ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ผ่านพ้นอวสานของโลกเก่านี้ไปด้วยกัน

ผ่านพ้นอวสานของโลกเก่านี้ไปด้วยกัน

“เราเป็นอวัยวะของกันและกัน”—เอเฟ. 4:25

1, 2. พระยะโฮวาอยากให้ประชาชนของพระองค์ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อยนมัสการพระองค์อย่างไร?

คุณเป็นวัยรุ่นใช่ไหม? ถ้าใช่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในโลก คุณมั่นใจได้เลยว่าคุณเป็นส่วนสำคัญในประชาคมของพระยะโฮวา มีหลายประเทศที่คนรับบัพติสมาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น เราได้รับกำลังใจจริง ๆ เมื่อเห็นวัยรุ่นเลือกที่จะรับใช้พระยะโฮวา

2 คุณที่เป็นวัยรุ่น คุณชอบใช้เวลากับเพื่อนรุ่นเดียวกันไหม? คงเป็นอย่างนั้นแน่ ๆ เรามักจะมีความสุขที่ได้ทำอะไรที่เราชอบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาอยากให้ประชาชนของพระองค์ทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไรหรือมีภูมิหลังอย่างไรนมัสการพระองค์ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ อัครสาวกเปาโลเขียนว่าพระเจ้าต้องการให้ “คนทุกชนิดรอดและได้รับความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง” (1 ติโม. 2:3, 4) ในวิวรณ์ 7:9 อธิบายว่าคนที่นมัสการพระเจ้าจะมาจาก “ทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกชนชาติ และทุกภาษา”

3, 4. (ก) วัยรุ่นในทุกวันนี้มีความคิดแบบไหน? (ข) ในเอเฟโซส์ 4:25 เปาโลพูดถึงประชาคมอย่างไร?

3 วัยรุ่นที่รับใช้พระยะโฮวากับวัยรุ่นทั่วไปต่างกันมาก วัยรุ่นที่ไม่ได้รับใช้พระยะโฮวามัวแต่สนใจตัวเองและคิดถึงแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ ที่จริง นักวิจัยบางคนบอกว่าวัยรุ่นในทุกวันนี้เห็นแก่ตัวมากกว่ายุคไหน ๆ สิ่งที่พวกเขาพูดและชุดที่เขาใส่ก็แสดงออกว่าเขาไม่ให้เกียรติคนอื่นเลยโดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า

4 ความคิดแบบนี้มีอยู่เต็มไปหมด แม้แต่ในสมัยศตวรรษแรก เปาโลก็เคยเตือนคริสเตียนเกี่ยวกับเรื่องคล้าย ๆ กันนี้มาแล้ว โดยเปาโลเรียกว่า “น้ำใจ . . . ซึ่งขณะนี้ดำเนินงานอยู่ในคนที่ไม่เชื่อฟัง” (อ่านเอเฟโซส์ 2:1-3) เราดีใจมากที่วัยรุ่นในประชาคมของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น พวกเขาอยากรับใช้พระยะโฮวาร่วมกับพี่น้อง พวกเขาเข้าใจว่าประชาคมเป็นเหมือนร่างกายที่มีอวัยวะหลายส่วน และแต่ละส่วนทำงานร่วมกัน เปาโลเขียนว่า “เราเป็นอวัยวะของกันและกัน” (เอเฟ. 4:25) ยิ่งเข้าใกล้อวสานของโลกซาตานมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งต้องรักและสามัคคีกับพี่น้องของเรามากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างจากคัมภีร์ไบเบิลที่เราจะพิจารณาในบทความนี้จะช่วยเราให้เห็นว่าทำไมเราควรใกล้ชิดสนิทกับพี่น้องและสามัคคีกัน

พวกเขาเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน

5, 6. เราเรียนอะไรได้จากเรื่องของโลตและครอบครัว?

5 ในสมัยก่อน คนของพระยะโฮวาต้องอดทนกับสภาพการณ์บางอย่างที่อันตรายมาก พระยะโฮวาปกป้องพวกเขาเมื่อพวกเขาสามัคคีและช่วยเหลือกัน เราทุกคน ทั้งวัยรุ่นและผู้สูงอายุจะได้เรียนหลายสิ่งจากตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล ตอนนี้ ขอให้เรามาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลต

6 โลตและครอบครัวตกอยู่ในอันตราย พระยะโฮวากำลังจะทำลายโซโดมเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ พระเจ้าส่งทูตสวรรค์มาเตือนโลตว่าให้ย้ายออกจากเมืองนี้และวิ่งหนีไปที่ภูเขา ทูตสวรรค์บอกเขาว่า “จงหนีเอาตัวรอดเถิด” (เย. 19:12-22) โลตกับลูกสาวสองคนเชื่อฟังคำสั่งนี้ แต่น่าเศร้าที่คนอื่น ๆ ในครอบครัวกลับไม่ทำตาม เมื่อโลตบอกว่าที่ลูกเขยให้รีบหนี พวกเขากลับคิดว่าโลตแค่ “พูดล้อเล่น” พวกเขาไม่ได้สนใจคำเตือนของโลตเลย เมื่อเมืองนั้นถูกทำลายพวกเขาจึงไม่รอด (เย. 19:14) สุดท้ายมีเพียงโลตกับลูกสาวสองคนเท่านั้นที่รอดชีวิตเพราะพวกเขาเชื่อฟังและเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน

7. พระยะโฮวาช่วยประชาชนที่สามัคคีกันออกจากอียิปต์อย่างไร?

7 เราได้บทเรียนจากตัวอย่างของชาวอิสราเอลตอนที่พวกเขาออกจากอียิปต์ด้วย พวกเขาไม่ได้แยกตัวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และใช้วิธีของตัวเองเพื่อไปแผ่นดินแห่งคำสัญญา แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาเดินไปด้วยกันเป็นกลุ่มเดียว และเมื่อพระยะโฮวาแยกทะเลแดง โมเซก็ไม่ได้ข้ามไปคนเดียวหรือไปกับชาวอิสราเอลเพียงไม่กี่คน แต่คนทั้งชาติสามัคคีกัน พวกเขาไปพร้อมกับโมเซ และพระยะโฮวาก็ปกป้องพวกเขา (เอ็ก. 14:21, 22, 29, 30) แม้แต่คนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอล หลายคนก็ตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวาและตามพวกเขาออกจากแผ่นดินอียิปต์ ทุกคนเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน (เอ็ก. 12:38) เป็นเรื่องไม่ฉลาดแน่ ๆ ที่วัยรุ่นหรือคนอื่น ๆ จะแยกตัวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำตามใจตัวเองหรือทำตามคำแนะนำที่เขาคิดว่าดีที่สุด เพราะพระยะโฮวาจะไม่ปกป้องคนที่ทำอย่างนั้น—1 โค. 10:1

8. ในสมัยของเยโฮซาฟาต ประชาชนของพระเจ้าสามัคคีกันอย่างไร?

8 ในสมัยของกษัตริย์เยโฮซาฟาต กองทัพใหญ่ที่มีกำลังมากกองทัพหนึ่งกำลังจะมาโจมตีประชาชนของพระเจ้า (2 โคร. 20:1, 2) ชาวอิสราเอลจะทำอย่างไรเมื่อถูกล้อมโดยกองกำลังที่น่ากลัวนี้? พวกเขาไว้วางใจพระยะโฮวาและอธิษฐานขอการชี้นำ (อ่าน 2 โครนิกา 20:3, 4) ชาวอิสราเอลแต่ละคนไม่ได้พยายามคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่พวกเขามารวมตัวกัน พระคัมภีร์บอกว่า “บรรดาพวกยูดาได้ยืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาทั้งลูกเล็กเด็กน้อยกับภรรยา” (2 โคร. 20:13) คนทั้งชาติ ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ต่างก็ไว้วางใจพระยะโฮวาและทำตามสิ่งที่พระองค์บอก พวกเขาเกาะกลุ่มกันและพระยะโฮวาก็ปกป้องพวกเขาจากเงื้อมมือศัตรู (2 โคร. 20:20-27) นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากซึ่งทำให้เราเห็นว่ากลุ่มคนของพระเจ้าทำอย่างไรเมื่อต้องรับมือกับการถูกโจมตี

9. เราเรียนอะไรได้จากคริสเตียนในศตวรรษแรก?

9 ในสมัยศตวรรษแรก คริสเตียนนมัสการพระยะโฮวาร่วมกันอย่างมีสันติสุขและพร้อมเพรียงกัน ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ชาวยิวและคนที่ไม่ใช่ชาวยิวหลายคนมาเป็นคริสเตียนพวกเขาทำตามคำสอนเดียวกัน พวกเขาใช้เวลาอยู่ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน และอธิษฐานด้วยกัน (กิจ. 2:42) และเมื่อคริสเตียนถูกข่มเหงซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องช่วยเหลือกันเป็นพิเศษ พวกเขาก็ยังคงสามัคคีและรักษาความเป็นเอกภาพ (กิจ. 4:23, 24) เราก็เช่นกัน เมื่อถูกข่มเหงเราต้องสามัคคีและช่วยเหลือกัน

สามัคคีกันก่อนที่วันของพระยะโฮวาจะมา

10. เมื่อไรที่เราจะต้องสามัคคีกันมากกว่าที่ผ่านมา?

10 อีกไม่นาน เรากำลังจะเจอกับช่วงเวลาที่ยุ่งยากที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้ส่งข่าวโยเอลพูดถึงวันนั้นว่าเป็น “วันแห่งความมืดมิดและหม่นหมอง” (โยเอล 2:1, 2, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย; ซฟัน. 1:14) ในเวลานั้น คนของพระยะโฮวาจะต้องสามัคคีกันมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ขอให้จำคำพูดของพระเยซูที่ว่า “ราชอาณาจักรใด ๆ ซึ่งแตกแยกกันแล้ว ก็คงพินาศ”—มัด. 12:25, ฉบับมาตรฐาน

11. ประชาชนของพระเจ้าเรียนอะไรได้จากบทเพลงสรรเสริญ 122:3, 4 ในเรื่องความสามัคคี? (ดูภาพแรก)

11 เราต้องสามัคคีกันแบบไหน? เราได้บทเรียนจากวิธีสร้างบ้านในกรุงเยรูซาเลมสมัยก่อน บ้านแต่ละหลังจะถูกสร้างให้อยู่ติด ๆ กันถึงขนาดที่ผู้แต่งเพลงสรรเสริญบอกว่ากรุงเยรูซาเลมถูก “ประสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างแน่นหนา” การที่ประชาชนอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กันทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยเพราะสามารถปกป้องและช่วยเหลือกันได้ง่ายขึ้น การที่บ้านแต่ละหลังอยู่ติด ๆ กันแบบนี้คงทำให้ผู้แต่งเพลงสรรเสริญนึกถึงตระกูลต่าง ๆ ของชาติอิสราเอลที่รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อนมัสการพระยะโฮวา (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 122:3, 4) ทั้งตอนนี้และในช่วงเวลาที่ยากลำบากซึ่งกำลังจะมาถึง เป็นเรื่องสำคัญมากที่ประชาชนของพระยะโฮวาจะต้อง “ประสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างแน่นหนา”

12. อะไรจะช่วยเราให้รอดเมื่อโกกโจมตีประชาชนของพระเจ้า?

12 ทำไมความสามัคคีของเราเป็นสิ่งสำคัญมากในอนาคต? ยะเอศเคลบท 38 พยากรณ์ว่า “โกกแห่งแผ่นดินมาโกก” จะโจมตีประชาชนของพระยะโฮวา นั่นจะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องไม่ยอมให้อะไรมาทำให้เราแตกแยกกัน จะเป็นความคิดที่ผิดมากถ้าเราคิดว่าโลกของซาตานจะช่วยปกป้องเรา แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องติดสนิทกับพี่น้องของเรา แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าถ้าเกาะกลุ่มกับพี่น้องแล้วเราจะรอดเสมอไป ตัวเราเองต้องไว้วางใจพระยะโฮวาและเชื่อฟังพระองค์ แล้วพระยะโฮวากับพระเยซูจะปกป้องเราจากการโจมตีและพาเราเข้าโลกใหม่ได้อย่างปลอดภัย (โยเอล 2:32; มัด. 28:20) แต่เราต้องรักษาความเป็นเอกภาพกับประชาชนของพระเจ้า คุณคิดว่าพระยะโฮวาจะปกป้องคนที่ทำตามความคิดของตัวเองไหม?—มีคา 2:12

13. วัยรุ่นจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างที่เราได้พิจารณากัน?

13 ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น คุณเห็นด้วยไหมว่าการอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องเป็นวิธีที่ฉลาด ขอให้คุณเอาชนะแนวโน้มที่ชอบใช้เวลากับคนรุ่นเดียวกันเท่านั้นหรือแยกตัวอยู่ต่างหากจากคนอื่น ๆ อีกไม่นาน เราทุกคนทั้งคนหนุ่มคนแก่จะต้องช่วยเหลือกันมากกว่าที่ผ่านมา ตอนนี้ขอให้คุณเสริมความสัมพันธ์ที่คุณมีกับพี่น้องให้เข้มแข็งขึ้น และมีความสุขกับการได้รับใช้พระยะโฮวาร่วมกับพวกเขา ในอนาคต ถ้าคุณใกล้ชิดสนิทกับพี่น้องพระยะโฮวาจะรักษาชีวิตคุณไว้!

“อวัยวะของกันและกัน”

14, 15. (ก) ทำไมพระยะโฮวาฝึกเราให้สามัคคีกัน? (ข) เพื่อที่เราจะสามัคคีกันได้ พระยะโฮวาให้คำแนะนำอะไรกับเรา?

14 ตอนนี้ พระยะโฮวาช่วยเราให้รับใช้ “เคียงบ่าเคียงไหล่กัน” กับพี่น้อง (ซฟัน. 3:8, 9) พระองค์ฝึกเราให้พร้อมสำหรับอนาคต เมื่อพระองค์จะ “รวบรวมสิ่งสารพัดทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกไว้ในพระคริสต์” (อ่านเอเฟโซส์ 1:9, 10) พระยะโฮวาต้องการให้ทุกชีวิตที่นมัสการพระองค์ทั้งบนสวรรค์และบนโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทำอย่างนั้น วัยรุ่นทุกคน คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ได้ตลอดไป แต่คุณต้องการเป็นเอกภาพกับองค์การของพระยะโฮวาไหม?

15 ตอนนี้พระยะโฮวาฝึกเราให้รักและสามัคคีกันเพื่อว่าเราจะมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเมื่อเข้าโลกใหม่ของพระเจ้า พระองค์สอนเราด้วยความอดทนว่าให้เรา “ต่างห่วงใยกัน” ให้ “มีความรักใคร่อันอบอุ่นต่อกัน” ให้ “ชูใจกันเรื่อยไป” และให้ “ส่งเสริมกันเรื่อยไป” (1 โค. 12:25; โรม 12:10; 1 เทส. 4:18; 5:11) พระยะโฮวารู้ว่าเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ บางครั้ง จึงไม่ง่ายที่เราจะรักษาความสามัคคีไว้ได้ นี่เป็นเหตุผลที่พระองค์บอกเราอยู่เสมอว่าเราต้อง “ให้อภัยกัน”—เอเฟ. 4:32

16, 17. (ก) เหตุผลหนึ่งที่เราประชุมกันคืออะไร? (ข) วัยรุ่นเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของพระเยซู?

16 การประชุมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาใช้เพื่อช่วยเราให้ใกล้ชิดสนิทกัน ฮีบรู 10:24, 25 ช่วยเราให้จำไว้เสมอว่าเหตุผลหนึ่งที่เราประชุมกันก็เพื่อกระตุ้นกันและกันให้ทำสิ่งที่ดี ยิ่งเราเข้าใกล้วันของพระยะโฮวามากขึ้นเท่าไร การประชุมก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

17 พระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราเพราะท่านมีความสุขกับการได้พบปะประชาชนของพระยะโฮวา ตอนที่พระเยซูอายุได้ 12 ขวบ ท่านเดินทางไปประชุมใหญ่ที่พระวิหารร่วมกับพ่อแม่ของท่าน ท่านมัวแต่เล่นกับเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันไหม? ไม่ ตอนที่พ่อแม่พบพระเยซู ท่านกำลังคุยเรื่องพระคัมภีร์กับพวกอาจารย์ในพระวิหาร—ลูกา 2:45-47

18. การอธิษฐานช่วยให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไร?

18 เราสามารถเสริมความเป็นหนึ่งเดียวให้เข้มแข็งได้โดยการอธิษฐานอย่างเฉพาะเจาะจงเผื่อพี่น้องของเราและขอพระยะโฮวาให้ช่วยพวกเขา การอธิษฐานเผื่อพี่น้องจะช่วยย้ำเตือนใจเราว่าเรารักและห่วงใยพี่น้องมากขนาดไหน การรักพี่น้อง การให้กำลังใจพี่น้องในการประชุม และการอธิษฐานเผื่อพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญ วัยรุ่นทั้งหลายคุณทำแบบนี้แล้วหรือยัง? เมื่อคุณทำแบบนี้คุณจะเป็นเพื่อนที่ดีขึ้นสำหรับพี่น้องในประชาคม เพื่อจะรอดชีวิตเมื่อวันอวสานมาถึง เราต้องใกล้ชิดสนิทกับพี่น้องของเรา ไม่ใช่โลกของซาตาน

เราทุกคนอธิษฐานเผื่อพี่น้องของเราได้ (ดูข้อ 18)

แสดงให้เห็นว่า “เราเป็นอวัยวะของกันและกัน”

19-21. (ก) เนื่องจาก “เราเป็นอวัยวะของกันและกัน” เราจึงถูกกระตุ้นให้ทำอะไร? ขอยกตัวอย่าง (ข) เราเรียนอะไรได้จากการที่พี่น้องของเราช่วยเหลือกันในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ?

19 มีหลายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ ‘ต่างก็เป็นอวัยวะของกันและกัน’ (โรม 12:5) เมื่อเกิดภัยพิบัติที่ทำให้พี่น้องได้รับความเดือดร้อน เราเห็นใจและอยากช่วยพวกเขา ในเดือนธันวาคม 2011 พายุโซนร้อนเข้าพัดกระหน่ำเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ภายในคืนเดียว มีบ้านมากกว่า 40,000 หลังถูกน้ำท่วม และบ้านของพี่น้องหลายคนก็ถูกน้ำท่วมด้วย สำนักงานสาขารายงานว่าก่อนที่การช่วยเหลือจากคณะกรรมการบรรเทาทุกข์ในท้องถิ่นจะไปถึง “พี่น้องคริสเตียนจากที่อื่นได้ให้ความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว”

20 ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่และเกิดสึนามิในแถบตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น พี่น้องของเราเดือดร้อนมาก หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว ตัวอย่างเช่น โยชิโกะซึ่งอาศัยอยู่ห่างจากหอประชุมประมาณ 40 กิโลเมตรได้สูญเสียบ้านของเธอ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธอเล่าว่า “เราดีใจมากที่ผู้ดูแลหมวดกับพี่น้องอีกคนหนึ่งมาหาเรา ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเกิดแผ่นดินไหวไปได้แค่วันเดียว” เธอยิ้มกว้างและเล่าต่อไปว่า “เราเห็นคุณค่าจริง ๆ ที่ประชาคมดูแลเรื่องความเชื่อและสภาพจิตใจของเราอย่างเต็มที่ นอกจากนั้น เราได้รับเสื้อโค้ท รองเท้า กระเป๋า และชุดนอนด้วย” สมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการบรรเทาทุกข์เล่าว่า “พี่น้องจากทั่วประเทศรวมใจเป็นหนึ่งเดียว และพยายามช่วยเหลือกัน นอกจากนั้น ยังมีพี่น้องที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากสหรัฐมาช่วยอีกแรง เมื่อถามพวกเขาว่าทำไมถึงเสียสละเดินทางมาไกลขนาดนี้ พวกเขาบอกว่า ‘เราเป็นพี่น้องกัน และพี่น้องญี่ปุ่นก็กำลังต้องการความช่วยเหลือ’” คุณภูมิใจไหมที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์การที่มีแต่คนที่รักกันจริง? คุณนึกภาพออกไหมว่าพระยะโฮวาจะดีใจขนาดไหนที่เห็นเรารักและสามัคคีกันมากขนาดนี้

21 ถ้าเราเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกันตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะพร้อมเผชิญกับสภาพการณ์ที่ยากลำบากในอนาคต ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้ติดต่อสัมพันธ์กับพี่น้องในส่วนอื่น ๆ ของโลก แต่เรายังคงรักษาเอกภาพกับพี่น้องท้องถิ่นของเราได้ พี่น้องหญิงญี่ปุ่นชื่อฟูมิโกะ ซึ่งรอดชีวิตจากพายุไต้ฝุ่นบอกว่า “อวสานใกล้เข้ามามากแล้ว ขณะที่เราเฝ้ารอคอยวันที่โลกนี้จะไม่มีภัยพิบัติอีกต่อไป เราต้องช่วยเหลือเพื่อนร่วมความเชื่อต่อ ๆ ไป”

22. การที่เราเป็นหนึ่งเดียวกันจะช่วยเราอย่างไรในอนาคต?

22 เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับวันของพระยะโฮวาตั้งแต่ตอนนี้โดยทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพกับพี่น้องของเรา เมื่อโลกชั่วของซาตานถูกทำลาย พระยะโฮวาจะปกป้องคุ้มครองประชาชนของพระองค์เหมือนกับที่พระองค์เคยทำในอดีต (ยซา. 52:9, 10) ไม่ว่าเราจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้สูงอายุ เราต้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับประชาชนของพระเจ้าเพื่อจะได้รับการปกป้องจากพระองค์ ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาว่าทำไมเราต้องเห็นคุณค่าสิ่งที่เราได้รับอยู่แล้ว