ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวา เพื่อนที่ดีที่สุดของเรา

พระยะโฮวา เพื่อนที่ดีที่สุดของเรา

“[อับราฮาม] ถูกเรียกว่า ‘มิตรของพระยะโฮวา’”—ยโก. 2:23

1. เนื่องจากเราถูกสร้างตามแบบพระเจ้า เราจึงมีความสามารถอะไร?

“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” เป็นสำนวนไทยที่เราได้ยินบ่อยสำนวนนี้มีความหมายว่าพ่อแม่เป็นอย่างไรลูกก็เป็นอย่างนั้น ลูกมักจะมีลักษณะนิสัยหลายอย่างเหมือนพ่อแม่ พระยะโฮวาเป็นผู้ให้ชีวิตเรา พระองค์จึงเป็นพระบิดาของเรา (เพลง. 36:9) มนุษย์เราที่เป็นลูกของพระเจ้ามีลักษณะหลายอย่างคล้ายกับพระบิดาในสวรรค์ เพราะเราถูกสร้างตามแบบพระองค์ เราจึงสามารถคิดหาเหตุผล ตัดสินใจ และสร้างมิตรภาพกับคนอื่น—เย. 1:26

2. ทำไมพระยะโฮวาเป็นเพื่อนของเราได้?

2 พระยะโฮวาเป็นมิตรหรือเพื่อนที่ดีที่สุดของเราได้เพราะพระองค์รักเรา และเราเองก็เชื่อในพระองค์รวมทั้งพระบุตรของพระองค์ด้วย พระเยซูบอกว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนถึงกับประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกทำลาย แต่จะมีชีวิตนิรันดร์” (โย. 3:16) มีหลายคนที่เป็นเพื่อนสนิทของพระยะโฮวา ให้เรามาดูตัวอย่างสักสองคน

“อับราฮามมิตรสหายของเรา”

3, 4. อะไรทำให้อับราฮามเป็นเพื่อนของพระยะโฮวา แต่ลูกหลานของอับราฮามเป็นอย่างไร?

3 พระยะโฮวาเรียกอับราฮามบรรพบุรุษของชาวอิสราเอลว่า “มิตรสหายของ เรา” (ยซา. 41:8) และ 2 โครนิกา 20:7 ยังบอกอีกว่าอับราฮามเป็นคนสนิทของพระเจ้า อะไรทำให้อับราฮามผู้ซื่อสัตย์เป็นเพื่อนสนิทของพระเจ้า? ก็เพราะเขาเชื่อและวางใจในพระองค์—เย. 15:6; อ่านยาโกโบ 2:21-23

4 ในตอนแรก ชาติอิสราเอลลูกหลานของอับราฮามได้ยอมรับพระยะโฮวาเป็นบิดาและเป็นเพื่อนของพวกเขา แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่สามารถรักษามิตรภาพกับพระเจ้าไว้ได้ เพราะพวกเขาไม่เชื่อและไม่วางใจในคำสัญญาของพระยะโฮวา

5, 6. (ก) พระยะโฮวามาเป็นเพื่อนของคุณได้อย่างไร? (ข) เราควรถามตัวเองว่าอย่างไร?

5 ยิ่งเรารู้จักพระยะโฮวามากเท่าไร เราก็ยิ่งรักและเชื่อมั่นในพระองค์มากขึ้นเท่านั้น ลองคิดถึงตอนแรกที่คุณได้รู้จักพระเจ้า คุณรู้ว่าพระองค์มีจริงและคุณสามารถเป็นเพื่อนกับพระองค์ได้ คุณยังเรียนรู้อีกว่าเราทุกคนกลายเป็นคนบาปเพราะอาดามไม่เชื่อฟังพระเจ้าและผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากรู้จักพระผู้สร้าง (โกโล. 1:21) ต่อมา คุณได้เข้าใจว่าพระบิดาในสวรรค์ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากเราเลย พระองค์รักและห่วงใยเรามาก หลังจากที่รู้ว่าพระเจ้าส่งพระเยซูมาไถ่บาปมนุษย์และเราได้แสดงความเชื่อในค่าไถ่ ตอนนั้นแหละที่เราเริ่มมาเป็นเพื่อนกับพระเจ้า

6 ถึงตอนนี้ เราได้เป็นเพื่อนกับพระเจ้าแล้ว ฉะนั้น เราน่าจะถามตัวเองว่า ‘ฉันสนิทกับพระองค์มากขึ้นเรื่อยไหม? ฉันวางใจพระยะโฮวามากแค่ไหน และฉันรักพระองค์มากขึ้นทุกวันไหม?’ ในสมัยโบราณ มีชายคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนสนิทของพระยะโฮวา เขาชื่อกิดโอน ให้เรามาอ่านเรื่องของเขาและดูว่าเราจะทำตามตัวอย่างที่ดีของเขาได้อย่างไร

“พระยะโฮวาคือสันติสุข”

7-9. (ก) กิดโอนเจอเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นอะไร และผลเป็นอย่างไร? (ดูภาพแรก) (ข) เราจะสนิทกับพระยะโฮวาได้อย่างไร?

7 ผู้วินิจฉัยกิดโอนรับใช้พระยะโฮวาในช่วงที่ชาติอิสราเอลประสบปัญหาหลายอย่างหลังจากที่เข้าไปในแผ่นดินตามคำสัญญาแล้ว หนังสือวินิจฉัยบท 6 บอกว่าทูตสวรรค์ของพระยะโฮวามาหากิดโอนที่ตำบลอัพรา ตอนนั้นชาวมิดยานประเทศเพื่อนบ้านพยายามจะเข้ามายึดครองอิสราเอล กิดโอนจึงต้องนวดข้าวสาลีในเครื่องหีบน้ำองุ่นแทนที่จะนวดบนลานเพื่อไม่ให้พวกมิดยานแย่งข้าวไปได้ วันหนึ่ง กิดโอนแปลกใจมากที่ทูตสวรรค์มาหาและเรียกเขาว่า “บุรุษกล้าหาญ” เขาถามทูตสวรรค์ว่า พระยะโฮวาจะช่วยชาวอิสราเอลให้รอดจากชาติมิดยานเหมือนที่เคยช่วยให้รอดจากอียิปต์ไหม? ทูตสวรรค์ตอบเขาว่า พระยะโฮวาจะช่วยกิดโอนอย่างแน่นอน

8 กิดโอนสงสัยว่าเขาจะ “ช่วยพวกยิศราเอลให้รอดพ้น” ได้อย่างไร พระยะโฮวาจึงบอกเขาอย่างชัดเจนว่า “เราจะอยู่ด้วยเจ้าเป็นแน่ เจ้าจงตีผลาญพวกมิดยานดุจคนเดียว” (วินิจ. 6:11-16) แต่กิดโอนก็ยังสงสัยอีกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เขาจึงขอหลักฐานยืนยันจากพระเจ้า การพูดโต้ตอบกันระหว่างกิดโอนกับพระยะโฮวาแสดงให้เห็นว่า กิดโอนเชื่อว่าพระยะโฮวามีอยู่จริง

9 เหตุการณ์ต่อจากนั้นทำให้กิดโอนเชื่อมั่นในพระเจ้ามากขึ้นและทำให้เขาสนิทกับพระองค์มากกว่าเดิม กิดโอนเตรียมอาหารและนำมาให้ทูตสวรรค์ พอทูตสวรรค์เอาไม้เท้าแตะที่อาหาร ไฟก็เผาไหม้อาหารนั้นอย่างอัศจรรย์ กิดโอนจึงรู้ว่าทูตสวรรค์เป็นตัวแทนของพระยะโฮวาจริงเขาตกใจมากจึงพูดว่า “โอ้ข้าแต่พระยะโฮวาเจ้า! ด้วยข้าพเจ้าได้เห็นทูตพระองค์เฉพาะหน้า” (วินิจ. 6:17-22) ตอนนี้กิดโอนกลัวจนอยากอยู่ให้ไกลจากพระเจ้าไหม? ไม่เลย! เหตุการณ์นี้กลับทำให้กิดโอนรู้จักพระ ยะโฮวามากขึ้นและรู้สึกใกล้ชิดพระเจ้ายิ่งกว่าเดิม เรารู้เรื่องนี้เพราะหลังจากนั้นกิดโอนได้สร้างแท่นบูชาถวายพระยะโฮวาและเรียกแท่นนั้นว่า ยะโฮวาซาโลม ซึ่งแปลว่า “พระยะโฮวาคือสันติสุข” (อ่านวินิจฉัย 6:23, 24) ถ้าเราคิดถึงสิ่งที่พระยะโฮวาทำให้เราในแต่ละวัน เราจะเห็นว่าพระองค์เป็นเพื่อนแท้ของเราจริงและถ้าเราอธิษฐานถึงพระเจ้าเป็นประจำ จิตใจเราจะสงบและเราจะสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น

ใครจะ ‘พักอยู่ในพลับพลาของพระยะโฮวา’?

10. ถ้าเราอยากเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวาเราต้องทำอะไรตามที่บอกในบทเพลงสรรเสริญ 15:3, 5?

10 เพื่อจะเป็นเพื่อนของพระยะโฮวาได้เราต้องทำตามเงื่อนไขบางอย่าง ในบทเพลงที่ดาวิดร้องซึ่งบันทึกในเพลงสรรเสริญบท 15 เขาพูดถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นเพื่อนของพระเจ้า หรือ “พักอยู่ในพลับพลาของพระองค์” (เพลง. 15:1) ให้เรามาดูคุณสมบัติสองอย่างคือ ไม่พูดใส่ร้ายคนอื่นและเป็นคนซื่อสัตย์ในทุกเรื่อง ดาวิดบอกว่าเพื่อนของพระยะโฮวาต้อง ‘ไม่พูดนินทาด้วยลิ้นของตน . . . ไม่รับสินบนลงโทษผู้ที่ปราศจากความผิด’—เพลง. 15:3, 5

11. ทำไมเราต้องไม่พูดใส่ร้ายคนอื่น?

11 ในเพลงสรรเสริญอีกบทหนึ่ง ดาวิดเตือนว่า “จงระวังลิ้นของตนให้ปราศจากคำชั่ว” (เพลง. 34:13) ถ้าเราไม่ทำตามคำแนะนำนี้เราก็เป็นเพื่อนของพระบิดาที่อยู่ในสวรรค์ไม่ได้ เพราะการใส่ร้ายป้ายสีเป็นนิสัยของซาตานพญามาร ศัตรูตัวสำคัญของพระเจ้า คำว่า “พญามาร” มาจากคำภาษากรีกที่หมายถึง “ผู้ใส่ร้ายหรือผู้หมิ่นประมาท” ถ้าเราอยากใกล้ชิดพระยะโฮวาเสมอ เราก็ต้องระวังคำพูดของเราเมื่อพูดถึงคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงพี่น้องชายที่พระเจ้าแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลในประชาคม—อ่านฮีบรู 13:17; ยูดา 8

12, 13. (ก) ทำไมเราควรซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง? (ข) ถ้าเราเป็นคนซื่อสัตย์จะเกิดผลดีอะไร?

12 ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของผู้รับใช้พระยะโฮวาคือความซื่อสัตย์ อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จงอธิษฐานเพื่อเราต่อไป ด้วยเรามั่นใจว่าเรามีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีเพราะเราปรารถนาจะประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง” (ฮีบรู 13:18) เนื่องจากเรา “ปรารถนาจะประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง” เราจึงไม่เอาเปรียบพี่น้องคริสเตียน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นนายจ้าง เราต้องให้ความยุติธรรมกับลูกจ้างที่เป็นพี่น้องและจ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ คริสเตียนต้องซื่อสัตย์ต่อลูกจ้างและต่อคนทั่วไปด้วย ถ้าเราเป็นลูกจ้างที่มีนายจ้างเป็นพยานเราก็ต้องไม่เอาเปรียบเขาหรือเรียกร้องสิทธิพิเศษมากกว่าลูกจ้างคนอื่น

13 เราได้ยินบ่อยว่าคนทั่วไปชมเชยพยานพระยะโฮวาว่าเป็นคนซื่อสัตย์ ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งสังเกตว่าพยานพระยะโฮวาเป็นคนรักษาคำพูด เขาบอกว่า “พวกคุณทำตามสัญญาเสมอ” (เพลง. 15:4) การเป็นคนซื่อสัตย์ทำให้เราเป็นเพื่อนของพระยะโฮวาอยู่เสมอ และที่สำคัญยังทำให้ผู้คนสรรเสริญพระบิดาที่รักของเราด้วย

ช่วยคนอื่นให้มาเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวา

14, 15. เราจะช่วยคนอื่นให้มาเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวาได้อย่างไร?

14 เมื่อเราไปประกาศ เราอาจเจอหลายคนที่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริงแต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นเพื่อนกับพระเจ้าได้ เราจะช่วยคนเหล่านี้อย่างไร? ขอให้สังเกตว่า ตอนที่พระเยซูส่งสาวก 70 คนออกไปประกาศเป็นคู่ท่านสั่งว่า “เมื่อพวกเจ้าเข้าไปในบ้านใด จงพูดก่อนว่า ‘ขอให้บ้านนี้มีสันติสุข’ ถ้ามีผู้ที่แสวงหาสันติสุขอยู่ที่นั่น สันติสุขของพวกเจ้าจะอยู่กับเขา แต่ถ้าไม่มี สันติสุขนั้นจะกลับมาสู่พวกเจ้า” (ลูกา 10:5, 6) ผู้คนจะฟังเราและสนใจความจริงถ้าเขาเห็นว่าเราเป็นมิตรกับเขา แม้แต่ คนที่ไม่ชอบและต่อต้านเราอาจเปลี่ยนท่าทีและเต็มใจต้อนรับเราในวันข้างหน้าก็ได้

15 ถ้าเราเจอคนที่เคร่งศาสนามากหรือยึดติดกับธรรมเนียมประเพณีที่พระเจ้าไม่ยอมรับ เราก็ยังต้องพูดคุยกับเขาอย่างเป็นมิตรและใจเย็นนอกจากนั้น เราควรต้อนรับทุกคนที่มาประชุมกับเราอย่างเป็นกันเอง โดยเฉพาะคนที่ผิดหวังกับสังคมทุกวันนี้และอยากรู้จักพระเจ้าที่เรานมัสการ บทความ “คัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนชีวิตคน” มีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทำงานกับเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา

16. เราได้รับประโยชน์อะไรเมื่อเรามาเป็นทั้งเพื่อนและ “ผู้ร่วมงาน” ของพระยะโฮวา?

16 ตามปกติแล้วคนที่ทำงานด้วยกันมักจะสนิทกัน เราทุกคนที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้วมีสิทธิพิเศษได้เป็นทั้งเพื่อนและ “ผู้ร่วมงาน” ของพระองค์ (อ่าน 1 โครินท์ 3:9) เมื่อเราเข้าร่วมในงานประกาศและสอนคนให้เป็นสาวก เราก็ยิ่งรู้จักพระบิดาของเราที่อยู่ในสวรรค์มากขึ้นและเห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่ดีเยี่ยมจริงเราได้เห็นวิธีที่พระเจ้าใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ช่วยเราให้ทำงานประกาศข่าวดีมาตลอด

17. สิ่งที่เราได้รับจากการประชุมใหญ่แสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระยะโฮวาเป็นเพื่อนของเรา?

17 ยิ่งเราขยันทำงานประกาศมากเท่าไร เราก็จะใกล้ชิดพระยะโฮวามากเท่านั้น เช่น เราได้เห็นว่าพระยะโฮวาช่วยเราให้ประกาศต่อไปได้ทั้งที่มีการต่อต้านขัดขวาง ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นหลักฐานชัดเจนไม่ใช่หรือว่าพระเจ้าคอยชี้นำงานของเรา? พระองค์อบรมสั่งสอนเราเป็นประจำผ่านทางการประชุมและหนังสือต่างขององค์การ เรื่องที่บรรยายในการประชุมใหญ่ก็ตรงกับปัญหาของเราพอดี แสดงว่าพระองค์รักเราและรู้ว่าจริงแล้วเราต้องการอะไร หลังจากการประชุมภาคครั้งหนึ่ง พี่น้องครอบครัวหนึ่งเขียนจดหมายมาขอบคุณและบอกว่า “เราชอบการประชุมครั้งนี้มาก เราซาบซึ้งใจจริงที่เห็นว่าพระยะโฮวารักเราทุกคนมากขนาดไหนและอยากให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต” คู่สมรสจากเยอรมนีรู้สึกประทับใจมากหลังจากได้เข้าร่วมการประชุมภาคพิเศษที่ไอร์แลนด์ พี่น้องต้อนรับพวกเขาอย่างเป็นกันเองและดูแลอย่างดี ทั้งสองบอกว่า “แต่ผู้ที่เราอยากขอบคุณมากที่สุดคือพระยะโฮวาและกษัตริย์เยซูคริสต์ที่ได้เชิญเราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวนานาชาติที่รักใคร่กลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง เราไม่ใช่แค่พูดว่าเรามีเอกภาพเท่านั้น แต่เราประสบด้วยตัวเองทุกวัน ประสบการณ์ดีที่เราได้จากการประชุมภาคพิเศษที่ดับลินครั้งนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงสิทธิพิเศษอันล้ำค่าที่เราได้ทำงานรับใช้พระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่ร่วมกับพวกคุณทุกคน”

 เพื่อนกันต้องคุยกัน

18. เราควรถามตัวเองอย่างไรเรื่องการพูดคุยกับพระยะโฮวา?

18 เพื่อนที่ติดต่อและพูดคุยกันเป็นประจำจะยิ่งสนิทกันมากขึ้น เดี๋ยวนี้หลายคนชอบติดต่อกับเพื่อนโดยส่งข้อความคุยกันทางโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต แต่เราเคยคิดไหมว่า ในแต่ละวันเราติดต่อพูดคุยกับพระยะโฮวา เพื่อนที่ดีที่สุดของเราบ่อยแค่ไหน? พระคัมภีร์บอกว่า พระองค์เป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน” (เพลง. 65:2) แต่เราอธิษฐานถึงพระองค์บ่อยไหม?

19. ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะระบายความในใจกับพระยะโฮวา อะไรจะช่วยเราได้?

19 ผู้รับใช้ของพระเจ้าบางคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะระบายความในใจเมื่ออธิษฐาน แต่พระยะโฮวาอยากให้เราทำอย่างนั้น (เพลง. 119:145; ทุกข์. 3:41) ถ้าเราไม่รู้ว่าจะบอกความในใจออกมาอย่างไร เรามีผู้ช่วย เปาโลบอกคริสเตียนในกรุงโรมว่า “พระวิญญาณก็ช่วยเราด้วยในส่วนที่เราอ่อนแอ เพราะเราไม่รู้ว่าเราควรทูลขอสิ่งใดเมื่อจำเป็นต้องขอ แต่พระวิญญาณขอแทนเราเมื่อเราคร่ำครวญแม้ไม่เป็นคำพูด แต่พระองค์ผู้ตรวจดูหัวใจทรงรู้ความมุ่งหมายของพระวิญญาณ เพราะพระวิญญาณขอแทนเหล่าผู้บริสุทธิ์ตามชอบพระทัยพระเจ้า” (โรม 8:26, 27) ถ้าเราอ่านและใคร่ครวญคำอธิษฐานที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ เช่น ในหนังสือโยบ บทเพลงสรรเสริญ และสุภาษิต เราก็จะเห็นตัวอย่างคำพูดที่เอาไปใช้ได้ในคำอธิษฐานของเราเอง

20, 21. คำแนะนำของเปาโลที่ฟิลิปปอย 4:6, 7 ให้กำลังใจเราอย่างไร?

20 เมื่อเราเจอปัญหาหรือมีเรื่องไม่สบายใจ ขอให้ทำตามคำแนะนำของเปาโลที่เขียนถึงพี่น้องประชาคมฟิลิปปอยว่า “อย่าวิตกกังวลกับสิ่งใด แต่จงทูลทุกสิ่งที่พวกท่านปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ” ถ้าเราระบายความในใจทุกเรื่องกับพระเจ้าเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา เราจะรู้สึกสบายใจและไม่กังวลอีกต่อไป เพราะเปาโลเขียนอีกว่า “แล้วสันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะปกป้องหัวใจและจิตใจท่านทั้งหลายไว้โดยทางพระคริสต์เยซู” (ฟิลิป. 4:6, 7) ขอให้เราขอบคุณพระเจ้าสำหรับ “สันติสุข” ที่ปกป้องหัวใจและจิตใจของเรา เพราะไม่มีอะไรจะมีค่ามากไปกว่านี้อีกแล้ว

21 การอธิษฐานจะทำให้เราสนิทกับพระยะโฮวา ดังนั้น เราต้อง “อธิษฐานไม่หยุดหย่อน” (1 เทส. 5:17) การได้เป็นเพื่อนกับพระเจ้ามีค่ามาก ขอให้เรารักษามิตรภาพนี้ไว้และทำสิ่งที่พระเจ้าอยากให้เราทำต่อไป และอย่าลืมคิดบ่อยเกี่ยวกับพระพรมากมายที่เราได้รับจากพระยะโฮวาผู้เป็นพระบิดา พระเจ้า และเพื่อนแท้ของเรา