เรื่องราวชีวิตจริง
เจ็ดสิบปีที่ยึดชายเสื้อคนชาติยูดาย
เล่าโดย เลนนาร์ด สมิท
เมื่อผมอยู่ในช่วงวัยรุ่น มีพระคัมภีร์สองข้อที่ผมรู้สึกประทับใจ. ตอนนี้ เวลาผ่านไป 70 กว่าปี ผมก็ยังจำตอนนั้นได้ที่ผมได้เข้าใจความหมายของซะคาระยา 8:23 ซึ่งกล่าวถึง “สิบคน” ที่ยึด “ชายเสื้อแห่งคนชาติยูดาย.” พวกเขาบอกชาวยิวว่า “เราจะไปด้วยท่าน, เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.”
คนชาติยูดายหมายถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิม และ “สิบคน” หมายถึง “แกะอื่น” หรือตามที่รู้จักกันในตอนนั้นว่าเป็น “ชนชั้นโยนาดาบ.” * (โย. 10:16) เมื่อผมเข้าใจความจริงนี้ ผมก็ตระหนักว่า เพื่อผมจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกได้ ผมต้องสนับสนุนชนผู้ถูกเจิมอย่างภักดี.
อุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่อง “แกะ” กับ “แพะ” ในมัดธาย 25:31-46 เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจ. “แกะ” เป็นภาพเล็งถึงคนที่จะถูกพิพากษาให้ได้รับความโปรดปรานในเวลาอวสาน เพราะพวกเขาทำดีต่อเหล่าพี่น้องที่ถูกเจิมของพระคริสต์ที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลก. ในฐานะโยนาดาบหนุ่ม ผมพูดกับตัวเองว่า ‘เลน ถ้านายอยากให้พระคริสต์มองว่านายเป็นแกะของพระองค์ นายต้องสนับสนุนพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระองค์และยอมรับการนำของพวกเขา เพราะพระเจ้าทรงอยู่กับพวกเขา.’ ความเข้าใจนี้ช่วยชี้นำชีวิตผมในช่วงเวลาเจ็ดสิบกว่าปี.
‘แล้วบทบาทของผมคืออะไร?’
แม่ของผมรับบัพติสมาในปี 1925 ที่หอประชุมของเบเธล. หอประชุมนี้มีชื่อว่าลอนดอนแทเบอร์นาเคิล และพี่น้องในเขตนั้นใช้หอประชุมนี้. ผมเกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 1926. ในเดือนมีนาคม 1940 ผมรับบัพติสมาในการประชุมหมวดที่โดเวอร์ ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลของอังกฤษ. ความรักที่ผมมีต่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. เนื่องจากแม่ผมเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมคนหนึ่ง ชายเสื้อตัวแรกที่ผมยึดที่เป็น “ชายเสื้อแห่งคนชาติยูดาย” ก็คือชายเสื้อของแม่ผมเอง. ในเวลานั้น พ่อและพี่สาวของผมยังไม่ได้รับใช้พระยะโฮวา. เราสมทบกับประชาคมจิลลิงแฮม ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ และพี่น้องส่วนใหญ่ในประชาคมนี้เป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิม. แม่วางตัวอย่างที่ดีในเรื่องความกระตือรือร้นในการทำงานประกาศ.
ในเดือนกันยายน 1941 ที่การประชุมภาคในเมืองเลสเตอร์ คำบรรยายที่ชื่อ “ความซื่อสัตย์จงรักภักดี” พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับอำนาจการปกครองเหนือเอกภพ. คำบรรยายนี้ช่วยผมให้เข้าใจเป็นครั้งแรกว่าเรามีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นระหว่างพระยะโฮวากับซาตาน. ด้วยเหตุนั้น เราจำเป็นต้องยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาและรักษาความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระองค์ในฐานะผู้ปกครององค์สูงสุดแห่งเอกภพ.
ในการประชุมภาคครั้งนี้ มีการเน้นอย่างมากเรื่องการรับใช้เป็นไพโอเนียร์ และคนหนุ่มสาวได้รับการสนับสนุนให้ตั้งเป้าหมาย
จะเป็นไพโอเนียร์. คำบรรยายที่ชื่อ “บทบาทของไพโอเนียร์ในองค์การ” ทำให้ผมสงสัยว่า ‘แล้วบทบาทของผมคืออะไร?’ การประชุมภาคครั้งนี้ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าหน้าที่ของผมในฐานะชนชั้นโยนาดาบก็คือการช่วยชนชั้นผู้ถูกเจิมให้ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ในงานประกาศ. ผมกรอกใบสมัครเป็นไพโอเนียร์ตอนที่ยังอยู่ในเมืองเลสเตอร์นี้เอง.รับใช้เป็นไพโอเนียร์ในช่วงสงคราม
ในวันที่ 1 ธันวาคม 1941 ตอนที่ผมอายุ 15 ปี ผมได้รับแต่งตั้งเป็นไพโอเนียร์พิเศษ. แม่เป็นคู่ไพโอเนียร์คนแรกของผม แต่หลังจากนั้นประมาณหนึ่งปี แม่ต้องเลิกเป็นไพโอเนียร์เพราะมีปัญหาสุขภาพ. สำนักงานสาขาลอนดอนจึงจัดให้ผมเป็นไพโอเนียร์คู่กับรอน พาร์คิน ซึ่งปัจจุบันรับใช้เป็นคณะกรรมการสาขาคนหนึ่งในประเทศเปอร์โตริโก.
เราถูกส่งไปรับใช้ที่บรอดสแตร์และแรมส์เกต ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลในมณฑลเคนต์. เราเช่าห้องห้องหนึ่งที่นั่น. ไพโอเนียร์พิเศษได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 40 ชิลลิง. ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าเช่า เราจึงเหลือเงินเพียงเล็กน้อยที่จะใช้จ่าย และบางครั้งเราไม่รู้เลยว่าอาหารมื้อต่อไปของเราจะมาจากไหน. แต่พระยะโฮวาทรงดูแลให้เรามีสิ่งจำเป็นเสมอ ไม่โดยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง.
เราขี่จักรยานเยอะมาก และต้องออกแรงถีบจักรยานที่บรรทุกหนักอึ้งทวนกระแสลมแรงที่มาจากทะเลเหนือ. เรายังต้องเผชิญกับเครื่องบินทิ้งระเบิดและหัวรบวี-1 ของเยอรมันที่บินค่อนข้างต่ำข้ามมณฑลเคนต์ไปทิ้งระเบิดที่กรุงลอนดอน. ครั้งหนึ่ง ผมต้องกระโดดออกจากจักรยานและพุ่งลงไปที่คูน้ำเมื่อระเบิดลูกหนึ่งพุ่งผ่านหัวผมไประเบิดตรงทุ่งนาที่อยู่ไม่ไกล. แม้กระนั้น ช่วงหลายปีที่เป็นไพโอเนียร์ในมณฑลเคนต์เป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุข.
ผมได้มาเป็น “หนุ่มเบเธล”
แม่ผมมักพูดถึงเบเธลด้วยความชื่นชมเสมอ. แม่มักจะบอกว่า “ไม่มีอะไรอีกแล้วที่แม่ปรารถนายิ่งไปกว่าที่ลูกจะได้เป็นหนุ่มเบเธล.” ลองนึกดูสิว่าผมจะยินดีและแปลกใจขนาดไหนเมื่อผมได้รับคำเชิญให้ไปที่เบเธลในกรุงลอนดอนเพื่อช่วยงานที่นั่นสามสัปดาห์ ในเดือนมกราคม 1946. เมื่อครบสามสัปดาห์ ไพรซ์ ฮิวส์ ผู้รับใช้สาขา ขอให้ผมอยู่รับใช้ที่เบเธลต่อไป. การฝึกอบรมที่ผมได้รับที่นั่นช่วยนวดปั้นผมไปตลอดชีวิต.
ในเวลานั้น มีสมาชิกครอบครัวเบเธลในกรุงลอนดอนประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องหนุ่มโสด แต่ก็มีผู้ถูกเจิมหลายคนด้วย เช่น ไพรซ์ ฮิวส์, เอดการ์ เคลย์, และแจ็ก บารร์ ซึ่งภายหลังรับใช้เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครอง. ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่จะสนับสนุนพี่น้องของพระคริสต์ด้วยการทำงานในฐานะคนหนุ่มภายใต้การดูแลของ “เสาหลัก” เหล่านี้!—กลา. 2:9
วันหนึ่งที่เบเธล พี่น้องชายคนหนึ่งบอกผมว่ามีพี่น้องหญิงคนหนึ่งอยู่ที่หน้าประตูและเธออยากพบผม. ผมแปลกใจมากเมื่อเห็นแม่ยืนอยู่ที่นั่นและหนีบกล่องใบหนึ่งไว้ที่แขน. แม่บอกว่าแม่จะไม่เข้าไปเพราะไม่อยากจะรบกวนการทำงานของผม แต่แม่ให้กล่องนั้นไว้กับผมแล้วก็กลับไป. สิ่งที่อยู่ในกล่องนั้นคือเสื้อกันหนาว. ท่าทางที่เปี่ยมด้วยความรักของแม่ทำให้ผมนึกถึงนางฮันนาที่นำเสื้อคลุมมาให้บุตรน้อยขณะที่เขารับใช้ที่พลับพลา.—1 ซามู. 2:18, 19
กิเลียด ประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม
ในปี 1947 พวกเราห้าคนซึ่งรับใช้ที่เบเธลได้รับเชิญให้เข้าร่วมโรงเรียนกิเลียดที่สหรัฐ และในปีถัด
ไปเราก็เข้าร่วมชั้นเรียนที่ 11. เมื่อเราไปถึง ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์กซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนั้นอากาศหนาวจัดเลยทีเดียว. ผมดีใจจริง ๆ ที่แม่ให้เสื้อกันหนาวอันแสนอุ่นตัวนั้นแก่ผม!ช่วงหกเดือนที่กิเลียดเป็นช่วงเวลาที่ผมไม่มีวันลืม. การได้คบหาอย่างใกล้ชิดกับเพื่อนนักเรียนที่มาจากประเทศต่าง ๆ 16 ประเทศช่วยให้ผมมีทัศนะที่กว้างขึ้น. นอกเหนือจากความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณที่ได้จากโรงเรียนนี้แล้ว ผมยังได้เพื่อนหลายคนที่เป็นคริสเตียนอาวุโส. เพื่อนเหล่านี้บางคนภายหลังได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครอง คือลอยด์ แบร์รี เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน อัลเบิร์ต ชโรเดอร์ ผู้สอนในโรงเรียนนี้ และจอห์น บูท ผู้ดูแลฟาร์มราชอาณาจักร (ซึ่งโรงเรียนกิเลียดตั้งอยู่ที่นั่น). ผมรู้สึกขอบคุณจริง ๆ สำหรับคำแนะนำอันเปี่ยมด้วยความรักที่พี่น้องเหล่านี้ให้แก่ผม รวมทั้งตัวอย่างที่ดีของพวกเขาในเรื่องความภักดีต่อพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์.
ทำงานหมวดแล้วก็กลับเบเธล
เมื่อจบโรงเรียนกิเลียด ผมได้รับมอบหมายให้ทำงานหมวดในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา. ผมอายุแค่ 21 ปี แต่พี่น้องตอบรับความกระตือรือร้นของคนหนุ่มอย่างผมด้วยความอบอุ่น. ในหมวดนั้น ผมได้เรียนรู้มากมายจากพี่น้องหลายคนที่อายุมากกว่าและมีประสบการณ์มาก.
หลังจากผ่านไปไม่กี่เดือน ผมได้รับเชิญให้กลับไปที่เบเธลบรุกลินเพื่อรับการฝึกอบรมเพิ่มเติม. ในช่วงนั้น ผมได้รู้จักเสาหลักขององค์การหลายคน เช่น มิลตัน เฮนเชล, คาร์ล ไคลน์, นาทาน นอรร์, ที. เจ. (บัด) ซุลลิแวน, และไลแมน สวิงเกิล ซึ่งทุกคนเคยรับใช้เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครอง. นับเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างจริง ๆ ที่ได้เห็นพวกเขาทำงานและสังเกตเห็นแนวทางแบบคริสเตียนของพวกเขา. ความเชื่อมั่นในองค์การของพระยะโฮวาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่า. ต่อมา ผมถูกส่งกลับมาที่ยุโรปเพื่อรับใช้ต่อไปที่นั่น.
แม่ผมเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 1950. หลังจากงานศพ ผมคุยอย่างตรงไปตรงมากับพ่อและโดรา พี่สาวของผม. ผมถามพ่อและพี่สาวว่าในเมื่อตอนนี้แม่ก็จากไปแล้วและผมก็กำลังจะจากบ้านไป พวกเขาตั้งใจจะทำอะไรในเรื่องความจริง. ทั้งพ่อและพี่สาวผมรู้จักและนับถือบร. แฮร์รี บราวนิง ซึ่งเป็นพี่น้องผู้ถูกเจิมที่สูงอายุ. ทั้งคู่จึงตกลงเรียนความจริงกับบร. แฮร์รี. ไม่ถึงปี พ่อกับโดราก็รับบัพติสมา. ภายหลังพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคมจิลลิงแฮม. หลังจากพ่อเสียชีวิต โดราได้แต่งงานกับรอย มอร์ตัน ผู้ปกครองที่ซื่อสัตย์ และรับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดีจนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 2010.
ไปช่วยงานที่ฝรั่งเศส
ตอนที่เรียนหนังสือ ผมเคยเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, และละติน. ในสามภาษานี้ ฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ทำให้ผมปวดหัวมากที่สุด. ดังนั้น ผมจึงมีความรู้สึกหลายอย่างระคนกันเมื่อได้รับเชิญให้ไปช่วยงานที่เบเธลปารีส ประเทศฝรั่งเศส. ที่นั่น ผมมีสิทธิพิเศษได้ทำงานกับบร. อองรี เจเจร์ พี่น้องสูงอายุซึ่งเป็นผู้ถูกเจิมและเป็นผู้รับใช้สาขา. การทำงานมอบหมายไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปและไม่ต้องสงสัยเลยที่ผมทำผิดพลาดหลายอย่าง แต่ผมได้เรียนรู้มากมายในเรื่องมนุษยสัมพันธ์.
นอกจากนั้น มีการวางแผนจัดการประชุมนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกที่ปารีสในปี 1951 หลังสงครามสงบแล้ว และผมมีส่วนในการจัดการประชุมนี้. เลโอโปล ชองแต ผู้ดูแลเดินทางหนุ่ม ได้มาที่เบเธลเพื่อช่วยผม. ต่อมาเลโอโปลได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลสาขา. การประชุมจัดที่ปาเล เด สปอร์ ใกล้ ๆ หอไอเฟล. มีตัวแทนจาก 28 ประเทศเข้าร่วมประชุม. ในวันสุดท้าย พยานฯ ชาวฝรั่งเศส 6,000 คนต่างก็ชื่นชมยินดีอย่างเหลือล้นที่ได้เห็นว่ามีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 10,456 คน!
เมื่อผมไปถึงฝรั่งเศสใหม่ ๆ ภาษาฝรั่งเศสของผมใช้ไม่ได้เลย. ที่แย่เข้าไปอีกก็คือ ผมจะเปิดปากพูดก็ต่อเมื่อผมแน่ใจว่าพูดถูก. แต่ถ้าคุณไม่ยอมพูดเพราะกลัวพูดผิด คนอื่นก็ช่วยแก้ให้ไม่ได้ และคุณก็จะไม่มีทางก้าวหน้า.
ผมตัดสินใจแก้ไขเรื่องนี้โดยสมัครเรียนในโรงเรียนที่สอนภาษาฝรั่งเศสให้คนต่างชาติ. ผมเรียนตอนเย็นในวันที่ไม่มีการประชุม. ผมเริ่มรักภาษาฝรั่งเศสมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งทุกวันนี้. นั่นนับว่าเป็นประโยชน์ทีเดียว เพราะผมสามารถช่วยงานแปลที่สำนักงานสาขาฝรั่งเศส. ในเวลาต่อมา ผมได้มาเป็นผู้แปล แปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาฝรั่งเศส. นับเป็นสิทธิพิเศษที่ได้ช่วยถ่ายทอดอาหารฝ่ายวิญญาณอันอุดมบริบูรณ์จากทาสสัตย์ซื่อไปยังพี่น้องที่พูดภาษาฝรั่งเศสในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก.—มัด. 24:45-47
แต่งงานและรับสิทธิพิเศษต่อไป
ในปี 1956 ผมแต่งงานกับเอสเทอร์ ไพโอเนียร์ชาวสวิสที่ผมพบเมื่อสองสามปีก่อนหน้านั้น. เราแต่งงานที่หอประชุมราชอาณาจักรที่อยู่ติดกับเบเธลลอนดอน (หอประชุมลอนดอนแทเบอร์นาเคิลเก่าที่แม่ผมรับบัพติสมา). บราเดอร์ฮิวส์เป็นผู้บรรยายงานสมรสของเรา. แม่ของเอสเทอร์มาร่วมงานสมรส และเธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความหวังจะอยู่ในสวรรค์. นอกจากการแต่งงานจะทำให้ผมมีคู่เคียงที่น่ารักและภักดีแล้ว ผมยังได้รับมิตรภาพอันล้ำค่าจากแม่ยายที่แสนดีซึ่งเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระยะโฮวา จนกระทั่งเธอสิ้นชีวิตทางแผ่นดินโลกในปี 2000.
หลังแต่งงาน ผมกับเอสเทอร์พักอยู่นอกเบเธล. ผมยังคงทำงานแปลที่เบเธล ส่วนเอสเทอร์รับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษในแถบชานเมืองของปารีส. เธอสามารถช่วยหลายคนให้เข้ามาเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวา. ในปี 1964 เราได้รับเชิญให้เข้ามาอยู่ในเบเธล. และในปี 1976 เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการสาขาขึ้นเป็นครั้งแรก ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกคนหนึ่ง. ตลอดหลายปี เอสเทอร์ช่วยเหลือและสนับสนุนผมด้วยความรักเสมอ.
“เราจะไม่อยู่กับพวกเจ้าเสมอไป”
ผมได้รับสิทธิพิเศษให้กลับไปที่สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กเป็นระยะ ๆ. เมื่ออยู่ที่นั่น ผมได้รับคำแนะนำที่ดีจากสมาชิกคณะกรรมการปกครองหลายคน. ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมื่อผมพูดถึงเรื่องที่ผมกังวลเกี่ยวกับการทำงานให้เสร็จทันเวลา บราเดอร์นอรร์ยิ้มและพูดว่า “อย่ากังวลเลย. ทำงานไปเถอะ!” นับตั้งแต่นั้นมา หลายครั้งเมื่อมีงานมอบหมายมากมายก่ายกอง แทนที่จะวิตกกลัว ผมก็เพียงแต่เริ่มทำงานทีละอย่าง ๆ ไปจนกระทั่งเสร็จทั้งหมด ซึ่งก็มักจะเสร็จทันเวลา.
ก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่า “เราจะไม่อยู่กับพวกเจ้าเสมอไป.” (มัด. 26:11) พวกเราที่เป็นแกะอื่นก็รู้ด้วยว่าพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์จะไม่อยู่กับเราบนแผ่นดินโลกเสมอไปเหมือนกัน. ดังนั้น ผมถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ประเมินค่ามิได้ที่ตลอดช่วงเวลา 70 กว่าปีผมมีโอกาสได้คบหาอย่างใกล้ชิดกับผู้ถูกเจิมหลายคน. ผมได้ยึดชายเสื้อของคนชาติยูดายไว้ด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 สำหรับรายละเอียดของคำว่า “ชนชั้นโยนาดาบ” โปรดดูหอสังเกตการณ์ 1 มกราคม 1998 หน้า 13 ข้อ 5-6; และหนังสือพยานพระยะโฮวา—ผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) หน้า 83, 165, 166.
[คำโปรยหน้า 21]
บราเดอร์นอรร์ยิ้มและพูดว่า “อย่ากังวลเลย. ทำงานไปเถอะ!”
[ภาพหน้า 19]
(ซ้าย) แม่กับพ่อ
(ขวา) ที่โรงเรียนกิเลียดในปี 1948 ผมสวมเสื้อกันหนาวที่แม่ให้ผม
[ภาพหน้า 20]
แปลคำบรรยายของบราเดอร์ลอยด์ แบร์รี ในการอุทิศสำนักงานสาขาฝรั่งเศส ปี 1997
[ภาพหน้า 21]
(ซ้าย) ถ่ายคู่กับเอสเทอร์ในวันแต่งงานของเรา
(ขวา) ขณะทำงานประกาศด้วยกัน