ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“เดี๋ยวนี้คุณเป็นชนชาติของพระเจ้าแล้ว”

“เดี๋ยวนี้คุณเป็นชนชาติของพระเจ้าแล้ว”

“แต่ก่อนนั้นคุณไม่มีชนชาติ แต่เดี๋ยวนี้คุณเป็นชนชาติของพระเจ้าแล้ว”—1 เป. 2:10, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย

1, 2. พระยะโฮวาทำการเปลี่ยนแปลงอะไรในวันเพนเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 และใครกลายเป็นสมาชิกของชาติใหม่ของพระยะโฮวา? (ดูภาพแรก)

ในวันเพนเทคอสต์ ค.ศ. 33 พระยะโฮวาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ประชาชนของพระองค์ครั้งใหญ่ พระองค์สร้างชาติใหม่ที่เรียกว่า “อิสราเอลของพระเจ้า” หรือ อิสราเอลฝ่ายวิญญาณ (กลา. 6:16) พระยะโฮวาใช้พลังบริสุทธิ์ของพระองค์เพื่อเลือกคนมาเป็นสมาชิกของชาตินี้ เปาโลเขียนว่าคนที่จะเป็นสมาชิกของชาติใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องรับสุหนัตเหมือนกับที่ลูกหลานของอับราฮามเคยทำ แต่พวกเขาต้อง “รับสุหนัตที่หัวใจ” โดยพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า—โรม 2:29

2 สมาชิกกลุ่มแรกของชาติใหม่ของพระเจ้าคือเหล่าอัครสาวกและสาวกคนอื่น ๆ อีกมากกว่าร้อยคนที่มาชุมนุมกันในห้องชั้นบนแห่งหนึ่งในกรุงเยรูซาเลม (กิจ. 1:12-15) พระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์แก่พวกเขาและพวกเขากลายเป็นลูกของพระเจ้า (โรม 8:15, 16; 2 โค. 1:21) นี่พิสูจน์ว่าพระยะโฮวายอมรับค่าไถ่ของพระคริสต์ และได้ยกเลิกสัญญาแห่งพระบัญญัติแล้วแทนที่ด้วยสัญญาใหม่ (ลูกา 22:20; อ่านฮีบรู 9:15) สาวกที่ได้รับการเจิมเหล่านี้กลายเป็นประชาชนหรือสมาชิกของชาติใหม่ของพระยะโฮวา พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าช่วยพวกเขาให้มีความสามารถที่จะพูดและเข้าใจภาษาต่าง ๆ มากมายและสามารถสอน “ราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า”—กิจ. 2:1-11

ประชาชนกลุ่มใหม่ของพระเจ้า

3-5. (ก) เปโตรบอกชาวยิวในวันเพนเทคอสต์ว่าอย่างไร? (ข) ในช่วงแรกชาติใหม่เริ่มเติบโตอย่างไร?

3 พระยะโฮวาให้อัครสาวกเปโตรเชิญชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวให้มาเป็นสมาชิกของประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่เป็นชาติใหม่ของพระองค์ ในวันเพนเทคอสต์ เปโตรบอกชาวยิวอย่างกล้าหาญว่าพวกเขาคือคนที่ฆ่าพระเยซูและตอนนี้พวกเขาต้องยอมรับพระเยซูในฐานะ “องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์” เมื่อฝูงชนถามว่าพวกเขาต้องทำอะไร เปโตรตอบว่า “จงกลับใจ และให้พวกท่านทุกคนรับบัพติสมาในพระนามพระเยซูคริสต์เพื่อบาปของพวกท่านจะได้รับการอภัย และพวกท่านจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทาน” (กิจ. 2:22, 23, 36-38) ในวันนั้น มีประมาณ 3,000 คนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติใหม่แห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ (กิจ. 2:41) หลังจากนั้น เหล่าอัครสาวกประกาศต่อไปด้วยความกระตือรือร้น และมีคนมากขึ้นตอบรับความจริง (กิจ. 6:7) ชาติใหม่นี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

4 ต่อมา สาวกของพระเยซูเริ่มประกาศกับชาวซะมาเรีย มีชาวซะมาเรียหลายคนตอบรับความจริงและรับบัพติสมา แต่ตอนนั้นพวกเขายังไม่ได้รับพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า ต่อมา คณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเลมส่งเปโตรกับโยฮันไปเยี่ยมพี่น้องใหม่ชาวซะมาเรีย อัครสาวกสองคนนี้ได้วางมือบนพวกเขาและ “พวกเขาจึงได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์” (กิจ. 8:5, 6, 14-17) โดยวิธีนี้ พี่น้องชาวซะมาเรียได้รับการเจิมและกลายเป็นสมาชิกของอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ

เปโตรประกาศกับคอร์เนลิอุสและเพื่อน ๆ รวมทั้งญาติของเขาด้วย (ดูข้อ 5)

5 ในปี ค.ศ. 36 พระเจ้าใช้เปโตรให้เชิญคนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาเป็นชาติใหม่แห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเปโตรประกาศกับคอร์เนลิอุสนายทหารชาวโรมันรวมทั้งเพื่อน ๆ และญาติของเขาด้วย (กิจ. 10:22, 24, 34, 35) พระคัมภีร์บอกว่าขณะที่เปโตรกำลังพูดอยู่นั้น คนที่ไม่ใช่ชาวยิวซึ่งฟังอยู่ก็ได้รับพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า “เหล่าผู้มีความเชื่อที่มากับเปโตรซึ่งล้วนเป็นผู้ที่รับสุหนัตแล้วต่างก็ประหลาดใจ เพราะพวกเขาเห็นว่าพระเจ้าทรงเทพระวิญญาณบริสุทธิ์อันเป็นของประทานจากพระองค์ลงมาบนชนต่างชาติด้วย” (กิจ. 10:44, 45) จากนั้นเป็นต้นมา คนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตได้รับเชิญให้มาเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ

“ประชาชนสำหรับพระนามพระองค์”

6, 7. เพื่อจะทำตัวให้สมกับที่เป็นประชาชนของพระยะโฮวา สมาชิกของชาติใหม่ต้องทำอะไร?

6 ในการประชุมของคณะกรรมการปกครอง ปี ค.ศ. 49 สาวกยาโกโบบอกว่า “ซีเมโอน [เปโตร] ได้เล่าอย่างละเอียดแล้วว่าพระเจ้าทรงหันไปใฝ่พระทัยชนต่างชาติเป็นครั้งแรกอย่างไรเพื่อนำคนกลุ่มหนึ่งออกมาเป็นประชาชนสำหรับพระนามพระองค์” (กิจ. 15:14) คนกลุ่มใหม่ที่เป็น “ประชาชนสำหรับพระนามพระองค์” นี้มีทั้งคนยิวและไม่ใช่ยิวซึ่งพระเจ้ารวมพวกเขาให้เป็นชาติเดียว (โรม 11:25, 26) ภายหลัง เปโตรเขียนว่า “เมื่อก่อนท่านทั้งหลายไม่ได้เป็นชนชาติ แต่เดี๋ยวนี้เป็นชนชาติของพระเจ้า” เปโตรอธิบายถึงจุดประสงค์ของชนชาติใหม่นี้ว่า “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อชาติที่ถูกเลือก เป็นปุโรหิตและเป็นกษัตริย์ เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติที่เป็นสมบัติพิเศษ เพื่อท่านทั้งหลายจะป่าวประกาศคุณความดี’ ของพระองค์ผู้ทรงเรียกท่านทั้งหลายออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์” (1 เป. 2:9, 10) ดังนั้น พวกเขาต้องกล้าเป็นพยานของพระยะโฮวาและสรรเสริญพระองค์ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในเอกภพอย่างเปิดเผย

7 ตอนนี้พระยะโฮวามองชาติใหม่แห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณว่าเป็น “พลเมืองซึ่งเราได้สร้างไว้สำหรับตัวของเราเองเพื่อเขาจะได้สรรเสริญเรา” (ยซา. 43:21) พวกเขาบอกคนอื่น ๆ ด้วยความกล้าหาญว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวส่วนพระอื่น ๆ เป็นพระเท็จ (1 เทส. 1:9) พวกเขาเป็นพยานของพระยะโฮวาและของพระเยซู “ในกรุงเยรูซาเลมและทั่วแคว้นยูเดียกับแคว้นซะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก”—กิจ. 1:8; โกโล. 1:23

8. อัครสาวกเปาโลเตือนประชาชนของพระเจ้าในศตวรรษแรกอย่างไร?

8 แม้แต่เมื่อต้องพูดกับพวกนักปรัชญานอกรีต เปาโลเป็นพยานที่กล้าหาญของพระยะโฮวาและปกป้องชื่อเสียงของพระองค์ฐานะที่เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว เปาโลให้เหตุผลว่าพระยะโฮวา “ได้สร้างโลกและสรรพสิ่งในโลก” และเป็น “เจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” (กิจ. 17:18, 23-25) เปาโลยังเตือนประชาคมคริสเตียนอีกด้วยว่า “ผมรู้ว่าเมื่อผมจากไปจะมีคนอื่นที่เป็นเหมือนฝูงหมาป่าดุร้ายเข้ามาทำร้ายฝูงชนของพระเจ้า แม้แต่พวกคุณเองบางคนก็จะพูดบิดเบือนความจริง เพื่อล่อลวงพวกศิษย์ของพระเยซูให้ไปติดตามพวกเขาแทน” (กิจ. 20:29, 30, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) พอสิ้นศตวรรษแรกก็มีคนมากมายที่ต่อต้านความจริงละทิ้งความเชื่อ—1 โย. 2:18, 19

9. หลังจากที่อัครสาวกเสียชีวิตหมดแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับประชาชนของพระเจ้า?

9 หลังจากที่อัครสาวกเสียชีวิตไปหมดแล้ว การออกหากแพร่กระจายไปทั่วประชาคมคริสเตียนและมีการก่อตั้งคริสตจักรขึ้นมากมาย แทนที่คริสเตียนจอมปลอมเหล่านี้จะเป็นประชาชนที่ส่งเสริมชื่อเสียงของพระเจ้า พวกเขากลับลบชื่อของพระเจ้าออกจากพระคัมภีร์ในฉบับแปลต่าง ๆ ของพวกเขา พวกเขาทำหลายอย่างที่ทำให้ชื่อเสียงของพระเจ้าป่นปี้ พวกเขาทำพิธีกรรมนอกรีตและสอนคำสอนที่ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาสู้รบโดยอ้างว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่ต่อสู้เพื่อพระเจ้า พวกเขาทุจริตและทำผิดศีลธรรมทางเพศ หลายร้อยปีหลังจากที่การออกหากเริ่มต้น มีผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาเพียงไม่กี่คนบนโลกและไม่มีคนกลุ่มไหนถูกรวบรวมเป็น “ประชาชนสำหรับพระนามพระองค์”

กำเนิดประชาชนของพระเจ้าอีกครั้ง

10, 11. (ก) พระเยซูบอกล่วงหน้าไว้อย่างไรเกี่ยวกับ “ข้าวสาลี” และ “วัชพืช”? (ข) ตัวอย่างเปรียบเทียบที่พระเยซูพูดถึงเกิดขึ้นจริงหลังจากปี 1914 อย่างไร?

10 พระเยซูใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องข้าวสาลีกับวัชพืชเพื่อบอกล่วงหน้าว่าพวกผู้ออกหากจะทำให้บอกได้ยากว่าศาสนาไหนเป็นศาสนาแท้ ท่านบอกว่า “ขณะที่ผู้คนนอนหลับ” พญามารจะปลูกวัชพืชในทุ่งนาที่บุตรมนุษย์ได้หว่านเมล็ดข้าวสาลีไว้ ข้าวสาลีและวัชพืชจะเติบโตไปพร้อม ๆ กันจนถึง “ช่วงสุดท้ายของยุค” ท่านอธิบายว่า “เมล็ดพืชดี” คือ “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” ส่วน “วัชพืช” คือ “เหล่าบุตรของตัวชั่วร้าย” ในช่วงสมัยสุดท้าย บุตรมนุษย์จะส่งทูตสวรรค์ลงมาเพื่อแยกวัชพืชออกจากข้าวสาลี จากนั้น พวกทูตสวรรค์จะรวบรวมเหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร (มัด. 13:24-30, 36-43) เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างไร? และนี่จะทำให้เกิดการรวบรวมกลุ่มคนที่จะมาเป็นผู้นมัสการพระเจ้าบนโลกอีกครั้งตามที่พระเจ้าต้องการได้อย่างไร?

11 “ช่วงสุดท้ายของยุค” เริ่มต้นในปี 1914 ตอนนั้นบนโลกมีคริสเตียนผู้ถูกเจิมแค่ไม่กี่พันคน ช่วงที่เกิดสงครามในปีนั้น “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” ที่ได้รับการเจิมนี้ยังคงเป็นเชลยของบาบิโลนใหญ่ แต่ในปี 1919 พระยะโฮวาปลดปล่อยพวกเขาและความแตกต่างระหว่างคริสเตียนแท้กับคริสเตียนปลอมก็เห็นได้ชัดเจนมาก พระองค์รวบรวม “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” ให้เป็นประชาชนของพระองค์ตามที่ยะซายาห์ได้พยากรณ์ไว้ว่า “ประเทศหนึ่งจะถือกำเนิดขึ้นภายในวันเดียว หรือชนชาติหนึ่งจะเกิดขึ้นภายในชั่วครู่เดียวได้หรือ? ถึงกระนั้น [ซีโอน] เจ็บท้องไม่ทันไรก็คลอดลูก ๆ ออกมาแล้ว” (ยซา. 66:8, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) จากบริบทของเรื่องนี้ ซีโอนคือองค์การฝ่ายสวรรค์ของพระยะโฮวา และการที่ซีโอน “คลอดลูก” หมายถึงการรวบรวมผู้ถูกเจิมให้กลายมาเป็นชนชาติหนึ่ง

12. ผู้ถูกเจิมแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาเป็นประชาชนของพระยะโฮวา?

12 เช่นเดียวกับคริสเตียนสมัยศตวรรษแรก ทุกวันนี้ พระยะโฮวาเจิม “เหล่าบุตรแห่งราชอาณาจักร” ให้เป็นพยานของพระองค์ (อ่านยะซายา 43:1, 10, 11) พวกเขาแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิงเพราะพวกเขาประพฤติตัวเป็นคริสเตียนที่ดีและประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร “เพื่อให้พยานหลักฐานแก่ทุกชาติ” (มัด. 24:14; ฟิลิป. 2:15) โดยวิธีนี้ พวกเขาได้ช่วยหลายล้านคนให้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น—อ่านดานิเอล 12:3, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย *

“เราจะไปด้วยท่าน”

13, 14. เพื่อพระยะโฮวาจะยอมรับการนมัสการของคนที่ไม่ได้รับการเจิม เขาต้องทำอะไร? พระคัมภีร์บอกล่วงหน้าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?

13 บทความที่แล้วแสดงให้เห็นว่าในสมัยอิสราเอลโบราณ พระยะโฮวายอมรับการนมัสการของคนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลก็ต่อเมื่อพวกเขานมัสการร่วมกับประชาชนของพระองค์ (1 กษัต. 8:41-43) ทุกวันนี้ คนที่ไม่ได้รับการเจิมต้องนมัสการพระยะโฮวาร่วมกับพยานที่ถูกเจิมของพระองค์

14 ผู้ส่งข่าวของพระเจ้าหลายคนบอกล่วงหน้านานมาแล้วว่าในช่วงสมัยสุดท้ายคนจำนวนมากจะนมัสการพระยะโฮวาร่วมกับประชาชนของพระองค์ เช่น ยะซายาห์บอกล่วงหน้าว่า “ประชาชาติเป็นอันมากจะพากันกล่าวว่า ‘มาเถิดพวกเรา ให้เราขึ้นไปยังภูเขาแห่งพระยะโฮวา และยังโบสถ์ของพระเจ้าแห่งยาโคบ พระองค์จะได้ทรงสอนเราให้รู้จักวิถีทางของพระองค์’ และเราจะได้เดินไปตามทางของพระองค์นั้น ด้วยว่าพระบัญญัติจะออกไปจากท้องถิ่นซีโอน และพระคำของพระยะโฮวาจะออกไปจากกรุงยะรูซาเลม” (ยซา. 2:2, 3) ซะคาระยาห์บอกล่วงหน้าว่า “ชนเมืองแลประเทศทั้งหลายเป็นอันมากจะมาแสวงหายะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลายในเมืองยะรูซาเลม เพื่อจะอ้อนวอนต่อพระพักตร์พระยะโฮวา” คนกลุ่มนี้จะออกมาจาก “บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวง” พวกเขาจะนมัสการพระเจ้าร่วมกับชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณและพูดว่า “เราจะไปด้วยท่าน เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว”—ซคา. 8:20-23

15. “แกะอื่น” “ไป” กับอิสราเอลฝ่ายวิญญาณในงานอะไร?

15 “แกะอื่น” “ไป” กับอิสราเอลฝ่ายวิญญาณโดยร่วมประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร (มโก. 13:10) พวกเขามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนของพระเจ้า พวกเขาและผู้ถูกเจิมรวมกันเป็น “ฝูงเดียว” ภายใต้ “ผู้เลี้ยงที่ดี” คือพระเยซูคริสต์—อ่านโยฮัน 10:14-16

ได้รับการปกป้องร่วมกับประชาชนของพระยะโฮวา

16. พระยะโฮวาจะทำอะไรเพื่อนำไปสู่ช่วงสุดท้ายของ “ความทุกข์ลำบากใหญ่”?

16 หลังจากที่บาบิโลนใหญ่ถูกทำลาย ประชาชนของพระเจ้าจะถูกโจมตีอย่างเต็มที่ เพื่อจะรอดชีวิตเราต้องหวังพึ่งการปกป้องจากพระยะโฮวา การโจมตีนี้จะกระตุ้นให้มาถึงอาร์มาเก็ดดอนซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของ “ความทุกข์ลำบากใหญ่” และเมื่อถึงเวลาที่พระองค์กำหนดไว้พระยะโฮวาจะเข้าควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก (มัด. 24:21; ยเอศ. 38:2-4) ตอนนั้นโกกจะโจมตี “ประชาชนที่ถูกรวบรวมจากบรรดาประชาชาติ” (ยเอศ. 38:10-12, ฉบับมาตรฐาน ) เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพระยะโฮวาจะเข้าแทรกแซงทันทีเพื่อช่วยชีวิตประชาชนของพระองค์และทำสงครามกับโกกและกองกำลังของมัน พระยะโฮวาจะทำให้ทุกคนเห็นว่าพระองค์ผู้เดียวมีอำนาจปกครองสูงสุดและทำให้ชื่อของพระองค์บริสุทธิ์สะอาด พระองค์บอกว่า “และเราจะสำแดงตัวเราให้เป็นใหญ่ ให้เป็นที่นับถือ และเราจะให้ประเทศทั้งหลายรู้จักเรา และเขาทั้งหลายจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา”—ยเอศ. 38:18-23

ในช่วง “ความทุกข์ลำบากใหญ่” เราจำเป็นต้องติดสนิทกับประชาคมของเรา (ดูข้อ 16-18)

17, 18. (ก) เมื่อโกกโจมตีประชาชนของพระยะโฮวา พระองค์จะชี้นำพวกเขาอย่างไร? (ข) ถ้าเราอยากให้พระยะโฮวาปกป้อง เราต้องทำอะไร?

17 เมื่อโกกเริ่มโจมตี พระยะโฮวาจะบอกผู้รับใช้ของพระองค์ว่า “ดูก่อนประชาชนของข้าพเจ้าเอ๋ย จงเข้าไปในห้องและปิดประตูเสีย จงซ่อนตัวอยู่สักหน่อยหนึ่งจนถึงพระพิโรธได้ล่วงพ้นไป” (ยซา. 26:20) ในช่วงเวลานั้น พระยะโฮวาจะชี้นำว่าเราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับการปกป้อง คำว่า “ห้อง” ที่พูดถึงนี้เกี่ยวข้องกับประชาคมของเรา

18 ถ้าเราอยากได้รับการปกป้องในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่ เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้พระเจ้ามีประชาชนของพระองค์บนโลกและพระองค์รวบรวมพวกเขาไว้ในประชาคม ดังนั้น เราต้องอยู่ฝ่ายประชาชนของพระยะโฮวาและติดสนิทกับประชาคมของเรา เรามั่นใจเหมือนกับผู้แต่งเพลงสรรเสริญว่า “ความรอดย่อมมาแต่พระยะโฮวา ขออวยพระพรแก่พลไพร่ของพระองค์เถิด”—เพลง. 3:8

^ วรรค 12 ดานิเอล 12:3 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ): “บรรดาผู้มีปัญญาจะส่องแสงเหมือนความสว่างแห่งฟ้าสวรรค์และบรรดาผู้ที่นำคนเป็นอันมากมาสู่ความชอบธรรมจะส่องสว่างดั่งดวงดาวชั่วนิรันดร์”