ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ช่วยคนจากชาติต่าง ๆ ให้รับ “คำสอนของพระยะโฮวา”

ช่วยคนจากชาติต่าง ๆ ให้รับ “คำสอนของพระยะโฮวา”

“ข้าหลวงใหญ่ . . . จึงมาเป็นผู้เชื่อถือ เพราะเขาอัศจรรย์ใจในคำสอนของพระยะโฮวา”—กิจ. 13:12

1-3. ทำไมจึงไม่ง่ายที่สาวกของพระเยซูจะประกาศข่าวดีแก่ “ทุกชาติ”?

พระเยซูคริสต์ได้มอบหมายงานใหญ่ให้กับผู้ติดตามท่านโดยสั่งพวกเขาว่า “จงไปสอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก” พวกเขาจึงต้องประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร . . . ไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่เพื่อให้พยานหลักฐานแก่ทุกชาติ”—มัด. 24:14; 28:19

2 เหล่าสาวกรักพระเยซูและรักข่าวดีแต่พวกเขาอาจสงสัยว่า ‘พวกเราจะทำตามที่พระเยซูสั่งได้อย่างไร?’ เพราะพวกเขามีเพียงไม่กี่คน นอกจากนั้น พระเยซูที่เขาประกาศว่าเป็นลูกของพระเจ้าก็กลับถูกฆ่า ยิ่งกว่านั้น หลายคนยังมองว่าเหล่าสาวกเป็นแค่ “ชาวบ้านธรรมดาไร้การศึกษา” (กิจ. 4:13, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) พวกเขาไม่ได้เรียนในโรงเรียนสอนศาสนาเหมือนผู้นำศาสนาชาวยิว และข่าวสารที่พวกเขาประกาศยังขัดแย้งกับธรรมเนียมของชาวยิวซึ่งผู้นำศาสนาได้สอนมาหลายร้อยปีแล้ว เนื่องจากเหล่าสาวกไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวอิสราเอล พวกเขาอาจสงสัยว่าจะมีสักกี่คนในจักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่นี้ที่จะฟังพวกเขา?

3 พระเยซูเตือนเหล่าสาวกว่าพวกเขาจะถูกเกลียดชังและถูกข่มเหง บางคนอาจถึงกับถูกฆ่า (ลูกา 21:16, 17) พวกเขาจะถูกเพื่อนและคนในครอบครัวทรยศ นอกจากนั้น บางคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นสาวกของพระคริสต์จะสอนคำสอนเท็จด้วย พวกเขาจะประกาศในเขตที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมและความรุนแรง (มัด. 24:10-12) เมื่อคิดถึงอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ เหล่าสาวกจะประกาศ “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” ได้อย่างไร?—กิจ. 1:8

4. ผลจากงานประกาศของเหล่าสาวกเป็นอย่างไร?

4 เหล่าสาวกรู้ดีว่างานมอบหมายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็เชื่อฟังคำสั่งของพระเยซูและประกาศในกรุงเยรูซาเลม ในแคว้นซะมาเรีย และในประเทศอื่น ๆ หลังจากนั้นประมาณ 30 ปี พวกเขาเดินทางไปหลายดินแดนจึงทำให้เปาโลพูดได้ว่าพวกเขาได้ “ประกาศท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้ฟ้า” และผู้คนจากชาติต่าง ๆ จึงเข้ามาเป็นสาวก (โกโล. 1:6, 23) ตัวอย่างเช่น เมื่อเปาโลประกาศบนเกาะไซปรัส ข้าหลวงใหญ่ชาวโรมันชื่อเซอร์จิอุสเปาลุสได้เข้ามาเป็นสาวกเพราะ “เขาอัศจรรย์ใจในคำสอนของพระยะโฮวา”—อ่านกิจการ 13:6-12

5. (ก) พระเยซูสัญญาอะไรกับเหล่าสาวก? (ข) หนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งบอกอย่างไรเกี่ยวกับศตวรรษแรก?

5 เหล่าสาวกรู้ว่าพวกเขาไม่สามารถประกาศไปทั่วโลกโดยความสามารถของพวกเขาเอง แต่พวกเขาจำได้ว่าพระเยซูสัญญาว่าจะอยู่กับพวกเขาและพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะช่วยพวกเขาด้วย (มัด. 28:20) นอกจากนั้น สภาพการณ์อื่น ๆ ในตอนนั้นอาจช่วยพวกเขาให้ทำงานประกาศง่ายขึ้นด้วย ที่จริง หนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งบอกว่า ศตวรรษแรกเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับคริสเตียนในการเริ่มต้นงานประกาศ และเมื่อเวลาผ่านไปคริสเตียนก็รู้สึกได้ว่าพระเจ้าเตรียมทางไว้เพื่อช่วยพวกเขาจริง ๆ

6. เราจะพิจารณาอะไร (ก) ในบทความนี้? (ข) ในบทความถัดไป?

6 พระยะโฮวาได้เปลี่ยนเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลกในศตวรรษแรกเพื่อช่วยคริสเตียนให้ทำงานประกาศไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกอะไรในเรื่องนี้ แต่เรารู้ว่าพระยะโฮวาต้องการให้ประชาชนของพระองค์ประกาศข่าวดีและซาตานไม่สามารถหยุดพวกเขาได้ ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ช่วยให้เหล่าสาวกในยุคแรกประกาศได้ง่ายขึ้น และในบทความถัดไป เราจะมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ช่วยเราในทุกวันนี้ให้ประกาศข่าวดีไปทั่วโลก

สมัยสันติภาพแห่งโรม

7. สมัยสันติภาพแห่งโรมเป็นอย่างไร และแตกต่างจากสมัยอื่น ๆ อย่างไร?

7 ในศตวรรษแรก มีช่วงเวลาแห่งสันติสุขในจักรวรรดิโรมันจึงทำให้เหล่าสาวกประกาศง่ายขึ้น ช่วงเวลานั้นเรียกว่า สันติภาพแห่งโรม หรือภาษาละตินเรียกว่าพักซ์ โรมานา ในช่วงนั้นกลุ่มกบฏต่าง ๆ ถูกรัฐบาลโรมันปราบปราม จริงอยู่ แม้จะมีสงครามอยู่บ้างตามที่พระเยซูพยากรณ์ไว้ (มัด. 24:6) ตัวอย่างเช่น ชาวโรมันทำลายกรุงเยรูซาเลมในปี ค.ศ. 70 และมีการสู้รบบ้างประปรายใกล้ชายแดนของจักรวรรดิ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในจักรวรรดิก็มีความสงบสุขจึงทำให้เหล่าสาวกเดินทางสะดวกและประกาศง่ายขึ้น ช่วงเวลาแห่งสันติสุขนี้ยาวนานประมาณ 200 ปี หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่มีความสงบสุขยาวนานขนาดนี้ที่ทำให้ผู้คนได้ประโยชน์มากมาย

8. สมัยสันติภาพแห่งโรมช่วยคริสเตียนยุคแรกให้ประกาศข่าวดีง่ายขึ้นอย่างไร?

8 ประมาณ 300 ปีหลังจากสมัยพระเยซู นักศาสนาชื่อออริเกนเขียนเกี่ยวกับสมัยที่มีสันติสุขนี้ว่า การปกครองของโรมันที่แผ่ไปหลายประเทศทำให้เหล่าสาวกประกาศในประเทศเหล่านั้นทั้งหมดได้ ประชาชนไม่ต้องสู้รบเพื่อป้องกันประเทศของตนแต่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในหมู่บ้านของพวกเขา หลายคนจึงมีโอกาสได้ฟังเรื่องความรักและสันติสุขที่เหล่าสาวกประกาศ แม้เหล่าสาวกจะเจอการต่อต้าน แต่พวกเขายังคงใช้ช่วงเวลาแห่งสันติสุขนี้อย่างดีที่สุดเพื่อประกาศข่าวดีไปทุก ๆ ที่—อ่านโรม 12:18-21

การเดินทางสะดวกขึ้น

9, 10. มีอะไรบ้างที่ช่วยให้เหล่าสาวกเดินทางง่ายขึ้น?

9 ชาวโรมันสร้างถนนระยะทางมากกว่า 80,000 กิโลเมตรเชื่อมต่อกับทุกส่วนของจักรวรรดิ ทหารในกองทัพโรมันที่ยิ่งใหญ่ใช้ถนนเหล่านี้เพื่อเคลื่อนกองกำลังไปทุกที่ได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาจึงปกป้องอาณาเขตและควบคุมประชาชนให้อยู่ใต้อำนาจได้ คริสเตียนก็ใช้ถนนเหล่านี้ในการเดินทางผ่านป่า ข้ามทะเลทราย และขึ้นภูเขาไปประกาศในที่ต่าง ๆ ด้วย

10 นอกจากถนนแล้ว ชาวโรมันยังใช้เรือด้วย พวกเขาแล่นเรือไปตามแม่น้ำและคลองต่าง ๆ หรือออกทะเลถึงท่าเรือนับร้อยทั่วจักรวรรดิ ที่จริง ชาวโรมันใช้เส้นทางเดินทะเลถึง 900 เส้นทางจึงทำให้คริสเตียนสามารถเดินทางด้วยเรือไปหลาย ๆ ที่ได้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีเอกสารทางกฎหมายเหมือนกับพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทางเพื่อเข้าไปในประเทศต่าง ๆ นอกจากนั้น มักไม่ค่อยมีการปล้นกันตามถนนหนทางเพราะพวกโจรรู้ว่ารัฐบาลโรมันจะลงโทษคนที่ทำผิดอย่างรุนแรง และเนื่องจากมีเรือของกองทัพโรมันแล่นอยู่ทั่วเส้นทาง นักเดินทางจึงไม่กลัวถูกโจรสลัดปล้น แม้คัมภีร์ไบเบิลพูดว่าเปาโลเคยประสบภัยเรือแตกและบางครั้งก็เจอภัยในทะเล แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเขาเคยถูกโจรสลัดปล้น การเดินทางทั้งทางถนนและทางเรือในสมัยนั้นส่วนใหญ่แล้วจึงปลอดภัย—2 โค. 11:25, 26

ภาษากรีก

การใช้โคเดกซ์ช่วยให้หาข้อคัมภีร์ง่ายขึ้น (ดูข้อ 12)

11. ทำไมเหล่าสาวกใช้ภาษากรีก?

11 หลายปีก่อนหน้านั้น อเล็กซานเดอร์มหาราชผู้นำชาวกรีกเคยปกครองพื้นที่ต่าง ๆ ที่โรมปกครอง ผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นจึงพูดภาษากรีกที่รู้จักกันว่ากรีกคีนี ดังนั้น เหล่าสาวกจึงใช้ภาษานี้ประกาศกับพวกเขา และยังยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่แปลเป็นภาษากรีกขึ้นมาอ้างให้พวกเขาฟัง ฉบับแปลนี้รู้จักกันว่าฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งแปลโดยคนยิวที่อาศัยอยู่ในอียิปต์ ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลหลายคนยังใช้ภาษากรีกในการเขียนส่วนที่เหลือของคัมภีร์ไบเบิล เพราะภาษากรีกมีคำศัพท์มากมายจึงเป็นภาษาที่เหมาะมากในการอธิบายความจริงที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิล และภาษานี้ยังเป็นภาษาที่พี่น้องในประชาคมต่าง ๆ ใช้ติดต่อพูดคุยกันซึ่งทำให้เกิดเอกภาพ

12. (ก) โคเดกซ์คืออะไร? และทำไมจึงใช้ง่ายกว่าม้วนหนังสือ? (ข) คริสเตียนเริ่มใช้โคเดกซ์อย่างกว้างขวางเมื่อไร?

12 คริสเตียนในสมัยศตวรรษแรกใช้อะไรในการสอนคัมภีร์ไบเบิล? ตอนแรก พวกเขาใช้ม้วนหนังสือ แต่ม้วนหนังสือใช้ยากและพกพาลำบาก ทุกครั้งที่ต้องการหาข้อพระคัมภีร์พวกเขาจะต้องคลี่ม้วนหนังสือออกและหลังจากใช้เสร็จก็ต้องม้วนเก็บ นอกจากนั้น ม้วนหนังสือต่าง ๆ มักจะเขียนเพียงด้านเดียว เช่น หนังสือกิตติคุณมัดธายเพียงหนึ่งเล่มก็ต้องใช้ม้วนหนังสือทั้งม้วน ต่อมา เริ่มมีการใช้โคเดกซ์ซึ่งเป็นหนังสือแบบเล่มรุ่นแรกโดยนำแผ่นกระดาษหลายแผ่นเย็บเข้าด้วยกัน ผู้อ่านจึงสามารถเปิดและพลิกหาข้อคัมภีร์ง่ายขึ้น ถึงแม้ไม่รู้แน่นอนว่าคริสเตียนเริ่มใช้โคเดกซ์เมื่อไร แต่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า “เป็นที่รู้กันว่าคริสเตียนใช้โคเดกซ์อย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ 2 (ค.ศ. 101-200) นั่นหมายความว่าพวกเขาคงต้องใช้โคเดกซ์มาตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 100 อยู่แล้ว”

กฎหมายของโรม

13, 14. (ก) เปาโลใช้สิทธิ์ในการเป็นพลเมืองโรมันอย่างไร? (ข) คริสเตียนได้รับประโยชน์อย่างไรจากกฎหมายของโรม?

13 คริสเตียนในศตวรรษแรกได้ประโยชน์จากกฎหมายของโรม ตัวอย่างเช่น เปาโลเป็นพลเมืองโรมัน และหลายครั้งกฎหมายโรมันช่วยปกป้องเขา ครั้งหนึ่ง เมื่อทหารโรมันจับเปาโลและกำลังจะเฆี่ยนเขาที่กรุงเยรูซาเลม เปาโลบอกพวกทหารว่าเขาเป็นพลเมืองโรมันและยังเตือนผู้บังคับกองพันว่าไม่ควรเฆี่ยนพลเมืองโรมันโดยที่ยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิด ดังนั้น “คนที่กำลังจะสอบสวนเปาโลด้วยการทรมานจึงผละจากเปาโลไปทันที ส่วนผู้บังคับกองพันก็กลัวเมื่อรู้ว่าเปาโลเป็นพลเมืองโรมันเพราะเขาได้มัดเปาโลไว้”—กิจ. 22:25-29

14 การที่เปาโลเป็นพลเมืองโรมันทำให้เขาได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายในเมืองฟิลิปปอย (กิจ. 16:35-40) ในเมืองเอเฟโซส์ เมื่อฝูงชนโกรธแค้นต้องการทำร้ายคริสเตียนบางคน เจ้าหน้าที่ในเมืองนั้นบอกฝูงชนให้สงบโดยเตือนว่าพวกเขากำลังทำผิดกฎหมายของโรม (กิจ. 19:35-41) ต่อมา เมื่อเปาโลอยู่ในซีซาเรียเขาอยากใช้สิทธิ์เข้าพบจักรพรรดิในกรุงโรมเพื่อปกป้องข่าวดี (กิจ. 25:8-12) ดังนั้น คริสเตียนจึงใช้กฎหมายของโรมเพื่อ “ปกป้องข่าวดีและทำให้การประกาศข่าวดีเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย”—ฟิลิป. 1:7

คนยิวอาศัยอยู่ในหลายประเทศ

15. ในศตวรรษแรกคนยิวอาศัยอยู่ที่ไหนบ้าง?

15 มีอย่างอื่นอีกที่อาจช่วยคริสเตียนในศตวรรษแรกให้ประกาศไปทั่วโลก ตอนนั้น คนยิวอาศัยอยู่ในหลายประเทศไม่ใช่แค่ในประเทศอิสราเอล เพราะอะไร? หลายร้อยปีก่อน คนยิวถูกจับไปเป็นเชลยที่อัสซีเรียและหลายปีต่อมาก็ถูกจับไปที่บาบิโลน หลังจากที่ชาวเปอร์เซียทำลายบาบิโลนก็มีคนยิวอาศัยอยู่ทั่วจักรวรรดิเปอร์เซีย (เอศ. 9:30) ในศตวรรษแรก ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลกมีคนยิวอาศัยอยู่ทั่วจักรวรรดิโรมัน เช่น ในอียิปต์ และในส่วนอื่น ๆ ของแอฟริกาเหนือ กรีซ เอเชียไมเนอร์ และเมโสโปเตเมีย ในจักรวรรดินี้คาดว่ามีคนอาศัยอยู่ถึง 60 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนยิวมากกว่า 4 ล้านคน แม้ว่าพวกเขากระจัดกระจายไปหลายที่ แต่คนยิวยังทำกิจกรรมทางศาสนาของพวกเขา—มัด. 23:15

16, 17. (ก) เนื่องจากคนยิวอาศัยอยู่ในหลายประเทศ คนที่ไม่ใช่ยิวจึงได้ประโยชน์อย่างไร? (ข) คริสเตียนทำตามตัวอย่างของคนยิวอย่างไร?

16 เนื่องจากคนยิวอาศัยอยู่ในหลายประเทศ คนที่ไม่ใช่ยิวหลายคนจึงคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู และได้เรียนรู้ความเชื่อของคนยิว เช่น พวกเขาได้รู้ว่ามีพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และคนที่รับใช้พระองค์ต้องเชื่อฟังกฎหมายของพระองค์ หลายคนยังรู้ด้วยว่าพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมาจากพระเจ้าและมีคำพยากรณ์ที่เกี่ยวกับพระมาซีฮาหลายข้อ (ลูกา 24:44) ดังนั้น เมื่อคริสเตียนประกาศข่าวดี ทั้งคนยิวและคนที่ไม่ใช่ยิวจึงรู้บางเรื่องที่คริสเตียนกำลังประกาศอยู่แล้ว และเมื่อเปาโลอยากพบคนที่ฟังข่าวดี เขาก็จะไปที่ประชุมของคนยิว และใช้พระคัมภีร์หาเหตุผลกับพวกเขา—อ่านกิจการ 17:1, 2

17 คนยิวมักจะรวมกลุ่มกันเพื่อนมัสการเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นที่ประชุมของคนยิวหรือที่อื่น ๆ พวกเขาจะร้องเพลง อธิษฐาน และพูดคุยเกี่ยวกับพระคัมภีร์ คริสเตียนจึงทำตามตัวอย่างของคนยิว และทุกวันนี้เราเองก็ทำอย่างเดียวกันในประชาคมของเรา

พระยะโฮวาช่วยพวกเขาในงานประกาศ

18, 19. (ก) ในศตวรรษแรกมีสภาพการณ์อะไรบ้างที่ทำให้คริสเตียนทำงานประกาศง่ายขึ้น? (ข) บทความนี้ทำให้คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา?

18 ช่วงศตวรรษแรกเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมือนยุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์ จักรวรรดิโรมันในตอนนั้นมีความสงบสุข ผู้คนสื่อสารโดยใช้ภาษาเดียวกัน และกฎหมายยังช่วยปกป้องประชาชน การเดินทางไปไหนมาไหนก็ง่ายขึ้น ผู้คนหลายประเทศก็คุ้นเคยกับคนยิวและพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู สภาพการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้คริสเตียนทำงานที่พระเจ้ามอบหมายง่ายขึ้น

19 ประมาณ 400 ปีก่อนที่พระเยซูจะมาบนโลก นักปรัชญาชาวกรีกชื่อเพลโตเขียนว่าเป็นเรื่องยากมากที่ผู้คนจะรู้จักผู้สร้างทุกสิ่งในโลก และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกทุกคนในโลกเกี่ยวกับพระองค์ แต่พระเยซูบอกว่า “สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ พระเจ้าทรงทำได้” (ลูกา 18:27) เห็นได้ชัดว่างานประกาศเป็นไปได้เพราะความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา พระองค์อยากให้ “คนจากทุกชาติ” ได้ฟังข่าวดีและได้มารู้จักพระองค์ (มัด. 28:19) ในบทความถัดไปจะอธิบายว่ามีการประกาศข่าวดีไปทั่วโลกอย่างไรในทุกวันนี้