ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

นิสัยที่อาจเป็นพิษต่อจิตใจเรา ความอิจฉาริษยา

นิสัยที่อาจเป็นพิษต่อจิตใจเรา ความอิจฉาริษยา

นิสัย​ที่​อาจ​เป็น​พิษ​ต่อ​จิตใจ​เรา ความ​อิจฉา​ริษยา

นะโปเลียน โบนาปาร์ต​มี​นิสัย​นี้. จูเลียส ซีซาร์​มี​นิสัย​นี้. อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​มี​นิสัย​นี้. แม้​ว่า​ทั้ง​สาม​มี​อำนาจ​และ​เกียรติยศ แต่​พวก​เขา​มี​นิสัย​ที่​อาจ​เป็น​พิษ​ต่อ​จิตใจ​ตน​เอง. ทั้ง​สาม​อิจฉา​คน​อื่น.

“นะโปเลียน​อิจฉา​ซีซาร์ ซีซาร์​อิจฉา​อะเล็กซานเดอร์ [มหาราช] และ​ข้าพเจ้า​คิด​ว่า​อะเล็กซานเดอร์​คง​อิจฉา​เฮอร์คิวลีส ผู้​ไม่​เคย​มี​ตัว​ตน” เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ นัก​ปรัชญา​ชาว​อังกฤษ​เขียน​ไว้​เช่น​นั้น. ความ​อิจฉา​ริษยา​สามารถ​ทำ​ให้​คน​เรา​เป็น​ทุกข์ ไม่​ว่า​เขา​จะ​มั่งคั่ง​เพียง​ไร ไม่​ว่า​เขา​จะ​มี​คุณ​งาม​ความ​ดี​เช่น​ไร และ​ไม่​ว่า​เขา​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ชีวิต​ขนาด​ไหน​ก็​ตาม.

ความ​อิจฉา​ริษยา​เป็น​ความ​รู้สึก​ไม่​พอ​ใจ​ที่​ผู้​อื่น​มี​ทรัพย์​สิ่ง​ของ ความ​มั่งคั่ง ข้อ​ได้​เปรียบ และ​สิ่ง​อื่น ๆ ที่​ตน​ไม่​มี. หนังสือ​อ้างอิง​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ถึง​ความ​แตกต่าง​ของ​ความ​ริษยา​กับ​ความ​อิจฉา​ว่า “ ‘ความ​อิจฉา’ . . . หมาย​ถึง​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​มี​อะไร​ดี ๆ เหมือน​คน​อื่น ส่วน​คำ​ว่า ‘ริษยา’ หมาย​ถึง​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​แย่ง​สิ่ง​ที่​คน​อื่น​มี.” คน​ที่​ริษยา​ไม่​เพียง​ขุ่นเคือง​ที่​คน​อื่น​มี​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง แต่​เขา​ต้องการ​แย่ง​สิ่ง​นั้น​มา​เป็น​ของ​ตัว​เอง.

เรา​ควร​พิจารณา​ว่า​เรา​อาจ​มี​ความ​อิจฉา​ริษยา​ได้​อย่าง​ไร​และ​ผล​ที่​ตาม​มา​จะ​เป็น​เช่น​ไร. โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง เรา​จำเป็น​ต้อง​รู้​ว่า​เรา​ต้อง​ทำ​อะไร​จึง​จะ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ความ​อิจฉา​ริษยา​เข้า​ครอบ​งำ​ชีวิต​เรา.

น้ำใจ​ที่​อาจ​กระพือ​ไฟ​ริษยา

แม้​ว่า​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​มี “น้ำใจ​อิจฉา” อยู่​แล้ว แต่​มี​หลาย​ปัจจัย​ที่​อาจ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​น้ำใจ​แบบ​นี้​มาก​ขึ้น. (ยโก. 4:5) อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ถึง​ปัจจัย​หนึ่ง​โดย​เขียน​ว่า “ขอ​ให้​เรา​อย่า​ถือ​ดี อย่า​ยั่ว​ยุ​ให้​มี​การ​แข่งขัน​ชิง​ดี​กัน อย่า​อิจฉา​กัน.” (กลา. 5:26) น้ำใจ​แข่งขัน​ชิง​ดี​กัน​อาจ​ทำ​ให้​เรา​มี​น้ำใจ​อิจฉา​มาก​ขึ้น​ไป​อีก​จาก​ที่​เรา​มี​อยู่​แล้ว​เพราะ​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​เรา. คริสเตียน​สอง​คน คือ​คริสตินา​และ​โฮเซ * พบ​ว่า​เรื่อง​นี้​เป็น​จริง​กับ​ตัว​เอง.

คริสตินา ซึ่ง​เป็น​ไพโอเนียร์​ประจำ กล่าว​ว่า “ดิฉัน​มัก​มอง​คน​อื่น​ด้วย​ความ​อิจฉา​อยู่​บ่อย ๆ. ดิฉัน​จะ​เปรียบ​เทียบ​ตัว​ดิฉัน​เอง​กับ​คน​อื่น​แล้ว​ก็​เห็น​ว่า​ตัว​เอง​ไม่​มี​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​มี.” ใน​โอกาส​หนึ่ง คริสตินา​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน​กับ​พี่​น้อง​คู่​หนึ่ง ซึ่ง​ผู้​เป็น​สามี​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง. เพราะ​รู้​ว่า​เธอ​กับ​เอริก สามี​ของ​เธอ อายุ​รุ่น​ราว​คราว​เดียว​กัน​กับ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​และ​ภรรยา และ​ใน​อดีต​พวก​เขา​ก็​เคย​ได้​รับ​งาน​มอบหมาย​คล้าย ๆ กัน คริสตินา​จึง​พูด​ว่า “สามี​ดิฉัน​ก็​เป็น​ผู้​ปกครอง​เหมือน​กัน! แล้ว​ทำไม​คุณ​สอง​คน​จึง​ได้​ทำ​งาน​เดิน​หมวด แต่​เรา​ไม่​มี​สิทธิ​พิเศษ​อะไร​เลย?” ไฟ​ริษยา​ซึ่ง​ถูก​กระพือ​โดย​น้ำใจ​ชิง​ดี​ชิง​เด่น ทำ​ให้​เธอ​มอง​ไม่​เห็น​การ​งาน​ที่​ดี​ที่​เธอ​กับ​สามี​กำลัง​ทำ​อยู่​และ​ทำ​ให้​เธอ​ไม่​พึง​พอ​ใจ​ชีวิต​ตัว​เอง.

โฮเซ​ต้องการ​จะ​รับใช้​เป็น​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้​ใน​ประชาคม. เมื่อ​เขา​ไม่​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง แต่​คน​อื่น ๆ ได้​รับ เขา​ก็​เริ่ม​อิจฉา​คน​เหล่า​นั้น​และ​ไม่​พอ​ใจ​ผู้​ประสาน​งาน​คณะ​ผู้​ปกครอง. โฮเซ​สารภาพ​ว่า “ความ​อิจฉา​ทำ​ให้​ผม​บ่ม​เพาะ​ความ​เกลียด​ชัง​ต่อ​ผู้​ปกครอง​คน​นี้​และ​มอง​เจตนา​ของ​เขา​อย่าง​ผิด ๆ. เมื่อ​ความ​อิจฉา​เข้า​ครอบ​งำ​ชีวิต​เรา เรา​ก็​จะ​คิด​ถึง​แต่​ตัว​เอง​และ​คิด​อะไร​ไม่​ออก.”

ตัว​อย่าง​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​สอน​เรา

คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ตัว​อย่าง​เตือน​ใจ​อยู่​มาก​มาย. (1 โค. 10:11) บาง​ตัว​อย่าง​ไม่​เพียง​แต่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ความ​อิจฉา​ริษยา​ก่อ​ตัว​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร แต่​ยัง​แสดง​ให้​เห็น​ด้วย​ว่า​ความ​อิจฉา​ริษยา​ทำลาย​ชีวิต​คน​ที่​ปล่อย​ให้​มัน​ครอบ​งำ​อย่าง​ไร.

ตัว​อย่าง​เช่น คายิน บุตร​ชาย​หัวปี​ของ​อาดาม​กับ​ฮาวา โกรธ​เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยอม​รับ​เครื่อง​บูชา​ของ​เฮเบล​แต่​ไม่​ยอม​รับ​เครื่อง​บูชา​ของ​เขา. คายิน​สามารถ​แก้ไข​เรื่อง​นี้​ได้ แต่​ความ​ริษยา​บัง​ตา​เขา​จน​ใน​ที่​สุด​เขา​ฆ่า​น้อง​ชาย​ตัว​เอง. (เย. 4:4-8) ไม่​แปลก​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​คายิน​ว่า “อยู่​ฝ่าย​ตัว​ชั่ว​ร้าย” ซึ่ง​ก็​คือ​ซาตาน!—1 โย. 3:12

พี่​ชาย​สิบ​คน​ของ​โยเซฟ​อิจฉา​ที่​โยเซฟ​มี​ความ​สัมพันธ์​ใกล้​ชิด​เป็น​พิเศษ​กับ​บิดา. ความ​เกลียด​ชัง​โยเซฟ​ยิ่ง​เพิ่ม​ขึ้น​ไป​อีก​เมื่อ​เขา​บอก​พวก​พี่​ชาย​เกี่ยว​กับ​ความ​ฝัน​เชิง​พยากรณ์​ที่​เขา​ฝัน​เห็น. พวก​พี่​ชาย​ถึง​กับ​อยาก​ฆ่า​เขา​ด้วย​ซ้ำ. ใน​ที่​สุด พวก​พี่​ชาย​ขาย​น้อง​ไป​เป็น​ทาส และ​หลอก​บิดา​ให้​เชื่อ​ว่า​โยเซฟ​ตาย​แล้ว​ซึ่ง​เป็น​การ​กระทำ​ที่​โหด​ร้าย​ต่อ​บิดา. (เย. 37:4-11, 23-28, 31-33) หลาย​ปี​ต่อ​มา พวก​เขา​ยอม​รับ​บาป​ของ​ตน โดย​พูด​แก่​กัน​ว่า “เรา​คง​ทำ​ผิด​ไว้​แก่​น้อง​เรา​แต่​ก่อน, เพราะ​เรา​ได้​เห็น​ความ​ทุกข์​ลำบาก​ของ​น้อง, เมื่อ​เขา​อ้อน​วอน, แต่​เรา​มิ​ได้​ฟัง.”—เย. 42:21; 50:15-19

ใน​กรณี​ของ​โครา ดาธาน และ​อะบีราม พวก​เขา​เกิด​ความ​ริษยา​เมื่อ​เปรียบ​เทียบ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ตน​ได้​รับ​กับ​ที่​โมเซ​และ​อาโรน​ได้​รับ. พวก​เขา​กล่าวหา​ว่า​โมเซ “ได้​ตั้ง​ตัว​ขึ้น​เป็น​นาย” และ​ยก​ตัว​เอง​ให้​สูง​เหนือ​คน​อื่น ๆ. (อาฤ. 16:13) ข้อ​กล่าวหา​นั้น​ไม่​เป็น​ความ​จริง. (อาฤ. 11:14, 15) พระ​ยะโฮวา​เอง​เป็น​ผู้​แต่ง​ตั้ง​โมเซ. แต่​พวก​ผู้​ขืน​อำนาจ​เหล่า​นี้​ริษยา​อยาก​ได้​ตำแหน่ง​ของ​โมเซ. ใน​ที่​สุด ความ​ริษยา​ทำ​ให้​พวก​เขา​พินาศ​ด้วย​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​ยะโฮวา.—เพลง. 106:16, 17

กษัตริย์​โซโลมอน​เคย​เห็น​ด้วย​ตัว​ท่าน​เอง​ว่า​ความ​ริษยา​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​คน​เรา​ได้​มาก​ถึง​ขนาด​ไหน. หญิง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ลูก​ของ​นาง​เอง​ที่​เพิ่ง​คลอด​เสีย​ชีวิต​พยายาม​หลอก​เพื่อน​ที่​อยู่​ด้วย​กัน​ให้​คิด​ว่า​เด็ก​ที่​ตาย​เป็น​ลูก​ของ​เพื่อน​คน​นี้. ระหว่าง​ที่​พิจารณา​คดี หญิง​ที่​พูด​โกหก​ยอม​ให้​ฆ่า​เด็ก​ตาม​คำ​สั่ง​ของ​กษัตริย์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โซโลมอน​มี​รับสั่ง​ให้​มอบ​เด็ก​คน​นี้​แก่​ผู้​เป็น​แม่​ที่​แท้​จริง.—1 กษัต. 3:16-27

ความ​อิจฉา​ริษยา​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ผล​เสียหาย​ร้ายแรง. ตัว​อย่าง​จาก​พระ​คัมภีร์​ที่​ได้​กล่าว​ไป​แล้ว​แสดง​ว่า​ความ​อิจฉา​ริษยา​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เกลียด​ชัง ความ​ไม่​ยุติธรรม และ​การ​ฆ่า​คน. นอก​จาก​นั้น ใน​แต่​ละ​กรณี​ผู้​ที่​ตก​เป็น​เหยื่อ​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​เลย​ที่​สม​ควร​ถูก​กระทำ​เช่น​นั้น. มี​อะไร​บ้าง​ที่​เรา​อาจ​ทำ​ได้​เพื่อ​ไม่​ให้​ความ​อิจฉา​ริษยา​เข้า​ครอบ​งำ​ชีวิต​เรา? เรา​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​ที่​จะ​เป็น​เหมือน​กับ​การ​ถอน​พิษ​ของ​ความ​อิจฉา​ริษยา?

ยา​ถอน​พิษ​ที่​มี​ประสิทธิภาพ!

จง​พัฒนา​ความ​รัก​และ​ความ​รักใคร่​ฉัน​พี่​น้อง. อัครสาวก​เปโตร​แนะ​นำ​คริสเตียน​ว่า “เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ทำ​ให้​แนว​ทาง​ชีวิต​ของ​พวก​ท่าน​สะอาด​แล้ว​โดย​การ​เชื่อ​ฟัง​ความ​จริง​ซึ่ง​ทำ​ให้​พวก​ท่าน​รักใคร่​กัน​ฉัน​พี่​น้อง​โดย​ไม่​เสแสร้ง ก็​ให้​พวก​ท่าน​รัก​กัน​อย่าง​แรง​กล้า​จาก​หัวใจ.” (1 เป. 1:22) ความ​รัก​คือ​อะไร? อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “ความ​รัก​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​แสดง​ความ​กรุณา. ความ​รัก​ไม่​อิจฉา​ริษยา ไม่​อวด​ตัว ไม่​ทะนง​ตัว ไม่​ประพฤติ​หยาบ​โลน ไม่​เห็น​แก่​ประโยชน์​ส่วน​ตัว.” (1 โค. 13:4, 5) ถ้า​เรา​พัฒนา​ความ​รัก​เช่น​นั้น​ต่อ​คน​อื่น ๆ นั่น​ย่อม​ช่วย​ยับยั้ง​เรา​ไว้​ไม่​ให้​อิจฉา​ริษยา​มิ​ใช่​หรือ? (1 เป. 2:1) แทน​ที่​จะ​อิจฉา​ดาวิด โยนาธาน “รัก​ดาวิด​เสมอ​ตน​เอง.”—1 ซามู. 18:1

คบหา​กับ​ผู้​ที่​นมัสการ​พระเจ้า. ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​บท 73 อิจฉา​คน​ชั่ว​ที่​ใช้​ชีวิต​อย่าง​หรูหรา​และ​ไม่​ประสบ​ปัญหา​แต่​อย่าง​ใด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เขา​เอา​ชนะ​ความ​อิจฉา​โดย​เข้า​ไป​ใน “พระ​วิหาร​ของ​พระเจ้า.” (เพลง. 73:3-5, 17) การ​คบหา​กับ​เพื่อน​ผู้​นมัสการ​ช่วย​ให้​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ตระหนัก​ถึง​พระ​พร​ที่​เขา​ได้​รับ​จาก ‘การ​เข้า​มา​ใกล้​พระเจ้า.’ (เพลง. 73:28) การ​คบหา​เป็น​ประจำ​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​การ​ประชุม​คริสเตียน​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​เช่น​กัน.

พยายาม​ทำ​ดี. หลัง​จาก​สังเกต​ว่า​คายิน​ได้​บ่ม​เพาะ​ความ​อิจฉา​ริษยา​และ​ความ​เกลียด​ชัง พระเจ้า​ทรง​บอก​เขา​ว่า ‘จง​ทำ​ดี.’ (เย. 4:7) ‘การ​ทำ​ดี’ หมาย​ความ​เช่น​ไร​สำหรับ​คริสเตียน? พระ​เยซู​ตรัส​ว่า​เรา ‘ต้อง​รัก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เรา​ด้วย​สุด​หัวใจ​ของ​เรา ด้วย​สุด​ชีวิต​ของ​เรา และ​ด้วย​สุด​ความ​คิด​ของ​เรา และ​ต้อง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง.’ (มัด. 22:37-39) ความ​พึง​พอ​ใจ​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​การ​ให้​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​เป็น​แกนกลาง​ใน​ชีวิต​และ​จาก​การ​ช่วย​คน​อื่น ๆ เป็น​เหมือน​ยา​ถอน​พิษ​ของ​ความ​อิจฉา​ริษยา​ที่​มี​ประสิทธิภาพ. การ​มี​ส่วน​ร่วม​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร​และ​งาน​สอน​คน​ให้​เป็น​สาวก​เป็น​วิธี​ที่​ดี​ที่​จะ​รับใช้​พระเจ้า​และ​เพื่อน​บ้าน​ของ​เรา และ​ทำ​ให้​เรา​ได้​รับ “พระ​พร​ของ​พระ​ยะโฮวา.”—สุภา. 10:22

“จง​ชื่นชม​ยินดี​กับ​ผู้​ที่​ชื่นชม​ยินดี.” (โรม 12:15) พระ​เยซู​ทรง​ชื่นชม​ยินดี​เมื่อ​เหล่า​สาวก​ประสบ​ความ​สำเร็จ และ​พระองค์​ทรง​ชี้​ว่า​พวก​เขา​จะ​ทำ​งาน​ประกาศ​ให้​สำเร็จ​ได้​มาก​ยิ่ง​กว่า​พระองค์. (ลูกา 10:17, 21; โย. 14:12) เรา​มี​เอกภาพ​ใน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา. ด้วย​เหตุ​นั้น ความ​สำเร็จ​ของ​ใคร​ก็​ตาม​ใน​หมู่​พวก​เรา​นับ​เป็น​พระ​พร​สำหรับ​ทุก​คน. (1 โค. 12:25, 26) ดัง​นั้น เรา​น่า​จะ​ชื่นชม​ยินดี​แทน​ที่​จะ​รู้สึก​อิจฉา​เมื่อ​คน​อื่น​ได้​รับ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​มาก​กว่า​มิ​ใช่​หรือ?

การ​ต่อ​สู้​ที่​ไม่​ง่าย​เลย!

การ​ต่อ​สู้​เพื่อ​เอา​ชนะ​ความ​อิจฉา​อาจ​เป็น​การ​ต่อ​สู้​ที่​ยืดเยื้อ. คริสตินา​ยอม​รับ​ว่า “ดิฉัน​ยัง​คง​มี​นิสัย​ขี้​อิจฉา​อยู่​มาก. แม้​ว่า​ดิฉัน​จะ​เกลียด​นิสัย​นี้ แต่​ความ​รู้สึก​นี้​ก็​ยัง​มี​อยู่ และ​ดิฉัน​ต้อง​คอย​หัก​ห้าม​มัน​ไว้​เสมอ.” โฮเซ​ต้อง​ต่อ​สู้​เพื่อ​จะ​เอา​ชนะ​นิสัย​นี้​เช่น​กัน. เขา​กล่าว​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​ผม​ให้​มอง​เห็น​ค่า​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ของ​ผู้​ประสาน​งาน​คณะ​ผู้​ปกครอง. การ​มี​สาย​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​พระเจ้า​เป็น​สิ่ง​ที่​ล้ำ​ค่า​ที่​สุด.”

ความ​อิจฉา​ริษยา​เป็น “การ​กระทำ​ที่​เกิด​จาก​ความ​ปรารถนา​ของ​กาย​ที่​มี​บาป” ที่​คริสเตียน​ทุก​คน​ควร​พยายาม​เอา​ชนะ. (กลา. 5:19-21) ถ้า​เรา​ไม่​ปล่อย​ให้​ความ​อิจฉา​ริษยา​ครอบ​งำ​เรา ชีวิต​เรา​ก็​จะ​มี​ความ​สุข​มาก​ขึ้น​และ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พระ​บิดา​ของ​เรา​พอ​พระทัย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 ชื่อ​สมมุติ.

[คำ​โปรย​หน้า 17]

“จง​ชื่นชม​ยินดี​กับ​ผู้​ที่​ชื่นชม​ยินดี”