ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จดหมาย​เหตุ

ร่วมเดินทางไปกับพิลกริม

ร่วมเดินทางไปกับพิลกริม

“ผม​ไป​ตาม​บ้าน​ไม่​ได้​หรอก!” นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใหม่ ๆ หลาย​คน​รู้สึก​แบบ​เดียว​กัน​นี้​เมื่อ​คิด​ว่า​เขา​ต้อง​ไป​ประกาศ​แก่​คน​แปลก​หน้า! แต่​คำ​พูด​ดัง​กล่าว​มา​จาก​ปาก​ของ​ผู้​บรรยาย​สาธารณะ​ที่​มี​ประสบการณ์​และ​เป็น​ครู​สอน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เรียก​ว่า​พิลกริม.

ผู้​อ่าน​วารสาร​หอสังเกตการณ์​แห่ง​ซีโอน หลาย​คน​ที่​ออก​มา​จาก​คริสตจักร​ต่าง ๆ ปรารถนา​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​มี​เพื่อน​ที่​กระหาย​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เช่น​เดียว​กับ​พวก​เขา. วารสาร​นี้​กระตุ้น​ผู้​อ่าน​ให้​แสวง​หา​คน​ที่​มี​ความ​เชื่อ​อัน​ล้ำ​ค่า​แบบ​เดียว​กัน​และ​ประชุม​ด้วย​กัน​เป็น​ประจำ​เพื่อ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. เริ่ม​ตั้ง​แต่​ประมาณ​ปี 1894 สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ได้​ส่ง​ตัว​แทน​เดิน​ทาง​ไป​พบ​กลุ่ม​ต่าง ๆ ที่​ขอ​ให้​ไป​เยี่ยม​พวก​เขา. ต่อ​มา​มี​การ​เรียก​ตัว​แทน​เหล่า​นี้​ว่า​พิลกริม (ปัจจุบัน​เรียก​ว่า​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง). ชาย​ที่​มี​ประสบการณ์​เหล่า​นี้​ซึ่ง​ทำ​งาน​หนัก​ได้​รับ​เลือก​เพราะ​พวก​เขา​เป็น​คน​อ่อนน้อม มี​ความ​รู้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​อย่าง​ดี มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​บรรยาย​และ​สอน และ​เชื่อ​มั่น​ใน​ค่า​ไถ่. ตาม​ปกติ​พวก​เขา​จะ​เยี่ยม​หนึ่ง​หรือ​สอง​วัน​เต็ม ๆ. นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​คน​ได้​ลิ้ม​ลอง​รสชาติ​ของ​การ​ประกาศ​ตาม​บ้าน​เป็น​ครั้ง​แรก​ด้วย​การ​แจก​ใบ​เชิญ​ให้​ไป​ฟัง​คำ​บรรยาย​สาธารณะ​ของ​พิลกริม. หลัง​จาก​คำ​บรรยาย​ใน​ตอน​เย็น​ที่​โรง​เรียน​แห่ง​หนึ่ง​จบ​ลง บราเดอร์​ฮูโก รีเมอร์ ซึ่ง​ใน​ภาย​หลัง​ได้​มา​เป็น​สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง ได้​ตอบ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​จน​กระทั่ง​เลย​เที่ยง​คืน. แม้​ว่า​จะ​เหน็ด​เหนื่อย​เมื่อย​ล้า แต่​ท่าน​ก็​มี​ความ​สุข​และ​บอก​ว่า​การ​ประชุม​นั้น “ช่าง​ยอด​เยี่ยม​จริง ๆ.”

วารสาร​หอสังเกตการณ์ กล่าว​ว่า “เป้าหมาย​หลัก” ของ​การ​เยี่ยม​ของ​พิลกริม​ก็​คือ​เพื่อ​เสริม​สร้าง “ครอบครัว​แห่ง​ความ​เชื่อ” โดย​จัด​การ​ประชุม​ที่​บ้าน​ของ​ผู้​มี​ความ​เชื่อ. นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​อยู่​ใน​ละแวก​ใกล้​เคียง​ก็​จะ​มา​ฟัง​คำ​บรรยาย​และ​ร่วม​ประชุม​ใน​ส่วน​ที่​มี​การ​ตอบ​คำ​ถาม​ของ​ผู้​ฟัง. แล้ว​ก็​ถึง​เวลา​ที่​พี่​น้อง​จะ​แสดง​น้ำใจ​รับรอง​แขก​แบบ​คริสเตียน. ม็อด แอบบอตต์ ซึ่ง​ตอน​นั้น​ยัง​เด็ก​อยู่ ได้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใน​ตอน​เช้า หลัง​จาก​นั้น​ก็​มา​รวม​ตัว​กัน​รอบ​โต๊ะ​ยาว​ที่​ลาน​บ้าน. “อาหาร​ดี ๆ เยอะ​แยะ​เต็ม​ไป​หมด ทั้ง​แฮม​พื้น​บ้าน ไก่​ทอด ขนมปัง​สารพัด​ชนิด พาย และ​เค้ก! ทุก​คน​กิน​กัน​เต็ม​ที่ และ​พอ​ราว ๆ บ่าย​สอง​โมง​เรา​ก็​ประชุม​กัน​เพื่อ​ฟัง​คำ​บรรยาย​อีก​เรื่อง​หนึ่ง.” แต่​เธอ​ยอม​รับ​ว่า “พอ​ถึง​ตอน​นั้น ผู้​ฟัง​ก็​นั่ง​สัปหงก​ไป​ตาม ๆ กัน.” เบนจามิน บาร์ตัน ซึ่ง​รับใช้​เป็น​พิลกริม​อยู่​หลาย​ปี​เคย​พูด​ไว้​ว่า ‘ถ้า​ผม​กิน​อาหาร​ทุก​อย่าง​ที่​พี่​น้อง​ยื่น​ให้ ผม​คง​ตาย​ไป​นาน​แล้ว.’ ใน​ที่​สุด​ก็​มี​จดหมาย​ฉบับ​หนึ่ง​จาก​สำนักงาน​ใหญ่​บรุกลิน​แนะ​นำ​พี่​น้อง​หญิง​ที่​มี​เจตนา​ดี​ทั้ง​หลาย​ว่า คง​จะ​ดี​กว่า​ถ้า​ทุก​คน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​จะ​เตรียม​อาหาร “ธรรมดา ๆ ที่​รับประทาน​กัน​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน” ให้​พิลกริม และ​ให้​เขา “นอน​หลับ​พักผ่อน​เต็ม​ที่.”

พิลกริม​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​สอน​และ​ใน​การ​ใช้​แผนภูมิ แบบ​จำลอง หรือ​อะไร​ก็​ตาม​ที่​อยู่​ใกล้​ตัว​เพื่อ​ทำ​ให้​เรื่อง​ที่​เขา​สอน​มี​ชีวิต​ชีวา. บราเดอร์​อาร์. เอช. บาร์เบอร์ บรรยาย​อย่าง​ที่ “ออก​รส​ออก​ชาติ​เสมอ.” บราเดอร์​ดับบลิว. เจ. ทอร์น ซึ่ง​มี​บุคลิก​ที่​อบอุ่น​เหมือน​พ่อ บรรยาย “ราว​กับ​ปฐม​บรรพบุรุษ​ใน​สมัย​โบราณ.” วัน​หนึ่ง​ขณะ​ที่​นั่ง​อยู่​ใน​รถ​ฟอร์ด รุ่น​เอ จู่ ๆ บราเดอร์​ชีลด์ ทุตจีอัน ก็​ร้อง​ขึ้น​ว่า “หยุด!” เขา​กระโดด​ลง​จาก​รถ เด็ด​ดอกไม้​ป่า​มา​กำ​มือ​หนึ่ง และ​สอน​บทเรียน​เกี่ยว​กับ​การ​ทรง​สร้าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​แก่​พี่​น้อง​ที่​นั่ง​รถ​มา​ด้วย​กัน​อย่าง​ที่​ไม่​ได้​เตรียม​ไว้​ก่อน.

งาน​หนัก​ของ​พิลกริม​ทำ​ให้​มี​อุปสรรค​หลาย​อย่าง โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​คน​ที่​อยู่​ใน​วัย​กลาง​คน​หรือ​เลย​วัย​นี้​ไป​แล้ว. แต่​สำหรับ​บาง​คน การ​ทดสอบ​ที่​หนัก​ที่​สุด​คือ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​เรื่อง​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ต้อง​เน้น​ใน​งาน​พิลกริม. มี​การ​คาด​หมาย​ให้​พวก​เขา​นำ​หน้า​ใน​การ​ประกาศ​ตาม​บ้าน. หอสังเกตการณ์ 15 มีนาคม 1924 กล่าว​ว่า “งาน​มอบหมาย​หลัก​อย่าง​หนึ่ง” ของ​คริสเตียน​แท้ “คือ​การ​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร. พิลกริม​ถูก​ส่ง​ออก​ไป​ด้วย​จุด​ประสงค์​นี้.”

เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พิลกริม​บาง​คน​ไม่​พอ​ใจ​การ​เปลี่ยน​แปลง​เช่น​นี้ เพราะ​พวก​เขา​ทิ้ง​งาน​มอบหมาย และ​บาง​คน​ที่​ขุ่นเคือง​ถึง​กับ​แยก​ไป​ตั้ง​กลุ่ม​ของ​ตัว​เอง. โรบี ดี. แอดกินส์ เล่า​ว่า​พิลกริม​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ผู้​บรรยาย​ที่​ยอด​เยี่ยม​โอด​ครวญ​ว่า “ผม​รู้​แต่​วิธี​สอน​จาก​เวที​เท่า​นั้น. ผม​ไป​ตาม​บ้าน​ไม่​ได้​หรอก!” บราเดอร์​แอดกินส์​เล่า​ต่อ​ว่า “หลัง​จาก​นั้น​ผม​เห็น​เขา​ที่​การ​ประชุม​ภาค​ที่​เมือง​โคลัมบัส รัฐ​โอไฮโอ​ใน​ปี 1924. เขา​ดู​น่า​สมเพช​ที่​สุด​ใน​บรรดา​คน​ที่​อยู่​ที่​นั่น ยืน​อยู่​คน​เดียว​ใต้​ต้น​ไม้​เล็ก ๆ หงอย​เหงา​เศร้า​สร้อย​ใน​หมู่​พี่​น้อง​นับ​หมื่น​ที่​ร่าเริง. ผม​ไม่​เห็น​เขา​อีก​เลย. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​เขา​ก็​ทิ้ง​องค์การ​ไป.” ตรง​กัน​ข้าม “พี่​น้อง​ที่​มี​ความ​สุข​จำนวน​มาก​เดิน​ผ่าน​ผม​ไป ขน​หนังสือ​ไป​ที่​รถ​ของ​พวก​เขา.” เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พวก​เขา​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ประกาศ​ตาม​บ้าน.—กิจ. 20:20, 21

แม้​ว่า​พิลกริม​หลาย​คน​รู้สึก​ประหม่า​เช่น​เดียว​กับ​พี่​น้อง​ที่​พวก​เขา​ฝึก​อบรม แต่​พวก​เขา​ทำ​งาน​นี้​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​อย่าง​ยิ่ง. แมกซ์เวลล์ จี. เฟรนด์ (เฟรสเชล) พิลกริม​ที่​พูด​ภาษา​เยอรมัน​เขียน​เล่า​เกี่ยว​กับ​การ​ประกาศ​ตาม​บ้าน​ว่า “งาน​ด้าน​นี้​ของ​พิลกริม​ทำ​ให้​ได้​รับ​พระ​พร​เพิ่ม​ขึ้น.” พิลกริม​จอห์น เอ. โบเนต รายงาน​ว่า​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​พี่​น้อง​เห็น​ด้วย​อย่าง​สุด​หัวใจ​ที่​จะ​เน้น​เรื่อง​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร. ตาม​ที่​เขา​กล่าว พี่​น้อง​ส่วน​ใหญ่ “มี​ใจ​อัน​แรง​กล้า​เหมือน​ไฟ​และ​พร้อม​จะ​เป็น​แนว​หน้า​ใน​สงคราม.”

ตลอด​หลาย​ปี พี่​น้อง​ชาย​ที่​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ซึ่ง​ทำ​งาน​เดิน​ทาง​เป็น​อิทธิพล​ใน​ทาง​ที่​ดี​ต่อ​พี่​น้อง. นอร์มัน ลาร์สัน ซึ่ง​เป็น​พยาน​ฯ มา​นาน​กล่าว​ว่า “ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า​พิลกริม​ทำ​งาน​ที่​มี​คุณค่า​และ​เป็น​ประโยชน์ แม้​แต่​ตอน​ที่​ผม​ยัง​เป็น​เด็ก​ก็​เห็น​ว่า​เป็น​อย่าง​นั้น. พวก​เขา​ช่วย​หล่อ​หลอม​ชีวิต​ผม​ให้​เดิน​ใน​ทิศ​ทาง​ที่​ถูก​ต้อง.” จน​กระทั่ง​ทุก​วัน​นี้ ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ที่​เสีย​สละ​และ​ภักดี​เช่น​นี้​กำลัง​ช่วย​ผู้​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ให้​กล่าว​ว่า “เรา​สามารถ ไป​ตาม​บ้าน​ได้!”

[คำ​โปรย​หน้า 32]

ช่าง​เป็น​วัน​แห่ง​ความ​สุข​จริง ๆ เมื่อ​พิลกริม​มา​เยี่ยม!

[ภาพ​หน้า 31]

แผนการ​เดิน​ทาง​ใน​ปี 1905 ของ​เบนจามิน บาร์ตัน มี​กำหนด​เยี่ยม​ประมาณ 170 แห่ง

[ภาพ​หน้า 32]

วอลเตอร์ เจ. ทอร์น เป็น​พิลกริม​ที่​พี่​น้อง​เรียก​อย่าง​รักใคร่​ว่า “ปัพปี” เพราะ​มี​บุคลิก​ที่​อบอุ่น​เหมือน​พ่อ และ​มี​นิสัย​ใจ​คอ​เหมือน​พระ​คริสต์

[ภาพ​หน้า 32]

เจ. เอ. บราวน์ ถูก​ส่ง​ไป​เป็น​พิลกริม​ที่​จาเมกา​ประมาณ​ปี 1902 เพื่อ​เสริม​สร้าง​และ​หนุน​ใจ​พี่​น้อง​กลุ่ม​เล็ก ๆ 14 กลุ่ม

[ภาพ​หน้า 32]

พิลกริม​ช่วย​เสริม​สร้าง​ความ​เชื่อ ทำ​ให้​มี​เอกภาพ​แบบ​คริสเตียน และ​ช่วย​พี่​น้อง​ให้​ใกล้​ชิด​กับ​องค์การ