ถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวาอย่างสุดชีวิต
“ท่านทั้งหลายจะทำอะไรก็ตาม จงทำอย่างสุดชีวิตอย่างที่ทำถวายพระยะโฮวา.”—โกโล. 3:23
1-3. (ก) การที่พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์บนเสาทรมานหมายความว่าพระยะโฮวาไม่ทรงคาดหมายให้เราถวายเครื่องบูชาใด ๆ อีกต่อไปแล้วไหม? จงอธิบาย. (ข) มีคำถามอะไรเกี่ยวกับการถวายเครื่องบูชาในทุกวันนี้?
ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช พระยะโฮวาทรงเปิดเผยให้ประชาชนของพระองค์ทราบว่าเครื่องบูชาไถ่ที่พระเยซูทรงถวายได้ทำให้พระบัญญัติของโมเซถูกยกเลิกไป. (โกโล. 2:13, 14) เครื่องบูชาทั้งหมดที่ชาวยิวถวายกันมานานหลายร้อยปีเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่มีค่าอีกต่อไป. พระบัญญัติได้ทำหน้าที่ในฐานะ “พี่เลี้ยงที่พาเราไปถึงพระคริสต์” จนสำเร็จแล้ว.—กลา. 3:24
2 นั่นไม่ได้หมายความว่าคริสเตียนไม่ต้องสนใจเรื่องเครื่องบูชาอีกต่อไป. ตรงกันข้าม อัครสาวกเปโตรกล่าวถึงความจำเป็นที่จะ ‘ถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณ อย่างที่พระองค์พอพระทัยรับไว้โดยทางพระเยซูคริสต์.’ (1 เป. 2:5, เชิงอรรถ) นอกจากนั้น ดังที่อัครสาวกเปาโลอธิบายไว้อย่างชัดเจน อาจถือได้ว่าทุกแง่มุมของชีวิตคริสเตียนที่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าเป็น “เครื่องบูชา.”—โรม 12:1
3 ดังนั้น คริสเตียนถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวาด้วยการถวายบางสิ่งแด่พระองค์หรือเสียสละบางสิ่งเพื่อพระองค์. จากสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเครื่องบูชาที่ชาวอิสราเอลถวาย เราควรทำอย่างไรเพื่อจะมั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงยอมรับเครื่องบูชาทั้งหมดที่เราถวายในทุกวันนี้?
ในชีวิตประจำวัน
4. เราต้องจำอะไรไว้เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน?
4 ขณะที่เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน อาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำกับการถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวา. เมื่อดูเผิน ๆ แล้ว งานบ้าน งานที่ครูมอบหมาย งานอาชีพ การซื้อของ และเรื่องอื่น ๆ อาจดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลยกับสิ่งฝ่ายวิญญาณ. อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณอุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาหรือตั้งใจว่าจะทำอย่างนั้นในไม่ช้า นับว่าสำคัญที่จะจำไว้ว่าโกโลซาย 3:18-24
กิจกรรมเหล่านี้ในชีวิตประจำวันมีผลกระทบอย่างแท้จริงต่อสายสัมพันธ์ของคุณกับพระองค์. เราเป็นคริสเตียนตลอด 24 ชั่วโมง. เราต้องใช้หลักการของพระคัมภีร์ในทุกแง่มุมของชีวิต. ด้วยเหตุนั้น เปาโลกระตุ้นเราว่า “ท่านทั้งหลายจะทำอะไรก็ตาม จงทำอย่างสุดชีวิตอย่างที่ทำถวายพระยะโฮวา ไม่ใช่อย่างที่ทำให้มนุษย์.”—อ่าน5, 6. อะไรอาจช่วยเราให้ตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีที่เราควรประพฤติและแต่งกาย?
5 กิจกรรมในแต่ละวันของคริสเตียนไม่ใช่ส่วนหนึ่งในการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์. ถึงกระนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าเปาโลกระตุ้นเราให้ทำ “อย่างสุดชีวิตอย่างที่ทำถวายพระยะโฮวา” ทำให้เราคิดถึงวิถีชีวิตทั้งสิ้นของเรา. ดังนั้น เราอาจเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? เราประพฤติและแต่งกายอย่างเหมาะสมตลอดเวลาไหม? หรือว่าขณะที่ทำกิจกรรมในแต่ละวัน เราไม่กล้าแสดงตัวว่าเป็นพยานพระยะโฮวาเพราะวิธีที่เราประพฤติหรือแต่งกาย? ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย! ประชาชนของพระยะโฮวาคงไม่ต้องการทำสิ่งใดก็ตามที่อาจทำให้พระนามของพระเจ้ามัวหมอง.—ยซา. 43:10; 2 โค. 6:3, 4, 9
6 ขอให้เราพิจารณาว่าความปรารถนาที่เราจะทำ “อย่างสุดชีวิตอย่างที่ถวายแด่พระยะโฮวา” ส่งผลกระทบอย่างไรต่อวิธีที่เราคิดและกระทำในสถานการณ์ต่าง ๆ. ขณะที่เราทำอย่างนั้น ขอให้จำไว้ว่าเครื่องบูชาทุกอย่างที่ชาวอิสราเอลถวายแด่พระยะโฮวาต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขามี.—เอ็ก. 23:19
ชีวิตของคุณได้รับผลกระทบอย่างไร?
7. การอุทิศตัวของคริสเตียนเกี่ยวข้องกับอะไร?
7 เมื่อคุณอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา คุณตัดสินใจทำเช่นนั้นอย่างไม่มีเงื่อนไขมิใช่หรือ? นั่นหมายความว่าในทุกแง่มุมของชีวิต คุณจะให้พระยะโฮวาอยู่ในอันดับแรก. (อ่านฮีบรู 10:7) นั่นเป็นการตัดสินใจที่ดี. คุณคงเห็นแล้วว่าเมื่อคุณทำตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งและพยายามทำสอดคล้องกับพระประสงค์นั้นย่อมเกิดผลที่ดีเยี่ยม. (ยซา. 48:17, 18) ประชาชนของพระเจ้าเป็นคนบริสุทธิ์และมีความสุขเพราะพวกเขาสะท้อนคุณลักษณะของพระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งที่ทรงสอนพวกเขา.—เลวี. 11:44; 1 ติโม. 1:11
8. ทำไมจึงสำคัญที่เราจะจำไว้ว่าเครื่องบูชาที่ชาวอิสราเอลถวายนั้นพระยะโฮวาทรงถือว่าบริสุทธิ์?
8 เครื่องบูชาที่ชาวอิสราเอลถวายแด่พระยะโฮวาถือว่าบริสุทธิ์. (เลวี. 6:25; 7:1) คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “บริสุทธิ์” สื่อแนวคิดเกี่ยวกับการแยกต่างหาก การกันไว้โดยเฉพาะ หรือการชำระให้สะอาดแด่พระเจ้า. เพื่อพระยะโฮวาจะยอมรับเครื่องบูชาของเรา ตัวเราต้องแยกต่างหากจากโลกและไม่มีมลทินด้วยอิทธิพลของโลกนี้. เราไม่อาจรักสิ่งใดก็ตามที่พระยะโฮวาทรงเกลียด. (อ่าน 1 โยฮัน 2:15-17) เห็นได้ชัด นี่หมายความว่าเราต้องหลีกเลี่ยงการคบหาหรือการเข้าไปพัวพันกับสิ่งใดก็ตาม ที่จะทำให้เรามีมลทินตามทัศนะของพระเจ้า. (ยซา. 2:4; วิ. 18:4) นั่นยังหมายความอีกด้วยว่าเราไม่อาจปล่อยให้ตาของเราจ้องมองสิ่งที่ไม่สะอาดหรือผิดศีลธรรม หรือปล่อยความคิดให้เพ้อฝันในเรื่องเช่นนั้น.—โกโล. 3:5, 6
9. การปฏิบัติของคริสเตียนต่อผู้อื่นสำคัญอย่างไร และเพราะเหตุใด?
9 เปาโลกระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “อย่าลืมทำการดีและแบ่งปันสิ่งของแก่ผู้อื่น ด้วยว่าพระเจ้าพอพระทัยเครื่องบูชา เช่นนั้น.” (ฮีบรู 13:16) ดังนั้น เป็นที่คาดหมายได้ว่าการเป็นคนดีและการทำดีต่อผู้อื่นเป็นสิ่งที่พระยะโฮวาทรงถือว่าเป็นเครื่องบูชาที่พระองค์พอพระทัย. การแสดงความห่วงใยด้วยความรักบ่งบอกว่าเราเป็นคริสเตียนแท้.—โย. 13:34, 35; โกโล. 1:10
เครื่องบูชาในการนมัสการ
10, 11. พระยะโฮวาทรงมองการรับใช้และการนมัสการของคริสเตียนอย่างไร และเรื่องนี้ควรมีผลต่อเราอย่างไร?
10 คริสเตียนทำดีต่อคนอื่น ๆ ในวิธีที่โดดเด่นมากด้วยการ “ประกาศความหวังของเราอย่างเปิดเผย.” คุณประกาศในทุกโอกาสที่ทำได้ไหม? เปาโลเรียกกิจกรรมสำคัญนี้ของคริสเตียนว่าเป็น “เครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระเจ้า . . . คือผลของริมฝีปากที่ประกาศพระนามของพระองค์.” (ฮีบรู 10:23; 13:15; โฮ. 14:2) มีหลายสิ่งที่เราอาจกล่าวถึงได้เกี่ยวกับเวลาและคุณภาพในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร และหลายส่วนในการประชุมการรับใช้กระตุ้นเราให้คิดถึงเรื่องนี้. แต่อาจกล่าวสั้น ๆ ได้ว่าเนื่องจากการประกาศทั้งอย่างเป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการเป็น “เครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระเจ้า” และเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการของเรา เครื่องบูชานั้นควรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะถวายได้. แม้ว่าสภาพการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่เวลาที่เราอุทิศให้ในการประกาศข่าวดีมักสะท้อนให้เห็นว่าเราเห็นค่าสิ่งฝ่ายวิญญาณขนาดไหน.
11 คริสเตียนใช้เวลาเพื่อการนมัสการเป็นส่วนตัวหรือเป็นกลุ่มเป็นประจำ. พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราทำอย่างนั้น. เป็นความจริงที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องถือวันซะบาโตตามพระบัญญัติหรือเดินทางไปเข้าร่วมเทศกาลในกรุงเยรูซาเลมอีกต่อไป. แต่มีการกระทำบางอย่างในชีวิตของคริสเตียนที่เทียบเคียงได้กับการถือปฏิบัติเหล่านั้นในสมัยโบราณ. พระเจ้ายังคงคาดหมายให้เราหยุดจากการกระทำที่ไร้ประโยชน์ และศึกษาพระคำของพระองค์ อธิษฐาน และเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. และหัวหน้าครอบครัวมีความรับผิดชอบที่จะนำการนมัสการประจำครอบครัวกับคนในบ้าน. (1 เทส. 5: 17; ฮีบรู 10:24, 25) ในเรื่องกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันจะปรับปรุงคุณภาพการนมัสการของฉันได้ไหม?’
12. (ก) การถวายเครื่องหอมในการนมัสการสมัยโบราณอาจเทียบได้กับอะไรในทุกวันนี้? (ข) การเปรียบเทียบดังกล่าวควรส่งผลต่อเนื้อหาคำอธิษฐานของเราอย่างไร?
12 กษัตริย์ดาวิดร้องเพลงถวายพระยะโฮวาว่า “ขอให้คำทูลของข้าพเจ้าขึ้นไปเป็นเหมือนเครื่องหอมถวายบูชาต่อพระองค์.” (เพลง. 141:2) ขอให้คิดสักเล็กน้อยว่าคุณอธิษฐานเป็นประจำไหมและอธิษฐานเรื่องอะไรบ้าง. หนังสือวิวรณ์เปรียบ “คำอธิษฐานของเหล่าผู้บริสุทธิ์” ว่าเป็นเหมือนเครื่องหอมเพราะคำอธิษฐานที่พระยะโฮวาทรงยอมรับนั้นขึ้นไปถึงพระองค์ดุจกลิ่นอันหอมหวาน. (วิ. 5:8) ในชาติอิสราเอลโบราณ เครื่องหอมที่ถวายกันเป็นประจำบนแท่นบูชาของพระยะโฮวาต้องเตรียมอย่างถี่ถ้วนและตรงตามที่ทรงกำหนดไว้. พระยะโฮวาจะทรงยอมรับเครื่องบูชาก็ต่อเมื่อถวายตามข้อกำหนดของพระองค์. (เอ็ก. 30:34-37; เลวี. 10:1, 2) ถ้าเราอธิษฐานอย่างที่รู้สึกจากใจคล้าย ๆ กันนั้น เราก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงยอมรับคำอธิษฐานของเรา.
การให้และการรับ
13, 14. (ก) เอปาโฟรดิทุสและประชาคมฟิลิปปอยทำอะไรเพื่อช่วยเปาโล และท่านอัครสาวกรู้สึกอย่างไรเกี่ยวด้วยเรื่องนี้? (ข) เราจะทำตามตัวอย่างของเอปาโฟรดิทุสและพี่น้องในเมืองฟิลิปปอยได้อย่างไร?
13 การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนงานทั่วโลกอาจเทียบได้กับเครื่องบูชาอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเราจะบริจาคมากหรือน้อย. (มโก. 12:41-44) ในศตวรรษแรก ประชาคมในเมืองฟิลิปปอยส่งเอปาโฟรดิทุสไปยังกรุงโรมให้ช่วยดูแลความจำเป็นด้านร่างกายของเปาโล. ดูเหมือนว่าตัวแทนของประชาคมฟิลิปปอยผู้นี้นำเงินไปด้วยเพื่อจะมอบเป็นของกำนัล. นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พี่น้องชาวฟิลิปปอยแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อเปาโล. พี่น้องเหล่านี้ที่มีความกรุณาอยากช่วยเปาโลให้ทุ่มเทเวลาในการรับใช้มากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน. เปาโลมองของกำนัลนั้นอย่างไร? ท่านเรียกของกำนัลนี้ว่า “เป็นกลิ่นอันหอมหวาน เป็นเครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงยอมรับและทำให้พระองค์ชอบพระทัย.” (อ่านฟิลิปปอย 4:15-19) เปาโลรู้สึกขอบคุณการกระทำที่กรุณาของพี่น้องชาวฟิลิปปอยจริง ๆ และพระยะโฮวาก็ทรงรู้สึกเช่นนั้นด้วย.
14 ในทุกวันนี้ พระยะโฮวาทรงเห็นค่าอย่างยิ่งด้วยเมื่อเห็นเราบริจาคเพื่อสนับสนุนงานทั่วโลก. นอกจากนั้น พระองค์ทรงสัญญาด้วยว่าถ้าเราจัดให้ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรกในชีวิตต่อ ๆ ไป พระองค์จะทรงดูแลความจำเป็นของเราในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกายและฝ่ายวิญญาณ.—มัด. 6:33; ลูกา 6:38
จงแสดงความขอบคุณ
15. มีอะไรบ้างที่ทำให้คุณรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวา?
15 เรามีเหตุผลมากมายที่จะรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวา. เป็นความจริงอยู่แล้วมิใช่หรือที่ว่าในแต่ละวันเราควรขอบคุณสำหรับชีวิตที่พระองค์ประทานแก่เรา? พระองค์ประทานทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อค้ำจุนชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย รวมทั้งอากาศที่เราหายใจ. นอกจากนั้น ความเชื่อของเราซึ่งอาศัยความรู้ถ่องแท้ทำให้เรามีความหวัง. เพียงแค่เหตุผลที่ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระผู้สร้างและพระองค์ทรงทำอะไรเพื่อเราก็นับว่าเป็นเรื่องสมควรอยู่แล้วที่เราจะนมัสการพระองค์และถวายเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระองค์.—อ่านวิวรณ์ 4:11
16. เราควรตอบสนองอย่างไรต่อเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์?
16 ดังที่เห็นแล้วในบทความก่อน ของประทานอันล้ำค่าเป็นพิเศษที่พระเจ้าประทานแก่มนุษยชาติคือเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นซึ่งแสดงถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา. (1 โย. 4:10) เราควรตอบสนองความรักของพระองค์อย่างไร? เปาโลกล่าวว่า “ความรักของพระคริสต์กระตุ้นเรา เพราะเราคิดเห็นอย่างนี้ คือ คน หนึ่งตายเพื่อคนทั้งปวง . . . และพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวงเพื่อว่าคนที่มีชีวิตอยู่จะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่อยู่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาและถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว.” (2 โค. 5:14, 15) เปาโลกล่าวในทำนองว่าถ้าเราเห็นคุณค่าพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า เราจะใช้ชีวิตอย่างที่แสดงว่าเรานับถือพระองค์และพระบุตรของพระองค์. เราแสดงความรักและความขอบคุณต่อพระเจ้าและพระคริสต์โดยการเชื่อฟังพระบัญชาที่ให้ประกาศและสอนคนให้เป็นสาวก และโดยมีความปรารถนาที่จะทำอย่างนั้น.—1 ติโม. 2:3, 4; 1 โย. 5:3
17, 18. บางคนได้ถวายเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวามากขึ้นโดยวิธีใด? จงยกตัวอย่าง.
17 คุณจะปรับปรุงเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญที่คุณถวายแด่พระเจ้าได้ไหม? หลังจากใคร่ครวญสิ่งดีทุกอย่างที่พระยะโฮวาได้ทำเพื่อพวกเขา หลายคนถูกกระตุ้นให้จัดเวลาและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อจะมีส่วนมากขึ้นในการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรหรือกิจกรรมอื่น ๆ ตามระบอบของพระเจ้า. บางคนอาจเป็นไพโอเนียร์สมทบได้หนึ่งเดือนหรือมากกว่านั้นในแต่ละปี ในขณะที่บางคนสามารถรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ. บางคนเข้าร่วมทำงานในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการ. การทำสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมที่แสดงว่าเรารู้สึกขอบคุณมิใช่หรือ? ถ้าเราแสดงความขอบคุณโดยมีแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง พระเจ้าก็จะทรงยอมรับงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้.
18 คริสเตียนหลายคนรู้สึกว่าตนเป็นหนี้บุญคุณพระยะโฮวาและถูกกระตุ้นให้ตอบแทนบุญคุณพระองค์. โมเรนาเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกอย่างนั้น. เธอแสวงหาคำตอบสำหรับข้อสงสัยในเรื่องพระเจ้าและความหมายของชีวิตจากคริสตจักรคาทอลิก ซึ่งเธอถูกเลี้ยงดูมาในศาสนานี้ และจากปรัชญาของชาวเอเชีย. แต่เธอไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจจากทั้งสองแหล่งนี้. เมื่อเธอเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา เธอจึงได้รับคำตอบที่ช่วยดับความกระหายฝ่ายวิญญาณของเธอ. โมเรนารู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับคำตอบในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งตอบคำถามทุกอย่างของเธอและสำหรับความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตที่ได้จากคำตอบเหล่านั้น เธอจึงต้องการขอบคุณพระยะโฮวาด้วยการใช้กำลังทั้งสิ้นของเธอในการรับใช้พระองค์. เธอเริ่มเป็นไพโอเนียร์สมทบทันทีหลังจากรับบัพติสมา และเมื่อสภาพการณ์ในชีวิตเอื้ออำนวยเธอก็เริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำทันที. เวลาผ่านไป 30 ปีแล้ว และโมเรนายังคงทำงานรับใช้เต็มเวลา.
19. คุณอาจถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวามากขึ้นได้อย่างไร?
19 แน่นอน มีผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์มากมายที่สภาพการณ์ในชีวิตไม่เอื้ออำนวยให้รับใช้พระยะโฮวาในฐานะไพโอเนียร์. ไม่ว่าเราทำอะไรได้ในการรับใช้พระยะโฮวา เราทุกคนสามารถถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณที่พระองค์ทรงยอมรับ. ในด้านการกระทำ เราใช้หลักการอันชอบธรรมในคัมภีร์ไบเบิลและสำนึกเสมอว่าเราเป็นตัวแทนของพระยะโฮวาตลอดเวลา. ในด้านความเชื่อ เราไว้วางใจเต็มที่ว่าพระเจ้าจะทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. ในด้านการงานที่ดี เราช่วยแพร่กระจายข่าวดี. ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมและด้วยความรู้สึกขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่พระยะโฮวาทำเพื่อเรา ขอให้เราถวายเครื่องบูชาแด่พระยะโฮวาอย่างสุดชีวิตต่อ ๆ ไป.
[คำถาม]
[คำโปรยหน้า 25]
คุณความดีของพระยะโฮวากระตุ้นคุณให้ปรับปรุงเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระองค์ไหม?
[ภาพหน้า 23]
คุณประกาศในทุกโอกาสที่ทำได้ไหม?