ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การคิดใคร่ครวญเรื่องต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมความเชื่อ

การคิดใคร่ครวญเรื่องต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมความเชื่อ

“จงไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้ จงหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเหล่านี้ เพื่อความก้าวหน้าของท่านจะปรากฏแก่ทุกคน”—1 ติโม. 4:15

เพลง 57, 52

1, 2. อะไรทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์?

ไม่มีอะไรจะมาเทียบกับสมองของมนุษย์ได้ มนุษย์มีความสามารถในการเรียนภาษา และภาษาทำให้เราอ่าน เขียน พูด และเข้าใจสิ่งที่เราได้ยิน ภาษายังทำให้เราอธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวาได้ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต่างจากสัตว์ นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่เข้าใจเต็มที่ว่าสมองของเราสามารถทำสิ่งที่น่าทึ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

2 ความสามารถของเราในการใช้ภาษาเป็นของขวัญจากพระยะโฮวา (เพลง. 139:14; วิ. 4:11) พระองค์ยังให้ของขวัญอีกอย่างหนึ่งกับเราซึ่งทำให้เราต่างจากสัตว์ เราถูกสร้าง “ตามแบบฉายาของพระองค์” เราจึงมีอิสระในการเลือก เราสามารถเลือกที่จะใช้ภาษาเพื่อรับใช้และสรรเสริญพระยะโฮวา—เย. 1:27

3. พระยะโฮวาให้อะไรเราเพื่อช่วยเราให้เป็นคนฉลาด?

3 พระยะโฮวาให้คัมภีร์ไบเบิลกับเราเพื่อช่วยเรารู้วิธีที่จะรับใช้และสรรเสริญพระองค์ ปัจจุบัน คัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มหรือบางส่วนมีมากกว่า 2,800 ภาษา เมื่อเราคิดใคร่ครวญเรื่องที่คัมภีร์ไบเบิลบอก เราจะคิดเหมือนพระยะโฮวา (เพลง. 40:5; 92:5; 139:17) ความคิดของพระยะโฮวาจะช่วยเราให้เป็นคนฉลาดและได้รับชีวิตตลอดไป—อ่าน 2 ติโมเธียว 3:14-17

4. การคิดใคร่ครวญหมายถึงอะไร และเราจะหาคำตอบสำหรับคำถามอะไรบ้าง?

4 การคิดใคร่ครวญคือการจดจ่อกับบางเรื่องโดยคิดอย่างลึกซึ้งและอย่างระมัดระวัง (เพลง. 77:12; สุภา. 24:1, 2) เราจะได้รับประโยชน์มากที่สุดถ้าเราคิดใคร่ครวญเรื่องที่เราได้เรียนเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซู (โย. 17:3) ในบทความนี้ เราจะตอบคำถามต่อไปนี้ เราจะอ่านอย่างไรเพื่อช่วยให้คิดใคร่ครวญง่ายขึ้น? เราจะคิดใคร่ครวญเรื่องอะไรได้บ้าง? และอะไรจะช่วยเราให้คิดใคร่ครวญเป็นประจำและชอบการคิดใคร่ครวญ?

พยายามรับประโยชน์เต็มที่จากสิ่งที่คุณศึกษา

5, 6. อะไรจะช่วยคุณให้จำและเข้าใจเรื่องที่อ่าน?

5 คุณเคยสังเกตไหมว่ามีบางอย่างที่คุณทำได้โดยไม่ต้องคิด เช่น การหายใจ การเดิน หรือปั่นจักรยาน? น่าเสียดาย บางครั้งคุณก็อ่านโดยไม่ได้คิดตาม หรือคุณอาจคิดเรื่องอื่นตอนที่กำลังอ่านอยู่ อะไรจะช่วยคุณไม่ให้เป็นแบบนั้น? คุณต้องจดจ่อกับเรื่องที่อ่านและคิดถึงความหมาย ของเรื่องนั้น จากนั้น เมื่อคุณอ่านจบย่อหน้าหนึ่งหรือหัวข้อย่อยหนึ่งของบทความก็ให้หยุดและคิดใคร่ครวญเรื่องที่คุณเพิ่งอ่านจบไป คิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ และพยายามเข้าใจจริง ๆ

6 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าการอ่านออกเสียง จะทำให้เราจำได้ง่ายกว่า พระยะโฮวาผู้สร้างเราก็รู้เรื่องนี้ดี พระองค์จึงบอกยะโฮซูอะให้ “คิดใคร่ครวญ” ข้อกฎหมาย ซึ่งคำนี้ในภาษาฮีบรูหมายถึงอ่านออกเสียงเบา ๆ ให้ตัวเองได้ยิน (อ่านยะโฮซูอะ 1:8, ล.ม.) * การอ่านคัมภีร์ไบเบิลออกเสียงยังช่วยให้คุณจดจ่อและจำได้ดีขึ้นด้วย

7. เวลาไหนที่ดีที่สุดสำหรับการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล? (ดูภาพแรก)

7 เพื่อที่เราจะคิดใคร่ครวญและจดจ่อกับเรื่องที่ศึกษา เราต้องออกความพยายามอย่างมาก ดังนั้น ดีที่สุดที่จะคิดใคร่ครวญในเวลาที่คุณไม่เหนื่อยและในที่เงียบ ๆ ซึ่งไม่มีอะไรมารบกวน ดาวิดผู้เขียนบทเพลงสรรเสริญคิดใคร่ครวญตอนที่เขาตื่นนอนตอนกลางคืน (เพลง. 63:6) พระเยซูซึ่งเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบก็ยังเลือกสถานที่เงียบ ๆ เพื่อคิดใคร่ครวญและอธิษฐาน—ลูกา 6:12

คิดใคร่ครวญเรื่องดี ๆ

8. (ก) เราจะคิดใคร่ครวญเรื่องอะไร? (ข) พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรเมื่อเราคุยกันเรื่องพระองค์?

8 นอกจากเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว ยังมีเรื่องอื่นอีกที่คุณคิดใคร่ครวญได้ เช่น เมื่อคุณเห็นความอัศจรรย์ในสิ่งที่พระยะโฮวาสร้าง ขอให้หยุดคิดแล้วถามตัวเองว่าเรื่องนี้สอนอะไรฉันเกี่ยวกับพระยะโฮวา? การคิดแบบนั้นจะกระตุ้นคุณให้ขอบคุณพระยะโฮวาในคำอธิษฐานอย่างแน่นอน และถ้าคุณอยู่กับคนอื่น คุณอาจบอกเล่าความรู้สึกที่คุณมีต่อพระยะโฮวาให้พวกเขาฟัง (เพลง. 104:24; กิจ. 14:17) พระยะโฮวาสนใจและพอใจเมื่อเราคิดใคร่ครวญ อธิษฐาน และคุยกันเรื่องพระองค์ คัมภีร์ไบเบิลให้ความมั่นใจกับเราว่า “มีหนังสือบันทึกความจำ มีนามคนทั้งหลายที่ได้ยำเกรงพระยะโฮวา และที่ได้ระลึกถึง พระนามของพระองค์นั้น บันทึกลงต่อพักตร์พระองค์”—มลคี. 3:16

คุณคิดใคร่ครวญวิธีที่จะช่วยนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลของคุณไหม? (ดูข้อ 9)

9. (ก) เปาโลบอกติโมเธียวให้คิดใคร่ครวญเรื่องอะไร? (ข) เราจะคิดใคร่ครวญเรื่องอะไรได้บ้างเมื่อเราเตรียมตัวไปในงานรับใช้?

9 อัครสาวกเปาโลบอกติโมเธียวให้คิดใคร่ครวญว่าสิ่งที่เขาพูด ทำ และสอนส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร (อ่าน 1 ติโมเธียว 4:12-16) คุณเองก็คิดใคร่ครวญในสิ่งเหล่านี้ได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น คุณต้องใช้เวลาคิดใคร่ครวญตอนเตรียมตัวสอนคัมภีร์ไบเบิล ขอให้คิดถึงนักศึกษา พยายามคิดคำถามและตัวอย่างเปรียบเทียบที่จะช่วยเขาให้ก้าวหน้ามากขึ้น ถ้าคุณเตรียมตัวแบบนี้ ความเชื่อของคุณก็จะมีมากขึ้น คุณจะเป็นผู้สอนคัมภีร์ไบเบิลที่ดีขึ้นและกระตือรือร้นมากขึ้น คุณจะได้ประโยชน์ด้วยถ้าคุณคิดใคร่ครวญก่อนออกไปประกาศ (อ่านเอษรา 7:10) คุณอาจอ่านสักบทหนึ่งจากหนังสือกิจการที่จะช่วยให้คุณกระตือรือร้นมากขึ้นในการประกาศ คุณอาจคิดใคร่ครวญข้อคัมภีร์ที่คุณตั้งใจจะใช้ในวันนั้นและสิ่งพิมพ์ที่ตั้งใจจะเสนอได้ด้วย (2 ติโม. 1:6) ขอให้คิดถึงคนในเขตประกาศและเรื่องที่คุณจะพูดซึ่งทำให้พวกเขาสนใจ เมื่อคุณเตรียมตัวแบบนี้ คุณก็จะใช้คัมภีร์ไบเบิลได้ดีขึ้นเมื่อไปประกาศ—1 โค. 2:4

10. เรื่องดี ๆ อะไรบ้างที่เราสามารถคิดใคร่ครวญได้?

10 เราจะคิดใคร่ครวญเรื่องอะไรได้อีก? ถ้าคุณจดบันทึกคำบรรยายสาธารณะ การประชุมหมวด และการประชุมภูมิภาค ขอให้ใช้เวลาทบทวนเรื่องเหล่านั้น ตอนที่คิดใคร่ครวญให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันได้เรียนอะไรบ้างจากคัมภีร์ไบเบิลและจากองค์การของพระองค์?’ นอกจากนั้น คุณสามารถคิดใคร่ครวญเรื่องที่อยู่ในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ที่ออกมาแต่ละเดือน และสิ่งพิมพ์ที่ออกล่าสุดในการประชุมใหญ่ได้ด้วย ตอนที่คุณอ่านหนังสือประจำปี ให้หยุดคิดหลังจากที่ได้อ่านประสบการณ์เรื่องหนึ่งเพื่อให้เรื่องนั้นเข้าถึงหัวใจคุณ เมื่อคุณอ่านสิ่งพิมพ์ของเรา คุณอาจขีดเส้นใต้แนวคิดหลักต่าง ๆ หรือจดบันทึกที่ริมขอบกระดาษ การทำอย่างนั้นจะช่วยคุณเมื่อเตรียมสำหรับการกลับเยี่ยมนักศึกษา เยี่ยมบำรุงเลี้ยงพี่น้อง หรือเตรียมคำบรรยาย ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อคุณหยุดคิดใคร่ครวญเรื่องที่คุณได้อ่าน คุณก็กำลังให้เวลาเพื่อเรื่องนั้นจะเข้าถึงหัวใจคุณ และนั่นยังทำให้คุณมีเวลาอธิษฐานขอบคุณพระยะโฮวาสำหรับเรื่องดี ๆ ที่คุณได้เรียนรู้ด้วย

คิดใคร่ครวญคำสอนของพระเจ้าทุกวัน

11. หนังสืออะไรเป็นหนังสือสำคัญที่สุดที่เราควรคิดใคร่ครวญ และการทำอย่างนั้นช่วยเราอย่างไร? (ดูเชิงอรรถ)

11 แน่นอน คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือสำคัญที่สุดที่เราควรคิดใคร่ครวญ ถึงแม้วันหนึ่งคุณไม่ได้รับอนุญาตให้มีคัมภีร์ไบเบิล * คุณก็ยังสามารถคิดใคร่ครวญเรื่องที่คุณจำได้อยู่ เช่น ข้อคัมภีร์หรือเพลงราชอาณาจักรที่คุณชอบ (กิจ. 16:25) นอกจากนั้น พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะช่วยคุณให้จำสิ่งต่าง ๆ ที่คุณได้เรียนรู้ซึ่งจะช่วยคุณให้ซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป—โย. 14:26

12. คุณจะจัดเวลาอย่างไรเพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน?

12 คุณจะจัดเวลาอย่างไรเพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน? บางทีคุณอาจจัดสักวันหนึ่งของสัปดาห์เพื่ออ่านและคิดใคร่ครวญพระคัมภีร์ประจำสัปดาห์ตามกำหนดการของโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า ส่วนวันอื่นคุณอาจอ่านจากหนังสือกิตติคุณมัดธาย มาระโก ลูกา และโยฮันแล้วคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูสอนและทำ (โรม 10:17; ฮีบรู 12:2; 1 เป. 2:21) เรายังมีหนังสือที่เล่าเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลา เช่น หนังสือบุรุษผู้ใหญ่ยิ่ง ซึ่งจะช่วยคุณให้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการอ่านหนังสือกิตติคุณ—โย. 14:6

ทำไมการคิดใคร่ครวญจึงสำคัญมาก?

13, 14. ทำไมสำคัญมากที่เราจะคิดใคร่ครวญเรื่องพระยะโฮวาและพระเยซูต่อ ๆ ไป? การทำอย่างนั้นจะกระตุ้นเราให้ทำอะไร?

13 การคิดใคร่ครวญถึงพระยะโฮวาและพระเยซูจะช่วยเราให้เป็นคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่และรักษาความเชื่อให้มั่นคง (ฮีบรู 5:14; 6:1) คนที่ใช้เวลาน้อยในการคิดเรื่องพระเจ้าจะค่อย ๆ สูญเสียสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวาและถึงกับทิ้งพระองค์ไปในที่สุด (ฮีบรู 2:1; 3:12) พระเยซูเตือนว่าถ้าเราไม่ฟังหรือยอมรับคำสอนของพระเจ้าด้วยหัวใจที่ “ดีงาม” เราก็จะ “จดจำ” คำสอนของพระเจ้าไม่ได้ และเราจะ “ถูกความวิตกกังวล ทรัพย์สมบัติ และความสนุกสนานของชีวิตนี้ชักนำ”—ลูกา 8:14, 15

14 ดังนั้น ขอเราคิดใคร่ครวญเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลต่อ ๆ ไปเพื่อจะรู้จักพระยะโฮวาดีขึ้น การทำอย่างนี้จะกระตุ้นเราให้เลียนแบบคุณลักษณะและบุคลิกภาพของพระองค์ได้เต็มที่มากขึ้น (2 โค. 3:18) เราสามารถเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ต่อ ๆ ไปและเลียนแบบพระองค์ตลอดไป ไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นเกียรติมากกว่านี้อีกแล้ว—ผู้ป. 3:11

15, 16. (ก) คุณจะได้ประโยชน์อะไรจากการคิดใคร่ครวญเรื่องพระยะโฮวาและพระเยซู? (ข) ทำไมบางครั้งการคิดใคร่ครวญอาจเป็นเรื่องยาก แต่ทำไมเราควรพยายามต่อ ๆ ไป?

15 การคิดใคร่ครวญเรื่องพระยะโฮวาและพระเยซูช่วยคุณให้กระตือรือร้นในการใช้ชีวิตตามความจริงอยู่เสมอ ความกระตือรือร้นของคุณจะช่วยให้กำลังใจพี่น้องและยังช่วยคนที่คุณเจอในเขตประกาศด้วย และเมื่อคุณคิดใคร่ครวญว่าพระยะโฮวาส่งพระเยซูมาเป็นค่าไถ่เพื่อคุณ คุณก็จะเห็นค่าสายสัมพันธ์ใกล้ชิดที่คุณมีกับพระองค์ (โรม 3:24; ยโก. 4:8) ตัวอย่างเช่น พี่น้องมาร์กจากแอฟริกาใต้ซึ่งติดคุกนาน 3 ปีเพราะความเชื่อบอกว่า “การคิดใคร่ครวญอาจเทียบได้กับการผจญภัยที่น่าตื่นเต้น ยิ่งเราใช้เวลาในการคิดใคร่ครวญความรู้เรื่องพระยะโฮวามากเท่าไร เราก็จะได้พบสิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับพระองค์มากเท่านั้น บางครั้งเมื่อผมท้อใจหรือกังวลเรื่องอนาคต ผมก็จะหยิบพระคัมภีร์ขึ้นมาอ่าน แล้วคิดใคร่ครวญเรื่องที่ผมได้อ่าน ผมรู้สึกว่าการทำอย่างนั้นทำให้ผมมีใจสงบ”

16 ชีวิตในทุกวันนี้มีแต่เรื่องที่ทำให้เราไขว้เขว จนทำให้ยากที่จะหาเวลาคิดใคร่ครวญเรื่องในคัมภีร์ไบเบิล พี่น้องแพตทริกจากแอฟริกาบอกว่า “ใจของผมเป็นเหมือนกล่องจดหมายที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารหลายอย่าง ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น ผมจึงต้องคัดเลือกข้อมูลข่าวสารนั้นทุก ๆ วัน เมื่อผมค้นดูสิ่งที่อยู่ในใจ ผมมักจะพบแต่ ‘ความกังวลในใจ’ ผมจะอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเกี่ยวกับเรื่องนั้นก่อน แล้วผมถึงจะสามารถคิดใคร่ครวญด้วยใจสงบ ถึงแม้การทำอย่างนี้จะต้องใช้เวลาบ้างก่อนที่จะเริ่มคิดใคร่ครวญเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า แต่นั่นก็ทำให้ผมใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากขึ้น และเป็นการเปิดใจเพื่อจะเข้าใจความจริงได้ดีขึ้น” (เพลง. 94:19, ฉบับคิงเจมส์ ) เราได้ประโยชน์จริง ๆ เมื่อเราอ่านและคิดใคร่ครวญคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน—กิจ. 17:11

คุณจะหาเวลาได้อย่างไร?

17. คุณจะหาเวลาคิดใคร่ครวญได้อย่างไร?

17 บางคนตื่นแต่เช้าเพื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิล คิดใคร่ครวญ และอธิษฐาน ส่วนบางคนทำอย่างนั้นในช่วงพักเที่ยง บางทีเวลาที่เหมาะที่สุดของคุณในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลอาจเป็นตอนเย็นหรือก่อนนอน บางคนก็ชอบอ่านคัมภีร์ไบเบิลในตอนเช้าและอ่านอีกครั้งหนึ่งก่อนนอน (ยโฮ. 1:8) แต่สิ่งที่สำคัญคือให้ “ใช้ทุกโอกาสให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” นี่หมายความว่า เราต้องเอาเวลาจากกิจกรรมที่สำคัญน้อยกว่ามาใช้ในการคิดใคร่ครวญคำสอนของพระเจ้าทุกวัน—เอเฟ. 5:15, 16

18. คัมภีร์ไบเบิลสัญญาอะไรกับคนที่คิดใคร่ครวญคำสอนของพระเจ้าทุกวันและทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้?

18 คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าพระยะโฮวาจะอวยพรทุกคนที่คิดใคร่ครวญคำสอนของพระองค์และพยายามทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 1:1-3) พระเยซูบอกว่า “ผู้ที่ได้ยินพระคำของพระเจ้าและปฏิบัติตามต่างหากที่มีความสุข!” (ลูกา 11:28) แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การคิดใคร่ครวญคำสอนของพระยะโฮวาทุกวันจะช่วยเราทำสิ่งที่ให้เกียรติกับพระองค์ เมื่อเราทำอย่างนี้ พระยะโฮวาก็จะให้เรามีความสุขในตอนนี้และจะให้เรามีชีวิตตลอดไปในโลกใหม่ของพระองค์—ยโก. 1:25; วิ. 1:3

^ วรรค 6 ยะโฮซูอะ 1:8 (ล.ม.): “เจ้าต้องพูดถึงข้อกฎหมายนี้เสมอ ต้องอ่านและคิดใคร่ครวญทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อจะทำทุกอย่างตามที่เขียนไว้ในกฎหมายนั้นได้อย่างครบถ้วน แล้วเจ้าจะประสบความสำเร็จในชีวิต และตัดสินใจได้อย่างฉลาดสุขุม”

^ วรรค 11 ดูบทความ “เราต่อสู้เพื่อคงความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ” ในหอสังเกตการณ์ 1 ธันวาคม 2006