ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

วิธีที่พระยะโฮวาเข้ามาใกล้ชิดสนิทกับเรา

วิธีที่พระยะโฮวาเข้ามาใกล้ชิดสนิทกับเรา

“จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน”—ยโก. 4:8

1. เราทุกคนต้องการอะไร และใครควรเป็นผู้ที่เราอยากใกล้ชิดสนิทสนมมากที่สุด?

เราทุกคนอยากใกล้ชิดสนิทสนมกับคนอื่น เรามีความสุขมากตอนที่ได้อยู่กับครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่รักเรา เข้าใจเรา และเห็นคุณค่าในตัวเรา แต่ผู้ที่เราอยากใกล้ชิดสนิทสนมมากที่สุดควรจะเป็นพระยะโฮวาผู้สร้างตัวเรา—ผู้ป. 12:1

2. พระยะโฮวาสัญญาอะไรกับเรา แต่ทำไมหลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้?

2 พระยะโฮวาชวนเราให้มาเป็นเพื่อนกับพระองค์ พระองค์สัญญาว่าถ้าเราใกล้ชิดสนิทกับพระองค์ พระองค์ก็จะใกล้ชิดกับเรา (ยโก. 4:8) เราดีใจที่ได้รู้แบบนี้ แต่ก็มีหลายคนที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าอยากใกล้ชิดกับพวกเขาเพราะพวกเขาคิดว่าตัวเองไม่ดีพอหรือไม่ก็คิดว่าพระเจ้าอยู่ห่างไกลเกินไป ถ้าอย่างนั้น คนเราจะใกล้ชิดสนิทกับพระยะโฮวาได้จริง ๆ ไหม?

3. เราต้องเชื่อมั่นในเรื่องอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา?

3 เป็นไปได้ที่คนเราจะใกล้ชิดกับพระยะโฮวา เพราะพระองค์ “ไม่ได้อยู่ไกล” จากใครก็ตามที่อยากรู้จักและใกล้ชิดกับพระองค์ (อ่านกิจการ 17:26, 27; บทเพลงสรรเสริญ 145:18) ถึงแม้เราจะเป็นคนไม่สมบูรณ์แต่พระยะโฮวาก็เต็มใจ และพร้อมจะเป็นเพื่อนกับเรา (ยซา. 41:8; 55:6) ผู้แต่งเพลงสรรเสริญพูดจากประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวกับพระยะโฮวาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐาน บรรดามนุษย์โลกจะได้เข้ามา เฝ้าพระองค์ . . . ความสุขย่อมมีแก่คนนั้นที่ถูกเลือกไว้ให้เข้าใกล้ พระองค์” (เพลง. 65:2, 4) ตอนนี้ให้เรามาดูเรื่องราวของกษัตริย์อาซาแห่งยูดาห์ที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ว่าเขาใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้าได้อย่างไรและพระเจ้าสนิทกับอาซาได้อย่างไร *

เรียนจากตัวอย่างสมัยโบราณ

4. กษัตริย์อาซาวางตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนในแผ่นดินยูดาห์อย่างไร?

4 กษัตริย์อาซาเป็นคนกระตือรือร้นในการนมัสการแท้ ตอนที่เขาขึ้นเป็นกษัตริย์ มีโสเภณีชายหญิงประจำวิหารมากมายและมีการไหว้รูปเคารพทั่วบ้านทั่วเมือง แต่อาซาเชื่อฟังพระยะโฮวาและได้กำจัดสิ่งเลวทรามทั้งหลายออกไป (1 กษัต. 15:9-13) เพราะอาซาเองได้ใกล้ชิดสนิทกับพระยะโฮวาและเชื่อฟังกฎหมายของพระองค์ เขาจึงบอกประชาชนให้ “แสวงหาพระยะโฮวาพระเจ้าแห่งปู่ย่าตายาย ให้ประพฤติตามพระบัญญัติและข้อบังคับ” ในช่วงสิบปีแรกที่อาซาปกครอง พระยะโฮวาได้อวยพรให้แผ่นดินของเขามีแต่ความสงบสุข อาซารู้ดีว่าความสงบสุขนี้มาจากพระยะโฮวา และเขาบอกประชาชนว่า “เราทั้งหลายได้แสวงหาพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา พระองค์ได้ทรงโปรดพระราชทานให้พวกเรามีความสงบเงียบทั่วไป” (2 โคร. 14:1-7) ต่อจากนั้นมีอะไรเกิดขึ้น?

5. ในสถานการณ์แบบไหนที่อาซาพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาหวังพึ่งพระเจ้าจริง ๆ และผลเป็นอย่างไร?

5 ลองนึกดูว่าคุณเป็นกษัตริย์อาซา และตอนนี้กษัตริย์เซราของเอธิโอเปียได้ยกทัพมาต่อสู้พร้อมพลทหาร 1,000,000 คนกับรถรบ 300 คัน (2 โคร. 14:8-10) เขามีกำลังทหารมากกว่ากองทัพของคุณเกือบสองเท่า คุณจะทำอย่างไร? คุณจะสงสัยไหมว่าทำไมพระเจ้าปล่อยให้กองทัพนี้บุกเข้ามา? คุณจะพึ่งความสามารถของตัวเองหรือจะขอให้พระยะโฮวาปกป้องคุณ? อาซาแสดงอย่างชัดเจนว่าเขาใกล้ชิดสนิทกับพระยะโฮวาและหวังพึ่งพระองค์เต็มที่ อาซาร้องว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า ขอพระองค์ทรงโปรดช่วย เพราะข้าพเจ้ายึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง” พระเจ้าตอบอาซาอย่างไร? “พระยะโฮวาจึงทรงปราบปรามพวกอายธิโอบ” ไม่มีศัตรูสักคนเดียวที่รอดชีวิต—2 โคร. 14:11-13

6. เราจะเลียนแบบอาซาได้อย่างไร?

6 อะไรทำให้อาซาเชื่อหมดใจว่าพระเจ้าจะปกป้องและชี้นำเขา? พระคัมภีร์บอกว่า “อาซานั้นได้ประพฤติเป็นที่ชอบในคลองพระเนตรแห่งพระยะโฮวา” และ “ใจของอาซานั้นยังดีรอบคอบต่อพระยะโฮวา” (1 กษัต. 15:11, 14) ถ้าเราอยากใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้าทั้งตอนนี้และในอนาคตเราก็ต้องรับใช้พระเจ้าด้วยใจที่เต็มร้อยเช่นกัน เราต้องขอบคุณพระยะโฮวามากจริง ๆ ที่เป็นฝ่ายชวนเราให้เข้ามาหาพระองค์ และช่วยเราให้มาใกล้ชิดสนิทกับพระองค์และรักษาสายสัมพันธ์นั้นไว้ต่อ ๆ ไป ตอนนี้ให้เรามาดูสองวิธีที่พระยะโฮวาช่วยเราให้ทำอย่างนั้น

พระยะโฮวาช่วยเราให้ใกล้ชิดสนิทกับพระองค์โดยทางค่าไถ่

7. (ก) พระยะโฮวาช่วยเราอย่างไรเพื่อเราจะใกล้ชิดกับพระองค์ได้? (ข) วิธีแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระยะโฮวาคืออะไร?

7 พระยะโฮวาแสดงความรักต่อมนุษย์โดยสร้างโลกที่สวยงามให้เราได้อยู่อาศัยและยังให้มีสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน (กิจ. 17:28; วิ. 4:11) ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาแสดงความรักโดยจัดให้มีสิ่งจำเป็นที่หล่อเลี้ยงจิตใจเราด้วย (ลูกา 12:42) พระองค์ยังยืนยันกับเราด้วยว่าพระองค์เองเป็นผู้ฟังคำอธิษฐานของเรา (1 โย. 5:14) แต่วิธีแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ พระยะโฮวาก็คือจัดให้มีค่าไถ่เพื่อเราจะหลุดพ้นจากบาปและสามารถเข้ามาใกล้ชิดพระองค์ได้ ความรักแบบนี้ทำให้เราอยากใกล้ชิดสนิทกับพระองค์ (อ่าน 1 โยฮัน 4:9, 10, 19) พระยะโฮวาส่งลูกชายของพระองค์มาสละชีวิตเพื่อไถ่เรา เราจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์และมีชีวิตตลอดไปได้ก็โดยทางค่าไถ่นี้เท่านั้น—โย. 3:16

8, 9. พระเยซูมีความสำคัญอย่างไรในการช่วยเราให้ใกล้ชิดพระเจ้า?

8 พระยะโฮวาตั้งใจให้ค่าไถ่นี้เป็นประโยชน์แก่ทุกคนแม้แต่คนที่ตายไปก่อนที่จะมีการจ่ายค่าไถ่นี้ด้วยซ้ำ เป็นไปได้อย่างไร? เมื่อพระยะโฮวาพยากรณ์เกี่ยวกับผู้ช่วยให้รอดที่จะมาในอนาคต พระองค์มองว่ามีการจ่ายค่าไถ่เรียบร้อยแล้ว เพราะรู้ดีว่าสิ่งที่พระองค์ตั้งใจจะทำเพื่อมนุษย์ไม่มีทางล้มเหลว (เย. 3:15) หลังจากนั้นหลายร้อยปี อัครสาวกเปาโลขอบคุณพระยะโฮวาสำหรับ “การปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่ที่พระคริสต์เยซูทรงชำระแล้ว” เปาโลอธิบายว่าพระเจ้าได้ “อภัยบาปซึ่งเกิดขึ้นในอดีต” (โรม 3:21-26) ดังนั้น ถ้าไม่มีพระเยซู เราก็ไม่มีทางที่จะใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้าได้เลย

9 คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนจะเข้ามารู้จักและมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาได้โดยทางพระเยซูเท่านั้น พระคัมภีร์บอกว่า “พระเจ้าทรงเสนอความรักของพระองค์แก่เราโดยที่พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อเราในขณะที่เรายังเป็นคนบาป” (โรม 5:6-8) เราไม่มีทางไถ่ตัวเองได้ แต่เพราะพระยะโฮวาและพระเยซูรักเรามากถึงได้จ่ายค่าไถ่ให้เรา พระเยซูบอกว่า “ไม่มีใครจะมาหาเราได้เว้นแต่พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำ เขา” และยังบอกอีกว่า “ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา” (โย. 6:44; 14:6) โดยพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา พระองค์ชักนำมนุษย์ให้มาใกล้ชิดกับพระองค์โดยทางพระเยซูและช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์เพื่อเราจะได้รับชีวิตนิรันดร์ (อ่านยูดา 20, 21) ขอให้เรามาดูวิธีที่สองที่พระยะโฮวาช่วยเราให้ใกล้ชิดพระองค์ได้

พระยะโฮวาใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยเราให้ใกล้ชิดพระองค์

10. คัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร?

10 ตั้งแต่ต้นบทความจนถึงข้อนี้เราได้อ้างถึงหนังสือในพระคัมภีร์มา 14 เล่มแล้ว พระยะโฮวาใช้พลังบริสุทธิ์ของพระองค์ดลใจให้มีการเขียนคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยเราให้ใกล้ชิดกับพระองค์ ถ้าไม่มีคัมภีร์ไบเบิล เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราสามารถใกล้ชิดกับพระผู้สร้างของเราได้? ถ้าไม่มีคัมภีร์ไบเบิล เราจะรู้ได้อย่างไรว่าค่าไถ่ของพระเยซูช่วยเราให้ใกล้ชิดกับพระเจ้าได้? เพราะมีคัมภีร์ไบเบิลเราถึงได้เรียนรู้จักคุณลักษณะที่ดีเยี่ยมของพระยะโฮวาและรู้ว่าพระองค์ตั้งใจจะทำอะไรเพื่อเรา ตัวอย่างเช่น เอ็กโซโด 34:6, 7 พระยะโฮวาพูดถึงพระองค์เองว่าเป็น “ผู้ทรงเมตตากรุณา ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน และบริบูรณ์ด้วยความดีและความจริง ผู้ทรงเมตตาต่อมนุษย์ถึงหลายพันชั่วอายุคน ผู้ทรงโปรดยกความชั่วการล่วงละเมิดและบาปของเขา” มีใครบ้างที่ไม่อยากใกล้ชิดกับผู้ที่มีคุณลักษณะแบบนี้? พระยะโฮวารู้ว่าเมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์มากขึ้น พระองค์จะเป็นจริงสำหรับเราและเราก็อยากจะใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้นเรื่อย ๆ

11. ทำไมเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา? (ดูภาพแรก)

11 ตอนต้นของหนังสือจงเข้าใกล้พระยะโฮวา บอกว่า “ไม่ว่าเราจะสร้างมิตรภาพกับใครก็ตาม ความผูกพันนั้นย่อมสืบเนื่องจากการรู้จักบุคคลนั้น รู้สึกนิยมชมชอบและเห็นคุณค่าของลักษณะนิสัยที่โดดเด่นของเขา ดังนั้น คุณลักษณะและวิธีปฏิบัติของพระเจ้าดังที่เปิดเผยในคัมภีร์ไบเบิลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะศึกษา” เราต้องขอบคุณพระยะโฮวาจริง ๆ ที่ให้มีการเขียนพระคัมภีร์ในแบบที่เราเข้าใจได้

12. ทำไมพระยะโฮวาเลือกมนุษย์ให้เขียนคัมภีร์ไบเบิล?

 12 ที่จริง พระยะโฮวาจะใช้ทูตสวรรค์ให้เขียนพระคัมภีร์ก็ได้เพราะทูตสวรรค์เองก็สนใจในตัวเราและสิ่งที่เราทำด้วย (1 เป. 1:12) ทูตสวรรค์สามารถเขียนข่าวสารของพระเจ้าให้กับมนุษย์ได้ แต่ทูตสวรรค์ไม่ใช่มนุษย์ ทูตสวรรค์ไม่เคยรู้สึกเหมือนอย่างที่คนเรารู้สึก ทูตสวรรค์ไม่รู้ว่าเราต้องการอะไรจริง ๆ และไม่รู้ว่าเวลาที่คนเราอ่อนแอเป็นอย่างไร พระยะโฮวารู้ว่าทูตสวรรค์แตกต่างจากคนเรามาก เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตัดสินใจอย่างฉลาดที่เลือกมนุษย์ให้เขียนคัมภีร์ไบเบิล เมื่อเราอ่านเรื่องราวความผิดหวัง ความสงสัย ความกลัว และการทำผิดพลาดของผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลและคนอื่น ๆ เรารับรู้ได้ว่าพวกเขาเจ็บปวดขนาดไหน และเมื่อเราอ่านเรื่องราวตอนที่พวกเขามีความสุขเราก็สัมผัสถึงความสุขนั้นได้ เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์เอลียาห์ ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลทุกคน “เป็นมนุษย์เหมือนเรา”—ยโก. 5:17

วิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติต่อโยนาห์และเปโตรช่วยคุณให้ใกล้ชิดกับพระองค์มากขึ้นได้อย่างไร? (ดูข้อ 13, 15)

13. เมื่ออ่านคำอธิษฐานของโยนาห์คุณรู้สึกอย่างไร?

13 ตัวอย่างเช่น พระเจ้ามอบหมายงานสำคัญงานหนึ่งให้โยนาห์แต่เขาไม่ยอมทำและหนีไป ถ้าทูตสวรรค์เป็นผู้บันทึกเรื่องราวนี้ ทูตสวรรค์จะเข้าใจความรู้สึกจริง ๆ ของโยนาห์ไหม? แต่ดีกว่ามากใช่ไหมที่พระยะโฮวาเลือกโยนาห์ให้บันทึกเรื่องราวและคำอธิษฐานของตัวเองตอนที่อยู่ในทะเลลึกที่ว่า “เมื่อชีวิตของข้าพระองค์กำลังจะหลุดลอยไป ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ระลึกถึงพระองค์”—โยนา 1:3, 10; 2:1-9, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

14. ทำไมเราเข้าใจเรื่องที่ยะซายาห์เขียน?

14 อีกตัวอย่างหนึ่งคือตอนที่ยะซายาห์เขียนเรื่องสง่าราศีของพระยะโฮวาที่เขาได้เห็นในนิมิตและสำนึกว่าเขาเป็นคนบาปขนาดไหนเมื่อเทียบกับพระเจ้า เขาพูดว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลงไปเสียแล้ว เพราะข้าพเจ้าเป็นคนผู้มีริมฝีปากไม่สะอาด และข้าพเจ้าได้ อาศัยอยู่ท่ามกลางมนุษย์ที่มีริมฝีปากไม่สะอาด เพราะตาของข้าพเจ้าได้เห็นกษัตริย์ คือพระยะโฮวาแห่งพลโยธา” (ยซา. 6:5) ทูตสวรรค์คงไม่พูดแบบนี้แน่ ๆ เพราะทูตสวรรค์ไม่ได้มีบาป แต่เพราะเราก็เป็นมนุษย์ที่ผิดบาปเหมือนยะซายาห์ เราจึงเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไรจริง ๆ

15, 16. (ก) ทำไมเราเข้าใจความรู้สึกของผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิล? (ข) อะไรจะช่วยเราให้ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น?

15 เพราะทูตสวรรค์สมบูรณ์แบบและมีกำลังมากกว่าเรา ไม่มีทางที่ทูตสวรรค์จะพูดถึงตัวเองว่า “ไม่สมควร” เหมือนที่ยาโคบพูด หรือรู้สึกว่า “เป็นคนบาป” เหมือนที่เปโตรรู้สึก (เย. 32:10; ลูกา 5:8) ทูตสวรรค์คงไม่ “ตกใจกลัว” เหมือนกับสาวกของพระเยซูแน่ ๆ และคงไม่จำเป็นต้องรวบรวมความกล้าเพื่อจะประกาศข่าวดีเมื่อเจอการต่อต้านเหมือนอย่างเปาโลและคนอื่น ๆ (โย. 6:19; 1 เทส. 2:2) เราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์เหมือนที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลก็เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราจึงเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาได้ดี ดังนั้น เมื่อเราอ่านเรื่องราวที่พวกเขาเขียนไว้ เราจึง “ชื่นชมยินดีกับผู้ที่ชื่นชมยินดี . . . ร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้”—โรม 12:15

16 ถ้าเราคิดดี ๆ เกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติต่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในสมัยก่อน เราก็จะเห็นคุณลักษณะที่งดงามของพระเจ้ามากมาย เราจะเห็นว่าพระยะโฮวารักและพยายามมากขนาดไหนที่จะใกล้ชิดสนิทกับคนที่ไม่สมบูรณ์อย่างเรา ขณะที่เราเรียนรู้จักและรักพระยะโฮวามากขึ้น เราก็จะใกล้ชิดสนิทสนมกับพระองค์มากขึ้นด้วย—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 25:14

สร้างสายสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างที่ไม่มีอะไรมาทำลายได้

17. (ก) อะซาระยาให้คำแนะนำที่ฉลาดอะไรแก่อาซา? (ข) อาซาทำตามคำแนะนำนั้นไหม และผลเป็นเช่นไร?

17 มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราเรียนได้จากเรื่องราวของกษัตริย์อาซา หลังจากที่อาซาเอาชนะกองทัพเอธิโอเปียได้แล้ว อะซาระยาผู้ส่งข่าวของพระเจ้าได้ให้คำแนะนำที่ฉลาดแก่อาซาว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ฝ่ายพวกท่าน เมื่อท่านอยู่ฝ่ายพระองค์ ถ้าพวกท่านแสวงหาพระองค์ ๆ จะทรงโปรดให้พวกท่านประสบ แต่ทว่า ถ้าพวกท่านละทิ้งพระองค์ ๆ จะละทิ้งพวกท่านเสีย” (2 โคร. 15:1, 2) แต่ภายหลังอาซาไม่ได้ทำตามคำแนะนำที่ฉลาดนี้ เมื่ออาณาจักรอิสราเอลทางเหนือได้ยกทัพมาต่อสู้ยูดาห์กษัตริย์อาซากลัวมาก คราวนี้เขาไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาแต่กลับไปขอความช่วยเหลือจากซีเรียชาติที่ไม่ได้นมัสการพระยะโฮวา พระองค์จึงบอกเขาว่า “ในสิ่งนี้ท่านได้ประพฤติเป็นโฉดเขลาไป เหตุฉะนั้นจะมีการศึกสงครามแก่ท่านตั้งแต่นี้ต่อไป” และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นจริง ๆ (2 โคร. 16:1-9) เราได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?

18, 19. (ก) เราควรทำอะไรถ้าตอนนี้เราไม่ได้ใกล้ชิดพระยะโฮวาเหมือนแต่ก่อน? (ข) เราจะใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างไร?

18 เราต้องไม่ตีตัวออกห่างจากพระยะโฮวา ถ้าตอนนี้เราไม่ได้ใกล้ชิดกับพระองค์เหมือนที่เคยใกล้ชิด ขอให้เราทำอย่างที่บอกไว้ในโฮเซอา 12:6 ทันทีที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงหันกลับไปหาพระเจ้าของท่าน จงประพฤติตามความเมตตาปรานีและความยุติธรรม และคอยท่าพระเจ้าของท่านเสมอ” เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์อย่างละเอียดและคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับค่าไถ่เราก็จะใกล้ชิดสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นเรื่อย ๆ—อ่านพระบัญญัติ 13:4

19 ผู้แต่งเพลงสรรเสริญเขียนไว้ว่า “เป็นการดีที่ข้าพเจ้าเข้ามาใกล้พระองค์” (เพลง. 73:28) นับว่าดีสำหรับเราด้วยที่จะตั้งเป้าเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เกี่ยวกับพระยะโฮวา ถ้าเราทำอย่างนี้เราจะรักพระองค์มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราใกล้ชิดพระยะโฮวา พระองค์ก็จะใกล้ชิดเราทั้งในตอนนี้และตลอดไป

^ วรรค 3 โปรดดูบทความเกี่ยวกับกษัตริย์อาซาในหอสังเกตการณ์ 15 สิงหาคม 2012 เรื่อง “กิจการของท่านจะได้รับบำเหน็จ