ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อย่าให้ความเจ็บป่วยทำให้คุณสูญเสียความยินดี

อย่าให้ความเจ็บป่วยทำให้คุณสูญเสียความยินดี

อย่า​ให้​ความ​เจ็บ​ป่วย​ทำ​ให้​คุณ​สูญ​เสีย​ความ​ยินดี

ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​ตื่น​ขึ้น​มา​ใน​ตอน​เช้า​แล้ว​ก็​อยาก​ให้​วัน​นั้น​จบ​ลง​ทั้ง ๆ ที่​ยัง​ไม่​ได้​เริ่ม​ต้น​เสีย​ด้วย​ซ้ำ. คุณ​ต้อง​รับมือ​ความ​เจ็บ​ปวด​ด้าน​ร่าง​กาย​หรือ​ทาง​อารมณ์​อีก​วัน​หนึ่ง. คุณ​อาจ​รู้สึก​เหมือน​โยบ​ที่​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​อยาก​ตาย​ไป​เสีย ดี​กว่า​จะ​ต้อง​ทน​ทุกข์​ทรมาน​เช่น​นี้.” (โยบ 7:15, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) คุณ​จะ​รับมือ​อย่าง​ไร​ถ้า​สภาพ​เช่น​นี้​ยืดเยื้อ​ยาว​นาน และ​อาจ​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ด้วย​ซ้ำ?

นั่น​คือ​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​มะฟีโบเซ็ธ บุตร​โยนาธาน สหาย​ของ​กษัตริย์​ดาวิด. เมื่อ​มะฟีโบเซ็ธ​อายุ​ได้​ห้า​ขวบ เขา “พลัด​ตก​เป็น​ง่อย.” (2 ซามู. 4:4) ใน​เวลา​ต่อ​มา เขา​ถูก​กล่าวหา​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​ทรยศ​ต่อ​กษัตริย์​และ​ต้อง​สูญ​เสีย​ทรัพย์​สมบัติ. ความ​ทุกข์​ใจ​ด้วย​เรื่อง​นี้​คง​จะ​ยิ่ง​เพิ่ม​ความ​เจ็บ​ปวด​ใจ​ที่​เกิด​จาก​ความ​ทุพพลภาพ​ให้​หนัก​ขึ้น​ไป​อีก. ถึง​กระนั้น เขา​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​อย่าง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย​ใน​การ​รับมือ​ความ​อ่อนแอ การ​ใส่​ร้าย และ​ความ​ผิด​หวัง และ​ไม่​ปล่อย​ให้​สิ่ง​เหล่า​นี้​ทำลาย​ความ​ยินดี​ของ​เขา.—2 ซามู. 9:6-10; 16:1-4; 19:24-30

อัครสาวก​เปาโล​เป็น​อีก​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. ครั้ง​หนึ่ง​ท่าน​เขียน​เกี่ยว​กับ “หนาม​ใน​เนื้อหนัง” ที่​ท่าน​ต้อง​ต่อ​สู้. (2 โค. 12:7) หนาม​ที่​ท่าน​กล่าว​ถึง​อาจ​ได้​แก่​ความ​บกพร่อง​ด้าน​ร่าง​กาย​บาง​อย่าง หรือ​อาจ​ได้​แก่​คน​ที่​ท้าทาย​ตำแหน่ง​อัครสาวก​ของ​ท่าน. ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปัญหา​นี้​ไม่​หมด​ไป​ง่าย ๆ และ​ท่าน​ต้อง​รับมือ​ความ​เจ็บ​ปวด​ทาง​กาย​หรือ​ทาง​อารมณ์​ที่​เกิด​จาก​ปัญหา​นี้.—2 โค. 12:9, 10

ความ​เจ็บ​ป่วย​เรื้อรัง​หรือ​ความ​เครียด​ทำ​ให้​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​บาง​คน​ใน​ปัจจุบัน​อ่อน​เปลี้ย. เมื่อ​มักดาเลนา​อายุ​ได้ 18 ปี แพทย์​วินิจฉัย​ว่า​เธอ​เป็น​โรค​ลูปัส ซึ่ง​เป็น​โรค​ที่​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ของ​ร่าง​กาย​ดู​เหมือน​จะ​โจมตี​อวัยวะ​ของ​ตัว​เอง. เธอ​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​กลัว​มาก. เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป สุขภาพ​ของ​ดิฉัน​แย่​ลง​เรื่อย ๆ และ​แถม​ยัง​มี​ปัญหา​เรื่อง​อาหาร​ไม่​ย่อย แผล​เปื่อย​ใน​ปาก และ​อาการ​ไทรอยด์​อีก​ด้วย.” ส่วน​อีซา​เบลา​ต้อง​อด​ทน​กับ​ปัญหา​ที่​ไม่​เด่น​ชัด​อย่าง​นั้น. เธอ​อธิบาย​ว่า “ดิฉัน​ซึมเศร้า​มา​ตั้ง​แต่​เด็ก​แล้ว. โรค​ซึมเศร้า​ทำ​ให้​ดิฉัน​มี​อาการ​หวาด​กลัว หายใจ​ไม่​ปกติ และ​ปวด​ท้อง​อย่าง​รุนแรง. เมื่อ​เป็น​อย่าง​นี้ ดิฉัน​จึง​มัก​จะ​อ่อน​เปลี้ย​เพลีย​แรง.”

เผชิญ​ความ​เป็น​จริง

ความ​เจ็บ​ป่วย​อาจ​ทำ​ให้​ชีวิต​คุณ​ปั่นป่วน. เมื่อ​เกิด​ปัญหา​อย่าง​นี้ นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​ประเมิน​สถานการณ์​ของ​คุณ​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา. การ​ยอม​รับ​ข้อ​จำกัด​ของ​ตัว​เอง​อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​ทำ​ได้​ง่าย. มักดาเลนา​กล่าว​ว่า “โรค​ที่​ดิฉัน​เป็น​มี​อาการ​หนัก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. บ่อย​ครั้ง ดิฉัน​ไม่​มี​แรง​จะ​ลุก​จาก​เตียง. เนื่อง​จาก​อาการ​ของ​โรค​นี้​คาด​เดา​ไม่​ได้ การ​วาง​แผน​ล่วง​หน้า​จึง​เป็น​เรื่อง​ยาก​มาก. สิ่ง​ที่​น่า​หงุดหงิด​ที่​สุด​ก็​คือ​ดิฉัน​ไม่​สามารถ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ได้​มาก​เหมือน​เมื่อ​ก่อน.”

ซบีกเนียฟ​อธิบาย​ว่า “เมื่อ​ผ่าน​ไป​หลาย​ปี โรค​ข้อ​อักเสบ​รูมาทอยด์​ก็​บั่น​ทอน​กำลัง​ของ​ผม​ไป​เรื่อย ๆ ทำลาย​ข้อ​ต่อ​ของ​ผม​ข้อ​แล้ว​ข้อ​เล่า. บาง​ครั้ง เมื่อ​มี​อาการ​อักเสบ​อย่าง​รุนแรง ผม​ไม่​สามารถ​ทำ​แม้​แต่​งาน​ง่าย ๆ. เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​ผม​รู้สึก​ห่อเหี่ยว​ใจ.”

หลาย​ปี​มา​แล้ว แพทย์​วินิจฉัย​ว่า​บาร์บารา​มี​เนื้อ​งอก​ใน​สมอง​ที่​กำลัง​โต​ขึ้น. เธอ​บอก​ว่า “ร่าง​กาย​ดิฉัน​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​ฉับพลัน. ดิฉัน​รู้สึก​เหนื่อย​อ่อน​และ​เฉื่อย​ชา ปวด​หัว​บ่อย ๆ และ​ไม่​ค่อย​มี​สมาธิ. เนื่อง​จาก​มี​ข้อ​จำกัด​หลาย​อย่าง​เกิด​ขึ้น ดิฉัน​จึง​ต้อง​คิด​ให้​ดี ๆ ว่า​มี​อะไร​บ้าง​ที่​ดิฉัน​ยัง​ทำ​ได้.”

คน​เหล่า​นี้​ทุก​คน​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา. การ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​สำคัญ​เป็น​อันดับ​แรก​สำหรับ​พวก​เขา. พวก​เขา​ไว้​วางใจ​พระเจ้า​อย่าง​เต็ม​ที่​และ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ค้ำจุน​ของ​พระองค์.—สุภา. 3:5, 6

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย—โดย​วิธี​ใด?

เรา​ไม่​ควร​คิด​ว่า​การ​ที่​เรา​ประสบ​ความ​ทุกข์​ยาก​แสดง​ว่า​พระเจ้า​ไม่​พอ​พระทัย​เรา. (ทุกข์. 3:33) ขอ​ให้​คิด​ดู​ว่า​โยบ​ต้อง​ประสบ​อะไร​บ้าง​แม้​ท่าน​เป็น “คน​ดี​รอบคอบ​และ​ชอบธรรม.” (โยบ 1:8) พระเจ้า​ไม่​ทรง​ลอง​ใจ​ใคร​ด้วย​สิ่ง​ชั่ว. (ยโก. 1:13) ความ​เจ็บ​ป่วย​ทุก​อย่าง ทั้ง​ความ​เจ็บ​ป่วย​เรื้อรัง​และ​ด้าน​จิตใจ เป็น​สิ่ง​ที่​น่า​หดหู่​ซึ่ง​ตก​ทอด​มา​จาก​อาดาม​และ​ฮาวา บิดา​มารดา​คู่​แรก​ของ​เรา.—โรม 5:12

แต่​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​จะ​ไม่​ทรง​ละ​ทิ้ง​ผู้​ชอบธรรม​ให้​ต้อง​ขาด​ที่​พึ่ง. (เพลง. 34:15) โดย​เฉพาะ​ใน​ยาม​ที่​ชีวิต​เรา​ลำบาก เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​พระเจ้า​ทรง​เป็น “ที่​พึ่ง​พำนัก​และ​เป็น​ป้อม​ของ [เรา].” (เพลง. 91:2) ดัง​นั้น เมื่อ​รับมือ​ปัญหา​ที่​แก้​ได้​ยาก อะไร​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​รักษา​ความ​ยินดี​ไว้​ได้?

การ​อธิษฐาน: โดย​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระเจ้า​ใน​สมัย​โบราณ​วาง​ไว้ คุณ​จะ​มอบ​ภาระ​หนัก​ของ​คุณ​ไว้​กับ​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์​ได้​ด้วย​การ​อธิษฐาน. (เพลง. 55:22) เมื่อ​ทำ​อย่าง​นั้น คุณ​จะ​มี “สันติ​สุข​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​เหนือ​กว่า​ความ​คิด​ทุก​อย่าง.” สันติ​สุข​ดัง​กล่าว “จะ​ปก​ป้อง​หัวใจ​และ​จิตใจ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ไว้.” (ฟิลิป. 4:6, 7) มักดาเลนา​รับมือ​โรค​ที่​ทำ​ให้​เธอ​หมด​กำลัง​ได้​โดย​หมาย​พึ่ง​พระเจ้า​ด้วย​การ​อธิษฐาน. เธอ​กล่าว​ว่า “การ​ระบาย​ความ​รู้สึก​กับ​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ให้​ดิฉัน​สบาย​ใจ​ขึ้น​และ​กลับ​มา​มี​ความ​ยินดี​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. เดี๋ยว​นี้ ดิฉัน​เข้าใจ​แล้ว​ว่า​การ​หมาย​พึ่ง​พระเจ้า​ใน​แต่​ละ​วัน​หมาย​ความ​อย่าง​ไร.”—2 โค. 1:3, 4

พระ​ยะโฮวา​อาจ​ประทาน​กำลัง​แก่​คุณ​โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์ พระ​คำ​ของ​พระองค์ และ​สังคม​พี่​น้อง​คริสเตียน​เพื่อ​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​คุณ. คุณ​คง​ไม่​คาด​หมาย​ว่า​พระเจ้า​จะ​ขจัด​ความ​เจ็บ​ไข้​ได้​ป่วย​ให้​คุณ​อย่าง​อัศจรรย์. ถึง​กระนั้น คุณ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระองค์​จะ​ประทาน​สติ​ปัญญา​และ​กำลัง​ที่​จำเป็น​เพื่อ​ช่วย​คุณ​รับมือ​ความ​ทุกข์​ยาก​แต่​ละ​อย่าง. (สุภา. 2:7) พระองค์​ทรง​สามารถ​เสริม​กำลัง​คุณ และ​ช่วย​คุณ​ให้​มี “กำลัง​ที่​มาก​กว่า​ปกติ.”—2 โค. 4:7

ครอบครัว: บรรยากาศ​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ใน​ครอบครัว​จะ​ช่วย​คุณ​อด​ทน​ความ​เจ็บ​ป่วย​ได้. แต่​ขอ​จำ​ไว้​ว่า​คน​ที่​รัก​คุณ​ก็​เป็น​ทุกข์​ด้วย​เหมือน​กัน. พวก​เขา​อาจ​รู้สึก​ท้อ​แท้​เช่น​เดียว​กับ​คุณ. ถึง​กระนั้น พวก​เขา​อยู่​พร้อม​ที่​จะ​ช่วย​คุณ แม้​แต่​ใน​ช่วง​เวลา​ที่​ยาก​ลำบาก. การ​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​มี​ใจ​สงบ.—สุภา. 14:30

บาร์บารา​กล่าว​ถึง​ลูก​สาว​และ​พี่​น้อง​สาว ๆ ใน​ประชาคม​ว่า “พวก​เขา​ช่วย​ดิฉัน​ใน​งาน​ประกาศ. ความ​กระตือรือร้น​ของ​เด็ก ๆ เหล่า​นี้​ทำ​ให้​ดิฉัน​มี​กำลังใจ​และ​มี​ความ​สุข.” ซบีกเนียฟ​เห็น​คุณค่า​การ​สนับสนุน​ของ​ภรรยา​อย่าง​ยิ่ง. “เธอ​ดู​แล​งาน​บ้าน​ส่วน​ใหญ่. เธอ​ยัง​ช่วย​แต่ง​ตัว​ให้​ผม​และ​หลาย​ครั้ง​เธอ​ช่วย​ถือ​กระเป๋า​ประชุม​และ​กระเป๋า​ประกาศ​ให้​ผม.”

เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ: เมื่อ​เรา​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ เรา​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​และ​การ​ปลอบโยน. แต่​ถ้า​คุณ​ไม่​สามารถ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​เพราะ​ความ​เจ็บ​ป่วย​ล่ะ? มักดาเลนา​กล่าว​ว่า “ประชาคม​คอย​ดู​แล​ให้​ดิฉัน​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ประชุม​ต่าง ๆ ด้วย​การ​อัดเสียง​การ​ประชุม​ให้​ดิฉัน​ฟัง. พี่​น้อง​มัก​โทรศัพท์​มา​ถาม​ไถ่​เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​พวก​เขา​จะ​ช่วย​อะไร​ได้​บ้าง. พวก​เขา​ยัง​ส่ง​จดหมาย​มา​หนุน​ใจ​ดิฉัน​ด้วย. เมื่อ​รู้​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ลืม​ดิฉัน​และ​เป็น​ห่วง​สวัสดิภาพ​ของ​ดิฉัน ดิฉัน​จึง​อด​ทน​ได้.”

อีซา​เบลา ซึ่ง​เป็น​โรค​ซึมเศร้า เล่า​ว่า “ใน​ประชาคม ดิฉัน​มี ‘พ่อ’ ‘แม่’ อยู่​หลาย​คน ซึ่ง​ฟัง​และ​พยายาม​เข้าใจ​ดิฉัน. พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​เป็น​ครอบครัว​ของ​ดิฉัน และ​ดิฉัน​มี​สันติ​สุข​และ​ความ​ยินดี​เมื่อ​อยู่​ที่​ประชาคม.”

คน​ที่​ประสบ​ความ​ทุกข์​ลำบาก​ไม่​ว่า​จะ​เรื่อง​ใด​ไม่​ควร “ปลีก​ตัว” จาก​คน​อื่น ๆ. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น พวก​เขา​ควร​ถือ​ว่า​การ​คบหา​สมาคม​กับ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​มี​ค่า​มาก. (สุภา. 18:1) โดย​ทำ​อย่าง​นั้น พวก​เขา​จะ​ช่วย​หนุน​ใจ​คน​อื่น ๆ ได้​อย่าง​มาก​ที​เดียว. ที​แรก​คุณ​อาจ​ลังเล​ที่​จะ​บอก​ให้​พี่​น้อง​รู้​ว่า​คุณ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​อะไร. แต่​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ของ​คุณ​จะ​รู้สึก​ขอบคุณ​ถ้า​คุณ​พูด​ออก​มา​ตรง ๆ. การ​ที่​คุณ​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ทำ​ให้​พวก​เขา​มี​โอกาส​แสดง ‘ความ​รักใคร่​ฉัน​พี่​น้อง​โดย​ไม่​เสแสร้ง.’ (1 เป. 1:22) คุณ​ควร​บอก​ให้​พวก​เขา​รู้​ว่า​คุณ​อยาก​ให้​เขา​ช่วย​มา​รับ​คุณ​ไป​การ​ประชุม อยาก​ทำ​งาน​ประกาศ​ด้วย​กัน​กับ​พวก​เขา หรือ​อยาก​คุย​กับ​เขา​เป็น​ส่วน​ตัว. แน่นอน เรา​ไม่​ควร​เรียก​ร้อง​มาก​เกิน​ไป แต่​เรา​ควร​ขอบคุณ​ที่​พวก​เขา​ช่วย​เรา.

จง​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก: ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ช่วย​ให้​รับมือ​ความ​เจ็บ​ป่วย​เรื้อรัง​ได้​โดย​ไม่​สูญ​เสีย​ความ​ยินดี​มัก​ขึ้น​อยู่​กับ​ตัว​คุณ​เอง. อารมณ์​ที่​เศร้า​หมอง​และ​ความ​ท้อ​แท้​สิ้น​หวัง​อาจ​ทำ​ให้​คิด​ใน​แง่​ลบ. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “จิตต์​ของ​คน​จะ​ประคอง​ตน​ไว้​ใน​เวลา​ที่​เขา​อ่อน​กำลัง; แต่​เมื่อ​มี​จิตต์​ใจ​ชอก​ช้ำ​ใคร​เล่า​จะ​ทน​ได้?”—สุภา. 18:14

มักดาเลนา​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​พยายาม​อย่าง​หนัก​ที่​จะ​ไม่​คิด​ถึง​แต่​ปัญหา​ของ​ตัว​เอง. ดิฉัน​พยายาม​ทำ​ตัว​ให้​สดชื่น​ใน​วัน​ที่​รู้สึก​ดี. ดิฉัน​ได้​รับ​กำลังใจ​จาก​การ​อ่าน​เรื่อง​ราว​ชีวิต​ของ​พี่​น้อง​ที่​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​แม้​ว่า​พวก​เขา​เจ็บ​ป่วย​เรื้อรัง.” อีซา​เบลา​รู้สึก​เข้มแข็ง​ขึ้น​เมื่อ​คิด​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​และ​เห็น​ว่า​เธอ​มี​ค่า. เธอ​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​มี​ค่า​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระเจ้า และ​ดิฉัน​มี​ชีวิต​อยู่​เพื่อ​พระองค์. นอก​จาก​นั้น ดิฉัน​ยัง​มี​ความ​หวัง​อัน​ยอด​เยี่ยม​ใน​อนาคต​ด้วย.”

ซบีกเนียฟ​กล่าว​ว่า “ความ​เจ็บ​ป่วย​สอน​ผม​ให้​ถ่อม​และ​เชื่อ​ฟัง. ความ​เจ็บ​ป่วย​สอน​ผม​ให้​แสดง​ความ​เข้าใจ​และ​มี​วิจารณญาณ​ที่​ดี และ​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​ผู้​อื่น​จริง ๆ. ผม​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​มี​ความ​ยินดี​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​โดย​ไม่​รู้สึก​สงสาร​ตัว​เอง. ที่​จริง ผม​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​ที่​จะ​ก้าว​หน้า​ต่อ ๆ ไป​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า.”

ขอ​ให้​ระลึก​เสมอ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​สังเกต​เห็น​ความ​อด​ทน​ของ​คุณ. พระองค์​ทรง​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ที่​คุณ​ต้อง​ทน​ทุกข์​และ​ทรง​เป็น​ห่วง​คุณ. พระองค์​จะ​ไม่ “ทรง​ลืม​การ​งาน​ของ [คุณ] และ​ความ​รัก​ที่ [คุณ] แสดง​ต่อ​พระ​นาม​ของ​พระองค์.” (ฮีบรู 6:10) ขอ​ให้​จำ​คำ​สัญญา​ที่​พระองค์​ประทาน​แก่​ทุก​คน​ที่​เกรง​กลัว​พระองค์ ที่​ว่า “เรา​จะ​ไม่​มี​วัน​ละ​ทิ้ง​เจ้า​และ​ไม่​มี​วัน​ทอดทิ้ง​เจ้า.”—ฮีบรู 13:5

ถ้า​บาง​ครั้ง​คุณ​รู้สึก​หดหู่ จง​คิด​ถึง​ความ​หวัง​อัน​ยอด​เยี่ยม​ที่​คุณ​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​โลก​ใหม่. เวลา​ที่​คุณ​จะ​ได้​เห็น​พระ​พร​ที่​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จะ​นำ​มา​สู่​แผ่นดิน​โลก​นี้​ด้วย​ตา​ของ​คุณ​เอง​จวน​จะ​ถึง​อยู่​แล้ว!

[กรอบ/ภาพ​หน้า 28, 29]

พวก​เขา​ประกาศ​ต่อ​ไป​แม้​ว่า​ป่วย​เรื้อรัง

“ผม​เดิน​คน​เดียว​ไม่​ได้​อีก​ต่อ​ไป ภรรยา​ผม​และ​พี่​น้อง​บาง​คน​จึง​ไป​เป็น​เพื่อน​ผม​ใน​งาน​ประกาศ. ผม​ใช้​วิธี​ท่อง​จำ​การ​เสนอ​และ​ข้อ​คัมภีร์​บาง​ข้อ.”—เจอร์ซี ซึ่ง​มี​ความ​บกพร่อง​ด้าน​การ​มอง​เห็น

“นอก​จาก​จะ​ประกาศ​ทาง​โทรศัพท์​แล้ว ดิฉัน​ยัง​เขียน​จดหมาย​ติด​ต่อ​กับ​ผู้​สนใจ​สอง​สาม​คน​เป็น​ประจำ. ระหว่าง​อยู่​ที่​โรง​พยาบาล ดิฉัน​จะ​วาง​พระ​คัมภีร์​และ​หนังสือ​ของ​เรา​ไว้​ข้าง​เตียง​เสมอ. นั่น​ช่วย​ทำ​ให้​ดิฉัน​มี​โอกาส​ได้​เริ่ม​การ​สนทนา​ที่​ดี​หลาย​ครั้ง.”—มักดาเลนา ซึ่ง​แพทย์​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​ลูปัส

“ดิฉัน​ชอบ​ไป​ประกาศ​ตาม​บ้าน แต่​เมื่อ​ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​ไป​ไม่​ไหว ดิฉัน​ก็​จะ​ใช้​วิธี​ประกาศ​ทาง​โทรศัพท์.”—อีซาเบลา ซึ่ง​เป็น​โรค​ซึมเศร้า

“ดิฉัน​ชอบ​กลับ​เยี่ยม​เยียน​และ​ไป​กับ​พี่​น้อง​ใน​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์. ใน​วัน​ที่​อาการ​ดี​หน่อย ดิฉัน​ชอบ​ไป​ประกาศ​ตาม​บ้าน.”—บาร์บารา ซึ่ง​มี​เนื้อ​งอก​ใน​สมอง

“ผม​จะ​ถือ​กระเป๋า​วารสาร​ที่​เบา​มาก และ​จะ​อยู่​ประกาศ​จน​กว่า​ข้อ​ของ​ผม​ปวด​จน​ทน​ไม่​ได้.”—ซบีกเนียฟ ผู้​ป่วย​โรค​ข้อ​อักเสบ​รูมาทอยด์

[ภาพ​หน้า 30]

ทั้ง​เด็ก​และ​ผู้​ใหญ่​สามารถ​หนุน​ใจ​ผู้​อื่น​ได้