ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณควรเปลี่ยนใจไหม?

คุณควรเปลี่ยนใจไหม?

วัยรุ่นพยานกลุ่มหนึ่งตัดสินใจที่จะไปดูหนังกัน ทุกคนที่โรงเรียนต่างก็พูดถึงหนังเรื่องนี้ว่าสนุกมาก แต่พอพวกเขาไปดูโปสเตอร์ที่หน้าโรงหนัง พวกเขาเห็นว่าหนังเรื่องนั้นมีการใช้อาวุธที่รุนแรงและมีผู้หญิงแต่งตัวโป๊ พยานวัยรุ่นกลุ่มนี้จะทำอย่างไร? พวกเขาจะซื้อตั๋วและดูหนังเรื่องนี้ไหม?

จากตัวอย่างนี้ทำให้เราเห็นว่าการตัดสินใจของเราในแต่ละวันอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระยะโฮวาเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลงก็ได้ คุณอาจตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง แต่พอมาคิดดูอีกที คุณก็เปลี่ยนใจ นี่หมายความว่าคุณเป็นคนโลเลไหมหรือว่าคุณทำถูกแล้ว?

เมื่อไรที่คุณไม่ควรเปลี่ยนใจ?

เราอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมาก็เพราะเรารักพระองค์มาก เราสัญญาว่าเราจะซื่อสัตย์ต่อพระองค์เสมอ เราตั้งใจจะรักษาสัญญา แต่ซาตานศัตรูของเราพยายามทำทุกอย่างที่มันทำได้เพื่อทำให้เราสูญเสียความซื่อสัตย์มั่นคง (วิ. 12:17) เราตัดสินใจแล้วว่าจะรับใช้และเชื่อฟังพระยะโฮวาเสมอ แต่ถ้าเราเปลี่ยนใจก็อาจทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์

มากกว่า 2,600 ปีที่แล้ว กษัตริย์นะบูคัดเนซัรสร้างรูปปั้นทองคำขนาดมหึมาและสั่งให้ทุกคนก้มกราบรูปปั้นนี้ ถ้าใครไม่ยอมทำตาม คนนั้นจะถูกโยนลงในเตาไฟที่ลุกโชน ชายหนุ่มสามคนคือ ซัดรัค เมเซ็ค และอะเบ็ดนะโค เป็นคนที่นมัสการพระยะโฮวาและไม่ต้องการทำสิ่งที่พระองค์ไม่ชอบใจ พวกเขาไม่ยอมก้มกราบรูปปั้นนั้น กษัตริย์จึงสั่งให้โยนทั้งสามคนลงในเตาไฟ แต่เพราะพวกเขาเลือกที่จะตายแทนที่จะทำสิ่งที่ผิดต่อพระเจ้า พระยะโฮวาจึงได้ช่วยชีวิตพวกเขาไว้อย่างอัศจรรย์—ดานิ. 3:1-27

ต่อมา ผู้พยากรณ์ดานิเอลรู้ว่าถ้ามีใครเห็นเขาอธิษฐานถึงพระเจ้า เขาจะถูกโยนลงในบ่อสิงโต และจะถูกสิงโตฉีกร่างเป็นชิ้น ๆ อย่างน่าอนาถ แต่เขาก็ยังคงอธิษฐานถึงพระเจ้าวันละสามครั้งเหมือนเคย เขาไม่เปลี่ยนใจไปจากการนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ และสุดท้าย พระยะโฮวาก็ช่วยชีวิตดานิเอลให้รอด “จากอำนาจของสิงโต”—ดานิ. 6:1-27, ฉบับมาตรฐาน

ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับพระองค์ตอนที่พวกเขาอุทิศตัวด้วย ตัวอย่างเช่น พี่น้องวัยรุ่นในแอฟริกากลุ่มหนึ่งไม่ยอมทำความเคารพสัญลักษณ์ประจำชาติในพิธีของโรงเรียน และถูกขู่ว่าจะโดนไล่ออกจากโรงเรียน ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้พูดคุยกับเด็กพยานกลุ่มนี้ พวกเขาอธิบายอย่างสุภาพและกล้าหาญว่าทำไมพวกเขาตัดสินใจอย่างนั้น ตั้งแต่นั้นมา ปัญหานี้ก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย พวกเขาไปโรงเรียนโดยไม่ถูกใครกดดันให้ทำในสิ่งที่ขัดกับหลักการของพระยะโฮวา

ให้เรามาดูตัวอย่างของโจเซฟ ภรรยาของเขาป่วยเป็นมะเร็งและตายจากไปอย่างกะทันหัน โจเซฟต้องการจัดงานศพแบบพยานครอบครัวโจเซฟเข้าใจและนับถือการตัดสินใจของเขา แต่ครอบครัวของภรรยาซึ่งไม่ได้เป็นพยานอยากให้ฝังศพตามธรรมเนียมและประกอบพิธีกรรมหลายอย่างที่พระเจ้าไม่ชอบ โจเซฟเล่าว่า “เมื่อผมยืนยันว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ พวกเขาก็หันไปเป่าหูลูก ๆ ผมแทน แต่ลูก ๆ ก็เด็ดเดี่ยวไม่ยอมทำตาม พวกญาติ ๆ พยายามอยู่เฝ้าศพที่บ้านผมเพื่อทำพิธี แต่ผมก็บอกพวกเขาว่าถ้าจะทำพิธีแบบนั้นจะมาทำที่บ้านผมไม่ได้ หลังจากที่คุยกันหลายครั้งว่าพิธีกรรมแบบนั้นขัดกับความเชื่อของผมและภรรยา พวกเขาจึงยอมไปทำพิธีที่อื่นแทน”

“ในช่วงเวลาที่ยุ่งยากและเศร้าใจนี้ ผมขอให้พระยะโฮวาช่วยผมและลูก ๆ ไม่ให้ทำอะไรที่ผิดหลักการของพระองค์ พระองค์ฟังคำอธิษฐานของผมและช่วยเราให้มั่นคงในความเชื่อแม้จะเจอความกดดันมากมายก็ตาม” โจเซฟและลูก ๆ ของเขาไม่เคยแม้แต่จะคิดเปลี่ยนใจจากการเชื่อฟังพระยะโฮวา

เมื่อไรที่คุณอาจต้องเปลี่ยนใจ?

ในปี ค.ศ. 32 หญิงที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลคนหนึ่งขอพระเยซูให้ขับผีออกจากลูกของเธอ ถึงแม้ว่าเธอจะร้องขอพระเยซูหลายครั้ง แต่ท่านก็ไม่ตอบ ท่านอธิบายกับเหล่าสาวกว่า “เรามิได้ถูกใช้มาหาผู้ใดเว้นแต่แกะของเรือนอิสราเอลที่หายไป” หญิงคนนั้นยังคงร้องขอต่อไป พระเยซูจึงบอกเธอว่า “ถ้าจะเอาขนมปังของลูกโยนให้ลูกสุนัขก็ไม่ถูก” เธอแสดงให้เห็นว่าเธอมีความเชื่อมากจริง ๆ โดยตอบว่า “จริงอยู่ พระองค์เจ้าข้า แต่ลูกสุนัขย่อมกินเศษขนมปังที่ตกจากโต๊ะของนาย” พระเยซูจึงเปลี่ยนใจและขับผีออกจากลูกสาวของเธอ—มัด. 15:21-28

การที่พระเยซูเปลี่ยนใจเมื่อเห็นว่าเหมาะสม ท่านก็กำลังเลียนแบบพระยะโฮวา ตัวอย่างเช่น เมื่อชาวอิสราเอลไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาและไปนมัสการลูกวัวทองคำ พระองค์ตัดสินใจว่าพวกเขาสมควรตาย แต่เมื่อโมเซขอร้องพระองค์ไม่ให้ประหารชีวิตพวกอิสราเอล พระยะโฮวาก็เปลี่ยนใจ—เอ็ก. 32:7-14

อัครสาวกเปาโลก็พร้อมที่จะเปลี่ยนใจเหมือนกับพระยะโฮวาและพระเยซู ในการเดินทางเผยแพร่ฐานะมิชชันนารีรอบแรก มาระโกทิ้งเปาโลและบาร์นาบัส เขาจึงไม่อยากพามาระโกไปด้วยอีก แต่ต่อมา เปาโลก็เห็นว่ามาระโกมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นและน่าจะช่วยงานต่าง ๆ ได้ดี เปาโลจึงบอกติโมเธียวว่า “จงพามาระโกมากับท่านด้วย เพราะเขาเป็นประโยชน์ต่อข้าพเจ้าในงานรับใช้”—2 ติโม. 4:11

เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างเหล่านี้? ถึงแม้ว่าพระยะโฮวาจะสมบูรณ์แบบ แต่พระองค์ก็พร้อมจะเปลี่ยนใจเพราะพระองค์เป็นพระเจ้าที่มีความเห็นอกเห็นใจ อดทน และมีความรัก เราเป็นคนไม่สมบูรณ์ เราไม่ได้มองสิ่งต่าง ๆ ถูกต้องเสมอไป นี่ยิ่งทำให้เรามีเหตุผลมากขึ้นไปอีกที่จะต้องเปลี่ยนใจในบางครั้ง เช่น เราเปลี่ยนความคิดที่มีต่อคนอื่นเมื่อเราเข้าใจสภาพการณ์ของเขามากขึ้น

บางครั้ง เราอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีที่เราคิดเกี่ยวกับเป้าหมายในงานรับใช้ เช่น เราอาจศึกษาพระคัมภีร์และไปประชุม แต่ยังไม่ยอมรับบัพติสมาสักที หรือเราเป็นไพโอเนียร์ได้แต่ก็ยังลังเลไม่เริ่มสักที พี่น้องชายอาจไม่กระตือรือร้นที่จะทำความก้าวหน้าเพื่อเป็นผู้ปกครองหรือผู้ช่วยงานรับใช้ (1 ติโม. 3:1) แล้วคุณเป็นอย่างนี้ไหม? คุณคิดว่าคุณควรเปลี่ยนใจไหม? พระยะโฮวาชวนคุณให้เพลิดเพลินกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ นี้และมีความสุขกับการได้รับใช้พระเจ้าและคนอื่น ๆ

การที่คุณเปลี่ยนใจอาจทำให้ได้รับพรจากพระเจ้า

เอลลาพี่น้องที่รับใช้ในเบเธลแอฟริกาเล่าว่า “ตอนที่มาเบเธลครั้งแรก ฉันคิดว่าคงจะอยู่ได้ไม่นาน จริง ๆ ฉันอยากรับใช้พระยะโฮวาสุดชีวิต แต่เพราะฉันสนิทกับครอบครัวมาก ช่วงแรกฉันเลยคิดถึงครอบครัวสุด ๆ แต่ก็ยังดีที่เพื่อนร่วมห้องของฉันคอยให้กำลังใจอยู่เสมอ ฉันเลยตัดสินใจอยู่รับใช้ที่นี่ต่อไป หลังจากที่รับใช้ในเบเธลมา 10 ปี ฉันรู้สึกว่าฉันอยากทำงานรับใช้พี่น้องโดยทำงานมอบหมายในเบเธลให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

เมื่อไรที่คุณต้องเปลี่ยนใจ?

มีหลายครั้งที่เราต้องเปลี่ยนใจทันที ตัวอย่างเช่น คายินอิจฉาน้องชายมากจน “โกรธแค้นนัก” พระเจ้าเห็นว่าคายินกำลังจะทำอะไรบางอย่างที่ไม่ดีและพระองค์เตือนคายินให้ควบคุมความโกรธของเขา พระเจ้าบอกว่าบาป “คอยอยู่ที่ประตู” แต่แทนที่คายินจะเปลี่ยนใจและเปลี่ยนความคิด เขากลับไม่ฟังคำเตือนของพระเจ้า ผลที่น่าเศร้าก็คือคายินฆ่าน้องชายของตัวเอง!—เย. 4:2-8

ถ้าคายินเปลี่ยนใจ ผลจะเป็นอย่างไร?

เราสามารถเรียนจากเรื่องราวของกษัตริย์อูซียาห์ได้ด้วย ตอนแรก กษัตริย์องค์นี้เชื่อฟังและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา แต่น่าเศร้า เขาเริ่มหยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาถึงกับเข้าไปในพระวิหารและถวายเครื่องหอม ทั้ง ๆ ที่มีแต่ปุโรหิตเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่นี้ ปุโรหิตจึงเตือนกษัตริย์ไม่ให้ทำอย่างนั้น และบอกให้เขาเปลี่ยนใจ แต่อูซียาห์ “โกรธ” และไม่ยอมเปลี่ยนใจ ดังนั้น พระยะโฮวาจึงทำให้เขาเป็นโรคเรื้อนทันที—2 โคร. 26:3-5, 16-20

ปัจจุบันมีตัวอย่างของคนที่ได้เปลี่ยนใจคือ โจอาคิม เขารับบัพติสมาในปี 1955 แต่แล้วในปี 1978 เขาก็ถูกตัดสัมพันธ์ หลังจากผ่านไป 20 กว่าปี เขาก็เปลี่ยนความคิด กลับใจ และกลับมาหาพระเจ้า เมื่อผู้ปกครองถามเขาว่าทำไมเขาปล่อยให้เวลาผ่านไปนานขนาดนี้ โจอาคิมบอกว่า “ที่ผ่านมาผมทั้งโกรธและหยิ่ง ผมเสียใจจริง ๆ ที่ปล่อยเวลาให้ผ่านมานาน ในช่วงที่ผมถูกตัดสัมพันธ์ ผมรู้ว่าพยานพระยะโฮวาสอนความจริง”

ในบางครั้ง เราก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ เมื่อเราเต็มใจทำอย่างนั้น พระยะโฮวาจะรักและพอใจในตัวเรา—เพลง. 34:8