ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงตัดสินใจอย่างสุขุม

จงตัดสินใจอย่างสุขุม

“จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง.”—สุภา. 3:5

1, 2. คุณชอบตัดสินใจไหม และคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการตัดสินใจที่คุณได้ทำไปแล้ว?

ทุกวันเราต้องตัดสินใจหลายเรื่อง. คุณรู้สึกอย่างไรในเรื่องการตัดสินใจ? บางคนชอบตัดสินใจทุกเรื่องด้วยตัวเอง. พวกเขาคิดว่ามีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจทุกเรื่องด้วยตัวเองและไม่ชอบให้ใครมาตัดสินใจแทนเขา. แต่บางคนกลัวที่จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ. บางคนหาคำแนะนำจากหนังสือหรือจากผู้ให้คำปรึกษาและแม้แต่ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือในการตัดสินใจ.

2 พวกเราหลายคนรู้ว่าแม้เราไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจในบางเรื่อง แต่ก็มีหลายเรื่องในชีวิตที่เราตัดสินใจเองได้. (กลา. 6:5) อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมหรืออย่างที่เป็นประโยชน์ได้ทุกเรื่อง.

3. มีคำแนะนำอะไรที่ช่วยเราตัดสินใจ แต่ทำไมจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะรู้ว่าควรตัดสินใจอย่างไร?

3 ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เรามีความสุขที่พระองค์ได้ประทานคำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสำคัญในชีวิตเรา. เรารู้ว่าถ้าเราทำตามคำแนะนำของพระองค์ เราจะตัดสินใจอย่างที่ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยและทำให้ตัวเราเองได้รับประโยชน์. แต่เราอาจพบปัญหาหรือต้องรับมือสถานการณ์บางอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง. ถ้าเป็นอย่างนั้นเราควรตัดสินใจอย่างไร? ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าเราต้องไม่ขโมย. (เอเฟ. 4:28) แต่บางคนบอกว่าการหยิบฉวยของของคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไปถ้าของนั้นไม่ใช่ของมีค่าหรือถ้าเขามีความจำเป็นจริงๆ. เราจะตัดสินใจอย่างไรเมื่อบางคนบอกว่าไม่มีอะไรที่ผิดหรือถูกอย่างแท้จริง? อะไรจะช่วยเราได้?

ตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม

4. บางครั้งเราได้รับคำแนะนำอะไรเมื่อต้องตัดสินใจ?

4 เมื่อเราบอกว่าเรากำลังจะตัดสินใจเรื่องสำคัญ เพื่อนคริสเตียนอาจแนะนำให้เราตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม. แน่นอน นั่นเป็นคำแนะนำที่ดี. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่าอย่ารีบตัดสินใจโดยบอกว่า  “ทุกคนที่เร่งร้อนก็มาสู่ความขัดสนเท่านั้น.” (สุภา. 21:5, ฉบับ 1971) แต่การตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมหมายความว่าอย่างไร? นั่นหมายความเพียงแค่ว่าเราควรใคร่ครวญในเรื่องนั้นอย่างรอบคอบ มีเหตุผล และพยายามเข้าใจข้อเท็จจริงทุกอย่างก่อนจะตัดสินใจเท่านั้นไหม? ทั้งหมดที่กล่าวไปล้วนสำคัญ แต่การตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมต้องทำมากกว่านั้น.—โรม 12:3; 1 เป. 4:7

5. ทำไมเราจึงไม่สามารถตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมได้อย่างแท้จริง?

5 ไม่มีใครในพวกเราที่เกิดมาสมบูรณ์พร้อมในด้านความคิดจิตใจ. เพราะเราทุกคนเป็นคนบาปและไม่สมบูรณ์ เราจึงมีปัญหาสุขภาพและไม่สามารถตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมได้อย่างแท้จริง. (เพลง. 51:5; โรม 3:23) นอกจากนั้น ก่อนที่จะมีโอกาสเรียนรู้เรื่องพระยะโฮวาและมาตรฐานของพระองค์ ซาตานได้ทำให้จิตใจของพวกเราหลายคน “มืดไป.” (2 โค. 4:4; ทิทุส 3:3) ดังนั้น แม้ว่าเราอาจใคร่ครวญเป็นเวลานานก่อนจะตัดสินใจตามที่เราเห็นว่าดีและมีเหตุผล เราก็อาจยังตัดสินใจผิดพลาดอยู่.—สุภา. 14:12

6. อะไรจะช่วยเราให้ตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมได้?

6 แม้ว่าเราห่างไกลจากความสมบูรณ์ทั้งทางกายและทางใจ แต่พระยะโฮวาพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน. (บัญ. 32:4) พระองค์ประทานสิ่งที่จำเป็นเพื่อช่วยเราเปลี่ยนวิธีที่เราคิดและเรียนรู้ที่จะเป็นคนสุขุม. (อ่าน 2 ติโมเธียว 1:7 ) ในฐานะคริสเตียน เราต้องการคิด หาเหตุผล และทำอย่างถูกต้อง. เราต้องฝึกควบคุมความคิดและความรู้สึกของเรา และเลียนแบบวิธีที่พระยะโฮวาทรงคิด รู้สึก และทำ.

7, 8. มีประสบการณ์อะไรที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องได้แม้แต่เมื่อถูกกดดันหรือมีปัญหา?

7 ขอให้พิจารณาตัวอย่างนี้. เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศอื่นบางกลุ่มที่จะส่งลูกที่เพิ่งเกิดกลับไปอยู่กับญาติๆ เพื่อพ่อแม่ของเด็กนั้นจะทำงานหาเงินในต่างประเทศต่อไปได้. * หญิงสาวคนหนึ่งที่ไปทำงานต่างประเทศคลอดลูกชายที่น่ารัก. ในช่วงนั้น เธอได้เริ่มศึกษาพระคัมภีร์และก้าวหน้าเป็นอย่างดี. เพื่อนและญาติเริ่มกดดันเธอกับสามีให้ส่งลูกน้อยกลับไปอยู่กับตาและยาย. แต่ภรรยาได้เรียนรู้จากการศึกษาว่าพระยะโฮวาประทานหน้าที่รับผิดชอบแก่เธอและสามีที่จะเลี้ยงดูลูก. (เพลง. 127:3; เอเฟ. 6:4) เธอควรทำตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ดูเหมือนว่าเป็นแนวทางที่มีเหตุผลในสายตาของหลายคนไหม? หรือว่าเธอควรทำตามสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิล แม้ว่านั่นจะทำให้เธอมีปัญหาทางการเงินรวมทั้งอาจถูกบางคนเย้ยหยัน? ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร?

8 ด้วยความรู้สึกว่าถูกกดดันและเครียด หญิงคนนี้อธิษฐานถึงพระยะโฮวา ระบายความรู้สึกของเธอและขอการชี้นำจากพระองค์. เมื่อเธอพูดเรื่องนี้กับผู้นำการศึกษาพระคัมภีร์และกับคนอื่นในประชาคม เธอก็เริ่มเข้าใจว่าพระยะโฮวาทรงคิดอย่างไรในเรื่องนี้. เธอยังรู้ด้วยว่าลูกชายเธออาจได้รับผลเสียหายด้านอารมณ์ถ้าเขาถูกแยกห่างจากพ่อแม่ในช่วงต้นของชีวิต. หลังจากใคร่ครวญอย่างรอบคอบเกี่ยวกับสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ในเรื่องนี้ เธอก็ตัดสินใจว่าจะไม่ส่งลูกกลับบ้าน. เมื่อสามีเธอเห็นว่าพี่น้องในประชาคมอยู่พร้อมเสมอที่จะช่วยพวกเขาและลูกของเขาก็มีความสุขและสุขภาพดี เขาจึงตอบรับการศึกษาพระคัมภีร์และเริ่มเข้าร่วมการประชุมกับภรรยา.

9, 10. เราต้องทำอะไรเพื่อจะตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมได้?

 9 นั่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมไม่ได้หมายถึงการที่เราเพียงแต่ทำอย่างที่เราคิดว่ามีเหตุผลหรืออย่างที่คนอื่นคิดว่าดีที่สุดหรือง่ายที่สุด. ความคิดจิตใจและหัวใจที่ไม่สมบูรณ์ของเราอาจเปรียบได้กับนาฬิกาที่เดินเร็วไปหรือช้าไป. ถ้าเราเชื่อนาฬิกานั้นแม้ว่ามันบอกเวลาไม่ตรงก็อาจเกิดปัญหาใหญ่กับเราได้. (ยิระ. 17:9) เพื่อจะไม่มีปัญหาอย่างนั้น เราต้องให้มาตรฐานของพระเจ้าชี้นำความคิดและความรู้สึกของเราเสมอ.อ่าน ยะซายา 55:8, 9

10 คัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราว่า “เจ้าจงวางใจพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจและอย่าพึ่งความเข้าใจของเจ้าเอง จงคำนึงถึงพระองค์เสมอไม่ว่าเจ้าจะทำอะไรก็ตามแล้วพระองค์จะทรงชี้นำเจ้าให้ดำเนินชีวิตอย่างประสบความสำเร็จ.” (สุภา. 3:5, 6, ล.ม.) ขอให้สังเกตวลี “อย่าพึ่งความเข้าใจของเจ้าเอง.” วลีที่ตามมาคือ “จงคำนึงถึง” พระยะโฮวา. พระองค์ทรงตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมอย่างแท้จริงเสมอ. ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราต้องตัดสินใจ เราจำเป็นต้องค้นดูในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะรู้ว่าพระยะโฮวาทรงคิดอย่างไรในเรื่องนั้นเพื่อเราจะตัดสินใจอย่างที่สอดคล้องกับความคิดของพระองค์. ถ้าเราต้องการจะตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม เราต้องเลียนแบบวิธีคิดของพระยะโฮวา.

ฝึกใช้วิจารณญาณของคุณ

11. คนเราต้องทำอะไรเพื่อจะตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมได้?

11 การเรียนรู้ที่จะตัดสินใจได้อย่างฉลาดสุขุมและทำตามที่เราได้ตัดสินใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย. เป็นเช่นนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่งรับบัพติสมาหรือเพิ่งก้าวหน้าในความจริง. แต่ว่าพวกเขาสามารถก้าวหน้าอย่างแท้จริงได้. คัมภีร์ไบเบิลเรียกพวกเขาว่า “ทารก” เพราะพวกเขาเป็นเหมือนเด็กเล็กที่กำลังหัดเดิน. เด็กน้อยเรียนรู้ที่จะเดินได้ด้วยการก้าวสั้นและทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ. คนที่เรียนรู้ที่จะตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมก็ต้องทำคล้ายกัน. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่คือคนที่ “ได้ฝึกใช้วิจารณญาณเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” คำ “ฝึกใช้” ในที่นี้แสดงว่าเราจำเป็นต้อง พยายามอย่างต่อเนื่อง. ดังนั้น คนใหม่จึงต้องพยายามเรียนรู้ที่จะตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมอยู่เสมอ.อ่าน ฮีบรู 5:13, 14

12. เราจะฝึกตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมได้อย่างไร?

12 ดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ละวันเราต้องตัดสินใจหลายเรื่อง ทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก. นักวิชาการที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนตัดสินใจกล่าวว่าการตัดสินใจของเราเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากการใคร่ครวญอย่างรอบคอบ แต่จากนิสัยหรือความเคยชินของเรา. ตัวอย่างเช่น ทุกเช้าคุณต้องตัดสินใจว่าจะสวมเสื้อผ้าชุดไหน. นี่อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก และคุณไม่จำเป็นต้องคิดมากนัก. แต่เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องคิดว่าชุดที่คุณสวมใส่นั้นเหมาะสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหรือไม่. (2 โค. 6:3, 4) เมื่อคุณเลือกซื้อเสื้อผ้า คุณอาจคิดถึงแบบของเสื้อผ้านั้นว่าเป็นที่นิยมหรือไม่. แต่คุณคิดด้วยไหมว่าเสื้อผ้านั้นสุภาพหรือไม่และคุณมีเงินพอจะซื้อไหม? การเลือกอย่างถูกต้องในเรื่องเล็กจะช่วยเราฝึกใช้วิจารณญาณของเรา ซึ่งจะช่วยเราให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในเรื่องที่สำคัญกว่านั้นมาก.—ลูกา 16:10; 1 โค. 10:31

ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง

13. อะไรจะช่วยเราให้ทำตามที่เราได้ตัดสินใจ?

13 แม้แต่เมื่อเราตัดสินใจถูกต้องแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะทำตามที่เราได้ตัดสินใจ. ตัวอย่างเช่น บางคนอยากเลิกสูบบุหรี่ แต่เลิกไม่ได้เพราะไม่มีความตั้งใจแน่วแน่มากพอ. เราจำเป็นต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำตามที่เราได้ตัดสินใจ. อะไรจะช่วยเราให้มีความตั้งใจแน่วแน่มากขึ้นที่จะทำตามที่เราได้ตัดสินใจ? เราจำเป็นต้องหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือ.อ่าน ฟิลิปปอย 2:13

14. เปาโลได้รับกำลังจากที่ไหนเพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้อง?

14 เปาโลรู้จากประสบการณ์ของท่านเองว่าการทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นเรื่องยาก. ท่านเคยคร่ำครวญว่า “ข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะทำการดี แต่ไม่มีความสามารถจะทำ.” ท่านรู้ว่าท่านต้องการทำสิ่งที่ควรทำ แต่บางครั้งท่านทำไม่ได้. ท่านสารภาพว่า “ในหัวใจข้าพเจ้า ข้าพเจ้าปีติยินดีจริงในพระบัญญัติของพระเจ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นอีกกฎหนึ่งในอวัยวะของข้าพเจ้าซึ่งต่อสู้อยู่กับกฎในใจข้าพเจ้าและทำให้ข้าพเจ้าตกอยู่ใต้บังคับกฎแห่งบาปซึ่งอยู่ในอวัยวะของข้าพเจ้า.” แต่ท่านมีเหตุผลที่จะหวัง. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา!” (โรม 7:18, 22-25) ท่านเขียนในอีกแห่งหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีกำลังสำหรับทุกสิ่งโดยพระองค์ผู้ทรงประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า.”—ฟิลิป. 4:13

15. ทำไมเราต้องตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง?

15 เหตุผลที่เราต้องตัดสินใจอย่างถูกต้องแล้วก็ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำตามการตัดสินใจนั้นก็เพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า. จำไว้ว่าเอลียาห์บอกผู้นมัสการบาอัลและชาวอิสราเอลที่ออกหาก ณ ภูเขาคาร์เมลว่า “ท่านทั้งหลายจะลังเลใจอยู่ระหว่างสองฝ่ายนี้นานเท่าไร? ถ้า [พระยะโฮวา] ทรงเป็นพระเจ้า จงติดตามพระองค์ แต่ถ้าพระบาอัลเป็น ก็จงตามท่านไปเถิด.” (1 กษัต. 18:21, ฉบับมาตรฐาน) ชาวอิสราเอลรู้ว่าพวกเขาควรนมัสการพระยะโฮวาเพียงผู้เดียว. แต่พวกเขา “ลังเลใจอยู่ระหว่างสองฝ่าย” เพราะพวกเขาพยายามนมัสการทั้งพระยะโฮวาและบาอัล. ยะโฮซูอะต่างจากคนเหล่านี้มาก. หลายปีก่อนหน้านั้น ท่านบอกชาวอิสราเอลว่า “ถ้าไม่พอใจปฏิบัติพระยะโฮวา, ในวันนี้ก็ให้เลือกหาว่าจะปฏิบัติผู้ใด . . . แต่ฝ่ายเราทั้งครอบครัวจะปฏิบัติพระยะโฮวา.” (ยโฮ. 24:15) ท่านกับ คนที่อยู่ฝ่ายท่านได้รับพระพรอะไร? พวกเขาได้รับอนุญาตให้เข้าในแผ่นดินที่ทรงสัญญาอันเป็น “แผ่นดินซึ่งมีน้ำนม, และน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์.”—ยโฮ. 5:6

ตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมแล้วจะได้รับพระพร

16, 17. จงยกตัวอย่างที่แสดงถึงผลประโยชน์ของการตัดสินใจอย่างสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า.

16 พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งเพิ่งรับบัพติสมามีลูกเล็กสามคน. งานอาชีพที่เขาทำมีรายได้ไม่ค่อยดีนัก แต่เขาเลือกงานนี้เพราะทำให้เขามีวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อจะเข้าร่วมการประชุมและประกาศกับครอบครัวได้. วันหนึ่งมีเพื่อนร่วมงานเสนองานอีกบริษัทหนึ่งให้เขาซึ่งให้ค่าจ้างสูงกว่าและมีสวัสดิการอื่นอีกด้วย. พี่น้องของเราคนนี้ใคร่ครวญและอธิษฐานในเรื่องนี้. เขารู้ว่าถ้าเขาย้ายไปทำงานในที่ใหม่เขาจะไม่ได้หยุดงานในวันสุดสัปดาห์อีกต่อไป อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง. ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร?

17 หลังจากใคร่ครวญว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้จะส่งผลอย่างไรต่อสายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวา เขาก็บอกปฏิเสธงานนั้นไป. คุณคิดว่าในภายหลังเขาจะนึกเสียใจที่ตัดสินใจอย่างนั้นไหม? เขาไม่เสียใจเลย. แทนที่จะคิดถึงแค่เรื่องรายได้ที่มากขึ้น เขาคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่เขากับครอบครัวจะสามารถมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา. พี่น้องชายคนนี้กับภรรยามีความสุขมากเมื่อลูกสาววัยสิบขวบบอกว่าเธอรักพ่อแม่ รักพี่น้อง และรักพระยะโฮวามาก. เธอบอกว่าเธออยากอุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมา. เธอได้รับประโยชน์มากจริงจากตัวอย่างที่ดีของพ่อที่ให้การนมัสการพระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกในชีวิต!

18. ทำไมจึงสำคัญที่เราจะตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุมทุกวัน?

18 เช่นเดียวกับที่โมเซนำชาวอิสราเอลผ่านถิ่นทุรกันดาร ในปัจจุบันพระเยซูคริสต์ทรงนำประชาชนของพระเจ้าผ่านระบบของซาตานมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว. ในไม่ช้าระบบนี้จะถูกทำลาย. และเช่นเดียวกับที่ยะโฮซูอะนำชาวอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา พระเยซูจะนำเหล่าสาวกเข้าสู่โลกใหม่ ซึ่งจะเป็นที่ที่มีความชอบธรรมอยู่. (2 เป. 3:13) เนื่องจากวันนั้นใกล้จะถึงแล้ว จึงไม่ฉลาดที่เราจะหันกลับไปหาวิธีคิด นิสัย ค่านิยม และเป้าหมายที่เราเคยมี. บัดนี้เป็นเวลาที่เราต้องเข้าใจอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราดำเนินชีวิตอย่างไร. (โรม 12:2; 2 โค. 13:5) ขอให้เราตัดสินใจและเลือกอย่างฉลาดสุขุม และดำเนินชีวิตแบบที่พระยะโฮวาจะทรงอวยพรตลอดไป.อ่าน ฮีบรู 10:38, 39

^ วรรค 7 อีกเหตุผลหนึ่งที่บางคนส่งลูกกลับไปอยู่บ้านนั้นก็เพื่อปู่ยาตายายจะอวดหลานกับเพื่อนและญาติได้.