ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจเสมอ

จงรับใช้พระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจเสมอ

จง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ​เสมอ

“ลูก​พ่อ จง​รู้​จัก​พระเจ้า​ของ​พ่อ​และ​รับใช้​พระองค์​ด้วย​สุด​หัวใจ.”—1 โคร. 28:9, ล.ม.

หา​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้:

หัวใจ​โดย​นัย​คือ​อะไร?

เรา​อาจ​ตรวจ​สอบ​หัวใจ​ของ​เรา​โดย​วิธี​ใด?

เรา​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ​ได้​อย่าง​ไร?

1, 2. (ก) ส่วน​ใด​ของ​ร่าง​กาย​ที่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มัก​กล่าว​ถึง​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย​บ่อย​กว่า​ส่วน​อื่น ๆ? (ข) เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​หัวใจ​โดย​นัย?

พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มัก​กล่าว​ถึง​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​ร่าง​กาย​มนุษย์​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย. ตัว​อย่าง​เช่น ปฐม​บรรพบุรุษ​โยบ​กล่าว​ว่า “ความ​อสัตย์​อธรรม​ก็​ไม่​มี​อยู่​ที่​มือ ของ​ข้า​ฯ.” กษัตริย์​โซโลมอน​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ข่าว​ดี​ย่อม​เป็น​ที่​ให้​กระดูก ทั้ง​หลาย​อ้วน​พี​ขึ้น.” พระ​ยะโฮวา​ทรง​รับรอง​กับ​ยะเอศเคล​ว่า “เรา​ทำ​หน้า​ผาก ของ​ท่าน​ให้​เป็น​ดัง​เพชร​ที่​แข็ง​กว่า​หิน.” และ​มี​คน​พูด​กับ​อัครสาวก​เปาโล​ว่า “ท่าน​นำ​เรื่อง​แปลก​ประหลาด​มา​ถึง​หู ของ​เรา.”—โยบ 16:17; สุภา. 15:30; ยเอศ. 3:9; กิจ. 17:20, ฉบับ R​73

2 แต่​มี​อยู่​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ร่าง​กาย​มนุษย์​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย​บ่อย​กว่า​ส่วน​อื่น ๆ มาก. ส่วน​ดัง​กล่าว​ได้​แก่​อวัยวะ​ที่​ฮันนา​ผู้​ซื่อ​สัตย์​กล่าว​ถึง​ใน​คำ​อธิษฐาน ที่​ว่า “จิตต์​ใจ [“หัวใจ,” ล.ม.] ของ​ข้าพเจ้า​ชื่นชม​ใน​พระ​ยะโฮวา.” (1 ซามู. 2:1) อัน​ที่​จริง ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​หัวใจ​เกือบ​พัน​ครั้ง ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​ใช้​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย. เป็น​เรื่อง​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​เรา​จะ​เข้าใจ​ว่า​หัวใจ​หมาย​ถึง​อะไร เพราะ​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​เรา​ต้อง​ปก​ป้อง​หัวใจ​ของ​เรา.—อ่าน​สุภาษิต 4:23

หัวใจ​โดย​นัย​คือ​อะไร?

3. เรา​จะ​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​คำ​ว่า “หัวใจ” ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​อย่าง​ไร? จง​อธิบาย​โดย​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ.

3 แม้​ว่า​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ไม่​มี​คำ​นิยาม​ของ​คำ​ว่า “หัวใจ” แบบ​ที่​พบ​ใน​พจนานุกรม แต่​เรา​ก็​ยัง​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​คำ​นี้​ได้. โดย​วิธี​ใด? ขอ​ให้​คิด​ถึง​ผนัง​ภาพ​โมเสก​อัน​วิจิตร​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​นำ​หิน​ก้อน​เล็ก ๆ นับ​พัน​ก้อน​มา​ปะติดปะต่อ​ไว้​ด้วย​กัน. เพื่อ​จะ​มอง​เห็น​ว่า​หิน​ทั้ง​หมด​ถูก​จัด​เรียง​ไว้​ให้​เป็น​ภาพ​อะไร เรา​ต้อง​ถอย​ออก​มา​และ​มอง​ดู​ภาพ​นั้น​ทั้ง​ภาพ. คล้าย​กัน ถ้า​เรา​ดู​หลาย ๆ ข้อ​ที่​มี​การ​ใช้​คำ​ว่า “หัวใจ” ใน​คัมภีร์​ไบเบิล เรา​ก็​จะ​เข้าใจ​ได้​ว่า​คำ​นี้​ใน​ข้อ​เหล่า​นั้น​ประกอบ​กัน​เป็น​ภาพ​ภาพ​หนึ่ง. ภาพ​อะไร?

4. (ก) “หัวใจ” หมาย​ถึง​อะไร? (ข) คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ที่​มัดธาย 22:37 หมาย​ถึง​อะไร?

4 ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​คำ “หัวใจ” เพื่อ​พรรณนา​บุคคล​ภาย​ใน​ทั้ง​หมด​ของ​คน​เรา. บุคคล​ภาย​ใน​นี้​รวม​ถึง​ความ​ปรารถนา ความ​คิด นิสัย​ใจ​คอ ทัศนคติ ความ​สามารถ แรง​จูง​ใจ และ​เป้าหมาย​ของ​เรา. (อ่าน​พระ​บัญญัติ 15:7; ยะซายา 10:7; กิจการ 2:26) ดัง​ที่​หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ไว้ หัวใจ​เป็น “ผล​รวม​ทั้ง​หมด​ของ​บุคคล​ที่​อยู่​ภาย​ใน.” ใน​บาง​กรณี “หัวใจ” มี​ความ​หมาย​ที่​แคบ​กว่า​นั้น. ตัว​อย่าง​เช่น พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​รัก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า​ด้วย​สุด​หัวใจ​ของ​เจ้า ด้วย​สุด​ชีวิต​ของ​เจ้า และ​ด้วย​สุด​ความ​คิด​ของ​เจ้า.” (มัด. 22:37) ใน​กรณี​นี้ “หัวใจ” หมาย​ถึง​อารมณ์ ความ​ปรารถนา และ​ความ​รู้สึก​ของ​บุคคล​ภาย​ใน. ด้วย​การ​ตรัส​ถึง​หัวใจ ชีวิต และ​ความ​คิด​แยก​ต่าง​หาก​กัน​เช่น​นี้ พระ​เยซู​ทรง​เน้น​ว่า​เรา​ต้อง​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​ด้วย​ความ​รู้สึก​จาก​ใจ ด้วย​วิธี​ที่​เรา​ดำเนิน​ชีวิต และ​ด้วย​การ​ใช้​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​ของ​เรา. (โย. 17:3; เอเฟ. 6:6) แต่​เมื่อ​กล่าว​ถึง​เฉพาะ “หัวใจ” คำ​นี้​หมาย​ถึง​บุคคล​ภาย​ใน​ทั้ง​หมด.

เหตุ​ใด​เรา​ต้อง​ปก​ป้อง​หัวใจ​ของ​เรา?

5. เหตุ​ใด​เรา​ต้องการ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เต็ม​ที่​ด้วย​สุด​หัวใจ?

5 กษัตริย์​ดาวิด​เตือน​สติ​โซโลมอน​ใน​เรื่อง​หัวใจ​ว่า “ลูก​พ่อ จง​รู้​จัก​พระเจ้า​ของ​พ่อ​และ​รับใช้​พระองค์​ด้วย​สุด​หัวใจ​และ​ด้วย​ความ​ยินดี ด้วย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตรวจ​ดู​ใจ​ทุก​คน​และ​ทรง​พิเคราะห์​ความ​คิด​และ​ความ​มุ่ง​หมาย​ทุก​อย่าง.” (1 โคร. 28:9, ล.ม.) พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​ตรวจ​ดู​หัวใจ​ทุก​ดวง รวม​ทั้ง​หัวใจ​ของ​เรา​ด้วย. (สุภา. 17:3; 21:2) เรา​จะ​มี​สาย​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​พระเจ้า​และ​มี​อนาคต​ที่​ดี​ได้​ก็​ต่อ​เมื่อ​พระองค์​ทรง​พอ​พระทัย​สิ่ง​ที่​พบ​ใน​หัวใจ​เรา. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​มี​เหตุ​ผล​ที่​ดี​ที่​จะ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​ดาวิด​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​โดย​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เต็ม​ที่​ด้วย​สุด​หัวใจ.

6. เรา​ควร​ตระหนัก​เช่น​ไร​ใน​เรื่อง​ความ​ตั้งใจ​ของ​เรา​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา?

6 การ​งาน​ที่​เรา​ทำ​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ใน​ฐานะ​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​มี​ความ​ปรารถนา​อย่าง​ลึกซึ้ง​ที่​จะ​รับใช้​พระเจ้า​ด้วย​สุด​หัวใจ. ใน​ขณะ​เดียว​กัน เรา​ตระหนัก​ว่า​แรง​กดดัน​ต่าง ๆ ใน​โลก​ชั่ว​ของ​ซาตาน​และ​แนว​โน้ม​ที่​ผิด​บาป​ของ​เรา​เอง​นั้น​มี​พลัง​มาก และ​อาจ​ทำ​ให้​ความ​ตั้งใจ​ของ​เรา​ที่​จะ​รับใช้​พระเจ้า​อย่าง​สุด​หัวใจ​ค่อย ๆ ลด​น้อย​ลง. (ยิระ. 17:9; เอเฟ. 2:2) เพื่อ​จะ​แน่​ใจ​ว่า​ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น เรา​จึง​ต้อง​ตรวจ​สอบ​หัวใจ​เรา​เป็น​ประจำ. เรา​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

7. อะไร​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​หัวใจ​ของ​เรา​เป็น​อย่าง​ไร​จริง ๆ?

7 เห็น​ได้​ชัด บุคลิกภาพ​ของ​เรา​ที่​อยู่​ภาย​ใน​นั้น​มอง​ไม่​เห็น เช่น​เดียว​กับ​ที่​เรา​มอง​ไม่​เห็น​แกน​กลาง​ของ​ต้น​ไม้. ถึง​กระนั้น ดัง​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา กิจกรรม​ต่าง ๆ ที่​เรา​ทำ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​สภาพ​ที่​แท้​จริง​ใน​หัวใจ​เรา​เป็น​อย่าง​ไร เช่น​เดียว​กับ​ผล​ที่​เกิด​จาก​ต้น​ไม้​เผย​ให้​เห็น​ว่า​สภาพ​ของ​ต้น​ไม้​นั้น​เป็น​อย่าง​ไร. (มัด. 7:17-20) ให้​เรา​มา​พิจารณา​กิจกรรม​อย่าง​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​เรา​ที่​เผย​ให้​เห็น​สภาพ​หัวใจ​ของ​เรา.

วิธี​หนึ่ง​ที่​เรา​จะ​ตรวจ​สอบ​หัวใจ​ของ​เรา​ได้

8. คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ที่​มัดธาย 6:33 เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​หัวใจ​เรา?

8 ก่อน​หน้า​นั้น ใน​คำ​เทศน์​เดียว​กัน พระ​เยซู​ทรง​บอก​ผู้​ฟัง​ว่า​พวก​เขา​ควร​ทำ​อะไร​เพื่อ​แสดง​ว่า​พวก​เขา​ปรารถนา​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ. พระองค์​ตรัส​ว่า “ดัง​นั้น จง​แสวง​หา​ราชอาณาจักร​และ​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระองค์​ก่อน เสมอ​ไป แล้ว​พระองค์​จะ​ทรง​ให้​สิ่ง​ทั้ง​ปวง​นี้​แก่​พวก​เจ้า.” (มัด. 6:33) จาก​สิ่ง​ที่​เรา​จัด​ให้​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต เรา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า ใน​ส่วน​ลึก​ของ​หัวใจ เรา​ปรารถนา คิด และ​วาง​แผน​เช่น​ไร​จริง ๆ. ดัง​นั้น วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​รู้​ว่า​เรา​กำลัง​รับใช้​พระเจ้า​ด้วย​สุด​หัวใจ​หรือ​ไม่​ก็​คือ​โดย​การ​ตรวจ​สอบ​ว่า​สิ่ง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ชีวิต​ของ​เรา​คือ​อะไร.

9. พระ​เยซู​ทรง​เชิญ​บาง​คน​ให้​ทำ​อะไร และ​ปฏิกิริยา​ของ​พวก​เขา​เผย​ให้​เห็น​อะไร?

9 ไม่​นาน​หลัง​จาก​พระ​เยซู​ทรง​กระตุ้น​เหล่า​สาวก​ให้ “แสวง​หา​ราชอาณาจักร . . . ก่อน​เสมอ​ไป” ก็​มี​เหตุ​การณ์​หนึ่ง​ที่​แสดง​ว่า​สิ่ง​ที่​คน​เรา​จัด​ให้​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต​นั้น​เผย​ให้​เห็น​ว่า​สภาพ​หัวใจ​ของ​เขา​เป็น​อย่าง​ไร​จริง ๆ. ผู้​เขียน​หนังสือ​กิตติคุณ​ลูกา​เริ่ม​เล่า​เหตุ​การณ์​นั้น​โดย​บอก​ว่า​พระ​เยซู “ตั้ง​พระทัย จะ​ไป​กรุง​เยรูซาเลม” แม้​ทรง​รู้​ดี​ว่า​ใน​ที่​สุด​จะ​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​กับ​พระองค์​ที่​นั่น. ขณะ​ที่​พระ​เยซู​กับ​อัครสาวก “เดิน​ทาง​อยู่” พระองค์​ทรง​พบ​บาง​คน​และ​ทรง​เชิญ​เขา​ว่า “จง​มา​เป็น​ผู้​ติด​ตาม​เรา​เถิด.” คน​เหล่า​นี้​ตอบรับ​คำ​เชิญ​ของ​พระ​เยซู แต่​มี​ข้อ​แม้​บาง​อย่าง. ชาย​คน​หนึ่ง​ทูล​พระองค์​ว่า “ขอ​ให้​ข้าพเจ้า​ไป​ฝัง​ศพ​บิดา​ก่อน.” ส่วน​อีก​คน​หนึ่ง​ทูล​ว่า “พระองค์​เจ้าข้า ข้าพเจ้า​จะ​ติด​ตาม​พระองค์ แต่​ขอ​ให้​ข้าพเจ้า​ไป​ลา​คน​ใน​ครอบครัว​ก่อน.” (ลูกา 9:51, 57-61) การ​ตั้ง​เงื่อนไข​ที่​ฟัง​ไม่​ขึ้น​ของ​พวก​เขา​ช่าง​แตกต่าง​จริง ๆ กับ​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​อย่าง​สุด​หัวใจ​ของ​พระ​เยซู! โดย​สนใจ​เรื่อง​ของ​ตน​เอง​มาก​กว่า​ผล​ประโยชน์​ของ​ราชอาณาจักร พวก​เขา​เผย​ให้​เห็น​ว่า​พวก​เขา​ไม่​เต็ม​ใจ​จะ​รับใช้​พระเจ้า​ด้วย​สุด​หัวใจ.

10. (ก) เรา​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ต่อ​คำ​เชิญ​ของ​พระ​เยซู​ที่​ให้​มา​เป็น​สาวก? (ข) พระ​เยซู​ทรง​เล่า​อุทาหรณ์​สั้น ๆ อะไร?

10 ไม่​เหมือน​กับ​คน​เหล่า​นี้ เรา​ลง​มือ​ทำ​อย่าง​ฉลาด​สุขุม​โดย​ตอบรับ​คำ​เชิญ​ของ​พระ​เยซู​ที่​ให้​มา​เป็น​สาวก​ของ​พระองค์​และ​เรา​กำลัง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ทุก ๆ วัน. โดย​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ใน​หัวใจ​เรา. ถึง​แม้​ว่า​เรา​ขันแข็ง​และ​เอา​การ​เอา​งาน​ใน​ประชาคม เรา​ก็​ยัง​คง​ต้อง​รู้​ว่า​มี​อันตราย​อย่าง​หนึ่ง​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​กับ​หัวใจ​เรา. อันตราย​นั้น​คือ​อะไร? ใน​บท​สนทนา​เดียว​กัน​นั้น​กับ​ชาย​ที่​ต้องการ​เป็น​สาวก พระ​เยซู​ทรง​เผย​ให้​เห็น​อันตราย​ดัง​กล่าว​โดย​ตรัส​ว่า “คน​ที่​เอา​มือ​จับ​คัน​ไถ​แล้ว​หัน​ไป​มอง​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​ก็​ไม่​เหมาะ​สม​กับ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.” (ลูกา 9:62) เรา​ได้​บทเรียน​อะไร​จาก​อุทาหรณ์​นี้?

เรา “ยึด​มั่น​กับ​สิ่ง​ดี” ไหม?

11. เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​งาน​ของ​คน​งาน​ใน​อุทาหรณ์​ของ​พระ​เยซู และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

11 เพื่อ​อุทาหรณ์​สั้น ๆ ของ​พระ​เยซู​ที่​กล่าว​ไป​แล้ว​จะ​ชัดเจน​ยิ่ง​ขึ้น ให้​เรา​เพิ่ม​ราย​ละเอียด​และ​สี​สัน​เข้า​ไป​ใน​อุทาหรณ์​นี้​สัก​เล็ก​น้อย. คน​งาน​คน​หนึ่ง​กำลัง​ง่วน​อยู่​กับ​การ​ไถ​ดิน. แต่​ขณะ​ที่​ไถ​ดิน​อยู่​นั้น เขา​คิด​ถึง​บ้าน​อยู่​เรื่อย ๆ เพราะ​ที่​บ้าน​มี​ครอบครัว เพื่อน อาหาร ดนตรี เสียง​หัวเราะ และ​ร่ม​เงา. เขา​อยาก​กลับ​ไป​หา​สิ่ง​เหล่า​นี้. หลัง​จาก​ไถ​ไป​ได้​พอ​สม​ควร ความ​ปรารถนา​ดัง​กล่าว​ของ​คน​งาน​คน​นี้​ก็​มี​มาก​ขึ้น ๆ จน​เขา​หัน​ไป​มอง “สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง.” แม้​ว่า​คน​งาน​คน​นี้​ยัง​มี​งาน​ที่​ต้อง​ทำ​อีก​มาก​กว่า​จะ​ปลูก​พืช​แล้ว​เสร็จ แต่​เขา​ไม่​จดจ่อ​อยู่​กับ​งาน​และ​ทำ​ให้​เกิด​ผล​เสีย​ต่อ​งาน. เจ้านาย​ของ​คน​งาน​คน​นี้​คง​ต้อง​รู้สึก​ผิด​หวัง​อย่าง​แน่นอน​ที่​เขา​ขาด​ความ​เพียร​อด​ทน.

12. คริสเตียน​บาง​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​อาจ​เป็น​เหมือน​กับ​คน​งาน​ใน​อุทาหรณ์​ของ​พระ​เยซู​ได้​อย่าง​ไร?

12 ตอน​นี้ ขอ​ให้​พิจารณา​สถานการณ์​คล้าย​กัน​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ใน​สมัย​นี้. คน​ไถ​นา​อาจ​เทียบ​ได้​กับ​คริสเตียน​ที่​อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​กำลัง​รับใช้​พระเจ้า​เป็น​อย่าง​ดี แต่​จริง ๆ แล้ว​เขา​ตก​อยู่​ใน​อันตราย​ฝ่าย​วิญญาณ. ตัว​อย่าง​เช่น ขอ​ให้​เรา​นึก​ถึง​พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​ที่​ขยัน​ทำ​งาน​รับใช้​อยู่​เสมอ. แต่​แม้​ว่า​เขา​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​และ​ไป​ประกาศ เขา​อด​ไม่​ได้​ที่​จะ​คิด​ถึง​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง​ที่​เป็น​วิถี​ชีวิต​แบบ​โลก​ซึ่ง​เขา​รู้สึก​ว่า​น่า​ดึงดูด​ใจ. ใน​ส่วน​ลึก​ของ​หัวใจ เขา​ปรารถนา​สิ่ง​เหล่า​นั้น. ใน​ที่​สุด หลัง​จาก​ที่​เขา​รับใช้​มา​หลาย​ปี เขา​ก็​ปรารถนา​อย่าง​ยิ่ง​ใน​สิ่ง​เหล่า​นั้น​จน​เขา​หัน​ไป​มอง “สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง.” แม้​ว่า​ยัง​มี​งาน​อีก​มาก​ที่​ต้อง​ทำ​ใน​การ​รับใช้ แต่​เขา​ไม่​ได้ “ยึด​มั่น​กับ​พระ​คำ​ที่​ให้​ชีวิต” และ​ไม่​ได้​รับใช้​พระเจ้า​อย่าง​ดี​เหมือน​แต่​ก่อน. (ฟิลิป. 2:16) พระ​ยะโฮวา “เจ้าของ​งาน​เกี่ยว” ทรง​เศร้า​พระทัย​ที่​เขา​ขาด​ความ​เพียร​อด​ทน​เช่น​นั้น.—ลูกา 10:2

13. การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

13 บทเรียน​ใน​เรื่อง​นี้​เห็น​ได้​ชัดเจน. เป็น​เรื่อง​น่า​ชมเชย​ถ้า​เรา​ร่วม​ทำ​กิจกรรม​ที่​ดี​งาม​และ​น่า​ยินดี เช่น เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ประจำ​ประชาคม​และ​ประกาศ​เป็น​ประจำ. แต่​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ​มี​อะไร​ที่​มาก​กว่า​นี้​เกี่ยว​ข้อง​อยู่​ด้วย. (2 โคร. 25:1, 2, 27) ถ้า​ใน​ส่วน​ลึก​ของ​หัวใจ​เขา​ยัง​คง​รัก “สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง” หรือ​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง​ที่​เป็น​วิถี​ชีวิต​แบบ​โลก เขา​ย่อม​ตก​อยู่​ใน​อันตราย​ที่​อาจ​สูญ​เสีย​สาย​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​พระเจ้า. (ลูกา 17:32) เพื่อ​จะ “เหมาะ​สม​กับ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า” เรา​ต้อง “เกลียด​สิ่ง​ที่​ชั่ว [และ] ยึด​มั่น​กับ​สิ่ง​ดี.” (โรม 12:9; ลูกา 9:62) ดัง​นั้น เรา​ทุก​คน​จำเป็น​ต้อง​ตรวจ​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ไม่​มี​สิ่ง​ใด​ใน​โลก​ของ​ซาตาน​เหนี่ยว​รั้ง​เรา​ไว้​จาก​การ​เอา​ใจ​ใส่​ผล​ประโยชน์​ของ​ราชอาณาจักร​อย่าง​สุด​หัวใจ แม้​สิ่ง​เหล่า​นั้น​อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​ประโยชน์​หรือ​น่า​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​ก็​ตาม.—2 โค. 11:14; อ่าน​ฟิลิปปอย 3:13, 14

จง​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ!

14, 15. (ก) ซาตาน​กำลัง​พยายาม​ทำ​ให้​สภาพ​หัวใจ​ของ​เรา​เป็น​อย่าง​ไร? (ข) จง​ยก​ตัว​อย่าง​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​วิธี​การ​ของ​ซาตาน​นั้น​นับ​ว่า​อันตราย​มาก.

14 ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​กระตุ้น​เรา​ให้​อุทิศ​ตัว​แด่​พระองค์. นับ​แต่​นั้น​เป็น​ต้น​มา พวก​เรา​หลาย​คน​ได้​พิสูจน์​มา​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ว่า​เรา​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ. แต่​ซาตาน​ไม่​ล้ม​เลิก​ความ​พยายาม. หัวใจ​เรา​ยัง​คง​ตก​เป็น​เป้า​โจมตี​ของ​มัน. (เอเฟ. 6:12) แน่นอน ซาตาน​คง​รู้​ว่า​เรา​จะ​ไม่​ละ​ทิ้ง​พระ​ยะโฮวา​ใน​ทันที. ด้วย​เหตุ​นั้น มัน​ใช้ “ยุค​นี้” อย่าง​มี​เล่ห์​เหลี่ยม​เพื่อ​ทำ​ให้​ความ​กระตือรือร้น​ของ​เรา​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า​ค่อย ๆ อ่อน​ลง. (อ่าน​มาระโก 4:18, 19) เหตุ​ใด​วิธี​ดัง​กล่าว​ของ​ซาตาน​จึง​ใช้​ได้​ผล?

15 เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม​นั้น ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​กำลัง​อ่าน​หนังสือ​โดย​ใช้​หลอด​ไฟ 100 วัตต์ แต่​แล้ว​หลอด​ไฟ​เกิด​ขาด​ขึ้น​มา. เนื่อง​จาก​ตก​อยู่​ใน​ความ​มืด คุณ​เห็น​ทันที​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น แล้ว​ก็​เปลี่ยน​หลอด​ไฟ​ที่​ขาด​นั้น. ห้อง​สว่าง​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. เย็น​วัน​ถัด​ไป คุณ​กำลัง​อ่าน​หนังสือ​โดย​ใช้​โคม​ไฟ​เดียว​กัน​นั้น. แต่​โดย​ที่​คุณ​ไม่​รู้ มี​บาง​คน​เอา​หลอด​ไฟ 95 วัตต์​มา​ใส่​แทน​หลอด​ไฟ 100 วัตต์​นั้น. คุณ​จะ​สังเกต​เห็น​ความ​แตกต่าง​ไหม? คง​จะ​ไม่. และ​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​ใน​วัน​ถัด​ไป​มี​คน​เอา​หลอด​ไฟ 90 วัตต์​มา​เปลี่ยน​แทน​หลอด 95 วัตต์? คุณ​ก็​คง​ยัง​ไม่​สังเกต​เห็น​ความ​แตกต่าง. เพราะ​เหตุ​ใด? แสง​ของ​โคม​ไฟ​นั้น​ค่อย ๆ ลด​ลง​ที​ละ​น้อย​จน​คุณ​มอง​ไม่​ออก. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน อิทธิพล​จาก​โลก​ของ​ซาตาน​อาจ​ทำ​ให้​ความ​กระตือรือร้น​ของ​เรา​ลด​ลง​ไป​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย. ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น ก็​ราว​กับ​ว่า​ซาตาน​สามารถ​ทำ​ให้​ความ​กระตือรือร้น​ของ​เรา​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​เคย​มี 100 วัตต์​ลด​น้อย​ลง. ถ้า​ไม่​ตื่น​ตัว คริสเตียน​อาจ​ไม่​ทัน​สังเกต​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย​ดัง​กล่าว.—มัด. 24:42; 1 เป. 5:8

เรา​ต้อง​อธิษฐาน

16. เรา​จะ​ปก​ป้อง​ตัว​เอง​จาก​แผนการ​อัน​ร้ายกาจ​ของ​ซาตาน​ได้​อย่าง​ไร?

16 เรา​จะ​ปก​ป้อง​ตัว​เอง​ไว้​จาก​แผนการ​อัน​ร้ายกาจ​ของ​ซาตาน​และ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ​อยู่​เสมอ​ได้​อย่าง​ไร? (2 โค. 2:11) เรา​ต้อง​อธิษฐาน. เปาโล​สนับสนุน​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ให้ “ยืนหยัด​ต้านทาน​กล​อุบาย​ของ​พญา​มาร.” แล้ว​ท่าน​ก็​กระตุ้น​พวก​เขา​ว่า “จง​อธิษฐาน​ต่อ​ไป​ใน​ทุก​โอกาส​ด้วย​คำ​อธิษฐาน​และ​คำ​วิงวอน​ทุก​อย่าง.”—เอเฟ. 6:11, 18; 1 เป. 4:7

17. เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​คำ​อธิษฐาน​ของ​พระ​เยซู?

17 เพื่อ​จะ​ยืนหยัด​ต่อ​ต้าน​ซาตาน เรา​ควร​เลียน​แบบ​ทัศนะ​ของ​พระ​เยซู​ใน​เรื่อง​การ​อธิษฐาน​ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระองค์​ทรง​ปรารถนา​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ. ตัว​อย่าง​เช่น ขอ​ให้​สังเกต​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​อธิษฐาน​ใน​คืน​สุด​ท้าย​ก่อน​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์​อย่าง​ไร. ลูกา​บันทึก​ไว้​ว่า “ด้วย​ทรง​เป็น​ทุกข์​ยิ่ง​นัก พระองค์​จึง​ทรง​อธิษฐาน​ต่อ​ไป​อย่าง​เร่าร้อน​ยิ่ง​ขึ้น.” (ลูกา 22:44) ก่อน​หน้า​นั้น​พระ​เยซู​เคย​อธิษฐาน​อย่าง​แรง​กล้า แต่​ใน​โอกาส​นี้​เนื่อง​จาก​ทรง​ถูก​ทดสอบ​อย่าง​รุนแรง​ที่​สุด​พระองค์​ทรง​อธิษฐาน “อย่าง​เร่าร้อน​ยิ่ง​ขึ้น.” และ​คำ​อธิษฐาน​ของ​พระองค์​ได้​รับ​คำ​ตอบ. ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​แสดง​ว่า​การ​อธิษฐาน​มี​ความ​แรง​กล้า​หลาย​ระดับ. ด้วย​เหตุ​นั้น ยิ่ง​การ​ทดสอบ​รุนแรง​มาก​เพียง​ไร​และ​แผน​ของ​ซาตาน​แยบยล​มาก​เท่า​ใด เรา​ควร​อธิษฐาน​ขอ​การ​ปก​ป้อง​คุ้มครอง​จาก​พระ​ยะโฮวา “อย่าง​เร่าร้อน​ยิ่ง​ขึ้น” มาก​เท่า​นั้น.

18. (ก) เรา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​การ​อธิษฐาน และ​เพราะ​เหตุ​ใด? (ข) ปัจจัย​อะไร​บ้าง​ที่​มี​ผล​ต่อ​หัวใจ​ของ​เรา และ​โดย​วิธี​ใด? (โปรด​ดู​ กรอบ​หน้า 16)

18 การ​อธิษฐาน​แบบ​นั้น​จะ​มี​ผล​ต่อ​เรา​อย่าง​ไร? เปาโล​กล่าว​ว่า “จง​ทูล​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​ท่าน​ปรารถนา​ต่อ​พระเจ้า​โดย​การ​อธิษฐาน​และ​การ​วิงวอน​พร้อม​กับ​การ​ขอบพระคุณ แล้ว​สันติ​สุข​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​เหนือ​กว่า​ความ​คิด​ทุก​อย่าง​จะ​ปก​ป้อง​หัวใจ . . . ท่าน​ทั้ง​หลาย ไว้.” (ฟิลิป. 4:6, 7) เพื่อ​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ​อยู่​เสมอ เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​เรา​ต้อง​อธิษฐาน​บ่อย ๆ ด้วย​ใจ​แรง​กล้า. (ลูกา 6:12) ดัง​นั้น จง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​อธิษฐาน​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ขนาด​ไหน​และ​บ่อย​เพียง​ไร?’ (มัด. 7:7; โรม 12:12) คำ​ตอบ​ของ​คุณ​เผย​ให้​เห็น​ได้​มาก​ที​เดียว​ว่า​คุณ​ปรารถนา​จะ​รับใช้​พระเจ้า​ด้วย​ความ​รู้สึก​จาก​หัวใจ​มาก​ขนาด​ไหน.

19. คุณ​จะ​ทำ​อะไร​เพื่อ​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ​อยู่​เสมอ?

19 ดัง​ที่​เรา​ได้​พิจารณา​กัน​ไป​แล้ว การ​จัด​ลำดับ​สิ่ง​ที่​สำคัญ​ใน​ชีวิต​ของ​เรา​อาจ​บอก​ได้​มาก​ว่า​สภาพ​หัวใจ​ของ​เรา​เป็น​อย่าง​ไร. เรา​ต้องการ​ตรวจ​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ไม่​มี​สิ่ง​ใด ไม่​ว่า​จะ​เป็น​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​เรา​ทิ้ง​ไว้​เบื้อง​หลัง​หรือ​แผนการ​อัน​ชั่ว​ร้าย​ของ​ซาตาน จะ​ทำ​ให้​ความ​ตั้งใจ​ที่​เรา​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​หัวใจ​อ่อน​ลง. (อ่าน​ลูกา 21:19, 34-36) ด้วย​เหตุ​นั้น เช่น​เดียว​กับ​ดาวิด เรา​จึง​ทูล​วิงวอน​พระ​ยะโฮวา​ต่อ ๆ ไป​ว่า “ขอ​ทรง​ช่วย​ข้าพเจ้า​ให้​ตั้งใจ​แน่วแน่.”—เพลง. 86:11, ล.ม.

[คำ​ถาม]

[กรอบ​หน้า 16]

สาม​ปัจจัย​ที่​มี​ผล​ต่อ​หัวใจ​ของ​เรา

เช่น​เดียว​กับ​ที่​เรา​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ได้​เพื่อ​ดู​แล​หัวใจ​ของ​เรา​ให้​แข็งแรง เรา​ก็​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ได้​ด้วย​เพื่อ​ดู​แล​หัวใจ​โดย​นัย​ให้​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ดี. ขอ​ให้​พิจารณา​ปัจจัย​สาม​ประการ​ที่​สำคัญ:

1 การ​บำรุง: หัวใจ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​สาร​อาหาร​ที่​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​เพียง​พอ. คล้าย​กัน เรา​จำเป็น​ต้อง​ตรวจ​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า​เรา​ได้​รับ​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​มาก​พอ โดย​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว การ​ใคร่ครวญ และ​การ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​เป็น​ประจำ.—เพลง. 1:1, 2; สุภา. 15:28; ฮีบรู 10:24, 25

 2 การ​ออก​กำลัง​กาย: เพื่อ​จะ​มี​สุขภาพ​ดี บาง​ครั้ง​ต้อง​ออก​กำลัง​กาย​ให้​หัวใจ​เต้น​แรง. คล้าย​กัน การ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​รับใช้​อย่าง​กระตือรือร้น และ​ทุ่มเท​ตัว​เอง​ใน​การ​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ มาก​ขึ้น ช่วย​รักษา​หัวใจ​โดย​นัย​ของ​เรา​ให้​แข็งแรง.—ลูกา 13:24; ฟิลิป. 3:12

3 สิ่ง​แวด​ล้อม: สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เรา​ต้อง​ทำ​งาน​และ​ดำรง​ชีวิต​อยู่​ใน​ท่ามกลาง​ผู้​คน​ที่​ไม่​เลื่อมใส​พระเจ้า​อาจ​ทำ​ให้​หัวใจ​ตาม​ตัว​อักษร​และ​หัวใจ​โดย​นัย​ของ​เรา​อยู่​ใน​ภาวะ​ตึงเครียด​อย่าง​หนัก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เรา​อาจ​ลด​ความ​เครียด​ลง​ได้​ด้วย​การ​คบหา​บ่อย ๆ เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ ซึ่ง​ห่วงใย​เรา​อย่าง​แท้​จริง​และ​รับใช้​พระเจ้า​ด้วย​สุด​หัวใจ.—เพลง. 119:63; สุภา. 13:20