“จงระวังเชื้อของพวกฟาริซาย”
“จงระวังเชื้อของพวกฟาริซาย”
พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกว่า “จงระวังเชื้อของพวกฟาริซาย คือความหน้าซื่อใจคด.” (ลูกา 12:1) มัดธายบันทึกคำเตือนเดียวกันนี้ และท่านช่วยเราให้เข้าใจว่าพระเยซูกำลังตำหนิ “คำสอน” ของพวกฟาริซาย.—มัด. 16:12
บางครั้ง คัมภีร์ไบเบิลใช้คำว่า “เชื้อ” เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่ทำให้คนเราเสื่อมเสีย. ไม่ต้องสงสัยว่าทั้งคำสอนและทัศนคติของพวกฟาริซายมีผลทำให้ผู้ที่ฟังพวกเขาเสื่อมเสีย. เหตุใดคำสอนของพวกฟาริซายจึงเป็นอันตราย?
1 พวกฟาริซายถือว่าตัวเองชอบธรรม และดูถูกสามัญชน.
ทัศนะที่ถือว่าตัวเองชอบธรรมเช่นนั้นปรากฏอยู่ในอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งที่พระเยซูทรงเล่า. พระองค์ตรัสว่า “คนที่เป็นฟาริซายยืนอธิษฐานในใจว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เหมือนคนอื่น ๆ ที่เป็นคนกรรโชกทรัพย์ คนอธรรม คนเล่นชู้ หรือไม่เหมือนคนเก็บภาษีคนนี้. ข้าพเจ้าอดอาหารสัปดาห์ละสองครั้ง ข้าพเจ้าถวายหนึ่งในสิบของทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าได้มา.’ แต่คนเก็บภาษียืนอยู่ห่าง ๆ ไม่กล้าเงยหน้ามองฟ้าด้วยซ้ำ เอาแต่ตีอกชกหัวและพูดว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงโปรดกรุณาข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนบาปเถิด.’ ”—ลูกา 18:11-13
พระเยซูทรงชมคนเก็บภาษีที่มีความถ่อมใจ โดยตรัสว่า “เราบอกพวกเจ้าว่า เมื่อคนนี้กลับบ้าน เขาเป็นคนชอบธรรมยิ่งกว่า [คนที่เป็นฟาริซาย] เพราะทุกคนที่ยกตัวเองจะถูกเหยียดลง แต่คนที่ถ่อมตัวลงจะถูกยกฐานะให้สูงขึ้น.” (ลูกา 18:14) แม้ว่าคนเก็บภาษีขึ้นชื่อในเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ แต่พระเยซูทรงพยายามช่วยพวกเขาบางคนที่ฟังพระองค์. อย่างน้อยมีคนเก็บภาษีสองคน คือมัดธายกับซัคเคอุส ที่ได้มาเป็นสาวกของพระองค์.
แต่จะว่าอย่างไรถ้าเราคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น เพราะเรามีความสามารถหรือสิทธิพิเศษบางอย่างที่พระเจ้าประทานแก่เราหรือเพราะเราเห็นคนอื่นมีข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องบางอย่าง? เราควรรีบขจัดความคิดเช่นนั้นออกไป เพราะพระคัมภีร์กล่าวว่า “ความรักอดกลั้นไว้นานและแสดงความกรุณา. ความรักไม่อิจฉาริษยา ไม่อวดตัว ไม่ทะนงตัว ไม่ประพฤติหยาบโลน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่โกรธง่าย ไม่จดจำเรื่องที่ทำให้เจ็บใจ. ไม่ยินดีในการอธรรม แต่ยินดีกับความจริง.”—1 โค. 13:4-6
เราควรมีทัศนคติแบบเดียวกับอัครสาวกเปาโล. หลังจากที่กล่าวว่า “พระคริสต์เยซูทรงเข้ามาในโลกเพื่อช่วยคนบาปให้รอด” เปาโลกล่าวต่อว่า “ในคนบาปเหล่านั้น ข้าพเจ้าเป็นตัวเอ้.”—1 ติโม. 1:15
คำถามที่ช่วยเราใคร่ครวญ:
ฉันยอมรับว่าฉันเป็นคนบาปและความรอดของฉันขึ้นอยู่กับพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระยะโฮวาไหม? หรือฉันมองว่าการรับใช้อย่างซื่อสัตย์หลายปีในองค์การของพระเจ้าหรือพรสวรรค์ของตนเองเป็นเหตุผลที่ทำให้ถือได้ว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ๆ?
2 พวกฟาริซายพยายามทำให้ผู้อื่นประทับใจด้วยการแสดงตัวในที่สาธารณะว่าพวกเขาชอบธรรม. พวกเขาอยากเป็นคนเด่นและมีตำแหน่งที่ผู้คนยกย่องสรรเสริญ.
แต่พระเยซูทรงเตือนว่า “ทุกสิ่งที่พวกเขาทำนั้นล้วนแต่เพื่อให้คนอื่นเห็น ด้วยว่าพวกเขาทำกลักใส่ข้อคัมภีร์ที่สวมเป็นเครื่องรางให้ใหญ่ขึ้น และทำชายครุยเสื้อให้ยาวขึ้น. พวกเขาชอบนั่งในที่อันทรงเกียรติในงานเลี้ยง ชอบนั่งที่เด่น ๆ ในธรรมศาลา ชอบให้คนคำนับในตลาด และชอบให้เรียกว่า ‘อาจารย์.’ ” (มัด. 23:5-7) ขอให้เปรียบเทียบทัศนคติของพวกเขากับทัศนคติของพระเยซู. แม้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรที่สมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า แต่พระองค์ทรงเป็นคนถ่อม. เมื่อชายคนหนึ่งเรียกพระองค์ว่า “ผู้ประเสริฐ” พระเยซูตรัสว่า “ทำไมเจ้าเรียกเราว่าผู้ประเสริฐ? ไม่มีใครเป็นผู้ประเสริฐนอกจากพระเจ้าองค์เดียว.” (มโก. 10:18) ในอีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงล้างเท้าให้เหล่าสาวกซึ่งเป็นการวางแบบอย่างในเรื่องความถ่อมใจให้เหล่าสาวกทำตาม.—โย. 13:1-15
คริสเตียนแท้ควรรับใช้เพื่อนร่วมความเชื่อ. (กลา. 5:13) พวกเขาควรทำอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องการมีคุณสมบัติเป็นผู้ดูแลในประชาคม. เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะ “พยายามจะได้ทำหน้าที่ผู้ดูแล” แต่เป้าหมายนี้ควรเกิดจากความปรารถนาที่จะช่วยผู้อื่น. “หน้าที่” นี้ไม่ใช่ตำแหน่งที่เด่นดังหรือทำให้มีอำนาจ. คนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจำเป็นต้อง “ถ่อมใจ” เช่นเดียวกับพระเยซู.—1 ติโม. 3:1, 6; มัด. 11:29
คำถามที่ช่วยเราใคร่ครวญ:
ฉันมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติต่อพี่น้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมดีกว่าที่ฉันปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ โดยอาจหวังจะมีหน้ามีตาหรือมีสิทธิพิเศษมากขึ้นไหม? ฉันมีแนวโน้มที่จะรับใช้พระเจ้าโดยชอบทำงานบางอย่างที่คนอื่นจะสังเกตเห็นและยกย่องสรรเสริญไหม? จริง ๆ แล้ว ฉันพยายามทำตัวโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ไหม?
3 กฎและธรรมเนียมปฏิบัติของพวกฟาริซายทำให้การปฏิบัติตามพระบัญญัติเป็นภาระหนักสำหรับสามัญชน.
พระยะโฮวาประทานพระบัญญัติแก่ชาวอิสราเอลเพื่อบอกให้พวกเขารู้วิธีที่จะนมัสการพระองค์. อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ได้บอกรายละเอียดปลีกย่อยทุกอย่างแก่พวกเขา. ตัวอย่างเช่น พระบัญญัติห้ามทำงานในวันซะบาโต แต่ไม่ได้บอกอย่างละเอียดว่างานอะไรทำได้และงานอะไรทำไม่ได้. (เอ็ก. 20:10) พวกฟาริซายพยายามอุดสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นช่องโหว่โดยเพิ่มกฎ คำนิยาม และธรรมเนียมปฏิบัติของพวกเขาเองเข้าไป. แม้ว่าพระเยซูไม่ปฏิบัติตามกฎที่พวกฟาริซายตั้งขึ้นตามอำเภอใจ แต่พระองค์ทรงปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซ. (มัด. 5:17, 18; 23:23) พระองค์ทรงมองลึกกว่าความหมายตามตัวอักษรของพระบัญญัติ. พระเยซูทรงเข้าใจเจตนารมณ์ของพระบัญญัติและทรงเข้าใจว่าต้องแสดงความเมตตาปรานี. พระองค์ทรงมีเหตุผล แม้แต่เมื่อเหล่าสาวกทำให้พระองค์ผิดหวัง. ตัวอย่างเช่น แม้ว่าพระองค์กระตุ้นเหล่าอัครสาวกถึงสามครั้งให้ตื่นอยู่และเฝ้าระวังในคืนที่พระองค์ถูกจับ แต่พวกเขาผล็อยหลับครั้งแล้วครั้งเล่า. แม้กระนั้น พระองค์ก็ยังตรัสอย่างเห็นอกเห็นใจว่า “ใจกระตือรือร้นก็จริง แต่กายนั้นอ่อนแอ.”—มโก. 14:34-42
คำถามที่ช่วยเราใคร่ครวญ:
ฉันพยายามตั้งกฎที่ไม่ยืดหยุ่นขึ้นเองหรือเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวเองให้กลายเป็นกฎข้อบังคับไหม? ฉันคาดหมายจากผู้อื่นอย่างมีเหตุผลไหม?
คำสอนของพระเยซูแตกต่างกับคำสอนของพวกฟาริซายอย่างมาก. คุณคิดว่าคุณจะทำอะไรได้ไหมเพื่อจะเลียนแบบพระเยซูได้ดียิ่งขึ้น? ไม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร จงพยายามทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด.
[ภาพหน้า 28]
พวกฟาริซายสวมกลักใส่ข้อคัมภีร์. —มัด. 23:2, 5
[ภาพหน้า 29]
ไม่เหมือนกับพวกฟาริซายที่หยิ่งยโส คริสเตียนผู้ปกครองที่ถ่อมใจรับใช้ผู้อื่น
[ภาพหน้า 30]
คุณคาดหมายจากผู้อื่นอย่างมีเหตุผลเช่นเดียวกับพระเยซูไหม?