ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เรื่องราวชีวิตจริง

เขาไม่เสียใจเลยที่ได้ตัดสินใจตอนวัยรุ่น

เขาไม่เสียใจเลยที่ได้ตัดสินใจตอนวัยรุ่น

ปู่ของฉันชื่อนิโคไล ดูโบวินสกี ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต ปู่ได้รวบรวมบันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีทั้งความสุขและความกังวลในชีวิตหลังจากอุทิศตัวเพื่อรับใช้พระยะโฮวา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นช่วงเวลาที่ถูกสั่งห้ามงานประกาศในอดีตสหภาพโซเวียต ถึงจะเจอปัญหาและความยากลำบากมากมาย แต่ปู่ก็ยังซื่อสัตย์และมีความสุขมาก ปู่พูดบ่อย ๆ ว่าอยากให้คนหนุ่มสาวได้ฟังเรื่องราวของปู่ ฉันจึงอยากเล่าเหตุการณ์สำคัญบางเรื่องในชีวิตท่านให้ฟัง ปู่เกิด ค.ศ. 1926 ท่านเกิดในครอบครัวชาวไร่ในหมู่บ้านปอดวิริฟคา เมืองที่อยู่ในเชียร์นิฟซี ออบลัสต์ ประเทศยูเครน

ปู่นิโคไลเล่าว่าเขาเจอความจริงอย่างไร

ปู่นิโคไลเล่าว่า “วันหนึ่งในปี 1941 พี่ชายคนโตของผมชื่ออีวาน เอาหนังสือพิณของพระเจ้า กับแผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับยุคต่าง ๆ และวารสารหอสังเกตการณ์ กับหนังสือเล่มเล็กหลายเล่มมาที่บ้าน ผมอ่านทุกเล่มและแปลกใจที่ได้รู้ว่า ซาตานเป็นต้นเหตุของปัญหาในโลก ไม่ใช่พระเจ้า นอกจากนั้น ผมยังอ่านหนังสือกิตติคุณด้วยและรู้ว่าผมเจอความจริงแล้ว ผมจึงกระตือรือร้นอยากจะบอกความหวังเรื่องการปกครองของพระเจ้ากับคนอื่น ๆ การศึกษาสิ่งพิมพ์เหล่านั้นทำให้ผมเข้าใจความจริงและอยากรับใช้พระยะโฮวามากขึ้น

“ผมเข้าใจว่าถ้าผมเชื่ออย่างนี้ผมจะต้องเจอกับความทุกข์ลำบาก ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามและผมไม่อยากฆ่าใคร แต่เพื่อเตรียมสำหรับการทดสอบที่จะต้องเจอ ผมเริ่มท่องจำข้อคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น มัดธาย 10:28 และ 26:52 ผมตั้งใจแน่วแน่ว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเสมอถึงแม้จะต้องตายก็ตาม!

“ในปี 1944 ผมอายุครบ 18 ปีพอดีและถูกเรียกให้ไปเกณฑ์ทหาร นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้อยู่ท่ามกลางพี่น้องหนุ่มคนอื่น ๆ ที่มีความเชื่อเหมือนกัน พวกเขาอยู่ในวัยเกณฑ์ทหารและถูกเรียกมาเหมือนผม เราบอกเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกล้าหาญว่าเราจะไม่เข้าร่วมในสงคราม เจ้าหน้าที่โกรธจัดแล้วขู่ว่าจะไม่ให้เรากินอาหารและจะบังคับให้ขุดร่องดินหรือไม่ก็ยิงเราทิ้ง เราตอบอย่างไม่กลัวว่า ‘เราอยู่ในมือคุณแล้ว แต่ไม่ว่าคุณจะทำอะไรกับเรา เราก็จะไม่ขัดคำสั่งของพระเจ้าที่ว่า “อย่าฆ่าคน”’—เอ็ก. 20:13

“แต่ในที่สุด ผมกับพี่น้องชายอีกสองคนถูกส่งไปเบลารุสให้ทำงานในไร่และซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย ผมยังจำได้ถึงผลจากสงครามที่น่าสยดสยองในแถบชานเมืองของมินสก์ ต้นไม้ที่อยู่ริมถนนที่นั่นถูกเผาจนดำเป็นตอตะโก มีศพคนกับม้านอนตายเกลื่อนกลาดอยู่ตามร่องน้ำและในป่า ผมยังเห็นซากรถและปืนใหญ่ที่ถูกทิ้งอยู่ รวมทั้งซากเครื่องบินด้วย ผมได้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการไม่ทำตามกฎหมายของพระเจ้า

“พอถึงปี 1945 สงครามก็ยุติลง แต่เรายังต้องติดคุกต่อไปถึง 10 ปีเพราะไม่ยอมสู้รบ ช่วงสามปีแรกเราไม่มีการประชุมหรือสิ่งพิมพ์ที่เสริมความเชื่อในพระเจ้าเลย เราติดต่อกับพี่น้องหญิงบางคนได้ช่วงหนึ่งทางจดหมาย แต่แล้วพวกเธอก็ถูกจับด้วยและถูกลงโทษให้อยู่ในค่ายแรงงานถึง 25 ปี

“แล้วในปี 1950 ผมก็ถูกปล่อยตัวกลับบ้านก่อนกำหนด แต่ก่อนหน้านั้นตอนที่ผมอยู่ในคุก แม่กับมาเรียน้องสาวของผมได้มาเป็นพยานพระยะโฮวา พวกพี่ชายยังไม่ได้เป็นพยานแต่ก็กำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พวกหน่วยรักษาความปลอดภัยของโซเวียตอยากส่งผมเข้าคุกอีกครั้ง เพราะผมกระตือรือร้นในงานประกาศ ตอนนั้น พี่น้องชายที่ดูแลงานประกาศได้ขอผมให้ช่วยผลิตสิ่งพิมพ์แบบลับ ๆ ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี

จัดเตรียมสิ่งพิมพ์

“พยานมักจะพูดว่า ‘ถ้างานประกาศถูกสั่งห้ามบนดิน เราก็จะประกาศต่อไปใต้ดิน’ (สุภา. 28:28) ตอนนั้น การพิมพ์ส่วนใหญ่ของเราทำกันแบบลับ ๆ ใต้ดิน ‘ห้องทำงาน’ แรกของผมคือ ห้องใต้ดินที่ใช้เป็นหลุมหลบภัยในบ้านของดะมีตรีพี่ชายคนโตของผม บางครั้ง ผมไม่ได้ออกจากห้องใต้ดินเลยเป็นเวลาสองอาทิตย์ติดต่อกัน ถ้าไฟตะเกียงดับเพราะไม่มีออกซิเจน ผมก็จะนอนลงรอจนกว่าในห้องจะมีอากาศบริสุทธิ์อีก

ภาพวาดห้องใต้ดินที่ปู่นิโคไลใช้เป็นที่ผลิตสิ่งพิมพ์

“วันหนึ่งพี่น้องที่ทำงานด้วยกันถามผมว่า ‘นิโคไล คุณรับบัพติสมารึยัง?’ ถึงแม้จะรับใช้พระยะโฮวามา 11 ปีแต่ผมก็ไม่เคยรับบัพติสมา ดังนั้น เขาจึงคุยเรื่องนี้กับผม แล้วคืนนั้นผมก็รับบัพติสมาในทะเลสาบตอนอายุ 26 ปี สามปีต่อมา ผมได้รับหน้าที่รับผิดชอบเป็นสมาชิกของคณะกรรมการประเทศ ตอนนั้น พี่น้องชายหลายคนที่เป็นอิสระได้รับการแต่งตั้งแทนคนที่ถูกจับ เพื่องานประกาศจะดำเนินต่อไปได้”

ความยากลำบากในการทำงานใต้ดิน

“งานพิมพ์ที่ทำใต้ดินลำบากมากกว่าการติดคุกเสียอีก เป็นเวลา 7 ปีที่ผมต้องคอยหลบหนีตำรวจลับ (เคจีบี) ผมไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ผมจึงต้องคอยดูแลความเชื่อของตัวเอง นาน ๆ ครั้งผมถึงมีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวของผม แต่พวกเขาก็เข้าใจสภาพการณ์ของผมและนั่นทำให้ผมมีกำลังใจ การที่ผมต้องเครียดและระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลาทำให้ผมเหนื่อย เราต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เช่น วันหนึ่งตำรวจสองคนมาบ้านที่ผมอยู่ ผมรีบกระโดดออกนอกหน้าต่างอีกฝั่งหนึ่งของบ้านแล้ววิ่งเข้าไปในป่า พอผมออกมาที่ทุ่งนา ผมได้ยินเสียงแปลก ๆ เหมือนเสียงคนผิวปาก แต่พอได้ยินเสียงปืน ผมก็รู้ว่าจริง ๆ แล้วเสียงนั้นเป็นเสียงลูกกระสุน คนที่ตามล่าผมคนหนึ่งกระโดดขึ้นหลังม้าและยิงกระหน่ำใส่ผม ผมวิ่งหนีจนลูกปืนของเขาหมด ผมถูกยิงเข้าที่แขนหนึ่งนัด ในที่สุด หลังจากที่ถูกไล่ล่าถึง 5 กิโลเมตร ผมหนีไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ต่อมา เมื่อมีการพิจารณาคดีของผม ผมได้มารู้ทีหลังว่าพวกเขาพยายามยิงผมถึง 32 นัด!

“ผมตัวซีดมากเพราะผมอยู่ใต้ดินเป็นเวลานาน นี่ทำให้รู้ได้ทันทีว่าผมทำอะไรอยู่ ผมจึงต้องใช้เวลาอยู่กลางแดดให้มากที่สุด การใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินทำให้ผมป่วย ครั้งหนึ่ง ผมไม่สามารถเข้าร่วมประชุมที่สำคัญกับพี่น้องชายคนอื่นได้เพราะมีเลือดออกที่จมูกและปากของผม”

นิโคไลถูกจับ

ที่ค่ายแรงงานในมอร์ดวีเนียปี 1963

“วันที่ 26 มกราคม 1957 ผมถูกจับ หกเดือนต่อมา ศาลสูงของยูเครนประกาศคำตัดสินให้ผมถูกประหารชีวิตโดยการยิงเป้า แต่เนื่องจากประเทศยูเครนได้ยกเลิกการลงโทษโดยการประหารชีวิตไปแล้ว ผมจึงถูกตัดสินให้ติดคุกเป็นเวลา 25 ปีแทน พวกเรา 8 คนถูกตัดสินให้ทำงานที่ค่ายแรงงานเป็นเวลารวมกัน 130 ปี เราถูกส่งไปที่ค่ายแรงงานที่มอร์ดวีเนีย ที่นั่นมีพยานอยู่ 500 คน เราแอบเจอกันเพื่อศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ หลังจากผู้คุมตรวจดูวารสารบางเล่มที่เขายึดไป ผู้คุมคนหนึ่งพูดเสียงดังว่า ‘ถ้าคุณอ่านหนังสือนี้ต่อไปจะไม่มีใครทำลายความเชื่อของคุณได้!’ เราซื่อสัตย์ในการทำงานเสมอและทำมากกว่าที่ถูกขอด้วยซ้ำ หัวหน้าของค่ายแรงงานโอดครวญว่า ‘งานที่พวกคุณทำที่นี่ไม่สำคัญกับเราเลย แต่ที่เราต้องการคือความภักดีของคุณต่างหาก’”

“เราซื่อสัตย์ในการทำงานเสมอและทำมากกว่าที่ถูกขอด้วยซ้ำ”

ความภักดีของเขาไม่ได้ลดน้อยลง

หอประชุมราชอาณาจักรในเวลีคีเย ลูคี

หลังจากถูกปล่อยตัวจากค่ายแรงงานในปี 1967 ปู่นิโคไลยังคงช่วยจัดระเบียบประชาคมต่าง ๆ ในเอสโตเนียและในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย พอถึงต้นปี 1991 คำตัดสินของศาลที่ได้ตัดสินไปในปี 1957 ก็ถูกยกเลิกเพราะไม่มีหลักฐานว่าทำผิดจริง ช่วงนั้นพยานหลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทรมานอย่างโหดร้ายทารุณก็พ้นผิดในทุกข้อกล่าวหา ในปี 1996 ปู่นิโคไลย้ายไปอยู่ที่เมืองเวลีคีเย ลูคี ในปสคอฟ ออบลัสต์ซึ่งห่างจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กประมาณ 500 กิโลเมตร ปู่ซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ ที่นั่น และในปี 2003 ก็มีการสร้างหอประชุมในที่ดินของปู่ ตอนนี้มี 2 ประชาคมที่กำลังเติบโตใช้หอประชุมนั้น

ฉันกับสามีรับใช้ที่สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในประเทศรัสเซีย ในเดือนมีนาคมปี 2011 ไม่กี่เดือนก่อนที่ปู่จะตาย ปู่นิโคไลมาเยี่ยมเราเป็นครั้งสุดท้าย คำพูดของเขาประทับใจเรามาก เขาพูดด้วยตาที่เปล่งประกายว่า “เมื่อดูจากทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ปู่บอกได้เลยว่าวันที่เจ็ดของการเดินรอบเมืองเยริโคได้เริ่มต้นแล้ว” (ยโฮ. 6:15) ตอนนั้นปู่อายุ 85 ปี ถึงจะลำบากมามากแต่ปู่ก็พูดว่า “ปู่มีความสุขมากจริง ๆ ที่ตอนเป็นหนุ่มปู่ได้ตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวา ปู่ไม่เคยเสียใจเลย!”