เรื่องราวชีวิตจริง
มิตรภาพที่ยาวนานกว่า 60 ปี แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
เย็นวันหนึ่งในฤดูร้อนของปี 1951 ชายหนุ่มสี่คน ซึ่งทั้งหมดอายุ 20 ปีเศษ ยืนอยู่ที่ตู้โทรศัพท์ที่ตั้งเรียงกันในเมืองอิทากา รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และโทรศัพท์ทางไกลไปรัฐมิชิแกน, ไอโอวา, และแคลิฟอร์เนียด้วยความตื่นเต้น. พวกเขามีข่าวดีจะบอกคนทางบ้าน!
ก่อนหน้านั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ไพโอเนียร์ 122 คนมารวมตัวกันที่เซาท์แลนซิง นครนิวยอร์ก เพื่อเข้าร่วมชั้นเรียนที่ 17 ของโรงเรียนกิเลียด. ในบรรดาว่าที่มิชชันนารีเหล่านี้มีโลเวลล์ เทอร์เนอร์, วิลเลียม (บิลล์) คาสเตน, ริชาร์ด เคลซี, และรามอน เทมเพิลทันรวมอยู่ด้วย. ไม่นาน โลเวลล์และบิลล์ซึ่งมาจากมิชิแกน ริชาร์ดจากไอโอวา และรามอนที่มาจากแคลิฟอร์เนียก็สนิทสนมกันเป็นอย่างดี.
ประมาณห้าเดือนต่อมา ทุกคนตื่นเต้นกันมากเมื่อมีการประกาศว่าบราเดอร์นาทาน นอรร์ จากสำนักงานใหญ่จะมาบรรยายให้นักเรียนฟัง. พี่น้องชายทั้งสี่คนนี้ได้บอกความประสงค์ของพวกเขาว่าหากเป็นไปได้ขอให้ส่งพวกเขาไปรับใช้ในประเทศเดียวกัน. ตอนนี้พวกเขาจะได้รู้มากขึ้นเกี่ยวกับงานมอบหมายที่จะไปเป็นมิชชันนารีในต่างแดนไหม? ใช่แล้ว!
เมื่อบราเดอร์นอรร์ ซึ่งบรรยายต่อหน้านักเรียนทั้งชั้น เริ่มประกาศว่าใครจะได้รับมอบหมายไปประเทศใด พวกเขาก็รอฟังด้วยใจระทึก. นักเรียนกลุ่มแรกที่ถูกเรียกให้มาที่เวทีคือชายหนุ่มสี่คนที่กระวนกระวายใจ แต่แล้วก็โล่งใจเมื่อรู้ว่าพวกเขาจะได้อยู่ด้วยกัน! แต่ที่ไหนล่ะ? เพื่อนร่วมชั้นเรียนของพวกเขาต่างก็ประหลาดใจและปรบมือให้เมื่อได้ยินคำประกาศว่าพวกเขาถูกส่งไปเยอรมนี.
พยานพระยะโฮวาในทุกแห่งหนรู้สึกทึ่งที่ได้ยินเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของพี่น้องในเยอรมนีตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นมาในช่วงที่ฮิตเลอร์ปกครอง. นักเรียนหลายคนเล่าว่าพวกเขาเคยมีส่วนร่วมในการส่งเสื้อผ้าและของจำเป็นต่าง ๆ ไปให้พี่น้องในยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง. ประชาชนของพระเจ้าในเยอรมนีเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องความเชื่อ ความตั้งใจแน่วแน่ ความกล้าหาญ และความไว้วางใจพระยะโฮวา. ‘ตอนนี้เราจะมีโอกาสได้รู้จักพี่น้องที่รักของเราเป็นส่วนตัวแล้ว’ โลเวลล์จำได้ว่าเคยคิดอย่างนี้. จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนตื่นเต้นมากและต้องการโทรศัพท์กลับบ้านในเย็นวันนั้น!
เดินทางไปเยอรมนี
ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1951 เรือเอสเอส โฮมแลนด์ แล่นออกจากท่าเรือที่ริมฝั่งแม่น้ำอีสต์ในนครนิวยอร์ก และสี่สหายก็เดินทางไกลนาน 11 วันไปยังประเทศเยอรมนี. บราเดอร์อัลเบิร์ต ชโรเดอร์ ซึ่งเป็นครูคนหนึ่งของโรงเรียนกิเลียดและภาย
หลังได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครอง ได้สอนประโยคพื้นฐานภาษาเยอรมันแก่พวกเขา. ตอนนี้ เนื่องจากมีผู้โดยสารชาวเยอรมันหลายคน พวกเขาอาจเรียนอะไรเพิ่มมากขึ้นได้. แต่ดูเหมือนว่าผู้โดยสารเหล่านี้พูดภาษาถิ่นของเยอรมนีกันหลายภาษา. นั่นทำให้พวกเขาสับสนจริง ๆ!ในเช้าวันอังคารที่ 7 สิงหาคม หลังจากเมาเรือไปหลายรอบ ในที่สุดพี่น้องทั้งสี่นี้ก็ได้ขึ้นบกที่เมืองฮัมบูร์ก. ทุกหนแห่งพวกเขาเห็นร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากสงครามที่เพิ่งยุติไปเพียงหกปีก่อนหน้านั้น. พวกเขารู้สึกเศร้าสลดกับสิ่งที่ได้เห็น. ในคืนนั้น พวกเขาเดินทางต่อโดยรถไฟเพื่อไปวีสบาเดิน ซึ่งในตอนนั้นสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่นั่น.
เช้าตรู่วันพุธ พวกเขาก็ได้พบกับพยานฯ คนแรกในเยอรมนี และชื่อของเขาก็เป็นชื่อเยอรมันแท้ ๆ เลยทีเดียว! ฮันส์ขับรถรับพวกเขาจากสถานีรถไฟไปที่เบเธล. เมื่อไปถึง เขาก็ทิ้งทั้งสี่หนุ่มนี้ไว้กับพี่น้องหญิงสูงอายุคนหนึ่งซึ่งเป็นคนขึงขังจริงจัง. เธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย. แต่ดูเหมือนเธอจะคิดว่าอุปสรรคด้านภาษานั้นเอาชนะได้โดยเพียงแค่พูดให้ดังขึ้น. แต่เมื่อเธอเพิ่มเสียงให้ดังขึ้น ทั้งเธอเองและพี่น้องชายทั้งสี่ก็ยิ่งข้องขัดใจมากขึ้น. ในที่สุด บราเดอร์เอริค ฟรอสต์ผู้รับใช้สาขาก็ปรากฏตัวและทักทายพวกเขาอย่างอบอุ่นโดยใช้ภาษาอังกฤษ. สถานการณ์จึงดีขึ้น.
ปลายเดือนสิงหาคม ทั้งสี่คนเข้าร่วมการประชุมใหญ่ครั้งแรกที่ใช้ภาษาเยอรมัน ซึ่งมีอรรถบทว่า “การนมัสการที่สะอาด” ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต อัม ไมน์. ข้อเท็จจริงที่ว่ามียอดผู้เข้าร่วมประชุมสูงสุด 47,432 คนและมีถึง 2,373 คนรับบัพติสมาจุดไฟแห่งความกระตือรือร้นและความปรารถนาที่จะประกาศในฐานะมิชชันนารีของพี่น้องชายเหล่านี้ให้ลุกโชน. แต่ไม่กี่วันต่อมา บราเดอร์นอรร์บอกพวกเขาว่าพวกเขาต้องอยู่ที่เบเธลและได้รับมอบหมายให้ทำงานที่นั่น.
ความยินดีที่ได้รับจากงานมอบหมายทำให้พวกเขามั่นใจเต็มที่ว่าพระยะโฮวาทรงรู้ดีที่สุด
รามอนเคยปฏิเสธที่จะรับใช้ในเบเธลที่สหรัฐเนื่องจากเขามุ่งมั่นที่จะเป็นมิชชันนารี. ริชาร์ดและบิลล์ก็ไม่เคยคิดที่จะรับใช้ที่เบเธล. แต่ความยินดีในภายหลังที่พวกเขาได้รับจากงานมอบหมายทำให้พวกเขามั่นใจเต็มที่ว่าพระยะโฮวาทรงรู้ดีที่สุด. นับว่าสุขุมสักเพียงไรที่จะหมายพึ่งการนำของพระองค์แทนที่จะทำ
ตามความปรารถนาของตัวเอง! คนที่เรียนรู้บทเรียนนี้จะมีความสุขในการรับใช้พระยะโฮวาที่ใดก็ตาม และในงานมอบหมายใดก็ตาม ที่ได้รับ.เฟอร์โบเทิน!
หลายคนในครอบครัวเบเธลมีความสุขที่มีคนอเมริกันมาอยู่ด้วยทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะฝึกภาษาอังกฤษ. แต่อยู่มาวันหนึ่งในห้องอาหาร ความหวังนั้นก็พังทลายไปอย่างฉับพลัน. บราเดอร์ฟรอสต์เริ่มพูดในภาษาเยอรมันอย่างกระฉับกระเฉงตามแบบฉบับของเขาเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเคร่งเครียดทีเดียว. สมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่นั่งเงียบกริบ และก้มหน้าก้มตามองจาน. สี่คนที่มาใหม่ ถึงแม้ว่าไม่เข้าใจว่าพูดเรื่องอะไรกันอยู่ เริ่มรู้ว่าเรื่องที่พูดนั้นเกี่ยวข้องกับพวกเขา. ดังนั้น เมื่อบราเดอร์ฟรอสต์ประกาศเสียงดังลั่นว่า “เฟอร์โบเทิน!” (“ห้าม!”) และพูดซ้ำให้ดังขึ้นไปอีกเพื่อเน้น พวกเขาก็นั่งกระสับกระส่าย. พวกเขาทำอะไรหรือจึงทำให้บรรยากาศตึงเครียดขนาดนี้?
อาหารมื้อนั้นจบลง และทุกคนต่างรีบกลับห้องของตัวเอง. ภายหลัง พี่น้องชายคนหนึ่งอธิบายว่า “เพื่อคุณจะช่วยพวกเราได้ คุณต้องพูดภาษาเยอรมันได้. บราเดอร์ ฟรอสต์จึงบอกเราว่า ห้ามพูดภาษาอังกฤษกับคุณจนกว่าคุณจะพูดภาษาเยอรมันได้.”
ครอบครัวเบเธลพร้อมจะทำตามคำสั่งนั้น. นั่นไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้มาใหม่เรียนภาษาเยอรมัน แต่ยังช่วยสอนพวกเขาด้วยว่าคำแนะนำที่มาจากพี่น้องที่เปี่ยมด้วยความรักมักเป็นผลดีสำหรับเราเอง แม้ว่าในตอนแรกอาจยากที่จะทำตาม. คำแนะนำของบราเดอร์ฟรอสต์สะท้อนให้เห็นว่าเขาสนใจในสวัสดิภาพขององค์การของพระยะโฮวาและรักพี่น้องของเขา. * ไม่แปลกที่ในเวลาต่อมาทั้งสี่คนรักเขามาก!
เรียนรู้จากเพื่อน ๆ ของเรา
เราสามารถได้บทเรียนที่ล้ำค่าจากเพื่อน ๆ ที่เกรงกลัวพระเจ้า ซึ่งช่วยเราให้มีสายสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้นกับพระยะโฮวา. ทั้งสี่คนได้เรียนรู้มากมายจากพี่น้องชายหญิงชาวเยอรมันที่ซื่อสัตย์ ซึ่งมีจำนวนมากเกินกว่าจะกล่าวถึงได้หมด. แต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้จากกันและกันด้วย. ริชาร์ดอธิบายว่า “โลเวลล์มีความรู้เกี่ยวกับภาษาเยอรมันพอสมควรและพูดได้ดี ส่วนพวกเราที่เหลือพูดกันผิด ๆ ถูก ๆ. เนื่องจากเขาอายุมากที่สุดในกลุ่ม เขา
จึงเป็นที่พึ่งของเราในเรื่องภาษาและเป็นผู้นำหน้า.” รามอนเล่าว่า “ผมตื่นเต้นมากเมื่อพี่น้องชาวสวิสคนหนึ่งให้เราใช้บ้านตากอากาศของเขาซึ่งอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์สำหรับการลาพักครั้งแรกของเราหลังจากอยู่ในเยอรมนีครบหนึ่งปี! เราจะได้อยู่กันเองโดยไม่ต้องลำบากลำบนกับการพูดภาษาเยอรมันถึงสองอาทิตย์! แต่ผมไม่ทันคิดว่าโลเวลล์คิดอย่างไร. เขายืนกรานว่าเราต้องอ่านและพิจารณาพระคัมภีร์ประจำวันทุกเช้า—โดยใช้ภาษาเยอรมัน! ถึงผมจะหงุดหงิดผิดหวังขนาดไหน เขาก็ยังยืนยันเหมือนเดิม. แต่เราได้บทเรียนอันล้ำค่า. จงทำตามการนำของคนที่ห่วงใยคุณอย่างแท้จริง แม้ในบางครั้งคุณไม่เห็นด้วย. ทัศนคติเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อเราไปอีกนาน และทำให้ง่ายขึ้นที่เราจะทำตามการชี้นำตามระบอบของพระเจ้า.”นอกจากนั้น ทั้งสี่คนยังได้เรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าจุดแข็งของคนอื่น ดังที่ฟิลิปปอย 2:3 กล่าวไว้ว่า “ให้ถ่อมใจถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว.” ด้วยเหตุนั้น เพื่อนสามคนมักให้เกียรติบิลล์โดยยกงานที่พวกเขาเห็นพ้องกันว่าบิลล์สามารถทำได้ดีกว่าให้เขาทำ. โลเวลล์เล่าว่า “เมื่อมีเรื่องยุ่งยากที่จำเป็นต้องจัดการ เราก็จะหันไปหาบิลล์. เขามีความสามารถพิเศษที่จะจัดการเรื่องยุ่งยากในวิธีที่เราทุกคนเห็นพ้องกันว่าเราควรทำ แต่เราไม่กล้าทำหรือไม่มีความสามารถที่จะทำ.”
ชีวิตสมรสที่มีความสุข
ทั้งสี่คนตัดสินใจแต่งงานไปทีละคน ๆ. มิตรภาพของพวกเขาอาศัยความรักที่พวกเขามีต่อพระยะโฮวาและงานรับใช้เต็มเวลา พวกเขาจึงตั้งเป้าว่าจะหาคู่สมรสที่เต็มใจให้การรับใช้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกในชีวิต. การรับใช้เต็มเวลาสอนพวกเขาว่าการให้เป็นประโยชน์มากกว่าการรับและผลประโยชน์ของราชอาณาจักรต้องมาก่อนความปรารถนาส่วนตัว. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงเลือกพี่น้องหญิงที่ทำงานรับใช้เต็มเวลาด้วยความริเริ่มของตนเอง. ผลก็คือ ทั้งสี่คนมีชีวิตสมรสที่มั่นคงและมีความสุข.
เพื่อมิตรภาพหรือชีวิตสมรสจะยั่งยืนอย่างแท้จริง พระยะโฮวาต้องเป็นส่วนหนึ่งในสายสัมพันธ์นั้น. (ผู้ป. 4:12) บิลล์และรามอนได้รับการเกื้อหนุนเป็นอย่างดีจากภรรยาที่ซื่อสัตย์ แม้ว่าในเวลาต่อมาภรรยาของทั้งสองได้เสียชีวิตไป. โลเวลล์และริชาร์ดยังคงได้รับการเกื้อหนุนเช่นนี้อยู่ และบิลล์ที่แต่งงานใหม่ก็ได้เลือกคู่สมรสอย่างสุขุมซึ่งทำให้เขายังคงอยู่ในงานรับใช้เต็มเวลาได้.
หลังจากที่รับใช้ด้วยกันอยู่หลายปี พวกเขาได้รับงานมอบหมายที่ทำให้ต้องแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในประเทศเยอรมนี ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก แคนาดา และสหรัฐ. ผลก็คือ ทั้งสี่สหายไม่สามารถใช้เวลาด้วยกันได้มากอย่างที่พวกเขาอยากจะทำ. แต่แม้ว่าอยู่ห่างกัน พวกเขาก็ยังติดต่อกันอยู่เสมอ ชื่นชมยินดีด้วยกันในพระพรต่าง ๆ ที่ได้รับและร้องไห้ด้วยกันในยามที่โศกเศร้า. (โรม 12:15) เพื่อนแบบนี้มีค่าอย่างยิ่งและเราควรเห็นคุณค่าพวกเขา. พวกเขาเป็นของประทานล้ำค่าที่มาจากพระยะโฮวา. (สุภา. 17:17) เพื่อนแท้หาได้ยากมากในโลกทุกวันนี้! แต่คริสเตียนแท้ทุกคนสามารถมีเพื่อนแท้มากมาย. ในฐานะพยานพระยะโฮวา เรามีมิตรภาพกับเพื่อนร่วมความเชื่อ ทั่วโลก และที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด มิตรภาพกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์.
ดังที่เป็นจริงด้วยกับเราทุกคน เส้นทางชีวิตของสหายทั้งสี่คนนี้ในบางครั้งก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคู่สมรสที่ทำให้เป็นทุกข์เจ็บปวด, การต่อสู้กับความเจ็บป่วยร้ายแรงที่ทำให้เครียด, ความกังวลในเรื่องการดูแลบิดามารดาที่สูงอายุ, ความลำบากในการเลี้ยงดูลูกขณะที่รับใช้เต็มเวลา, ความหวาดหวั่นเมื่อรับงานมอบหมายใหม่, และการรับมือปัญหาที่เกิดจากวัยชราซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตอนนี้. แต่จากประสบการณ์พวกเขายังรู้ด้วยว่าเพื่อน ทั้งที่อยู่ใกล้และไกล ช่วยให้คนที่รักพระยะโฮวารับมือปัญหาทุกอย่างได้.
มิตรภาพที่จะคงอยู่ตลอดไป
นับว่าเป็นเรื่องที่ดีจริง ๆ ที่โลเวลล์ รามอน บิลล์ และริชาร์ดอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเมื่ออายุได้ 18 ปี 12 ปี 11 ปี และ 10 ปีตามลำดับ และเริ่มทำงานรับใช้เต็มเวลาตอนที่พวกเขามีอายุอยู่ในช่วง 17 ถึง 21 ปี. พวกเขาทำอย่างที่ท่านผู้ประกาศ 12:1 สนับสนุนให้พวกเขาทำ ที่ว่า “ในปฐมวัยของเจ้าจงระลึกถึงพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างตัวเจ้านั้น.”
ถ้าคุณเป็นคริสเตียนที่ยังหนุ่มแน่น จงตอบรับคำเชิญของพระยะโฮวาที่เชิญคุณให้รับใช้เต็มเวลา หากเป็นไปได้. เมื่อทำอย่างนั้น ด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระยะโฮวาคุณอาจประสบความยินดีแบบเดียวกับสหายทั้งสี่นี้ที่ได้รับใช้ในงานหมวด งานภาค หรืองานโซน; งานรับใช้ที่เบเธล รวมทั้งการทำหน้าที่ในคณะกรรมการสาขา; การสอนในโรงเรียนพระราชกิจและโรงเรียนไพโอเนียร์; และการบรรยายในการประชุมภาคทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก. ทั้งสี่ชื่นชมยินดีที่รู้ว่ามีคนมากมายได้รับประโยชน์จากงานของพวกเขา! ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะชายหนุ่มสี่คนนี้ตอบรับคำเชิญอันเปี่ยมด้วยความรักของพระยะโฮวาที่ให้รับใช้พระองค์สุดชีวิต.—โกโล. 3:23
ในทุกวันนี้ โลเวลล์ ริชาร์ด และรามอนกลับมารับใช้ด้วยกันอีกครั้งหนึ่งที่สำนักงานสาขาประเทศเยอรมนี ซึ่งตอนนี้อยู่ที่เมืองเซลเทอร์ส. น่าเศร้าที่ต้องบอกว่าบิลล์เสียชีวิตในปี 2010 ขณะที่เขารับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษในสหรัฐ. มิตรภาพมากกว่า 60 ปีที่ทั้งสี่มีต่อกันขาดตอนไปเพราะความตาย! แต่พระยะโฮวาพระเจ้าของเราไม่เคยลืมมิตรของพระองค์. เราแน่ใจได้ว่าภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรของพระองค์ มิตรภาพในหมู่คริสเตียนที่ขาดตอนไปชั่วคราวเพราะความตายจะได้รับการฟื้นฟู.
“ตลอด 60 ปีที่เราเป็นเพื่อนกันผมนึกไม่ออกเลยว่ามีช่วงเวลาใดที่ไม่น่ายินดี”
ไม่นานก่อนจะเสียชีวิต บิลล์เขียนว่า “ตลอด 60 ปีที่เราเป็นเพื่อนกัน ผมนึกไม่ออกเลยว่ามีช่วงเวลาใดที่ไม่น่ายินดี. สายสัมพันธ์ของเราเป็นสิ่งที่พิเศษสุดสำหรับผมเสมอ.” โดยมองเห็นภาพที่ชัดเจนว่ามิตรภาพของพวกเขาจะดำเนินต่อไปในโลกใหม่ เพื่อนอีกสามคนกล่าวเสริมว่า “มิตรภาพของเราเพิ่งจะเริ่มต้น.”
^ วรรค 17 เรื่องราวชีวิตที่น่าตื่นเต้นของบราเดอร์ฟรอสต์อยู่ในหอสังเกตการณ์ 15 เมษายน 1961 หน้า 244-249 (ภาษาอังกฤษ).