จงช่วยผู้คนให้ “ตื่นจากหลับ”
จงช่วยผู้คนให้ “ตื่นจากหลับ”
“พวกท่านรู้ว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ควรจะตื่นจากหลับได้แล้ว.”—โรม 13:11
คุณอธิบายได้ไหม?
เหตุใดจึงสำคัญที่คริสเตียนต้องตื่นฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ?
เหตุใดผู้รับใช้ที่ตื่นตัวอยู่เสมอควรฟังและช่างสังเกต?
ความกรุณาและความนุ่มนวลมีความสำคัญอย่างไรในการประกาศของเรา?
1, 2. หลายคนจำเป็นต้องตื่นในความหมายเช่นไร?
ทุกปี มีคนจำนวนมากตายเพราะพวกเขาง่วงหรือเผลอหลับขณะขับรถ. คนอื่น ๆ ตกงานเนื่องจากตื่นไม่ทันเวลางานหรือเพราะหลับขณะปฏิบัติหน้าที่. แต่ความง่วงฝ่ายวิญญาณอาจมีผลร้ายแรงยิ่งกว่านั้นมาก. ในความหมายที่สำคัญนี้เองที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผู้ที่ตื่นตัวอยู่เสมอ . . . ก็มีความสุข.”—วิ. 16:14-16
2 ขณะที่วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา มนุษย์โดยทั่วไปกำลังหลับใหลฝ่ายวิญญาณ. แม้แต่ผู้นำบางคนในคริสต์ศาสนจักรก็กล่าวถึงฝูงแกะของพวกเขาว่าเป็น ‘ยักษ์หลับ.’ การหลับฝ่ายวิญญาณคืออะไร? เหตุใดจึงสำคัญที่คริสเตียนแท้ต้องตื่นอยู่เสมอ? เราจะช่วยคนอื่น ๆ ให้ตื่นจากหลับเช่นนั้นได้อย่างไร?
การหลับฝ่ายวิญญาณคืออะไร?
3. คุณจะพรรณนาคนที่หลับฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
3 ตามปกติแล้วคนที่หลับจะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ทำอะไร. ตรงกันข้าม คนที่หลับฝ่ายวิญญาณ อาจยุ่งมาก แต่ไม่ได้ยุ่งอยู่กับเรื่องฝ่ายวิญญาณ. พวกเขาอาจหมกมุ่นอย่างมากกับเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาเป็นห่วงกังวลในชีวิตประจำวันหรือการแสวงหาความเพลิดเพลิน ชื่อเสียง หรือความมั่งคั่ง. เพราะยุ่งอยู่กับกิจกรรมเหล่านี้ พวกเขาจึงแทบจะไม่สนใจเลยในเรื่องความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน. แต่คนที่ตื่นฝ่ายวิญญาณตระหนักว่าเรามีชีวิตอยู่ “ในสมัยสุดท้าย” พวกเขาจึงออกแรงแข็งขันเท่าที่จะทำได้ในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า.—2 เป. 3:3, 4; ลูกา 21:34-36
4. คำแนะนำที่ว่า “อย่าให้เราหลับใหลเหมือนคนอื่น” มีความหมายอย่างไร?
4 อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 5:4-8. ในที่นี้อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนเพื่อนร่วมความเชื่อว่าอย่า “หลับใหลเหมือนคนอื่น.” ท่านหมายความอย่างไร? วิธีหนึ่งที่เราอาจ “หลับใหล” ก็คือโดยที่เราละเลยมาตรฐานด้านศีลธรรมของพระยะโฮวา. อีกวิธีหนึ่งที่เรา อาจ “หลับใหล” ก็คือโดยเพิกเฉยข้อเท็จจริงที่ว่าเวลาที่พระยะโฮวาจะทำลายคนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว. เราต้องตรวจสอบตัวเองให้แน่ใจว่าคนเหล่านั้นที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าจะไม่ชักนำเราให้คล้อยตามแนวทางและทัศนะของพวกเขา.
5. คนที่หลับฝ่ายวิญญาณมีแนวคิดเช่นไร?
5 บางคนคิดว่าไม่มีพระเจ้าที่จะพิพากษาการกระทำของพวกเขา. (เพลง. 53:1) ส่วนคนอื่นคิดว่าพระเจ้าไม่สนใจพวกเราที่เป็นมนุษย์ จึงไม่จำเป็นต้องสนใจพระองค์. และยังมีบางคนที่คิดว่าการเป็นสมาชิกของคริสตจักรจะทำให้พวกเขาเป็นมิตรของพระเจ้าได้. คนเหล่านี้ทั้งหมดกำลังหลับฝ่ายวิญญาณ. พวกเขาจำเป็นต้องตื่นจากหลับ. เราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร?
เราเองต้องตื่นอยู่เสมอ
6. เพราะเหตุใดคริสเตียนต้องพยายามตื่นฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ?
6 เพื่อจะปลุกคนอื่นให้ตื่นได้ เราเองต้องตื่นอยู่. นั่นเกี่ยวข้องกับอะไร? พระคำของพระเจ้าแสดงให้เห็นว่าการหลับโดยนัยเกี่ยวข้องกับ “การของความมืด” เช่น การกินเลี้ยงเฮฮาอย่างเลยเถิด การดื่มจนเมามาย การทำผิดศีลธรรมทางเพศ การประพฤติไร้ยางอาย การทะเลาะวิวาท และการอิจฉาริษยา. (อ่านโรม 13:11-14) การหลีกเลี่ยงการกระทำเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยาก. การตื่นตัวระวังระไวอยู่เสมอเป็นเรื่องสำคัญ. คนขับรถที่ประเมินอันตรายของการหลับในต่ำเกินไปอาจทำให้ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตราย. สำคัญสักเพียงไรที่คริสเตียนต้องรู้ว่าการหลับฝ่ายวิญญาณอาจส่งผลเสียหายร้ายแรงถึงตายได้!
7. ทัศนะผิด ๆ ที่มีต่อผู้คนอาจมีผลอย่างไรต่อเรา?
7 ตัวอย่างเช่น คริสเตียนคนหนึ่งอาจคิดว่าทุกคนในเขตทำงานปฏิเสธข่าวดีกันหมดและไม่มีอะไรจะเปลี่ยนพวกเขาได้. (สุภา. 6:10, 11) เขาอาจหาเหตุผลว่า ‘ถ้าไม่มีใครตอบรับ เราจะพยายามอย่างมากที่จะเข้าถึงผู้คนหรือช่วยเหลือพวกเขาไปทำไม?’ จริงอยู่ ตอนนี้หลายคนอาจหลับใหลฝ่ายวิญญาณ แต่สภาพการณ์และทัศนะของพวกเขาอาจเปลี่ยนได้. บางคนตื่นจากหลับและตอบรับข่าวดี. และเราจะช่วยพวกเขาได้ถ้าเราเองตื่นอยู่เสมอ เช่น โดยการพยายามใช้วิธีใหม่ ๆ ในการเสนอข่าวราชอาณาจักรในวิธีที่ดึงดูดใจ. ส่วนหนึ่งของการที่เราตื่นตัวอยู่เสมอเกี่ยวข้องกับการเตือนตัวเองให้ระลึกเสมอว่าเหตุใดงานรับใช้ของเราจึงสำคัญมาก.
อะไรทำให้งานรับใช้ของเราสำคัญมาก?
8. เหตุใดงานประกาศของคริสเตียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง?
8 ขอจำไว้ว่า ไม่ว่าผู้คนตอบรับอย่างไรในเวลานี้ การประกาศของเราทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญและมีส่วนทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ. ในไม่ช้า คนที่ไม่เชื่อฟังข่าวดีจะถูกตัดสินลงโทษตามการพิพากษา. วิธีที่ผู้คนแสดงปฏิกิริยาต่อการประกาศของเราจะเป็นพื้นฐานที่พระเจ้าทรงใช้ในการตัดสินพวกเขา. (2 เทส. 1:8, 9) นอกจากนั้น นับว่าเป็นเรื่องผิดพลาดที่คริสเตียนจะหาเหตุผลว่าการประกาศอย่างขันแข็งเป็นเรื่องไม่จำเป็นเพราะ “ทั้งคนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรมจะกลับเป็นขึ้นจากตาย.” (กิจ. 24:15) เราได้รับความเข้าใจจากพระคำของพระเจ้าว่าคนที่ถูกตัดสินว่าเป็น “แพะ” จะ “ถูกทำลายชั่วนิรันดร์.” การประกาศของเราแสดงให้เห็นความเมตตาของพระเจ้า เปิดทางให้ผู้คนเปลี่ยนชีวิตและได้รับ “ชีวิตนิรันดร์.” (มัด. 25:32, 41, 46; โรม 10:13-15) ถ้าเราไม่ประกาศ ผู้คนจะมีโอกาสได้ยินข่าวสารที่อาจหมายถึงชีวิตสำหรับเขาได้อย่างไร?
9. การประกาศข่าวดีมีประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณและคนอื่น ๆ อย่างไร?
9 การประกาศข่าวดียังเป็นประโยชน์สำหรับเราด้วย. (อ่าน 1 ติโมเธียว 4:16) คุณเห็นด้วยไหมว่าการพูดเรื่องพระยะโฮวาและความหวังเรื่องราชอาณาจักรเสริมความเชื่อและความรักของคุณต่อ พระเจ้าให้มั่นคงขึ้น? การประกาศช่วยคุณให้พัฒนาคุณลักษณะแบบคริสเตียนมิใช่หรือ? การที่คุณแสดงความเลื่อมใสในพระเจ้าด้วยการร่วมทำงานรับใช้ทำให้คุณมีความสุขมิใช่หรือ? หลายคนที่มีสิทธิพิเศษได้สอนความจริงแก่คนอื่น ๆ มีความยินดีที่เห็นพระวิญญาณของพระเจ้าช่วยคนเหล่านั้นให้ปรับปรุงแนวทางชีวิตของตน.
จงเป็นคนช่างสังเกต
10, 11. (ก) พระเยซูและเปาโลแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเป็นคนช่างสังเกตและตื่นตัว? (ข) จงยกตัวอย่างว่าการเป็นคนช่างสังเกตและตื่นตัวจะช่วยเราทำงานรับใช้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร.
10 แต่ละคนอาจถูกกระตุ้นให้สนใจข่าวดีด้วยวิธีที่แตกต่างกัน. ดังนั้น คริสเตียนต้องเป็นคนช่างสังเกตและตื่นตัว. พระเยซูทรงเป็นตัวอย่างสำหรับเรา. เนื่องจากเป็นมนุษย์สมบูรณ์ พระองค์ทรงมองออกว่าฟาริซายคนหนึ่งรู้สึกขุ่นเคืองพระองค์แม้ว่าเขาไม่ได้พูดออกมา ทรงมองออกว่าหญิงคนหนึ่งที่เป็นคนบาปกลับใจอย่างแท้จริง และทรงมองออกว่าหญิงม่ายคนหนึ่งมีน้ำใจเสียสละ. (ลูกา 7:37-50; 21:1-4) พระเยซูทรงสามารถตอบสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของแต่ละคน. อย่างไรก็ตาม ผู้รับใช้ของพระเจ้าไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์สมบูรณ์จึงจะเป็นคนช่างสังเกตได้. อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้. ท่านปรับการเสนอของท่านเพื่อจะดึงดูดความสนใจของคนหลายกลุ่มและผู้คนที่มีทัศนะแตกต่างหลากหลาย.—กิจ. 17:22, 23, 34; 1 โค. 9:19-23
11 โดยพยายามเป็นคนตื่นตัวและช่างสังเกตเช่นเดียวกับพระเยซูและเปาโล เราสามารถมองออกว่าวิธีไหนดีที่สุดที่จะกระตุ้นความสนใจของคนที่เราพบ. ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเข้าพบผู้คน จงมองหาอะไรบางอย่างที่บ่งบอกว่าเขามีภูมิหลังด้านวัฒนธรรม ความสนใจ หรือสภาพครอบครัวอย่างไร. บางทีคุณอาจสังเกตว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ คุณอาจเริ่มการสนทนาด้วยการพูดถึงเรื่องนั้นอย่างสุภาพ.
12. ขณะประกาศ เหตุใดเราควรระวังในเรื่องการพูดคุยกัน?
12 คนที่ช่างสังเกตและตื่นตัวพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เขว. ขณะทำงานประกาศ การสนทนากับเพื่อนผู้ประกาศอาจช่วยหนุนใจกัน. ถึงกระนั้น เราต้องการจำไว้ว่าจุดประสงค์ที่เราเข้าร่วมงานประกาศตามบ้านก็คือการประกาศแก่คนอื่น. (ผู้ป. 3:1, 7) ดังนั้น เราควรระวังไม่ให้การพูดคุยกันระหว่างบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่งส่งผลเสียต่องานประกาศของเรา. การคุยกันเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะพูดกับผู้สนใจเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราจดจ่ออยู่กับเป้าหมายของเรา. นอกจากนั้น แม้ว่าบางครั้งโทรศัพท์มือถืออาจช่วยให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้นในงานประกาศ แต่เราควรระวังไม่ให้โทรศัพท์มาขัดจังหวะการสนทนาของเรากับเจ้าของบ้าน.
จงแสดงความสนใจเป็นส่วนตัว
13, 14. (ก) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้าของบ้านสนใจอะไร? (ข) อะไรอาจกระตุ้นให้ผู้คนสนใจเรื่องพระเจ้า?
13 ผู้ประกาศที่ตื่นตัวจะตั้งใจฟังคนที่เขาสนทนาด้วย. คุณอาจตั้งคำถามอะไรเพื่อให้คนที่พบในเขตประกาศแสดงความรู้สึกของเขาออกมา? เขากังวลในเรื่องศาสนาใหม่ ๆ ที่มีเพิ่มขึ้น ความรุนแรงในท้องถิ่น หรือความล้มเหลวของรัฐบาลไหม? คุณจะกระตุ้นความสนใจในเรื่องพระเจ้าโดยกล่าวถึงการออกแบบที่น่าทึ่งของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายหรือโดยชี้ให้เห็นว่าคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลเป็นประโยชน์อย่างไรได้ไหม? ผู้คนในเกือบทุกวัฒนธรรม แม้แต่บางคนที่ไม่เชื่อพระเจ้า สนใจในเรื่องการอธิษฐานหรือการสวดภาวนา. หลายคนสงสัยว่ามีใครฟังคำสวดภาวนาของเขาไหม. ส่วนบางคนก็อาจถูกกระตุ้นให้เกิดความสนใจโดยคำถามที่ว่า พระเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานทุกอย่าง ไหม? ถ้าไม่ใช่อย่างนั้น เราควรอธิษฐานอย่างไรพระเจ้าจึงจะฟัง?
14 การสังเกตว่าผู้ประกาศที่มีประสบการณ์ทำอย่างไรจะช่วยให้เราเรียนรู้ศิลปะในการเริ่มการสนทนาได้มากทีเดียว. ขอให้สังเกตว่าพวกเขาทำสุภา. 15:13
อย่างไรเพื่อจะไม่ดูเหมือนกับว่าพวกเขากำลังซักไซ้ไล่เลียงเจ้าของบ้านหรือสอดรู้สอดเห็น. น้ำเสียงและการแสดงสีหน้าของพวกเขาบ่งบอกให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาสนใจความคิดเห็นของเจ้าของบ้าน?—ความกรุณาและความชำนาญ
15. เหตุใดเราควรแสดงความกรุณาเมื่อไปประกาศ?
15 คุณชอบไหมถ้ามีใครมาปลุกคุณตอนที่กำลังหลับสนิท? หลายคนไม่พอใจเมื่อถูกปลุกให้ตื่นอย่างกะทันหัน. คนเรามักชอบการปลุกอย่างนุ่มนวลมากกว่า. การพยายามจะปลุกผู้คนให้ตื่นฝ่ายวิญญาณก็เป็นอย่างนั้นด้วย. ตัวอย่างเช่น ถ้าใครบางคนโกรธที่คุณประกาศข่าวดีแก่เขา ตามปกติแล้วการตอบแบบไหนนับว่าดีที่สุด? เราอาจพูดอย่างกรุณาว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขา ขอบคุณที่เขาพูดออกมาตรง ๆ และจากไปด้วยดี. (สุภา. 15:1; 17:14; 2 ติโม. 2:24) ความกรุณาของคุณอาจกระตุ้นให้คนนั้นแสดงปฏิกิริยาที่ดีกว่านี้ในคราวหน้าเมื่อพยานฯ มาประกาศ.
16, 17. เราจะแสดงความเข้าใจในงานประกาศได้อย่างไร?
16 ในกรณีอื่น ๆ คุณอาจเอาชนะปฏิกิริยาเชิงลบได้. บางคนอาจพูดว่า “ไม่เอาครับ ผมมีศาสนาของผมเองอยู่แล้ว” หรืออาจบอกว่า “ดิฉันไม่สนใจ” เพียงเพราะนั่นดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะยุติการสนทนา. แต่ด้วยความชำนาญและความพยายามไม่ละลดอย่างกรุณา คุณอาจตั้งคำถามที่กระตุ้นให้เจ้าของบ้านคิดและสนใจข่าวดีได้.—อ่านโกโลซาย 4:6
17 บางครั้งเมื่อเราพบคนที่คิดว่าเขายุ่งมากและไม่มีเวลาฟังเรา อาจดีที่สุดที่จะแสดงว่าเราเข้าใจสถานการณ์ของเขาและลาจากไป. แต่บางครั้ง คุณอาจเห็นว่าคุณจะพูดอะไรบางอย่างสั้น ๆ ได้. พี่น้องบางคนสามารถเปิดคัมภีร์ไบเบิล อ่านข้อหนึ่งที่กระตุ้นความคิด และทิ้งคำถามไว้กับเจ้าของบ้าน โดยทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาที. บางครั้งการเสนอสั้น ๆ กระตุ้นให้เกิดความสนใจได้มากจนเจ้าของบ้านเห็นว่าเขาพอจะมีเวลาคุยกับเราสั้น ๆ ได้. คุณน่าจะลองทำอย่างนี้เมื่อมีโอกาสที่จะทำได้.
18. เราอาจทำอะไรได้เพื่อจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการประกาศอย่างไม่เป็นทางการ?
18 เมื่อเราพบผู้คนขณะที่เราทำกิจวัตรประจำวัน เราอาจกระตุ้นให้เขาสนใจข่าวดีได้ถ้าเราพร้อมที่จะประกาศอย่างไม่เป็นทางการ. พี่น้องหลายคนพกหนังสือบางเล่มติดกระเป๋า. นอกจากนั้น พวกเขาอาจมีข้อคัมภีร์อยู่ในใจที่พร้อมจะบอกคนอื่นเมื่อมีโอกาส. คุณอาจถามผู้ดูแลการรับใช้หรือไพโอเนียร์ในประชาคมเกี่ยวกับวิธีที่คุณสามารถเตรียมตัวให้พร้อมที่จะทำอย่างนั้น.
กระตุ้นญาติของเราอย่างนุ่มนวล
19. เหตุใดเราไม่ควรเลิกพยายามที่จะช่วยญาติของเรา?
19 เป็นเรื่องธรรมดาที่เราคงอยากช่วยญาติ ๆ ให้ตอบรับข่าวดี. (ยโฮ. 2:13; กิจ. 10:24, 48; 16:31, 32) ถ้าความพยายามของเราในครั้งแรกถูกปฏิเสธอย่างไม่ไยดี เราอาจไม่อยากจะพยายามอีกต่อไป. เราอาจคิดว่าไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไรเราคงเปลี่ยนทัศนะของพวกเขาได้ยาก. ถึงกระนั้น อาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้สภาพการณ์หรือทัศนะ ของญาติเปลี่ยนไป. หรือคุณอาจมีความสามารถในการอธิบายความจริงได้ดีขึ้นซึ่งอาจทำให้ท่าทีของพวกเขาเปลี่ยนไป.
20. เหตุใดจึงสำคัญที่จะพูดกับญาติอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา?
20 เราควรระวังที่จะไม่เป็นคนเย็นชาต่อความรู้สึกของญาติ. (โรม 2:4) เราควรพูดกับพวกเขาอย่างกรุณาเหมือนที่เราพูดกับคนที่เราพบในการประกาศมิใช่หรือ? จงพูดอย่างนุ่มนวลและแสดงความนับถือ. โดยระวังไม่พูดแบบเทศน์ให้เขาฟัง จงแสดงให้เขาเห็นว่าความจริงก่อผลที่ดีต่อคุณอย่างไร. (เอเฟ. 4:23, 24) อธิบายว่าพระยะโฮวาทรงทำให้ชีวิตคุณดีขึ้นโดย ‘สั่งสอนคุณ เพื่อประโยชน์แก่ตัวของคุณเอง’ อย่างไร. (ยซา. 48:17) จงให้ญาติของคุณเห็นว่าคุณกำลังดำเนินชีวิตแบบคริสเตียนจริง ๆ.
21, 22. จงเล่าประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นคุณค่าของการเพียรพยายามช่วยญาติให้รับความจริง.
21 เมื่อไม่นานมานี้ พี่น้องหญิงคนหนึ่งเขียนมาเล่าว่า “ดิฉันพยายามประกาศกับพี่ ๆ น้อง ๆ ทั้ง 13 คนเสมอ ทั้งโดยคำพูดและการกระทำ. ดิฉันไม่เคยปล่อยให้ปีใดผ่านไปโดยไม่ได้เขียนจดหมายถึงแต่ละคน. แต่ถึงจะอย่างนั้น ดิฉันเป็นพยานฯ คนเดียวในครอบครัวนานถึง 30 ปี.”
22 พี่น้องหญิงคนนี้เล่าต่ออีกว่า “วันหนึ่ง ดิฉันโทรศัพท์ไปหาพี่สาวคนหนึ่งซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร. เธอบอกดิฉันว่าเธอขอให้นักเทศน์มาสอนพระคัมภีร์ แต่เขาไม่เคยมาเลย. เมื่อดิฉันบอกว่าดิฉันยินดีช่วย เธอก็พูดว่า ‘ก็ได้ แต่ฉันบอกไว้ก่อนนะว่าฉันจะไม่มีทางเป็นพยานพระยะโฮวา.’ หลังจากส่งหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? ไปให้ ดิฉันก็โทรศัพท์ไปหาเธอทุก ๆ สองสามวัน. แต่เธอก็ยังไม่ได้เปิดหนังสืออ่านสักที. ในที่สุด ดิฉันขอให้เธอไปหยิบหนังสือมา แล้วก็คุยกันประมาณ 15 นาทีทางโทรศัพท์ อ่านและพิจารณาข้อคัมภีร์บางข้อที่มีอ้างถึง. หลังจากที่โทรศัพท์ไปอีกสองสามครั้ง เธอก็ต้องการศึกษานานกว่า 15 นาที. หลังจากนั้น เธอก็เริ่มเป็นฝ่ายโทรศัพท์หาดิฉันเพื่อจะศึกษาด้วยกัน บางครั้งโทรฯ มาแต่เช้าตอนที่ดิฉันยังไม่ได้ลุกจากเตียงเสียด้วยซ้ำ และบางวันก็โทรฯ มาสองครั้ง. ปีต่อมา เธอรับบัพติสมา และปีถัดไปเธอก็เริ่มเป็นไพโอเนียร์.”
23. เหตุใดเราไม่ควรย่อท้อในการพยายามปลุกผู้คนให้ตื่นจากหลับฝ่ายวิญญาณ?
23 การช่วยผู้คนให้ตื่นจากหลับฝ่ายวิญญาณเป็นศิลปะและต้องอาศัยความพยายามอย่างไม่ละลด. ถึงกระนั้น คนที่อ่อนน้อมก็ยังคงตอบรับความพยายามของเราในการปลุกพวกเขา. โดยเฉลี่ย ในแต่ละเดือนมีคนรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวามากกว่า 20,000 คน. ดังนั้น ขอให้เราใส่ใจคำแนะนำที่เปาโลเขียนถึงอาร์คิปปุส พี่น้องในศตวรรษแรก ที่ว่า “จงดูแลงานเผยแพร่ที่ท่านได้รับในฐานะเป็นสาวกขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ดี จะได้ทำงานนี้ให้สำเร็จ.” (โกโล. 4:17) บทความถัดไปจะช่วยทุกคนให้เข้าใจว่าการประกาศด้วยความสำนึกถึงความเร่งด่วนหมายถึงอะไร.
[คำถาม]
[กรอบหน้า 13]
วิธีที่ช่วยให้คุณเองตื่นอยู่เสมอ
▪ มีงานยุ่งเสมอในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า
▪ หลีกเลี่ยงการของความมืด
▪ สำนึกถึงอันตรายของการหลับฝ่ายวิญญาณ
▪ มองผู้คนในเขตประกาศในแง่ดีเสมอ
▪ ลองใช้วิธีใหม่ ๆ ในการประกาศ
▪ คิดถึงความสำคัญของการประกาศเสมอ