา 21:34) ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนทุกคนไม่ควรคาดหมายว่าเขาเองจะประสบ เหตุการณ์ที่เป็นสัญญาณทุกอย่าง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระเยซูตรัสว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายเห็น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จงรู้ว่าราชอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว.” (ลูกา 21:31) การสื่อสารสมัยใหม่ทำให้เราสามารถเห็นเหตุการณ์ที่เป็นสัญญาณทุกอย่าง ไม่ว่าสภาพการณ์ในท้องถิ่นของเราเองจะเป็นเช่นไร.
ขออย่าลืมด้วยว่าพระยะโฮวาทรงกำหนด “วันเวลา” ที่ความทุกข์ลำบากใหญ่จะเริ่มต้นไว้แล้ว. (มัด. 24:36) ไม่ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ บนแผ่นดินโลกจะดำเนินไปอย่างไรก็ไม่ทำให้วันเวลาดังกล่าวเปลี่ยนไป.
พระเยซูทรงเตือนคริสเตียนที่อยู่ในทุกแห่งหนว่า “จงเตรียมพร้อม.” (มัด. 24:44) เราควรเตรียมพร้อมเสมอ. แน่นอน เราไม่สามารถทำกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้าตลอดทั้งวันได้ทุก ๆ วัน. นอกจากนั้น ไม่มีใครในพวกเราที่รู้ว่าเมื่อความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มต้นขึ้นเราจะกำลังทำอะไรอยู่ในตอนนั้น. บางคนอาจจะอยู่ในที่ทำงานหรือทำงานอยู่ที่บ้าน. (มัด. 24:40, 41) ถ้าอย่างนั้น เราจะทำอะไรได้เพื่อจะเตรียมตัวไว้ให้พร้อม?
เอมมานูเอล วิกตอรีน กับลูกสาวอีกหกคนอาศัยอยู่ในเขตหนึ่งของแอฟริกาซึ่งไม่รู้สึกถึงผลกระทบโดยตรงของเหตุการณ์ทุกอย่างที่เป็นสัญญาณของสมัยสุดท้าย. พวกเขาจึงตกลงกันว่าจะพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพระคัมภีร์ทุกวัน เพื่อช่วยทุกคนให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ. เอมมานูเอลบอกว่า “การหาเวลาที่ทุกคนสะดวกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย. ในที่สุด เราก็เลือกจะพิจารณาด้วยกันครึ่งชั่วโมงในตอนเช้า ช่วงหกโมงถึงหกโมงครึ่ง. หลังจากพิจารณาข้อพระคัมภีร์ประจำวันแล้ว เราก็เตรียมการศึกษาพระคัมภีร์ประจำประชาคมที่กำหนดไว้สำหรับสัปดาห์นั้นสองสามข้อ.” กำหนดการนี้ช่วยพวกเขาให้ตื่นตัวเสมอไหม? เป็นอย่างนั้นจริง ๆ! เอมมานูเอลเป็นผู้ประสานงานคณะผู้ปกครองในประชาคม. วิกตอรีนรับใช้เป็นไพโอเนียร์สมทบบ่อย ๆ และช่วยหลายคนให้รับเอาความจริง. ลูกสาวทุกคนกำลังก้าวหน้าอย่างดีในทางของพระเจ้า.
พระเยซูทรงเตือนเราว่า “จงคอยดูและตื่นตัวเสมอ.” (มโก. 13:33) อย่าปล่อยให้สิ่งล่อใจใด ๆ ก็ตามทำให้คุณตื่นตัวฝ่ายวิญญาณน้อยลง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น จงเอาใจใส่คำแนะนำที่ดีในหนังสือของเราและในการประชุมประชาคม เหมือนกับที่อารีเอลล์ทำ. เช่นเดียวกับครอบครัวของเอมมานูเอล จงพยายามทำอะไรบางอย่างทุกวันที่ช่วยให้คุณเองอยู่พร้อมและ “เฝ้าระวังอยู่เสมอ.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 ละครฉากปัจจุบันเกี่ยวกับคริสเตียนหนุ่มคนหนึ่งที่ต่อสู้อย่างหนักเพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 4]
การพิจารณาสิ่งฝ่ายวิญญาณช่วยเอมมานูเอลและครอบครัวให้ “เตรียมพร้อม”