ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่างให้เป็นประโยชน์

จงใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่างให้เป็นประโยชน์

คุณเห็นด้วยไหมว่าพระเยซูทรงเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก? คุณอาจพยายามเลียนแบบวิธีที่พระองค์สอน เช่น การใช้คำถามและการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ. แต่คุณเคยสังเกตไหมว่าพระองค์มักใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่างในการสอนของพระองค์?

หลายคนใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่างในการพูดคุยกัน. คุณก็อาจทำอย่างนั้นอยู่บ่อยโดยไม่ได้ตั้งใจ. คุณอาจพูดว่า “เขาบอกว่าผลไม้สุกหมดแล้ว แต่ลูกนี้ยังแข็งอยู่เลย.” หรือ “ตอนยังเด็กเธอเป็นคนเก็บตัว แต่ตอนนี้เธอชอบพบปะผู้คน.”

ในกรณีแบบนี้ คุณเสนอข้อเท็จจริงหรือแนวคิดอย่างหนึ่งก่อน แล้วค่อยบอกข้อเท็จจริงหรือแนวคิดอีกอย่างหนึ่งโดยใช้คำเชื่อม เช่น แต่, อย่างไรก็ตาม, แทนที่จะเป็นอย่างนั้น, หรือตรงกันข้าม. หรือคุณอาจแสดงข้อแตกต่างโดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือเสริมแนวคิดนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น. เมื่อคุณพูดอย่างนั้น คำพูดของคุณก็จะฟังดูเป็นธรรมชาติและช่วยผู้อื่นให้เข้าใจสิ่งที่คุณต้องการเน้น.

แม้แต่ในบางภาษาหรือวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยมีการใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่าง เราก็น่าจะตระหนักว่าเป็นประโยชน์ที่จะใช้วิธีการพูดแบบนี้. ทำไม? เพราะเราพบการเปรียบเทียบข้อแตกต่างมากมายในพระคำซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า. พระเยซูทรงใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่างบ่อยๆ. ตัวอย่างเช่น “ผู้คนจุดตะเกียงและตั้งไว้บนเชิงตะเกียง ไม่ใช่เอาถังครอบไว้.” “เรามาเพื่อทำให้ [กฎหมาย] สำเร็จ ไม่ใช่เพื่อทำลาย.” “เจ้าทั้งหลายเคยได้ยินคำที่มีกล่าวไว้ว่า ‘อย่าเล่นชู้.’ แต่เราบอกเจ้าทั้งหลายว่าทุกคนที่มองผู้หญิงอย่างไม่วางตา . . . ” “เจ้าทั้งหลายเคยได้ยินคำที่มีกล่าวไว้ว่า ‘ตาต่อตาและฟันต่อฟัน.’ แต่เราบอกเจ้าว่า อย่าตอบโต้คนชั่วด้วยการชั่ว แต่ผู้ใดตบแก้มขวาของเจ้า จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย.”—มัด. 5:15, 17, 27, 28, 38, 39

มีการเปรียบเทียบข้อแตกต่างคล้ายกันในหนังสือเล่มอื่นของคัมภีร์ไบเบิล. การเปรียบเทียบเหล่านั้นช่วยคุณให้เข้าใจจุดสำคัญหรือเน้นให้คุณเห็นแนวทางที่ดีกว่าในการทำบางสิ่งบางอย่าง. ถ้าคุณเป็นพ่อหรือแม่ ขอให้ใคร่ครวญการเปรียบเทียบข้อแตกต่างนี้: “ส่วนท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรให้ขุ่นเคือง แต่จงเลี้ยงดูเขาด้วยการตีสอนจากพระยะโฮวาและปลูกฝังแนวคิดของพระองค์ให้เขา.” (เอเฟ. 6:4) ถ้าอัครสาวกเปาโลจะเขียนเพียงแค่ว่าพ่อ (หรือแม่) ควรเลี้ยงดูลูกด้วยการตีสอนจากพระเจ้า นั่นก็เป็นคำแนะนำที่สุขุมและถูกต้องอยู่แล้ว. ถึงกระนั้น แนวคิดดังกล่าวยิ่งเข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีกเมื่อท่านใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่างที่ว่า ‘อย่ายั่วบุตรให้ขุ่นเคือง แต่จงเลี้ยงดูเขาด้วยการปลูกฝังแนวคิดของพระยะโฮวาให้เขา.’

ต่อมา ในบทเดียวกันนั้น เปาโลเขียนว่า “เราไม่ได้ต่อสู้กับมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ แต่ต่อสู้กับ . . . พวกกายวิญญาณชั่วในสวรรค์สถาน.” (เอเฟ. 6:12) การเปรียบเทียบข้อแตกต่างนี้คงช่วยคุณให้เข้าใจว่าคู่ต่อสู้ที่คุณเผชิญอยู่นั้นร้ายกาจจริงๆ. ผู้ที่คุณกำลังต่อสู้ด้วยไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา แต่เป็นพวกกายวิญญาณชั่ว.

 จงรับประโยชน์จากการเปรียบเทียบข้อแตกต่าง

ในหนังสือเล่มเดียวกัน คือเอเฟโซส์ คุณจะพบข้อความอื่นอีกมากมายที่เปาโลใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่าง. การคิดถึงข้อเหล่านี้อาจช่วยเราให้เข้าใจจุดสำคัญที่เปาโลต้องการเน้นและน่าจะช่วยให้เราเข้าใจชัดยิ่งขึ้นว่าเราควรทำอะไร.

คุณอาจพบว่าเป็นเรื่องน่าเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาแผนภูมิกลางบทความนี้ที่เปรียบเทียบให้เห็นแนวคิดบางอย่างที่แตกต่างกันซึ่งพบในเอเฟโซส์บท 4 และ 5. เมื่อคุณอ่านแนวคิดที่แตกต่างกันแต่ละอย่าง ขอให้นึกถึงชีวิตของคุณเอง. ถามตัวเองว่า ‘ฉันมีทัศนะอย่างไรจริงๆ? ฉันมีปฏิกิริยาอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้หรือในสถานการณ์คล้ายกัน? คนอื่นคิดว่าฉันเป็นแบบไหน?’ ถ้าคุณเห็นว่าการเปรียบเทียบข้อแตกต่างนั้นทำให้คุณเห็นชัดว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง อย่ารีรอที่จะทำอย่างนั้น. จงใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่างนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง.

นอกจากนั้น คุณอาจใช้แผนภูมิกลางบทความนี้ในการนมัสการประจำครอบครัวได้ด้วย. ก่อนอื่น ให้ทุกคนในครอบครัวอ่านข้อความทั้งหมด. หลังจากนั้น ให้คนหนึ่งพูดถึงส่วนแรกของข้อความ แล้วให้คนอื่นในครอบครัวบอกจุดสำคัญในส่วนที่สอง. เมื่อทำอย่างนั้นแล้วก็อาจทำให้มีการพิจารณากันต่อไปว่าจะนำส่วนที่สองไปใช้อย่างไร. การพิจารณาข้อแตกต่างที่นำมาเปรียบเทียบกันเช่นนั้นอาจช่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ประพฤติอย่างที่คริสเตียนควรประพฤติทั้งในครอบครัวและในที่อื่นๆ.

คุณจำส่วนที่สองที่มีการเปรียบเทียบข้อแตกต่างได้ไหม?

เมื่อคุณเห็นประโยชน์ของการเปรียบเทียบข้อแตกต่างมากขึ้น คุณอาจเห็นการเปรียบเทียบเหล่านี้ในคัมภีร์ไบเบิลได้ง่ายขึ้น และคุณก็อาจพบว่าเป็นประโยชน์มากในงานรับใช้ของคริสเตียน. ตัวอย่างเช่น คุณอาจพูดกับเจ้าของบ้านว่า “หลายคนบอกว่ามนุษย์ทุกคนมีจิตวิญญาณที่เป็นอมตะ แต่ขอให้สังเกตว่าพระคัมภีร์บอกไว้อย่างไรในที่นี้.” หรือในการสอนนักศึกษาพระคัมภีร์ คุณอาจถามว่า “หลายคนเชื่อว่าพระเจ้าและพระเยซูเป็นองค์เดียวกัน แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้อย่างไรในเรื่องนี้? คุณคิดอย่างไร?”

พระคัมภีร์มีการเปรียบเทียบข้อแตกต่างหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อเรา ซึ่งช่วยเราให้ดำเนินในทางของพระเจ้า. และเราสามารถใช้การเปรียบเทียบข้อแตกต่างเพื่อช่วยคนอื่นให้รู้จักความจริงในคัมภีร์ไบเบิลได้.