ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ผู้บำรุงเลี้ยงทั้งหลาย จงเลียนแบบผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่

ผู้บำรุงเลี้ยงทั้งหลาย จงเลียนแบบผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่

“พระคริสต์ . . . ทรงทนทุกข์เพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้พวกท่านดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.”—1 เป. 2:21

1, 2. (ก) แกะที่ได้รับการดูแลอย่างดีจะเป็นอย่างไร? (ข) ทำไมผู้คนมากมายในสมัยพระเยซูเป็นเหมือนแกะไม่มีผู้เลี้ยง?

แกะจะเติบโตได้ดีก็ต่อเมื่อมีผู้เลี้ยงแกะที่รักและห่วงใย. หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงแกะกล่าวว่าถ้าผู้เลี้ยงแกะเพียงแต่ปล่อยให้แกะกินหญ้าในทุ่ง แต่ไม่ดูแลความจำเป็นด้านอื่นของแกะ แกะก็จะอ่อนแอและป่วยภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี. แต่เมื่อผู้เลี้ยงดูแลแกะแต่ละตัวอย่างดี แกะทั้งฝูงก็จะแข็งแรงและมีสุขภาพดี.

2 เป็นอย่างนั้นด้วยกับประชาคมคริสเตียน. การดูแลเอาใจใส่ที่คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงให้แก่แกะแต่ละตัวจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาคม. คุณอาจจำได้ว่าพระเยซูรู้สึกสงสารฝูงชนเพราะ “พวกเขาถูกขูดรีดและถูกทิ้งขว้างเหมือนแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัด. 9:36) ทำไมประชาชนในสมัยพระเยซูจึงเป็นเหมือนแกะไม่มีผู้เลี้ยง? เพราะคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสอนพระบัญญัติของพระเจ้าแก่ประชาชนนั้นไร้ความปรานี เรียกร้องมากเกินไป และไม่ทำอย่างที่พวกเขาสอน. แทนที่จะรักและดูแลประชาชน พวกหัวหน้าศาสนาเหล่านี้ทำให้การรับใช้พระเจ้ากลายเป็นเรื่องยากมาก. ผู้คนรู้สึกราวกับกำลังแบก “ของหนัก” ไว้บนบ่า.—มัด. 23:4

3. ผู้ปกครองควรจำอะไรไว้ขณะที่พวกเขาดูแลแกะ?

3 ในทุกวันนี้ ผู้ปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญมาก. แกะที่พวกเขาดูแลเป็นของพระยะโฮวาและพระเยซู. แกะเหล่านี้มีค่าอย่างยิ่งสำหรับพระเยซู “ผู้เลี้ยงที่ดี” ซึ่งถึงกับสละชีวิตเพื่อแกะ. พระองค์ “ซื้อ” พวกเขาด้วย “โลหิตอันมีค่ามาก” ของพระองค์เอง. (โย. 10:11; 1 โค. 6:20; 1 เป. 1:18, 19) ผู้ปกครองควรจำไว้เสมอว่าผู้ดูแลของพวกเขาคือพระเยซูคริสต์ “ผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะองค์ยิ่งใหญ่.” พวกเขาจึงต้องรับผิดชอบต่อพระองค์ในเรื่องวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อฝูงแกะ.—ฮีบรู 13:20

4. บทความนี้จะตอบคำถามอะไร?

 4 คริสเตียนผู้ปกครองควรปฏิบัติต่อแกะอย่างไร? ทุกคนในประชาคมได้รับการกระตุ้นเตือนให้ “เชื่อฟังผู้ที่นำหน้า” ท่ามกลางพวกเขา. แต่พระยะโฮวายังสั่งผู้ปกครองด้วยว่าอย่าทำตัว “เป็นนายเหนือคนเหล่านั้นที่เป็นทรัพย์สมบัติของพระเจ้า.” (ฮีบรู 13:17; อ่าน 1 เปโตร 5:2, 3 ) ผู้ปกครองจะ “นำหน้า” ต่อไปโดยที่ไม่ทำตัว “เป็นนายเหนือ” ฝูงแกะได้อย่างไร? กล่าวอีกอย่างก็คือ ผู้ปกครองจะดูแลความจำเป็นต่างของฝูงแกะโดยไม่ทำเกินขอบเขตอำนาจที่พระเจ้ามอบให้ได้อย่างไร?

“กอดไว้ในพระทรวง”

5. เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับพระยะโฮวาจากยะซายา 40:11?

5 ผู้พยากรณ์ยะซายาห์กล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “พระองค์จะทรงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์ดุจผู้เลี้ยงแกะ, พระองค์จะทรงอุ้มลูกแกะไว้ในพระพาหุ, และจะกอดไว้ในพระทรวง, และตัวแม่ลูกอ่อนพระองค์จะทรงค่อยต้อนไปด้วยพระทัยเอ็นดู.” (ยซา. 40:11) ข้อคัมภีร์นี้พรรณนาวิธีที่พระยะโฮวาดูแลคนที่อ่อนแอหรือจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง. พระองค์รู้ว่าแต่ละคนในประชาคมมีความจำเป็นอะไรและยินดีช่วยพวกเขา เช่นเดียวกับที่ผู้เลี้ยงแกะรู้ว่าแกะแต่ละตัวในฝูงมีความจำเป็นอะไรโดยเฉพาะ. นอกจากนั้น เช่นเดียวกับที่ผู้เลี้ยงแกะอุ้มแกะที่เพิ่งเกิดใหม่ไว้ในช่องที่อกเสื้อของเขา พระยะโฮวาจะปลอบโยนและดูแลเราเป็นพิเศษเมื่อเราถูกทดสอบอย่างหนักหรือเมื่ออยู่ในช่วงที่ยุ่งยากลำบาก. พระองค์เป็น “พระบิดาแห่งความเมตตากรุณา.”—2 โค. 1:3, 4

6. ผู้ปกครองจะเลียนแบบตัวอย่างที่ดีของพระยะโฮวาได้อย่างไร?

6 นั่นเป็นบทเรียนที่ดีเยี่ยมจริงที่ผู้บำรุงเลี้ยงในประชาคมจะเรียนได้จากพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์! เช่นเดียวกับพระยะโฮวา เขาต้องเอาใจใส่ความจำเป็นของแกะ. ผู้ปกครองต้องรู้ก่อนว่าพี่น้องกำลังมีปัญหาอะไร เขาจึงจะสามารถหนุนใจและช่วยเหลือตามที่พี่น้องจำเป็นต้องได้รับ. (สุภา. 27:23) นี่หมายความว่าผู้ปกครองต้องพูดคุยกับพี่น้องและฟังพวกเขา. แม้ว่าเขาระวังที่จะไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของพี่น้อง แต่เขาสนใจสิ่งที่เขาเห็นและได้ยินในประชาคมและพยายามช่วย “คนที่อ่อนแอ” ด้วยความรัก.—กิจ. 20:35; 1 เทส. 4:11

7. (ก) แกะของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างไรในสมัยยะเอศเคลและยิระมะยาห์? (ข) ผู้ปกครองจะเรียนอะไรได้จากการที่พระยะโฮวาปฏิเสธเหล่าผู้เลี้ยงแกะที่ไม่ซื่อสัตย์?

7 ขอให้พิจารณาทัศนคติของผู้เลี้ยงแกะหรือเหล่าผู้ปกครองประชาชนของพระเจ้าในสมัยยะเอศเคลและยิระมะยาห์. พระยะโฮวาปฏิเสธผู้เลี้ยงแกะเหล่านี้ที่ควรดูแลแกะของพระองค์แต่ไม่ได้ทำ. พระยะโฮวากล่าวว่า “ฝูงแกะของเราได้เป็นอาหารแก่สัตว์ทั้งหลายในนาด้วยไม่มีคนเลี้ยง; และผู้เลี้ยงของเรานั้นเขามิได้แสวงหาฝูงแกะของเรา; และผู้เลี้ยงแกะทั้งหลายนั้นได้เลี้ยงแต่ตัวและมิได้เลี้ยงฝูงแกะนั้น.” ประชาชนได้รับความเสียหายเพราะผู้นำของพวกเขาโลภและเห็นแก่ตัว. (ยเอศ. 34:7-10; ยิระ. 23:1) พระเจ้าปฏิเสธเหล่าหัวหน้าศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรด้วยเหตุผลเดียวกันนี้. ผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียนจะเรียนอะไรได้จากการที่พระยะโฮวาปฏิเสธผู้เลี้ยงแกะที่ไม่ซื่อสัตย์เหล่านั้น? พวกเขาต้องดูแลเอาใจใส่ฝูงแกะของพระยะโฮวาให้ดีด้วยความรัก.

“เราวางแบบอย่างไว้ให้พวกเจ้า”

8. ผู้ปกครองจะเลียนแบบตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของพระเยซูได้อย่างไรเมื่อให้คำแนะนำแก่พี่น้อง?

8 เนื่องจากเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ บางคนในประชาคมอาจไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าพระยะโฮวาคาดหมายให้พวกเขาทำอะไร. พวกเขาอาจตัดสินใจอย่างที่ไม่ได้อาศัยหลักการในคัมภีร์ไบเบิล หรือแนวทางที่พวกเขาประพฤติอาจบ่งบอกว่าพวกเขาเป็น คริสเตียนที่ยังไม่มีความเป็นผู้ใหญ่มากพอ. ผู้ปกครองควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? พวกเขาควรเลียนแบบพระเยซูที่อดทนต่อเหล่าสาวกของพระองค์. เหล่าสาวกเถียงกันมากในเรื่องที่ว่าใครจะเป็นใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักร แต่พระเยซูไม่เคยโกรธพวกเขา. พระองค์สอนพวกเขาต่อไปและให้คำแนะนำด้วยความรักเกี่ยวกับการแสดงความถ่อมใจ. (ลูกา 9:46-48; 22:24-27) พระองค์ถึงกับล้างเท้าให้เหล่าสาวกเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าการเป็นคนถ่อมใจหมายถึงอะไร. ในทุกวันนี้ ผู้ปกครองก็ต้องแสดงความถ่อมใจด้วย.—อ่านโยฮัน 13:12-15; 1 เป. 2:21

9. พระเยซูจำเป็นต้องแก้ไขทัศนะแบบไหนของเหล่าอัครสาวก?

9 อัครสาวกยาโกโบและโยฮันเคยมีความคิดผิดว่าผู้ปกครองคือผู้ที่มีอำนาจเหนือคนอื่น. ทั้งสองขอพระเยซูให้มอบตำแหน่งสำคัญในราชอาณาจักรแก่พวกเขา. แต่พระเยซูแก้ไขทัศนะของพวกเขาให้ถูกต้องโดยกล่าวว่า “พวกเจ้ารู้ว่าผู้มีอำนาจปกครองของชนต่างชาติทำตัวเป็นนายเหนือพวกเขาและพวกคนใหญ่คนโตก็ใช้อำนาจกดขี่. แต่พวกเจ้าไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ใดต้องการเป็นใหญ่ในหมู่พวกเจ้าต้องเป็นผู้รับใช้พวกเจ้า.” (มัด. 20:25, 26) เหล่าอัครสาวกจำเป็นต้องต้านทานความปรารถนาที่จะ “เป็นนายเหนือ” พี่น้อง หรือสั่งพี่น้องให้ทำตามความคิดของตนอยู่เสมอ.

10. พระเยซูต้องการให้ผู้ปกครองปฏิบัติต่อฝูงแกะอย่างไร? เปาโลวางตัวอย่างที่ดีไว้อย่างไร?

10 พระเยซูคาดหมายให้ผู้ปกครองปฏิบัติต่อฝูงแกะแบบเดียวกับที่พระองค์ปฏิบัติ. พวกเขาต้องเต็มใจรับใช้พี่น้อง ไม่ใช่ทำตัวเป็นนายเหนือพี่น้อง. เช่นเดียวกับพระเยซู อัครสาวกเปาโลรับใช้ผู้อื่นอย่างถ่อมใจ. ท่านบอกผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซส์ว่า “ท่านทั้งหลายรู้ดีว่าข้าพเจ้าประพฤติอย่างไรตลอดเวลาที่อยู่กับพวกท่านตั้งแต่วันแรกที่ข้าพเจ้าเข้ามาในแคว้นเอเชีย ข้าพเจ้าบากบั่นรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความถ่อมใจยิ่ง.” เปาโลต้องการให้ผู้ปกครองถ่อมใจและทำงานหนักเพื่อพี่น้อง. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้แสดงให้พวกท่านเห็นด้วยทุกสิ่งแล้วว่า พวกท่านต้องทำงานหนักเช่นนั้นแหละเพื่อช่วยคนที่อ่อนแอ.” (กิจ. 20:18, 19, 35) ท่านบอกพี่น้องในประชาคมโครินท์ว่าท่านไม่ใช่นายควบคุมความเชื่อของพวกเขา. แต่ท่านเป็นผู้รับใช้ที่ถ่อมใจของพระเจ้าเช่นเดียวกับพวกเขา และท่านต้องการช่วยพวกเขาให้รับใช้พระเจ้าด้วยความยินดี. (2 โค. 1:24) เปาโลวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องความถ่อมใจและการทำงานหนักที่ผู้ปกครองในทุกวันนี้ควรเลียนแบบ.

“ยึดมั่นกับพระคำอันสัตย์จริง”

11, 12. ผู้ปกครองอาจช่วยพี่น้องได้อย่างไรให้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง?

11 ผู้ปกครองต้อง “ยึดมั่นกับพระคำอันสัตย์จริงในวิธีการสอนของตน.” (ทิทุส 1:9) แต่เขาทำอย่างนั้น “ด้วยใจอ่อนโยน.” (กลา. 6:1) แทนที่จะพยายามบังคับพี่น้องให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้บำรุงเลี้ยงที่ดีพยายามช่วยพวกเขาให้ตัดสินใจด้วยตัวเองโดยอาศัยความรักที่พวกเขามีต่อพระยะโฮวาและต่อพระคำของพระองค์. ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองอาจช่วยพี่น้องคนหนึ่งให้ตัดสินใจเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งโดยพิจารณาหลักการบางข้อในคัมภีร์ไบเบิลหรือพิจารณาบทความหนึ่งในหนังสือของเรากับเขา. ผู้ปกครองอาจตั้งคำถามให้พี่น้องคนนั้นคิดว่าการเลือกทำในแนวทางต่างอาจส่งผลต่อสายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวาอย่างไรบ้าง. ผู้ปกครองสามารถเตือนให้เขานึกถึงความสำคัญของการอธิษฐานขอการชี้นำจากพระเจ้าก่อนจะตัดสินใจ. (สุภา. 3:5, 6) หลังจากพิจารณาอย่างนั้นแล้ว ผู้ปกครองจะปล่อยให้พี่น้องคนนั้นตัดสินใจด้วยตัวเขาเอง.—โรม 14:1-4

 12 อำนาจเพียงอย่างเดียวที่ผู้ปกครองมีมาจากพระคัมภีร์. ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาจะใช้พระคัมภีร์อย่างชำนาญและให้คำแนะนำที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักเสมอ. การทำอย่างนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองไม่ทำเกินขอบเขตอำนาจที่พระเจ้ามอบให้. ที่จริง เขาเป็นเพียงรองผู้บำรุงเลี้ยง และแต่ละคนในประชาคมต้องรับผิดชอบต่อพระยะโฮวาและพระเยซูสำหรับการตัดสินใจของตัวเอง.—กลา. 6:5, 7, 8

“เป็นแบบอย่างให้ฝูงแกะ”

ผู้ปกครองช่วยครอบครัวของเขาให้เตรียมสำหรับการประกาศ (ดูข้อ 13)

13, 14. ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างให้ฝูงแกะในทางใดบ้าง?

13 หลังจากที่เปโตรกระตุ้นเตือนผู้ปกครองไม่ให้ทำตัว “เป็นนายเหนือ” พี่น้อง ท่านสนับสนุนให้พวกเขา “เป็นแบบอย่างให้ฝูงแกะ.” (1 เป. 5:3) ผู้ปกครองจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ฝูงแกะได้อย่างไร? ขอให้คิดถึงคุณลักษณะสองอย่างที่พี่น้องชายต้องมีเพื่อจะรับใช้เป็นผู้ปกครองได้. คุณลักษณะอย่างแรกคือเขาต้อง “มีสติ.” นี่หมายความว่าเขาเข้าใจหลักการในคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดเจนและรู้วิธีใช้หลักการเหล่านั้นในชีวิตของเขา. เขาจะรักษาความเยือกเย็นไว้ได้แม้แต่เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากและจะคิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจทำอะไร. คุณลักษณะอย่างที่สองคือเขาต้อง “ปกครองครอบครัวของตนอย่างดี.” นี่หมายความว่าถ้าผู้ปกครองแต่งงานแล้ว เขาต้องเป็นสามีและเป็นพ่อที่ดี เพราะ “ถ้าชายคนใดไม่รู้จักปกครองครอบครัวตนเอง เขาจะดูแลประชาคมของพระเจ้าได้อย่างไร?” (1 ติโม. 3:1, 2, 4, 5) พี่น้องในประชาคมจะรู้สึกเชื่อมั่นในตัวผู้ปกครองเมื่อเห็นว่าผู้ปกครองมีคุณลักษณะสองอย่างนี้.

14 นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังวางตัวอย่างที่ดีด้วยการนำหน้าในงานประกาศเช่นเดียวกับที่พระเยซูทำ. การประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรเป็นส่วนสำคัญของชีวิตพระเยซูเมื่อพระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก และพระองค์สอนเหล่าสาวกให้รู้วิธีทำงานนี้. (มโก. 1:38; ลูกา 8:1) ในทุกวันนี้ ผู้ประกาศได้กำลังใจเมื่อประกาศด้วยกันกับผู้ปกครอง. พวกเขาสังเกตเห็นความกระตือรือร้นของผู้ปกครองที่มีต่องานสำคัญนี้และสามารถเรียนรู้จากวิธีที่ผู้ปกครองสอน. เมื่อผู้ปกครองทุ่มเทเวลาและกำลังของพวกเขาในการประกาศข่าวดีทั้งที่มีงานยุ่ง พี่น้องในประชาคมก็ได้รับการกระตุ้นให้แสดงความกระตือรือร้นอย่างเดียวกัน. นอกจากนั้น ผู้ปกครองยังวางตัวอย่างที่ดีแก่พี่น้องได้ด้วยการเตรียมสำหรับการประชุม การออกความเห็น และการทำงานอื่นเช่น การทำความสะอาดและบำรุงรักษาหอประชุมราชอาณาจักร.—เอเฟ. 5:15, 16; อ่านฮีบรู 13:7

ผู้ปกครองวางตัวอย่างที่ดีในงานประกาศ (ดูข้อ 14)

“ช่วยเหลือคนอ่อนแอ”

15. ทำไมผู้ปกครองจึงเยี่ยมบำรุงเลี้ยงพี่น้อง?

15 คนเลี้ยงแกะที่ดีจะรีบช่วยเหลือแกะที่บาดเจ็บหรือป่วยทันที. คล้ายกัน ผู้ปกครองต้องรีบช่วยคนที่กำลังเดือดร้อนหรือคนที่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำหรือการหนุนใจ. ผู้สูงอายุและคนป่วยอาจจำเป็น ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านร่างกาย แต่สิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับเป็นพิเศษคือการหนุนใจและการปลอบโยนจากพระคัมภีร์. (1 เทส. 5: 14) เยาวชนในประชาคมอาจกำลังต่อสู้กับ “ความปรารถนาซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยหนุ่มสาว.” (2 ติโม. 2:22) ผู้ปกครองช่วยทุกคนในประชาคมด้วยการเยี่ยมบำรุงเลี้ยง. ในการเยี่ยมอย่างนี้ พวกเขาพยายามเข้าใจปัญหาที่พี่น้องต้องรับมือและหนุนกำลังใจพวกเขาโดยใช้พระคัมภีร์. ถ้าผู้ปกครองรีบช่วยพี่น้องตามความจำเป็นของแต่ละคนก็อาจช่วยให้หลีกเลี่ยงปัญหาร้ายแรงหลายอย่างได้.

16. เมื่อบางคนในประชาคมมีปัญหาร้ายแรง ผู้ปกครองจะให้ความช่วยเหลืออะไรได้?

16 จะว่าอย่างไรถ้าพี่น้องในประชาคมมีปัญหาร้ายแรงซึ่งอาจทำลายสายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวา? ยาโกโบกล่าวว่า “มีพวกท่านคนใดเจ็บป่วยหรือ? ให้เขาเชิญพวกผู้เฒ่าผู้แก่ในประชาคมมาหาเขา แล้วขอให้คนเหล่านั้นอธิษฐานเพื่อเขาและชโลมน้ำมันให้เขาในพระนามพระยะโฮวา. การอธิษฐานด้วยความเชื่อจะทำให้คนป่วยหายดี และพระยะโฮวาจะทรงโปรดให้เขาฟื้นตัว. ถ้าเขาได้ทำบาป พระองค์จะทรงให้อภัยเขา.” (ยโก. 5:14, 15) แม้แต่เมื่อพี่น้องที่ “ป่วย” ไม่ได้ “เชิญพวกผู้เฒ่าผู้แก่” ให้ช่วยเขา ผู้ปกครองก็ควรรีบช่วยเหลือทันทีที่รู้ว่าพี่น้องกำลังอยู่ในสภาพเช่นนั้น. เมื่อผู้ปกครองอธิษฐานกับพี่น้องที่มีปัญหาและช่วยพวกเขาในยามลำบาก ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่ดีที่สนับสนุนพี่น้องให้รับใช้พระเจ้าด้วยความยินดี.—อ่านยะซายา 32:1, 2

17. เมื่อผู้ปกครองเลียนแบบ ‘ผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่’ ประชาคมได้รับประโยชน์อย่างไร?

17 คริสเตียนผู้ปกครองพยายามเลียนแบบพระเยซูคริสต์ ‘ผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่’ ในทุกสิ่งที่พวกเขาทำในองค์การของพระยะโฮวา. ชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้ช่วยฝูงแกะให้มั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้นและรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์. เรารู้สึกขอบคุณผู้บำรุงเลี้ยงเหล่านี้ที่เปี่ยมด้วยความรักและขอบคุณพระยะโฮวา ผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่ อย่างแท้จริง.