ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ

การดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ

“ลูก​เอ๋ย อย่า​ให้​เรา​รัก​ด้วย​ลมปาก​เท่า​นั้น แต่​ให้​รัก​ด้วย​การ​กระทำ​และ​ด้วย​ความ​จริง​ใจ”—1 โย. 3:18

1, 2. (ก) หลาย​ครอบครัว​เจอ​ปัญหา​อะไร และ​มี​คำ​ถาม​อะไร​บ้าง? (ข) พ่อ​แม่​และ​ลูก​จะ​เตรียม​ตัว​รับมือ​กับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ได้​อย่าง​ไร?

คุณ​คง​ปวด​ร้าว​ใจ​เมื่อ​เห็น​พ่อ​แม่​ที่​เคย​สุขภาพ​แข็งแรง​ทำ​อะไร​เอง​ได้​ทุก​อย่าง​กลับ​ช่วย​ตัว​เอง​ไม่​ได้​อีก​ต่อ​ไป บาง​ที​พ่อ​หรือ​แม่​อาจ​หก​ล้ม​กระดูก​หัก เริ่ม​มี​อาการ​ความ​จำ​เสื่อม หรือ​ป่วย​เป็น​โรค​ร้าย ส่วน​พ่อ​แม่​ที่​สูง​อายุ​ก็​อาจ​ท้อ​ใจ​มาก​เพราะ​ตอน​นี้​ชีวิต​ของ​พวก​เขา​เปลี่ยน​ไป สุขภาพ​แย่​ลง ทำ​อะไร​ก็​ลำบาก (โยบ 14:1) ลูก ๆ จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง? พวก​เขา​จะ​ดู​แล​พ่อ​แม่​ที่​สูง​อายุ​อย่าง​ไร?

2 บทความ​เกี่ยว​กับ​การ​ดู​แล​ผู้​สูง​วัย​บอก​ว่า “ไม่​มี​ใคร​อยาก​พูด​ถึง​ความ​แก่​ชรา แต่​ครอบครัว​ที่​มี​การ​พูด​คุย​กัน​และ​วาง​แผน​ไว้​ล่วง​หน้า​จะ​รับมือ​ได้​ดี​กว่า​เมื่อ​ปัญหา​เกิด​ขึ้น” เรา​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​ไม่​มี​ใคร​หนี​ความ​แก่​ชรา​ได้ แต่​สิ่ง​ที่​ทำ​ได้​คือ​เตรียม​พร้อม​ไว้​ก่อน​ที่​วัน​นั้น​จะ​มา​ถึง ขอ​ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​แต่​ละ​คน​ใน​ครอบครัว​จะ​ร่วม​มือ​กัน​ได้​อย่าง​ไร?

เตรียม​ตัว “ก่อน​ที่​ยาม​ทุกข์​ร้อน​จะ​มา​ถึง”

3. ทั้ง​ครอบครัว​ควร​ทำ​อะไร​เมื่อ​พ่อ​แม่​ที่​สูง​อายุ​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​มาก​ขึ้น? (ดู​ภาพ​แรก)

3 เมื่อ​ถึง​เวลา​หนึ่ง ผู้​สูง​อายุ​แทบ​ทุก​คน​จะ​ไม่​สามารถ​ทำ​อะไร​เอง​ได้​ทุก​อย่าง​และ​ต้อง​มี​คน​ดู​แล​ช่วยเหลือ (อ่าน​ท่าน​ผู้​ประกาศ 12:1-7) เมื่อ​ถึง​ตอน​นั้น ทั้ง​ครอบครัว​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​ให้​ผู้​สูง​อายุ​ได้​รับ​การ​ดู​แล​อย่าง​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้ พ่อ​แม่​และ​ลูก​ควร​นั่ง​คุย​กัน​ว่า​พ่อ​แม่​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​อะไร​บ้าง และ​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​จะ​ร่วม​มือ​กัน​ได้​อย่าง​ไร ทุก​คน​โดย​เฉพาะ​พ่อ​แม่​ควร​มอง​ตาม​ความ​เป็น​จริง​และ​พูด​คุย​กัน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา พวก​เขา​อาจ​ปรึกษา​กัน​ว่า​ถ้า​ให้​พ่อ​แม่​อยู่​ใน​บ้าน​ของ​ท่าน​ต่อ​ไป​จะ​ปลอด​ภัย​ไหม หรือ​คุย​กัน​ว่า​ลูก ๆ แต่​ละ​คน​จะ​แบ่ง​หน้า​ที่​ดู​แล​พ่อ​แม่​อย่าง​ไร * (สุภา. 24:6) ลูก​บาง​คน​อาจ​ช่วย​ดู​แล​พ่อ​แม่​เป็น​ประจำ​ทุก​วัน ส่วน​บาง​คน​ก็​อาจ​ช่วย​เรื่อง​เงิน แต่​ทุก​คน​ควร​รู้​หน้า​ที่​ของ​ตัว​เอง และ​บาง​ครั้ง​ก็​สับเปลี่ยน​หน้า​ที่​กัน​บ้าง

4. ครอบครัว​ของ​ผู้​สูง​อายุ​จะ​หา​ความ​ช่วยเหลือ​ได้​จาก​ที่​ไหน​บ้าง?

4 ถ้า​คุณ​มี​หน้า​ที่​ดู​แล​พ่อ​แม่​ที่​เจ็บ​ป่วย ก่อน​อื่น ขอ​ให้​ศึกษา​หา​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​โรค​ที่​ท่าน​เป็น​อยู่ ถ้า​ท่าน​เป็น​โรค​ที่​รักษา​ไม่​หาย​และ​อาการ​จะ​แย่​ลง​เรื่อย ๆ คุณ​ก็​ควร​รู้​ว่า​ตอน​นี้​อาการ​ของ​โรค​อยู่​ใน​ขั้น​ไหน​และ​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ต่อ​ไป (สุภา. 1:5) ลอง​สอบ​ถาม​หน่วย​งาน​ต่าง ๆ ของ​รัฐ​ว่า​มี​ความ​ช่วยเหลือ​อะไร​บ้าง​สำหรับ​ผู้​สูง​อายุ หรือ​ศูนย์​บริการ​ผู้​สูง​อายุ​ใน​ชุมชน​มี​กิจกรรม​หรือ​โครงการ​ดี ๆ เกี่ยว​กับ​การ​ดู​แล​ผู้​สูง​อายุ​ไหม เมื่อ​คุณ​รู้สึก​เครียด สับสน หรือ​วิตก​กังวล​เพราะ​สภาพการณ์​ใน​ครอบครัว​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​กะทันหัน ขอ​ให้​คุย​กับ​เพื่อน​ที่​คุณ​ไว้​ใจ และ​ที่​สำคัญ​ต้อง​ระบาย​ความ​ใน​ใจ​กับ​พระ​ยะโฮวา แล้ว​พระองค์​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​สงบ​ใจ​รับมือ​กับ​ปัญหา​ทุก​อย่าง​ได้—เพลง. 55:22; สุภา. 24:10; ฟิลิป. 4:6, 7

5. ทำไม​ควร​หา​ข้อมูล​และ​วาง​แผน​ล่วง​หน้า​เกี่ยว​กับ​การ​ดู​แล​ผู้​สูง​อายุ?

5 บาง​ครอบครัว​ที่​มี​ผู้​สูง​อายุ​อาจ​ช่วย​กัน​หา​ข้อมูล​ตั้ง​แต่​เนิ่น ๆ ว่า​พวก​เขา​มี​ทาง​เลือก​อะไร​บ้าง เช่น พ่อ​หรือ​แม่​ที่​ป่วย​อาจ​ย้าย​ไป​อยู่​กับ​ลูก​คน​ใด​คน​หนึ่ง บ้าน​ผู้​สูง​อายุ หรือ​มี​ทาง​เลือก​อื่น ๆ ที่​เป็น​ไป​ได้ การ​ทำ​อย่าง​นี้​จะ​ช่วย​ให้​พวก​เขา​เตรียม​พร้อม​ก่อน​ที่ “การ​ลำบาก​และ​ความ​ทุกข์” จะ​มา​ถึง (เพลง. 90:10) ถ้า​ครอบครัว​ไม่​ได้​เตรียม​ไว้​ล่วง​หน้า พวก​เขา​อาจ​ถูก​กดดัน​ให้​ต้อง​รีบ​ร้อน​ตัดสิน​ใจ​ตอน​ที่​ปัญหา​เกิด​ขึ้น​แล้ว ซึ่ง​ผู้​เชี่ยวชาญ​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า “เป็น​เวลา​ที่​แย่​ที่​สุด​สำหรับ​การ​ตัดสิน​ใจ” เพราะ​ตอน​นั้น​สมาชิก​ครอบครัว​จะ​รู้สึก​เครียด​และ​ทะเลาะ​กัน​ได้​ง่าย แต่​การ​วาง​แผน​ล่วง​หน้า​นาน ๆ จะ​ช่วย​ให้​ปรับ​ตัว​รับ​สถานการณ์​ได้​ง่าย​กว่า—สุภา. 20:18

ทั้ง​ครอบครัว​ควร​พูด​คุย​กัน​ว่า​จะ​ดู​แล​พ่อ​หรือ​แม่​ที่​สูง​อายุ​อย่าง​ไร (ดู​ข้อ 6-8)

6. การ​ที่​พ่อ​แม่​ลูก​พูด​คุย​กัน​และ​วาง​แผน​ไว้​ล่วง​หน้า​จะ​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ไร?

6 คุณ​อาจ​ไม่​กล้า​พูด​กับ​พ่อ​แม่​ว่า​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เมื่อ​ท่าน​แก่​ชรา​และ​ช่วยเหลือ​ตัว​เอง​ไม่​ได้ แต่​หลาย​คน​บอก​ว่า​การ​พูด​คุย​อย่าง​นั้น​จะ​เป็น​ประโยชน์​มาก​ใน​วัน​ข้าง​หน้า เพราะ​อะไร? เพราะ​ตอน​ที่​ปัญหา​ยัง​ไม่​เกิด​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ก็​ยัง​ไม่​เครียด พร้อม​ที่​จะ​ฟัง​ความ​คิด​เห็น​ของ​กัน​และ​กัน ใน​บรรยากาศ​ที่​มี​ความ​รัก​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​กัน​แบบ​นี้​แต่​ละ​คน​จะ​กล้า​พูด​ออก​มา​ว่า​คิด​อย่าง​ไร​และ​ทำ​ให้​ตก​ลง​กัน​ได้​ง่าย​ขึ้น แม้​ว่า​ใน​ตอน​นี้​ผู้​สูง​อายุ​อยาก​อยู่​ตาม​ลำพัง​ใน​บ้าน​ของ​ตน​เอง​ต่อ​ไป​และ​ยัง​ไม่​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ แต่​การ​พูด​คุย​และ​วาง​แผน​ล่วง​หน้า​จะ​ช่วย​ให้​ตัดสิน​ใจ​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​เมื่อ​ถึง​เวลา​ที่​พ่อ​แม่​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ​จริง ๆ

7, 8. เรื่อง​อะไร​บ้าง​ที่​ครอบครัว​ควร​พูด​คุย​กัน​และ​ตัดสิน​ใจ​ไว้​ล่วง​หน้า และ​ทำไม?

7 ระหว่าง​ที่​พูด​คุย​กัน​พ่อ​แม่​ควร​บอก​ลูก​ตรง ๆ ว่า​คุณ​ต้องการ​อะไร มี​เงิน​พอ​ใช้​จ่าย​หรือ​ไม่ อยาก​ให้​ลูก​ช่วย​อะไร และ​คุณ​ชอบ​ทาง​เลือก​แบบ​ไหน เพราะ​เมื่อ​ถึง​เวลา​ที่​คุณ​ไม่​สามารถ​ตัดสิน​ใจ​ด้วย​ตัว​เอง ลูก​ก็​จะ​รู้​ว่า​คุณ​ต้องการ​อะไร​และ​พวก​เขา​อาจ​ตัดสิน​ใจ​แบบ​ที่​คุณ​ต้องการ​เพื่อ​ให้​คุณ​ได้​อยู่​ใน​ที่​ที่​คุณ​อยาก​อยู่ (เอเฟ. 6:2-4) ตัว​อย่าง​เช่น คุณ​อาจ​บอก​ลูก​ว่า​เมื่อ​คุณ​ช่วยเหลือ​ตัว​เอง​ไม่​ได้​แล้ว​คุณ​อยาก​ย้าย​ไป​อยู่​กับ​ลูก​คน​ไหน หรือ​คุณ​มี​ทาง​เลือก​อะไร​อีก แต่​ขอ​ให้​มอง​ตาม​ความ​เป็น​จริง บาง​ที​คุณ​อาจ​ไม่​ได้​ตาม​ที่​คุณ​ต้องการ​ทุก​อย่าง และ​ลูก ๆ อาจ​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​คุณ อย่า​ลืม​ว่า​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ต้อง​ใช้​เวลา​เพื่อ​ยอม​รับ​ความ​คิด​เห็น​ของ​กัน​และ​กัน

8 การ​พูด​คุย​และ​วาง​แผน​ล่วง​หน้า​จะ​ช่วย​ลด​ปัญหา​ได้​หลาย​อย่าง (สุภา. 15:22) ผู้​สูง​อายุ​ควร​บอก​ให้​ลูก​รู้​ล่วง​หน้า​ว่า​ถ้า​เกิด​เจ็บ​ป่วย​ขึ้น​มา​ต้องการ​การ​รักษา​แบบ​ไหน นอก​จาก​นั้น ทั้ง​ครอบครัว​ควร​ทบทวน​และ​ตัดสิน​ใจ​ประเด็น​ต่าง ๆ ที่​พูด​ถึง​ใน​หนังสือ​มอบ​อำนาจ​และ​แสดง​ความ​จำนง​เกี่ยว​กับ​การ​รักษา​พยาบาล​ที่​พยาน​ฯ ทุก​คน​มี แต่​ละ​คน​มี​สิทธิ์​ที่​จะ​รู้​ว่า​มี​การ​รักษา​แบบ​ไหน​บ้าง​และ​มี​สิทธิ์​ที่​จะ​รับ​หรือ​ปฏิเสธ​การ​รักษา​เหล่า​นั้น ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​ความ​ต้องการ​ของ​ผู้​ป่วย​ต้อง​ระบุ​ไว้​ใน​เอกสาร​มอบ​อำนาจ​ด้วย การ​เลือก​ตัว​แทน​ไว้​แต่​เนิ่น ๆ ก็​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​จะ​มี​คน​ที่​ไว้​ใจ​ได้​ตัดสิน​ใจ​แทน​เมื่อ​จำเป็น เมื่อ​กรอก​เอกสาร​มอบ​อำนาจ​เสร็จ​แล้ว​ก็​ควร​ถ่าย​สำเนา​ให้​คน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ทุก​คน​เก็บ​ไว้​ด้วย ผู้​สูง​อายุ​บาง​คน​เก็บ​เอกสาร​มอบ​อำนาจ​การ​รักษา​พยาบาล​ไว้​ที่​เดียว​กับ​เอกสาร​สำคัญ​อื่น ๆ เช่น พินัยกรรม เอกสาร​การ​เงิน ประกันภัย หรือ​แบบ​ฟอร์ม​ติด​ต่อ​ราชการ

เมื่อ​สภาพการณ์​เปลี่ยน​ไป

9, 10. เมื่อ​พ่อ​แม่​เริ่ม​มี​ปัญหา​สุขภาพ​ลูก​ควร​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​อย่าง​ไร?

9 ผู้​สูง​อายุ​หลาย​คน​อาจ​เลือก​ที่​จะ​อยู่​ตาม​ลำพัง​ใน​บ้าน​ของ​ตน​เอง​ไป​เรื่อย ๆ จน​กว่า​ไม่​สามารถ​ดู​แล​ตัว​เอง​ได้ พวก​เขา​อาจ​ยัง​ทำ​อาหาร ทำ​ความ​สะอาด กิน​ยา และ​พูด​คุย​หรือ​ติด​ต่อ​กับ​คน​อื่น ๆ ได้​โดย​ที่​ลูก​ไม่​ต้อง​คอย​ช่วย แต่​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป พ่อ​แม่​อาจ​เริ่ม​เดิน​ไป​ไหน​มา​ไหน​ลำบาก ซื้อ​ข้าวของ​เอง​ไม่​ได้ หรือ​มี​อาการ​ความ​จำ​เสื่อม ลูก​ก็​ต้อง​คอย​สังเกต​และ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​ทันที

10 คน​สูง​อายุ​บาง​คน​ก็​รู้สึก​สับสน ซึมเศร้า หู​ตึง ตา​ฝ้า​ฟาง หลง​ลืม​ง่าย และ​ไป​ห้อง​น้ำ​ลำบาก ถ้า​พ่อ​แม่​มี​อาการ​อย่าง​นี้ ลูก ๆ ควร​พา​ไป​หา​หมอ​เพื่อ​ได้​รับ​การ​รักษา​แต่​เนิ่น ๆ ลูก​อาจ​เป็น​คน​นัด​หมอ​ให้​และ​พา​ไป​ตาม​ที่​หมอ​นัด รวม​ถึง​ดู​แล​เรื่อง​ส่วน​ตัว​ของ​พ่อ​แม่​ที่​เจ็บ​ป่วย เช่น กรอก​เอกสาร คุย​กับ​หมอ​หรือ​เจ้าหน้าที่​ของ​รัฐ และ​ทำ​ธุระ​อื่น ๆ แทน​พ่อ​แม่—สุภา. 3:27

11. ลูก​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เมื่อ​พ่อ​แม่​มี​ปัญหา​สุขภาพ​เรื้อรัง?

11 ถ้า​พ่อ​แม่​มี​ปัญหา​สุขภาพ​เรื้อรัง​และ​รักษา​ไม่​ได้ ลูก​อาจ​ต้อง​ดู​แล​มาก​ขึ้น​และ​ปรับ​เปลี่ยน​บาง​อย่าง​ใน​บ้าน​ของ​พ่อ​แม่ แต่​พยายาม​ทำ​ให้​น้อย​ที่​สุด​เพื่อ​พ่อ​แม่​จะ​ปรับ​ตัว​ได้ ถ้า​คุณ​ไม่​สามารถ​อยู่​ดู​แล​พ่อ​แม่​อย่าง​ใกล้​ชิด​ได้​เพราะ​อยู่​ไกล​กัน คุณ​อาจ​ขอ​พี่​น้อง​พยาน​ฯ หรือ​เพื่อน​บ้าน​ให้​แวะ​ไป​ดู​เป็น​ระยะ ๆ เพื่อ​คุณ​จะ​รู้​ความ​เป็น​ไป​ของ​ท่าน บาง​ที​พ่อ​แม่​อาจ​ต้องการ​คน​ช่วย​ทำ​อาหาร​และ​ทำ​ความ​สะอาด​บ้าน นอก​จาก​นั้น คุณ​อาจ​ต้อง​ปรับ​ปรุง​บาง​ส่วน​ใน​บ้าน​ของ​พ่อ​แม่​หรือ​จัด​บ้าน​ใหม่​เพื่อ​ให้​ท่าน​เดิน​ไป​มา​ได้​สะดวก​และ​ปลอด​ภัย ผู้​สูง​อายุ​บาง​คน​ก็​ไม่​ชอบ​ให้​ใคร​มา​อยู่​ด้วย อาจ​จะ​จ้าง​คน​มา​ทำ​งาน​หรือ​มา​ดู​แล​บาง​ครั้ง​บาง​คราว​เท่า​นั้น แต่​ถ้า​คุณ​เห็น​ว่า​ไม่​ปลอด​ภัย​จริง ๆ ที่​ท่าน​จะ​อยู่​ตาม​ลำพัง ก็​อาจ​จำเป็น​ต้อง​หา​คน​ดู​แล​อย่าง​ใกล้​ชิด เช่น ให้​ลูก​หรือ​ญาติ​สัก​คน​มา​อยู่​ด้วย ไม่​ว่า​จะ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ไร​ทั้ง​ครอบครัว​ควร​คุย​กัน​ใน​เรื่อง​นั้น *อ่าน​สุภาษิต 21:5, ล.ม. *

บาง​ครอบครัว​รับมือ​อย่าง​ไร?

12, 13. ลูก​ที่​อยู่​ไกล​จะ​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​พ่อ​แม่​ได้​อย่าง​ไร?

12 ลูก​ทุก​คน​รัก​พ่อ​แม่​และ​อยาก​ให้​ท่าน​อยู่​สบาย​และ​ปลอด​ภัย ถ้า​พ่อ​แม่​ได้​รับ​การ​ดู​แล​อย่าง​ดี ลูก ๆ ก็​สบาย​ใจ แต่​ลูก​บาง​คน​ก็​อยู่​ไกล​จาก​พ่อ​แม่ บาง​คน​จึง​ใช้​ช่วง​วัน​หยุด​หรือ​วัน​ลา​พัก​ไป​เยี่ยม​พ่อ​แม่ พา​ท่าน​ไป​ทำ​ธุระ หรือ​ช่วย​ทำ​งาน​บ้าน​บาง​อย่าง​ที่​ท่าน​ทำ​เอง​ไม่​ได้ นอก​จาก​นั้น ลูก​ควร​โทรศัพท์​ไป​หา​บ่อย ๆ หรือ​ทุก​วัน​ถ้า​ทำ​ได้ หรือ​จะ​ส่ง​จดหมาย​หรือ​ส่ง​อีเมล​ก็​ได้ พ่อ​แม่​จะ​ได้​มั่น​ใจ​ว่า​ลูก​ยัง​รัก​และ​คิด​ถึง​เขา​เสมอ—สุภา. 23:24, 25

13 ถึง​แม้​คุณ​กับ​พ่อ​แม่​ไม่​ได้​อยู่​บ้าน​เดียว​กัน คุณ​ก็​ควร​ดู​แล​ท่าน​ใน​เรื่อง​ความ​เป็น​อยู่​ใน​แต่​ละ​วัน​ด้วย ถ้า​บ้าน​ของ​คุณ​อยู่​ไกล​กัน​และ​พ่อ​แม่​ของ​คุณ​เป็น​พยาน​ฯ คุณ​อาจ​ขอ​คำ​แนะ​นำ​จาก​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​ของ​พ่อ​แม่ และ​อย่า​ลืม​อธิษฐาน​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ที่​คุณ​เป็น​ห่วง (อ่าน​สุภาษิต 11:14) ถึง​แม้​ว่า​พ่อ​แม่​ของ​คุณ​ไม่​ได้​เป็น​พยาน​ฯ คุณ​ก็​ยัง​ต้อง “นับถือ​บิดา​มารดา” (เอ็ก. 20:12; สุภา. 23:22) แต่​ละ​ครอบครัว​อาจ​ตัดสิน​ใจ​ไม่​เหมือน​กัน ลูก​บาง​คน​ให้​พ่อ​แม่​สูง​อายุ​มา​อยู่​ด้วย​หรือ​มา​อยู่​ใกล้ ๆ แต่​บาง​คน​ก็​ทำ​อย่าง​นั้น​ไม่​ได้ ผู้​สูง​อายุ​บาง​คน​อาจ​ไม่​ชอบ​อยู่​กับ​ลูก​หลาน​เพราะ​อยาก​เป็น​อิสระ​และ​ไม่​อยาก​เป็น​ภาระ​ของ​ใคร และ​บาง​คน​ก็​มี​เงิน​มาก​พอ​ที่​จะ​จ้าง​คน​มา​ดู​แล​หรือ​รับ​ส่ง​เป็น​ครั้ง​คราว​จึง​ไม่​ต้อง​รบกวน​ลูก​หลาน และ​เขา​เอง​ก็​ชอบ​แบบ​นี้​มาก​กว่า—ผู้ป. 7:12

14. อาจ​เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​คน​ที่​เป็น​ตัว​หลัก​ใน​การ​ดู​แล​พ่อ​แม่?

14 ใน​หลาย​ครอบครัว มัก​จะ​มี​ลูก​คน​หนึ่ง​ที่​เป็น​ตัว​หลัก​ใน​การ​ดู​แล​พ่อ​แม่ และ​ส่วน​ใหญ่​ก็​จะ​เป็น​คน​ที่​บ้าน​อยู่​ใกล้​พ่อ​แม่​มาก​ที่​สุด แต่​ลูก​ที่​ทำ​หน้า​ที่​นี้​ต้อง​จัด​เวลา​ให้​ดี เพราะ​ถ้า​เขา​มี​ครอบครัว​แล้ว​เขา​ก็​ต้อง​ดู​แล​รับผิดชอบ​ครอบครัว​ของ​ตัว​เอง​ด้วย เรา​ทุก​คน​มี​ขีด​จำกัด​ทั้ง​ใน​เรื่อง​เวลา​และ​กำลัง​เรี่ยว​แรง ถ้า​สภาพการณ์​ของ​ลูก​ที่​ดู​แล​พ่อ​แม่​เปลี่ยน​ไป ทั้ง​ครอบครัว​อาจ​ต้อง​มา​ตก​ลง​กัน​ใหม่​ว่า​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​อย่าง​ไร อาจ​ต้อง​คิด​ด้วย​ว่า​มี​ใคร​ใน​ครอบครัว​กำลัง​รับ​ภาระ​หนัก​เกิน​ไป​ไหม ลูก​คน​อื่น ๆ จะ​ช่วย​แบ่ง​เบา​ภาระ​หรือ​ผลัด​เปลี่ยน​กัน​ดู​แล​พ่อ​แม่​บ้าง​ได้​ไหม?

15. คน​ที่​ต้อง​ดู​แล​พ่อ​แม่​สูง​อายุ​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​ไม่​เหนื่อย​เกิน​ไป?

15 ถ้า​พ่อ​แม่​ต้อง​ได้​รับ​การ​ดู​แล​ตลอด​เวลา ลูก​ที่​ดู​แล​เป็น​ประจำ​อาจ​เหนื่อย​เกิน​ไป (ผู้ป. 4:6) ลูก​ก็​อยาก​ดู​แล​พ่อ​แม่​ที่​ตน​รัก​อย่าง​ดี​ที่​สุด แต่​การ​ดู​แล​ผู้​สูง​อายุ​ที่​ช่วย​ตัว​เอง​แทบ​ไม่​ได้​เป็น​งาน​ที่​หนัก​มาก คน​ที่​ดู​แล​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​ตัว​เอง​มี​ขีด​จำกัด และ​ถ้า​จำเป็น​ก็​ต้อง​ขอ​ให้​คน​อื่น​ช่วย บาง​ที​แค่​ขอ​ให้​ญาติ​พี่​น้อง​หรือ​เพื่อน ๆ มา​ผลัด​เปลี่ยน​บาง​ครั้ง​บาง​คราว​ก็​เพียง​พอ ไม่​ต้อง​ถึง​กับ​ให้​พ่อ​แม่​ไป​อยู่​สถาน​พยาบาล​ผู้​สูง​อายุ

16, 17. ลูก​ที่​ดู​แล​พ่อ​แม่​สูง​อายุ​ที่​เจ็บ​ป่วย​อาจ​รู้สึก​อย่าง​ไร และ​อะไร​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​รับมือ​ได้? (ดู​กรอบ “ดู​แล​ด้วย​ความ​รัก”)

16 เมื่อ​เห็น​พ่อ​แม่​ที่​ตน​รัก​ต้อง​ทน​ทุกข์​เพราะ​ความ​ชรา​ลูก ๆ อาจ​รู้สึก​หดหู่ ลูก​ที่​ทำ​หน้า​ที่​ดู​แล​เป็น​ประจำ​ก็​อาจ​เศร้า​ใจ วิตก​กังวล หงุดหงิด โทษ​ตัว​เอง โกรธ หรือ​ถึง​กับ​ขมขื่น บาง​ที​พ่อ​แม่​ก็​พูด​อะไร​ที่​ทำ​ให้​เสียใจ​หรือ​น้อย​ใจ​เหมือน​กับ​ไม่​เห็น​คุณค่า​ที่​มี​คน​มา​ดู​แล แต่​อย่า​เพิ่ง​โกรธ​ท่าน ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​สุขภาพ​จิต​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า​เมื่อ​เรา​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ ก่อน​อื่น​เรา​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​เรา​รู้สึก​อย่าง​นั้น​จริง ๆ และ​อย่า​โทษ​ตัว​เอง​หรือ​คิด​ว่า​เรา​แย่​มาก​ที่​รู้สึก​อย่าง​นั้น ลอง​พูด​กับ​ใคร​สัก​คน​ที่​คุณ​จะ​ปรับ​ทุกข์​ได้ เช่น คู่​สมรส พี่ ๆ น้อง ๆ หรือ​เพื่อน​ที่​คุณ​ไว้​ใจ เมื่อ​ได้​ระบาย​ความ​ใน​ใจ​ออก​ไป​คุณ​จะ​รู้สึก​ดี​และ​ควบคุม​อารมณ์​ได้​ดี​ขึ้น

17 เมื่อ​ถึง​เวลา​ที่​ครอบครัว​คิด​ว่า​พ่อ​แม่​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​ดู​แล​เป็น​พิเศษ​ซึ่ง​ไม่​สามารถ​ทำ​ได้​ที่​บ้าน พวก​เขา​อาจ​ต้อง​ย้าย​พ่อ​แม่​ไป​อยู่​ที่​สถาน​พยาบาล พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​ไป​เยี่ยม​แม่​ของ​เธอ​ที่​สถาน​พยาบาล​เกือบ​ทุก​วัน เธอ​เล่า​ว่า “เรา​ไม่​สามารถ​ดู​แล​คุณ​แม่​ตลอด 24 ชั่วโมง​ได้ จริง ๆ แล้ว​เรา​ก็​ไม่​อยาก​ให้​ท่าน​ไป​อยู่​ที่​นั่น​เลย แต่​เรา​รู้​ว่า​มัน​เป็น​ทาง​เลือก​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​ช่วง​เดือน​ท้าย ๆ ก่อน​ท่าน​จะ​จาก​ไป และ​คุณ​แม่​เอง​ก็​เข้าใจ​ดี”

18. ลูก​ที่​ดู​แล​พ่อ​แม่​สูง​อายุ​มั่น​ใจ​ได้​ใน​เรื่อง​อะไร?

18 การ​ดู​แล​พ่อ​แม่​สูง​อายุ​ที่​เจ็บ​ป่วย​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย และ​มี​หลาย​เรื่อง​ที่​ต้อง​คิด​ให้​รอบคอบ ไม่​มี​ทาง​เลือก​ไหน​ดี​ที่​สุด​สำหรับ​ทุก​ครอบครัว แต่​ถ้า​คุณ​วาง​แผน​ล่วง​หน้า ร่วม​มือ​กัน​อย่าง​ดี พูด​คุย​กัน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา และ​ที่​สำคัญ อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา คุณ​ก็​จะ​ทำ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​นี้​ได้ ถ้า​คุณ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​นี้ คุณ​ก็​ได้​ดู​แล​พ่อ​แม่​ของ​คุณ​อย่าง​ดี​ที่​สุด​แล้ว (อ่าน 1 โครินท์ 13:4-8) ที่​สำคัญ คุณ​จะ​รู้สึก​สบาย​ใจ​และ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​อวย​พร​คุณ เพราะ​คุณ​ได้​นับถือ​พ่อ​แม่​อย่าง​ที่​พระองค์​อยาก​ให้​เรา​ทำ—ฟิลิป. 4:7

^ วรรค 3 การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​ครอบครัว​บาง​ครั้ง​ขึ้น​อยู่​กับ​วัฒนธรรม เช่น บาง​ประเทศ​พ่อ​แม่​ที่​สูง​อายุ​ชอบ​อยู่​ตาม​ลำพัง​ใน​บ้าน​ของ​ตน​เอง แต่​บาง​ประเทศ​ก็​ชอบ​อยู่​บ้าน​เดียว​กัน​กับ​ลูก​หลาน

^ วรรค 11 ถ้า​พ่อ​แม่​ยัง​อยู่​ใน​บ้าน​ของ​ท่าน​เอง​ได้ คุณ​อาจ​ฝาก​กุญแจ​บ้าน​สำรอง​ไว้​กับ​คน​ดู​แล​ที่​ไว้​ใจ​ได้​เผื่อ​เกิด​เหตุ​ฉุกเฉิน

^ วรรค 11 สุภาษิต 21:5 (ล.ม.): “คน​ขยัน​ที่​วาง​แผนการ​ย่อม​ประสบ​ผล​สำเร็จ​แน่ แต่​ทุก​คน​ที่​หุนหัน​ย่อม​ขัดสน​แน่นอน”