ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณมี “ใจอยากรู้จัก” พระยะโฮวาไหม?

คุณมี “ใจอยากรู้จัก” พระยะโฮวาไหม?

“เราจะให้พวกเขามีใจอยากรู้จักเราว่าเราคือยะโฮวา พวกเขาจะเป็นประชาชนของเรา.”—ยิระ. 24:7, ล.ม.

1, 2. ทำไมบางคนอาจสนใจเรื่องมะเดื่อ?

คุณชอบกินมะเดื่อสดหรือมะเดื่อแห้งไหม? ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ชาวอิสราเอลชอบกินมะเดื่อ. (นาฮูม 3:12; ลูกา 13:6-9) ปัจจุบัน มีการปลูกมะเดื่อในที่ต่างๆทั่วโลก. มะเดื่อมีกากใยอาหารมาก มีสารต้านอนุมูลอิสระ อุดมด้วยแร่ธาตุ และบางคนบอกว่าช่วยบำรุงหัวใจด้วย.

2 ครั้งหนึ่งพระยะโฮวาทรงเปรียบประชาชนของพระองค์เหมือนกับมะเดื่อ. พระองค์ไม่ได้พรรณนาถึงคุณค่าทางโภชนาการของมะเดื่อ แต่พระองค์ตรัสถึงหัวใจโดยนัยของพวกเขา. สิ่งที่พระองค์ตรัสทางผู้พยากรณ์ยิระมะยาห์ยังเป็นประโยชน์สำหรับเราและคนที่เรารักด้วย. ขณะที่เราพิจารณาสิ่งที่พระองค์ตรัส ขอให้คิดดูว่าเราในฐานะคริสเตียนจะเรียนอะไรได้ในเรื่องนี้.

3. มะเดื่อที่กล่าวถึงในยิระมะยาบท 24 หมายถึงอะไร?

3 ก่อนอื่น ให้เราพิจารณาสิ่งที่พระเจ้าตรัสในสมัยของยิระมะยาห์เกี่ยวกับมะเดื่อ. ในปี 617 ก่อนสากลศักราช ประชาชนในอาณาจักรยูดาห์ทำสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเกลียดชัง. พระองค์ประทานนิมิตหนึ่งซึ่งบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอาณาจักรยูดาห์ โดยทรงพรรณนากระจาดสองใบใส่มะเดื่อ ซึ่งหมายถึงคนสองกลุ่ม. มะเดื่อในกระจาดใบหนึ่ง “ดีนัก” และมะเดื่อในกระจาดอีกใบหนึ่ง “ชั่วนัก.” (อ่านยิระมะยา 24:1-3) มะเดื่อชั่วหมายถึงกษัตริย์ซิดคียาและคนที่เหมือนกับเขาซึ่งในไม่ช้าจะถูกกองทัพกษัตริย์นะบูคัดเนซัรโจมตี. แต่มีบางคนที่เป็นเหมือนมะเดื่อดี เช่น ยะเอศเคล ดานิเอลกับเพื่อนทั้งสามคน รวมทั้งชาวยิวคนอื่นๆซึ่งในที่สุดถูกพาไปเป็นเชลยที่บาบิโลน. ในภายหลัง ชาวยิวบางคนจะได้กลับไปยังกรุงเยรูซาเลมและบูรณะพระวิหาร.—ยิระ. 24:8-10; 25:11, 12; 29:10

4. เหตุใดการที่พระเจ้าตรัสถึงมะเดื่อดีจึงทำให้เรามีกำลังใจ?

4 พระยะโฮวาตรัสถึงคนที่เปรียบเหมือนมะเดื่อดีว่า “เราจะให้พวกเขามีใจอยากรู้จักเราว่าเราคือยะโฮวา พวกเขาจะเป็นประชาชน ของเรา.” (ยิระ. 24:7, ล.ม.) นั่นเป็นเรื่องที่ให้กำลังใจเราเมื่อเห็นว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เรามี “ใจอยากรู้จัก” พระองค์ กล่าวคือ ให้เราเป็นคนที่ต้องการรู้จักพระองค์และต้องการเป็นประชาชนของพระองค์. มีหลายขั้นตอนที่จะทำให้เราเป็นคนชนิดนี้ได้ เริ่มต้นด้วยการที่เราศึกษาและทำตามสิ่งที่เราเรียนรู้ในคัมภีร์ไบเบิล. หลังจากนั้น เรากลับใจและเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา. ต่อมา เราอุทิศชีวิตแด่พระเจ้าและรับบัพติสมาในนามพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์. (มัด. 28:19, 20; กิจ. 3:19) คุณได้ทำตามขั้นตอนต่างๆเหล่านี้แล้วไหม? หรือว่าในตอนนี้คุณกำลังเข้าร่วมการประชุมกับพยานพระยะโฮวาและกำลังทำตามขั้นตอนเหล่านี้อยู่?

5. ข่าวสารที่อยู่ในหนังสือยิระมะยาเกี่ยวข้องกับใครเป็นส่วนใหญ่?

5 แม้แต่เมื่อเราทำตามขั้นตอนเหล่านั้นทั้งหมดแล้ว เราก็ยังต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องและระมัดระวังการประพฤติของเราต่อๆไป. เพราะเหตุใด? เราจะเห็นเหตุผลในเรื่องนี้ได้เมื่อพิจารณาสิ่งที่ยิระมะยาห์เขียนเกี่ยวกับหัวใจ. บางบทของหนังสือยิระมะยาเกี่ยวข้องกับชาติต่างๆที่อยู่รอบอาณาจักรยูดาห์. แต่ส่วนใหญ่ของหนังสือนี้เกี่ยวข้องกับอาณาจักรยูดาห์ในช่วงที่กษัตริย์ห้าองค์ปกครองอาณาจักรนี้. (ยิระ. 1:15, 16) ดังนั้น ข่าวสารที่อยู่ในหนังสือยิระมะยาจึงเขียนเพื่อประชาชนที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้ว. ในสมัยของโมเซ ประชาชนในชาตินี้สมัครใจเลือกที่จะเป็นชาติของพระยะโฮวา. (เอ็ก. 19:3-8) ในสมัยของยิระมะยาห์ก็เช่นเดียวกัน ประชาชนพากันกล่าวว่า “พวกข้าพเจ้ามาหาพระองค์, เพราะพระองค์เป็นพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกข้าพเจ้า.” (ยิระ. 3:22) แต่พวกเขามีหัวใจที่ดีไหม?

พวกเขาจำเป็นต้อง “ผ่าตัดหัวใจ”

6. ทำไมเราควรสนใจสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับหัวใจ?

6 แพทย์ในปัจจุบันสามารถใช้เครื่องมือเพื่อจะมองเห็นว่าสภาพหัวใจของเราเป็นอย่างไรและทำหน้าที่ดีอยู่หรือไม่. แต่พระยะโฮวาทรงสามารถทำได้ยิ่งกว่านั้นมาก เพราะพระองค์ทรงมองเห็นหัวใจโดยนัยหรือตัวตนที่แท้จริงของเรา. พระเจ้าตรัสว่า “หัวใจไม่น่าไว้ใจยิ่งกว่าสิ่งใดและกระตุ้นให้ทำอย่างไม่ยั้งคิด. ใครจะรู้จักหัวใจได้? เรายะโฮวาตรวจดูหัวใจและไตเพื่อจะตอบแทนแต่ละคนตามการประพฤติของเขาและตามผลแห่งการกระทำของเขา.” (ยิระ. 17:9, 10, ล.ม.) พระเจ้าทรงสามารถเห็นว่าเราปรารถนาอะไร คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร มีทัศนคติเช่นไร และมีเป้าหมายอะไร. พระเจ้าจะทรงตรวจดูหัวใจของคุณ. แต่คุณก็สามารถตรวจสอบหัวใจของคุณเองได้ด้วย.

7. ยิระมะยาห์พรรณนาสภาพหัวใจของชาวยิวส่วนใหญ่ในสมัยท่านอย่างไร?

7 เพื่อจะพร้อมสำหรับการตรวจสอบหัวใจโดยนัยของเราเอง เราอาจถามว่า ‘สภาพหัวใจโดยนัยของชาวยิวส่วนใหญ่ในสมัยของยิระมะยาห์เป็นอย่างไร?’ เพื่อจะตอบคำถามนี้ ขอให้พิจารณาวลีที่ไม่ปกติธรรมดาซึ่งยิระมะยาห์ใช้เมื่อท่านบอกว่า “บรรดาครอบครัวของพวกยิศราเอลเป็นคนที่ไม่ได้ถือศีลตัดในใจ.” ท่านไม่ได้กล่าวถึงศีลตัดหรือการรับสุหนัตที่พระบัญญัติกำหนดให้ผู้ชายชาวยิวทำ. เรารู้ได้อย่างไร? เพราะแม้ว่าผู้ชายชาวยิวทั้งหลายรับสุหนัตแล้ว แต่พระยะโฮวาก็ยังตรัสว่าพวกเขา “ไม่ได้ถือศีลตัดในใจ.” (ยิระ. 9:25, 26) นี่หมายความว่าอย่างไร?

8, 9. ชาวยิวส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำอะไรเกี่ยวกับหัวใจโดยนัยของพวกเขา?

8 พระเจ้าทรงบอกชาวยิวว่าพวกเขาต้องทำอะไร และนั่นช่วยเราให้เข้าใจวลีที่ว่าพวกเขา “ไม่ได้ถือศีลตัดในใจ.” พระองค์ทรงบอกพวกเขาให้เอาความชั่วร้ายออกไปจากหัวใจ. ทำไม? พระองค์ทรงอธิบายว่า “เกลือกว่าความพิโรธของเราจะพลุ่งออก . . . เพราะความร้ายที่พวกเจ้ากระทำนั้น.” พวกเขาไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาเพราะหัวใจของพวกเขาชั่ว. (อ่านมาระโก 7:20-23) พวกเขาขืนอำนาจและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไข. หัวใจของพวกเขา ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นก็คือแรงกระตุ้นและความคิดของพวกเขา ชั่วในสายพระเนตรพระยะโฮวา. (อ่านยิระมะยา  5:23, 24; 7:24-26) พระเจ้าทรงบอกพวกเขาให้แก้ไขโดยตรัสว่า “จงถือศีลตัดถวายตัวเจ้าทั้งปวงแก่พระยะโฮวา, แลจงเอาหนังที่หน้าหัวใจของพวกเจ้าออกเสีย.”—ยิระ. 4:4; 18:11, 12

9 ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าชาวยิวในสมัยของยิระมะยาห์จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจโดยนัยของพวกเขา. ชาวอิสราเอลในสมัยของโมเซก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน. (บัญ. 10:16; 30:6) ชาวยิวจะ “เอาหนังที่หน้าหัวใจ” ออกไปได้อย่างไร? พวกเขาต้องกำจัดความคิด ความปรารถนา หรือแรงกระตุ้นใดๆก็ตามที่ทำให้พวกเขาเพิกเฉยละเลยพระบัญชาของพระยะโฮวา.—กิจ. 7:51

เราจะมี “ใจอยากรู้จัก” พระยะโฮวาได้อย่างไร?

10. ดาวิดตรวจสอบหัวใจโดยนัยของท่านอย่างไร และเราจะเลียนแบบท่านได้อย่างไร?

10 เรารู้สึกขอบคุณจริงๆที่พระเจ้าทรงช่วยเราให้เข้าใจหัวใจโดยนัย! แต่บางคนอาจสงสัยว่าในฐานะที่เราเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอยู่แล้ว มีความจำเป็นจริงๆหรือที่เราจะเป็นห่วงในเรื่องหัวใจของเรา. พี่น้องส่วนใหญ่ในประชาคมกำลังรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์และมีความประพฤติที่สะอาด. พวกเขาไม่ใช่คนที่กำลังกลายเป็น ‘มะเดื่อชั่ว.’ แต่เราไม่ควรลืมว่าแม้แต่ดาวิดผู้ชอบธรรมก็วิงวอนขอต่อพระยะโฮวาว่า “ข้าแต่พระเจ้า, ขอทรงตรวจดู, และทรงทราบในใจของข้าพเจ้า. ขอทรงลองข้าพเจ้า, และทรงทราบความคิดของข้าพเจ้า, ขอทรงพิจารณาดูว่ามีทางชั่วอันใดในตัวข้าพเจ้าหรือ.”—เพลง. 17:3; 139:23, 24

11, 12. (ก) ทำไมเราแต่ละคนควรตรวจดูหัวใจของเราเอง? (ข) เราไม่ควรคาดหมายว่าพระเจ้าจะทำอะไร?

11 พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราแต่ละคนรู้จักพระองค์ คือให้เราอยู่ในฐานะที่พระองค์ทรงยอมรับและรักษาฐานะนี้ไว้เสมอ. ยิระมะยาห์กล่าวว่าพระยะโฮวาทรงตรวจดูคนชอบธรรมและพระองค์ทรงมองดู “ไตและหัวใจ” ของพวกเขา. (ยิระ. 20:12, ล.ม.) ในเมื่อองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งทรงตรวจดูหัวใจของคนเรา แม้แต่คนที่ชอบธรรม เราทุกคนควรตรวจดูหัวใจของเราเองอย่างตรงไปตรงมามิใช่หรือ? (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 11:5, ล.ม.)  * เมื่อเราทำอย่างนั้น เราอาจพบว่าในส่วนลึกของหัวใจเรามีทัศนคติ ความรู้สึก หรือเป้าหมายที่ไม่ถูกต้องซึ่งทำให้หัวใจเราเฉื่อยชา. เราอาจไม่พร้อมจะทำตามคำสอนหรือคำแนะนำของพระยะโฮวาทันที. เราอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจโดยนัยเพื่อขจัดความชั่วร้ายที่เราพบออกไปจากหัวใจเรา. มีทัศนคติหรือความรู้สึกที่ไม่ถูกต้องอะไรบ้างที่อาจอยู่ในหัวใจเรา? เราจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อย่างไร?—ยิระ. 4:4

12 สิ่งหนึ่งที่เราแน่ใจได้คือ พระยะโฮวาจะไม่บังคับให้เราเปลี่ยน. พระองค์ตรัสถึง ‘มะเดื่อดี’ ที่พระองค์จะ ให้พวกเขา มีใจอยากรู้จัก” พระองค์. พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าพระองค์จะบังคับพวกเขาให้เปลี่ยนสภาพหัวใจ. พวกเขาจำเป็นจะต้องมีความปรารถนาที่จะรู้จักพระเจ้า และเราก็จำเป็นต้องมีความปรารถนาอย่างเดียวกัน.

จงตรวจสอบหัวใจและขจัดความปรารถนาที่ ไม่ถูกต้องออกไป เพื่อคุณจะได้รับพระพรจากพระเจ้า

13, 14. สิ่งที่อยู่ในหัวใจของคนเราอาจเป็นอันตรายต่อเขาได้อย่างไร?

13 พระเยซูตรัสว่าสิ่งที่อยู่ในหัวใจคนเราอาจทำ ให้เขามี “ความคิดชั่วร้าย” ฆ่าคน ทำผิดประเวณี หรือทำเรื่องที่ผิดศีลธรรมอื่นๆ. (มัด. 15:19) เห็นได้ชัด ถ้าใครคนหนึ่งมีความปรารถนาที่ไม่ถูกต้องในหัวใจ เขาอาจถูกกระตุ้นให้เล่นชู้หรือทำผิดประเวณี. ถ้าเขาไม่กลับใจ เขาจะสูญเสียความโปรดปรานจากพระเจ้าอย่างถาวร. แต่แม้ว่าเขาไม่ได้พลาดพลั้งทำบาปร้ายแรง เขาอาจปล่อยให้ความปรารถนาผิดๆเช่นนั้นมีมากขึ้นในหัวใจเขา. (อ่านมัดธาย 5:27, 28) เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะตรวจดูให้แน่ใจว่าเราไม่มีความปรารถนาผิดๆเช่นนั้นในหัวใจเรา. คุณแอบคิดถึงใครบางคนที่เป็นเพศตรงข้ามแบบที่พระยะโฮวาไม่พอพระทัยไหม? คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่อยู่ในหัวใจคุณไหม?

14 หรือคริสเตียนอาจปล่อยให้ความโกรธที่เขามีต่อพี่น้องอีกคนหนึ่งเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นที่เขาเริ่มเกลียดพี่น้องคนนั้นในใจ. (เลวี. 19:17) หากเป็นอย่างนั้น เขาจำเป็นต้องพยายามจริงๆที่จะขจัดความรู้สึกอย่างนั้นออกไป.—มัด. 5:21, 22

15, 16. (ก) คริสเตียนอาจ “ไม่ได้ถือศีลตัดในใจ” อย่างไร? (ข) ทำไมคุณจึงคิดว่าพระยะโฮวาไม่พอพระทัยคนที่ “ไม่ได้ถือศีลตัดในใจ”?

15 น่ายินดีที่คริสเตียนส่วนใหญ่ไม่ปล่อยให้ตัวเขาเองมีความปรารถนาและความรู้สึกเช่นนั้นในหัวใจตน. อย่างไรก็ตาม พระเยซูยังตรัสถึง “ความคิดชั่วร้าย” ด้วย. ตัวอย่างเช่น เราอาจคิดว่าความภักดีต่อครอบครัวสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด. แน่นอนว่า คริสเตียนต้องการมี “ความรักใคร่ตามธรรมชาติ” ต่อญาติพี่น้อง. เราไม่อยากเป็นเหมือนกับผู้คนจำนวนมากใน “สมัยสุดท้าย” ที่ไม่มีความรักเช่นนั้น. (2 ติโม. 3:1, 3) แต่อาจเป็นไปได้ที่เราจะแสดงความรักเช่นนั้นอย่างสุดโต่ง. หลายคนคิดว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ.” ด้วยเหตุนั้น พวกเขาอาจปกป้องหรือเข้าข้างญาติโดยไม่คำนึงถึงว่าใครผิดใครถูก และแสดงความไม่พอใจเมื่อมีใครทำให้ญาติโกรธเคือง. ขอให้นึกถึงเหตุการณ์ที่พวกพี่ชายของดีนาแสดงความโกรธแค้นอย่างรุนแรงเมื่อน้องสาวถูกข่มขืน. (เย. 34:13, 25-30) และขอให้นึกถึงความรู้สึกในหัวใจของอับซาโลมที่ทำให้เขาลงมือฆ่าอำโนนน้องชายต่างมารดาของเขา. (2 ซามู. 13:1-30) เห็นได้ชัดว่า “ความคิดชั่วร้าย” กระตุ้นให้คนเราทำสิ่งที่อาจก่อผลเสียหายอย่างมาก.

16 บางคนโกรธมากเมื่อมีใครปฏิบัติต่อครอบครัวของเขาอย่างเลวร้าย หรือพวกเขาอาจคิดไปเอง ว่าเป็นอย่างนั้น. เขาอาจแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคนที่เขาคิดว่าทำให้เกิดความขุ่นเคือง? เขาอาจไม่ยอมทำอะไรด้วยกันกับคนนั้นหรือไม่เชิญเขามาที่บ้าน. (ฮีบรู 13:1, 2) แต่คริสเตียนที่มีความรักต่อพี่น้องจะไม่ทำอย่างนั้น. พระยะโฮวาทรงรู้ว่ามีอะไรอยู่ในหัวใจเรา. ถ้าพระองค์เห็นว่าเรามีความรู้สึกที่ไม่ดีในหัวใจ พระองค์คงจะตำหนิเราด้วยว่าเรา “ไม่ ได้ถือศีลตัดในใจ.” (ยิระ. 9:25, 26) อย่าลืมคำตรัสของพระยะโฮวาที่ว่า “จงเอาหนังที่หน้าหัวใจของพวกเจ้าออกเสีย.”—ยิระ. 4:4

จงเปลี่ยนแปลงแก้ไขและ “มีใจอยากรู้จัก” พระเจ้าเสมอ

17. ทำไมจึงเป็นเรื่องง่ายขึ้นที่เราจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่อยู่ในหัวใจเราถ้าเรายำเกรงพระยะโฮวา?

17 เมื่อคุณตรวจสอบหัวใจโดยนัยของคุณ คุณอาจพบว่าคุณไม่พร้อมที่จะทำตามคำแนะนำสั่งสอนของพระยะโฮวาอย่างที่คุณควรทำ. คุณอาจ “ไม่ได้ถือศีลตัดในใจ” ในบางแง่ไหม? คุณอาจพบว่าคุณกลัวว่าคนอื่นคิดอย่างไรต่อคุณ ปรารถนาความเด่นดังหรือความหรูหราฟุ่มเฟือย หรือแม้แต่มีแนวโน้มไปในทางที่จะดื้อดึงหรือไม่ยอมขึ้นกับใคร. คุณไม่ใช่คนแรกที่เป็นอย่างนั้น. (ยิระ. 7:24; 11:8) ยิระมะยาห์เขียนว่าชาวยิวที่ไม่ซื่อสัตย์ในสมัยท่านมี “ใจดื้อดึงและกบฏ.” ท่านยังเขียนอีกว่า “เขาไม่ได้พูดแต่ในใจของตัวว่า, บัดเดี๋ยวนี้ให้พวกเรากลัวเกรงพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา, ผู้ที่ได้โปรดให้มีฝน.” (ยิระ. 5:23, 24) ถ้าเรายำเกรงพระยะโฮวา เราจะขจัดความชั่วออกไปจากหัวใจของเรา. นั่นจะทำให้ง่ายขึ้นที่เราจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่อยู่ในหัวใจเราและทำสิ่งใดก็ตามที่พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราทำ.

18. พระยะโฮวาทรงสัญญาอะไรกับคนที่อยู่ในสัญญาใหม่?

18 ขณะที่เราพยายามทำอย่างนี้ พระยะโฮวาจะช่วยให้เรา “มีใจอยากรู้จัก” พระองค์. พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทำอย่างนั้นกับผู้ถูกเจิมที่อยู่ในสัญญาใหม่. พระองค์ตรัสว่า “เราจะใส่บทบัญญัติของเราไว้ ณ ภายในตัวเขาทั้งปวง, แลจะเขียนบทบัญญัตินั้นในใจเขา, แลเราจะเป็นพระเจ้าแก่เขาทั้งหลาย, แลเขาจะเป็นไพร่พลของเรา.” จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการรู้จักพระองค์อย่างแท้จริง? พระองค์ตรัสต่ออีกว่า “เขาทั้งหลายทุกตัวคนจะไม่ต้องสั่งสอนเพื่อนบ้านของตัว, แลทุกตัวคนจะไม่ต้องสั่งสอนพี่น้องของตัวอีกว่า, ให้รู้จักพระยะโฮวา, เพราะเขาทั้งหลายจะรู้จักเราทุกตัวคน, ตั้งแต่คนเล็กที่สุดของเขาจนถึงผู้ใหญ่ที่สุด . . . เพราะเราจะยกความบาปของเขา, แลไม่ระลึกถึงความผิดของเขาอีกเลย.”—ยิระ. 31:31-34 *

19. คริสเตียนแท้มีความหวังอันยอดเยี่ยมอะไร?

19 เราคอยท่าที่จะได้รับสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้. เราทุกคนควรปรารถนาจะรู้จักพระยะโฮวาและเป็นประชาชนของพระองค์. แต่เราจะรู้จักพระยะโฮวาได้ตลอดไปก็ต่อเมื่อเราได้รับการอภัยบาปโดยอาศัยค่าไถ่ของพระคริสต์. เนื่องจากเราสามารถได้รับการอภัยบาป เราควรต้องการจะให้อภัยผู้อื่น แม้ว่าอาจดูเหมือนเป็นเรื่องยาก. เราควรพยายามจริงๆที่จะขจัดความโกรธหรือความเกลียดที่เรามีต่อคนอื่นๆ. เมื่อเราทำอย่างนั้น เราแสดงให้เห็นว่าเราไม่เพียงแต่ต้องการรับใช้พระยะโฮวา แต่เราต้องการรู้จักพระองค์ดียิ่งขึ้นด้วย. คุณจะเป็นเหมือนกับคนที่พระยะโฮวาตรัสกับพวกเขาโดยทางยิระมะยาห์ว่า “เจ้าทั้งหลายจะได้เสาะหาเรา, แลจะได้พบเรา, เมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยเต็มกำลังใจของเจ้า. แลเราจะเป็นผู้ที่พวกเจ้าจะพบได้.”—ยิระ. 29:13, 14

^ วรรค 11 บทเพลงสรรเสริญ 11:5 (ล.ม.): “พระยะโฮวาทรงตรวจดูทั้งคนประพฤติชอบธรรมและคนชั่ว พระองค์ทรงเกลียดชังคนที่ชอบความรุนแรง.”

^ วรรค 18 มีการพิจารณาเกี่ยวกับสัญญาใหม่ในหนังสือพระเจ้าตรัสกับเราผ่านทางยิระมะยาห์ บท 14.