ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงสรรเสริญพระนามยะโฮวาอันยิ่งใหญ่

จงสรรเสริญพระนามยะโฮวาอันยิ่งใหญ่

“ข้าพเจ้า . . . จะถวายเกียรติยศแก่พระนามของพระองค์เป็นนิตย์.”—เพลง. 86:12

1, 2. เมื่อเทียบกับคริสตจักรต่างๆแห่งคริสต์ศาสนจักร พยานพระยะโฮวามีทัศนะอย่างไรต่อพระนามของพระเจ้า?

คริสตจักรต่างๆแห่งคริสต์ศาสนจักรส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการใช้พระนามของพระเจ้า. เพื่อเป็นตัวอย่าง ส่วนคำนำของคัมภีร์ไบเบิลฉบับรีไวส์ สแตนดาร์ด เวอร์ชัน กล่าวว่า “เป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” ที่คริสตจักรจะเรียกพระเจ้าโดยใช้พระนามของพระองค์.

2 ในทางตรงกันข้าม พยานพระยะโฮวาภูมิใจที่มีชื่อเรียกตามพระนามของพระเจ้าและภูมิใจที่ได้สรรเสริญพระนามนี้. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 86:12; ยะซายา 43:10) นอกจากนั้น เราถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ได้เข้าใจความหมายของพระนามของพระเจ้าและเรารู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่จะต้องทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. (มัด. 6:9) แต่เพื่อจะไม่มองข้ามความสำคัญของสิทธิพิเศษนี้ ขอให้เรามาพิจารณาคำถามสำคัญสามข้อ: การรู้จักพระนามของพระเจ้าหมายถึงอะไร? พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงคู่ควรกับพระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์อย่างไร? และเราจะดำเนินในพระนามพระยะโฮวาได้อย่างไร?

ความหมายของการรู้จักพระนามของพระเจ้า

3. การรู้จักพระนามของพระเจ้าหมายถึงอะไร?

3 การรู้จักพระนามของพระเจ้าหมายถึงไม่เฉพาะแต่การที่เราคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า “ยะโฮวา.” การรู้จักพระนามของพระเจ้าหมายถึงการรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแบบใด. นี่รวมถึงชื่อเสียง คุณลักษณะ พระประสงค์ และแนวทางที่พระองค์ทรงกระทำในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อประชาชนของพระองค์. ขณะที่พระยะโฮวาทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จเป็นจริง พระองค์ทรงเปิดเผยทีละเล็กทีละน้อยว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแบบใด. (สุภา. 4:18) เรารู้ว่าพระเจ้าทรงบอกอาดามและฮาวาให้รู้จักพระนามของพระองค์ เพราะฮาวาใช้พระนามของพระองค์หลังจากที่นางคลอดคายิน. (เย. 4:1, 2) เหล่าปฐมบรรพบุรุษทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโนอาห์ อับราฮาม ยิศฮาค และยาโคบ ต่างรู้จักพระนามของพระเจ้า. นอกจากนั้น พวกเขาเห็นคุณค่าพระนามนี้มากขึ้นเมื่อพระยะโฮวาทรงอวยพรพวกเขา ดูแลพวกเขา และเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์แก่พวกเขา. ในเวลาต่อมา พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ โมเซทราบบางสิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับความหมายของพระนามของพระองค์.

โมเซรู้ความหมายของพระนามพระเจ้า และนั่นช่วยเสริมความเชื่อของท่านให้เข้มแข็ง

4. ทำไมโมเซจึงถามพระเจ้าเกี่ยวกับพระนามของพระองค์ และทำไมจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ท่านเป็นห่วงในเรื่องนี้?

4 อ่านเอ็กโซโด 3:10-15. เมื่อโมเซอายุ 80 ปี พระเจ้าทรงบัญชาให้ท่าน “พาชาติยิศราเอลพลไพร่ของ [พระองค์] ออกจากประเทศอายฆุบโต.” ถึงตอนนี้ โมเซถามพระยะโฮวาด้วยคำถามที่มีความหมายลึกซึ้งว่า ‘ถ้าชาวอิสราเอลถามว่าพระองค์มีพระนามอะไร ข้าพเจ้าจะตอบเขาอย่างไร?’ ในเมื่อประชาชนของพระเจ้ารู้จักพระนามของพระองค์นานมาแล้ว ทำไมโมเซจึงถามอย่างนี้? ท่านต้องการรู้มากขึ้นว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแบบใด. โมเซต้องการช่วยชาวอิสราเอลให้มั่นใจว่าพระเจ้าจะช่วยพวกเขาให้รอดได้จริงๆ. และเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมโมเซจึงต้องการทำอย่างนั้น. ชาวอิสราเอลเป็นทาสมาเป็นเวลานาน และพวกเขาคงสงสัยว่าพระยะโฮวาจะสามารถ ช่วยพวกเขาได้จริงหรือไม่. ที่จริง ชาวอิสราเอลบางคนถึงกับหันไปนมัสการพระต่างๆของชาวอียิปต์!—ยเอศ. 20:7, 8

5. พระยะโฮวาทรงเปิดเผยอะไรแก่โมเซเกี่ยวกับพระนามของพระองค์?

5 พระยะโฮวาทรงตอบโมเซอย่างไร? พระองค์ทรงบอกโมเซให้พูดกับชาวอิสราเอลว่า “ยะโฮวาพระเจ้าของบรรพบุรุษของเจ้า . . . ได้ใช้ข้าพเจ้ามาหาท่าน.” พระองค์ยังบอกโมเซให้บอกชาวอิสราเอลอีกว่า “พระองค์ผู้ทรงพระนามว่า เราผู้เป็นอยู่ [“เราจะเป็น,” ล.ม.] ได้ใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย.” * ด้วยคำตรัสดังกล่าว พระเจ้าทรงเปิดเผยบางสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับพระองค์เอง. พระองค์จะทรงเป็นอะไรก็ตามที่พระองค์จำเป็นต้องเป็น หรือจะทรงทำสิ่งใดก็ตามที่จำเป็นต้องทำ เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จเป็นจริงเสมอ. ด้วยเหตุนั้น ในข้อ 15 เราจึงอ่านว่าพระยะโฮวาเองตรัสว่า “นี่แหละเป็นนามของเราเป็นนิตย์; นี่แหละเป็นที่ระลึกของเราตลอดทุกชั่วอายุมนุษย์.” คำตรัสนี้คงเสริมความเชื่อและความยำเกรงที่โมเซมีต่อพระเจ้าอย่างแน่นอน!

พระยะโฮวาทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์ทรงคู่ควรกับพระนามของพระองค์

6, 7. พระยะโฮวาทรงทำอะไรตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้?

6 ไม่นานหลังจากที่ทรงมอบหมายงานแก่โมเซ พระยะโฮวาทรงทำตามที่พระองค์ทรงสัญญาและช่วยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระ. พระองค์ทรงลงโทษอียิปต์ด้วยภัยพิบัติสิบประการและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระทั้งหลายของชาวอียิปต์ รวมทั้งฟาโรห์ด้วย ไม่มีฤทธิ์อำนาจ. (เอ็ก. 12:12) จากนั้น พระยะโฮวาทรงแยกทะเลแดงออกเป็นช่อง นำชาวอิสราเอลข้ามผ่านไป และทำให้ฟาโรห์กับกองทัพของเขาจมน้ำตายในทะเลนั้น. (เพลง. 136:13-15) ในถิ่นทุรกันดาร พระยะโฮวาทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าทรงเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองชีวิตประชาชนของพระองค์ เมื่อทรงจัดหาอาหารและน้ำให้พวกเขาซึ่งอาจมีจำนวนสองถึงสามล้านคนหรือมากกว่านั้น. แม้แต่เสื้อผ้าและรองเท้าของพวกเขาก็ไม่เก่าขาดหรือสึกไป. (บัญ. 1:19; 29:5) ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดจะขัดขวางพระยะโฮวาไว้ไม่ให้ทำตามคำสัญญาของพระองค์. ในภายหลัง พระองค์ตรัสกับยะซายาห์ว่า “เรา, คือตัวเราเอง, เป็นพระยะโฮวา, และนอกจากเราไม่มีผู้ช่วยให้รอด.”—ยซา. 43:11

7 ยะโฮซูอะ ซึ่งเป็นผู้นำของชาวอิสราเอลคนต่อมา ก็เห็นพระราชกิจอันทรงฤทธิ์ที่พระยะโฮวาได้ทำในประเทศอียิปต์และในถิ่นทุรกันดาร. ดังนั้น เมื่อจวนจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ยะโฮซูอะสามารถกล่าวกับชาวอิสราเอลด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า “ท่านทั้งหลายก็รู้แน่ในใจว่า, ในสิ่งสารพัตรอันดีนั้น, ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของท่านทรงตรัสถึงท่านแล้วหาได้ขาดสักสิ่งเดียวไม่; สรรพสิ่งเหล่านั้นก็สำเร็จแก่ท่านแล้ว, ไม่ขาดเหลือสักสิ่งเดียว.” (ยโฮ. 23:14) พระยะโฮวาทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์ทุกสิ่งทุกประการ.

8. ในปัจจุบัน พระยะโฮวากำลังทำอะไรตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้?

8 เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันพระยะโฮวาก็กำลังทำสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ด้วย. พระองค์ทรงบอกล่วงหน้าโดยทางพระบุตรว่า ในสมัยสุดท้ายข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรจะได้รับการประกาศ “ไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่.” (มัด. 24:14) ยังจะมีใครอีกหรือนอกจากพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งที่สามารถบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับงานดังกล่าว คอยดูแลให้มีการทำงานนี้ให้สำเร็จ และใช้ “สามัญชนที่เรียนมาน้อย” ให้ทำงานนี้ได้? (กิจ. 4:13) ดังนั้น เมื่อเราร่วมทำงานนี้ ที่จริงเรากำลังมีส่วนร่วมในการทำให้คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง. เรายกย่องสรรเสริญพระบิดาของเราและแสดงให้เห็นว่าเราอยากให้เป็นอย่างนั้นจริงๆเมื่อเราอธิษฐานว่า “ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.”—มัด. 6:9, 10

พระนามของพระองค์ยิ่งใหญ่

9, 10. เราเรียนอะไรได้อีกเกี่ยวกับพระยะโฮวาจากวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อชาวอิสราเอล?

9 ไม่นานหลังจากชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ พระยะโฮวาทรงเปิดเผยให้พวกเขารู้จักพระองค์มากขึ้น. พระยะโฮวาทรงทำสัญญาแห่งพระบัญญัติกับพวกเขาและทรงสัญญาว่าจะดูแลพวกเขาแบบเดียวกับที่สามีดูแลภรรยา. (ยิระ. 3:14) ส่วนชาวอิสราเอลก็กลายมาเป็นเหมือนกับภรรยาของพระองค์และเป็นประชาชนที่ถูกเรียกตามพระนามของพระองค์. (ยซา. 54:5, 6) ถ้าพวกเขาทำตามพระบัญญัติของพระองค์ พระองค์จะทรงอวยพรพวกเขา ปกป้องพวกเขา และประทานสันติสุขแก่พวกเขา. (อาฤ. 6:22-27) โดยวิธีนี้ พระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์จะได้รับการสรรเสริญในท่ามกลางชาติต่างๆ. (อ่านพระบัญญัติ 4:5-8; บทเพลงสรรเสริญ 86:7-10) ที่จริง ตลอดประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอล มีคนต่างชาติมากมายที่ถูกดึงดูดให้มาเป็นผู้นมัสการแท้. พวกเขาทำอย่างเดียวกับรูทชาวโมอาบ ซึ่งกล่าวกับ นาอะมีว่า “ญาติพี่น้องของแม่, จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน, และพระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของฉันด้วย.”—รูธ. 1:16

10 เป็นเวลาประมาณ 1,500 ปีที่พระยะโฮวาทรงเปิดเผยให้เห็นอีกหลายแง่มุมเกี่ยวกับบุคลิกภาพของพระองค์. แม้ว่าชาตินี้ไม่เชื่อฟังพระองค์ แต่พระองค์ทรงพิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็น “พระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา, ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน.” พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่มีความอดทนและอดกลั้นเป็นพิเศษ. (เอ็ก. 34:5-7) อย่างไรก็ตาม ความอดทนของพระยะโฮวามีขีดจำกัด และพระองค์ไม่ทรงอดทนอีกต่อไปเมื่อชาติยิวปฏิเสธและฆ่าพระบุตรของพระองค์. (มัด. 23:37, 38) ลูกหลานของชาวอิสราเอลโดยกำเนิดไม่สามารถมีชื่อตามพระนามของพระเจ้าได้อีกต่อไป. พวกเขาส่วนใหญ่เป็นเหมือนกับต้นไม้ที่เหี่ยวแห้ง. (ลูกา 23:31) ในเวลาต่อมา ชาวอิสราเอลรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระนามของพระเจ้า?

11. ทำไมชาวอิสราเอลจึงเลิกใช้พระนามของพระเจ้า?

11 ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าในที่สุดชาวยิวเริ่มมีความคิดผิดๆเกี่ยวกับพระนามของพระเจ้า โดยคิดว่าพระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์มากจนไม่ควรเอ่ยพระนามนี้. (เอ็ก. 20:7) ผลก็คือ พวกเขาค่อยๆเลิกใช้พระนามของพระเจ้า. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระยะโฮวาเจ็บปวดพระทัยที่เห็นพวกเขาปฏิบัติต่อพระนามของพระองค์อย่างไม่นับถืออย่างมาก. (เพลง. 78:40, 41) พระนามยะโฮวาสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพระองค์. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระองค์ทรงหวงแหนพระนามของพระองค์. เนื่องจากชาวอิสราเอลไม่แสดงความนับถือต่อพระนามยะโฮวา พวกเขาจึงไม่คู่ควรกับพระนามนี้อีกต่อไป. (เอ็ก. 34:14) เรื่องนี้สอนเราว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติต่อพระนามของพระผู้สร้างของเราด้วยความนับถืออย่างสูง.

ชาติใหม่ที่มีชื่อเรียกตามพระนามของพระเจ้า

12. ใครได้กลายมาเป็นประชาชนที่มีชื่อเรียกตามพระนามของพระเจ้า?

12 พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์โดยทางยิระมะยาห์ว่าพระองค์จะทำ “ความสัญญาใหม่” กับชาติใหม่. สมาชิกทั้งหมดของชาตินี้ “ตั้งแต่คนเล็กที่สุดของเขาจนถึงผู้ใหญ่ที่สุด” จะ “รู้จักพระยะโฮวา.” (ยิระ. 31:31, 33, 34) คำพยากรณ์นี้เริ่มสำเร็จเป็นจริงในวันเพนเทคอสต์ สากลศักราช 33 เมื่อพระเจ้าทรงทำสัญญาใหม่นี้. “อิสราเอลของพระเจ้า” ซึ่งประกอบด้วยชาวยิวและคนที่ไม่ใช่ชาวยิว ได้กลายมาเป็น “ประชาชนสำหรับพระนาม [ของพระเจ้า]” หรือ “ประชาชนซึ่งมีชื่อเรียกตามนามของ [พระเจ้า].”—กลา. 6:16; อ่านกิจการ 15:14-17; มัด. 21:43

13. (ก) คริสเตียนในยุคแรกใช้พระนามของพระเจ้าไหม? จงอธิบาย. (ข) คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการใช้พระนามของพระเจ้าในงานประกาศ?

13 ในฐานะ “ประชาชนซึ่งมีชื่อเรียกตามนามของ [พระเจ้า]” สมาชิกของชาติฝ่ายวิญญาณนี้ใช้พระนามของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น พวกเขาใช้พระนามของพระองค์เมื่อยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูขึ้นมากล่าว. * เมื่ออัครสาวกเปโตรกล่าวต่อผู้ฟังกลุ่มใหญ่ซึ่งมีทั้งชาวอิสราเอลและผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวในวันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 ท่านใช้พระนามของพระเจ้าหลายครั้ง. (กิจ. 2:14, 20, 21, 25, 34) เนื่องจากคริสเตียนในยุคแรกนับถือพระยะโฮวา พระองค์จึงทรงอวยพรงานประกาศของพวกเขา. เช่นเดียวกัน ในทุกวันนี้พระยะโฮวาก็ทรงอวยพรงานของเราเมื่อเราประกาศพระนามของพระองค์ด้วยความภูมิใจและชี้ให้ผู้สนใจดูพระนามนี้จากพระคัมภีร์ของเขาเอง. นับว่าเป็นเกียรติที่เราสามารถแนะนำให้ผู้คนรู้จักพระยะโฮวาด้วยวิธีนี้. และสำหรับคนที่ได้มารู้จักพระเจ้า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพอันยอดเยี่ยมกับพระยะโฮวาซึ่งจะมั่นคงเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆและยืนนานตลอดไป.

14, 15. เรารู้ได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงปกป้องพระนามของพระองค์?

14 ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะหลังจากการสิ้นชีวิตของเหล่าอัครสาวก บางคนเริ่มทำให้ประชาคมคริสเตียนเสื่อมเสียด้วยคำสอนเท็จ. (2 เทส. 2:3-7) ผู้ สอนเท็จเหล่านี้ถึงกับรับเอาธรรมเนียมปฏิบัติของชาวยิวที่ไม่ใช้พระนามของพระเจ้า. แต่พระยะโฮวาจะปล่อยให้พระนามของพระองค์ถูกลบทิ้งไหม? ไม่เป็นเช่นนั้นแน่! จริงอยู่ที่เราไม่มีทางรู้ว่าผู้คนในสมัยอดีตออกเสียงพระนามของพระเจ้าอย่างไรจริงๆ แต่พระนามนี้ก็ยังคงอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้. ตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปี พระนามของพระเจ้าปรากฏอยู่ในฉบับแปลต่างๆของคัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งในข้อเขียนของเหล่าผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น ในปี 1757 ชาลส์ ปีเตอรส์เขียนว่า เมื่อเทียบกับชื่ออื่นๆของพระเจ้าอีกหลายชื่อ “ยะโฮวา . . . ดูเหมือนจะพรรณนาคุณลักษณะเฉพาะตัวของพระองค์ได้ดีที่สุด.” ในหนังสือที่เกี่ยวกับการนมัสการพระเจ้าซึ่งออกในปี 1797 ฮอพตัน เฮนซ์ เขียนว่า “ยะโฮวาเป็นพระนามเฉพาะที่ชาวยิวใช้เรียกพระเจ้าองค์เดียวที่พวกเขานมัสการ; พระคริสต์และเหล่าอัครสาวกก็ทำเช่นนั้นด้วย.” เฮนรี กรูว์ (1781-1862) ไม่เพียงแต่ใช้พระนามของพระเจ้า แต่เขายังยอมรับด้วยว่าพระนามนี้ถูกหลู่เกียรติและต้องได้รับการเชิดชูให้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. คล้ายกัน จอร์จ สตอรส์ (1796-1879) ซึ่งเป็นสหายสนิทของชาลส์ ที. รัสเซลล์ใช้พระนามของพระเจ้า เช่นเดียวกับบราเดอร์รัสเซลล์เอง.

15 ปี 1931 เป็นปีที่น่าจดจำเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติซึ่งเป็นชื่อเรียกประชาชนของพระเจ้าในตอนนั้นได้รับเอาชื่อพยานพระยะโฮวา. (ยซา. 43:10-12) โดยวิธีนี้ พวกเขาประกาศต่อผู้คนในโลกว่าพวกเขาภูมิใจที่เป็นผู้รับใช้พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว เป็น “ประชาชนสำหรับพระนามพระองค์” ที่สรรเสริญพระนามนี้. (กิจ. 15:14) เมื่อเราคิดถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปกป้องพระนามของพระองค์ นั่นทำให้เรานึกถึงคำตรัสของพระองค์ที่มาลาคี 1:11 ที่ว่า “ตั้งแต่ตะวันออกจนจดตะวันตก, นามของเราจะเป็นใหญ่ในท่ามกลางเมืองทั้งปวง.”

ดำเนินในพระนามพระยะโฮวา

16. เราควรรู้สึกอย่างไรที่มีชื่อเรียกว่าพยานพระยะโฮวา?

16 ผู้พยากรณ์มีคาเขียนว่า “บรรดาชนชาติทั้งหลายต่างก็ดำเนินในนามแห่งพระของตน แต่เราจะดำเนินในพระนามของพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเราเป็นนิตย์สืบๆไป.” (มีคา 4:5, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971) สำหรับประชาชนของพระเจ้าในสมัยนั้น การมีชื่อเรียกตามพระนามของพระองค์ไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง แต่ยังทำให้เชื่อมั่นด้วยว่าพระเจ้าทรงพอพระทัยพวกเขา. (อ่านมาลาคี 3:16-18) คุณรู้สึกอย่างนั้นไหม? คุณกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะ ‘ดำเนินในพระนามพระยะโฮวา’ ไหม?

17. การดำเนินในพระนามของพระเจ้าเกี่ยวข้องกับอะไร?

17 เพื่อจะ ‘ดำเนินในพระนามพระยะโฮวา’ เราต้องทำอย่างน้อยสามสิ่ง. ประการแรก เราต้องประกาศพระนามนั้นแก่คนอื่นๆ เพราะเรารู้ว่าเฉพาะคนที่ “ทูลอ้อนวอนโดยออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.” (โรม 10:13) ประการที่สอง เราต้องใคร่ครวญเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระยะโฮวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักของพระองค์. และประการที่สาม เราดำเนินในพระนามพระยะโฮวาเมื่อเรายินดีทำตามมาตรฐานอันชอบธรรมของพระองค์ และไม่ทำสิ่งใดที่จะทำให้พระนามอันบริสุทธิ์ของพระบิดาของเราถูกตำหนิติเตียน. (1 โย. 4:8; 5:3) คุณตั้งใจแน่วแน่ว่าจะ ‘ดำเนินในพระนามพระยะโฮวาพระเจ้าของเราเป็นนิตย์สืบๆไป’ ไหม?

18. ทำไมทุกคนที่นับถือพระนามพระยะโฮวาจึงมองไปยังอนาคตด้วยความเชื่อมั่น?

18 ในไม่ช้า ทุกคนที่เพิกเฉยหรือต่อต้านพระยะโฮวาจะต้องจำใจยอมรับพระองค์. (ยเอศ. 38:23) พวกเขาเป็นเหมือนกับฟาโรห์ที่กล่าวว่า “พระยะโฮวานั้นเป็นผู้ใดเล่า, ที่เราจะต้องฟังคำของท่าน?” ฟาโรห์ได้คำตอบสำหรับคำถามของเขาอย่างรวดเร็วเลยทีเดียว! (เอ็ก. 5:1, 2; 9:16; 12:29) แต่เราได้เลือกที่จะรู้จักพระยะโฮวาและเป็นมิตรของพระองค์. เราภูมิใจที่มีชื่อตามพระนามของพระองค์และเป็นประชาชนที่เชื่อฟังพระองค์. ด้วยเหตุนั้น เรามองไปยังอนาคตด้วยความเชื่อมั่นในคำสัญญาดังบันทึกไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 9:10 ที่ว่า “คนทั้งหลายที่รู้จักพระนามของพระองค์ แล้วจะวางใจในพระองค์; ด้วยพระยะโฮวาไม่ทรงละทิ้งคนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์.”

^ วรรค 5 พระนามของพระเจ้าอยู่ในรูปหนึ่งของคำกริยาภาษาฮีบรูซึ่งมีความหมายว่า “จะเป็น.” ด้วยเหตุนั้น “ยะโฮวา” จึงมีความหมายว่า “พระองค์ทรงทำให้เป็น.”

^ วรรค 13 พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูซึ่งคริสเตียนในยุคแรกใช้มีพระนามของพระเจ้าในรูปเททรากรัมมาทอน. พระนามยะโฮวาอาจมีอยู่ด้วยในสำเนาฉบับแรกๆของฉบับเซพตัวจินต์ ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษากรีกของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู.

ฟาโรห์ไม่ยอมรับว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้า