ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

องครักษ์​ของ​จักรพรรดิ​โรมัน​ได้​ฟัง​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี

องครักษ์​ของ​จักรพรรดิ​โรมัน​ได้​ฟัง​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี

ปี​นั้น​เป็น​สากล​ศักราช 59. ทหาร​ที่​อ่อน​ล้า​จาก​การ​เดิน​ทาง​คุม​นัก​โทษ​กลุ่ม​หนึ่ง​เข้า​สู่​กรุง​โรม​ทาง​ประตู​ปอร์​ตา คาเปนา. พระ​ราชวัง​ของ​จักรพรรดิ​เนโร​ตั้ง​อยู่​บน​เขา​ปาลาตีเน และ​มี​ทหาร​องครักษ์​ที่​ซ่อน​ดาบ​ไว้​ใต้​เสื้อ​ชั้น​นอก​ของ​พวก​เขา​คอย​คุ้ม​กัน. * นาย​ร้อย​ยูลีอุส​นำ​นัก​โทษ​เดิน​ผ่าน​ลาน​ชุมนุม​ของ​โรมัน​แล้ว​ขึ้น​ไป​ที่​เขา​วีมีนัล. พวก​เขา​ผ่าน​สวน​ที่​มี​แท่น​บูชา​สำหรับ​เทพเจ้า​ของ​ชาว​โรมัน​หลาย​แท่น และ​ผ่าน​ไป​ทาง​ลาน​สวน​สนาม​ซึ่ง​มี​การ​ซ้อม​รบ​กัน​ที่​นั่น.

รูป​สลัก​นูน​ทหาร​องครักษ์​โรมัน​ซึ่ง​เชื่อ​กัน​ว่า​มา​จาก​ซุ้ม​ประตู​ของ​คลาวดิอุส ที่​สร้าง​ขึ้น​ใน ส.ศ. 51

คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใน​กลุ่ม​นัก​โทษ​คือ​อัครสาวก​เปาโล. หลาย​เดือน​ก่อน​หน้า​นั้น​ตอน​ที่​ท่าน​อยู่​บน​เรือ​ที่​ถูก​พายุ​กระหน่ำ ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง​ของ​พระเจ้า​บอก​เปาโล​ว่า “เจ้า​จะ​ต้อง​ไป​ยืน​ต่อ​หน้า​ซีซาร์.” (กิจ. 27:24) เปาโล​กำลัง​จะ​ประสบ​เหตุ​การณ์​ดัง​กล่าว​นั้น​ไหม? ขณะ​ที่​ท่าน​มอง​ดู​เมือง​หลวง​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน ท่าน​คง​ระลึก​ถึง​ถ้อย​คำ​ที่​พระ​เยซู​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ตรัส​กับ​ท่าน​ที่​หอคอย​อันโทเนีย​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​อย่าง​แน่นอน. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​มี​ใจ​กล้า​เถิด! ด้วย​ว่า​เจ้า​ได้​ประกาศ​เรื่อง​ของ​เรา​อย่าง​ถี่ถ้วน​แล้ว​ใน​กรุง​เยรูซาเลม จง​ประกาศ​ใน​กรุง​โรม​อย่าง​นั้น​ด้วย.”—กิจ. 23:10, 11

เปาโล​อาจ​หยุด​ชั่ว​ขณะ​เพื่อ​ดู​คัสตรา ปรีโตเรีย ป้อม​ปราการ​ใหญ่​ซึ่ง​มี​กำแพง​อิฐ​สี​แดง​อัน​สูง​ใหญ่​และ​มี​เชิง​เทิน​และ​หอคอย​อยู่​ที่​ส่วน​บน. ป้อม​ปราการ​นี้​เป็น​ที่​พัก​อาศัย​ของ​องครักษ์​ของ​จักรพรรดิ รวม​ทั้ง​กอง​กำลัง​ตำรวจ​ของ​กรุง​โรม​ด้วย. โดย​มี​กองพัน​ทหาร​องครักษ์​ ของ​จักรพรรดิ 12 กองพัน​กับ​กองพัน​ตำรวจ​อีก​หลาย​กองพัน​ประจำการ​อยู่​ที่​นั่น ป้อม​ปราการ​นี้​จึง​อาจ​เป็น​ที่​อยู่​ของ​ทหาร​หลาย​หมื่น​คน รวม​ทหาร​ม้า​ด้วย. เมื่อ​มอง​คัสตรา ปรีโตเรีย เปาโล​คง​จะ​นึก​ถึง​ขุม​กำลัง​อัน​เกรียง​ไกร​ของ​จักรพรรดิ. เนื่อง​จาก​องครักษ์​ของ​จักรพรรดิ​มี​หน้า​ที่​ใน​การ​คุม​นัก​โทษ​จาก​แคว้น​ต่างๆ ยูลีอุส​จึง​นำ​คณะ​ของ​เขา​ผ่าน​ประตู​ทาง​เข้า​หลัก​ประตู​หนึ่ง​ใน​สี่​ประตู. หลัง​จาก​การ​เดิน​ทาง​หลาย​เดือน​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​อันตราย ใน​ที่​สุด​เขา​ก็​นำ​นัก​โทษ​มา​ถึง​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง.—กิจ. 27:1-3, 43, 44

เปาโล​ประกาศ “โดย​ไม่​มี​การ​ขัด​ขวาง”

ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง เปาโล​ได้​รับ​นิมิต​จาก​พระเจ้า​ที่​บอก​ให้​รู้​ว่า​ทุก​คน​ที่​อยู่​บน​เรือ​จะ​รอด​ชีวิต​จาก​ภัย​เรือ​แตก. ท่าน​ถูก​งู​พิษ​กัด แต่​ไม่​เป็น​อะไร​เลย. ท่าน​รักษา​คน​ป่วย​บน​เกาะ​มอลตา ซึ่ง​ทำ​ให้​ชาว​เกาะ​นั้น​พูด​กัน​ว่า​ท่าน​เป็น​พระ. เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​อาจ​กลาย​เป็น​ข่าว​ที่​แพร่​ไป​ใน​หมู่​องครักษ์​ของ​จักรพรรดิ​ซึ่ง​เชื่อ​เรื่อง​ไสยศาสตร์.

ก่อน​หน้า​นั้น​เปาโล​ได้​พบ​กับ​พี่​น้อง​ที่​มา​จาก​โรม​ซึ่ง ‘เดิน​ทาง​ไกล​มา​พบ​ท่าน​ถึง​ที่​ตลาด​อัปปิอุส​และ​ที่​บ้าน​สาม​โรงแรม.’ (กิจ. 28:15) แต่​ใน​ฐานะ​นัก​โทษ ท่าน​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ใน​กรุง​โรม​ตาม​ที่​ตั้งใจ​ไว้​ได้​อย่าง​ไร? (โรม 1:14, 15) บาง​คน​คิด​ว่า​นัก​โทษ​คง​จะ​ถูก​พา​ตัว​ไป​หา​หัวหน้า​องครักษ์. หาก​เป็น​อย่าง​นั้น เปาโล​คง​ถูก​พา​ไป​หา​อาฟรานีอุส บูร์รุส ผู้​บัญชา​การ​องครักษ์​โรมัน ซึ่ง​อาจ​มี​อำนาจ​เป็น​ที่​สอง​รอง​จาก​จักรพรรดิ. * ไม่​ว่า​จริงๆแล้ว​เป็น​อย่าง​ไร แทน​ที่​เปาโล​จะ​ถูก​คุม​โดย​พวก​ผู้​บังคับ​กองร้อย ตอน​นี้​ท่าน​ถูก​คุม​ตัว​โดย​องครักษ์​คน​หนึ่ง​ที่​เป็น​เพียง​พล​ทหาร. เปาโล​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​จัด​หา​ที่​พัก​เอง​และ​สามารถ​รับรอง​แขก​และ​ประกาศ​แก่​คน​ที่​มา​เยี่ยม “โดย​ไม่​มี​การ​ขัด​ขวาง.”—กิจ. 28:16, 30, 31

เปาโล​ประกาศ​ให้​ทั้ง​ผู้​ใหญ่​ผู้​น้อย​ฟัง

กำแพง​ป้อม​ปราการ​คัสตรา ปรีโตเรีย​ตาม​ที่​เห็น​ใน​ปัจจุบัน

ใน​การ​ทำ​หน้า​ที่​พิจารณา​คดี บูร์รุส​อาจ​สอบสวน​อัครสาวก​เปาโล​ที่​พระ​ราชวัง​หรือ​ที่​ค่าย​องครักษ์ ก่อน​จะ​ส่ง​คดี​ต่อ​ไป​ให้​จักรพรรดิ​เนโร. เปาโล​ไม่​ได้​ปล่อย​ให้​โอกาส​พิเศษ​นี้​ที่​จะ “ประกาศ​ข่าว​ดี​ให้​ทั้ง​ผู้​ใหญ่​ผู้​น้อย​ได้​ฟัง” ผ่าน​ไป. (กิจ. 26:19-23) ไม่​ว่า​บูร์รุส​อาจ​ลง​ความ​เห็น​เช่น​ไร แต่​เปาโล​ได้​รับ​การ​ยก​เว้น​ไม่​ต้อง​ถูก​จองจำ​ใน​ค่าย​ของ​องครักษ์. *

เปาโล​เช่า​บ้าน​ที่​ใหญ่​พอ​จะ​ต้อนรับ “พวก​ผู้​นำ​ของ​ชาว​ยิว” และ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ให้​พวก​เขา​ฟัง รวม​ทั้ง​คน​อื่นๆอีก​หลาย​คน​ที่​มา​หา​ท่าน​ที่​บ้าน​พัก.  ท่าน​ยัง​มี​ผู้​ฟัง​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​ด้วย​ที่​กลาย​มา​เป็น​ผู้​ฟัง​โดย​ปริยาย คือ​พวก​ทหาร​องครักษ์​ที่​ได้​ยิน​ท่าน ‘อธิบาย​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​และ​เรื่อง​พระ​เยซู​แก่​ชาว​ยิว​อย่าง​ถี่ถ้วน​ตั้ง​แต่​เช้า​จด​เย็น.’—กิจ. 28:17, 23

ใน​ช่วง​ที่​เปาโล​ถูก​คุม​ขัง พวก​ทหาร​ได้​ยิน​ท่าน​บอก​พี่​น้อง​ชาย​บาง​คน​ให้​เขียน​จดหมาย​ตาม​คำ​บอก​ของ​ท่าน

กองพัน​องครักษ์​ที่​ทำ​หน้า​ที่​ใน​พระ​ราชวัง​จะ​เปลี่ยน​กะ​ทุก​วัน เมื่อ​ถึง​ชั่วโมง​ที่​แปด​ของ​วัน. ทหาร​ที่​คุม​เปาโล​ก็​เปลี่ยน​กะ​อย่าง​สม่ำเสมอ​ด้วย. ใน​ช่วง​สอง​ปี​ที่​ท่าน​อัครสาวก​ถูก​คุม​ขัง มี​ทหาร​หลาย​คน​ได้​ยิน​ได้​ฟัง​ท่าน​บอก​พี่​น้อง​ชาย​บาง​คน​ให้​เขียน​จดหมาย​ตาม​คำ​บอก​ของ​ท่าน​ไป​ถึง​ประชาคม​เอเฟโซส์, ฟิลิปปอย, โกโลซาย, และ​ถึง​คริสเตียน​ชาว​ฮีบรู รวม​ทั้ง​เห็น​ท่าน​เขียน​จดหมาย​ด้วย​ตัว​เอง​ไป​ถึง​คริสเตียน​ที่​ชื่อ​ฟิเลโมน. ขณะ​ถูก​คุม​ขัง เปาโล​แสดง​ความ​สนใจ​เป็น​ส่วน​ตัว​ต่อ​โอเนซิมุส ทาส​ที่​หลบ​หนี​นาย​มา ‘ซึ่ง​ท่าน​ได้​เป็น​เหมือน​บิดา​ของ​เขา​ขณะ​ที่​ท่าน​ถูก​จองจำ​อยู่’ และ​ส่ง​ทาส​คน​นี้​กลับ​ไป​หา​นาย​ของ​เขา. (ฟิเล. 10) ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​เปาโล​คง​ได้​แสดง​ความ​สนใจ​เป็น​ส่วน​ตัว​ต่อ​ทหาร​ที่​คุม​ตัว​ท่าน​ด้วย. (1 โค. 9:22) เรา​คง​นึก​ภาพ​ได้​ว่า​ท่าน​อาจ​ถาม​ทหาร​คน​หนึ่ง​ว่า​ยุทธภัณฑ์​แต่​ละ​ชิ้น​มี​ไว้​เพื่อ​อะไร แล้ว​ก็​ใช้​ข้อมูล​นี้​อย่าง​เหมาะเจาะ​ใน​การ​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ.—เอเฟ. 6:13-17

 “กล่าว​คำ​ของ​พระเจ้า​โดย​ไม่​กลัว”

การ​ที่​เปาโล​ถูก​คุม​ขัง​มี​ส่วน​ช่วย​ให้ “ข่าว​ดี​ยิ่ง​แพร่​ออก​ไป” ใน​หมู่​ทหาร​องครักษ์​และ​คน​อื่นๆ. (ฟิลิป. 1:12, 13) ผู้​ที่​อยู่​ใน​ป้อม​ปราการ​คัสตรา ปรีโตเรีย​มี​การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​คน​มาก​มาย​ทั่ว​จักรวรรดิ​โรมัน รวม​ทั้ง​จักรพรรดิ​และ​คน​ที่​อยู่​ใน​ราชสำนัก. คน​ที่​อยู่​ใน​ราชสำนัก​มี​ทั้ง​สมาชิก​ที่​เป็น​เชื้อ​พระ​วงศ์, คน​รับใช้, และ​ทาส ซึ่ง​บาง​คน​ได้​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน. (ฟิลิป. 4:22) การ​ประกาศ​อย่าง​กล้า​หาญ​ของ​เปาโล​ทำ​ให้​พี่​น้อง​ใน​กรุง​โรม​กล้า “กล่าว​คำ​ของ​พระเจ้า​โดย​ไม่​กลัว.”—ฟิลิป. 1:14

ไม่​ว่า​เรา​อยู่​ใน​สภาพการณ์​เช่น​ไร เรา​อาจ​พบ​คน​ที่​จะ​ฟัง​ข่าว​ดี​ได้​จาก​คน​ที่​มา​ให้​บริการ​ต่างๆแก่​เรา

การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ของ​เปาโล​ใน​กรุง​โรม​ยัง​ช่วย​หนุน​ใจ​เรา​ด้วย​ขณะ​ที่​เรา ‘ประกาศ​พระ​คำ​ทั้ง​ใน​เวลา​ที่​สะดวก​และ​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก.’ (2 ติโม. 4:2) บาง​คน​ใน​พวก​เรา​ต้อง​อยู่​แต่​ใน​บ้าน ใน​สถาน​พักฟื้น​หรือ​โรง​พยาบาล หรือ​แม้​แต่​ถูก​จำ​คุก​เนื่อง​ด้วย​ความ​เชื่อ. ไม่​ว่า​เรา​อยู่​ใน​สภาพการณ์​เช่น​ไร เรา​อาจ​พบ​คน​ที่​จะ​ฟัง​ข่าว​ดี​ได้​จาก​คน​ที่​มา​หา​เรา เช่น คน​ที่​มา​ให้​บริการ​ต่างๆแก่​เรา​ที่​บ้าน. เมื่อ​เรา​ประกาศ​อย่าง​กล้า​หาญ​ใน​ทุก​โอกาส เรา​ก็​จะ​เห็น​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า “พระ​คำ​ของ​พระเจ้า ... ไม่​ถูก​ล่าม​ไว้.”—2 ติโม. 2:8, 9

^ วรรค 2 ดู​กรอบ “องครักษ์​ของ​จักรพรรดิ​ใน​สมัย​ของ​เนโร.”

 

^ วรรค 7 โปรด​ดู​กรอบ “เซกซ์ตุส อาฟรานีอุส บูร์รุส.”

^ วรรค 9 เฮโรด อะกริปปา​ถูก​ซีซาร์​ทิเบริอุส​สั่ง​ให้​จองจำ​ไว้​ใน​คุก​ที่​นี่​ใน ส.ศ. 36-37 เพราะ​เขา​แสดง​ความ​ประสงค์​อย่าง​ชัดเจน​ที่​จะ​ให้​คาลิกูลา​ขึ้น​เป็น​จักรพรรดิ. เมื่อ​ได้​เป็น​จักรพรรดิ คาลิกูลา​จึง​ปูน​บำเหน็จ​ให้​เฮโรด​เป็น​กษัตริย์.—กิจ. 12:1