ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงให้ข้อเตือนใจจากพระยะโฮวาทำให้คุณชื่นชมยินดี

จงให้ข้อเตือนใจจากพระยะโฮวาทำให้คุณชื่นชมยินดี

“ข้าพเจ้ารับเอาข้อเตือนใจจากพระองค์มาเป็นของข้าพเจ้าตลอดไป.”—เพลง. 119:111, ล.ม.

1. (ก) คนเราตอบสนองอย่างไรต่อคำเตือนหรือคำแนะนำ และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? (ข) คนหยิ่งแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อได้รับคำแนะนำ?

คนเราตอบสนองต่อการชี้นำไม่เหมือนกัน. ตัวอย่างเช่น บางคนอาจตอบรับคำเตือนของคนที่มีอำนาจแต่อาจไม่ยอมรับคำเตือนจากคนรุ่นราวคราวเดียวกันหรือคนที่มีอำนาจน้อยกว่าตน. เมื่อถูกตีสอนหรือได้รับคำแนะนำ บางคนอาจเศร้าใจ หดหู่ หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย. แต่บางคนอาจรู้สึกว่าได้รับแรงกระตุ้น มีความมั่นใจมากขึ้น และอยากปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น. ทำไมผู้คนจึงมีปฏิกิริยาแตกต่างกันมาก? สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นอย่างนั้นคือความหยิ่ง. เมื่อคนหยิ่งรับคำแนะนำ เขามักจะคิดว่าเรื่องนั้นไม่ใช่สำหรับเขา เขาจึงไม่ยอมรับคำแนะนำนั้นและไม่ได้รับประโยชน์จากการสอน.—สุภา. 16:18

2. ทำไมคริสเตียนแท้จึงเห็นคุณค่าคำแนะนำที่มาจากพระคำของพระเจ้า?

2 คริสเตียนแท้แสดงปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง. เราเห็นค่าคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อคำแนะนำนั้นมาจากพระคำของพระเจ้า. ข้อเตือนใจจากพระยะโฮวาช่วยเราให้มองเห็นอันตรายของการทำผิด. ตัวอย่างเช่น ข้อเตือนใจจากพระยะโฮวาช่วยเราให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เราได้รับความเสียหาย เช่น การนิยมวัตถุ การทำผิดศีลธรรมทางเพศ การใช้ยาเสพติด และการดื่มมากเกินไป. (สุภา. 20:1; 2 โค. 7:1; 1 เทส. 4:3-5; 1 ติโม. 6:6-11) นอกจากนั้น เราชื่นชมยินดีเพราะเรา “สบายใจ” ที่ได้เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า.—ยซา. 65:14, ล.ม.

3. เราควรเลียนแบบผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญอย่างไร?

3 เพื่อรักษาสายสัมพันธ์อันล้ำค่ากับพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ เราต้องทำตามคำแนะนำอันฉลาดสุขุมจากพระยะโฮวาในชีวิตเรา. เราควรเลียนแบบทัศนะของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่เขียนว่า “ข้าพเจ้ารับเอาข้อเตือนใจจากพระองค์มาเป็นของข้าพเจ้าตลอดไป เพราะข้อเตือนใจเหล่านั้นทำให้ข้าพเจ้าชื่นชมยินดี.”  (เพลง. 119:111, ล.ม.) คุณยินดีเชื่อฟังพระบัญชาของพระยะโฮวาแบบเดียวกันนั้นไหม? หรือว่าบางครั้งคุณรู้สึกว่ายากเกินไปที่จะทำตาม? แม้แต่ในบางครั้งที่คุณรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับคำแนะนำก็อย่าได้ท้อใจ. คุณสามารถมีความเชื่อมั่นมากขึ้นได้ว่าการเชื่อฟังพระบัญชาอันฉลาดสุขุมของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณ. ขอให้เราพิจารณาสามวิธีที่จะทำอย่างนี้.

เสริมความไว้วางใจของคุณด้วยการอธิษฐาน

4. สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนในชีวิตของดาวิดคืออะไร?

4 ชีวิตของกษัตริย์ดาวิดมีทั้งช่วงที่รุ่งเรืองและตกต่ำ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน. ท่านไว้วางใจพระผู้สร้างอย่างเต็มที่เสมอ. ท่านกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าข้าพระองค์ตั้งใจแน่วแน่ในพระองค์ ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ข้าพระองค์วางใจในพระองค์.” (เพลง. 25:1, 2, ฉบับ 1971 ) อะไรช่วยดาวิดให้ไว้วางใจพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์อย่างยิ่ง?

5, 6. คำอธิษฐานของดาวิดแสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ที่ดาวิดมีกับพระยะโฮวา?

5 หลายคนอธิษฐานถึงพระเจ้าเฉพาะเมื่อพวกเขามีปัญหาร้ายแรง. คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าเพื่อนหรือญาติพูดกับคุณเฉพาะเมื่อเขาไม่มีเงินหรือต้องการให้คุณช่วยอะไรบางอย่าง? ไม่นานหลังจากนั้น คุณอาจเริ่มสงสัยว่าเขารักคุณจริงหรือไม่. แต่สายสัมพันธ์ของดาวิดกับพระยะโฮวาไม่เป็นอย่างนั้น. ตลอดชีวิตของดาวิด ทั้งตอนที่มีความสุขและตอนที่เป็นทุกข์ คำอธิษฐานของท่านแสดงให้เห็นว่าท่านรักและไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างแท้จริง.—เพลง. 40:8

6 ขอให้สังเกตคำพูดของดาวิดที่สรรเสริญและขอบพระคุณพระยะโฮวาว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, องค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกข้าพเจ้า, พระนามของพระองค์ประเสริฐยิ่งทั่วโลกสักเท่าใด, พระองค์ทรงเปล่งรัศมีในฟ้าสวรรค์ให้ปรากฏแจ้ง.” (เพลง. 8:1) คุณรู้สึกไหมว่าดาวิดมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากกับพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์? ดาวิดประทับใจในความยิ่งใหญ่และความสง่างามของพระยะโฮวาอย่างยิ่งจนถูกกระตุ้นให้สรรเสริญพระยะโฮวา “ตลอดวัน.”—เพลง. 35:28

7. การพูดคุยกับพระยะโฮวาเป็นประจำช่วยเราอย่างไร?

7 เช่นเดียวกับดาวิด เราต้องพูดคุยกับพระยะโฮวาเป็นประจำเพื่อเราจะไว้วางใจพระองค์มากขึ้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน.” (ยโก. 4:8) การเข้าใกล้พระเจ้าด้วยการอธิษฐานยังเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญที่เราจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วย.—อ่าน 1 โยฮัน 3:22

8. ทำไมเราควรพยายามที่จะไม่ใช้คำหรือวลีเหมือนเดิมทุกครั้งที่เราอธิษฐาน?

8 เมื่อคุณอธิษฐาน คุณมักใช้คำหรือวลีเหมือนเดิมทุกครั้งไหม? หากเป็นอย่างนั้น ลองใช้เวลาสักเล็กน้อยก่อนจะอธิษฐานเพื่อคิดถึงสิ่งที่คุณต้องการพูด. ถ้าเราพูดเหมือนเดิมทุกครั้งกับเพื่อนหรือญาติ เขาจะรู้สึกอย่างไร? เขาอาจไม่อยากฟังคุณพูดอีกต่อไป. แน่นอน พระยะโฮวาจะไม่ปฏิเสธคำอธิษฐานที่จริงใจของผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์. แต่เราควรพยายามที่จะไม่พูดเหมือนเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกครั้งที่เราอธิษฐาน.

9, 10. (ก) เราควรพูดถึงอะไรบ้างในคำอธิษฐานของเรา? (ข) อะไรจะช่วยเราให้อธิษฐานอย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้น?

9 เห็นได้ชัดว่า การอธิษฐานถึงพระองค์แค่เรื่องทั่วไปยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราใกล้ชิดพระเจ้าได้. ยิ่งเราบอกความรู้สึกในส่วนลึกของเรากับพระองค์มากเท่าใด เราก็จะยิ่งไว้วางใจพระองค์มากขึ้น. แต่เราควรพูดถึงอะไรบ้างในคำอธิษฐานของเรา? พระคำของพระเจ้าให้คำตอบดังนี้: “จงทูลทุกสิ่งที่พวกท่านปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ.” (ฟิลิป. 4:6) เป็นความจริงที่ว่าสิ่งใดก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าหรือส่งผลต่อชีวิตเราในฐานะผู้รับใช้ของพระองค์ถือได้ว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะกล่าวในคำอธิษฐานของเรา.

10 เราสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากคำอธิษฐาน ของเหล่าผู้ซื่อสัตย์ในอดีต. (1 ซามู. 1:10, 11; กิจ. 4:24-31) ตัวอย่างเช่น ในบทเพลงสรรเสริญมีคำอธิษฐานและเพลงที่จริงใจมากมายที่บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกทุกอย่าง ตั้งแต่ความทุกข์ใจอย่างหนักไปจนถึงความยินดีอย่างมาก. การศึกษาคำอธิษฐานเหล่านี้จะช่วยเราให้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาอย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้น.

จงใคร่ครวญข้อเตือนใจจากพระเจ้า

11. ทำไมเราจำเป็นต้องใคร่ครวญคำแนะนำของพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิล?

11 ดาวิดกล่าวว่า “ข้อเตือนใจจากพระยะโฮวาไว้วางใจได้ ทำให้คนที่ขาดประสบการณ์มีปัญญา.” (เพลง. 19:7, ล.ม.) ดังนั้น แม้แต่เมื่อเราขาดประสบการณ์เราก็เป็นคนมีปัญญาได้โดยการเชื่อฟังข้อเตือนใจของพระเจ้า. แต่มีข้อเตือนใจบางข้อที่เราต้องใคร่ครวญเพื่อเราจะได้รับประโยชน์ได้อย่างเต็มที่. ตัวอย่างเช่น การใคร่ครวญหลักการในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคุณให้ภักดีอยู่เสมอเมื่อถูกล่อใจให้ทำผิดที่โรงเรียนหรือในที่ทำงาน. การใคร่ครวญหลักการของพระเจ้ายังช่วยคุณให้เชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้าในเรื่องเลือดและความเป็นกลางของคริสเตียน และเป็นประโยชน์เมื่อคุณเลือกเสื้อผ้าที่จะสวมใส่. การใคร่ครวญคำแนะนำของพระเจ้าจะช่วยเราให้คาดหมายว่าอาจมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง. แล้วเราก็อาจตัดสินใจไว้ก่อนเลยว่าเราจะทำอะไรถ้าสถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น. การเตรียมพร้อมอย่างนี้ช่วยเราให้หลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่ทำให้เกิดความปวดร้าวใจ.—สุภา. 15:28

12. การใคร่ครวญคำถามอะไรจะช่วยเราให้ปฏิบัติตามข้อเตือนใจจากพระเจ้า?

12 ขณะที่เราคอยให้คำสัญญาของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง เรากำลังแสดงให้เห็นว่าความเชื่อของเรายังมั่นคงและพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราเสมอไหม? ตัวอย่างเช่น เราเชื่ออย่างแท้จริงว่าในไม่ช้าบาบิโลนใหญ่จะถูกทำลายไหม? พระพรต่างในอนาคต เช่น ชีวิตตลอดไปในอุทยานและการกลับเป็นขึ้นจากตาย เป็นจริงสำหรับเราในตอนนี้เหมือนกับตอนที่เราเพิ่งเรียนความจริงไหม? เรายังคงกระตือรือร้นในงานประกาศหรือว่าเรากำลังให้ความปรารถนาของตัวเราเองมาเป็นอันดับแรกในชีวิต? การทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และการพิสูจน์ว่าพระองค์มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะปกครองเหนือเอกภพยังคงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเราไหม? การใคร่ครวญคำถามเหล่านี้จะช่วยเราให้รับเอา ‘ข้อเตือนใจจากพระเจ้ามาเป็นของเราตลอดไป.’—เพลง. 119:111, ล.ม.

13. ทำไมบางเรื่องจึงเข้าใจยากสำหรับคริสเตียนในศตวรรษแรก? จงยกตัวอย่าง.

13 มีบางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลที่เรายังไม่เข้าใจเต็มที่ในตอนนี้เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาที่พระยะโฮวาจะอธิบายเรื่องเหล่านั้น. พระเยซูบอกเหล่าอัครสาวกหลายครั้งหลายหนว่าพระองค์จะต้องทนทุกข์และถูกฆ่า. (อ่านมัดธาย 12:40; 16:21 ) แต่เหล่าอัครสาวกไม่เข้าใจว่าพระองค์หมายถึงอะไร. ต้องรอจนกระทั่งหลังจากพระเยซูถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายแล้วมาปรากฏแก่เหล่าสาวกและช่วยพวกเขาให้เข้าใจคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระคริสต์ พวกเขาจึงได้เข้าใจคำตรัสของพระองค์. (ลูกา 24:44-46; กิจ. 1:3) และเหล่าสาวกของพระคริสต์ต้องรอจนกระทั่งได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 พวกเขาจึงได้เข้าใจว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะปกครองจากสวรรค์.—กิจ. 1:6-8

14. พี่น้องของเราในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้วางตัวอย่างที่ดีอะไรไว้แม้ว่าเข้าใจผิดเกี่ยวกับสมัยสุดท้าย?

14 คล้ายกัน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คริสเตียนแท้คาดหมายอย่างผิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโม. 3:1) ตัวอย่างเช่น ในปี 1914 บางคนคิดว่าพวกเขาจะได้ไปสวรรค์ในอีกไม่ช้า แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น. คริสเตียนเหล่านั้นศึกษาพระคัมภีร์อย่างจริงจังต่อไปซึ่งทำให้พวกเขาเข้าใจชัดเจนว่าต้องทำงานใหญ่ในการประกาศข่าวดีก่อน. (มโก. 13:10) ดังนั้น ในปี 1922 เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ซึ่งนำหน้างานประกาศในเวลานั้น บอก ผู้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติที่ซีดาร์พอยต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ว่า “ดูเถิด พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์แล้ว! คุณเป็นผู้เผยแพร่ของพระองค์. เหตุฉะนั้น จงโฆษณา โฆษณา โฆษณาพระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์.” นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาก็เป็นที่รู้จักกันดีเพราะการ “ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.”—มัด. 4:23; 24:14

15. ทำไมเราควรใคร่ครวญสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทำเพื่อประชาชนของพระองค์?

15 เราควรใคร่ครวญวิธีอันยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาได้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนของพระองค์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน. การทำอย่างนี้ช่วยเราให้เชื่อมั่นมากขึ้นว่าพระยะโฮวาสามารถทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในอนาคต. การใคร่ครวญคำสัญญาต่างของพระเจ้าทำให้เรื่องเหล่านั้นแจ่มชัดในความคิดของเราและทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะเป็นจริงตามที่พระองค์สัญญา.

เสริมความไว้วางใจโดยสิ่งที่เราทำในการรับใช้พระเจ้า

16. การทำงานหนักในการรับใช้พระเจ้าทำให้ได้รับพระพรอะไร?

16 พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพลังและทรงทำการงานอยู่เสมอ. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “ผู้ใดเล่ามีฤทธิ์เสมอกับพระองค์, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา?” แล้วท่านก็กล่าวต่อว่า “พระหัตถ์ของพระองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่, พระหัตถ์เบื้องขวาของพระองค์ทรงเหยียดให้สูง.” (เพลง. 89:8, 13) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงทำการงานอยู่เสมอ พระองค์จึงพอพระทัยเมื่อเราพยายามรับใช้พระองค์อย่างดีที่สุดและอวยพรเราที่ทำอย่างนั้น. พระองค์สังเกตเห็นว่าผู้รับใช้ของพระองค์ ทั้งชายและหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ‘ไม่เกียจคร้าน.’ พวกเขาทำงานหนัก. (สุภา. 31:27, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เมื่อเราขยันทำงานรับใช้พระเจ้า เราเลียนแบบพระผู้สร้างของเรา. การที่เรารับใช้อย่างดีที่สุด ยังทำให้เรามีความสุขและทำให้พระยะโฮวายินดี.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 62:12

17, 18. การกระทำด้วยความเชื่อช่วยเราให้ไว้วางใจพระยะโฮวามากขึ้นได้อย่างไร? จงยกตัวอย่าง.

17 การกระทำด้วยความเชื่อช่วยเราให้ไว้วางใจพระยะโฮวามากขึ้นได้อย่างไร? ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นตอนชาติอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา. พระยะโฮวาได้สั่งพวกปุโรหิตที่หามหีบสัญญาให้เดินลงไปในแม่น้ำจอร์แดน. แต่เมื่อชนชาตินี้จวนจะถึงแม่น้ำ พวกเขาก็เห็นว่าแม่น้ำนั้นลึกและไหลเชี่ยวเพราะฝนในฤดูใบไม้ผลิ. ชาวอิสราเอลจะทำอย่างไร? พวกเขาจะตั้งค่ายริมแม่น้ำหลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้นและคอยให้ระดับน้ำลดลงก่อนไหม? ไม่ พวกเขาไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่และทำตามคำสั่งของพระองค์. ผลเป็นอย่างไร? บันทึกบอกว่า ‘ทันทีที่เท้าของปุโรหิตแตะผิวน้ำตรงริมแม่น้ำ น้ำทางต้นน้ำก็หยุดไหล . . . ปุโรหิตยืนอย่างมั่นคงบนพื้นแห้งกลางแม่น้ำจอร์แดนจนประชากรอิสราเอลทั้งชาติข้ามไปครบทุกคน.’ (ยโฮ. 3:12-17, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) ขอให้นึกดูสิว่าชาวอิสราเอลคงต้องดีใจขนาดไหนเมื่อเห็นน้ำที่ไหลเชี่ยวหยุดไหลในทันที! ความเชื่อของพวกเขาได้รับการเสริมให้มั่นคงเพราะพวกเขาทำตามคำสั่งของพระยะโฮวา.

คุณจะไว้วางใจพระยะโฮวาเหมือนกับชาวอิสราเอลในสมัยยะโฮซูอะไหม? (ดูข้อ 17, 18)

18 จริงอยู่ พระยะโฮวาไม่ได้ทำการอัศจรรย์แบบนั้นเพื่อประชาชนของพระองค์ในทุกวันนี้อีกต่อไป. แต่พระองค์ทรงอวยพรเราเมื่อเราแสดงความเชื่อและทำตามคำสั่งของพระองค์. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าทำให้เรามีความกล้าหาญที่จะประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลก. และพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นพยานที่สำคัญที่สุดของพระยะโฮวาสัญญากับเหล่าสาวกว่าพระองค์จะช่วยพวกเขาให้ทำงานสำคัญนี้. พระองค์บอกพวกเขาว่า “ฉะนั้น จงไปสอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก.” แล้วพระองค์ก็สัญญาว่า “เราจะอยู่กับพวกเจ้าเสมอจนถึงช่วงสุดท้ายของยุค.” (มัด. 28:19, 20) พยานหลายคนที่ขี้อายหรือไม่ค่อยกล้าพูดกับคนอื่นสามารถยืนยันจากประสบการณ์ของตัวเองว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าช่วยให้พวกเขามีความกล้าที่จะพูดกับคนแปลกหน้าในงานประกาศ.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 119:46; 2 โครินท์ 4:7

19. แม้ว่ามีข้อจำกัดบางอย่าง แต่เรามั่นใจได้ในเรื่องใด?

19 พี่น้องบางคนไม่สามารถรับใช้ได้มากอย่างที่อยากทำเพราะความเจ็บป่วยหรือความชรา. แต่พวกเขามั่นใจได้ว่า “พระบิดาแห่งความเมตตากรุณาและเป็นพระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง” ทรงเข้าใจสภาพการณ์ของพวกเขา. (2 โค. 1:3) พระองค์ทรงเห็นคุณค่าทุกสิ่งที่เราทำได้ในการรับใช้พระองค์. และเราทุกคนต้องจำไว้ว่าความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้รับความรอด.—ฮีบรู 10:39

20, 21. มีวิธีใดบ้างที่เราจะแสดงความไว้วางใจในพระยะโฮวา?

20 การนมัสการของเราเกี่ยวข้องกับการใช้เวลา กำลัง และทรัพย์สินของเราเท่าที่เราจะทำได้ในการรับใช้พระเจ้า. เราต้องการทำให้ดีที่สุดในงานประกาศ. (2 ติโม. 4:5) เรามีความสุขที่ได้ช่วยคนอื่นให้มี “ความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโม. 2:4) เห็นได้ชัด การยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวาทำให้เรามั่งคั่งฝ่ายวิญญาณ. (สุภา. 10:22) และนั่นช่วยเราให้ไว้วางใจพระผู้สร้างของเราอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม.—โรม 8:35-39

21 ดังที่เราได้พิจารณาไปแล้ว การไว้วางใจและทำตามคำแนะนำอันฉลาดสุขุมของพระยะโฮวาไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ. เราต้องลงมือลงแรงเพื่อจะมีความไว้วางใจเช่นนั้น. ดังนั้น จงเสริมความไว้วางใจในพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน. จงใคร่ครวญวิธีที่พระยะโฮวาได้ทำให้คำสัญญาของพระองค์ในอดีตสำเร็จเป็นจริง และวิธีที่พระองค์จะทำอย่างเดียวกันนั้นในอนาคต. และขอให้เสริมความไว้วางใจในพระยะโฮวาโดยสิ่งต่างที่เราทำในการรับใช้พระองค์. ขอให้จำไว้ว่า ข้อเตือนใจของพระยะโฮวาจะยั่งยืนตลอดไป. และถ้าคุณเอาใจใส่ข้อเตือนใจเหล่านั้น คุณก็จะมีชีวิตตลอดไปเช่นกัน!