ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รับใช้โดยไม่นึกเสียใจ

รับใช้โดยไม่นึกเสียใจ

“ข้าพเจ้ากำลังลืมสิ่งต่างๆที่อยู่ข้างหลังและโน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า.”—ฟิลิป. 3:13

1-3. (ก) บางคนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำไปหรือที่ไม่ได้ทำ และความผิดพลาดในอดีตอาจส่งผลอย่างไรต่อเรา? (ข) เราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเปาโล?

กวีคนหนึ่งเขียนไว้ว่า “ในบรรดาถ้อยคำที่พูดหรือเขียนกัน คำพูดที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ ‘ไม่น่าเลย!’” กวีผู้นี้ชื่อเจ. จี. วิตเทีย และเขากำลังกล่าวถึงการที่คนเรานึกเสียใจในสิ่งที่ได้ทำไป และถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็อยากจะทำอีกอย่างหนึ่ง. แต่บางคนรู้สึกเสียใจหรือเศร้าใจอยู่ตลอดเพราะสิ่งที่พวกเขาได้ทำไปหรือเพราะสิ่งที่พวกเขาควรทำแต่ไม่ได้ทำ. คุณเคยรู้สึกคล้ายๆกันนั้นไหม?

2 บางคนได้ทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในชีวิตของเขาหรือทำสิ่งที่เลวร้ายอย่างยิ่ง. ส่วนบางคนนั้นก็เพียงแค่ไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจบางอย่างในชีวิตของเขาเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดแล้วไหม. บางคนเลิกคิดถึงอดีตได้. แต่บางคนรู้สึกไม่ดีอยู่ตลอดเกี่ยวกับการตัดสินใจที่เขาได้ทำไปและคิดว่า ‘ถ้าฉันไม่ได้ทำอย่างนั้นก็คงจะดี!’ (เพลง. 51:3) คุณรู้สึกอย่างไร? คุณอยากจะรับใช้พระเจ้าให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องรู้สึกทุกข์ใจอยู่ตลอดว่าคุณได้ทำอะไรผิดพลาดไปไหม? มีตัวอย่างของบางคนที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลไหมที่สามารถทำอย่างนั้นได้? มีแน่นอน. คนคนนั้นก็คืออัครสาวกเปาโล.

3 เปาโลเคยทำผิดพลาดอย่างร้ายแรงและเคยตัดสินใจทำสิ่งที่ฉลาดสุขุม. ท่านนึกเสียใจอย่างยิ่งในสิ่งที่ได้ทำไปในอดีต แต่ท่านก็ได้เรียนรู้ที่จะมุ่งเน้นในการรับใช้พระเจ้าให้ดีที่สุดด้วย. ขอให้เรามาดูว่าเราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของท่าน.

อดีตของเปาโล

4. อัครสาวกเปาโลได้ทำอะไรในอดีตที่ทำให้ท่านนึกเสียใจ?

4 ตอนที่เปาโลเป็นฟาริซายหนุ่มชื่อเซาโล ท่านได้ทำหลายสิ่งที่ทำให้รู้สึกเสียใจในภายหลัง. ตัวอย่างเช่น ท่านได้ข่มเหงเหล่าสาวกของพระคริสต์อย่างโหดร้าย. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลกล่าว ว่าหลังจากสเตฟาโนถูกฆ่า “เซาโลก็ทำร้ายประชาคม โดยบุกเข้าไปตามบ้านแล้วฉุดลากคริสเตียนทั้งชายและหญิงไปจำคุกไว้.” (กิจ. 8:3) อัลเบิร์ต บานส์ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า คำภาษากรีกที่แปลไว้ในที่นี้ว่า “ทำร้าย” เป็นการกระทำด้วยความร้อนรนและความโกรธแค้น. ดังนั้น บานส์กล่าวว่าเซาโลโจมตีประชาคมคริสเตียนอย่างรุนแรง “เหมือนสัตว์ป่า.” เซาโลเป็นชาวยิวที่มีใจร้อนรนซึ่งเชื่ออย่างฝังใจว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เขาทำลายประชาคมคริสเตียน. เขาจึงข่มเหงคริสเตียนอย่างโหดร้าย ‘ขู่เข็ญเหล่าสาวกและอยากจะฆ่าทั้งชายและหญิง.’—กิจ. 9:1, 2; 22:4 *

5. อะไรทำให้เซาโลเลิกข่มเหงเหล่าสาวกของพระเยซูและเริ่มประกาศเกี่ยวกับพระคริสต์?

5 ในเวลาต่อมาเซาโลต้องการไปที่เมืองดามัสกัสเพื่อฉุดลากคริสเตียนออกจากบ้าน และพาไปยังกรุงเยรูซาเลมเพื่อให้ศาลซันเฮดรินลงโทษ. แต่พระเยซูผู้เป็นประมุขของประชาคมคริสเตียนยับยั้งเขาไว้. (เอเฟ. 5:23) ขณะที่เซาโลกำลังเดินทางไปดามัสกัส พระเยซูทรงปรากฏแก่เซาโลและให้มีแสงสว่างจากฟ้าทำให้เขาตาบอด. หลังจากนั้นพระเยซูส่งเซาโลไปยังเมืองดามัสกัสเพื่อคอยที่จะได้รับการสอนต่อไป. เรารู้ว่าเหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นอย่างไร.—กิจ. 9:3-22

6, 7. มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเปาโลรู้ตัวดีว่าท่านได้ทำผิดอย่างร้ายแรง?

6 ทันทีที่เปาโลตระหนักว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นผิด ท่านเลิกข่มเหงเหล่าสาวกของพระคริสต์และเริ่มประกาศเกี่ยวกับพระคริสต์อย่างกระตือรือร้น. แม้ว่าเป็นอย่างนั้น ในภายหลังท่านเขียนเกี่ยวกับตัวท่านเองว่า “ท่านทั้งหลายคงได้ยินเรื่องที่ข้าพเจ้าเคยทำตอนที่นับถือศาสนายิวมาแล้วว่าข้าพเจ้าข่มเหงประชาคมของพระเจ้าอย่างหนักและหาทางทำลายเสีย.” (กลา. 1:13) ต่อมา ท่านกล่าวถึงอดีตของท่านอีกหลายครั้งเมื่อเขียนถึงพี่น้องในประชาคมโครินท์ ประชาคมฟิลิปปอย และติโมเธียว. (อ่าน 1 โครินท์ 15:9; ฟิลิป. 3:6; 1 ติโม. 1:13) เปาโลไม่ได้แสร้งทำเป็นเหมือนกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น แต่ท่านละอายใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป. ท่านรู้ตัวดีว่าท่านได้ทำผิดอย่างร้ายแรง.—กิจ. 26:9-11

7 เฟรเดอริก ดับเบิลยู. ฟาร์ราร์ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล เขียนว่าเมื่อเราคิดว่าเปาโลได้ข่มเหงคริสเตียนอย่างรุนแรงขนาดไหน เราก็จะเข้าใจได้ว่าท่านคงต้องรู้สึกเสียใจมากเพียงไรและอาจถูกคนอื่นตำหนิติเตียนมากเพียงใด. เมื่อเปาโลไปเยี่ยมประชาคมต่างๆ อาจมีพี่น้องบางคนที่ได้พบกับท่านเป็นครั้งแรกพูดว่า ‘เจ้านี่เองที่ข่มเหงพวกเรา!’—กิจ. 9:21

8. เปาโลรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความเมตตาและความรักที่พระยะโฮวาและพระเยซูทรงแสดงต่อท่าน และเราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเปาโล?

8 อย่างไรก็ตาม เปาโลตระหนักว่าเป็นเพราะพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้ท่านสามารถทำงานรับใช้พระองค์ได้. ในจดหมาย 14 ฉบับที่ท่านเขียน ท่านกล่าวถึงคุณลักษณะอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระเจ้าประมาณ 90 ครั้ง ซึ่งมากยิ่งกว่าที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่นๆกล่าวถึง. (อ่าน 1 โครินท์ 15:10) เปาโลรู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งที่พระเจ้าทรงแสดงความเมตตาต่อท่าน และท่านต้องการแสดงความขอบพระคุณพระองค์. ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงทำงานหนักในการรับใช้พระเจ้ายิ่งกว่าอัครสาวกคนอื่นๆทั้งหมด. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเปาโล? ถ้าเรามีความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู สารภาพบาปของเรา และเลิกทำสิ่งผิด พระยะโฮวาทรงพร้อมจะให้ อภัยแม้แต่บาปที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง. ดังนั้น ถ้าคุณคิดว่าบาปที่คุณเคยทำนั้นร้ายแรงเกินกว่าจะให้อภัยได้โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ ก็ขอให้นึกถึงตัวอย่างของเปาโล. (อ่าน 1 ติโมเธียว 1:15, 16) แม้ว่าเปาโลเคยข่มเหงพระเยซู ท่านเขียนว่า “พระบุตรของพระเจ้า ... ทรงรักข้าพเจ้า และได้สละพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า.” (กลา. 2:20; กิจ. 9:5) เปาโลได้เรียนรู้ว่าท่านต้องทำงานรับใช้พระเจ้าให้ดีที่สุดแม้ว่าในอดีตจะเคยทำอะไรไว้ก็ตาม เพื่อท่านจะไม่ทำสิ่งใดที่จะทำให้เสียใจอีกในภายหลัง. คุณได้เรียนรู้ที่จะทำอย่างนั้นไหม?

เปาโลเรียนรู้ที่จะรับใช้พระเจ้าให้ดีที่สุด

คุณนึกเสียใจไหม?

9, 10. (ก) ทำไมผู้รับใช้ของพระยะโฮวาบางคนรู้สึกเสียใจ? (ข) ทำไมเราไม่ควรกังวลอยู่ตลอดเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีต?

9 คุณเคยทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คุณนึกเสียใจในตอนนี้ไหม? คุณเคยเสียเวลาและกำลังอันมีค่าไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญไหม? คุณเคยทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนอื่นเสียหายไหม? หรือคุณอาจนึกเสียใจเพราะเหตุอื่น. คุณอาจทำอะไรได้ถ้าคุณรู้สึกอย่างนี้?

10 บางคนรู้สึกกังวลตลอดเวลา! เขาทำให้ตัวเองเศร้าและกระวนกระวายใจโดยคิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเกี่ยวกับความผิดพลาดของเขา. การที่คุณกังวลอยู่อย่างนั้นจะช่วยคุณแก้ปัญหาได้ไหม? ไม่เลย! ขอให้นึกภาพใครคนหนึ่งที่พยายามเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยการโยกตัวอยู่บนเก้าอี้โยก. การทำอย่างนั้นย่อมเสียแรงเปล่า เพราะเขาจะไปไม่ถึงไหนเลย. แทนที่จะกังวล คุณต้องทำทุกสิ่งที่คุณทำได้เพื่อจะแก้ปัญหา. คุณอาจไปขอโทษคนที่คุณทำผิดต่อเขาและพยายามคืนดีกับเขา. ขอให้คิดทบทวนดูว่าทำไมคุณจึงทำผิดพลาดเพื่อจะไม่ทำผิดอย่างนั้นซ้ำอีก. บางครั้งคุณอาจต้องอดทนกับผลเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดของคุณ. แต่การกังวลกับความผิดพลาดในอดีตมีแต่จะบั่นทอนจิตใจคุณทำให้ไม่สามารถรับใช้พระเจ้าได้อย่างเต็มที่. ไม่มีประโยชน์เลยที่จะกังวล!

11. (ก) เราต้องทำอะไรหากเราต้องการให้พระยะโฮวาแสดงความเมตตาและความรักต่อเรา? (ข) ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเราต้องทำอะไรเพื่อจะเลิกรู้สึกผิดเพราะความผิดพลาดที่เราทำในอดีต?

 11 บางคนรู้สึกว่าความผิดพลาดของเขาร้ายแรงมากจนไม่สมควรได้รับความเมตตาจากพระเจ้า. พวกเขารู้สึกว่าความผิดพลาดที่เขาทำนั้นร้ายแรงเกินไปหรือทำผิดพลาดบ่อยเกินไป. แต่ความจริงก็คือไม่ว่าเขาเคยทำอะไรมาในอดีต เขาสามารถกลับใจ เปลี่ยนแปลงแก้ไข และขอการให้อภัยจากพระเจ้าได้. (กิจ. 3:19) พระยะโฮวายังคงรักและเมตตาเขาเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงรักและเมตตาคนอื่นๆอีกมากมาย. พระยะโฮวาจะทรงให้อภัยใครก็ตามที่ถ่อมใจ จริงใจ และสำนึกเสียใจที่ได้ทำผิด. พระเจ้าทรงให้อภัยโยบที่กล่าวว่า “ข้าพระองค์ ... สำนึกผิดในกองธุลีและขี้เถ้า.” (โยบ 42:6, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราต้องทำอะไรเพื่อไม่รู้สึกผิดอีกต่อไปเกี่ยวกับความผิดพลาดของเราและเพื่อจะมีความสงบใจ. “คนที่ปกปิดความบาปของตัวไว้จะไม่เจริญ; แต่คนที่รับสารภาพและละทิ้งการผิดของตนเสียจะประสบความเมตตา.” (สุภา. 28:13; ยโก. 5:14-16) ด้วยเหตุนั้น เราต้องสารภาพผิดต่อพระเจ้า อธิษฐานขอการให้อภัยจากพระองค์ และทำทุกสิ่งที่เราทำได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเสียใจในสิ่งที่เราได้ทำไป. (2 โค. 7:10, 11) เมื่อเราทำอย่างนั้นแล้ว พระยะโฮวาผู้ “ทรงอภัยอย่างล้นเหลือ” จะทรงแสดงความเมตตาต่อเรา.—ยซา. 55:7, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971

12. (ก) เราจะเลียนแบบตัวอย่างของดาวิดได้อย่างไรเมื่อสติรู้สึกผิดชอบรบกวนใจเรา? (ข) ทำไมพระยะโฮวา “รู้สึกเสียพระทัย” และการรู้เรื่องนี้ให้กำลังใจเราอย่างไร? (โปรดดูกรอบ)

12 การอธิษฐานเป็นวิธีที่มีพลังซึ่งทำให้เราได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า. ดาวิดแสดงความเชื่อว่าพระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของท่านในเพลงสรรเสริญที่ท่านเขียนไว้อย่างไพเราะ. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 32:1-5) ก่อนที่ดาวิดจะสารภาพความผิดของท่านต่อพระเจ้า สติรู้สึกผิดชอบที่รบกวนใจท่านทำให้ท่านรู้สึกแย่มาก. เห็นได้ชัดว่าท่านได้รับผลเสียหายทั้งทางกายทางใจและสูญเสียความยินดี. ดาวิดได้รับการให้อภัยและรู้สึกโล่งอกหลังจากที่ท่านได้สารภาพผิดต่อพระเจ้าแล้ว. พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของดาวิดและช่วยท่านให้เข้มแข็งเพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้องต่อๆไป. คล้ายกัน ถ้าคุณรู้สึกกังวลใจเพราะความผิดพลาดที่คุณทำในอดีต จงอธิษฐานอย่างจริงใจทูลขอพระยะโฮวาทรงให้อภัยและพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่จำเป็น. เมื่อคุณทำอย่างนั้นแล้ว ขอให้เชื่อได้เลยว่าพระยะโฮวาทรงฟังคำอธิษฐานของคุณและให้อภัยคุณ.—เพลง. 86:5

 จงมองไปยังอนาคต

13, 14. (ก) เราต้องสนใจในเรื่องใด? (ข) คำถามอะไรบ้างที่อาจช่วยเราให้คิดถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้?

13 มีคนเคยพูดไว้ว่าคนเราอาจเข้าใจชีวิตได้ด้วยการมองอดีต แต่เราต้องดำเนินชีวิตด้วยการมองไปยังอนาคต. ดังนั้น แทนที่จะกังวลใจด้วยเรื่องในอดีต เราควรสนใจเรื่องที่อยู่ในปัจจุบันและในอนาคต. ขอให้ถามตัวเองอย่างนี้: ‘สิ่งที่ฉันตัดสินใจทำในตอนนี้จะทำให้ฉันนึกเสียใจไปอีกหลายปีไหม? ฉันจะนึกเสียใจว่าทำไมไม่ได้ทำอีกแบบหนึ่งไหม? ในเวลานี้ฉันกำลังรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์เพื่อจะไม่ต้องเสียใจกับสิ่งใดในอนาคตไหม?’

14 ขณะที่ความทุกข์ลำบากใหญ่ใกล้เข้ามามากแล้ว นับว่าดีที่จะถามตัวคุณเองว่า ‘ฉันจะรับใช้พระเจ้ามากขึ้นได้ไหม? ฉันจะเป็นไพโอเนียร์ได้ไหม? มีอะไรที่ทำให้ฉันไม่ได้พยายามเพื่อจะได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยงานรับใช้? ฉันกำลังทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อจะสวมบุคลิกภาพใหม่ไหม? ฉันเป็นคนแบบที่พระยะโฮวาจะโปรดให้อยู่ในโลกใหม่ของพระองค์ไหม?’ แทนที่จะเพียงแต่กังวลในเรื่องที่คุณไม่ได้ทำ ขอให้คิดถึงสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ในตอนนี้และตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าคุณกำลังรับใช้พระยะโฮวาอย่างดีที่สุด. จงทำสิ่งที่คุณจะไม่เสียใจในภายหลัง.—2 ติโม. 2:15

อย่านึกเสียใจที่ได้เสียสละเพื่อรับใช้พระเจ้า

15, 16. (ก) หลายคนได้เสียสละอะไรเพื่อจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแด่พระยะโฮวา? (ข) ทำไมเราไม่ควรนึกเสียใจที่ได้เสียสละเพื่อรับใช้พระเจ้า?

15 คุณได้เสียสละเพื่อทำงานรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลาไหม? คุณอาจสละงานอาชีพหรือธุรกิจที่ดีเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาได้มากขึ้น. หรือคุณอาจเลือกที่จะไม่แต่งงานหรือเลือกที่จะไม่มีลูกเพื่อจะสามารถรับใช้ที่เบเธล ทำงานก่อสร้างนานาชาติ ทำงานหมวด หรือเป็นมิชชันนารี. ในตอนนี้ขณะที่คุณอายุมากขึ้น คุณควรนึกเสียใจไหมที่ได้ตัดสินใจอย่างนั้น? คุณควรรู้สึกไหมว่าการเสียสละที่คุณได้ทำไปนั้นไม่จำเป็นเลยหรือยังไม่ต้องทำในตอนนั้นก็ได้? คุณไม่น่าจะรู้สึกอย่างนั้นเลย!

16 คุณได้ตัดสินใจทำอย่างนั้นเพราะคุณรักพระยะโฮวามากและต้องการช่วยคนอื่นๆให้รับใช้พระองค์. อย่าคิดว่าชีวิตคุณน่าจะดีกว่านี้ถ้าคุณตัดสินใจทำอีกแบบหนึ่ง. คุณน่าจะมีความสุขที่ได้ตัดสินใจทำอย่างนั้น! คุณได้เลือกแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อรับใช้พระยะโฮวาตามกำลังความสามารถของคุณเอง. พระยะโฮวาจะไม่ทรงลืมการเสียสละทั้งสิ้นที่คุณได้ทำเพื่อพระองค์. เมื่อคุณได้รับ “ชีวิตแท้” คือชีวิตนิรันดร์และชีวิตที่สมบูรณ์ คุณจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวาที่ดียิ่งกว่าที่คุณจะนึกภาพออก!—เพลง. 145:16; 1 ติโม. 6:19

วิธีรับใช้โดยไม่นึกเสียใจในภายหลัง

17, 18. (ก) เปาโลทำอะไรเพื่อจะรับใช้โดยไม่รู้สึกเสียใจในภายหลัง? (ข) คุณจะเลียนแบบตัวอย่างของเปาโลได้อย่างไร?

17 เปาโลทำอะไรเพื่อจะไม่รู้สึกเสียใจในภายหลัง? เปาโลกล่าวว่าท่านเลิกกังวลเกี่ยวกับอดีตของท่านและพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อจะได้รับบำเหน็จ. (อ่านฟิลิปปอย 3:13, 14) เปาโลไม่ได้คิดอยู่ตลอดเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีตตอนที่อยู่ในศาสนายิว. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านพยายามทำทุกสิ่งเพื่อรักษาความซื่อสัตย์ เพื่อท่านจะได้รับบำเหน็จอันได้แก่ชีวิตนิรันดร์.

18 เราเรียนอะไรได้จากคำพูดของเปาโล? แทนที่จะเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องในอดีตที่เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้ เราควรจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้เพื่อจะรับพระพรในอนาคต. เราอาจไม่สามารถลืมความผิดพลาดของเราได้อย่างสิ้นเชิง แต่เราไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกผิดอยู่ตลอดเพราะความผิดนั้น. เราเลิกกังวลเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีตได้ รับใช้พระเจ้าให้ดีที่สุดในขณะนี้ และคิดถึงบำเหน็จอันยอดเยี่ยมที่เราจะได้รับในอนาคต!

^ วรรค 4 มีการกล่าวถึงหลายครั้งในคัมภีร์ไบเบิลว่าเซาโลข่มเหงผู้หญิงด้วย. นี่แสดงว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในงานประกาศในศตวรรษแรก เช่นเดียวกับในสมัยปัจจุบัน.—เพลง. 68:11