ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เราจะช่วยเหลือพี่น้องที่หย่าร้างได้อย่างไร?

เราจะช่วยเหลือพี่น้องที่หย่าร้างได้อย่างไร?

คุณอาจรู้จักใครบางคนที่หย่าร้าง เพราะการหย่าเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ เช่น ในประเทศโปแลนด์คนที่แต่งงานมาแล้ว 3-6 ปีซึ่งมีอายุระหว่าง 30-40 ปีมีโอกาสหย่าร้างสูง แต่ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับคนวัยอื่นด้วย

สถาบันวางแผนครอบครัวในสเปนรายงานว่า “มีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของคู่สมรสในยุโรปลงเอยด้วยการหย่าร้าง” ที่จริงเราเห็นตัวเลขคล้าย ๆ กันนี้ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย

ความเจ็บปวดทางอารมณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

คนที่หย่าร้างทุกคนมักได้รับผลกระทบทางอารมณ์และความรู้สึกเหมือน ๆ กัน ที่ปรึกษาปัญหาครอบครัวคนหนึ่งในยุโรปตะวันออกเคยพูดไว้ว่า “ที่จริงปัญหาไม่ได้เริ่มต้นที่การหย่า แต่เริ่มต้นมานานแล้วก่อนที่พวกเขาจะหย่ากันด้วยซ้ำ การหย่าร้างและการแยกกันอยู่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทางอารมณ์และความรู้สึก เป็นเหมือนลมมรสุมที่ปั่นป่วน มีทั้งความรู้สึกโกรธ เสียใจ ผิดหวัง สิ้นหวัง และอับอาย” ความรู้สึกแบบนี้ทำให้บางคนถึงกับคิดจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ ที่ปรึกษาคนนี้ยังพูดอีกว่า “เมื่อหย่ากันใหม่ ๆ คุณจะรู้สึกว่างเปล่า เคว้งคว้าง และสับสนจนถึงกับถามตัวเองว่า ‘ฉันจะทำอย่างไรกับชีวิตดี? ชีวิตของฉันจะเดินต่อไปอย่างไร?’”

อีวา *พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่เพิ่งหย่าได้ไม่นานพูดว่า “ฉันอับอายและโกรธมากเวลาเพื่อนบ้านกับเพื่อนที่ทำงานตราหน้าฉันว่า ‘เป็นคนที่ถูกทิ้ง’ นอกจากนั้น ฉันยังต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ของลูกน้อยสองคน” อดัมเป็นอีกคนหนึ่งที่พี่น้องให้ความนับถือ เขารับใช้เป็นผู้ปกครองมา 12 ปี แต่ชีวิตคู่ของเขากลับต้องลงเอยด้วยการหย่าร้าง เขาพูดว่า “ผมหมดความนับถือตัวเอง รู้สึกโกรธและอยากอยู่คนเดียว”

ไม่ง่ายที่จะคิดบวก

หลังจากหย่าร้าง ไม่ง่ายเลยที่จะคิดบวก แม้จะหย่ามาหลายปีแล้วหลายคนก็ยังกังวลกับอนาคต เขาอาจรู้สึกว่าคนอื่นไม่รักเขา นักเขียนคนหนึ่งบอกไว้ว่า “คนที่เพิ่งหย่าต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาตามลำพัง”

สตานีสวาฟเล่าว่า “หลังจากหย่ากับภรรยา เธอไม่ยอมให้ผมได้พบลูกสาวตัวน้อยสองคนเลย ตอนนั้นผมรู้สึกว่าไม่มีใครสนใจผมอีกแล้ว แม้แต่พระยะโฮวาก็ทิ้งผม ผมไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป แต่หลังจากนั้น ผมก็มาคิดได้ว่าความคิดแบบนั้นไม่ถูกต้อง” วันดาพี่น้องหญิงอีกคนหนึ่งที่หย่าร้างกังวล ว่าอนาคตของเธอจะเป็นอย่างไร เธอบอกว่า “ตอนแรกฉันคิดว่าคนอื่นและพี่น้องคงไม่สนใจฉันกับลูก ๆ แต่จริง ๆ แล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลย พี่น้องอยู่เคียงข้างและคอยช่วยเหลือฉันเสมอ นี่ทำให้ฉันอดทนและเลี้ยงลูกให้รับใช้พระยะโฮวาได้”

ต้องยอมรับว่าหลังจากหย่าแล้วคนเรามักจะคิดลบมากกว่าคิดบวก พวกเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าและไม่มีใครสนใจ และมักมองคนอื่นในแง่ลบด้วย ความรู้สึกนี้ทำให้พวกเขามองพี่น้องในประชาคมว่าเย็นชาและไม่เห็นอกเห็นใจเขา แต่ประสบการณ์ของพี่น้องทั้งสองคนทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าพี่น้องสนใจและรักพวกเขาจริง ๆ แน่นอนว่าพี่น้องในประชาคมจะสนใจช่วยคนที่หย่าร้างเป็นพิเศษถึงแม้ในตอนแรกยังไม่มีใครสังเกตเห็นความช่วยเหลือนั้นก็ตาม

เมื่อความเหงาและความว้าเหว่ผุดขึ้นในใจ

ถึงแม้เราจะช่วยคนที่หย่าร้างอย่างเต็มที่แล้วแต่พวกเขาก็ยังอาจรู้สึกเหงาอยู่ดี พี่น้องหญิงที่หย่าร้างมักคิดไปเองว่าไม่ค่อยมีใครสนใจเธอ อะลีเซียยอมรับว่า “ถึงแม้ฉันหย่ามาแปดปีแล้ว บางครั้งฉันยังรู้สึกไร้ค่าและร้องไห้อยู่คนเดียวเพราะสงสารตัวเอง”

แน่นอน ไม่แปลกที่จะรู้สึกแบบนั้น แต่คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำไว้ว่าเราไม่ควรแยกตัวอยู่คนเดียวเพราะการทำแบบนี้เป็นการปฏิเสธ “ปัญญาอันถูกต้องทั้งหลาย” (สุภา. 18:1) อย่างไรก็ตาม พี่น้องที่หย่าและรู้สึกเหงาก็ควรระวังที่จะไม่ไปปรึกษาหรือระบายความในใจกับเพศตรงข้ามคนเดิมบ่อย ๆ เพราะถ้าทำแบบนั้นอาจเกิดความรักใคร่ชอบพอแบบไม่เหมาะสมได้

พี่น้องที่หย่าอาจมีความรู้สึกในแง่ลบหลายอย่างผุดขึ้นในใจ เขาอาจรู้สึกกังวลกับอนาคต เหงา และว้าเหว่ เราทุกคนควรเลียนแบบพระยะโฮวา เราต้องไม่ทิ้งเขาให้โดดเดี่ยวและคอยช่วยเหลือพี่น้องเหล่านี้เพื่อเขาจะเอาชนะความรู้สึกที่ไม่ดีได้ (เพลง. 55:22; 1 เป. 5:6, 7) เขาจะมีความสุขมากและขอบคุณที่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนแท้ในประชาคม—สุภา. 17:17; 18:24

^ วรรค 6 ชื่อสมมุติ