ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ฝึกสอนลูกที่เป็นวัยรุ่นให้รับใช้พระยะโฮวา

ฝึกสอนลูกที่เป็นวัยรุ่นให้รับใช้พระยะโฮวา

“พระเยซูก็ได้จำเริญขึ้นในด้านสติปัญญาในด้านร่างกายและเป็นที่ชอบจำเพาะพระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งปวงด้วย”—ลูกา 2:52

เพลง 41, 89

1, 2. (ก) พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นเป็นห่วงเรื่องอะไร? (ข) ลูกจะใช้ช่วงวัยรุ่นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร?

โอกาสหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่มีความสุขที่สุดในชีวิตก็คือตอนที่ลูกรับบัพติสมา เบเรนีสมีลูก 4 คนและทุกคนรับบัพติสมาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 14 ปี เธอเล่าว่า “ตอนนั้นเรารู้สึกชื่นใจจริง ๆ เรารู้สึกขอบคุณที่ลูก ๆ ของเราอยากรับใช้พระยะโฮวา แต่เราก็รู้ด้วยว่าพวกเขาอยู่ในช่วงวัยรุ่นและต้องเจอกับปัญหามากมาย” ถ้าคุณมีลูกที่เป็นวัยรุ่นหรือกำลังจะเป็นวัยรุ่น คุณเองก็คงกังวลกับเรื่องนี้เหมือนกัน

2 นักจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็กบอกว่าช่วงวัยรุ่นอาจเป็นเวลาที่ยุ่งยากสำหรับทั้งพ่อแม่และลูก แต่พ่อแม่ไม่ควรคิดว่าลูกวัยรุ่นชอบทำตัวแปลก ๆ และไม่รู้จักโต แทนที่จะคิดอย่างนั้น นักจิตวิทยาบอกว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และชอบใช้เวลาอยู่กับเพื่อน ๆ ดังนั้น ในช่วงวัยรุ่น ลูกของคุณสามารถพัฒนาความเป็นเพื่อนที่สนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นได้เหมือนกับที่พระเยซูทำตอนที่ท่านอายุยังน้อย (อ่านลูกา 2:52) นอกจากนั้น เขายังสามารถพัฒนาทักษะการประกาศและตั้งเป้าหมายที่จะรับใช้พระเจ้ามากขึ้น เขาสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เช่น ตัดสินใจที่จะอุทิศตัวให้พระยะโฮวาและเชื่อฟังพระองค์ แต่คุณที่เป็นพ่อแม่จะทำอะไรได้บ้างเพื่อฝึกสอนลูกที่เป็นวัยรุ่นให้รับใช้พระยะโฮวา? คุณสามารถเรียนจากวิธีที่พระเยซูฝึกสอนสาวกด้วยความรัก ความถ่อมตัว และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง

แสดงความรักกับลูก

3. อัครสาวกรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูมองพวกเขาเป็นเพื่อน?

3 พระเยซูไม่ได้เป็นแค่นายของอัครสาวก แต่ท่านเป็นเพื่อนของพวกเขาด้วย (อ่านโยฮัน 15:15) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล นายมักจะไม่บอกทาสว่าเขาคิดและรู้สึกอย่างไร แต่พระเยซูไม่ได้ปฏิบัติกับอัครสาวกเหมือนพวกเขาเป็นทาส พระเยซูรักและให้เวลาพวกเขา ท่านชอบบอกพวกเขาว่าท่านคิดและรู้สึกอย่างไร นอกจากนั้น พระเยซูตั้งใจฟังเวลาพวกเขาบอกเล่าความคิดและความรู้สึก (มโก. 6:30-32) การที่พระเยซูและอัครสาวกพูดคุยกันแบบนี้ทำให้ท่านกับพวกเขาเป็นเพื่อนที่สนิทกันมาก และยังช่วยเตรียมอัครสาวกให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตด้วย

4. พ่อแม่จะเป็นเพื่อนกับลูกได้อย่างไร? (ดูภาพแรก)

4 ถึงแม้ว่าคุณมีอำนาจเหนือลูกแต่คุณก็เป็นเพื่อนกับเขาได้ด้วย เพื่อนมักใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ดังนั้น คุณอาจจะต้องใช้เวลาทำงานหรือทำสิ่งอื่น ๆ ให้น้อยลงเพื่อจะมีเวลาอยู่กับลูก คุณน่าจะอธิษฐานและคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากนั้น เพื่อนมักจะชอบอะไรเหมือน ๆ กัน ดังนั้น พยายามสังเกตดูว่าลูกวัยรุ่นของคุณชอบอะไร เช่น ลูกชอบดูหนังอะไร ฟังเพลงแบบไหน หรือเล่นกีฬาอะไร แล้วพยายามชอบในสิ่งที่เขาชอบ อีลาเรียที่อยู่ในอิตาลีเล่าว่า “พ่อแม่ของฉันสนใจเพลงที่ฉันฟัง จริง ๆ แล้วพ่อเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉันเลย ฉันคุยกับพ่อได้ทุกเรื่องแม้แต่เรื่องที่ละเอียดอ่อน” การที่คุณเป็นเพื่อนกับลูกและช่วยเขาให้เป็นเพื่อนกับพระยะโฮวาไม่ได้ทำให้อำนาจที่คุณมีลดน้อยลง (เพลง. 25:14) ที่จริง ลูกของคุณจะเห็นว่าคุณรักและให้เกียรติเขา ซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้นที่เขาจะคุยกับคุณได้ทุกเรื่อง

5. สาวกของพระเยซูจะมีความสุขกับการรับใช้พระยะโฮวาได้อย่างไร?

5 พระเยซูรู้ดีว่าถ้าสาวกของท่านรับใช้พระยะโฮวาอย่างกระตือรือร้นและขยันขันแข็งในการประกาศข่าวดี พวกเขาก็จะมีความสุขจริง ๆ ดังนั้น ท่านจึงสนับสนุนพวกเขาให้ขยันประกาศและสัญญาว่าจะช่วยพวกเขา—มัด. 28:19, 20

6, 7. ถ้าคุณรักลูก ทำไมคุณควรสอนลูกให้มีตารางเวลาในการรับใช้พระยะโฮวา?

6 คุณอยากให้ลูกของคุณใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเสมอ และพระยะโฮวาเองก็อยากให้คุณฝึกสอนและตีสอนลูก พระองค์จึงให้อำนาจคุณทำอย่างนั้น (เอเฟ. 6:4) ดังนั้น พยายามให้ลูกได้รับการฝึกสอนเป็นประจำ คิดดูสิว่า คุณพยายามให้ลูกไปโรงเรียนเพราะคุณรู้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และคุณอยากให้เขาสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ถ้าอย่างนั้น คุณก็น่าจะพยายามให้ลูกไปประชุมประชาคม ไปประชุมใหญ่ และเข้าร่วมในการนมัสการประจำครอบครัว ที่จริง การศึกษาที่เขาได้รับจากพระยะโฮวาจะช่วยชีวิตเขา ดังนั้น คุณต้องช่วยให้เขาสนุกกับการเรียนรู้เรื่องพระยะโฮวาและช่วยให้รู้ว่าพระเจ้าสอนเขาให้เป็นคนฉลาดได้ (สุภา. 24:14) นอกจากนั้น คุณต้องฝึกสอนลูกให้ไปประกาศเป็นประจำ ขอให้คุณเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูโดยช่วยลูกให้มีความสุขกับการบอกเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับคนอื่น ๆ

7 การมีตารางเวลาที่แน่นอนสำหรับการนมัสการพระยะโฮวา เช่น การศึกษา การประชุม และการประกาศ จะช่วยลูกวัยรุ่นได้อย่างไร? เอรินที่อยู่ในแอฟริกาใต้บอกว่า “ตอนเด็ก ๆ พวกเรามักจะงอแงและบ่นไม่อยากศึกษาพระคัมภีร์ ไม่อยากไปประชุมและไปประกาศ บางครั้งเราพยายามสร้างปัญหาระหว่างการนมัสการประจำครอบครัวเพื่อจะได้ไม่ต้องศึกษา แต่พ่อแม่ก็ไม่เคยยอมแพ้” เธอขอบคุณพ่อแม่ที่ช่วยให้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญขนาดไหน ตอนนี้ ถ้าบางครั้งเอรินไม่สามารถไปประชุมหรือไปประกาศได้ เธอก็จะคิดถึงสิ่งเหล่านั้นและอยากกลับไปทำให้เร็วที่สุด

แสดงความถ่อมตัว

8. (ก) พระเยซูแสดงความถ่อมตัวอย่างไร? (ข) ความถ่อมตัวของพระเยซูช่วยพวกสาวกอย่างไร?

8 ถึงแม้พระเยซูเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ แต่ท่านก็ถ่อมตัวและบอกพวกสาวกว่าท่านต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา (อ่านโยฮัน 5:19) การพูดแบบนี้ทำให้พวกสาวกนับถือพระเยซูน้อยลงไหม? ไม่เลย ยิ่งพวกเขาเห็นว่าพระเยซูพึ่งพระยะโฮวา พวกเขาก็ยิ่งไว้วางใจท่านมากขึ้น และต่อมาพวกเขาก็เลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูเรื่องความถ่อมตัว—กิจ. 3:12, 13, 16

9. การที่คุณยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองและพูดคำขอโทษจะช่วยลูกวัยรุ่นของคุณได้อย่างไร?

9 เราไม่เหมือนพระเยซู เราไม่สมบูรณ์และมักทำผิดพลาด ดังนั้น เรายิ่งต้องถ่อมตัว คิดเสมอว่ามีหลายอย่างที่เราทำไม่ได้และยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง (1 โย. 1:8) ถ้าทำอย่างนั้น ลูกวัยรุ่นก็จะเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อผิดพลาดของเขาด้วยและเขาจะนับถือคุณมากขึ้น ลองคิดดูสิ คุณจะนับถือใครมากกว่ากัน ระหว่างเจ้านายที่ยอมรับว่าตัวเองทำผิด กับเจ้านายที่ไม่เคยยอมรับผิดและพูดคำขอโทษเลย โรสเมรี่ คุณแม่ลูกสามบอกว่าเธอกับสามีเต็มใจยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง เธอเล่าต่อว่า “การทำอย่างนี้ทำให้ลูกยอมบอกเราเวลาที่เขามีปัญหา แล้วเราก็สอนลูกว่าจะค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดได้จากที่ไหน เรามักจะใช้สิ่งพิมพ์ขององค์การและอธิษฐานด้วยกันตอนที่พวกเขามาขอความช่วยเหลือ”

10. พระเยซูแสดงความถ่อมตัวอย่างไรตอนที่บอกสาวกให้ทำอะไรบางอย่าง?

10 พระเยซูมีอำนาจสั่งสาวกว่าพวกเขาต้องทำอะไร แต่เพราะท่านถ่อมตัว ท่านจึงมักจะอธิบายด้วยว่าทำไม พวกเขาควรทำอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น พระเยซูไม่ได้แค่บอกพวกสาวกให้แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระเจ้าก่อน แต่ท่านบอกด้วยว่าพระเจ้า “จะทรงให้สิ่งทั้งปวงนี้แก่พวกเจ้า” ตอนที่พระเยซูบอกพวกสาวกว่าอย่าตัดสินคนอื่น ท่านอธิบายว่า “เพื่อเจ้าทั้งหลายจะไม่ถูกตัดสิน เพราะเจ้าทั้งหลายตัดสินผู้อื่นอย่างไร เจ้าจะถูกตัดสินอย่างนั้น”—มัด. 6:31-7:2

11. เมื่อคุณอธิบายเหตุผลที่คุณตั้งกฎหรือตัดสินใจเรื่องบางอย่าง นั่นจะช่วยลูกวัยรุ่นอย่างไร?

11 คุณต้องพยายามหาโอกาสเหมาะ ๆ ที่จะบอกลูกวัยรุ่นของคุณว่าทำไมคุณถึงตั้งกฎบางอย่างหรือตัดสินใจบางเรื่อง ถ้าลูกเข้าใจเหตุผล เขาก็จะเชื่อฟังคุณง่ายขึ้น บาร์รี่ พี่น้องที่มีลูกสี่คนบอกว่า “การอธิบายเหตุผลจะช่วยลูกวัยรุ่นให้ไว้ใจคุณ” ที่จริง เด็กวัยรุ่นจะเข้าใจว่าคุณไม่ได้ตั้งกฎหรือตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ตามใจชอบ แต่จริง ๆ แล้วคุณมีเหตุผล นอกจากนั้น อย่าลืมว่าลูกวัยรุ่นไม่ใช่เด็กเล็ก ๆ แล้ว เขากำลังเรียนรู้ที่จะคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง (โรม 12:1) บาร์รี่อธิบายต่อไปว่า “เด็กวัยรุ่นต้องเรียนรู้ที่จะตัดสินใจโดยใช้เหตุผล ไม่ใช่อารมณ์” (เพลง. 119:34) ดังนั้น คุณต้องถ่อมตัวและอธิบายให้ลูกวัยรุ่นเข้าใจว่าทำไมคุณถึงตัดสินใจอย่างนั้น โดยวิธีนี้ ลูกจะเรียนรู้วิธีตัดสินใจ เขาจะรู้ว่าคุณให้เกียรติเขาและมองว่าเขากำลังโตเป็นผู้ใหญ่

มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง

12. พระเยซูใช้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งช่วยเปโตรอย่างไร?

12 พระเยซูมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรู้ว่าพวกสาวกต้องได้รับความช่วยเหลืออะไร ตัวอย่างเช่น ตอนที่พระเยซูบอกสาวกว่าท่านจะถูกฆ่า เปโตรขอให้พระเยซูสงสารตัวเองก่อน ที่จริง พระเยซูรู้ดีว่าเปโตรรักท่าน แต่ท่านก็รู้ด้วยว่าวิธีคิดของเปโตรไม่ถูกต้อง พระเยซูช่วยเปโตรและสาวกคนอื่น ๆ อย่างไร? อันดับแรก ท่านว่ากล่าวแก้ไขเปโตร จากนั้น ท่านอธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ไม่ยอมทำตามความต้องการของพระเจ้าถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องยาก พระเยซูยังบอกอีกว่าพระยะโฮวาจะให้รางวัลคนที่ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง (มัด. 16:21-27) ในที่สุดเปโตรก็เข้าใจสิ่งที่พระเยซูสอน—1 เป. 2:20, 21

13, 14. (ก) คุณอาจสังเกตเห็นอะไรที่บอกให้รู้ว่าลูกของคุณต้องการความช่วยเหลือ? (ข) คุณจะทำอะไรได้เพื่อรู้ปัญหาของลูก?

13 คุณต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเพื่อขอความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และเพื่อจะรู้ว่าลูกวัยรุ่นของคุณต้องการอะไร (เพลง. 32:8) บางครั้ง คุณสังเกตว่าลูกไม่มีความสุขเหมือนเมื่อก่อน หรือลูกเริ่มพูดถึงพี่น้องในแง่ลบ คุณอาจรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ลูกไม่ได้บอกคุณ ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าลูกของคุณกำลังแอบทำความผิดร้ายแรง * แต่ก็อย่ามองข้ามปัญหาหรือหวังว่าเดี๋ยวมันคงดีขึ้นเอง ที่จริง คุณอาจต้องช่วยลูกให้มีความเชื่อมากขึ้น

ช่วยลูกวัยรุ่นของคุณให้มีเพื่อนดี ๆ ในประชาคม (ดูข้อ 14)

14 เพื่อจะรู้ว่าควรช่วยลูกวัยรุ่นอย่างไร คุณต้องถามเขาอย่างใจเย็น ๆ และในแบบที่ให้เกียรติ เหมือนกับการที่เราหย่อนถังเพื่อตักน้ำจากบ่อลึก ถ้าคุณดึงเชือกขึ้นมาเร็วเกินไป น้ำในถังก็จะหก แล้วคุณจะไม่ได้น้ำอย่างที่คุณต้องการ คล้ายกัน ถ้าคุณใจร้อนตอนที่ถามคำถาม หรือพยายามบังคับลูกวัยรุ่นให้พูดออกมา คุณก็จะไม่รู้ว่าเขาคิดและรู้สึกอย่างไรจริง ๆ (อ่านสุภาษิต 20:5) อีลาเรียจำได้ว่าตอนที่เธอเป็นวัยรุ่น เธออยากอยู่กับเพื่อนที่โรงเรียนมากทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันไม่ดี พ่อแม่ของเธอสังเกตว่าเธอมีอะไรในใจ อีลาเรียเล่าต่อไปว่า “เย็นวันหนึ่ง พ่อแม่บอกว่าพวกเขาสังเกตว่าฉันดูหงอย ๆ พ่อแม่ถามฉันว่ามีปัญหาอะไรไหม ฉันร้องไห้และเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น ฉันขอให้พ่อแม่ช่วย พ่อแม่กอดฉันและบอกว่าพวกเขาเข้าใจ พวกเขาสัญญาด้วยว่าจะช่วยฉัน” หลังจากนั้น พ่อแม่ของอีลาเรียก็เริ่มช่วยเธอทันทีให้มีเพื่อนดี ๆ ในประชาคม

15. พระเยซูแสดงอย่างไรอีกว่าท่านมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง?

15 พระเยซูใช้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเมื่อท่านสังเกตลักษณะนิสัยที่ดีของพวกสาวก ตัวอย่างเช่น ตอนที่นะทานาเอลได้ยินว่าพระเยซูมาจากนาซาเรท เขาพูดว่า “จะมีอะไรดี ๆ มาจากนาซาเรทได้หรือ?” (โย. 1:46) ถ้าคุณอยู่ที่นั่น คุณจะคิดว่านะทานาเอลมีอคติและไม่ชอบพระเยซูไหม? หรือคิดว่าเขาไม่มีความเชื่อไหม? พระเยซูไม่ได้คิดอย่างนั้น ท่านมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรู้ว่านะทานาเอลเป็นคนซื่อ ท่านพูดว่า “นี่คือคนอิสราเอลแท้ที่ไม่มีอุบาย” (โย. 1:47) พระเยซูอ่านใจคนได้ และท่านใช้ความสามารถนี้เพื่อมองหาลักษณะนิสัยที่ดีในตัวคนอื่น

16. คุณจะสนับสนุนลูกวัยรุ่นให้พัฒนาตัวเองได้อย่างไร?

16 ถึงแม้คุณจะอ่านใจคนไม่ได้เหมือนพระเยซู แต่คุณก็มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งได้ พระยะโฮวาสามารถช่วยคุณมองหาลักษณะนิสัยที่ดีในตัวลูกวัยรุ่น บางครั้ง ลูกวัยรุ่นอาจจะทำให้คุณผิดหวัง แต่อย่าพูดว่าเขาเป็นคนไม่ดีหรือเป็นตัวปัญหา อย่าแม้แต่จะคิดว่าเขาเป็นแบบนั้น แทนที่จะคิดอย่างนั้น คุณต้องบอกเขาว่าคุณเห็นลักษณะที่ดีอะไรในตัวเขาบ้าง และบอกเขาด้วยว่าคุณมั่นใจว่าเขาอยากทำสิ่งที่ถูกต้อง ให้สังเกตดูความพยายามของเขาและชมเชยเขา นอกจากนั้น คุณต้องช่วยเขาให้พัฒนาลักษณะนิสัยที่ดีโดยให้เขามีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นตามความเหมาะสม พระเยซูก็ทำอย่างนั้นกับพวกสาวกด้วย หนึ่งปีครึ่งหลังจากพบกับนะทานาเอล (มีอีกชื่อหนึ่งว่า บาร์โทโลมาย) พระเยซูให้หน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญกับเขา ท่านแต่งตั้งเขาเป็นอัครสาวก และเขาก็ทำงานที่พระเยซูมอบหมายให้อย่างซื่อสัตย์ (ลูกา 6:13, 14; กิจ. 1:13, 14) ดังนั้น แทนที่จะทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่าเขาทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง คุณควรชมเชยและให้กำลังใจเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเขาทำให้คุณและพระยะโฮวามีความสุขได้ และให้เขารู้ว่าเขาใช้ความสามารถที่มีอยู่เพื่อรับใช้พระยะโฮวาได้

การฝึกสอนลูกจะทำให้คุณมีความสุขมาก

17, 18. ถ้าคุณพยายามฝึกสอนลูกวัยรุ่นให้รับใช้พระยะโฮวา จะเกิดผลอะไร?

17 คุณอาจรู้สึกเหมือนอัครสาวกเปาโล เขาเป็นห่วงคริสเตียนที่เป็นเหมือนลูกของเขามาก เปาโลเคยช่วยพวกเขาให้มารู้จักพระยะโฮวาและรักพวกเขามาก ดังนั้น เปาโลคงต้องรู้สึกปวดใจเมื่อรู้ว่าบางคนอาจจะทิ้งพระยะโฮวา (1 โค. 4:15; 2 โค. 2:4) วิกเตอร์ คุณพ่อลูกสามเล่าว่า “ช่วงที่ลูก ๆ เป็นวัยรุ่นเป็นช่วงที่ท้าทาย แต่ช่วงเวลาดี ๆ ก็น่าจดจำมากกว่าปัญหาที่เราเจอ เรามีความสุขที่ได้ใกล้ชิดกับลูก ๆ เพราะพระยะโฮวาช่วยเรา”

18 คุณที่เป็นพ่อแม่ คุณรักลูกของคุณมาก คุณจึงพยายามอย่างหนักเพื่อฝึกสอนเขา ดังนั้น อย่ายอมแพ้ คิดดูสิว่าคุณจะมีความสุขขนาดไหนเมื่อลูกของคุณตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวาและทำอย่างนั้นต่อ ๆ ไปอย่างซื่อสัตย์—3 โย. 4

^ วรรค 13 มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่ในหนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล เล่ม 1 หน้า 317 และเล่ม 2 หน้า 136-141