ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘นี่เป็นวันที่ระลึกสำหรับเจ้า’

‘นี่เป็นวันที่ระลึกสำหรับเจ้า’

“วันนี้จะเป็นวันที่ระลึกสำหรับเจ้า, ให้เจ้าทั้งหลายถือไว้เป็นเทศกาลเลี้ยงประจำปีแด่พระยะโฮวา.”—เอ็ก. 12:14

1, 2. การฉลองประจำปีอะไรที่คริสเตียนควรสนใจเป็นพิเศษ และทำไม?

เมื่อได้ยินคำว่า “วันครบรอบ” คุณคิดถึงอะไร? ถ้าคุณแต่งงานแล้ว คุณอาจคิดถึงวันครบรอบการแต่งงานของคุณ. คนอื่นอาจคิดถึงวันสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีการฉลองกัน เช่น วันที่ประเทศของเขาเป็นเอกราช. แต่คุณรู้ไหมว่าการฉลองประจำปีของชาติไหนที่ฉลองกันมานานกว่า 3,500 ปี?

2 การฉลองดังกล่าวคือการฉลองปัศคาประจำปี. ชาวอิสราเอลฉลองกันในโอกาสนี้เพื่อระลึกถึงการที่พวกเขาได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์. การฉลองปัศคาควรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณ. ทำไม? เพราะการฉลองนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคุณในบางแง่มุมที่สำคัญอย่างยิ่ง. คุณอาจคิดว่า ‘ปัศคาเป็นการฉลองของศาสนายิว แต่ฉันเป็นคริสเตียนและไม่ได้นับถือศาสนายิว. ทำไมฉันต้องสนใจการฉลองปัศคาด้วย?’ เราจะพบคำตอบได้จากถ้อยคำสำคัญที่ว่า “พระคริสต์ผู้ทรงเป็นแกะปัศคาของเรา นั้นถูกถวายเป็นเครื่องบูชาแล้ว.” (1 โค. 5:7) ข้อความนี้หมายความว่าอย่างไร? เพื่อจะตอบคำถามนี้ เราต้องรู้มากกว่านี้เกี่ยวกับการฉลองปัศคาของชาวยิวและต้องรู้ว่าการฉลองนี้เกี่ยวข้องกับคำสั่งที่ให้แก่คริสเตียนทุกคนอย่างไร.

ทำไมชาวอิสราเอลจึงฉลองปัศคา?

3, 4. เกิดอะไรขึ้นก่อนที่จะมีการฉลองปัศคาครั้งแรก?

3 หลายล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้ถือศาสนายิวรู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการฉลองปัศคาครั้งแรก. พวกเขาอาจได้อ่านเรื่องราวนี้จากหนังสือเอ็กโซโดในคัมภีร์ไบเบิล ได้ยินคนอื่นเล่าให้ฟัง หรือได้ชมภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้. คุณจำได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น?

4 เมื่อชาวอิสราเอลเป็นทาสในอียิปต์เป็นเวลานานหลายปี พระยะโฮวาส่งโมเซและอาโรนไปบอกฟาโรห์ให้ปล่อยประชาชนของพระองค์. แต่ฟาโรห์หยิ่งยโสและไม่ยอมปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระ. พระยะโฮวาจึงลงโทษอียิปต์ด้วยภัยพิบัติสิบประการ. เมื่อ ถึงภัยพิบัติประการที่สิบ บุตรหัวปีของชาวอียิปต์ถูกฆ่าทั้งหมด. หลังจากนั้น ฟาโรห์จึงยอมปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระ.—เอ็ก. 1:11; 3:9, 10; 5:1, 2; 11:1, 5

5. ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งให้ทำอะไรก่อนที่พวกเขาจะเป็นอิสระ? (ดูภาพข้างชื่อเรื่อง)

5 แต่ก่อนที่ชาวอิสราเอลจะเป็นอิสระ พวกเขาต้องทำตามคำสั่งบางอย่าง. ตอนนั้นเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1513 ก่อนสากลศักราช ในเดือนอาบิบซึ่งภายหลังเรียกว่าเดือนไนซาน. * พระเจ้าสั่งพวกเขาให้เริ่มเตรียมในวันที่ 10 เดือนไนซานเพื่อจะพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตอนดวงอาทิตย์ตกวันที่ 14 เดือนไนซาน. ทำไมจึงเป็นตอนดวงอาทิตย์ตก? เพราะชาวฮีบรูนับจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของวันตอนดวงอาทิตย์ตก. เมื่อถึงวันที่ 14 เดือนไนซาน แต่ละครอบครัวได้รับคำสั่งให้ฆ่าแกะตัวผู้ (หรือแพะ) และประพรมเลือดที่เสาและคานประตูบ้าน. (เอ็ก. 12:3-7, 22, 23) ครอบครัวต้องรับประทานแกะย่างกับขนมปังไม่ใส่เชื้อและผักที่มีรสขมด้วยกัน. ทูตสวรรค์ของพระเจ้าจะไปทั่วประเทศและฆ่าบุตรหัวปีของชาวอียิปต์ แต่บุตรหัวปีของชาวอิสราเอลที่เชื่อฟังจะไม่ถูกฆ่า. หลังจากนั้น ประชาชนของพระเจ้าจะหลุดพ้นจากการเป็นทาส.—เอ็ก. 12:8-13, 29-32

6. ทำไมชาวอิสราเอลจึงฉลองปัศคาทุกปี?

6 ชาวอิสราเอลต้องจดจำวันที่พระเจ้าช่วยปลดปล่อยพวกเขาจากอียิปต์. พระเจ้าบอกพวกเขาว่า “วันนี้จะเป็นวันที่ระลึกสำหรับเจ้า, ให้เจ้าทั้งหลายถือไว้เป็นเทศกาลเลี้ยงประจำปีแด่พระยะโฮวา ตลอดเชื้อวงศ์ของเจ้าเป็นนิตย์.” หลังจากฉลองปัศคาในวันที่ 14 เดือนไนซาน ชาวอิสราเอลจะฉลองเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้ออีกเจ็ดวัน. แม้ว่าวันที่ 14 เดือนไนซานเป็นวันปัศคาที่แท้จริง แต่อาจเรียกการฉลองทั้งแปดวันนี้ว่าเทศกาลปัศคาได้. (เอ็ก. 12:14-17; ลูกา 22:1; โย. 18:28; 19:14) ปัศคาเป็นเทศกาลอย่างหนึ่งที่ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งจากพระเจ้าให้ฉลองทุกปี.—2 โคร. 8:13

7. พระเยซูสั่งเหล่าสาวกของพระองค์ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ใหม่อะไร?

7 ในฐานะชาวยิวที่อยู่ใต้พระบัญญัติของโมเซ พระเยซูและอัครสาวกฉลองปัศคาทุกปี. (มัด. 26:17-19) ในการฉลองปัศคาครั้งสุดท้ายกับอัครสาวก พระเยซูสั่งพวกเขาให้ระลึกถึงเหตุการณ์ใหม่อย่างหนึ่งทุกปี. เหตุการณ์นี้เรียกว่าอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. แต่พวกเขาต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้ในวันไหน?

ควรระลึกถึงอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในวันไหน?

8. บางคนสงสัยอะไรเกี่ยวกับปัศคาและอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?

8 พระเยซูตั้งการระลึกถึงอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าทันทีหลังจากการฉลองปัศคากับเหล่าอัครสาวก. ดังนั้น การระลึกถึงอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทำในวันเดียวกันกับการฉลองปัศคา. แต่บางคนสังเกตว่าคนที่นับถือศาสนายิวในทุกวันนี้อาจไม่ได้ฉลองปัศคาในวันเดียวกันกับที่เราจัดการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นชีวิตของพระเยซู และสงสัยว่าทำไมจึงทำกันคนละวัน? คำสั่งของพระเจ้าที่ให้ไว้กับชาวอิสราเอลเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของเทศกาลปัศคาช่วยเราให้ตอบคำถามนี้ได้. โมเซระบุอย่างเจาะจงให้ “พวกยิศราเอลทั้งปวง” รู้ว่าจะต้องฆ่าลูกแกะในตอนไหน ของวันที่ 14 เดือนไนซาน.—อ่านเอ็กโซโด 12:5, 6

9. ตามที่กล่าวไว้ในเอ็กโซโด 12:6 แกะปัศคาถูกฆ่าตอนไหน? (ดูกรอบ  “ตอนไหนของวัน?”)

9 ในภาษาเดิม วลี “ในเวลาเย็นวันนั้น” ที่เอ็กโซโด 12:6 แปลตามตัวได้ว่า “ระหว่างสองเวลาเย็น.” ฉบับแปลบางฉบับแปลวลีนี้โดยใช้คำแปลตามตัวดังกล่าว. แต่ฉบับแปลบางฉบับ รวมทั้งคัมภีร์ทานักห์ ของศาสนายิว แปลวลีนี้ว่า “ตอนพลบค่ำ.” ดังนั้น ลูกแกะจะถูกฆ่าตอนเริ่มต้น ของวันที่ 14 เดือนไนซาน หลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกแล้วแต่ยังมีแสงอยู่.

10. บางคนเชื่อว่าควรฆ่าแกะปัศคาเมื่อไร? แต่นั่นทำให้เกิดคำถามอะไร?

 10 ในเวลาต่อมา มีการนำลูกแกะมาฆ่าที่พระวิหาร จึงต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะฆ่าแกะทุกตัวแล้วเสร็จ. เนื่องด้วยเหตุนี้ ในหลายศตวรรษต่อมา ชาวยิวบางคนจึงตีความวลี “ระหว่างสองเวลาเย็น” ที่เอ็กโซโด 12:6 ว่าหมายถึงตอนสิ้นสุด ของวันที่ 14 เดือนไนซาน ตั้งแต่เวลาที่ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำหลังเที่ยงจนถึงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกในตอนเย็น. แต่ถ้าแกะถูกฆ่าตอนสิ้นสุดของวันที่ 14 เดือนไนซาน ชาวอิสราเอลจะกินปัศคากันเมื่อไร? ตามที่ศาสตราจารย์โจนาทาน คลาวันส์ กล่าว พวกเขาก็จะกินปัศคากันในวันที่ 15 เดือนไนซาน. แต่เขายอมรับว่าหนังสือเอ็กโซโดไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าให้ทำอย่างนี้. เขายังกล่าวด้วยว่าข้อเขียนของพวกรับบีไม่ได้พิจารณาวิธีฉลองปัศคาก่อนสากลศักราช 70 ซึ่งเป็นปีที่พระวิหารถูกทำลาย.

11. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับพระเยซูในวันปัศคาสากลศักราช 33? (ข) ทำไมวันที่ 15 เดือนไนซาน สากลศักราช 33 จึงถูกเรียกว่าเป็นวันซะบาโต “สำคัญ”? (ดูเชิงอรรถ)

11 ถ้าอย่างนั้น การฉลองปัศคาในสากลศักราช 33 ทำกันในวันไหน? ก่อนวันปัศคาหนึ่งวัน คือในวันที่ 13 เดือนไนซาน พระเยซูบอกเปโตรและโยฮันว่า “จงไปเตรียมอาหารสำหรับปัศคาไว้ให้พวกเรากิน.” (ลูกา 22:7, 8) จากนั้น ในวันที่ 14 เดือนไนซาน ซึ่งเริ่มต้นในเย็นวันพฤหัสบดีหลังดวงอาทิตย์ตก พระเยซูก็กินปัศคากับเหล่าอัครสาวก. หลังจากกินเสร็จ พระองค์ตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. (ลูกา 22:14, 15) คืนนั้น พระองค์ถูกจับและถูกพิจารณาคดี. พระเยซูถูกตรึงบนเสาทรมานตอนใกล้เที่ยงของวันที่ 14 เดือนไนซาน และในตอนบ่ายนั้นเองพระองค์ก็สิ้นชีวิต. (โย. 19:14) ดังนั้น “พระคริสต์ผู้ทรงเป็นแกะปัศคาของเรานั้นถูกถวายเป็นเครื่องบูชา” ในวันเดียวกับที่ชาวยิวฆ่าแกะปัศคา. (1 โค. 5:7; 11:23; มัด. 26:2) ศพของพระเยซูถูกฝังก่อนจะถึงวันที่ 15 เดือนไนซาน. *เลวี. 23:5-7; ลูกา 23:54

การระลึกถึงที่มีความหมายสำหรับคุณ

12, 13. เด็กชาวอิสราเอลได้รับประโยชน์จากการฉลองปัศคาอย่างไร?

12 เมื่อมีการฉลองปัศคาครั้งแรกในอียิปต์ พระเจ้าสั่งให้ชาวอิสราเอลฉลองเหตุการณ์นี้ทุกปี “ต่อไปเป็นนิตย์.” แต่ละปีในวันปัศคา ลูกก็จะถามพ่อแม่ว่าทำไมจึงฉลองเทศกาลนี้. (อ่านเอ็กโซโด 12:24-27; บัญ. 6:20-23) ดังนั้น เทศกาลปัศคาจะเป็น “วันที่ระลึก” ที่แม้แต่เด็กก็สามารถเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับพวกเขา.—เอ็ก. 12:14

 13 จากรุ่นสู่รุ่น ชาวอิสราเอลสอนบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับเทศกาลปัศคาแก่ลูกของพวกเขา. บทเรียนอย่างหนึ่งก็คือพระยะโฮวาสามารถปกป้องผู้นมัสการพระองค์. เด็กได้เรียนรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่มีชีวิตอยู่จริง ซึ่งคอยดูแลปกป้องประชาชนของพระองค์. พระองค์พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้จริงเมื่อพระองค์ช่วยบุตรหัวปีของชาวอิสราเอลให้รอดในช่วงที่เกิดภัยพิบัติประการที่สิบกับชาวอียิปต์.

14. พ่อแม่คริสเตียนสามารถสอนลูกเกี่ยวกับบทเรียนอะไรที่ได้จากการฉลองปัศคา?

14 ในฐานะพ่อแม่ที่เป็นคริสเตียน คุณไม่ได้รับคำสั่งให้บอกลูกของคุณทุกปีเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการฉลองปัศคา. แต่คุณสอนเขาเกี่ยวกับบทเรียนที่ได้จากการฉลองปัศคาว่าพระเจ้าปกป้องประชาชนของพระองค์ไหม? ลูกของคุณมองเห็นได้อย่างชัดเจนไหมว่าคุณเชื่อจริงว่าพระเจ้ายังปกป้องเราในทุกวันนี้? (เพลง. 27:11; ยซา. 12:2) คุณควรสอนบทเรียนนี้อย่างที่น่าสนใจและไม่เพียงแค่เล่าเรื่องที่น่าเบื่อให้ลูกฟัง. บทเรียนนี้จะช่วยครอบครัวคุณให้ไว้วางใจพระยะโฮวามากยิ่งขึ้น.

15, 16. เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับพระยะโฮวาจากเทศกาลปัศคาและเรื่องราวที่บันทึกในหนังสือเอ็กโซโดบท 12-15?

15 บทเรียนอีกอย่างหนึ่งที่เราได้จากเทศกาลปัศคาคือพระยะโฮวาไม่เพียงสามารถปกป้องประชาชนของพระองค์ แต่พระองค์ช่วยพวกเขาด้วย. ขอให้นึกภาพถึงตอนที่พระยะโฮวาช่วยชาวอิสราเอลให้ออกจากอียิปต์. พระองค์นำทางพวกเขาไปที่ทะเลแดงด้วยเสาเมฆและเสาไฟ. แล้วพวกเขาก็ได้เห็นพระยะโฮวาแยกทะเลออกเป็นช่องที่สองข้างเป็นกำแพงน้ำสูง. ถัดจากนั้น พวกเขาก็เดินบนดินแห้งข้ามทะเลไป. เมื่อถึงอีกฝั่งหนึ่งอย่างปลอดภัยแล้ว พวกเขาก็มองดูเห็นกำแพงน้ำนั้นยุบตัวลงมาซัดกระแทกกองทัพอียิปต์. ชาวอิสราเอลสรรเสริญพระยะโฮวาที่ช่วยพวกเขาให้รอดและร้องเพลงว่า “ข้าพเจ้าจะร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา . . . พระองค์ได้ทรงผลักม้าและพลม้าลงในทะเล. พระยะโฮวาเป็นกำลังและเป็นกำเนิดบทเพลงสรรเสริญแห่งข้าพเจ้า, พระองค์เป็นผู้ช่วยให้ข้าพเจ้ารอด.”—เอ็ก. 13:14, 21, 22; 15:1, 2; เพลง. 136:11-15

16 ถ้าคุณมีลูก คุณกำลังช่วยลูกให้เห็นว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้มีฤทธิ์อำนาจที่จะช่วยประชาชนของพระองค์ให้รอดไหม? เมื่อคุณตัดสินใจในเรื่องต่างหรือพูดกับลูก ลูกเห็นไหมว่าคุณไว้วางใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยคุณและครอบครัว? ในการนมัสการประจำครอบครัว คุณอาจพิจารณาเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาช่วยประชาชนของพระองค์ให้รอดตามที่บันทึกไว้ในเอ็กโซโดบท 12-15. ในครั้งถัดไป คุณอาจพิจารณาจุดสำคัญของเรื่องนี้เพิ่มเติมโดยใช้กิจการ 7:30-36 หรือดานิเอล 3:16-18, 26-28. เราทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ น่าจะมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะ ช่วยเราในอนาคตเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ช่วยประชาชนของพระองค์ในอดีต.—อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 1:9, 10

 สิ่งที่เราควรระลึกถึง

17, 18. ทำไมเลือดของพระเยซูมีค่ามากกว่าเลือดแกะปัศคา?

17 คริสเตียนแท้ไม่ได้ฉลองเทศกาลปัศคา. การฉลองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพระบัญญัติของโมเซ และเราไม่ต้องทำตามพระบัญญัตินั้นแล้ว. (โรม 10:4; โกโล. 2:13-16) แทนที่จะฉลองปัศคา เราระลึกถึงวันครบรอบอีกอย่างหนึ่ง คือการสิ้นชีวิตของพระบุตรของพระเจ้า. แต่เราสามารถเรียนรู้หลายเรื่องจากการฉลองปัศคาที่เริ่มต้นในอียิปต์.

18 เลือดของลูกแกะที่ชาวอิสราเอลประพรมที่เสาและคานประตูช่วยชีวิตบุตรหัวปีของพวกเขาให้รอด. ปัจจุบัน เราไม่ได้ถวายเลือดสัตว์แด่พระเจ้าในวันปัศคาหรือในโอกาสอื่นใดก็ตาม. แต่เลือดของเครื่องบูชาอีกอย่างหนึ่งมีค่ายิ่งกว่านั้นมาก. ผู้คนที่ได้รับการช่วยให้รอดชีวิตจากเครื่องบูชานี้จะมีชีวิตตลอดไป. อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า “พระโลหิตที่ประพรม” ซึ่งก็คือเลือดของพระเยซู ทำให้คริสเตียนผู้ถูกเจิมมีชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์. พวกเขาเป็น “เหล่าบุตรหัวปีซึ่งมีชื่อเขียนไว้ในสวรรค์.” (ฮีบรู 12:23, 24) เลือดของพระเยซูยังทำให้แกะอื่นมีความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกด้วย. เราทุกคนควรจำคำสัญญานี้ไว้เสมอ ที่ว่า “โดยพระบุตรนั้นเราได้รับการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่โดยพระโลหิตของพระองค์ นั่นคือ เราได้รับการอภัยการล่วงละเมิดก็เนื่องด้วยพระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเจ้า.”—เอเฟ. 1:7

19. รายละเอียดเกี่ยวกับการสิ้นชีวิตของพระเยซูทำให้เราเชื่อมั่นคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นอย่างไร?

19 เมื่อลูกแกะถูกฆ่าเป็นอาหารปัศคา ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งไม่ให้หักกระดูกของแกะนั้น. (เอ็ก. 12:46; อาฤ. 9:11, 12) กระดูกของ “ลูกแกะของพระเจ้า” ซึ่งได้แก่พระเยซูที่มอบชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่ เป็นอย่างไร? (โย. 1:29, เชิงอรรถ) พระองค์ถูกตรึงบนเสาทรมานโดยมีผู้ร้ายสองคนถูกตรึงอยู่ข้างพระองค์ทั้งสองข้าง. พวกยิวขอปีลาตสั่งให้ทุบขาของพระเยซูและผู้ร้ายทั้งสองนั้นให้หักเพื่อเร่งให้ตายเร็วขึ้น. เพราะเมื่อตายแล้ว จะได้เอาศพของพวกเขาลงจากเสาทรมานก่อนจะถึงวันที่ 15 เดือนไนซาน ซึ่งเป็นวันซะบาโตสำคัญ. พวกทหารทุบขาของผู้ร้ายทั้งสอง “แต่พอมาถึงพระเยซูก็พบว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วจึงไม่ได้ทุบขาพระองค์ให้หัก.” (โย. 19:31-34) เช่นเดียวกับกระดูกของลูกแกะปัศคา กระดูกของพระเยซูไม่ได้ถูกทุบให้หัก. แกะปัศคาจึงเป็นเหมือน “เงา” ของเครื่องบูชาของพระเยซูในวันที่ 14 เดือนไนซานสากลศักราช 33. (ฮีบรู 10:1) เรื่องนี้ทำให้ข้อความที่บทเพลงสรรเสริญ 34:20 สำเร็จเป็นจริง ซึ่งน่าจะทำให้เราเชื่อมั่นคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น.

20. ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างปัศคากับอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าคืออะไร?

20 แต่มีข้อแตกต่างหลายอย่างระหว่างปัศคากับอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. ข้อแตกต่างเหล่านี้แสดงว่าปัศคาที่ชาวยิวฉลองกันนั้นไม่ใช่ภาพเล็งถึงสิ่งที่พระคริสต์สั่งให้เหล่าสาวกทำเพื่อระลึกถึงการสิ้นชีวิตของพระองค์. ตัวอย่างเช่น ชาวอิสราเอลจะกินแกะแต่ไม่ดื่มเลือดแกะ. สิ่งที่พวกเขาทำต่างจากสิ่งที่พระเยซูสั่งให้เหล่าสาวกทำ. พระองค์บอกว่าคนที่จะปกครอง “ในราชอาณาจักรของพระเจ้า” ต้องกินขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ที่ใช้หมายถึงเนื้อและเลือดของพระองค์. เราจะพิจารณาอย่างละเอียดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นชีวิตของพระคริสต์ในบทความถัดไป.—มโก. 14:22-25

21. ทำไมเราควรรู้เรื่องวันปัศคา?

21 ปัศคาเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประชาชนของพระเจ้า และเราแต่ละคนสามารถเรียนรู้หลายเรื่องจากเหตุการณ์นี้. ดังนั้น แม้ว่าปัศคาเป็น “วันที่ระลึก” สำหรับชาวยิว แต่เราที่เป็นคริสเตียนควรรู้เรื่องเกี่ยวกับวันนี้และจดจำบทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้ เพราะ “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.”—2 ติโม. 3:16

^ วรรค 5 เดือนแรกตามปฏิทินฮีบรูมีชื่อว่าเดือนอาบิบ แต่ในภายหลังเมื่อชาวอิสราเอลกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลนพวกเขาเปลี่ยนมาเรียกชื่อเดือนนี้ว่าไนซาน. ในบทความนี้ เราจะใช้ชื่อเดือนไนซาน.

^ วรรค 11 ในสากลศักราช 33 วันที่ 15 เดือนไนซานเริ่มต้นในเย็นวันศุกร์จนถึงเย็นวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันซะบาโตประจำสัปดาห์. และทุกปี ยังถือว่าวันที่ 15 เดือนไนซานซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อเป็นวันซะบาโตด้วย. เนื่องจากในสากลศักราช 33 วันซะบาโตทั้งสองเป็นวันเดียวกันพอดี วันนั้นจึงถูกเรียกว่าวันซะบาโต “สำคัญ.”—อ่านโยฮัน 19:31, 42