ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

วางใจพระยะโฮวาเสมอ!

วางใจพระยะโฮวาเสมอ!

“พลเมืองเอ๋ย จงวางใจในพระองค์เสมอทุกเวลา”—เพลง. 62:8

1-3. ทำไมเปาโลมั่นใจว่าเขาวางใจในพระยะโฮวาได้? (ดูภาพแรก)

ถ้าคุณเป็นคริสเตียนในศตวรรษแรกและอาศัยอยู่ที่กรุงโรม คุณก็คงมีชีวิตอยู่ในช่วงที่เต็มไปด้วยอันตราย ชาวโรมันกดขี่ข่มเหงคริสเตียนอย่างโหดร้ายทารุณ พวกเขาโทษคริสเตียนว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ในกรุงโรมและยังกล่าวหาว่าเป็นพวกที่เกลียดชังเพื่อนมนุษย์ พี่น้องชายหญิงคริสเตียนหลายคนถูกจับ บางคนถูกสัตว์ฉีกร่างเป็นชิ้น ๆ ส่วนคนอื่นถูกตอกติดกับเสาแล้วก็ถูกเผาทั้งเป็นเพื่อใช้เป็นคบเพลิงในตอนกลางคืน แต่ละวันคุณไม่รู้ว่าจะเจอการข่มเหงอะไร

2 ในช่วงที่ยุ่งยากลำบากแสนสาหัสนี้ อัครสาวกเปาโลถูกขังอยู่ในคุก เขาอาจสงสัยว่าพี่น้องคริสเตียนจะมาช่วยเขาไหมเพราะเขาจำได้ว่าเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นไม่มีใครช่วยเขาเลย แต่เปาโลได้รับการช่วยเหลือจากพระยะโฮวาโดยทางพระเยซู เขาเขียนว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนอยู่ใกล้ข้าพเจ้าและทรงประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า” ใช่แล้ว พระเยซูให้กำลังที่จำเป็นแก่เปาโล เปาโลจึงเขียนว่า เขาได้รับการช่วย “ให้รอดจากปากสิงโต”—2 ติโม. 4:16, 17 *

3 เปาโลจำได้ว่าก่อนหน้านั้นพระยะโฮวาเคยช่วยเขา ดังนั้น เขาจึงมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้กำลังที่จำเป็นเพื่อจะอดทนกับสภาพการณ์ในตอนนั้นและความยุ่งยากลำบากใด ๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น เขามั่นใจมากเกี่ยวกับเรื่องนี้จนเขียนว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดจากการชั่วทุกอย่าง” (2 ติโม. 4:18) เปาโลรู้ว่าแม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่พี่น้องช่วยเขาไม่ได้ แต่เขามั่นใจเต็มที่ว่าพระยะโฮวาและพระเยซูจะช่วยเขา

โอกาสที่เราจะแสดงว่าเราวางใจพระยะโฮวา

4, 5. (ก) เมื่อคุณจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ใครที่ช่วยคุณได้จริง ๆ? (ข) คุณจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นขึ้นได้อย่างไร?

4 คุณเคยมีปัญหายุ่งยากและรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะไม่มีใครช่วยคุณเลยไหม? เช่น คุณอาจตกงาน ถูกกดดันที่โรงเรียน ป่วยหนัก หรือเจอความยากลำบากต่าง ๆ คุณอาจเคยขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะไม่มีใครช่วยคุณได้ตรงกับความจำเป็นจริง ๆ แน่นอน มีปัญหาบางอย่างที่มนุษย์แก้ไขไม่ได้ แล้วคุณจะทำอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้ “วางใจในพระยะโฮวา” (สุภา. 3:5, 6) แต่คุณมั่นใจไหมว่าพระองค์จะช่วยคุณ? ใช่แล้ว! เมื่อเราอ่านคัมภีร์ไบเบิล เราเห็นตัวอย่างมากมายที่ทำให้เรามั่นใจว่าพระยะโฮวาช่วยประชาชนของพระองค์ได้จริง ๆ

5 เมื่อคนอื่นช่วยคุณไม่ได้อย่างที่คุณต้องการอย่ารู้สึกขื่นขม แทนที่จะรู้สึกอย่างนั้น ขอให้คิดเหมือนเปาโลที่ว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่คุณจะแสดงให้เห็นว่าคุณวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ และยังเป็นโอกาสที่คุณจะเห็นด้วยตัวเองว่าพระยะโฮวาดูแลคุณอย่างไร แล้วคุณจะไว้วางใจพระองค์มากขึ้น และความสัมพันธ์ของคุณกับพระองค์ก็จะแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย

เราจำเป็นต้องวางใจพระยะโฮวา

6. เมื่อเราเจอปัญหายุ่งยากทำไมจึงไม่ง่ายที่เราจะไว้วางใจพระยะโฮวา?

6 คุณอาจมีปัญหายุ่งยากที่ทำให้ทุกข์ใจ และคุณก็พยายามทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแก้ปัญหาแล้ว รวมทั้งได้อธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา เมื่อได้ทำอย่างนั้น คุณก็จะรู้สึกสบายใจขึ้นเพราะคุณวางใจว่าพระยะโฮวาจะทำส่วนของพระองค์เพื่อช่วยคุณ (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 62:8; 1 เปโตร 5:7) ถ้าคุณอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา การเรียนรู้ที่จะวางใจพระองค์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ง่ายเสมอไป ทำไมล่ะ? เพราะพระยะโฮวาอาจไม่ได้ตอบคำอธิษฐานของคุณทันที—เพลง. 13:1, 2; 74:10; 89:46; 90:13; ฮบา. 1:2

7. ทำไมบางครั้งพระยะโฮวาไม่ได้ตอบคำอธิษฐานของเราทันที?

7 ทำไมบางครั้งพระยะโฮวาไม่ตอบคำอธิษฐานของเราทันที? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวาเป็นพ่อของเราและเราเป็นลูกของพระองค์ (เพลง. 103:13) โดยปกติ พ่อที่เป็นมนุษย์ไม่ได้ให้ทุกอย่างตามที่ลูกขอและบางครั้งก็ไม่ได้ให้ทันที พ่อรู้ว่าลูกอาจอยากได้ของบางอย่างเดี๋ยวนั้น แต่พอได้มาแล้วไม่นานเขาก็เบื่อ พ่อยังรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูกและรู้ว่าสิ่งที่ลูกขอจะส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร ที่จริง พ่อรู้ว่าลูกต้องการอะไรและเมื่อไรที่ควรจะให้ลูก แต่ถ้าพ่อให้ทุกสิ่งที่ลูกอยากได้ทันที พ่อก็จะกลายเป็นคนรับใช้ของลูก พระยะโฮวาพ่อในสวรรค์รักเรา และในฐานะผู้สร้างที่มีสติปัญญาพระองค์รู้ว่าอะไรจำเป็นสำหรับเรา และรู้ว่าตอนไหนเหมาะที่สุดที่จะให้สิ่งที่เราขอ ดังนั้น นับว่าดีที่เราจะรอดูว่าพระยะโฮวาจะตอบคำอธิษฐานของเราอย่างไร—เทียบกับยะซายา 29:16; 45:9

8. แม้เรามีขีดจำกัดในเรื่องความอดทน แต่พระยะโฮวาสัญญาว่าอะไร?

8 ขอจำไว้ว่า พระยะโฮวารู้ว่าเราแต่ละคนมีขีดจำกัดมากน้อยแค่ไหน (เพลง. 103:14) ดังนั้น พระองค์จะให้กำลังที่เราจำเป็นต้องมี แม้บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าทนต่อไปไม่ไหวแล้ว แต่พระยะโฮวาสัญญาว่าถ้าปัญหาหนักเกินกว่าที่เราจะทนได้ พระองค์ก็จะ “ให้มีทางออก” (อ่าน 1 โครินท์ 10:13) เราได้กำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่าพระยะโฮวารู้ขีดจำกัดของเรา นั่นทำให้เราไว้วางใจพระยะโฮวาได้

9. เราควรทำอะไรถ้าเราอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา แต่พระองค์ไม่ได้ตอบเราทันที?

9 ถ้าเราอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา แม้พระองค์ไม่ได้ตอบทันทีก็ขอให้เราอดทนรอ จำไว้ว่า พระยะโฮวาอยากช่วยเรามาก แต่พระองค์ก็อดทนรอให้ถึงเวลาที่เหมาะที่สุดเพื่อให้สิ่งที่เราจำเป็น ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระยะโฮวาทรงรอคอยโอกาสที่จะทรงแสดงความเมตตาแก่เจ้า และเพราะฉะนั้นพระองค์ทรงขยับที่จะแสดงความกรุณาแก่เจ้า เพราะพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้ทรงยุติธรรม ความสุขย่อมมีแก่ผู้ที่คอยท่าพระองค์”—ยซา. 30:18

“ปากสิงโต”

10-12. (ก) อะไรอาจทำให้การดูแลสมาชิกครอบครัวที่เจ็บป่วยเรื้อรังเป็นเรื่องยาก? (ข) การวางใจพระยะโฮวาในช่วงที่ยากลำบากจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคุณกับพระองค์อย่างไร? ขอยกตัวอย่าง

10 คุณอาจตกอยู่ในสภาพการณ์ที่ยากลำบากจนทำให้คุณรู้สึกเหมือนเปาโลที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยให้รอดจาก “ปากสิงโต” (2 ติโม. 4:17) ในเวลาแบบนี้แหละที่คุณจำเป็นต้องวางใจพระยะโฮวา เช่น คุณอาจกำลังดูแลสมาชิกครอบครัวที่เจ็บป่วยเรื้อรังและคุณได้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาเพื่อขอพระองค์ให้ช่วยคุณตัดสินใจอย่างถูกต้องและช่วยคุณให้เข้มแข็ง * คุณคงรู้สึกสบายใจขึ้นที่รู้ว่าพระยะโฮวามองเห็นและเข้าใจสภาพการณ์ของคุณ คุณมั่นใจว่าพระองค์จะช่วยคุณให้อดทนและรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์—เพลง. 32:8

11 แต่บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าพระยะโฮวาไม่ได้ช่วยคุณ เช่น หมออาจไม่เห็นด้วยกับการรักษาตามหลักพระคัมภีร์ หรือญาติก็ไม่ได้ให้กำลังใจอย่างที่คุณหวัง พวกเขาอาจถึงกับทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลงไปอีก ตอนนี้แหละ ขอให้คุณวางใจพระยะโฮวาเสมอว่าพระองค์จะให้กำลังคุณ และขอให้คุณใกล้ชิดพระองค์ต่อ ๆ ไป (อ่าน 1 ซามูเอล 30:3, 6) เมื่อคุณได้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาช่วยคุณ นั่นจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับพระองค์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

12 ลินดา *เป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกแบบนั้น เธอต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยนานหลายปีจนกระทั่งพวกเขาเสียชีวิต เธอเล่าว่า “หลายครั้งที่ตอนนั้นตัวฉัน สามี และน้องชายไม่รู้ว่าจะทำยังไง บางครั้งเรารู้สึกว่าทำอะไรไม่ถูกเลย แต่พอมองย้อนกลับไป เราเห็นชัดว่าพระยะโฮวาอยู่กับเรา พระองค์ให้กำลังและให้สิ่งที่เราจำเป็นต้องมี แม้แต่ตอนที่เราหมดหนทาง”

13. การวางใจพระยะโฮวาช่วยรอนดาให้อดทนกับเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไร?

13 การที่เราวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่จะช่วยเราให้อดทนกับเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ได้ ขอเราดูตัวอย่างของรอนดา สามีของเธอซึ่งไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวาขอหย่ากับเธอ ในเวลาเดียวกันหมอบอกว่าน้องชายของเธอเป็นโรคร้ายแรงที่เรียกว่าโรคลูปัสหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ไม่กี่เดือนต่อมา น้องสะใภ้ของเธอก็มาเสียชีวิตอีก เมื่ออาการสะเทือนใจจากเหตุการณ์เหล่านี้ค่อย ๆ คลายลง เธอจึงเริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำ แต่ต่อมาแม่ของเธอก็เสียชีวิต รอนดาอดทนกับเรื่องร้าย ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร? เธอเล่าว่า “ฉันพูดคุยกับพระยะโฮวาทุกวันแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ฉันต้องตัดสินใจ การทำอย่างนั้นทำให้พระยะโฮวาเป็นบุคคลจริงสำหรับฉัน เรื่องนี้สอนฉันให้พึ่งพระองค์แทนที่จะพึ่งคนอื่น ๆ ฉันรู้ว่าพระองค์ช่วยฉันจริง ๆ ฉันไม่เคยขาดสิ่งจำเป็นเลย และฉันรู้ว่าพระยะโฮวาอยู่เคียงข้างฉันเสมอ พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งฉันเลย”

ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวอาจเป็นการทดสอบความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา (ดูข้อ 14-16)

14. พระยะโฮวาจะช่วยคุณอย่างไร ถ้ามีบางคนในครอบครัวถูกตัดสัมพันธ์?

14 ขอให้คิดเกี่ยวกับสภาพการณ์ยุ่งยากอีกอย่างหนึ่ง บางทีคนในครอบครัวของคุณถูกตัดสัมพันธ์ และคุณก็รู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าควรจะปฏิบัติกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์อย่างไร (1 โค. 5:11; 2 โย. 10) แต่เนื่องจากคุณรักเขา คุณอาจรู้สึกว่าการเชื่อฟังคำสั่งในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเรื่องนี้ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำตาม * คุณจะวางใจไหมว่าพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของคุณจะให้กำลังเพื่อคุณจะเชื่อฟังคำสั่งนี้อย่างซื่อสัตย์? คุณจะมองไหมว่าสภาพการณ์นั้นเป็นโอกาสที่จะเข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้น?

15. ทำไมอาดามไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา?

15 เรื่องนี้อาจเทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาดามมนุษย์คนแรก อาดามคิดไหมว่าถึงแม้ไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา เขาก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้? ไม่ อาดามไม่ได้คิดแบบนั้น แล้วทำไมเขาไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาล่ะ? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า อาดาม “ไม่ได้ถูกล่อลวง” (1 ติโม. 2:14) แต่อาดามกินผลไม้ที่ฮาวาให้เพราะเขารักภรรยามากกว่าพระยะโฮวา เขาจึงฟังภรรยาแทนที่จะฟังคำสั่งของพระเจ้า—เย. 3:6, 17

16. เราควรรักใครมากที่สุด และทำไม?

16 การตัดสินใจของอาดามสอนเราว่า เราต้องรักพระยะโฮวามากกว่าคนในครอบครัว (อ่านมัดธาย 22:37, 38) และถ้าเรารักพระยะโฮวามากกว่า เราก็สามารถช่วยคนในครอบครัวในวิธีที่ดีที่สุดไม่ว่าพวกเขาจะเลือกรับใช้พระยะโฮวาหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ขอให้คุณเสริมสร้างความรักและความวางใจในพระยะโฮวาเสมอ และถ้าคุณกังวลเกี่ยวกับคนในครอบครัวที่ถูกตัดสัมพันธ์ ขอให้อธิษฐานถึงพระยะโฮวา ระบายความรู้สึกทุกอย่างที่คุณกังวล * (โรม 12:12; ฟิลิป. 4:6, 7) แม้คุณจะเจ็บปวดใจมาก แต่ขอให้คิดว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แล้วคุณจะสามารถไว้วางใจพระองค์ และรู้ว่าการเชื่อฟังพระองค์จะก่อผลดีที่สุดอย่างแน่นอน

ขณะที่รอคอย

แสดงให้พระยะโฮวาเห็นว่าคุณวางใจพระองค์โดยทำงานประกาศอย่างขยันขันแข็ง (ดูข้อ 17)

17. ถ้าเราขยันขันแข็งในงานประกาศต่อ ๆ ไป เราวางใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทำอะไร?

17 ทำไมพระยะโฮวาช่วยเปาโลให้รอดจาก “ปากสิงโต?” เปาโลบอกว่า “เพื่อให้ข้าพเจ้าประกาศเรื่องพระองค์ให้สำเร็จครบถ้วน” (2 ติโม. 4:17) ที่จริง พระยะโฮวามอบหมายงานประกาศ “ข่าวดี” ให้เราด้วยเหมือนกัน และพระองค์เรียกเราว่า “เพื่อนร่วมงาน” (1 เทส. 2:4; 1 โค. 3:9) ดังนั้น ถ้าเราขยันขันแข็งต่อ ๆ ไปในงานนี้เท่าที่ทำได้ เราวางใจได้ว่าพระยะโฮวาจะให้ทุกสิ่งที่จำเป็นแก่เรา (มัด. 6:33) นั่นจะทำให้เราอดทนรอได้และไม่สงสัยว่าทำไมพระยะโฮวาไม่ตอบคำอธิษฐานของเราสักที

18. คุณจะเสริมสร้างความไว้วางใจพระยะโฮวาและทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับพระองค์แน่นแฟ้นขึ้นได้อย่างไร?

18 ในแต่ละวัน ขอให้คุณเสริมความสัมพันธ์กับพระยะโฮวาให้แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นและทำให้คุณรู้สึกกังวล ขอให้ถือว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้คุณใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น นอกจากนั้น ขอให้คุณอ่าน ศึกษา และใคร่ครวญคำสอนของพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ อธิษฐานถึงพระองค์บ่อย ๆ และรับใช้พระองค์อย่างขยันขันแข็งต่อ ๆ ไป ถ้าคุณทำสิ่งเหล่านี้ คุณมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะช่วยคุณให้อดทนกับปัญหาต่าง ๆ ที่เจอในตอนนี้และอะไรก็ตามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

^ วรรค 2 เปาโลอาจได้รับการช่วยให้รอดจากสิงโตจริง ๆ หรือจากสถานการณ์อันตรายอื่น ๆ

^ วรรค 10 มีการจัดพิมพ์บทความเพื่อช่วยคริสเตียนที่อดทนกับความเจ็บป่วยและช่วยคนที่ดูแลคนป่วย ในตื่นเถิด! 8 กุมภาพันธ์ 1994 (ภาษาอังกฤษ); 8 กุมภาพันธ์ 1997; 8 มิถุนายน 2000 และ 8 กุมภาพันธ์ 2001

^ วรรค 12 ชื่อสมมุติ

^ วรรค 16 ดูบทความที่ช่วยเราเมื่อสมาชิกครอบครัวละทิ้งพระยะโฮวาในหอสังเกตการณ์ 1 กันยายน 2006 หน้า 17-21 และ 15 มกราคม 2007 หน้า 17-20