ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เราต้องเป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทุกอย่าง

เราต้องเป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทุกอย่าง

“ท่านทั้งหลายจงเป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทั้งสิ้น”—1 เป. 1:15

1, 2. (ก) พระเจ้าต้องการให้ประชาชนของพระองค์เป็นคนอย่างไร? (ข) เราจะตอบคำถามอะไรในบทความนี้?

พระยะโฮวาดลใจอัครสาวกเปโตรให้ยกข้อความจากหนังสือเลวีติโกขึ้นมากล่าวและอธิบายว่าคริสเตียนต้องประพฤติบริสุทธิ์เหมือนกับที่ชาวอิสราเอลต้องประพฤติบริสุทธิ์ (อ่าน 1 เปโตร 1:14-16) พระยะโฮวา “ผู้บริสุทธิ์” ต้องการให้คริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” ทำสุดความสามารถเพื่อเป็นคนบริสุทธิ์ในการประพฤติทุกอย่าง ไม่ใช่แค่บางอย่างโย. 10:16

2 ในบทความนี้ เราจะตรวจดูหลักการในหนังสือเลวีติโกอย่างละเอียดเพื่อจะช่วยเราให้เรียนรู้มาตรฐานของพระยะโฮวาในเรื่องความบริสุทธิ์และนำมาใช้ในชีวิตเรา นอกจากนั้น เราจะได้คำตอบว่า เราควรมองเรื่องการยอมอะลุ่มอล่วยอย่างไร? หนังสือเลวีติโกสอนเราอย่างไรให้สนับสนุนว่าพระยะโฮวาผู้เดียวที่มีสิทธิ์จะปกครองมนุษย์? และเราเรียนอะไรได้จากเครื่องบูชาที่ชาวอิสราเอลถวายให้พระเจ้า?

ระวังเรื่องการยอมอะลุ่มอล่วย

3, 4. (ก) ทำไมคริสเตียนไม่ควรยอมอะลุ่มอล่วยในเรื่องกฎหมายหรือหลักการต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล? (ข) ทำไมเราไม่ควรแก้แค้นหรือผูกพยาบาท?

3 เพื่อเราจะทำให้พระยะโฮวาพอใจ เราต้องเชื่อฟังกฎหมายและหลักการของพระองค์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่บริสุทธิ์ และไม่ยอมอะลุ่มอล่วยต่อสิ่งที่ขัดกับความเชื่อ ถึงแม้ทุกวันนี้ เราไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายที่พระเจ้าให้ผ่านทางโมเซแล้ว แต่กฎหมายนั้นก็ช่วยเราให้เข้าใจว่าพระยะโฮวายอมรับหรือไม่ยอมรับเรื่องอะไร เช่น พระยะโฮวาบอกชาวอิสราเอลว่า “อย่าแก้แค้นหรือผูกพยาบาทผู้หนึ่งผู้ใด แต่จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง”—เลวี. 19:18

4 พระยะโฮวาไม่อยากให้เราแก้แค้นหรือผูกพยาบาท (โรม 12:19) ถ้าเราไม่สนใจกฎหมายของพระเจ้าข้อนี้ ซาตานจะมีความสุขและเราก็ทำให้พระเจ้าเสื่อมเสียชื่อเสียง ถึงแม้บางคนทำให้เราเจ็บใจเราก็ไม่ควรเก็บความแค้นนั้นไว้ พระคัมภีร์บอกว่าเราเป็น “ภาชนะดิน” หรือกล่องดินเหนียวที่เก็บของมีค่า ซึ่งของมีค่านั้นหมายถึงงานรับใช้ (2 โค. 4:1, 7) เพราะฉะนั้น เราไม่อยากเก็บความแค้นซึ่งเป็นเหมือนกรดไว้ในกล่องเดียวกับของมีค่า

5. เราเรียนอะไรได้จากเรื่องของอาโรนเมื่อลูกชายของเขาตาย? (ดูภาพแรก)

5 เลวีติโก 10:1-11 ได้บันทึกเหตุการณ์ที่น่าเศร้าของครอบครัวอาโรน พระยะโฮวาใช้ไฟจากสวรรค์มาทำลายนาดาบกับอะบีฮูลูกชายของอาโรน และพระเจ้าบอกอาโรนกับครอบครัวของเขาว่าไม่ให้แสดงความโศกเศร้าออกมาไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม นี่เป็นการทดสอบความเชื่อจริง ๆ! แล้วคุณพิสูจน์ตัวว่าบริสุทธิ์โดยไม่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวหรือคนอื่น ๆ ที่ละทิ้งพระยะโฮวาไหม?—อ่าน 1 โครินท์ 5:11

6, 7. (ก) เมื่อเราตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมงานแต่งงานในโบสถ์ เราควรคิดถึงอะไรบ้าง? (ดูเชิงอรรถ) (ข) ถ้าเราไม่เข้าร่วมงานแต่งงานที่จัดขึ้นในโบสถ์เราจะอธิบายกับญาติ ๆ อย่างไร?

6 เราอาจไม่เจอการทดสอบความเชื่อแบบเดียวกับอาโรนและครอบครัว แต่ถ้าญาติที่ไม่ใช่พยานเชิญไปงานแต่งงานของเขาที่จัดขึ้นในโบสถ์ล่ะ? ถึงแม้พระคัมภีร์ไม่มีกฎที่ชัดเจนว่าห้ามไม่ให้เข้าร่วม แต่ก็มีหลักการที่ช่วยเราให้ตัดสินใจอย่างถูกต้องได้ *

7 ในขณะที่เราตัดสินใจทำในสิ่งที่พระยะโฮวาพอใจและรักษาตัวให้บริสุทธิ์ ญาติ ๆ อาจไม่เข้าใจเรา (1 เป. 4:3, 4) เราไม่ได้อยากทำให้พวกเขาเสียความรู้สึก ดังนั้น เราควรพูดกับพวกเขาดี ๆ และอ่อนโยน แต่ขณะเดียวกันก็ยังซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา ถ้าเป็นไปได้เราควรบอกญาติแต่เนิ่น ๆ ว่าเราไม่สามารถเข้าร่วมงานนี้ได้ เราควรขอบคุณเขาที่เชิญเราไปงานแต่งงาน แล้วบอกเขาว่าอยากให้เขามีความสุขในวันสำคัญของเขา แต่เราไม่อยากทำให้เขาหรือแขกคนอื่น ๆ รู้สึกไม่ดีที่เราไม่สามารถร่วมพิธีต่าง ๆ ทางศาสนาของเขาได้ นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเราให้หลีกเลี่ยงการยอมอะลุ่มอล่วยต่อสิ่งที่ขัดกับความเชื่อ

สนับสนุนสิทธิปกครองของพระยะโฮวา

8. หนังสือเลวีติโกเน้นอำนาจในการปกครองของพระยะโฮวาอย่างไร?

8 หนังสือเลวีติโกเน้นว่าพระยะโฮวาผู้เดียวที่มีสิทธิ์จะปกครองมนุษย์ และมีการยืนยันมากกว่า 30 ครั้งว่ากฎหมายในหนังสือเลวีติโกมาจากพระเจ้า โมเซรู้เรื่องนี้ดีและเขาทำทุกอย่างตามที่พระเจ้าสั่งเสมอ (เลวี. 8:4, 5) เช่นเดียวกับโมเซ เราควรทำในสิ่งที่พระยะโฮวาผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดต้องการให้เราทำ ถึงแม้ว่าองค์การของพระเจ้าจะช่วยเราให้ทำอย่างนั้นได้ แต่บางครั้งความเชื่อของเราอาจถูกทดสอบเมื่อเราอยู่ตามลำพัง เหมือนกับที่พระเยซูเจอการทดสอบตอนที่ท่านอยู่ตามลำพังในถิ่นทุรกันดาร (ลูกา 4:1-13) ถ้าเราเชื่อในพระเจ้าและสนับสนุนสิทธิในการปกครองของพระองค์ ก็จะไม่มีใครมาทำให้เรายอมอะลุ่มอล่วยความเชื่อได้ เราจะไม่พ่ายแพ้ให้กับความกลัว—สุภา. 29:25

9. ทำไมคนทุกประเทศเกลียดชังประชาชนของพระเจ้า?

9 เราคาดหมายได้ว่าประชาชนของพระเจ้าทั่วโลกจะต้องเจอการต่อต้านข่มเหง เพราะพระเยซูบอกสาวกว่า “พวกคุณจะถูกจับไปทรมานและถูกฆ่า คนทุกประเทศจะเกลียดคุณ เพราะคุณเป็นศิษย์ของเรา” (มัด. 24:9, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) แม้พวกเราจะถูกเกลียดชัง แต่เราก็ยังประกาศและประพฤติตัวบริสุทธิ์ในทุกด้านต่อไป เรารักษาตัวให้สะอาดทั้งด้านร่างกายและศีลธรรม เราซื่อสัตย์อีกทั้งยังเป็นพลเมืองที่ดีด้วย แล้วทำไมหลายคนถึงเกลียดเรา? (โรม 13:1-7) เพราะเราเชื่อฟังพระยะโฮวาฐานะผู้ที่มีสิทธิ์จะปกครองเราแต่เพียงผู้เดียว เรานมัสการ “พระองค์ผู้เดียว” และจะไม่ยอมอะลุ่มอล่วยต่อสิ่งที่ขัดกับกฎหมายและหลักการที่ชอบธรรมของพระองค์—มัด. 4:10

10. เกิดอะไรขึ้นเมื่อพี่น้องคนหนึ่งยอมอะลุ่มอล่วยในเรื่องการรักษาความเป็นกลาง?

10 เรา “ไม่เป็นส่วนหนึ่งของโลก” ดังนั้น เราจึงเป็นกลางและไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามและการเมือง (อ่านโยฮัน 15:18-21; ยะซายา 2:4) คริสเตียนซึ่งอุทิศตัวแล้วบางคนยอมอะลุ่มอล่วยไม่รักษาความเป็นกลาง แต่พวกเขาหลายคนสำนึกผิดและกลับมาหาพระยะโฮวา (เพลง. 51:17) แต่ก็มีบางคนที่ไม่สำนึก ตัวอย่างเช่น ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีพี่น้องชายหลายคนถูกจับและถูกคุมขังอย่างไม่ยุติธรรมในเรือนจำหลายแห่งทั่วฮังการี ต่อมา เจ้าหน้าที่จับพวกเขามารวมกันในเมืองหนึ่ง มีพี่น้องที่อายุน้อยกว่า 45 ปีมากถึง 160 คนถูกบังคับให้เข้าร่วมกับกองทัพ พี่น้องส่วนใหญ่ปฏิเสธ แต่มี 9 คนที่ยอมสาบานตัวเป็นทหารและรับชุดทหารมาสวม สองปีต่อมา พี่น้องคนหนึ่งที่ยอมอะลุ่มอล่วยความเชื่อถูกสั่งให้ฆ่าพยานที่รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า และในกลุ่มนั้นมีพี่ชายแท้ ๆ ของเขาอยู่ด้วย! แต่ในที่สุดการสังหารที่โหดเหี้ยมนี้ไม่ได้เกิดขึ้น

ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่พระยะโฮวา

11, 12. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเรื่องการถวายเครื่องบูชาของชาวอิสราเอลโบราณ?

11 กฎหมายที่พระเจ้าให้ผ่านทางโมเซบอกชัดเจนว่าชาวอิสราเอลต้องถวายอะไรเป็นเครื่องบูชา (เลวี. 9:1-4, 15-21) เครื่องบูชาที่พวกเขาถวายนั้นต้องไม่มีตำหนิเพราะเป็นสัญลักษณ์แทนพระเยซูเครื่องบูชาที่สมบูรณ์ พวกเขายังต้องทำตามวิธีการที่เฉพาะเจาะจงในการถวายเครื่องบูชาแต่ละอย่างด้วย เช่น หนังสือเลวีติโก 12:6 บอกข้อเรียกร้องที่แม่ต้องทำหลังจากที่ลูกเกิดมาว่า “ครั้นครบถ้วนเวลากำหนดที่จะชำระตัวเพราะบุตรชายหรือบุตรหญิง มารดานั้นจะต้องเอาลูกแกะตัวหนึ่งมาเป็นของสำหรับเผาบูชาถวาย และนกพิราบหนุ่มตัวหนึ่ง หรือนกเขาตัวหนึ่งสำหรับบูชาไถ่โทษมาถึงประตูพลับพลาประชุมให้แก่ปุโรหิต” ถึงแม้พระยะโฮวาจะมีข้อเรียกร้องที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเครื่องบูชา แต่กฎหมายนั้นก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่มีความรักและมีเหตุผล ตัวอย่างเช่น ถ้าแม่คนใดไม่มีเงินมากพอจะถวายแกะได้ก็อนุญาตให้เธอถวายนกพิราบ 2 ตัว หรือนกเขา 2 ตัวแทนได้ (เลวี. 12:8) แม้เธอจะยากจน พระยะโฮวาก็รักและเห็นคุณค่าเธอเหมือนกับที่พระองค์รักและเห็นคุณค่าคนที่สามารถถวายของราคาแพง เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?

12 อัครสาวกเปาโลกระตุ้นคริสเตียนให้ถวาย “เครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญ” (ฮีบรู 13:15) เราถวายเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญเมื่อเราบอกคนอื่นให้รู้จักชื่อของพระยะโฮวา ส่วนพี่น้องชายหญิงของเราที่เป็นคนหูหนวกก็ใช้ภาษามือเพื่อสรรเสริญพระเจ้า พี่น้องที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ก็สรรเสริญพระเจ้าโดยใช้วิธีเขียนจดหมาย ประกาศทางโทรศัพท์ และประกาศกับคนที่มาเยี่ยม เราแต่ละคนจะสรรเสริญพระยะโฮวาได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและสุขภาพของเรา แต่เราควรถวายสิ่งดีที่สุดที่เราทำได้เสมอ—โรม 12:1; 2 ติโม. 2:15

13. ทำไมเราควรส่งรายงานการรับใช้?

13 เพราะเรารักพระยะโฮวา เราจึงอยากถวายเครื่องบูชาที่เป็นคำสรรเสริญแด่พระองค์ (มัด. 22:37, 38) แต่เราคิดอย่างไรเรื่องการส่งรายงานการรับใช้ในแต่ละเดือน? เราก็ควรทำด้วยความเต็มใจเพราะเมื่อทำอย่างนี้เราแสดงให้เห็นว่าเราเลื่อมใสพระเจ้าจริง ๆ (2 เป. 1:7) แต่ไม่ควรมีใครรู้สึกว่าต้องรับใช้ให้ได้หลาย ๆ ชั่วโมงเพื่อจะให้จำนวนชั่วโมงในรายงานดูดี ที่จริง คนที่มีปัญหาสุขภาพหรือสูงอายุซึ่งรับใช้ได้ไม่มากก็สามารถส่งรายงานเพียง 15 นาทีได้ เมื่อเขาพยายามรับใช้อย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ พระยะโฮวาก็ดีใจในสิ่งที่เขาทำเพื่อพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวารู้ด้วยว่าพี่น้องของเรารักและอยากเป็นพยานของพระองค์จริง ๆ ชาวอิสราเอลโบราณที่แม้จะยากจนก็สามารถให้สิ่งที่พระยะโฮวายอมรับได้ ทุกวันนี้ก็เช่นกัน พระยะโฮวายอมรับงานรับใช้ของคนที่มีข้อจำกัดแม้ว่าเขาจะทำได้ไม่มากก็ตาม รายงานการประกาศของเราจะไปรวมกับรายงานการรับใช้ทั่วโลกเพื่อที่องค์การจะวางแผนได้ว่ามีเขตไหนบ้างที่จำเป็นต้องมีผู้ประกาศมากขึ้น การส่งรายงานการรับใช้ของเราจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การศึกษาส่วนตัวของเราและการถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชา

14. ทำไมเราควรตรวจสอบนิสัยการศึกษาส่วนตัวของเรา?

14 หลังจากที่เราได้เรียนบทเรียนที่มีค่าจากหนังสือเลวีติโก คุณเห็นแล้วใช่ไหมว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า (2 ติโม. 3:16) คุณตั้งใจมากขึ้นที่จะรักษาตัวให้บริสุทธิ์ต่อ ๆ ไปไหม? พระยะโฮวาอยากให้เราถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระองค์และพระองค์ก็สมควรได้รับสิ่งนั้น คุณคงอยากศึกษาหนังสือเล่มอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นด้วย (อ่านสุภาษิต 2:1-5) ขอให้คุณตรวจดูนิสัยการศึกษาส่วนตัวพร้อมกับอธิษฐาน ถามตัวเองว่า ‘ฉันให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่พระยะโฮวาไหม? หรือฉันชอบดูทีวี เล่นเกม เล่นกีฬา หรือสนใจงานอดิเรกมากเกินไปจนทำให้สิ่งเหล่านี้มาขัดขวางการทำความก้าวหน้าในความจริง?’ ถ้าเป็นอย่างนั้น นับว่าดีที่เราจะคิดอย่างจริงจังถึงสิ่งที่เปาโลพูดไว้ในหนังสือฮีบรู

คุณให้ความสำคัญกับการศึกษาพระคัมภีร์และการนมัสการประจำครอบครัวเป็นอันดับแรกไหม? (ดูข้อ 14)

15, 16. ทำไมเปาโลพูดตรงไปตรงมาตอนที่เขาเขียนจดหมายถึงคริสเตียนชาวฮีบรู?

15 เปาโลพูดตรงไปตรงมาเมื่อเขาเขียนจดหมายถึงคริสเตียนชาวฮีบรู (อ่านฮีบรู 5:7, 11-14) เปาโลบอกพวกเขาว่า “พวกท่านกลายเป็นคนเฉื่อยชาในการฟัง” ทำไมเปาโลถึงพูดตรงขนาดนั้น? เพราะเปาโลรักพวกเขาเหมือนที่พระยะโฮวารัก เปาโลเป็นห่วงว่าพี่น้องชาวฮีบรูจะพอใจแค่น้ำนมหรือความรู้พื้นฐานในพระคัมภีร์เท่านั้น แม้ว่าการเข้าใจความรู้พื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญแต่ถ้าเราอยากก้าวหน้าในความจริงเราก็จำเป็นต้องรับ “อาหารแข็ง” ซึ่งก็คือคำสอนที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิลด้วย

16 ทั้ง ๆ ที่คริสเตียนชาวฮีบรูน่าจะเป็นผู้สอนคนอื่นได้แล้ว แต่ทำไมพวกเขายังต้องการให้คนอื่นมาสอนอีก? เพราะพวกเขาไม่อยากรับ “อาหารแข็ง” ดังนั้น เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันมีทัศนะที่ถูกต้องต่อความรู้ที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิลไหม? พอเจอเรื่องที่ลึกซึ้งฉันกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ไหม? หรือฉันไม่อยากศึกษาเรื่องยาก ๆ และไม่อยากอธิษฐาน? ถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญหามาจากนิสัยศึกษาส่วนตัวของฉันไหม?’ อย่าลืมว่าเราต้องสอนและช่วยผู้คนให้เข้ามาเป็นสาวก ไม่ใช่แค่ประกาศกับพวกเขาเท่านั้น—มัด. 28:19, 20

17, 18. (ก) ทำไมเราควรรับ “อาหารแข็ง” เป็นประจำ? (ข) เราควรคิดอย่างไรเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร่วมประชุม?

17 พระยะโฮวาไม่ได้บังคับเราให้ศึกษาพระคัมภีร์ จริงอยู่ที่การศึกษาพระคัมภีร์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ต้องพยายามเพื่อรับ “อาหารแข็ง” ต่อ ๆ ไปไม่ว่าเราจะอยู่ในความจริงมานานแค่ไหนแล้วก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญถ้าเราอยากรักษาตัวให้เป็นคนบริสุทธิ์เสมอ

18 เพื่อจะเป็นคนบริสุทธิ์ เราต้องตรวจดูพระคัมภีร์อย่างละเอียดและทำทุกอย่างตามที่พระเจ้าบอกให้ทำ นาดาบและอะบีฮูลูกชายของอาโรนถูกลงโทษถึงตายเพราะเขาเผาเครื่องบูชา “ด้วยไฟอื่นที่พระองค์มิได้ตรัสสั่งให้ใช้” ที่พวกเขาทำอย่างนั้นอาจเป็นเพราะกำลังเมาเหล้า (เลวี. 10:1, 2) ให้เราดูว่าพระเจ้าบอกอะไรแก่อาโรน (อ่านเลวีติโก 10:8-11) พระคัมภีร์ข้อนี้หมายความว่าเราต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มทุกอย่างที่มีแอลกอฮอล์ก่อนไปประชุมไหม? จริงอยู่ เราไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายที่พระเจ้าให้ผ่านทางโมเซแล้ว (โรม 10:4) ในบางประเทศ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่พี่น้องของเราจะดื่มแอลกอฮอล์นิดหน่อย ระหว่างทานอาหารก่อนไปประชุม นอกจากนั้น มีการใช้เหล้าองุ่นสี่แก้วในวันปัศคาและตอนที่พระเยซูตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านก็ให้อัครสาวกดื่มเหล้าองุ่นที่เป็นสัญลักษณ์แทนเลือดของท่าน (มัด. 26:27) แต่พระคัมภีร์ตำหนิเรื่องการดื่มจัดและการเมาเหล้า (1 โค. 6:10; 1 ติโม. 3:8) ในขณะเดียวกัน สติรู้สึกผิดชอบของบางคนบอกว่าไม่สมควรที่จะดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนนมัสการพระยะโฮวา อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศก็มีสภาพการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่คริสเตียนต้องแยกให้ออกว่าอะไรอาจทำให้การนมัสการของเรา “บริสุทธิ์” และ “ไม่บริสุทธิ์” โดยการทำอย่างนี้เขาจะสามารถรักษาตัวให้บริสุทธิ์และทำให้พระยะโฮวาพอใจ

19. (ก) เราจะทำให้การนมัสการประจำครอบครัวและการศึกษาส่วนตัวมีความหมายมากขึ้นได้อย่างไร? (ข) คุณจะทำอย่างไรเพื่อแสดงว่าคุณตั้งใจรักษาตัวให้บริสุทธิ์?

19 ในคัมภีร์ไบเบิลมีหลักการที่มีคุณค่าหลายข้อสำหรับเรา ถ้าเราศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดเราก็จะพบความรู้เหล่านั้น ขอให้เราใช้เครื่องมือค้นคว้าที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อทำให้การนมัสการประจำครอบครัวและการศึกษาส่วนตัวของเรามีความหมายมากขึ้น เราจะใกล้ชิดสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นถ้าเราทำความรู้จักพระองค์และเรียนรู้ว่าพระองค์อยากให้เราทำอะไร (ยโก. 4:8) ขอให้เราอธิษฐานถึงพระองค์เหมือนผู้แต่งเพลงสรรเสริญที่ว่า “ขอทรงเปิดตาของข้าพเจ้า เพื่อให้แลเห็นความประเสริฐลึกซึ้งในพระบัญญัติของพระองค์” (เพลง. 119:18) เราต้องไม่อะลุ่มอล่วยต่อสิ่งที่ขัดกับกฎหมายหรือหลักการในคัมภีร์ไบเบิล เต็มใจเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวา “ผู้บริสุทธิ์” และกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมใน “งานที่บริสุทธิ์เกี่ยวกับข่าวดีของพระเจ้า” (1 เป. 1:15; โรม 15:16) ในระหว่างสมัยสุดท้ายที่ชั่วช้านี้ ขอให้เราทุกคนรักษาตัวให้บริสุทธิ์ในการประพฤติทุกอย่างและสนับสนุนสิทธิการปกครองของพระยะโฮวา

^ วรรค 6 ดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ 15 พฤษภาคม 2002