ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นขนาดไหน?

ความสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นขนาดไหน?

“จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน”—ยโก. 4:8

1. ทำไมเราต้องรักษาความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้นอยู่เสมอ?

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รับบัพติสมาเป็นพยานของพระยะโฮวา คุณก็มีบางสิ่งที่มีค่ามาก คุณมีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระองค์ แต่โลกของซาตานกำลังโจมตีความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า และความไม่สมบูรณ์ของเราเองก็อาจทำให้ความสัมพันธ์นั้นอ่อนแอลงได้ เราทุกคนจึงจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

2. (ก) ความสัมพันธ์คืออะไร? (ดูเชิงอรรถ) (ข) เราจะทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นมากขึ้นได้อย่างไร?

2 พระยะโฮวาเป็นบุคคลจริงสำหรับคุณไหม? คุณรู้สึกว่าพระองค์เป็นเพื่อนของคุณไหม? คุณอยากให้ความสัมพันธ์ของคุณกับพระองค์แน่นแฟ้นมากขึ้นไหม? ยาโกโบ 4:8 บอกว่า “จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน” ความสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับทั้งตัวคุณและพระองค์ * ถ้าคุณทำส่วนของคุณเพื่อเข้าใกล้พระยะโฮวา พระองค์ก็จะทำส่วนของพระองค์เพื่อเข้าใกล้คุณ ยิ่งคุณทำอย่างนั้นมากขึ้นเท่าไร พระองค์ก็จะเป็นบุคคลจริงสำหรับคุณมากขึ้นเท่านั้น และความสัมพันธ์ของคุณกับพระองค์จะแน่นแฟ้นมากขึ้นจนคุณรู้สึกเหมือนกับพระเยซูที่บอกว่า “ผู้ทรงใช้เรามานั้นดำรงอยู่จริง” และ “เรารู้จักพระองค์” (โย. 7:28, 29) แต่มีอะไรอีกที่คุณทำได้เพื่อจะใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น?

คุณจะพูดคุยกับพระยะโฮวาได้อย่างไร? (ดูข้อ 3)

3. เราจะติดต่อพูดคุยกับพระยะโฮวาได้อย่างไร?

3 ถ้าคุณอยากใกล้ชิดพระยะโฮวา สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือคุณกับพระองค์ต้องพูดคุยกันเป็นประจำ แต่จะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? ลองคิดดูว่าถ้าคุณกับเพื่อนอยู่คนละที่ คุณจะใช้วิธีไหนติดต่อพูดคุยกัน คุณอาจเขียนจดหมายหรือคุยกันทางโทรศัพท์บ่อย ๆ คล้ายกัน คุณคุยกับพระยะโฮวาได้โดยอธิษฐานถึงพระองค์ เป็นประจำ (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 142:2) แต่คุณจะให้พระยะโฮวาพูดกับคุณได้อย่างไร? คุณทำอย่างนั้นได้โดยอ่านคัมภีร์ไบเบิล คำของพระองค์และใคร่ครวญเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน เป็นประจำ (อ่านยะซายา 30:20, 21) ให้เรามาดูวิธีที่การพูดคุยระหว่างคุณกับพระยะโฮวาทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับพระองค์แน่นแฟ้นมากขึ้น และทำให้พระองค์เป็นเพื่อนแท้ของคุณ

ให้พระยะโฮวาพูดกับคุณโดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล

4, 5. พระยะโฮวาพูดกับคุณอย่างไรขณะที่คุณอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิล? ขอยกตัวอย่าง

4 เรารู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลมีข่าวสารที่พระเจ้าอยากบอกเราทุกคน แต่คัมภีร์ไบเบิลช่วยคุณ ให้ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นได้ไหม? ได้สิ! เมื่อคุณอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ ให้คุณถามตัวเองว่ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ได้อ่าน และคิดดูว่าจะเอาเรื่องที่อ่านไปปรับใช้ในชีวิตอย่างไร เมื่อทำอย่างนั้น คุณก็กำลังให้พระยะโฮวาพูดกับคุณ พระองค์จะกลายเป็นเพื่อนสนิทที่คอยช่วยเหลือคุณ และคุณก็จะใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น—ฮีบรู 4:12; ยโก. 1:23-25

5 ตัวอย่างเช่น คุณรู้สึกอย่างไรเมื่ออ่านคำพูดของพระเยซูที่ว่า “จงเลิกสะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนบนแผ่นดินโลก”? ถ้าคุณกำลังทำสุดความสามารถอยู่แล้วเพื่อให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกในชีวิต คุณมั่นใจได้ว่ากำลังทำให้พระองค์พอใจ แต่ถ้าคุณอ่านคำพูดของพระเยซูในข้อนี้ แล้วเห็นว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนชีวิตให้เรียบง่ายเพื่อให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรก นั่นแสดงว่าพระยะโฮวากำลังช่วยคุณให้เข้าใจว่าคุณ ต้องทำอะไรเพื่อจะใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น—มัด. 6:19, 20

6, 7. (ก) เมื่อเราศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ความรักระหว่างเรากับพระยะโฮวาจะเป็นอย่างไร? (ข) เป้าหมายหลักของเราในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคืออะไร?

6 เป็นความจริงที่ว่าเมื่อเราศึกษาคัมภีร์ไบเบิล เราได้เรียนรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวามากขึ้น เรายังได้เรียนเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทำด้วยความรักและบุคลิกภาพที่ดีเยี่ยมของพระองค์ซึ่งทำให้เรารักพระองค์มากขึ้น เมื่อความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาและความรักที่พระองค์มีต่อเราเพิ่มมากขึ้น นั่นจะทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น—อ่าน 1 โครินท์ 8:3

7 ถ้าเราอยากใกล้ชิดกับพระยะโฮวานับว่าสำคัญที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง พระเยซูบอกว่า “พวกเขาจะมีชีวิตนิรันดร์ ถ้าพวกเขารับความรู้ ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือเยซูคริสต์” (โย. 17:3) เมื่อเราเรียนคัมภีร์ไบเบิล เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ และเรื่องที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่เป้าหมายหลักของเราควรเป็นการเรียนเพื่อจะรู้จักพระยะโฮวาดีขึ้นในฐานะบุคคล—อ่านเอ็กโซโด 33:13; เพลง. 25:4

8. (ก) บางคนอาจคิดอย่างไรเมื่อพระยะโฮวาลงโทษกษัตริย์อะซาระยา? (ข) ถ้าคุณรู้จักพระยะโฮวาอย่างดี คุณจะรู้สึกอย่างไรในสิ่งที่พระองค์ทำ?

8 เมื่อเรารู้จักพระยะโฮวาฐานะเป็นเพื่อนสนิท เราจะไม่กังวลถ้าคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้อธิบายเหตุผลทุกครั้งว่าทำไมพระยะโฮวาทำอย่างนั้น เช่น สมัยที่อะซาระยาเป็นกษัตริย์แห่งยูดาห์ ตอนนั้นประชาชนนมัสการพระเท็จ แต่อะซาระยาไม่ได้เข้าร่วมกับพวกเขา “ท่านได้ประพฤติถูกต้องในคลองพระเนตรแห่งพระยะโฮวา” (2 กษัต. 15:1-5) แล้วทำไมพระยะโฮวาลงโทษอะซาระยาให้เป็นโรคเรื้อน? บันทึกส่วนนี้ไม่ได้บอกไว้ ถ้าอย่างนั้นคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทำ? คุณรู้สึกไหมว่าพระยะโฮวาลงโทษอะซาระยาอย่างไม่ยุติธรรมและไม่มีเหตุผล? ไม่อย่างแน่นอน ถ้าคุณรู้จักพระยะโฮวาอย่างดี คุณจะรู้ว่าการตีสอนของพระองค์ถูกต้องเพราะพระองค์ตีสอน “แต่พอดี” เสมอ (ยิระ. 30:11) ดังนั้น แม้คุณไม่รู้ว่าทำไมพระยะโฮวาลงโทษอะซาระยาแต่คุณก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน

9. รายละเอียดอะไรที่ช่วยเราให้เข้าใจเหตุผลที่พระยะโฮวาลงโทษกษัตริย์อะซาระยาให้เป็นโรคเรื้อน?

9 คัมภีร์ไบเบิลบอกรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับกษัตริย์อะซาระยาซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าอุซียา (2 กษัต. 15:7, 32) บันทึกใน 2 โครนิกา 26:3-5, 16-21 (ฉบับคาทอลิก ) บอกว่า ‘พระองค์กระทำสิ่งที่พระยะโฮวาเห็นว่าถูกต้อง’ และยังบอกว่า ต่อมา ‘พระองค์ก็หยิ่งผยอง จึงประสบหายนะ’ กษัตริย์พยายามจะทำสิ่งที่เฉพาะปุโรหิตเท่านั้นที่มีสิทธิ์ทำ ดังนั้น ปุโรหิตทั้ง 81 คนจึงบอกว่าเขาทำไม่ถูกต้องและพยายามห้ามเขา แต่เขาแสดงท่าทีอย่างไร? ความหยิ่งทำให้เขาโกรธพวกปุโรหิตมาก! เราเห็นว่า รายละเอียดเหล่านี้ที่เพิ่มเข้ามาช่วยเราให้เข้าใจว่าทำไมพระยะโฮวาจึงลงโทษกษัตริย์อะซาระยาให้เป็นโรคเรื้อน

10. ทำไมเราไม่จำเป็นต้องรู้เหตุผลสำหรับทุกสิ่งที่พระยะโฮวาทำ? และเราจะไว้ใจมากขึ้นว่าพระยะโฮวาทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอได้อย่างไร?

10 เราได้บทเรียนสำคัญอะไร? เรื่องราวของกษัตริย์อะซาระยาให้รายละเอียดมากพอที่จะช่วยเราให้เข้าใจเหตุผลที่พระยะโฮวาลงโทษเขา แต่ถ้าคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกรายละเอียดทุกอย่างล่ะ คุณจะทำอย่างไร? คุณจะสงสัยไหมว่าพระยะโฮวาทำสิ่งที่ถูกต้องจริง ๆ หรือเปล่า? หรือคุณรู้สึกว่าคัมภีร์ไบเบิลมีข้อมูลมากพอที่จะทำให้มั่นใจว่าพระเจ้าทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ (บัญ. 32:4) ยิ่งคุณรู้จักพระยะโฮวามากขึ้นเท่าไร คุณก็จะรักและไว้วางใจพระองค์มากขึ้นเท่านั้น แล้วคุณจะรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้เหตุผลทุกอย่างที่พระองค์ทำ เมื่อคุณศึกษาคัมภีร์ไบเบิลพระยะโฮวาจะกลายเป็นบุคคลจริงสำหรับคุณและคุณก็จะใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น—เพลง. 77:12, 13

คุณพูดคุยกับพระยะโฮวาได้เมื่อคุณอธิษฐาน

11-13. คุณรู้ได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาฟังคำอธิษฐาน? (ดูภาพแรก)

11 เมื่ออธิษฐานเราสามารถเข้าใกล้พระยะโฮวา เราสรรเสริญ ขอบคุณ และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ (เพลง. 32:8) แต่ถ้าคุณอยากเป็นเพื่อนสนิทกับพระยะโฮวา คุณต้องมั่นใจว่าพระองค์ฟังคำอธิษฐานของคุณ

12 บางคนบอกว่าพระเจ้าไม่ฟังคำอธิษฐานและการอธิษฐานก็แค่ทำให้สบายใจขึ้น พวกเขาเชื่อว่าการอธิษฐานจะช่วยคุณให้คิดทบทวนถึงปัญหาของคุณอย่างละเอียด และนั่นจะช่วยคุณให้พบวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จริงอยู่ การอธิษฐานอาจช่วยคุณแบบนั้น แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อคุณพูดกับพระยะโฮวาในคำอธิษฐาน พระองค์จะฟังคุณจริง ๆ?

13 ขอให้คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนที่พระเยซูอยู่บนสวรรค์ท่านเห็นพระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของผู้รับใช้ที่เป็นมนุษย์ และตอนที่ท่านอยู่บนโลกท่านอธิษฐานถึงพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของท่านโดยเผยความคิดและความรู้สึกให้พระองค์ฟัง ครั้งหนึ่งพระเยซูถึงกับอธิษฐานตลอดทั้งคืน (ลูกา 6:12; 22:40-46) นอกจากนั้น พระเยซูยังสอนเหล่าสาวกให้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาด้วย พระเยซูจะทำอย่างนั้นไหมถ้ารู้ว่าพระยะโฮวาไม่ฟังคำอธิษฐาน? เห็นได้ชัด พระเยซูรู้ว่าพระยะโฮวาฟังคำอธิษฐานจริง ๆ ท่านถึงกับพูดว่า ‘ข้าพเจ้าขอบพระคุณที่ทรงฟังคำอธิษฐานของข้าพเจ้า ที่จริง ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่าพระองค์ทรงฟังคำอธิษฐานของข้าพเจ้าเสมอ’ เราก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะฟังคำอธิษฐานของเราเหมือนกัน—โย. 11:41, 42; เพลง. 65:2

14, 15. (ก) เมื่อเราอธิษฐานอย่างเจาะจง เราได้ประโยชน์อย่างไร? (ข) การอธิษฐานของเคทีช่วยเธออย่างไรให้ใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้น?

14 เมื่อคุณอธิษฐาน คำตอบที่คุณได้รับอาจไม่ชัดเจนเสมอไป แต่ถ้าคุณอธิษฐานขออย่างเจาะจง คุณก็จะเห็นคำตอบจากพระยะโฮวาชัดเจนมากขึ้น พระองค์ก็จะเป็นบุคคลจริงสำหรับคุณมากขึ้น และยิ่งถ้าคุณบอกทุกเรื่องที่คุณกังวลให้พระยะโฮวารู้ พระองค์ก็จะยิ่งเข้าใกล้คุณ

15 ตัวอย่างเช่น เคทีออกไปประกาศบ่อย ๆ แต่ไม่มีความยินดี * เธอบอกว่า “ฉันไม่ชอบงานประกาศ ฉันไม่ชอบจริง ๆ นะ” แต่เมื่อเธอลาออกจากงาน ผู้ปกครองคนหนึ่งสนับสนุนให้เธอเป็นไพโอเนียร์ประจำ เธอบอกว่า “เขายื่นใบสมัครให้ฉัน ฉันเลยตัดสินใจเป็นไพโอเนียร์ และฉันก็อธิษฐานทุกวันเพื่อขอพระยะโฮวาช่วยฉันให้ชอบงานประกาศ” พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเธอไหม? หลังจากเป็นไพโอเนียร์มา 3 ปี ตอนนี้เธอบอกว่า “เมื่อได้ใช้เวลามากขึ้นในงานประกาศและเรียนจากพี่น้องหญิงคนอื่น ๆ ฉันก็ค่อย ๆ ประกาศเก่งขึ้น ทุกวันนี้ฉันไม่ได้แค่ชอบ งานประกาศแต่ฉันรัก เลยล่ะ และที่สำคัญฉันใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นกว่าเดิม” การอธิษฐานของเคทีช่วยเธอให้ใกล้ชิดพระยะโฮวามากขึ้นจริง ๆ

ทำส่วนของคุณ

16, 17. (ก) คุณต้องทำอะไรเพื่อให้ความสัมพันธ์กับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?

16 เราสามารถรักษาความใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้นตลอดไปได้ ดังนั้น ขอเราฟังพระองค์ต่อ ๆ ไปโดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ และพูดคุยกับพระองค์บ่อย ๆ โดยการอธิษฐาน ถ้าเราทำอย่างนั้น ความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาก็จะยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ และโดยการช่วยเหลือจากพระองค์เราจะอดทนกับการทดสอบต่าง ๆ ได้

การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดชีวิต (ดูข้อ 16, 17)

17 แม้เราอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเป็นประจำ แต่บางครั้งการที่เราต้องต่อสู้กับปัญหาส่วนตัวอาจทำให้เราเริ่มขาดความไว้วางใจพระยะโฮวา หรืออาจรู้สึกว่าพระยะโฮวาไม่ฟังคำอธิษฐานของเรา และอาจถึงกับสงสัยว่าเราเป็นเพื่อนของพระองค์จริง ๆ ไหม ถ้าคุณเริ่มรู้สึกอย่างนั้น คุณจะทำอย่างไร? บทความถัดไปจะช่วยคุณ

^ วรรค 2 ความสัมพันธ์คือความผูกพันที่เกิดจากการที่คนสองคนรู้สึกและปฏิบัติต่อกัน ซึ่งเขาทั้งสองต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อจะรักษาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นอยู่เสมอ

^ วรรค 15 ชื่อสมมุติ