ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เรื่องราวชีวิตจริง

“ให้หมู่เกาะมากหลายมีความยินดี”

“ให้หมู่เกาะมากหลายมีความยินดี”

ผมยังจำวันนั้นในบรุกลินได้ดี วันนั้นเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2000 ผมและพี่น้องคนอื่น ๆ ที่มาจากหลายส่วนของโลกกำลังนั่งรอในห้องประชุมของคณะกรรมการปกครอง เรารอคณะกรรมการฝ่ายการเขียนเพื่อจะเสนอวิธีแก้ปัญหาบางอย่างที่ผู้แปลเจอ เรารู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ทำไมการประชุมนี้จึงสำคัญ? ก่อนที่ผมจะอธิบาย ขอผมเล่าบางเรื่องเกี่ยวกับตัวผมเองให้คุณฟัง

ผมรับบัพติสมาในรัฐควีนส์แลนด์ ผมมีความสุขในการเป็นไพโอเนียร์ที่แทสเมเนีย และทำงานมิชชันนารีในตูวาลู ซามัวและฟิจิ

ผมเกิดในปีคริสต์ศักราช 1955 ที่รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากผมเกิดได้ไม่นาน เอสเทลล์แม่ของผมก็เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา หนึ่งปีต่อมา แม่ก็รับบัพติสมา จากนั้น 13 ปีต่อมา รอนพ่อของผมก็เข้ามาในความจริง ส่วนผมรับบัพติสมาในปี ค.ศ. 1968 ที่แถบชนบทของรัฐควีนส์แลนด์

ตั้งแต่เป็นเด็ก ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือและชอบเรียนภาษา เมื่อเราเดินทางไปไหนด้วยกัน ผมจะนั่งเบาะหลังของรถยนต์แล้วก็อ่านหนังสือ พ่อแม่ของผมไม่ค่อยชอบที่ผมเอาแต่อ่านหนังสือแทนที่จะดูวิวทิวทัศน์ แต่การที่ผมชอบอ่านหนังสือทำให้ผมเรียนเก่งจนได้รับรางวัลหลายรางวัลตอนอยู่ชั้นมัธยมในเมืองเกลนอร์ชีในเกาะแทสเมเนียซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของออสเตรเลีย

ช่วงนั้น ผมต้องตัดสินใจเรื่องที่สำคัญว่าผมจะรับทุนเรียนต่อมหาวิทยาลัยไหม? แม้ผมจะรักการอ่านและชอบเรียนรู้ แต่ผมรู้สึกขอบคุณที่แม่สอนให้รักพระยะโฮวามากกว่าสิ่งอื่น (1 โค. 3:18, 19) ผมจึงตัดสินใจว่าหลังจากจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ผมจะเป็นไพโอเนียร์ให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หลังจากได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ ผมก็เริ่มเป็นไพโอเนียร์ในเดือนมกราคมปี 1971 ตอนอายุ 15 ปี

แปดปีต่อมา ผมได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นไพโอเนียร์ในรัฐแทสเมเนีย ช่วงนี้เองที่ผมได้แต่งงานกับเจนนี่ อัลค็อก สาวสวยจากแทสเมเนีย เรารับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษด้วยกันถึง 4 ปีในเขตโดดเดี่ยวของเมืองสมิทตันและควีนส์ทาวน์

เป็นมิชชันนารีในหมู่เกาะต่าง ๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิก

ในปี 1978 ผมกับภรรยาเดินทางไปเมืองพอร์ตมอร์สบี ประเทศปาปัวนิวกินีเพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติ ผมจำได้ดีตอนที่มิชชันนารีคนหนึ่งได้บรรยายในภาษาฮีรีโมตู แม้ผมจะไม่เข้าใจว่าเขากำลังพูดอะไรแต่ก็ทำให้ผมเริ่มคิดอยากเป็นมิชชันนารีและอยากเรียนภาษาอื่นเพื่อให้กำลังใจพี่น้องโดยทางคำบรรยายในภาษาของพวกเขา ในที่สุด ผมก็ได้เห็นวิธีใช้สิ่งที่ผมชอบคือการเรียนภาษาเพื่อรับใช้พระยะโฮวา

เมื่อเรากลับถึงบ้าน คุณคงนึกภาพออกว่าเราแปลกใจมากขนาดไหนที่ได้รับเชิญให้เป็นมิชชันนารี จากนั้น ในเดือนมกราคมปี 1979 เราก็เดินทางไปที่เกาะฟูนะฟูตี ประเทศตูวาลู ซึ่งที่นั่นมีผู้ประกาศที่รับบัพติสมาแล้วแค่ 3 คนเท่านั้น

ผมกับเจนนี่ในตูวาลู

การเรียนภาษาตูวาลูไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หนังสือเล่มเดียวที่มีในภาษานี้คือ “พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่” ไม่มีพจนานุกรมหรือหลักสูตรสอนภาษานี้ ดังนั้น เราจึงตกลงกันว่าจะพยายามเรียนคำใหม่วันละ 10 ถึง 20 คำ แต่ไม่นานเราก็รู้ว่าไม่ได้เข้าใจความหมายที่ถูกต้องของคำส่วนใหญ่ที่เรากำลังเรียน เช่น แทนที่จะบอกผู้คนว่าลัทธิผีปีศาจเป็นสิ่งผิด แต่เรากลับบอกพวกเขาว่าไม่ควรใช้เครื่องชั่งน้ำหนักและไม้เท้า! ถึงอย่างนั้นเราก็ยังพยายามเรียนภาษาต่อไปเพราะเราได้เริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับหลายคนไปแล้ว หลายปีต่อมา นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งในกลุ่มแรก ๆ ที่เราสอนบอกเราว่า “ตอนนี้ เราดีใจที่คุณพูดภาษาของเราได้แล้ว ตอนแรก เราไม่เข้าใจว่าคุณพยายามจะบอกอะไร!”

แต่มีบางสิ่งที่ช่วยให้เราเรียนภาษาได้เร็วขึ้น เนื่องจากไม่มีบ้านให้เราเช่า เราจึงอาศัยอยู่กับพี่น้องพยานครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านขนาดใหญ่ เราก็เลยต้องพูดภาษาตูวาลูทั้งที่บ้านและที่อื่น ๆ ด้วย การที่เราไม่ได้พูดภาษาอังกฤษมาหลายปี ภาษาตูวาลูจึงกลายเป็นภาษาหลักของเรา

ไม่นานหลังจากที่เรามาถึงตูวาลู หลายคนเริ่มแสดงความสนใจในความจริง แต่เราจะใช้อะไรศึกษากับพวกเขาล่ะ? เนื่องจากไม่มีสิ่งพิมพ์ในภาษาของพวกเขา พวกเขาจะศึกษาส่วนตัวกันอย่างไร? เมื่อพวกเขาเริ่มมายังการประชุม พวกเขาจะร้องเพลงอะไรและจะใช้ข้อมูลจากที่ไหนในการบรรยายและเตรียมตัวสำหรับการประชุม? และพวกเขาจะก้าวหน้าถึงขั้นบัพติสมาได้อย่างไร? คนถ่อมเหล่านี้จำเป็นต้องมีหนังสือในภาษาของพวกเขาเองเพื่อได้รับการสอนเรื่องพระยะโฮวา! (1 โค. 14:9) เราสงสัยว่า ‘เป็นไปได้ไหมที่จะมีสิ่งพิมพ์ในภาษาตูวาลูซึ่งมีพลเมืองที่ใช้ภาษานี้ไม่ถึง 15,000 คน?’ พระยะโฮวาตอบคำถามเหล่านี้โดยทำให้เราเห็นสองสิ่งคือ (1) พระองค์อยากให้ผู้คนใน “หมู่เกาะทั้งปวงที่อยู่ไกล” ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ และ (2) พระองค์อยากให้คนที่โลกมองว่า “ถ่อมตนและต่ำต้อย” มาพึ่งพระองค์—ยิระ. 31:10; ซฟัน. 3:12, พระคัมภีร์ โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์

ทำงานแปลเพื่อสอนความจริง

ในปี 1980 สำนักงานสาขามอบหมายเราให้แปลหนังสือในภาษาตูวาลู เราเริ่มทำงานนี้แม้เรารู้สึกว่ายังไม่เข้าใจภาษาดีพอ (1 โค. 1:28, 29) ตอนแรก เราซื้อเครื่องพิมพ์เก่าจากรัฐบาลซึ่งเป็นเครื่องที่ทำงานโดยใช้มือหมุนเพื่อพิมพ์หนังสือสำหรับการประชุม ต่อมา เราได้แปลหนังสือความจริงซึ่งนำไปสู่ชีวิตถาวร เป็นภาษาตูวาลูและใช้เครื่องนี้พิมพ์ ผมยังจำกลิ่นเหม็นของหมึกได้ และอากาศที่ร้อนชื้นก็ทำให้ยากมากที่จะพิมพ์หนังสือทั้งหมดนี้ด้วยมือ เพราะตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้า

ไม่ง่ายเลยที่จะแปลเป็นภาษาตูวาลูเพราะเราไม่สามารถค้นหาคำต่าง ๆ ในพจนานุกรมหรือในหนังสือต่าง ๆ ในภาษาตูวาลูได้ แต่บางครั้งเราก็ได้รับการช่วยเหลือในวิธีที่คาดไม่ถึง เช่น เช้าวันหนึ่งเมื่อผมไปประกาศ ผมได้เรียกเจ้าของบ้านหลังหนึ่งซึ่งผมลืมไปว่าไม่ควรไปบ้านหลังนี้เพราะเขาต่อต้านความจริง เจ้าของบ้านหลังนี้เป็นชายสูงอายุซึ่งเคยเป็นครู เขาออกมาแล้วก็พูดว่า “ผมอยากจะพูดถึงการแปลของคุณ คุณแปลในแบบที่คนตูวาลูไม่ค่อยพูดกัน” ผมจึงลองถามคนอื่น ๆ ดู ปรากฏว่าชายสูงอายุคนนั้นพูดถูก เราก็เลยปรับปรุงงานแปลของเราให้ดีขึ้น ผมทึ่งมากที่พระยะโฮวาช่วยเราโดยคนที่ต่อต้านความจริงแต่กลับอ่านหนังสือของเรา!

ข่าวสารราชอาณาจักร หมายเลข 30 ในภาษาตูวาลู

สิ่งพิมพ์แรกที่เป็นภาษาตูวาลูคือใบเชิญการประชุมอนุสรณ์ จากนั้น เราก็มีแผ่นพับข่าวสารราชอาณาจักร หมายเลข 30 ซึ่งออกมาพร้อมกับภาษาอังกฤษ เรามีความสุขจริง ๆ ที่ได้ให้สิ่งพิมพ์กับผู้คนในภาษาของพวกเขาเอง! ต่อมา เราก็มีจุลสารและหนังสือบางเล่มในภาษาตูวาลู พอปี 1983 สำนักงานสาขาออสเตรเลียได้เริ่มพิมพ์วารสารหอสังเกตการณ์ ในภาษาตูวาลู วารสารนี้มี 24 หน้าและออกทุก 3 เดือน ผู้คนในตูวาลูชอบหนังสือและวารสารเหล่านี้ไหม? ใช่ เพราะพวกเขาชอบอ่านหนังสือ ทุกครั้งที่เราออกหนังสือใหม่จะมีการประกาศเรื่องนี้ทางสถานีวิทยุของรัฐบาล และบางครั้งเรื่องนี้กลายเป็นข่าวเด่นของวันนั้นเลยทีเดียว! *

เราแปลกันอย่างไร? ตอนแรก เราเขียนทุกอย่างลงบนกระดาษโดยใช้ปากกา จากนั้น เราพิมพ์โดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดและแก้ไขงานที่เราแปลหลายครั้งก่อนจะส่งไปที่สำนักงานสาขาออสเตรเลีย พี่น้องหญิงสองคนที่สาขาจะพิมพ์ข้อความภาษาตูวาลูที่เราแปลลงในคอมพิวเตอร์แม้พวกเธอจะไม่เข้าใจภาษาตูวาลูก็ตาม พวกเธอจะแยกกันพิมพ์ข้อความเดียวกันแล้วนำข้อความที่พิมพ์มาเทียบกันเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด จากนั้น สาขาก็จะจัดหน้าหนังสือโดยจัดข้อความและภาพเข้าด้วยกันแล้วส่งมาให้เราโดยทางไปรษณีย์อากาศ เราก็จะตรวจดูอีกครั้งแล้วส่งกลับไปที่สาขาเพื่อพิมพ์เป็นเล่ม

ตอนนี้งานแปลดีขึ้นมาก! ทีมแปลสามารถแปลและแก้ไขข้อความในคอมพิวเตอร์ได้ทันที มีการจัดหน้าหนังสือโดยคนซึ่งอยู่ที่เดียวกันกับทีมแปล แล้วทีมแปลก็จะส่งแฟ้มข้อมูลไปที่สาขาที่มีโรงพิมพ์ทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องส่งข้อความที่แปลเสร็จแล้วทางไปรษณีย์อีกต่อไป

งานมอบหมายอื่น ๆ

หลายปีผ่านไป ผมกับเจนนี่ได้รับงานมอบหมายหลายอย่างในที่ต่าง ๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ในปี 1985 เราได้ย้ายจากตูวาลูเพื่อรับงานมอบหมายใหม่ที่สาขาซามัว ที่นั่นเราช่วยงานแปลในภาษาซามัว ตองกา โตเกเลา รวมทั้งในภาษาตูวาลูด้วย * ต่อมา ในปี 1996 เราได้รับมอบหมายให้ย้ายไปสาขาฟิจิซึ่งเราได้ช่วยงานแปลในภาษาฟิจิ คิริบาตี นาอูรู โรตูมา และตูวาลู

ใช้สิ่งพิมพ์ภาษาตูวาลูเพื่อช่วยคนอื่น

ผมประทับใจผู้แปลหลายคนที่รักงานของพวกเขามากแม้ว่าเป็นงานที่ไม่ง่ายและเหนื่อยมากก็ตาม พี่น้องชายหญิงที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ก็รู้สึกเหมือนพระยะโฮวาที่อยากให้ผู้คนได้ยินข่าวดีในภาษาของตัวเอง (วิ. 14:6) เช่น เมื่อมีการอนุมัติให้แปลหอสังเกตการณ์ ฉบับแรกในภาษาตองกา ผมได้ประชุมกับพวกผู้ปกครองทุกคนในตองกาและถามพวกเขาว่าใครจะเป็นผู้แปลได้บ้าง ผู้ปกครองคนหนึ่งซึ่งเป็นช่างเครื่องและมีงานที่ดีได้เสนอตัวที่จะลาออกจากงานในวันถัดไปเพื่อจะเป็นผู้แปลทันที ผมได้กำลังใจจากความเชื่อที่มั่นคงของเขาเพราะเขามีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูและไม่รู้ว่าจะมีเงินพอเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไร แต่พระยะโฮวาก็ดูแลเขาและครอบครัว พระองค์ช่วยเขาให้ทำงานแปลอยู่หลายปี

เหมือนกับผู้แปลเหล่านี้ พี่น้องที่เป็นสมาชิกในคณะกรรมการปกครองสนใจอย่างมากในการแปลสิ่งพิมพ์ในทุก ๆ ภาษาแม้ในบางภาษามีคนจำนวนน้อยที่พูดกัน เช่น เคยสงสัยกันว่าคุ้มไหมที่จะพยายามแปลหนังสือในภาษาตูวาลู ผมได้กำลังใจมากที่ได้อ่านคำตอบนี้จากคณะกรรมการปกครองที่ว่า “เราไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลอะไรที่คุณควรยกเลิกงานแปลในภาษาตูวาลู แม้คนที่พูดภาษาตูวาลูจะมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนที่พูดภาษาอื่น แต่พวกเขาก็ยังจำเป็นต้องได้ยินข่าวดีในภาษาของตัวเอง”

ให้บัพติสมาในทะเลสาบ

ในปี 2003 ผมกับเจนนี่ได้รับมอบหมายให้ย้ายจากแผนกแปลในสาขาฟิจิไปอยู่แผนกบริการการแปลที่แพตเทอร์สัน นิวยอร์ก เป็นเหมือนฝันจริง ๆ! เราได้อยู่ในทีมที่ช่วยสนับสนุนการแปลสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในหลายภาษา ในช่วงประมาณสองปีที่เราอยู่ในแผนกบริการการแปล เราได้รับมอบหมายให้ช่วยฝึกอบรมทีมแปลในหลายประเทศ

การตัดสินใจที่สำคัญมาก

ตอนนี้ผมขอย้อนกลับไปพูดถึงการประชุมที่สำคัญที่ผมได้พูดถึงตอนต้น ในปี 2000 คณะกรรมการปกครองรู้สึกว่าทีมแปลทั่วโลกจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ผู้แปลส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าร่วมหลักสูตรใด ๆ เกี่ยวกับการแปล หลังจากประชุมกับคณะกรรมการฝ่ายการเขียน คณะกรรมการปกครองตัดสินใจว่าผู้แปลทุกคนทั่วโลกต้องได้รับการฝึกอบรม ผู้แปลจะได้รับการฝึกอบรมวิธีที่จะเข้าใจข้อความภาษาอังกฤษ เทคนิคการแปล และวิธีทำงานร่วมกันเป็นทีม

การที่ผู้แปลได้รับการฝึกอบรมเกิดผลดีอย่างไร? ผลคือ คุณภาพของการแปลดีขึ้นและมีการแปลสิ่งพิมพ์ของเราในหลายภาษามากกว่าเมื่อก่อนอีกด้วย ในปี 1979 เมื่อเราได้รับมอบหมายให้ทำงานมิชชันนารี วารสารหอสังเกตการณ์ มีแค่ 82 ภาษาเท่านั้นและส่วนใหญ่จะออกหลังจากภาษาอังกฤษหลายเดือน แต่ตอนนี้ หอสังเกตการณ์ มีมากกว่า 240 ภาษา และส่วนใหญ่ออกพร้อมกับภาษาอังกฤษ ปัจจุบัน เรามีสิ่งพิมพ์ที่สอนเกี่ยวกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิลที่ผู้คนสามารถหาอ่านได้มากกว่า 700 ภาษา ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเรื่องนี้คงเป็นไปไม่ได้

ในปี 2004 คณะกรรมการปกครองตัดสินใจว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะมีคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ในหลายภาษาและให้มีเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผลจากการตัดสินใจนี้ทำให้หลายคนสามารถอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาของเขาเอง ที่จริง ในปี 2014 คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ทั้งเล่มหรือบางส่วนมีให้อ่านใน 128 ภาษา รวมทั้งหลายภาษาที่พูดกันในแถบแปซิฟิกใต้ด้วย

ออกพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาตูวาลู

เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ผมไม่มีวันลืมคือการประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นในตูวาลูปี 2011 ตอนนั้นทั้งประเทศมีความแห้งแล้งอย่างหนักเป็นเวลาหลายเดือน พี่น้องจึงคิดว่าคงต้องยกเลิกการประชุมใหญ่นั้น แต่พอผมมาถึงในตอนเย็น น่าดีใจที่ฝนก็เริ่มตกอย่างหนัก เราจึงจัดการประชุมใหญ่ได้! สำหรับผมแล้วถือเป็นสิทธิพิเศษที่ได้ออกพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ในภาษาตูวาลู แม้ว่ามีพี่น้องจำนวนไม่มากที่พูดภาษาตูวาลู แต่พวกเขาก็ได้รับของขวัญที่ยอดเยี่ยมนี้จากพระยะโฮวา ในตอนจบของการประชุมใหญ่ ก็มีพายุฝนอีกห่าหนึ่งกระหน่ำลงมา ดังนั้น ทุกคนจึงได้รับน้ำฝนอย่างอุดมบริบูรณ์เหมือนกับที่พวกเขาได้รับน้ำแห่งความจริง!

สัมภาษณ์รอนกับเอสเทลล์พ่อแม่ของผม ที่การประชุมใหญ่ ปี 2014 ในเมืองทาวน์สวิลล์ ออสเตรเลีย

น่าเสียดายที่เจนนี่ภรรยาที่รักของผมซึ่งแต่งงานกันมา 35 ปีไม่ได้อยู่ด้วยในตอนนั้นเพราะเธอเสียชีวิตในปี 2009 หลังจากที่สู้กับโรคมะเร็งเต้านมมานานถึง 10 ปี เมื่อเธอกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เธอคงจะดีใจมากที่ได้รู้ว่ามีการออกคัมภีร์ไบเบิลในภาษาตูวาลู

พระยะโฮวาได้อวยพรให้ผมมีภรรยาที่น่ารักอีกคนหนึ่งชื่อลอเรนี ซีคีโว เธอกับเจนนี่เคยทำงานด้วยกันที่เบเธลฟิจิ และลอเรนีก็เป็นผู้แปลด้วย ผมจึงมีภรรยาที่รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์และรักภาษาเหมือนกับผมอีกครั้งหนึ่ง!

ทำงานประกาศกับลอเรนีในฟิจิ

เมื่อผมนึกถึงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นพระยะโฮวาพ่อที่รักของเราสนใจผู้คนในทุกภาษา แม้ภาษาของพวกเขาจะมีคนพูดกันไม่กี่คนเท่านั้น (เพลง. 49:1-3) ผมได้เห็นผู้คนมีความสุขเมื่อพวกเขาได้รับสิ่งพิมพ์ในภาษาของเขาเป็นครั้งแรกหรือเมื่อพวกเขาร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาจากหัวใจในภาษาของพวกเขา นั่นทำให้ผมคิดถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาที่มีต่อเรา (กิจ. 2:8, 11) ผมจำคำพูดของพี่น้องสูงอายุคนหนึ่งที่ชื่อซาอูโล ทีอาซีได้ หลังจากที่เขาร้องเพลงในภาษาของเขาเป็นครั้งแรก เขาบอกว่า “ผมคิดว่าคุณควรบอกคณะกรรมการปกครองว่าเพลงในภาษาตูวาลูเพราะกว่าในภาษาอังกฤษอีกนะ”

ในเดือนกันยายนปี 2005 ผมได้รับสิทธิพิเศษให้รับใช้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้คาดฝัน แม้ว่าผมไม่ได้เป็นผู้แปลอีกต่อไป แต่ผมก็ขอบคุณพระยะโฮวาที่ให้ผมมีส่วนสนับสนุนงานแปลทั่วโลกต่อไป นั่นทำให้ผมมีความสุขที่รู้ว่าพระยะโฮวารักและสนใจประชาชนทุกคนของพระองค์แม้แต่คนที่อยู่ในหมู่เกาะที่โดดเดี่ยวและห่างไกลในมหาสมุทรแปซิฟิก! ใช่แล้ว เหมือนที่ผู้เขียนบทเพลงสรรเสริญได้บอกไว้ว่า “พระยะโฮวาทรงครอบครองอยู่ ให้แผ่นดินโลกชื่นชม และให้หมู่เกาะมากหลายมีความยินดี”—เพลง. 97:1

^ วรรค 18 สำหรับตัวอย่างของความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อสิ่งพิมพ์ของเรา ขอดูหอสังเกตการณ์ 15 ธันวาคม 2000 น. 32; 1 สิงหาคม 1988 น. 22 (ภาษาอังกฤษ); และตื่นเถิด! 22 ธันวาคม 2000 น. 9 (ภาษาอังกฤษ)

^ วรรค 22 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานแปลที่ซามัวในหนังสือประจำปี 2009 (ภาษาอังกฤษ) น. 120-121, 123-124