ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ใช้พระคำที่มีชีวิตของพระเจ้า

ใช้พระคำที่มีชีวิตของพระเจ้า

“พระคำของพระเจ้ามีชีวิต ทรงพลัง”—ฮีบรู 4:12

1, 2. พระยะโฮวาส่งโมเซให้ไปทำอะไร และพระองค์สัญญาอะไรกับเขา?

ลองนึกดูว่าคุณต้องเป็นตัวแทนประชาชนของพระเจ้าไปพูดกับผู้มีอำนาจมากที่สุดในโลก คุณจะรู้สึกอย่างไร? คุณคงกลัว กังวล และพูดไม่ออก คุณจะเตรียมคำพูดของคุณอย่างไร? คุณจะทำอย่างไรให้คำพูดของคุณมีพลังสมกับเป็นตัวแทนของพระเจ้า?

2 โมเซต้องเจอสถานการณ์อย่างนั้น พระยะโฮวาพูดถึงโมเซว่าเป็น “คนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งมากกว่าคนทั้งปวงที่อยู่บนแผ่นดิน” (อาฤ. 12:3) แต่พระยะโฮวาก็ส่งโมเซให้ไปบอกฟาโรห์กษัตริย์ของอียิปต์ที่หยาบคายและยโสโอหังว่าให้ปล่อยชาวอิสราเอลประชาชนของพระเจ้าราวสามล้านคนให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส (เอ็ก. 5:1, 2) เราจึงไม่แปลกใจเลยที่โมเซถามพระยะโฮวาว่า “ข้าพระองค์เป็นใคร? ที่จะไปเข้าเฝ้าฟาโรห์และนำชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์” โมเซอาจรู้สึกว่าเขาไม่มีความสามารถพอที่จะไปพูดกับฟาโรห์ แต่พระยะโฮวาสัญญากับโมเซว่าเขาจะไม่ทำงานนี้ตามลำพัง พระยะโฮวาบอกว่า “เราจะอยู่กับเจ้าแน่”—เอ็ก. 3:9-12, ฉบับมาตรฐาน

3, 4. (ก) โมเซกลัวอะไร? (ข) ทำไมบางทีเราอาจรู้สึกเหมือนโมเซ?

3 โมเซกลัวอะไร? โมเซกลัวว่าฟาโรห์จะไม่ยอมรับหรือไม่สนใจไยดีตัวแทนของพระยะโฮวาพระเจ้า และยังกลัวด้วยว่าชาวอิสราเอลจะสงสัยว่าเขาเป็นผู้ ที่พระเจ้าเลือกให้นำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์จริง ๆ หรือไม่ โมเซจึงบอกพระยะโฮวาว่า “เขาจะไม่เชื่อฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า เพราะเขาจะว่า ‘พระยะโฮวามิได้ปรากฏแก่เจ้าเลย’”—เอ็ก. 3:15-18; 4:1

4 คุณคงไม่เคยต้องไปพูดกับผู้มีอำนาจขนาดนั้น แต่ตอนที่คุณต้องพูดคุยเรื่องพระยะโฮวาและราชอาณาจักรของพระองค์กับผู้คนในเขตประกาศล่ะคุณรู้สึกว่ายากไหม? สิ่งที่พระยะโฮวาสั่งให้โมเซทำและสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นสอนบทเรียนที่เป็นประโยชน์แก่เรา

“เจ้าถืออะไรในมือ?”

5. พระยะโฮวามอบอะไรไว้ในมือของโมเซ และเรื่องนี้ช่วยเขาอย่างไร? (ดูภาพแรก)

5 เมื่อโมเซบอกพระยะโฮวาว่าเขากลัวว่าชาวอิสราเอลจะไม่เชื่อ พระเจ้าจึงทำบางอย่างที่ช่วยให้โมเซมั่นใจ พระคัมภีร์บอกว่า “พระยะโฮวาจึงตรัสแก่โมเซว่า ‘เจ้าถืออะไรในมือ?’ โมเซทูลว่า ‘ไม้เท้า พระองค์เจ้าข้า’ พระองค์ตรัสว่า ‘จงทิ้งลงที่พื้นดินเถิด’ เมื่อโมเซทิ้งไม้เท้าลงที่พื้นดิน ไม้เท้านั้นก็กลายเป็นงูไป แล้วโมเซก็หนีไปจากงูนั้น พระยะโฮวาจึงตรัสแก่โมเซว่า ‘จงเอื้อมมือจับหางงูไว้ (พอโมเซเอื้อมมือจับหางงู มันก็กลายเป็นไม้เท้าอยู่ในมือของท่าน) เพื่อเขาทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระยะโฮวาพระเจ้า . . . ได้ปรากฏแก่เจ้าแล้ว’” (เอ็ก. 4:2-5) ด้วยอำนาจของพระเจ้า ไม้เท้าในมือโมเซกลายเป็นงู! การอัศจรรย์นี้พิสูจน์ว่าโมเซเป็นผู้ส่งข่าวของพระเจ้าและพระองค์ให้อำนาจแก่โมเซจริง ๆ พระยะโฮวาบอกเขาว่า “เจ้าจงใช้ไม้เท้านี้สำหรับทำการอัศจรรย์” (เอ็ก. 4:17) วิธีนี้ทำให้โมเซมั่นใจมากขึ้นที่จะไปพูดกับฟาโรห์และประชาชนของพระเจ้า—เอ็ก. 4:29-31; 7:8-13

6. (ก) เราควรถืออะไรในมือตอนที่เราประกาศ และทำไม? (ข) “พระคำของพระเจ้ามีชีวิต” และ “ทรงพลัง” อย่างไร?

6 ตอนที่เราประกาศเราถืออะไรในมือ? เราถือคัมภีร์ไบเบิลและพร้อมที่จะใช้เสมอ บางคนคิดว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นแค่หนังสือที่ดีเล่มหนึ่ง แต่พระคัมภีร์เป็นมากกว่านั้น หนังสือเล่มนี้เป็นข่าวสารจากพระเจ้าที่มาถึงเรา (2 เป. 1:21) พระคัมภีร์มีคำสัญญาของพระเจ้าหลายเรื่องและบอกเราว่าราชอาณาจักรของพระองค์กำลังจะทำอะไร เปาโลเขียนว่า “พระคำของพระเจ้ามีชีวิต ทรงพลัง” (อ่านฮีบรู 4:12) คำพูดของพระเจ้ามีชีวิตได้อย่างไร? คำสัญญาทุกอย่างของพระยะโฮวากำลังเป็นจริงและอีกไม่นานจะสำเร็จครบถ้วน (ยซา. 46:10; 55:11) เมื่อใครสักคนอ่านและเข้าใจพระคำของพระองค์จริง ๆ เรื่องนั้นมีพลังถึงกับเปลี่ยนชีวิตเขาได้

7. เราจะทำอย่างไรเพื่อ “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง”?

7 พระยะโฮวาให้คัมภีร์ไบเบิลพระคำที่มีชีวิตแก่เรา เราสามารถใช้พระคัมภีร์พิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เราพูดเชื่อถือได้และมาจากพระเจ้า ตอนที่เปาโลฝึกสอนติโมเธียว เขาสนับสนุนติโมเธียวให้ “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง” (2 ติโม. 2:15) เราจะทำตามคำแนะนำของเปาโลได้อย่างไร? เราต้องเลือกข้อคัมภีร์ที่จะอ่านให้ดีเพราะเราต้องการให้คำสอนของพระเจ้าเข้าถึงหัวใจผู้ฟัง ในปี 2013 เราได้รับแผ่นพับชุดใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเราให้ทำอย่างนี้ได้

อ่านข้อคัมภีร์ที่เลือกไว้อย่างดี

8. ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งพูดอย่างไรเกี่ยวกับแผ่นพับชุดนี้?

8 แผ่นพับชุดใหม่นี้มีรูปแบบเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเรารู้วิธีใช้แผ่นพับเรื่องหนึ่งแล้วเราก็จะรู้วิธีใช้แผ่นพับเรื่องอื่นด้วย ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งในฮาวาย สหรัฐอเมริกา บอกว่า “แผ่นพับชุดใหม่นี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ง่ายและได้ ผลดีทั้งในการประกาศตามบ้านและที่สาธารณะ” ทำไมแผ่นพับชุดนี้ใช้ได้ง่าย? เขาบอกว่าเป็นเพราะหน้าแรกของแผ่นพับนี้มีคำถามและคำตอบให้เจ้าของบ้านเลือกตอบได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตอบผิด ผู้ดูแลหมวดคนนี้ยังบอกอีกว่า วิธีเขียนและออกแบบแผ่นพับชุดนี้ทำให้ผู้คนอยากคุยกับเรามากขึ้นและยังเปิดโอกาสให้คุยเรื่องที่เขาสนใจต่อได้

9, 10. (ก) แผ่นพับชุดนี้ออกแบบมาให้ง่ายต่อการอ่านพระคัมภีร์กับเจ้าของบ้านอย่างไร? (ข) แผ่นพับเรื่องไหนที่คุณคิดว่าใช้ได้ดีในการประกาศ และเพราะอะไร?

9 แผ่นพับแต่ละเรื่องมีข้อคัมภีร์ที่เลือกมาอย่างดีเพื่อเราจะอ่านกับเจ้าของบ้านได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราให้เจ้าของบ้านดูแผ่นพับความทุกข์จะมีวันสิ้นสุดไหม? เราก็ถามคำถามที่หน้าแรกแล้วให้เจ้าของบ้านเลือกคำตอบว่า “มี” “ไม่มี” หรือ “ไม่แน่ใจ” ไม่ว่าเจ้าของบ้านจะตอบอย่างไร เราก็เปิดไปด้านในของแผ่นพับและพูดง่าย ๆ ว่า “คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างนี้” แล้วก็อ่านวิวรณ์ 21:3, 4

10 คล้ายกัน เมื่อคุณใช้แผ่นพับคุณคิดอย่างไรกับคัมภีร์ไบเบิล? ไม่ว่าเจ้าของบ้านจะเลือกตอบอย่างไรในสามคำตอบนั้น เราก็เปิดไปด้านในของแผ่นพับและพูดว่า “คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า ‘พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า’” และเสริมว่า “ที่จริงคัมภีร์ไบเบิลยังบอกอีกว่า” แล้วเปิดพระคัมภีร์ที่ 2 ติโมเธียว 3:16, 17 และอ่านกับเจ้าของบ้าน

11, 12. (ก) คุณจะใช้แผ่นพับอย่างไรในงานประกาศ? (ข) แผ่นพับชุดนี้ช่วยคุณเมื่อกลับไปเยี่ยมผู้สนใจได้อย่างไร?

11 คุณจะอ่านหรือคุยกับเจ้าของบ้านเกี่ยวกับแผ่นพับนี้ต่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของเขา แต่ไม่ว่าเขาจะตอบรับอย่างไร เขาก็ได้รับข่าวสารจากแผ่นพับนี้และคุณก็ได้อ่านข้อคัมภีร์บางข้อให้เขาฟังแล้ว ถึงแม้ว่าคุณได้อ่านข้อคัมภีร์แค่หนึ่งหรือสองข้อในการประกาศครั้งแรก แต่หลังจากนั้นคุณก็ยังกลับไปคุยกับเขาต่อได้

12 ด้านหลังแผ่นพับแต่ละแผ่นจะมี “คำถามชวนคิด” และมีข้อคัมภีร์ที่จะอ่านให้ผู้สนใจฟังได้เมื่อกลับไปเยี่ยมเขาอีก ตัวอย่างเช่น แผ่นพับคุณคิดอย่างไรกับอนาคต? มีคำถามชวนคิดสำหรับการกลับเยี่ยมครั้งต่อไปว่า “พระเจ้าจะเปลี่ยนโลกของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร?” ซึ่ง คำตอบมีอยู่ในมัดธาย 6:9, 10 และดานิเอล 2:44 ส่วนแผ่นพับคนตายแล้วจะมีชีวิตอีกได้ไหม? มีคำถามชวนคิดว่า “ทำไมเราต้องแก่และตาย?” คำตอบของคำถามนี้อยู่ที่เยเนซิศ 3:17-19 และโรม 5:12

13. เราจะใช้แผ่นพับนี้เพื่อเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์อย่างไร?

13 แผ่นพับชุดใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเราให้เริ่มการศึกษาพระคัมภีร์ ด้านหลังของแผ่นพับจะมีรหัสคิวอาร์โค้ดซึ่งเมื่อนำโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตมาสแกนรหัสนี้จะสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของเราได้ทันที และในเว็บไซต์จะมีการเชิญชวนให้ผู้สนใจเรียนคัมภีร์ไบเบิล นอกจากนี้ แผ่นพับแต่ละแผ่นจะพูดถึงบทหนึ่งในจุลสารข่าวดีจากพระเจ้า! ตัวอย่างเช่น แผ่นพับใครคือผู้ครองโลกตัวจริง? จะแนะนำบท 5 ของจุลสารนี้ และแผ่นพับทำอย่างไรให้ครอบครัวมีความสุข? จะแนะนำบท 9 แผ่นพับชุดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเราให้ใช้พระคัมภีร์ตั้งแต่ประกาศครั้งแรกและในการเยี่ยมครั้งต่อไป วิธีนี้ทำให้เรามีโอกาสเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์ได้มากขึ้น คุณจะทำอะไรได้อีกเพื่อใช้พระคำของพระเจ้าให้ได้ผลดีที่สุด?

พูดคุยเรื่องที่ผู้คนสนใจ

14, 15. คุณจะเลียนแบบเปาโลในงานประกาศได้อย่างไร?

14 เปาโลอยากเข้าถึงผู้คนในงานประกาศ “ให้มากที่สุด” (อ่าน 1 โครินท์ 9:19-23) ทำไม? เพราะเปาโลต้องการช่วยทุกคนทั้งชาวยิวและคนอื่นให้เรียนความจริงและได้รับความรอด (กิจ. 20:21) เราจะเลียนแบบเปาโลได้อย่างไรเมื่อเราเตรียมตัวเพื่อไปประกาศและสอนความจริงแก่ “คนทุกชนิด”?—1 ติโม. 2:3, 4

15 แต่ละเดือนงานรับใช้พระเจ้า จะแนะนำวิธีเสนอแผ่นพับเหล่านี้? ขอคุณลองทำตามคำแนะนำนั้น แต่คุณก็ควรเตรียมเรื่องอื่นที่คิดว่าผู้คนในเขตประกาศของคุณน่าจะสนใจไว้ด้วย ลองคิดดูว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ผู้คนในเขตของคุณอาจสนใจและเลือกข้อคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งกับภรรยาของเขาพูดถึงวิธีที่พวกเขาสามารถใช้พระคัมภีร์ได้มากขึ้นในการประกาศว่า “เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่ว่าอะไรถ้าเราอ่านพระคัมภีร์สักข้อหนึ่งโดยไม่เยิ่นเย้อและพูดตรงจุด หลังจากทักทายกันตามธรรมเนียม เราก็เปิดพระคัมภีร์ที่มีในมืออยู่แล้วอ่านกับเขา” ต่อจากนี้จะมีการพูดถึงหัวเรื่อง คำถาม และข้อคัมภีร์ที่จะช่วยให้เราทำงานประกาศได้ดีขึ้น คุณคงอยากลองใช้จุดต่าง ๆ เหล่านี้ในงานประกาศด้วย

คุณกำลังใช้พระคัมภีร์และแผ่นพับให้เกิดผลดีในงานประกาศไหม? (ดูข้อ 8-13)

16. คุณจะใช้ยะซายา 14:7 ในงานประกาศอย่างไร?

16 ถ้าเขตที่คุณอาศัยอยู่มีความรุนแรงและเกิดอาชญากรรมบ่อย ๆ คุณอาจถามเจ้าของบ้านว่า “คุณคิดว่าจะเป็นอย่างไรถ้าหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวแบบนี้?” แล้วอ่านพระคัมภีร์ที่ยะซายา 14:7 ที่ว่า “ทั้งโลกก็สงบสุขและสงบเงียบ เขาทั้งหลายก็เปล่งเสียงร้องเพลงออกมา” แล้วคุณก็พูดต่อว่า “ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลมีคำสัญญาของพระเจ้าหลายข้อที่ว่าอีกไม่นานทั้งโลกจะมีแต่ความสงบสุข” หลังจากนั้น เลือกคำสัญญาสักข้อหนึ่งแล้วเปิดพระคัมภีร์อ่านกับเขา

17. เราจะเริ่มคุยกับเจ้าของบ้านอย่างไรก่อนอ่านลูกา 11:28?

17 ในเขตที่คุณอยู่หัวหน้าครอบครัวส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวไหม? ถ้าใช่ คุณอาจเริ่มคุยกับเขาโดยถามว่า “คุณคิดว่าต้องใช้เงินมากขนาดไหนเพื่อจะทำให้ครอบครัวมีความสุข?” หลังจากฟังคำตอบแล้ว คุณอาจถามว่า “มีหัวหน้าครอบครัวหลายคนที่หาเงินได้มากกว่านั้นแต่ครอบครัวของเขา กลับไม่มีความสุข คุณคิดว่าอะไรจะทำให้ครอบครัวมีความสุขจริง ๆ?” จากนั้นอ่านลูกา 11:28 และชวนเขาเรียนคัมภีร์ไบเบิล

18. คุณจะใช้ยิระมะยา 29:11 เพื่อให้กำลังใจคนอื่นอย่างไร?

18 ในเขตของคุณมีคนที่ต้องทนทุกข์เพราะโศกนาฏกรรมเมื่อไม่นานมานี้ไหม? คุณอาจเริ่มการสนทนาโดยพูดว่า “ผมมาหาคุณเพื่อให้กำลังใจคุณ (อ่านยิระมะยา 29:11) คุณสังเกตไหมว่าสองสิ่งที่พระยะโฮวาพระเจ้าต้องการทำเพื่อเราคืออะไร? คือ ‘ความสุข’ และ ‘ความหวังใจ’ เรื่องนี้ให้กำลังใจจริง ๆ ใช่ไหมที่รู้ว่าพระเจ้าอยากให้เรามีความสุข แต่เราจะมีชีวิตที่ดีแบบนั้นได้อย่างไร?” จากนั้นเปิดจุลสารข่าวดี และให้เขาดูบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น

19. คุณจะใช้วิวรณ์ 14:6, 7 กับคนที่ชอบคุยเรื่องศาสนาหรือเชื่อเรื่องพระเจ้าอย่างไร?

19 ในเขตของคุณมีคนที่ชอบคุยเรื่องศาสนาหรือเชื่อเรื่องพระเจ้าไหม? ถ้ามี คุณอาจเริ่มโดยถามว่า “ถ้าทูตสวรรค์พูดกับคุณ คุณจะฟังไหม? (อ่านวิวรณ์ 14:6, 7) ทูตสวรรค์บอกว่า ‘จงเกรงกลัวพระเจ้า’ ทูตสวรรค์พูดถึงพระเจ้าองค์ไหน? ที่นี่บอกว่า ‘พระองค์ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก’ พระเจ้าองค์นี้เป็นใคร?” จากนั้นอ่านบทเพลงสรรเสริญ 124:8 ที่ว่า “ความอุปถัมภ์ของเรามีอยู่ในพระนามของพระยะโฮวาผู้ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดินโลก” และถามเขาว่า คุณอยากรู้จักพระยะโฮวาพระเจ้ามากขึ้นไหม?

20. (ก) เราจะใช้สุภาษิต 30:4 เพื่อช่วยคนอื่นให้รู้จักชื่อพระเจ้าอย่างไร? (ข) มีพระคัมภีร์ข้อไหนบ้างที่คุณใช้ได้ผลในการประกาศ?

20 เมื่อเจอวัยรุ่นคุณอาจพูดว่า “ผมอยากอ่านพระคัมภีร์ข้อหนึ่งให้คุณฟัง ข้อนี้มีคำถามที่สำคัญมาก (อ่านสุภาษิต 30:4) ไม่มีมนุษย์คนไหนทำอย่างที่บอกในข้อนี้ได้ แสดงว่าข้อนี้กำลังพูดถึงพระผู้สร้างองค์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ * คุณอยากรู้ไหมว่าพระผู้สร้างองค์นี้ชื่ออะไร? ผมอยากเปิดพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่บอกชื่อของผู้สร้างองค์นี้”

ใช้พลังจากพระคำของพระเจ้าในงานรับใช้ของคุณ

21, 22. (ก) ข้อคัมภีร์ที่เลือกอย่างดีสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้อย่างไร? (ข) เมื่อทำงานรับใช้คุณตั้งใจจะทำอะไร?

21 เราไม่รู้เลยว่าคนที่ได้ฟังและได้อ่านข้อคัมภีร์ที่เราเลือกอย่างดีจะรู้สึกอย่างไร ตัวอย่างเช่น พยานพระยะโฮวาสองคนในออสเตรเลียไปประกาศที่บ้านของหญิงสาวคนหนึ่ง และถามเธอว่า “คุณรู้จักชื่อของพระเจ้าไหม?” และอ่านบทเพลงสรรเสริญ 83:18 ให้เธอฟัง หญิงสาวคนนั้นบอกว่า “ฉันตกตะลึงจนพูดไม่ออก! พอพวกเขาไปแล้ว ฉันก็ขับรถไปร้านหนังสือของคริสเตียนที่อยู่ไกลออกไป 56 กิโลเมตรเพื่อดูชื่อของพระเจ้าในพระคัมภีร์ฉบับแปลอื่น ๆ และลองหาชื่อนั้นในพจนานุกรม หลังจากแน่ใจแล้วว่าชื่อของพระเจ้าคือยะโฮวา ฉันก็สงสัยว่ามีเรื่องอะไรอีกที่ฉันยังไม่รู้” หลังจากนั้นไม่นาน เธอกับว่าที่สามีก็เริ่มศึกษาพระคัมภีร์และอุทิศตัวรับบัพติสมา

22 คำสอนของพระเจ้ามีพลังเปลี่ยนชีวิตคน เมื่อคนหนึ่งอ่านคัมภีร์ไบเบิล เขากำลังเสริมสร้างความเชื่อในคำสัญญาต่าง ๆ ของพระเจ้าให้เข้มแข็ง ความเชื่อนี้จะกระตุ้นให้เขานำสิ่งที่ได้เรียนไปใช้จริง ๆ (อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 2:13) ข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลมีพลังมากกว่าคำพูดใด ๆ จากปากของเรา ดังนั้น เมื่อเราทำงานรับใช้ ขอให้เราพยายามใช้คัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะพระคำของพระเจ้ามีชีวิต!

^ วรรค 20 โปรดดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ 15 กันยายน 1987 หน้า 31