ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 เรื่องราวชีวิตจริง

ถึงจะเสียพ่อ แต่ก็ได้พบพ่อ

ถึงจะเสียพ่อ แต่ก็ได้พบพ่อ

พ่อของผมเกิดในปี ค.ศ. 1899 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นตอนที่พ่อผมยังเป็นวัยรุ่น พอสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในปี 1939 พ่อผมถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพเยอรมัน แต่แล้วเหตุการณ์แสนเศร้าก็เกิดขึ้นในปี 1943 ตอนนั้นผมอายุแค่สองขวบแต่ต้องมาสูญเสียพ่อที่รักไป พ่อผมถูกฆ่าระหว่างการสู้รบในรัสเซีย ผมไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้รู้จักพ่อ เมื่อไปโรงเรียน ผมเห็นเพื่อน ๆ มีพ่อแต่ผมไม่มีผมเศร้าใจมาก ผมอยากมีพ่อเหมือนคนอื่นบ้าง แต่พอผมเป็นวัยรุ่น ผมมีกำลังใจมากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพ่อในสวรรค์ที่ไม่มีวันตายจากไป—ฮบา. 1:12

ประสบการณ์การเป็นลูกเสือ

ตอนที่เป็นเด็ก

ผมเริ่มเป็นลูกเสือสำรองตอนอายุ 7 ขวบ ลูกเสือโลกเป็นองค์การนานาชาติที่เริ่มก่อตั้งในปี 1908 โดยทหารของกองทัพอังกฤษชื่อพลโทโรเบิร์ต สตีเฟนสัน สมิท เบเดน-โพเอลล์ และในปี 1916 เขาเริ่มก่อตั้งเยาวชนลูกสุนัขป่า (ลูกเสือสำรอง)

ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ผมชอบไปเข้าค่ายนอกเมืองทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนลูกเสืออย่างสนุกสนาน เรานอนในเต็นท์ ใส่เครื่องแบบเต็มยศ และเดินสวนสนามพร้อมเสียงกลองปลุกใจ เราเล่นเกมกันในป่าและร้องเพลงรอบกองไฟตอนกลางคืน เราได้เรียนอะไรเยอะแยะเกี่ยวกับธรรมชาติที่สอนให้เรารู้และรักสิ่งที่พระผู้สร้างทำเพื่อเรา

ลูกเสือถูกสอนให้ทำดีทุกวันและทักทายลูกเสือคนอื่น ๆ ว่า “จงเตรียมพร้อม” ผมชอบการทักทายแบบนี้มาก ในกลุ่มของเรามีลูกเสือร้อยกว่าคน ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคาทอลิก อีกครึ่งหนึ่งเป็นโปรเตสแตนต์ และมีคนเดียวที่เป็นพุทธ

ตั้งแต่ปี 1920 ลูกเสือได้จัดการประชุมนานาชาติขึ้นเกือบทุกปี บางครั้งผมก็เข้าร่วมด้วย ครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม 1951 ที่เมืองบาด อิชเชิล ประเทศออสเตรีย และอีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม 1957 ที่เบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีลูกเสือ 33,000 คนจาก 85 ประเทศและมีคนอื่น ๆ อีกประมาณ 750,000 คนเข้าร่วมด้วย หนึ่งในนั้นคือ ราชินีเอลิซาเบทแห่งอังกฤษ สำหรับผมแล้วการเป็นลูกเสือคือการได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมพี่น้องนานาชาติ ผมไม่รู้เลยว่าหลังจากนั้นไม่นานผมจะได้พบสังคมพี่น้องที่ดีกว่าซึ่งมีแต่คนที่รักพระเจ้า

ร่วมประชุมครั้งแรกกับพยานพระยะโฮวา

รูดี้ ชิกเกล หัวหน้าแผนกเบเกอรี่เป็นคนแรกที่ประกาศกับผม

ในฤดูใบไม้ผลิปี 1958 ผมกำลังจะจบการอบรมเป็นพนักงานบริการในโรงแรมแกรนด์โฮเทลวิสเลอร์ในเมืองกราซ ประเทศออสเตรีย เพื่อนร่วมงานของผมชื่อรูดอล์ฟ ชิกเกล  ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกเบเกอรี่ประกาศแบบไม่เป็นทางการกับผม นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องความจริง เขาบอกผมว่าคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพไม่ใช่คำสอนของคัมภีร์ไบเบิล แต่ผมก็แย้งว่าคำสอนนี้มาจากพระคัมภีร์ เขานั่นแหละที่เข้าใจผิด แต่ผมก็ยังชอบคุยกับเขาและอยากช่วยเขาให้กลับมาเข้าโบสถ์คาทอลิก

ผมชอบเรียกรูดอล์ฟว่ารูดี้ เขาอยากให้พระคัมภีร์แก่ผม แต่ผมบอกว่าจะเอาพระคัมภีร์ของคาทอลิกเท่านั้น แล้วเขาก็เอามาให้ผมหนึ่งเล่ม ตอนที่ผมเปิดอ่าน ผมเจอแผ่นพับที่พิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ซึ่งรูดี้สอดไว้ในพระคัมภีร์ ผมไม่ชอบเลยเพราะผมรู้สึกว่าเนื้อหาในแผ่นพับดูเหมือนจะถูกต้องแต่ที่จริงเป็นเรื่องโกหกทั้งนั้น แต่ผมก็เต็มใจพูดคุยเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับเขา รูดี้ฉลาดที่ไม่ได้ให้หนังสือหรือวารสารอะไรผมเลย เราได้คุยกันเรื่องพระคัมภีร์ในช่วงประมาณสามเดือน บางครั้งก็คุยกันยาวจนดึกดื่น

หลังจากที่ผมจบจากการอบรมที่โรงแรม แม่ก็ส่งผมไปเรียนต่อที่โรงเรียนการจัดการโรงแรมซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันกับโรงแรมแกรนด์โฮเทล โรงเรียนนี้อยู่ที่เมืองบาด โฮฟกัสไตน์ ในหุบเขาแอลป์ ตอนนั้นผมเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

มิชชันนารีหญิงสองคนมาเยี่ยมผม

อิลเซ อุนเทอร์โดร์เฟอร์กับเอลฟรีเด เลอร์เริ่มสอนพระคัมภีร์ผมในปี 1958

รูดี้ส่งที่อยู่ใหม่ของผมให้สำนักงานสาขาในเวียนนา ทางสาขาจึงขอมิชชันนารีหญิงสองคนชื่ออิลเซ อุนเทอร์โดร์เฟอร์กับเอลฟรีเด เลอร์ให้มาเยี่ยมผม * วันหนึ่งพนักงานต้อนรับของโรงแรมโทรบอกผมว่ามีผู้หญิงสองคนรออยู่ในรถและอยากคุยกับผม ทั้ง ๆ ที่ผมไม่รู้จักพวกเธอเลยแต่ผมก็ออกไปดูว่าพวกเธอเป็นใคร ผมมารู้ทีหลังว่าอิลเซและเอลฟรีเดเป็นคนส่งหนังสือของพยานในยุคนาซีเยอรมันซึ่งตอนนั้นงานของพยานถูกสั่งห้าม ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่ม พวกเธอถูกตำรวจลับเกสตาโปจับกุมและถูกส่งตัวไปค่ายกักกันลิชเทนบูร์ก และในช่วงสงครามพวกเธอถูกส่งไปขังที่ราเฟนส์บรึคใกล้กรุงเบอร์ลิน

พี่น้องหญิงสองคนนี้อายุพอ ๆ กับแม่ผม ผมจึงนับถือพวกเธอ แต่ผมไม่อยากให้พวกเธอมาเสียเวลาคุยกับคนที่ไม่สนใจอย่างผม ผมจึงขอให้เธอทำรายการข้อคัมภีร์เกี่ยวกับคำสอนของคาทอลิกเรื่องการสืบตำแหน่งจากพวกอัครสาวก เพราะคาทอลิกสอนว่าสันตะปาปาองค์แรกคืออัครสาวกเปโตรและสันตะปาปาองค์ต่อไปก็สืบตำแหน่งต่อกันมาเรื่อย ๆ ผมบอกพวกเธอว่าจะเอารายการนี้ไปคุยกับบาทหลวงเพราะคิดว่าวิธีนี้จะทำให้ผมได้พบความจริง

เรียนความจริงเกี่ยวกับพระบิดาองค์บริสุทธิ์ในสวรรค์

คริสตจักรคาทอลิกตีความคำพูดของพระเยซูที่มัดธาย 16:18, 19 เพื่อสนับสนุนคำสอนเรื่องการสืบตำแหน่งจากพวกอัครสาวก คำสอนของคาทอลิกสอนว่าสันตะปาปาของพวก เขาเป็นพระบิดาผู้บริสุทธิ์ ชาวคาทอลิกเชื่อมั่นว่าสันตะปาปาสอนถูกต้องเสมอและไม่เคยผิดพลาดในการกำหนดหลักความเชื่อและศีลธรรม ผมเองก็เชื่ออย่างนั้นและคิดว่าถ้าสันตะปาปาสอนว่าตรีเอกานุภาพเป็นความจริง มันก็ต้องเป็นความจริง แต่ถ้าคำสอนของคาทอลิกที่ว่าสันตะปาปาไม่เคยสอนผิดพลาดเป็นเรื่องโกหกก็แสดงว่าคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพอาจเป็นเรื่องโกหกด้วย

เมื่อผมไปหาบาทหลวง เขาตอบคำถามของผมไม่ได้ เขาจึงให้หนังสืออธิบายเรื่องการสืบตำแหน่งจากพวกอัครสาวกมาให้ผมอ่านแทน ผมเอาหนังสือนั้นไปอ่านที่บ้าน หลังจากนั้นผมก็กลับไปถามบาทหลวงคนนั้นอีก แต่คราวนี้ผมมีคำถามเยอะกว่าเดิม เขาตอบไม่ได้และบอกว่า “ผมไม่สามารถทำให้คุณเชื่อได้ และคุณก็ไม่สามารถทำให้ผมเชื่อได้ . . . ขอพระเจ้าอวยพรคุณละกัน!” เขาไม่อยากคุยเรื่องนี้กับผมอีก

พอเจอแบบนี้ ผมพร้อมแล้วที่จะศึกษาพระคัมภีร์กับอิลเซและเอลฟรีเด พวกเธอสอนผมหลายเรื่องเกี่ยวกับพระยะโฮวาบิดาองค์เที่ยงแท้บริสุทธิ์ผู้อยู่ในสวรรค์ (โย. 17:11) เนื่องจากไม่มีหอประชุมในละแวกนั้นและไม่มีพี่น้องชายที่รับบัพติสมานำหน้าจึงมีแค่พี่น้องหญิงสองคนนี้นำการประชุมที่บ้านของผู้สนใจคนหนึ่งและมีไม่กี่คนมาร่วมการประชุม แต่บางครั้งถ้ามีพี่น้องชายจากเมืองอื่นมาช่วยบรรยายก็จะเช่าสถานที่อื่นประชุมกัน

เริ่มทำงานรับใช้

ในเดือนตุลาคม 1958 ผมเริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับอิลเซและเอลฟรีเด หลังจากนั้นสามเดือนผมก็รับบัพติสมาในเดือนมกราคม 1959 แต่ก่อนจะรับบัพติสมาผมขอตามพวกเธอไปประกาศเพราะผมอยากรู้ว่าเขาประกาศกันอย่างไร (กิจ. 20:20) หลังจากที่ไปกับพวกเธอแค่ครั้งเดียว ผมก็ขอเขตประกาศส่วนตัวของผมเอง พวกเธอให้ผมไปประกาศในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งผมต้องไปประกาศและกลับเยี่ยมคนที่สนใจตามลำพัง พี่น้องชายคนแรกในชีวิตที่ผมได้ไปประกาศด้วยคือผู้ดูแลหมวดซึ่งมาเยี่ยมพวกเรา

ในปี 1960 หลังจากที่ผมจบหลักสูตรการโรงแรม ผมก็กลับบ้านและพยายามสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่ญาติ ๆ แม้ว่ายังไม่มีใครเข้ามาในความจริง แต่ก็มีบางคนที่สนใจ

ชีวิตในงานรับใช้เต็มเวลา

ตอนผมอายุ 20

ในปี 1961 มีจดหมายจากสำนักงานสาขาที่สนับสนุนพี่น้องให้คิดถึงงานไพโอเนียร์ ตอนนั้นผมเองก็ยังโสดและแข็งแรงดี ผมเลยคิดว่าผมควรเป็นไพโอเนียร์ แต่ต้องมีรถยนต์สักคันก่อนเพื่อเอาไว้ทำงานรับใช้ ผมถามเคิร์ต คูน ผู้ดูแลหมวดว่าเขาคิดอย่างไรถ้าผมจะทำงานอีกสักสองสามเดือนเพื่อเก็บเงินซื้อรถ เขาตอบว่า “พระเยซูกับอัครสาวกต้องมีรถยนต์ก่อนไหมเพื่อจะทำงานรับใช้เต็มเวลา?” คำถามนี้ช่วยผมให้ตัดสินใจได้ว่าผมควรทำอะไร ผมวางแผนจะเริ่มงานไพโอเนียร์เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ผมต้องทำงานที่ห้องอาหารของโรงแรมอาทิตย์ละ 72 ชั่วโมง ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับตารางเวลาใหม่

ผมขอเจ้านายลดเวลาทำงานลงจากอาทิตย์ละ 72 ชั่วโมงเป็น 60 ชั่วโมง เขาอนุญาตและยังจ่ายค่าจ้างให้ผมเท่าเดิม หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ขอลดเวลาทำงานลงอีกเหลืออาทิตย์ละ 48 ชั่วโมง เขาก็ยอมตกลงและถึงกับจ่ายค่าจ้างให้ผมเท่า เดิมอีก ต่อมา ผมขอเขาลดเวลาลงเหลือแค่ 36 ชั่วโมง ไม่น่าเชื่อเลยว่าเจ้านายผมก็ยอมและยังจ่ายค่าจ้างเท่าเดิมด้วย! ดูเหมือนว่าเจ้านายคงไม่อยากให้ผมลาออก เมื่อทำงานน้อยลงแบบนี้ทำให้ผมมีเวลามากพอที่จะเริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำได้ สมัยนั้น ไพโอเนียร์ประจำต้องทำงานรับใช้เดือนละ 100 ชั่วโมง

สี่เดือนต่อมา ผมได้รับแต่งตั้งเป็นไพโอเนียร์พิเศษซึ่งต้องทำงานรับใช้เดือนละ 150 ชั่วโมงและเป็นผู้รับใช้ประชาคมในประชาคมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในคารินเทียเมืองสปิททาล อัน เดร์ ดราว ถึงแม้ผมจะไม่มีคู่ไพโอเนียร์ที่รับใช้ด้วยกันแต่เกอร์ทรูเด โลบเนอร์ ก็สนับสนุนผมอย่างดี เธอรับใช้เป็นผู้ช่วยผู้รับใช้ประชาคม *

ได้รับงานมอบหมายมากขึ้น

ปี 1963 ผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหมวด ผมเดินทางไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ โดยใช้รถไฟพร้อมกระเป๋าสัมภาระหลายใบ พี่น้องส่วนใหญ่ไม่มีรถยนต์จึงไม่มีใครมารับผมที่สถานี แต่ผมตัดสินใจไม่นั่งแท็กซี่เพราะกลัวพี่น้องจะรู้สึกว่าผมทำตัวเหนือกว่าเขา ผมก็เลยเดินจากสถานีรถไฟไปที่บ้านพวกเขา

ปี 1965 ผมได้รับเชิญให้เข้าโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่ 41 ในชั้นเรียนมีพี่น้องหลายคนเป็นโสดรวมทั้งผมด้วย ผมแปลกใจมากที่ได้รับมอบหมายให้กลับไปเป็นผู้ดูหมวดที่ออสเตรียเหมือนเดิม แต่ก่อนที่จะกลับจากสหรัฐ ผมได้รับมอบหมายให้ไปทำงานกับแอนโทนี่ คอนตี ซึ่งเป็นผู้ดูแลหมวดที่คอร์นวอลล์ทางเหนือของนิวยอร์กเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผมดีใจมากที่ได้ทำงานกับเขา เขาเป็นพี่น้องที่ดีมาก เขารักงานประกาศและทำงานรับใช้เก่งมาก

ในวันแต่งงานของเรา

เมื่อผมกลับไปออสเตรียระหว่างที่ไปเยี่ยมหมวดหนึ่ง ผมได้พบกับโทเฟ เมเรเตซึ่งเป็นพี่น้องหญิงที่น่ารักมาก เธอเติบโตมาในความจริงตั้งแต่ห้าขวบ เวลามีพี่น้องถามว่าเราเจอกันได้อย่างไร เราก็มักจะพูดตลก ๆ ว่า “สำนักงานสาขาเขาจัดให้” เราแต่งงานกันในปีถัดมาในเดือนเมษายน 1967 และทำงานเยี่ยมหมวดด้วยกันเรื่อยมา

ในปีต่อมา ผมรู้สึกถึงความกรุณาอันใหญ่หลวงของพระยะโฮวาที่เลือกผมให้มีมิตรภาพพิเศษกับพระองค์เป็นลูกที่จะได้อยู่ในครอบครัวฝ่ายสวรรค์ร่วมกับคนอื่น ๆ ที่เรียกพระยะโฮวาว่า “อับบา พระบิดา!” ตามที่บอกไว้ในโรม 8:15

ผมกับเมเรเตรับใช้เป็นผู้ดูแลหมวดและผู้ดูแลภาคจนถึงปี 1976 ในช่วงที่ไปเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ บางครั้งในฤดูหนาวที่หนาวจัดเราต้องนอนในห้องที่ไม่มีเครื่องทำความร้อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราตื่นขึ้นมาและเห็นว่าผ้าห่มส่วนหนึ่งตรงหน้าเราเย็นจนเป็นน้ำแข็ง ในที่สุด เราเลยตัดสินใจเอาเครื่องทำความร้อนเล็ก ๆ ติดตัวไปด้วยเพื่อช่วยเราให้ผ่านคืนที่หนาวเหน็บไปได้ บางแห่งที่เราไปเยี่ยม เราถึงกับต้องเดินฝ่าลมหนาวที่เย็นยะเยือกแถมลุยหิมะเพื่อไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน เราไม่มีอพาร์ตเมนต์เป็นของตัวเอง ดังนั้น ทุกวันจันทร์ เราต้องพักต่อที่บ้านของพี่น้องจนถึงวันอังคารเช้าเพื่อไปเยี่ยมประชาคมต่อไป

เป็นเวลาหลายปีที่ภรรยาสุดที่รักของผมคอยช่วยผมเสมอมา เธอชอบงานประกาศมากผมไม่ต้องบอกเธอให้ออกประกาศเลย เธอเป็นคนรักเพื่อน ๆ และเป็นห่วงเป็นใยคนอื่น ผมมีความสุขจริง ๆ ที่มีเธอคอยเป็นกำลังใจและเป็นผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยม

ปี 1976 เราได้รับเชิญให้ไปรับใช้ที่สำนักงานสาขาในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และผมได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสาขา สำนักงานสาขาออสเตรียดูแลงานรับใช้ของประเทศในยุโรปตะวันออกหลายประเทศซึ่งตอนนั้นงานประกาศถูกสั่งห้าม และสาขาคอยจัดส่งหนังสือให้พี่น้องที่นั่นแบบลับ ๆ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ทำงานกับเยอร์เกน รุนเดลซึ่งเป็นคนดูแลงานนี้ เยอร์เกนกับเกอร์ทรูดภรรยาของเขาเป็นไพโอเนียร์พิเศษที่รับใช้อย่างซื่อสัตย์มานานในเยอรมนี หลังจากนั้นผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลงานแปลหนังสือสำหรับภาษาแถบยุโรปตะวันออก 10 ภาษา ตั้งแต่ปี 1978 สาขาออสเตรียมีเครื่องพิมพ์ออฟเซ็ตขนาดเล็กที่เป็นระบบเรียงพิมพ์เพื่อใช้พิมพ์วารสาร 6 ภาษา เรายังคงส่งวารสารไปถึงผู้อ่านในประเทศอื่น ๆ ด้วย ในเวลานั้นโอโท คุกลิตช์เป็นผู้ดูแลระบบการพิมพ์ ปัจจุบันเขารับใช้ร่วมกับอิงกริดภรรยาของเขาที่สำนักงานสาขาเยอรมนี

ในออสเตรีย ผมสามารถประกาศได้ทุกรูปแบบรวมถึงการประกาศตามถนน

พี่น้องในยุโรปตะวันออกใช้เครื่องโรเนียวหรือวิธีอื่นเพื่อพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ในประเทศของเขาเอง แต่พวกเขาก็ยังต้องได้รับการช่วยเหลือจากพี่น้องในประเทศอื่น พระยะโฮวาปกป้องดูแลงานของพวกเขา เรารักพี่น้องที่รับใช้อย่างซื่อสัตย์ในสำนักงานสาขาเหล่านี้มากทั้ง ๆ ที่ต้องทำงานภายใต้การสั่งห้ามเป็นเวลาหลายปี

การเยี่ยมโรมาเนียครั้งสำคัญ

ในปี 1989 ผมได้รับสิทธิพิเศษให้ไปเยี่ยมประเทศโรมาเนียร่วมกับทีโอดอร์ จารัซซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครอง เป้าหมายของการเยี่ยมครั้งนี้คือช่วยพี่น้องกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งให้กลับมาเป็นส่วนขององค์การของพระเจ้า เพราะตั้งแต่ ปี 1949 พี่น้องเหล่านี้แยกตัวออกจากองค์การด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปและตั้งประชาคมของตัวเองขึ้นมา พวกเขายังออกไปประกาศและช่วยคนใหม่ ๆ ให้รับบัพติสมา พวกเขาทำเหมือนพี่น้องในองค์การได้ทำคือยอมติดคุกแทนที่จะเป็นทหาร ตอนนั้นงานประกาศในโรมาเนียยังถูกสั่งห้าม เราจึงนัดประชุมกันอย่างลับ ๆ ที่บ้านของพัมฟิล อัลบู เรามีโรล์ฟ เคลล์เนอร์จากออสเตรียทำหน้าที่เป็นล่ามให้เรา การประชุมครั้งนั้นเราได้เชิญผู้ปกครองสี่คนที่นำหน้าพี่น้องกลุ่มนั้นและตัวแทนคณะกรรมการประเทศของโรมาเนียเข้าร่วมด้วย

คืนที่สองที่เราประชุมกัน พี่น้องอัลบูกระตุ้นหนุนใจผู้ปกครองทั้งสี่คนนี้ให้กลับมารับใช้ร่วมกับองค์การ เขาพูดว่า “ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ เราอาจไม่มีโอกาสอีกเลย” ผลคือพี่น้องประมาณ 5,000 คนกลับมารับใช้ร่วมกับองค์การอีกครั้ง นี่เป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่พระยะโฮวามีต่อซาตาน!

ช่วงสิ้นปี 1989 ก่อนที่ระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกจะล่มสลาย ผมกับภรรยาตื่นเต้นและแปลกใจมากที่คณะกรรมการปกครองเชิญเราให้ย้ายไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก เราเริ่มรับใช้ที่บลุกลินในเดือนกรกฎาคม 1990 หลังจากนั้นในปี 1992 ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยในคณะกรรมการการรับใช้ของคณะกรรมการปกครอง และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1994 ผมได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการปกครอง

ย้อนมองอดีตและมองไปยังอนาคต

ถ่ายกับภรรยาที่บรุกลิน นิวยอร์ก

สำหรับผมชีวิตพนักงานบริการในโรงแรมเป็นอดีตไปแล้ว ตอนนี้ผมมีความสุขกับการได้มีส่วนช่วยเตรียมและเสิร์ฟอาหารที่เป็นความรู้และความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าให้แก่พี่น้องทั่วโลก (มัด. 24:45-47) เมื่อผมนึกถึงช่วงเวลา 50 กว่าปีที่ได้รับใช้เต็มเวลาแบบพิเศษ ผมขอบคุณพระยะโฮวาอย่างสุดซึ้ง ผมมีความสุขมากเมื่อเห็นพระยะโฮวาอวยพรสังคมพี่น้องทั่วโลก ผมชอบไปร่วมการประชุมนานาชาติของพยานพระยะโฮวาเพราะทำให้ผมได้เรียนหลายอย่างเกี่ยวกับพระยะโฮวาพ่อที่อยู่ในสวรรค์รวมทั้งความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลด้วย

ผมอธิษฐานขอให้มีอีกหลายล้านคนเรียนคัมภีร์ไบเบิล ตอบรับความจริง และรับใช้พระยะโฮวาร่วมกับสังคมพี่น้องคริสเตียนทั่วโลก (1 เป. 2:17) ผมยังเฝ้าคอยวันที่จะได้รับใช้บนสวรรค์และมองลงมาเห็นพ่อผู้ให้กำเนิดได้รับการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย ผมหวังว่าพ่อแม่และญาติที่ผมรักจะอยากรับใช้พระยะโฮวาในอุทยานบนแผ่นดินโลก

ผมเฝ้าคอยวันที่จะได้รับใช้บนสวรรค์และมองลงมาเห็นพ่อผู้ให้กำเนิดได้รับการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย

^ วรรค 15 อ่านเรื่องราวชีวิตของพวกเธอได้ในหอสังเกตการณ์ 1 พฤศจิกายน 1979 (ภาษาอังกฤษ)

^ วรรค 27 ปัจจุบัน ผู้รับใช้ประชาคมและผู้ช่วยผู้รับใช้ประชาคมไม่มีแล้ว แต่ทุกประชาคมมีผู้ประสานงานคณะผู้ปกครองและเลขาธิการประชาคม