ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จดหมาย​เหตุ​ของ​เรา

“ดิฉันรักงานคอลพอร์เทอร์มากขึ้นทุกวัน”

“ดิฉันรักงานคอลพอร์เทอร์มากขึ้นทุกวัน”

ใน​ปี 1886 หนังสือ​รุ่ง​อรุณ​แห่ง​รัชสมัย​พัน​ปี เล่ม 1 จำนวน​หนึ่ง​ร้อย​เล่ม​ถูก​ส่ง​จาก​ไบเบิล​เฮาส์​ที่​เมือง​แอลเลเกนี รัฐ​เพนซิลเวเนีย สหรัฐ​อเมริกา ไป​ยัง​เมือง​ชิคาโก รัฐ​อิลลินอยส์. ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ วาง​แผน​จะ​จำหน่าย​หนังสือ​เล่ม​ใหม่​นี้​ใน​ร้าน​หนังสือ​ต่าง ๆ. ห้าง​ใหญ่​ที่​สุด​ห้าง​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​ซึ่ง​จำหน่าย​หนังสือ​ด้าน​ศาสนา​ตก​ลง​รับ​หนังสือ​รุ่ง​อรุณ​แห่ง​รัชสมัย​พัน​ปี ไว้. แต่​สอง​สัปดาห์​ต่อ​มา หนังสือ​ทั้ง​หมด​ก็​ถูก​ส่ง​กลับ​ไป​ที่​ไบเบิล​เฮาส์.

มี​รายงาน​ว่า ผู้​เผยแพร่​กิตติคุณ​ที่​มี​ชื่อเสียง​คน​หนึ่ง​ไม่​พอ​ใจ​ที่​เห็น​หนังสือ​รุ่ง​อรุณ​แห่ง​รัชสมัย​พัน​ปี วาง​อยู่​ด้วย​กัน​กับ​หนังสือ​ของ​เขา. เขา​พูด​ด้วย​ความ​โกรธ​ว่า​ถ้า​หนังสือ​เหล่า​นี้​ยัง​คง​วาง​อยู่​บน​ชั้น​หนังสือ​ของ​ร้าน​นี้ เขา​กับ​เพื่อน ๆ ที่​เป็น​ผู้​เผยแพร่​กิตติคุณ​ที่​มี​ชื่อเสียง​จะ​เรียก​คืน​หนังสือ​ของ​พวก​เขา​และ​จะ​ย้าย​ธุรกิจ​ไป​ที่​อื่น. ผู้​จัด​จำหน่าย​จำ​ใจ​ต้อง​คืน​หนังสือ​รุ่ง​อรุณ. นอก​จาก​นั้น สมาคม​ยัง​ได้​ลง​โฆษณา​ใน​หนังสือ​พิมพ์​ต่าง ๆ ด้วย. แต่​พวก​ผู้​ต่อ​ต้าน​ใช้​อิทธิพล​จัด​การ​ให้​สัญญา​โฆษณา​เหล่า​นั้น​ถูก​ยก​เลิก. ใน​เมื่อ​เป็น​อย่าง​นั้น หนังสือ​ใหม่​นี้​จะ​ไป​ถึง​มือ​ผู้​คน​ที่​แสวง​หา​ความ​จริง​ได้​อย่าง​ไร?

คน​กลุ่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​ถูก​เรียก​ว่า​คอลพอร์เทอร์​ช่วย​แก้​ปัญหา​ดัง​กล่าว. * ใน​ปี 1881 หอสังเกตการณ์​แห่ง​ซีโอน ประกาศ​รับ​สมัคร​ผู้​ประกาศ 1,000 คน​ที่​สามารถ​ทำ​งาน​จำหน่าย​จ่าย​แจก​หนังสือ​อธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล​เต็ม​เวลา. แม้​ว่า​มี​คอลพอร์เทอร์​เพียง​ไม่​กี่​ร้อย​คน พวก​เขา​ได้​กระจาย​เมล็ด​แห่ง​ความ​จริง​ใน​รูป​สิ่ง​พิมพ์​ไป​อย่าง​กว้าง​ไกล. เมื่อ​ถึง​ปี 1897 หนังสือ​รุ่ง​อรุณ​ก็​ถูก​จำหน่าย​จ่าย​แจก​ไป​แล้ว​เกือบ​หนึ่ง​ล้าน​เล่ม และ​ส่วน​ใหญ่​จำหน่าย​โดย​เหล่า​คอลพอร์เทอร์. พวก​เขา​ส่วน​ใหญ่​ยัง​ชีพ​โดย​อาศัย​เงิน​ชด​ใช้​เล็ก​น้อย​ที่​ได้​รับ​จาก​การ​เสนอ​บอกรับ​หอสังเกตการณ์ แต่​ละ​ราย​หรือ​การ​เสนอ​หนังสือ.

คอลพอร์เทอร์​ที่​กล้า​หาญ​เหล่า​นี้​เป็น​ใคร? บาง​คน​เริ่ม​เป็น​คอลพอร์เทอร์​ตั้ง​แต่​วัยรุ่น คน​อื่น ๆ เริ่ม​เป็น​เมื่อ​อายุ​มาก​กว่า​นั้น. หลาย​คน​เป็น​โสด​หรือ​เป็น​คู่​สมรส​ที่​ไม่​มี​ลูก แต่​ก็​มี​ครอบครัว​ที่​มี​ลูก​จำนวน​ไม่​น้อย​ที่​รับใช้​เป็น​คอลพอร์เทอร์. คอลพอร์เทอร์​ประจำ​ทำ​งาน​รับใช้​หลาย​ชั่วโมง​ใน​แต่​ละ​วัน และ​คอลพอร์เทอร์​สมทบ​รับใช้​หนึ่ง​หรือ​สอง​ชั่วโมง​ใน​แต่​ละ​วัน. ไม่​ใช่​ทุก​คน​สามารถ​รับใช้​เป็น​คอลพอร์เทอร์​ได้ เพราะ​สุขภาพ​หรือ​สภาพการณ์​ใน​ชีวิต​อาจ​ไม่​เอื้ออำนวย. แต่​ที่​การ​ประชุม​ภาค​ใน​ปี 1906 มี​การ​ชี้​แจง​ว่า​คน​ที่​จะ​เป็น​คอลพอร์เทอร์​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​คน​ที่ “มี​ความ​รู้​มาก หรือ​มี​ความ​ชำนาญ​เป็น​พิเศษ หรือ​มี​วาทศิลป์​ยอด​เยี่ยม.”

คน​เหล่า​นี้​ซึ่ง​เป็น​คน​ธรรมดา ๆ ใน​เกือบ​จะ​ทุก​ทวีป​สามารถ​ทำ​งาน​ที่​ไม่​ธรรมดา​ให้​สำเร็จ​ได้. พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ประมาณ​ว่า​ใน​เจ็ด​ปี​เขา​ได้​จำหน่าย​หนังสือ​ไป​ถึง 15,000 เล่ม. แต่​เขา​บอก​ว่า “ผม​ไม่​ได้​เป็น​คอลพอร์เทอร์​เพื่อ​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​คน​ขาย​หนังสือ แต่​เพื่อ​จะ​ประกาศ​เรื่อง​พระ​ยะโฮวา​และ​ความ​จริง​ของ​พระองค์.” เหล่า​คอลพอร์เทอร์​ไป​ถึง​ที่​ไหน เมล็ด​แห่ง​ความ​จริง​ก็​กระจาย​ไป​ถึง​ที่​นั่น และ​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​เริ่ม​มี​จำนวน​เพิ่ม​ขึ้น.

พวก​นัก​เทศน์​นัก​บวช​เหยียด​หยาม​เหล่า​คอลพอร์เทอร์ โดย​เรียก​พวก​เขา​ว่า​เป็น​เพียง​พวก​เร่​ขาย​หนังสือ. วารสาร​หอสังเกตการณ์ ใน​ปี 1892 ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “มี​น้อย​คน​ที่​รู้​ว่า [พวก​เขา] เป็น​ตัว​แทน​ที่​แท้​จริง​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า หรือ​มอง​ออก​เช่น​เดียว​กับ​ที่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทรง​มอง​ว่า​ความ​ถ่อม​และ​การ​เสีย​สละ​ของ​พวก​เขา​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​มี​เกียรติ​มี​ศักดิ์ศรี.” เป็น​ความ​จริง​ที่​ว่า​ชีวิต​ของ​คอลพอร์เทอร์​นั้น​ไม่​ใช่​ชีวิต​ที่​สะดวก​สบาย​เหมือน “เดิน​บน​ทาง​ที่​โรย​ด้วย​กลีบ​กุหลาบ” ดัง​ที่​พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​เคย​กล่าว​ไว้. รอง​เท้า​ที่​ทนทาน​และ​จักรยาน​คือ​วิธี​หลัก​ใน​การ​เดิน​ทาง. ใน​ที่​ที่​ผู้​คน​ไม่​ค่อย​มี​เงิน คอลพอร์เทอร์​ก็​จะ​เสนอ​หนังสือ​แก่​ผู้​คน​โดย​แลก​เปลี่ยน​กับ​อาหาร. หลัง​จาก​ทำ​งาน​ทั้ง​วัน​ใน​เขต​ประกาศ ผู้​ประกาศ​ที่​เหนื่อย​ล้า​แต่​ว่า​มี​ความ​สุข​ก็​กลับ​ไป​ที่​พัก​ที่​เป็น​เต็นท์​หรือ​ห้อง​เช่า. ต่อ​มา พวก​เขา​บาง​คน​ได้​ใช้ “เกวียน​เทียม​ม้า​คอลพอร์เทอร์” ซึ่ง​เป็น​รถ​บ้าน​อย่าง​หนึ่ง​ที่​สร้าง​กัน​เอง. รถ​บ้าน​นี้​ช่วย​ประหยัด​เวลา​และ​เงิน​ได้​มาก​ที​เดียว. *

โดย​เริ่ม​ตั้ง​แต่​การ​ประชุม​ภาค​ที่​เมือง​ชิคาโก​ใน​ปี 1893 การ​ประชุม​ภาค​แต่​ละ​ครั้ง​มี​ส่วน​การ​ประชุม​ที่​เน้น​เป็น​พิเศษ​เกี่ยว​กับ​คอลพอร์เทอร์​รวม​อยู่​ด้วย. ใน​ส่วน​เหล่า​นี้​มี​การ​เล่า​ประสบการณ์​อย่าง​มี​ชีวิต​ชีวา แนะ​นำ​เทคนิค​การ​ประกาศ และ​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​เป็น​ประโยชน์. ครั้ง​หนึ่ง บราเดอร์ รัสเซลล์ แนะ​นำ​ผู้​ประกาศ​เหล่า​นี้​ที่​ทำ​งาน​หนัก​ว่า​เช้า​มา​ควร​กิน​อาหาร​ให้​เต็ม​อิ่ม พอ​ถึง​ตอน​สาย ๆ ก็​ดื่ม​นม​สัก​แก้ว​หนึ่ง และ​ใน​วัน​ที่​อากาศ​ร้อน​ก็​ให้​กิน​ไอศกรีม​โซดา.

คอลพอร์เทอร์​ที่​ต้องการ​หา​คน​ที่​จะ​มา​เป็น​เพื่อน​ร่วม​งาน​จะ​ติด​ริบบิ้น​สี​เหลือง. คน​ที่​เพิ่ง​มา​เป็น​คอลพอร์เทอร์​จะ​จับ​คู่​กับ​คอลพอร์เทอร์​ที่​มี​ประสบการณ์​มาก​กว่า. เห็น​ได้​ชัด​ว่า​จำเป็น​ต้อง​มี​การ​ฝึก​อบรม​เช่น​นี้ เพราะ​ด้วย​ความ​ประหม่า​คอลพอร์เทอร์​ใหม่​คน​หนึ่ง​เสนอ​หนังสือ​โดย​พูด​ว่า “คุณ​ไม่​ต้องการ​หนังสือ​เหล่า​นี้​ใช่​ไหม?” แต่​ยัง​ดี​ที่​เจ้าของ​บ้าน​ได้​รับ​หนังสือ​ไว้​และ​ต่อ​มา​ได้​เข้า​มา​เป็น​พี่​น้อง.

เนื่อง​จาก​ไม่​แน่​ใจ​ว่า​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​ดี พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ถาม​ว่า ‘ผม​ควร​ทำ​งาน​อาชีพ​ที่​มี​ราย​ได้​งาม​ต่อ​ไป​แล้ว​ก็​บริจาค​เพื่อ​สนับสนุน​งาน​นี้​ปี​ละ 1,000 ดอลลาร์ หรือ​ว่า​ผม​ควร​สมัคร​เป็น​คอลพอร์เทอร์?’ เขา​ได้​รับ​คำ​ตอบ​ว่า​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​คง​เห็น​ค่า​งาน​รับใช้​ทั้ง​สอง​แบบ แต่​ถ้า​เขา​อุทิศ​เวลา​รับใช้​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​โดย​ตรง​เขา​จะ​ได้​รับ​พระ​พร​มาก​กว่า. แมรี ไฮนด์ มอง​งาน​คอลพอร์เทอร์​ว่า​เป็น “วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​ดี​ที่​สุด​สำหรับ​คน​จำนวน​มาก​ที่​สุด.” และ​อัล​แบร์​ตา ครอสบี ซึ่ง​เป็น​คน​ขี้อาย​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​รัก​งาน​คอลพอร์เทอร์​มาก​ขึ้น​ทุก​วัน.”

ปัจจุบัน ลูก​หลาน​โดย​สาย​เลือด​และ​ลูก​หลาน​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​คอลพอร์เทอร์​ที่​กระตือรือร้น​จำนวน​มาก​ยัง​คง​สืบ​ทอด​มรดก​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​มา. ถ้า​ใน​ครอบครัว​ของ​คุณ​ยัง​ไม่​เคย​มี​ใคร​เป็น​คอลพอร์เทอร์​หรือ​ไพโอเนียร์ คง​ดี​ที่​คุณ​จะ​เริ่ม​ต้น​ธรรมเนียม​ปฏิบัติ​ที่​ดี​นี้​ใน​ครอบครัว​ของ​คุณ​มิ​ใช่​หรือ? ถ้า​คุณ​ทำ​อย่าง​นั้น คุณ​จะ​รัก​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​มาก​ขึ้น​ทุก​วัน​เช่น​กัน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 หลัง​ปี 1931 มี​การ​ใช้​คำ “ไพโอเนียร์” แทน​คำ “คอลพอร์เทอร์.”

^ วรรค 8 สำหรับ​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​รถ​บ้าน จะ​ลง​ใน​บทความ​นี้​ภาย​หลัง.

[คำ​โปรย​หน้า 32]

พวก​เขา​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​คน​ที่ “มี​ความ​รู้​มาก หรือ​มี​ความ​ชำนาญ​เป็น​พิเศษ หรือ​มี​วาทศิลป์​ยอด​เยี่ยม”

[ภาพ​หน้า 31]

คอลพอร์เทอร์ เอ. ดับบลิว. โอเซ ที่​ประเทศ​กานา ประมาณ​ปี 1930

[ภาพ​หน้า 32]

ภาพ​บน: คอลพอร์เทอร์ อีดิท คีน และ เกอร์ทรูด มอร์ริส ที่​ประเทศ​อังกฤษ ประมาณ​ปี 1918; ภาพ​ล่าง: สแตนเลย์ คอสซาบูม และ เฮนรี นอนคีส ที่​ประเทศ​สหรัฐ (กล่อง​เปล่า​ใน​ภาพ​คือ​กล่อง​ใส่​หนังสือ​ที่​พวก​เขา​เสนอ​ไป​หมด​แล้ว)