ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณ “เข้าใจความหมาย” ไหม?

คุณ “เข้าใจความหมาย” ไหม?

“พระองค์ทรงโปรดให้พวกเขาเข้าใจความหมายของพระคัมภีร์อย่างแจ่มแจ้ง”—ลูกา 24:45

1, 2. ในวันที่พระเยซูฟื้นจากตายท่านเสริมความเชื่อของสาวกให้เข้มแข็งขึ้นอย่างไร?

สาวกสองคนของพระเยซูกำลังเดินจากกรุงเยรูซาเลมไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ไกลออกไป 11 กิโลเมตร พวกเขาโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของพระเยซู และพวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าตอนนี้พระเยซูฟื้นจากตายแล้ว ทันใดนั้น พระเยซูก็ปรากฏตัวและเดินไปกับพวกเขาพร้อมกับ “อธิบายเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระองค์ซึ่งมีบอกไว้ในพระคัมภีร์ให้เขาฟัง โดยเริ่มที่หนังสือของโมเซและของบรรดาผู้พยากรณ์” (ลูกา 24:13-15, 27) สาวกทั้งสองได้รับกำลังใจเป็นอย่างมากและใจของพวกเขาก็เร่าร้อนเพราะพระเยซูได้ ‘ชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจ’ ข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ—ลูกา 24:32

2 ในเย็นวันเดียวกัน สาวกสองคนนั้นก็กลับไปยังกรุงเยรูซาเลม เมื่อพวกเขาพบเหล่าอัครสาวก พวกเขาก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง ขณะที่สาวกสองคนนี้กำลังพูด จู่ ๆ พระเยซูก็ปรากฏตัวต่อหน้าพวกเขาทั้งหมด เหล่าอัครสาวกพากันตกใจกลัวและสงสัยว่าเป็นพระเยซูจริง ๆ ไหม พระคัมภีร์อธิบายถึงวิธีที่พระเยซูเสริมความเชื่อของพวกเขาว่า “พระองค์ทรงโปรดให้พวกเขาเข้าใจความหมายของพระคัมภีร์อย่างแจ่มแจ้ง”—ลูกา 24:45

3. ทำไมเราอาจรู้สึกท้อใจในงานรับใช้ แต่อะไรจะช่วยให้เรารับใช้อย่างมีความสุขต่อ ๆ ไป?

3 เราอาจรู้สึกเศร้าใจมากเหมือนสาวกสองคนนั้น เราอาจท้อใจที่ไม่มีคนฟังหรือตอบรับเมื่อเราไปประกาศ ทั้ง ๆ ที่เราก็รับใช้พระยะโฮวาอย่างขยันขันแข็ง (1 โค. 15:58) หรือเราอาจรู้สึกว่านักศึกษาของเราไม่ค่อยก้าวหน้า นักศึกษาบางคนอาจถึงกับเลิกศึกษาและไม่สนใจเรื่องพระยะโฮวาอีกแล้ว เราจะทำให้ตัวเราเองมีความสุขขณะที่ทำงานรับใช้ต่อไปได้อย่างไร? ถ้าเราเข้าใจความหมายของตัวอย่างเปรียบเทียบที่พระเยซูใช้อย่างชัดเจนก็จะช่วยเราให้รักษาความยินดีในงานรับใช้เอาไว้ได้ ตอนนี้เราจะพิจารณาสามตัวอย่างและดูว่าเราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเหล่านี้

ผู้หว่านที่นอนหลับ

4. ตัวอย่างเรื่องผู้หว่านที่นอนหลับหมายความว่าอย่างไร?

4 อ่านมาระโก 4:26-29 ตัวอย่างของพระเยซูเรื่องผู้หว่านที่นอนหลับหมายความว่าอย่างไร? ผู้หว่านหมายถึงผู้ประกาศข่าวสารราชอาณาจักรและเมล็ดพืชหมายถึงข่าวสารที่พวกเขาประกาศกับคนที่มีหัวใจดี ผู้หว่านทำเหมือนกับที่ทุก ๆ คนทำกันคือ “กลางคืนเขานอนหลับพอสว่างเขาก็ตื่น” การเจริญเติบโตของเมล็ดพืชนั้นใช้เวลา จากวันที่หว่านจนถึงวันที่เกี่ยว “เมล็ดนั้นงอกและเติบโตขึ้น” และค่อย ๆ เติบโต ‘ด้วยตัวเอง’ เป็นขั้น ๆ ในวิธีคล้ายกัน คนเราจะค่อย ๆ มีความเชื่อ ค่อย ๆ เติบโตในความรู้ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าและใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นเป็นขั้น ๆ เมื่อก้าวหน้ามาถึงจุดที่เขาตัดสินใจว่าจะรับใช้พระเจ้า เขาก็เกิดผลคืออุทิศชีวิตให้กับพระยะโฮวาและรับบัพติสมา

5. ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างเรื่องผู้หว่านที่นอนหลับ?

5 ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างนี้? พระเยซูต้องการให้เรารู้ว่าพระยะโฮวาคือผู้ที่ทำให้ความจริงเติบโตในหัวใจของคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริง” (กิจ. 13:48; 1 โค. 3:7) จริงอยู่ที่เราหว่านและรดน้ำ แต่เราจะบังคับหรือเร่งให้เมล็ดนั้นเติบโตไม่ได้ เหมือนกับผู้หว่านในตัวอย่างนี้ เราไม่รู้เลยว่าเมล็ดนั้นเติบโตอย่างไร ก็เหมือนกับที่เราใช้ชีวิตตามปกติและไม่รู้เลยว่าเมล็ดแห่งความจริงเรื่องราชอาณาจักรกำลังเติบโตในหัวใจใครบ้าง แต่ในที่สุด เมล็ดนั้นก็เกิดผลเป็นสาวกใหม่ที่มาทำงานร่วมกับเราในงานเกี่ยว—โย. 4:36-38

6. เราต้องยอมรับอะไรในเรื่องความก้าวหน้าของนักศึกษา?

6 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างนี้? ประการแรก เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมหรือเร่งความก้าวหน้าของนักศึกษาพระคัมภีร์ได้ ถึงแม้ว่าเราจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยและสนับสนุนนักศึกษาแล้ว แต่เราต้องไม่กดดันเขาให้รับบัพติสมา แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องถ่อมใจยอมรับว่านักศึกษาของเราเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตัดสินใจว่าเขาจะอุทิศชีวิตให้กับพระเจ้าหรือไม่ พระยะโฮวายอมรับการอุทิศตัวของเราก็ต่อเมื่อเราทำเพราะเรารักพระองค์จริง ๆ เท่านั้น—เพลง. 51:12; 54:6; 110:3

7, 8. (ก) เราเรียนอะไรได้อีกจากตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องผู้หว่านที่นอนหลับ? ขอยกตัวอย่าง (ข) เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู?

7 ประการที่สอง การเข้าใจตัวอย่างนี้จะช่วยให้เราไม่ท้อใจเมื่อเราไม่เห็นผลจากการสอนนักศึกษาในตอนแรก ดังนั้น เราต้องอดทน (ยโก. 5:7, 8) ถ้าเราพยายามช่วยนักศึกษาเต็มที่แล้วแต่ดูเหมือนว่าความจริงไม่เติบโตในหัวใจของเขา นี่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นผู้สอนที่ไม่ได้เรื่อง พระยะโฮวาจะให้เมล็ดแห่งความจริงเติบโตในหัวใจของคนที่ถ่อมตัวและเต็มใจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเท่านั้น (มัด. 13:23) ดังนั้น เราต้องไม่ตัดสินความสามารถในงานรับใช้ของเราจากจำนวนคนที่เราช่วยให้รับบัพติสมา นอกจากนั้น พระยะโฮวาไม่ได้วัดความสำเร็จในงานรับใช้ของเราจากการตอบรับของคนที่เราสอน แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์เห็นคุณค่าความขยันและความพยายามของเรา—อ่านลูกา 10:17-20; 1 โครินท์ 3:8

8 ประการที่สาม เราไม่มีทางรู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างในหัวใจของนักศึกษา ตัวอย่างเช่น สามีภรรยาคู่หนึ่งบอกมิชชันนารีที่เป็นผู้สอนพระคัมภีร์ของเขาว่าพวกเขาอยากเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา มิชชันนารีคนนั้นจึงบอกกับสามีภรรยาคู่นี้ว่าต้องเลิกบุหรี่ก่อน แต่เขาก็ต้องประหลาดใจเมื่อได้ยินสองคนนี้บอกว่าพวกเขาเลิกบุหรี่มาหลายเดือนแล้ว เพราะรู้ว่าต่อให้พวกเขาแอบสูบบุหรี่พระยะโฮวาก็ยังเห็นอยู่ดี และพระองค์ก็เกลียดคนที่หน้าไหว้หลังหลอก ทั้งสองจึงตัดสินใจที่จะไม่สูบบุหรี่ทั้งต่อหน้าและลับหลังมิชชันนารีคนนี้ ถึงแม้มิชชันนารีคนนี้จะไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สิ่งที่ช่วยสามีภรรยาคู่นี้ให้ตัดสินใจอย่างถูกต้องก็คือความรักต่อพระยะโฮวาที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

อวน

9. ตัวอย่างเรื่องอวนหมายความว่าอย่างไร?

9 อ่านมัดธาย 13:47-50 ตัวอย่างของพระเยซูเรื่องอวนหมายความว่าอย่างไร? พระเยซูพูดถึงการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรว่าเป็นเหมือนกับการหย่อนอวนใหญ่ลงในทะเล เช่นเดียวกับที่อวนจับ “ปลาทุกชนิด” ได้เป็นจำนวนมาก งานประกาศของเราก็ดึงดูดผู้คนทุกประเภทจำนวนนับล้าน ๆ เช่นกัน (ยซา. 60:5) นี่เห็นได้ชัดจากการที่มีหลายล้านคนเข้าร่วมการประชุมใหญ่และการประชุมอนุสรณ์ของเราทุกปี ซึ่งในจำนวนนี้บางคนเป็นเหมือนปลา “ดี” และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมคริสเตียน ในขณะที่คนอื่น ๆ เป็นเหมือนปลาที่ “ไม่ดี” และพระยะโฮวาไม่ยอมรับพวกเขา

หลังจากที่อ่านมัดธาย 13:47-50 . . .

10. ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างเรื่องอวน?

10 ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างนี้? การแยกปลาในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไม่ได้หมายถึงการพิพากษาที่จะเกิดขึ้นในช่วงความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ แต่ตัวอย่างนี้อธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงสมัยสุดท้ายของระบบปัจจุบัน พระเยซูแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรจะเข้ามาเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวา หลายคนไม่พร้อมจะอุทิศชีวิตให้กับพระยะโฮวาทั้ง ๆ ที่มาร่วมประชุมหรือศึกษาพระคัมภีร์กับเรา (1 กษัต. 18:21) บางคนถึงกับเลิกมาประชุม วัยรุ่นบางคนเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นพยานแต่ไม่ได้เรียนรู้ที่จะรักพระยะโฮวาด้วยตัวเอง พระเยซูเน้นย้ำว่าเราแต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้าเราตัดสินใจอย่างถูกต้อง พระยะโฮวาจะมองว่าเราเป็น “ทรัพย์” ที่มีค่าและน่าปรารถนา—ฮาฆี 2:7

. . . คิดถึงบทเรียนที่นำมาใช้ได้ในปัจจุบัน

11, 12. (ก) เราได้รับประโยชน์อะไรจากตัวอย่างเรื่องอวน? (ข) เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู?

11 เราได้รับประโยชน์อะไรจากตัวอย่างเรื่องอวน? การที่เราเข้าใจตัวอย่างนี้จะช่วยเราไม่ให้เศร้าหรือเสียใจมากเกินไปเมื่อนักศึกษาพระคัมภีร์หรือลูกของเราไม่อยากรับใช้พระยะโฮวา เราพยายามทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อฝึกสอนเขาแล้ว แต่การที่คนหนึ่งตอบรับการศึกษาพระคัมภีร์หรือเติบโตมาในความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวาโดยอัตโนมัติ ตราบใดที่เขายังไม่ยอมทำตามการชี้นำของพระยะโฮวา เขาก็เป็นผู้รับใช้ของพระองค์ไม่ได้

คนที่มีหัวใจแสวงหาความจริงจะเข้ามาสมทบกับองค์การของพระยะโฮวา (ดูข้อ 9-12)

12 นี่หมายความว่าคนที่ละทิ้งความจริงไปจะไม่มีสิทธิ์กลับมายังประชาคมอีกเลยไหม? หรือคนที่ยังไม่ได้อุทิศชีวิตให้แก่พระยะโฮวาจะไม่มีความหวังอะไรเลยไหม? ไม่ ตราบใดที่ความทุกข์ลำบากยังไม่เริ่มต้น ทุกคนมีโอกาสที่จะมาเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวาเสมอ พระยะโฮวาบอกพวกเขาว่า “เจ้าจงกลับมาหาเรา และเราจะกลับมาหาเจ้าทั้งหลาย” (มลคี. 3:7, ฉบับมาตรฐาน ) พระเยซูเน้นเรื่องนี้ในตัวอย่างเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย—อ่านลูกา 15:11-32

บุตรสุรุ่ยสุร่าย

13. ตัวอย่างของพระเยซูเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่ายหมายความว่าอย่างไร?

13 ตัวอย่างของพระเยซูเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่ายหมายความว่าอย่างไร? พ่อที่เห็นอกเห็นใจลูกในตัวอย่างนี้หมายถึงพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ที่รักเรา ลูกชายที่ผลาญมรดกหมายถึงคนที่ทิ้งประชาคมคริสเตียนไป พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกซาตาน ซึ่งเปรียบเหมือนว่าได้เดินทางจากพระยะโฮวาไป “แดนไกล” (เอเฟ. 4:18; โกโล. 1:21) แต่ต่อมา คนเหล่านี้บางคนสำนึกว่าพวกเขาได้ทำผิดพลาดครั้งใหญ่และตัดสินใจที่จะกลับมาหาพระยะโฮวา การทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องออกความพยายามมาก แต่เพราะพวกเขาถ่อมใจและเสียใจจริง ๆ ต่อสิ่งที่ได้ทำลงไป พระยะโฮวาจึงให้อภัยและยินดีต้อนรับพวกเขากลับมา—ยซา. 44:22; 1 เป. 2:25

14. ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย?

14 ทำไมพระเยซูใช้ตัวอย่างนี้? พระเยซูแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาอยากให้คนที่ละทิ้งพระองค์กลับมาจริง ๆ พ่อในตัวอย่างนี้ไม่เคยหมดหวังว่าสักวันหนึ่งลูกชายจะต้องกลับมา เมื่อเขาเห็นลูกชายเดินกลับมา เขาก็วิ่งไปหาลูกชายที่ “อยู่แต่ไกล” ทันที พ่ออยากให้ลูกรู้ว่าพ่อดีใจที่ลูกกลับมา ตัวอย่างนี้น่าจะกระตุ้นคนที่ทิ้งความจริงให้กลับมาหาพระยะโฮวาทันที คนที่ทิ้งความจริงไปอาจรู้สึกอับอาย และความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระเจ้าก็ย่ำแย่มาก นี่อาจทำให้เป็นเรื่องยากที่จะกลับเข้ามา แต่ถ้าเขาพยายาม เขาจะได้รับผลที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน พระยะโฮวา พระเยซู และเหล่าทูตสวรรค์จะยินดีมากที่เขากลับมา—ลูกา 15:7

15, 16. (ก) เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของพระเยซูเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย? ขอยกตัวอย่าง (ข) เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู?

15 เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากตัวอย่างเรื่องบุตรสุรุ่ยสุร่าย? เราต้องเลียนแบบความรักของพระยะโฮวา เมื่อคนหนึ่งกลับมายังประชาคม เราต้องไม่ทำตัว “ชอบธรรมเกินไป” และทำทีว่าไม่อยากจะต้อนรับเขา เพราะนั่นจะบั่นทอนความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา (ผู้ป. 7:16, ฉบับมาตรฐาน ) อีกสิ่งหนึ่งที่เราเรียนได้จากเรื่องนี้คือ เราต้องมองคนที่ทิ้งประชาคมไปว่าเป็นเหมือน “แกะหลง” ซึ่งวันหนึ่งเขาจะกลับมา (เพลง. 119:176) ถ้าเราเจอคนที่ทิ้งประชาคมไป เราจะทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยให้เขากลับมาไหม? เราจะบอกผู้ปกครองทันทีไหมเพื่อผู้ปกครองจะได้ช่วยเขา? เราจะทำอย่างนั้นแน่ ๆ ถ้าเราเข้าใจตัวอย่างของพระเยซูและนำบทเรียนจากตัวอย่างนี้ไปใช้ในชีวิตเราจริง ๆ

16 คนที่กลับมารู้สึกซาบซึ้งใจในความกรุณาของพระยะโฮวา รวมทั้งความรักและการสนับสนุนจากพี่น้องในประชาคม พี่น้องชายคนหนึ่งที่ถูกตัดสัมพันธ์ไปนานถึง 25 ปีบอกว่า “ตั้งแต่ผมได้กลับมาเป็นพี่น้องอีกครั้ง ผมมีความสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ พระยะโฮวาให้ผมได้มี ‘เวลาชื่นชมยินดี’ (กิจ. 3:19) พี่น้องทุกคนรักและคอยให้กำลังใจผม! ตอนนี้ผมมีครอบครัวในความเชื่อที่ยอดเยี่ยมที่สุดเลย” พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่กลับมาหาพระเจ้าหลังจากที่ทิ้งประชาคมไปห้าปีบอกว่า “ฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไรว่าความรักที่พระเยซูพูดถึงนั้นมันกินใจฉันจริง ๆ การได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์การของพระยะโฮวาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก!”

17, 18. (ก) เราเรียนอะไรได้จากทั้งสามตัวอย่างของพระเยซู? (ข) เราตั้งใจจะทำอะไร?

17 เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเปรียบเทียบทั้งสามเรื่องของพระเยซู? (1) เราต้องเข้าใจว่าเราไม่สามารถควบคุมหรือเร่งความก้าวหน้าของนักศึกษาพระคัมภีร์ได้ มีเพียงพระยะโฮวาเท่านั้นที่ทำได้ (2) เราต้องยอมรับความจริงว่าไม่ใช่ทุกคนที่เรียนพระคัมภีร์และมาร่วมประชุมกับเราอยากจะรับใช้พระยะโฮวา (3) ถึงแม้ว่าบางคนจะละทิ้งพระยะโฮวาไป แต่ขอให้เรามีความหวังเสมอว่าเขาจะกลับมา และเมื่อเขากลับมา ขอให้เราต้อนรับและแสดงให้เห็นว่าเรารักเขาเหมือนกับที่พระยะโฮวารัก

18 ขอให้เราแต่ละคนพยายามแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ และสติปัญญาต่อ ๆ ไป และเมื่อเราอ่านตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซู ให้เราถามตัวเองว่า ‘ตัวอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร? ทำไมจึงมีการบันทึกเรื่องนี้ไว้ในคัมภีร์ไบเบิล? ฉันจะนำบทเรียนจากตัวอย่างนี้ไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร? และฉันได้เรียนอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู?’ เมื่อเราทำอย่างนี้ เราจะแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจความหมายของคำสอนของพระเยซูจริง ๆ