ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงเสริมสร้างครอบครัวของคุณด้วย “ถ้อยคำที่หวานหู”

จงเสริมสร้างครอบครัวของคุณด้วย “ถ้อยคำที่หวานหู”

จง​เสริม​สร้าง​ครอบครัว​ของ​คุณ​ด้วย “ถ้อย​คำ​ที่​หวาน​หู”

ขณะ​แต่​ละ​นาที​ผ่าน​ไป เดวิด​เริ่ม​กระสับกระส่าย​มาก​ขึ้น. ระหว่าง​นั่ง​รอ​ภรรยา​อยู่​ใน​รถ เขา​ก็​จับตา​ดู​นาฬิกา​ไม่​ขาด​ระยะ. เมื่อ​เขา​เห็น​ไดแอน​ภรรยา​เดิน​ออก​จาก​บ้าน​มา​ใน​ที่​สุด เขา​เดือดดาล​มาก​จน​ไม่​อาจ​ระงับ​อารมณ์​ได้.

เขา​ตะโกน​ลั่น​ว่า “ปล่อย​ให้​ผม​รอ​นาน​อย่าง​นี้​ได้​อย่าง​ไร? คุณ​น่ะ​สาย​เป็น​ประจำ ทำไม​ไม่​เคย​เสร็จ​ทัน​เวลา​สัก​ที​นะ?”

ไดแอน​เสียใจ​มาก. เธอ​ร้องไห้​และ​วิ่ง​กลับ​เข้า​บ้าน. ชั่ว​ขณะ​นั้น​เดวิด​ตระหนัก​ถึง​ความ​ผิด​พลาด​ของ​ตน​เอง. ความ​เดือดดาล​ของ​เขา​มี​แต่​ทำ​ให้​สภาพการณ์​เลว​ร้าย​ยิ่ง​ขึ้น. ตอน​นี้​เขา​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ดี? เขา​ดับ​เครื่อง​ยนต์, ถอน​หายใจ​ลึก, และ​เดิน​ตาม​ภรรยา​เข้า​ไป​ใน​บ้าน​อย่าง​ช้า ๆ.

ตัว​อย่าง​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ฉาก​เหตุ​การณ์​ที่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง​มิ​ใช่​หรือ? คุณ​เคย​อยาก​ถอน​คำ​พูด​ไหม? เมื่อ​เรา​พูด​โดย​ไม่​คิด เรา​มัก​จะ​เสียใจ​ภาย​หลัง. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ไว้​อย่าง​เหมาะเจาะ​ว่า “ใจ​ของ​คน​ชอบธรรม​ตรึกตรอง​ก่อน​แล้ว​จึง​ตอบ.”—สุภาษิต 15:28.

กระนั้น การ​คิด​ให้​ดี​ก่อน​พูด​อาจ​ไม่​ง่าย​นัก โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​เรา​โกรธ, กลัว, หรือ​เจ็บ​แค้น. โดย​เฉพาะ​เมื่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​ใน​ครอบครัว ความ​พยายาม​ของ​เรา​ใน​การ​สื่อ​ความ​รู้สึก​อาจ​กลาย​เป็น​คำ​พูด​ต่อ​ว่า​หรือ​ตำหนิ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​ได้​อย่าง​ง่าย​ดาย. ผล​ที่​ตาม​มา​อาจ​ก่อ​ความ​ปวด​ร้าว​หรือ​กลาย​เป็น​ชนวน​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน.

เรา​อาจ​ทำ​อะไร​เพื่อ​จะ​ให้​สถานการณ์​ดี​ขึ้น? เรา​จะ​ระงับ​อารมณ์​วู่วาม​ได้​อย่าง​ไร? เรา​จะ​พบ​คำ​แนะ​นำ​บาง​ประการ​อัน​เป็น​ประโยชน์​จาก​ซะโลโม​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล.

คิด​ให้​ดี​ว่า​จะ​พูด​อะไร และ​พูด​อย่าง​ไร

ขณะ​ที่​ซะโลโม ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​ท่าน​ผู้​ประกาศ ได้​เขียน​บทความ​อัน​ชวน​ให้​ไตร่ตรอง​ใน​เรื่อง​ความ​ไร้​ประโยชน์​ของ​ชีวิต เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ท่าน​มี​ความ​รู้สึก​อัน​แรง​กล้า​ต่อ​เรื่อง​นั้น. ท่าน​บอก​ว่า “เรา​จึง​ได้​เกลียด​ชัง​ชีวิต.” ใน​ที่​หนึ่ง​ท่าน​เรียก​ชีวิต​ว่า “อนิจจัง สารพัด​ก็​อนิจจัง.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 2:17; 12:8, ฉบับ​แปล​ใหม่) กระนั้น พระ​ธรรม​ท่าน​ผู้​ประกาศ​ไม่​ใช่​บันทึก​รายการ​ความ​ไม่​สม​หวัง​ของ​ซะโลโม. ท่าน​คิด​ว่า​ไม่​เหมาะ​ที่​จะ​พูด​แต่​แง่​ไม่​ดี​ของ​ชีวิต. ใน​บท​ส่ง​ท้าย ซะโลโม​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ท่าน “ได้​เสาะ​หา​ถ้อย​คำ​ที่​หวาน​หู​และ​วิธี​การ​เขียน​ถ้อย​คำ​อัน​ถูก​ต้อง​แห่ง​ความ​จริง.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 12:10, ล.ม.)

เห็น​ได้​ชัด ซะโลโม​ตระหนัก​ว่า​ท่าน​ต้อง​ควบคุม​อารมณ์​ความ​รู้สึก. ที่​แท้​แล้ว ประหนึ่ง​ว่า​ท่าน​เฝ้า​ถาม​ตัว​เอง​ทำนอง​นี้: ‘สิ่ง​ที่​ข้า​ฯ​ตั้งใจ​จะ​กล่าว​นั้น​จริง​หรือ​ถูก​ต้อง​จริง ๆ ไหม? หาก​ข้า​ฯ​ใช้​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้ คน​อื่น​จะ​รู้สึก​ว่า​เป็น​คำ​พูด​หวาน​หู​และ​ยอม​รับ​ได้​ไหม?’ โดย​การ​เสาะ​หา “ถ้อย​คำ​ที่​หวาน​หู” แห่ง​ความ​จริง ซะโลโม​จึง​สามารถ​ควบคุม​อารมณ์​ความ​รู้สึก​เพื่อ​รักษา​ความ​คิด​ของ​ท่าน​ให้​แจ่ม​ใส.

ผล​งาน​สืบ​เนื่อง​จาก​ความ​มานะ​พยายาม​ของ​ท่าน พระ​ธรรม​ท่าน​ผู้​ประกาศ​จึง​ไม่​เป็น​เพียง​วรรณกรรม​ชิ้น​เอก แต่​ยัง​เป็น​แหล่ง​สติ​ปัญญา​บริบูรณ์​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​ใน​เรื่อง​ความ​หมาย​ของ​ชีวิต. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) วิธี​ที่​ซะโลโม​เริ่ม​พิจารณา​เรื่อง​ราว​ที่​กระทบ​ความ​รู้สึก​จะ​ช่วย​เรา​สื่อ​ความ​ดี​ขึ้น​ไหม​กับ​คน​ที่​เรา​รัก? ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ต่อ​ไป​นี้.

เรียน​รู้​วิธี​ควบคุม​อารมณ์​ความ​รู้สึก

เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง สมมุติ​ว่า​เด็ก​ชาย​คน​หนึ่ง​กลับ​จาก​โรง​เรียน​มา​ถึง​บ้าน​พร้อม​กับ​สมุด​รายงาน​ผล​สอบ และ​สี​หน้า​เด็ก​ดู​หงอย ๆ. พ่อ​ของ​เด็ก​ตรวจ​ดู​คะแนน​วิชา​ต่าง ๆ และ​เห็น​ว่า​ลูก​ชาย​ได้​คะแนน​ต่ำ​ใน​วิชา​หนึ่ง. เขา​โกรธ​ขึ้น​มา​ทันที นึก​ย้อน​หลัง​ที่​ลูก​ชาย​ผัด​เลื่อน​ไม่​ทำ​การ​บ้าน​หลาย​ครั้ง. พ่อ​รู้สึก​อยาก​โพล่ง​ออก​มา​ว่า “ทำไม​ถึง​เป็น​คน​ขี้​เกียจ​อย่าง​นี้! ถ้า​ขืน​เป็น​อย่าง​นี้​ต่อ​ไป​คง​ไม่​มี​วัน​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ชีวิต​แน่ ๆ!”

ก่อน​ที่​เขา​จะ​พูด​ออก​ไป​ด้วย​ความ​โมโห คง​จะ​ดี​หาก​เขา​จะ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ลูก​เป็น​อย่าง​ที่​ฉัน​กำลัง​คิด​อยู่​จริง ๆ ไหม?’ คำ​ถาม​นี้​อาจ​ช่วย​เขา​แยกแยะ​ระหว่าง​ความ​รู้สึก​ของ​ตัว​เอง​และ​ข้อ​เท็จ​จริง. (สุภาษิต 17:27) จริง ๆ แล้ว ลูก​ชาย​จะ​ไม่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ชีวิต​ที​เดียว​หรือ​ด้วย​สาเหตุ​ที่​เขา​สอบ​ตก​ไป​หนึ่ง​วิชา? เขา​เกียจ​คร้าน​ไป​เสีย​ทุก​เรื่อง​ใน​ชีวิต​ของ​เขา​ไหม หรือ​เพียง​แต่​เขา​ผัด​วัน​ประกัน​พรุ่ง​เนื่อง​จาก​ไม่​ค่อย​เข้าใจ​วิชา​นั้น? คัมภีร์​ไบเบิล​เน้น​ย้ำ​บ่อย​ครั้ง​ใน​เรื่อง​คุณค่า​ของ​การ​มี​เหตุ​ผล การ​มอง​เรื่อง​ราว​ต่าง ๆ ตาม​สภาพ​ที่​เป็น​จริง. (ทิทุส 3:2; ยาโกโบ 3:17) เพื่อ​ให้​กำลังใจ​ลูก จึง​จำเป็น​ที่​พ่อ​แม่​จะ​พูด “ถ้อย​คำ​อัน​ถูก​ต้อง​แห่ง​ความ​จริง.”

เสาะ​หา​ถ้อย​คำ​ที่​เหมาะ

ทันที​ที่​ตก​ลง​ใจ​จะ​พูด​เรื่อง​อะไร​กับ​ลูก ผู้​เป็น​พ่อ​ก็​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​จะ​ใช้​คำ​พูด​แบบ​ไหน​ที่​ลูก​ฟัง​แล้ว​จะ​ยินดี​และ​ยอม​รับ?’ จริง​อยู่ การ​หา​ถ้อย​คำ​ที่​เหมาะ​นั้น​ไม่​ง่าย​เสีย​ที​เดียว. แต่​พ่อ​แม่​ต้อง​จำ​ไว้​ว่า​บ่อย​ครั้ง​เยาวชน​มี​แนว​โน้ม​จะ​คิด​ว่า​ถ้า​เขา​ไม่​ดี​พร้อม เขา​ก็​จะ​ล้มเหลว​ไป​เสีย​ทุก​เรื่อง. เขา​อาจ​ยก​เอา​ความ​ล้มเหลว​หรือ​จุด​อ่อน​อย่าง​หนึ่ง​ขึ้น​มา​และ​ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ใหญ่​โต และ​ปล่อย​ให้​เรื่อง​นั้น​เข้า​มา​กำหนด​วิธี​ที่​เขา​มอง​ตัว​เอง. ถ้า​พ่อ​หรือ​แม่​กระทำ​เกิน​เหตุ เขา​ยิ่ง​จะ​ตอก​ย้ำ​ความ​คิด​ใน​ทาง​ลบ​แก่​ลูก​มาก​ขึ้น. โกโลซาย 3:21 บอก​ดัง​นี้: “อย่า​ยั่ว​บุตร​ให้​ขุ่นเคือง พวก​เขา​จะ​ได้​ไม่​ท้อ​ใจ.”

ถ้อย​คำ​บาง​อย่าง เช่น “เสมอ” และ “ไม่​มี​วัน” ปกติ​แล้ว​เป็น​การ​พูด​คลุม​ทั่ว ๆ ไป​หรือ​พูด​เกิน​จริง. เมื่อ​พ่อ​แม่​พูด​ว่า “เธอ​ไม่​มี​วัน​ทำ​อะไร​สำเร็จ​สัก​อย่าง” ลูก​จะ​คิด​ว่า​ตัว​เอง​ไร้​ศักดิ์ศรี. หาก​หลาย​เรื่อง​ใน​ชีวิต​ถูก​ตำหนิ​ต่อ​ว่า​เช่น​นั้น ลูก​ก็​อาจ​เริ่ม​มอง​ตัว​เอง​เป็น​คน​ล้มเหลว​อย่าง​สิ้นเชิง. แน่นอน คง​ไม่​ใช่​แค่​พูด​ให้​ท้อ​ใจ แต่​ไม่​เป็น​ความ​จริง​อีก​ด้วย.

ปกติ​แล้ว การ​เน้น​แง่​บวก​ของ​สถานการณ์​ใด ๆ ย่อม​จะ​ดี​กว่า. พ่อ​ใน​ตัว​อย่าง​ที่​กล่าว​ตอน​ต้น​อาจ​พูด​ทำนอง​นี้​ก็​ได้ เช่น “ลูก พ่อ​เห็น​ลูก​ไม่​สบาย​ใจ​ที่​ลูก​ได้​คะแนน​ต่ำ​ใน​วิชา​หนึ่ง. แต่​โดย​รวม​แล้ว​พ่อ​รู้​ว่า​ลูก​ก็​ขยัน​เรียน​นี่. เอา​ละ ให้​เรา​มา​คุย​กัน​เกี่ยว​กับ​วิชา​ที่​ลูก​ได้​คะแนน​ต่ำ​และ​ดู​ว่า​จะ​แก้​ปัญหา​ที่​ลูก​เผชิญ​อยู่​โดย​วิธี​ใด.” เพื่อ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ช่วย​ลูก​ด้วย​วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด พ่อ​ก็​อาจ​ตั้ง​คำ​ถาม​ที่​เจาะจง​เพื่อ​จะ​ได้​รู้​สาเหตุ​เบื้อง​ลึก​ของ​ปัญหา.

การ​พูด​คุย​กับ​ลูก​อย่าง​กรุณา​และ​ไตร่ตรอง​อย่าง​ดี​ดัง​กล่าว​คง​จะ​ได้​ผล​มาก​กว่า​การ​ระเบิด​อารมณ์​อย่าง​รุนแรง. คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​คำ​รับรอง​ดัง​นี้: “ถ้อย​คำ​ที่​เพราะ​หู​เป็น . . . รส​หวาน​แก่​จิตต์​ใจ, และ​ทำ​ให้​กะดูก​สมบูรณ์​ขึ้น.” (สุภาษิต 16:24) เด็ก​ทั้ง​หลาย—จริง ๆ แล้ว สมาชิก​ครอบครัว​ทุก​คน—ย่อม​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​สงบ​สุข​และ​มี​ความ​รัก.

“ใจ​เต็ม​ไป​ด้วย​สิ่ง​ใด”

คิด​ย้อน​ถึง​สามี​ใน​ฉาก​เหตุ​การณ์​ข้าง​ต้น. สภาพการณ์​น่า​จะ​ดี​กว่า​มิ​ใช่​หรือ​ถ้า​เขา​ได้​ใช้​เวลา​ค้น​หา “ถ้อย​คำ​ที่​หวาน​หู” แห่ง​ความ​จริง แทน​ที่​จะ​โพล่ง​แต่​ถ้อย​คำ​ต่อ​ว่า​ภรรยา​ด้วย​ความ​ข้องขัดใจ? สามี​ที่​อยู่​ใน​สถานการณ์​ดัง​กล่าว​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘แม้​ภรรยา​จำ​ต้อง​ปรับ​ปรุง​ใน​เรื่อง​ของ​การ​เป็น​คน​ตรง​ต่อ​เวลา​ก็​ตาม แต่​จริง ๆ แล้ว เธอ​สาย​เสมอ​ไหม? ณ ตอน​นี้​เป็น​เวลา​ที่​ดี​ที่​สุด​ไหม​ที่​จะ​พูด​ถึง​ข้อ​บกพร่อง​ของ​เธอ? คำ​พูด​ที่​ส่อ​ความ​ขุ่นเคือง ติเตียน จะ​ทำ​ให้​เธอ​อยาก​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​ไหม?’ การ​หยุด​คิด​และ​ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​คำ​ถาม​ดัง​กล่าว​สามารถ​ช่วย​เรา​หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​ให้​คน​ที่​เรา​รัก​รู้สึก​เจ็บใจ​โดย​ไม่​เจตนา.—สุภาษิต 29:11.

แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​หาก​การ​พูด​คุย​กัน​ภาย​ใน​ครอบครัว​ลง​ท้าย​ด้วย​การ​โต้​เถียง​อยู่​เรื่อย? เรา​อาจ​ต้อง​มอง​ลึก​ลง​ไป ใคร่ครวญ​ดู​ความ​รู้สึก​ภาย​ใน​ตัว​เรา​ซึ่ง​สะท้อน​ออก​มา​โดย​คำ​พูด​ที่​เรา​เลือก​ใช้. สิ่ง​ที่​เรา​พูด​อาจ​เผย​ให้​เห็น​มาก​มาย​ว่า​ตัว​ตน​ที่​แท้​จริง​ของ​เรา​เป็น​อย่าง​ไร​จริง ๆ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​เรา​ไม่​สบาย​ใจ​หรือ​อยู่​ใน​ภาวะ​กดดัน. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ใจ​เต็ม​ไป​ด้วย​สิ่ง​ใด ปาก​ก็​พูด​ตาม​นั้น.” (มัดธาย 12:34) หรือ​อีก​นัย​หนึ่ง คำ​พูด​ของ​เรา​มัก​จะ​สะท้อน​ความ​คิด, ความ​ปรารถนา, และ​ทัศนคติ​ที่​แท้​จริง​ใน​หัวใจ.

มุม​มอง​ของ​เรา​ใน​เรื่อง​ชีวิต​เป็น​ไป​ตาม​สภาพ​จริง, มอง​ใน​แง่​ดี, และ​มี​ความ​หวัง​ไหม? ถ้า​เช่น​นั้น​แล้ว ทั้ง​น้ำ​เสียง​และ​เนื้อหา​ใน​การ​สนทนา​ของ​เรา​ก็​น่า​จะ​สะท้อน​ทัศนคติ​เช่น​นั้น​ออก​มา. เรา​มี​แนว​โน้ม​จะ​เป็น​คน​เข้มงวด, มอง​ใน​แง่​ร้าย, หรือ​ชอบ​ตัดสิน​ผู้​อื่น​ไหม? ถ้า​เป็น​เช่น​นั้น เรา​อาจ​ทำ​ให้​คน​อื่น​ท้อ​ใจ​ด้วย​คำ​พูด​หรือ​วิธี​ที่​เรา​พูด. เรา​อาจ​ไม่​ตระหนัก​ว่า​ความ​คิด​หรือ​คำ​พูด​ของ​เรา​จะ​กลาย​เป็น​แง่​ลบ​ไป​ได้​อย่าง​ไร. เรา​อาจ​ถึง​กับ​คิด​ว่า​วิธี​ที่​เรา​มอง​สิ่ง​ต่าง ๆ นั้น​ถูก​ต้อง​เสีย​ด้วย​ซ้ำ. แต่​เรา​ต้อง​ระวัง​การ​หลอก​ตัว​เอง.—สุภาษิต 14:12.

นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​เหลือ​ล้น​ที่​เรา​มี​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. พระ​คัมภีร์​สามารถ​ช่วย​เรา​ตรวจ​สอบ​ความ​คิด​ของ​ตัว​เอง​และ​ประเมิน​ดู​ว่า​ความ​คิด​อย่าง​ไหน​ถูก และ​อย่าง​ไหน​จำ​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน. (ฮีบรู 4:12; ยาโกโบ 1:25) ไม่​ว่า​แนว​โน้ม​ของ​เรา​ทาง​พันธุกรรม​หรือ​การ​เลี้ยง​ดู​ใน​วัย​เด็ก​เป็น​เช่น​ไร เรา​ทุก​คน​สามารถ​เลือก​ที่​จะ​เปลี่ยน​วิธี​คิด​และ​การ​กระทำ​ได้​ถ้า​เรา​ต้องการ​จริง ๆ.—เอเฟโซส์ 4:23, 24.

นอก​เหนือ​จาก​การ​ใช้​พระ​คัมภีร์ เรา​ยัง​มี​วิธี​อื่น​อีก​ที่​ช่วย​ประเมิน​รูป​แบบ​การ​สื่อ​ความ​ของ​เรา. แค่​ถาม​บาง​คน​ก็​ได้ เช่น ขอ​ให้​คู่​สมรส​หรือ​ลูก​บอก​คุณ​ตรง ๆ ว่า​คุณ​เป็น​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​นี้. คุย​กับ​เพื่อน​ที่​คุ้น​เคย​กัน​ดี​และ​มี​วุฒิ​ภาวะ. คุณ​จะ​ต้อง​มี​ใจ​ถ่อม​ที่​จะ​ยอม​รับ​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​บอก​และ​ปรับ​เปลี่ยน​หาก​จำเป็น.

คิด​ก่อน​พูด!

ใน​การ​วิเคราะห์​ขั้น​สุด​ท้าย จริง ๆ แล้ว ถ้า​เรา​ไม่​ต้องการ​ให้​คำ​พูด​ของ​เรา​เป็น​เหตุ​ให้​คน​อื่น​เจ็บใจ เรา​ต้อง​ทำ​อย่าง​ที่​กล่าว​ใน​สุภาษิต 16:23 (ล.ม.) ที่​ว่า “หัวใจ​ของ​คน​มี​ปัญญา​เป็น​เหตุ​ให้​ปาก​ของ​เขา​สำแดง​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ และ​เพิ่ม​แรง​โน้ม​น้าว​ใจ​ให้​แก่​ริมฝีปาก​ของ​เขา.” อาจ​ไม่​ง่าย​เสมอ​ไป​ที่​เรา​จะ​ควบคุม​ความ​รู้สึก. แต่​ถ้า​เรา​พยายาม​เข้าใจ​ผู้​อื่น​แทน​ที่​จะ​กล่าวหา​หรือ​ดูถูก​เขา ครั้น​แล้ว​การ​เสาะ​หา​ถ้อย​คำ​ที่​จะ​กล่าว​ออก​มา​อย่าง​ถูก​ต้อง​เหมาะ​สม​ก็​อาจ​ทำ​ได้​ง่าย​ขึ้น.

จริง​อยู่ พวก​เรา​ไม่​มี​เลย​สัก​คน​จะ​สมบูรณ์​พร้อม. (ยาโกโบ 3:2) บาง​ครั้ง เรา​ต่าง​ก็​พูด​โดย​ไม่​ได้​คิด. (สุภาษิต 12:18) แต่​อาศัย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า เรา​สามารถ​ฝึก​คิด​ก่อน​พูด​และ​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​และ​ผล​ประโยชน์​ของ​ผู้​อื่น​สำคัญ​กว่า​ของ​ตัว​เอง. (ฟิลิปปอย 2:4) ขอ​ให้​เรา​ตั้งใจ​เสาะ​หา “ถ้อย​คำ​ที่​หวาน​หู” แห่ง​ความ​จริง โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​พูด​กับ​สมาชิก​ครอบครัว. แล้ว​การ​พูด​ของ​เรา​จะ​ไม่​เป็น​เหตุ​ให้​ผู้​อื่น​เจ็บใจ​และ​บั่น​ทอน​จิตใจ​เขา แต่​จะ​เยียว​ยา​และ​เสริม​สร้าง​บุคคล​ที่​เรา​รัก.—โรม 14:19.

[ภาพ​หน้า 12]

คุณ​จะ​หลีก​เลี่ยง​คำ​พูด​ที่​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​เสียใจ​ภาย​หลัง​โดย​วิธี​ใด?