ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 เรื่องราวชีวิตจริง

พระยะโฮวาช่วยผมมาตลอด

พระยะโฮวาช่วยผมมาตลอด

ในปี 1957 ผมกับเอวีลีนภรรยาของผมนั่งรถไฟมาถึงเมืองฮอร์นเพนที่อยู่ในเขตชนบททางตอนเหนือของมณฑลออนแทรีโอประเทศแคนาดา เรามาถึงตอนเช้ามืดและอากาศก็หนาวจัด มีพี่น้องมารับเราที่สถานีรถไฟและเมื่อเรากินข้าวกับครอบครัวเขาเสร็จ เราก็ต้องเดินฝ่าหิมะออกไปประกาศตามบ้าน พอตอนบ่ายผมต้องบรรยายสาธารณะที่มีผู้ฟังแค่ห้าคน นี่เป็นคำบรรยายแรกในงานเดินหมวดของผม

ผมเป็นคนขี้อายมาตั้งแต่เด็ก เวลามีแขกมาที่บ้านถึงผมจะรู้จักเขาผมก็ยังวิ่งไปหลบ ดังนั้น ตอนที่ผมบรรยายถึงแม้จะมีคนมาฟังแค่นิดเดียวผมก็ไม่คิดอะไร

งานมอบหมายที่ผมได้รับในองค์การของพระเจ้าล้วนแต่เป็นงานที่ต้องพูดคุยกับคนอื่นทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก ที่จริง ผมยังขี้อายและไม่มั่นใจตัวเองอยู่ตลอด ดังนั้น ผมต้องบอกว่าที่ผมทำงานต่าง ๆ ได้นั้นไม่ได้เป็นฝีมือของผมเลยแต่พระยะโฮวาต่างหากที่ช่วยผมเหมือนที่พระองค์สัญญาว่า “อย่ากลัวเลย ด้วยว่าเราอยู่กับเจ้า อย่าท้อใจ เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะหนุนกำลังเจ้า เออ เราจะช่วยเจ้า เออ เราจะยกชูเจ้าไว้ด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา” (ยซา. 41:10) พระเจ้ามักช่วยผมโดยให้เพื่อนพยานคอยให้กำลังใจผม ผมจะเล่าเรื่องของผมให้คุณฟัง

เธอใช้คัมภีร์ไบเบิลและสมุดเล่มเล็ก ๆ สีดำ

บ้านของเราในฟาร์มที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลออนแทรีโอ

ประมาณปี 1940 ในเช้าวันอาทิตย์ที่ท้องฟ้าแจ่มใส เอลซี ฮันทิงฟอร์ดมาประกาศที่บ้านของเราในฟาร์มทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลออนแทรีโอ แม่เป็นคนไปคุยกับเธอที่ประตู บ้าน เพราะพ่อเป็นคนขี้อายเหมือนกับผมเราสองคนเลยนั่งอยู่ในบ้าน ตอนแรก พ่อคิดว่าเธอมาขายของและกลัวว่าแม่จะหลวมตัวซื้อของของเธอ พ่อเลยเดินไปที่ประตูแล้วบอกเธอว่า “เราไม่สนใจซื้อของของคุณ” แต่เอลซีถามกลับมาว่า “แล้วคุณสนใจอยากเรียนไบเบิลไหม?” พ่อตอบทันทีว่า “ถ้าเรื่องนี้ ละก็ผมสนใจ”

เอลซีมาได้จังหวะเหมาะจริง ๆ ครอบครัวเราเคยไปโบสถ์ของคริสตจักรยูไนเต็ดแห่งแคนาดาเป็นประจำ แต่พวกเราเพิ่งเลิกไปโบสถ์เพราะที่นั่นมักกดดันให้เราบริจาคเงินมาก ๆ อย่างเช่นพวกเขาเขียนรายชื่อคนบริจาคไว้ในห้องโถงของโบสถ์เรียงจากมากไปหาน้อย แต่บ้านเราไม่ค่อยมีเงิน ชื่อของเราจึงอยู่หางแถวเสมอ แถมอาจารย์คนหนึ่งที่สอนในโบสถ์นั้นเคยบอกครอบครัวของเราว่าจริง ๆ แล้วตัวเขาก็ไม่ได้เชื่อเรื่องที่เขาสอนแต่ถ้าเขาไม่ทำงานสอนที่นี่ก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร เพราะผิดหวังกับเรื่องเหล่านี้ ครอบครัวเราเลยไม่ไปโบสถ์นั้นอีกแต่เราก็หวังว่าสักวันเราคงจะเจอศาสนาดี ๆ

ตอนนั้นรัฐบาลแคนาดาสั่งห้ามงานประกาศของพยานพระยะโฮวา ช่วงแรกที่เอลซีมาสอนครอบครัวเราเธอจึงใช้แค่พระคัมภีร์กับสมุดจดเล่มเล็ก ๆ สีดำของเธอ แต่พอเธอมั่นใจว่าพวกเราจะไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ เอลซีก็เริ่มให้หนังสืออื่น ๆ และพวกเราต้องซ่อนหนังสือเหล่านั้นทุกครั้งหลังศึกษาเสร็จ *

มีคนมาประกาศที่บ้านของเราและพ่อแม่ของผมรับบัพติสมาในปี 1948

ผมประทับใจและอยากเลียนแบบตัวอย่างที่ดีของเอลซีที่ขยันขันแข็งในการประกาศถึงแม้มีการสั่งห้ามจากรัฐบาล หลังจากพ่อแม่บัพติสมาได้หนึ่งปี ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1949 ตอนอายุได้ 17 ปี ผมก็ตัดสินใจรับบัพติสมาในอ่างที่เอาไว้ใส่น้ำให้สัตว์กิน หลังจากนั้นมาผมก็เริ่มคิดเรื่องงานรับใช้เต็มเวลา

พระยะโฮวาช่วยผมให้กล้าตัดสินใจ

ผมตื่นเต้นดีใจที่ถูกเชิญเข้าเบเธลในปี 1952

ผมไม่กล้าตัดสินใจเป็นไพโอเนียร์ทันที ผมเลยทำงานที่ธนาคารเพราะคิดว่าผมควรจะมีเงินเก็บบ้างเพื่อจะดูแลตัว เองแล้วค่อยเป็นไพโอเนียร์ แต่ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กหนุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ พอได้เงินมาเท่าไรก็ใช้จนหมดไม่เหลือเก็บเลย แต่พอบราเดอร์เทด ซาร์เจนต์มากระตุ้นผมให้วางใจพระเจ้ามากขึ้น (1 โคร. 28:10) ผมเลยตัดสินใจเป็นไพโอเนียร์ในเดือนพฤศจิกายนปี 1951 ตอนนั้นผมมีเงินแค่ 40 ดอลลาร์พร้อมกับกระเป๋าใบใหม่หนึ่งใบและจักรยานเก่าหนึ่งคัน พระยะโฮวาคอยดูแลผมเสมอ ผมดีใจมากที่ได้ทำตามคำแนะนำของบราเดอร์เทด ที่จริง มีพระพรอีกหลายอย่างตามมา

เย็นวันหนึ่งปลายเดือนสิงหาคมปี 1952 ผมได้รับโทรศัพท์ให้ไปทำงานที่เบเธลในโทรอนโต สาขาขอให้ผมไปเริ่มงานในเดือนกันยายน แม้ว่าผมเป็นคนขี้อายและไม่เคยไปเบเธลเลยแต่ผมก็ตื่นเต้นดีใจเพราะเคยได้ยินไพโอเนียร์หลายคนเล่าเรื่องเบเธลให้ฟัง พอไปที่นั่นผมก็รู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่กับครอบครัว

“คุณต้องให้พี่น้องรู้ว่าคุณรักเขาจริง ๆ”

หลังจากอยู่เบเธลได้สองปี ผมก็รับหน้าที่เป็นผู้รับใช้ประชาคม (ปัจจุบันเรียกว่าผู้ประสานงานคณะผู้ปกครอง) ในประชาคมหนึ่งของจังหวัดโทรอนโตต่อจากบราเดอร์บิลล์ ยาคอส ตอนนั้นผมอายุแค่ 23 ปีและรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กบ้านนอกที่ไม่มีประสบการณ์ แต่บราเดอร์บิลล์ค่อย ๆ สอนงานผมอย่างใจเย็น และจริง ๆ แล้วพระยะโฮวาก็ช่วยผมด้วย

บราเดอร์บิลล์เป็นคนตัวใหญ่ใจดีที่สนใจคนอื่น เขารักพี่น้องและพี่น้องก็รักเขาด้วย ถึงพี่น้องจะไม่มีปัญหาอะไรเขาก็ชอบไปเยี่ยมพี่น้องที่บ้าน บราเดอร์บิลล์บอกให้ผมทำอย่างนั้นเหมือนกันและบอกให้ผมไปประกาศกับพี่น้องบ่อย ๆ เขาบอกผมอีกว่า “คุณต้องให้พี่น้องรู้ว่าคุณรักเขาจริง ๆ แล้วเมื่อคุณทำอะไรผิดเขาก็จะไม่โกรธคุณ”

ภรรยาของผมรักและอยู่เคียงข้างผมเสมอ

ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 1957 ผมแต่งงานกับเอวีลีน เธอเป็นเหมือนของขวัญจากพระยะโฮวาที่คอยช่วยผมเสมอ เอวีลีนจบกิเลียดชั้นเรียนที่ 14 ก่อนแต่งงานเธอรับใช้ในมณฑลควิเบกซึ่งผู้คนที่นั่นใช้ภาษาฝรั่งเศสและคริสตจักรโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลในตอนนั้น งานรับใช้ของเธอจึงไม่ง่ายเลยแต่เธอก็รักพระยะโฮวาและงานรับใช้จริง ๆ

ผมแต่งงานกับเอวีลีนในปี 1957

เอวีลีนรักและอยู่เคียงข้างผมเสมอ (เอเฟ. 5:31) เราใฝ่ฝันว่าจะไปฮันนีมูนกันหลังแต่งงานที่ฟลอริดา แต่แค่หนึ่งวันหลังแต่งงานแผนการของเราก็ต้องพับเก็บไว้ก่อน สำนักงานสาขาเชิญผมไปประชุมที่เบเธลแคนาดาหนึ่งอาทิตย์เต็ม ๆ ตอนนั้น เราคุยกันว่าเราต้องให้พระยะโฮวามาก่อน เธอเห็นด้วยกับผม เราเลยยกเลิกแผนการฮันนีมูนแล้วไปเบเธล ตอนที่ผมไปประชุมเอวีลีนก็ไปประกาศกับพี่น้องในเขตใกล้ ๆ สำนักงานสาขาซึ่งเป็นเขตที่แตกต่างอย่างมากกับเขตที่ควิเบก แต่เธอก็พยายามทำ

 พอครบหนึ่งอาทิตย์ เราก็ได้งานมอบหมายใหม่ให้ไปเป็นผู้ดูแลหมวดทางเหนือของมณฑลออนแทรีโอ ตอนนั้นผมเพิ่งแต่งงาน อายุแค่ 25 ปีและไม่มีประสบการณ์อะไรเลย แต่ผมก็ไปเพราะมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยผม ตอนที่ผมออกเดินทางเป็นช่วงกลางฤดูหนาวของแคนาดา ผมนั่งรถไฟไปกับผู้ดูแลหมวดที่มีประสบการณ์หลายคน พวกเขาให้กำลังใจเรามาก พี่น้องชายคนหนึ่งถึงกับสละที่นอนบนรถไฟให้เพื่อเราจะไม่ต้องนั่งหลับไปตลอดคืน วันรุ่งขึ้นเราก็มาถึงเมืองฮอร์นเพนซึ่งมีพี่น้องกลุ่มเล็ก ๆ เหมือนที่ผมเกริ่นไว้ในตอนแรก เราเพิ่งแต่งงานกันได้แค่ 15 วัน!

ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างรออยู่ ปลายปี 1960 ตอนที่ผมเป็นผู้ดูแลภาค ผมถูกเชิญไปกิเลียดชั้นเรียนที่ 36 ซึ่งจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1961 ตอนนั้นต้องใช้เวลาเรียนสิบเดือนและจัดขึ้นที่บรุกลิน นิวยอร์ก ผมดีใจแต่ก็เป็นห่วงเอวีลีนเพราะเธอไม่ได้ถูกเชิญไปด้วย แถมยังต้องเขียนจดหมายยินยอมที่จะแยกกันอยู่กับผมชั่วคราวตอนที่ผมไปกิเลียด เอวีลีนร้องไห้แต่เธอก็ยินดีและมั่นใจว่าผมจะได้รับประโยชน์จากหลักสูตรสิบเดือนที่มีค่านี้

ตอนที่ผมอยู่กิเลียด เอวีลีนถูกส่งไปรับใช้ที่สาขาแคนาดา ที่นั่นเธอมีโอกาสดีที่ได้อยู่ห้องเดียวกับซิสเตอร์มาร์กาเร็ต โลเวลล์ซึ่งเป็นผู้ถูกเจิม เราคิดถึงกันมากแต่พระยะโฮวาก็ช่วยเราให้ทำหน้าที่ของเราได้อย่างดีที่สุด พอนึกถึงการเสียสละที่ภรรยาของผมได้ทำเพื่อพระเจ้าก็ยิ่งทำให้ผมรักและเห็นค่าเธอมากขึ้น

หลังจากเรียนกิเลียดไปได้สามเดือน บราเดอร์นาทาน นอรร์ที่ดูแลงานประกาศทั่วโลกในตอนนั้นมาหาผมและเสนองานมอบหมายใหม่ที่ทำให้ผมแปลกใจจริง ๆ เขาให้ผมเลือกเอาว่าจะกลับไปสาขาแคนาดาเพื่อเป็นครูในโรงเรียนพระราชกิจซึ่งก็แค่ช่วงสั้น ๆ หรือจะเรียนกิเลียดต่อจนจบ บราเดอร์นอรร์ให้ผมเลือกเอง เขาไม่บังคับ แต่เขาบอกว่าถ้าผมเลือกเรียนต่อจนจบก็อาจถูกส่งไปเป็นมิชชันนารีที่อื่น หรือถ้าเลือกที่จะกลับไปเป็นครูที่สาขาแคนาดาผมก็อาจไม่ถูกเชิญเข้าโรงเรียนกิเลียดอีกเลยและคงต้องรับใช้ที่แคนาดาไปเรื่อย ๆ และบราเดอร์นอรร์ก็บอกให้ผมคุยกับเอวีลีนก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ

เอวีลีนเคยบอกผมแล้วว่าเธอยินดีทำงานรับใช้พระเจ้าไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม ผมเลยตอบบราเดอร์นอรร์ได้ทันทีเลยว่า “เรายินดีทำอะไรก็ได้ที่องค์การของพระยะโฮวาอยากให้เราทำ” เราสองคนคิดเสมอว่าเราต้องให้งานของพระเจ้ามาก่อนความต้องการของเรา

ในเดือนเมษายนปี 1961 ผมกลับไปแคนาดาเพื่อเป็นครูในโรงเรียนพระราชกิจ พอโรงเรียนจบเราก็รับใช้ที่เบเธลต่อ จากนั้นก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นอีก ผมถูกเชิญ เข้าโรงเรียนกิเลียดอีกครั้งในชั้นเรียนที่ 40 ซึ่งจะเริ่มในปี 1965 ตอนนั้นเอวีลีนก็ต้องเขียนจดหมายยินยอมให้ผมไปอีกรอบ แต่อีกสองสามอาทิตย์ต่อมาเธอก็ได้รับเชิญให้เข้าโรงเรียนพร้อมกับผมด้วย เราสองคนดีใจมาก

ตอนอยู่ที่กิเลียด บราเดอร์นอรร์บอกพวกเราว่านักเรียนที่เข้าเรียนภาษาฝรั่งเศสจะถูกส่งไปรับใช้ที่แอฟริกา แต่พอเราเรียนจบเรากลับได้รับมอบหมายให้กลับไปรับใช้ที่สาขาแคนาดาโดยที่ผมต้องไปเป็นผู้ดูแลสาขา (ปัจจุบันเรียกว่าผู้ประสานงานสาขา) ตอนนั้นผมอายุแค่ 34 ปีผมจึงบอกบราเดอร์นอรร์ว่า “ผมยังเด็กไป” แต่เขาก็ยืนยันว่าผมทำได้ พอเริ่มทำหน้าที่นี้จริง ๆ ผมก็มักจะปรึกษาพี่น้องที่มีประสบการณ์ก่อนทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ

เบเธล—ที่ที่ผมได้เรียนและได้สอน

ที่เบเธลผมได้เรียนหลายอย่างจากคนอื่น ผมได้เรียนจากคณะกรรมการสาขาทุกคนที่น่านับถือ นอกจากนั้น ผมยังได้เรียนจากตัวอย่างที่ดีของพี่น้องอีกหลายคนทั้งคนหนุ่มสาวหรือสูงวัยในเบเธลรวมทั้งในประชาคมต่าง ๆ ที่ผมและภรรยาสมทบด้วย

นำการนมัสการตอนเช้าที่เบเธลแคนาดา

ที่เบเธลผมยังได้สอนและช่วยให้หลายคนมีความเชื่อมากขึ้นเหมือนที่เปาโลเคยสอนติโมเธียวว่า “จงทำตามสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้” และเปาโลยังบอกอีกว่า “สิ่งต่าง ๆ ที่ท่านได้ยินจากข้าพเจ้าโดยมีหลายคนเป็นพยานยืนยันนั้น จงมอบให้แก่คนที่ซื่อสัตย์ผู้ซึ่งมีคุณวุฒิเพียงพอจะสอนสิ่งเหล่านี้แก่คนอื่นด้วย” (2 ติโม. 2:2; 3:14) บางครั้งพี่น้องถามว่า ผมได้เรียนอะไรบ้างตลอด 57 ปีที่อยู่ในเบเธล ผมมักจะบอกพี่น้องว่า “เราต้องเต็มใจทำทุกอย่างที่พระยะโฮวาอยากให้เราทำและขอความช่วยเหลือจากพระองค์เสมอ”

เวลาผ่านไปเร็วมากเหมือนกับว่าผมเพิ่งเข้าเบเธลเมื่อวานนี้ตอนที่ยังเป็นเด็กหนุ่มขี้อาย แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พระยะโฮวา “ยึดมือข้างขวา” ของผมเสมอ พระองค์ทำอย่างนั้นโดยทางพี่น้องที่น่ารักและพร้อมจะช่วยเหลือผมเหมือนพระยะโฮวากำลังบอกผมว่า “อย่ากลัวเลย เราจะช่วยเจ้า”—ยซา. 41:13

^ วรรค 10 รัฐบาลแคนาดายกเลิกการสั่งห้ามงานของพยานพระยะโฮวาในวันที่ 22 พฤษภาคม 1945