กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
แก้ไขข้อขัดแย้ง
สามีเล่า: “หลังจากการแต่งงาน ผมกับซาราห์ * ยังคงอาศัยกับครอบครัวที่บ้านพ่อแม่ของผม. วันหนึ่ง เพื่อนสาวของน้องชายผมขอให้ผมขับรถไปส่งที่บ้าน. ผมยินดีพาเธอส่งถึงบ้านและมีลูกชายไปด้วย. แต่พอกลับมาบ้าน ซาราห์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟทีเดียว. เราเริ่มทุ่มเถียงกัน แม้ต่อหน้าคนในครอบครัวผม เธอก็ยังหาว่าผมเกาะแกะผู้หญิงอื่น. ผมโมโหมาก เลยใช้คำพูดเจ็บแสบ และเธอก็ยิ่งโกรธมากขึ้น.”
ภรรยาเล่า: “ช่วงนั้นลูกชายของเรามีปัญหาด้านสุขภาพ และเราเดือดร้อนในเรื่องเงินด้วย. ดังนั้น เมื่อเฟอร์นันโดขับรถออกไปกับเพื่อนสาวของน้องชายและพาลูกชายเราไปด้วย ฉันอารมณ์เสียหลายเรื่อง. เมื่อเขามาถึงบ้าน ฉันแสดงให้เขารู้ถึงความรู้สึกของฉัน. เราต่างใส่อารมณ์เถียงกันด้วยคำพูดไม่ดี. หลังจากนั้น ดิฉันรู้สึกแย่มาก ๆ.”
การทุ่มเถียงระหว่างสามีภรรยาหมายความว่าเขาจะไม่รักกันอีกต่อไปอย่างนั้นไหม? ไม่ใช่! เฟอร์นันโดและซาราห์ ดังเกริ่นไว้ข้างต้นต่างก็รักกันมาก. กระนั้น แม้แต่ในชีวิตสมรสที่ถือว่าดีอยู่แล้ว บางครั้งก็เกิดการขัดแย้งกันบ้าง.
การขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะอะไร และคุณจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้สายสมรสถูกทำลาย? ด้วยเหตุที่พระเจ้าเป็นผู้จัดเตรียมการสมรสตั้งแต่แรก จึงมีเหตุผลที่ดีที่จะพิจารณาว่า คัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้.—เยเนซิศ 2:21, 22; 2 ติโมเธียว 3:16, 17.
เข้าใจสาเหตุของปัญหา
คู่สมรสส่วนใหญ่ต้องการปฏิบัติด้วยท่าทีที่แสดงความรักและกรุณาต่อกันอยู่แล้ว. อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลบอกสภาพที่เป็นจริงว่า “ทุกคนได้ทำบาปและไม่ได้แสดงคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระเจ้าอย่างที่ควรจะแสดง.” (โรม 3:23) ดังนั้น เมื่อเกิดการไม่ลงรอยกัน การควบคุมอารมณ์อาจทำได้ยาก. และถ้าการโต้เถียงเริ่มขึ้น บางคนอาจรู้สึกว่ายากที่จะหักห้ามนิสัยไม่ดีต่าง ๆ เช่น กรีดร้องและใช้คำพูดหยาบหยาม. (โรม 7:21; เอเฟโซส์ 4:31) ปัจจัยอะไรอีกที่อาจก่อความตึงเครียด?
บ่อยครั้งวิธีสื่อความของสามีจะต่างไปจากวิธีสื่อความของภรรยา. มิชิโกะพูดว่า “ตอนที่เราเพิ่งแต่งงาน ฉันได้มารู้ว่าวิธีปรึกษาหารือของเราต่างกันมาก. ฉันไม่เพียงแค่ถามว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เกิดขึ้นเพราะอะไรและอย่างไร. ส่วนสามีฉันดูเหมือนสนใจอยากรู้แค่ผลจะลงเอยอย่างไร.”
ปัญหาของมิชิโกะไม่ได้เกิดขึ้นกับเธอคนเดียว. ในชีวิตสมรสหลายราย ฝ่ายหนึ่งอาจอยากพูดคุยเรื่องข้อขัดแย้งอย่างละเอียด ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการถกประเด็นนั้น. บางครั้ง ยิ่งฝ่ายหนึ่งพยายามพูดเรื่องนั้น อีกฝ่ายหนึ่งก็ยิ่งหลบเลี่ยงไม่ต้องการคุย. คุณสังเกตไหมว่าชีวิตสมรสของคุณเป็นแบบนี้? ฝ่ายหนึ่งดูเหมือนอยากจะหารือกันในรายละเอียดต่าง ๆ แต่อีกฝ่ายหนึ่งดูเหมือนต้องการเลี่ยงการพูดที่ดูท่าไม่จบสิ้นสักทีไหม?
อีกปัจจัยหนึ่งที่สมควรนำขึ้นมาพิจารณาคือ ภูมิหลังของครอบครัวทั้งสองฝ่ายอาจส่งผลกระทบแนวคิดที่ว่าคู่สมรสควรสื่อความกันอย่างไร. จัสตินซึ่งแต่งงานมาห้าปีแล้วเล่าว่า “ผมมาจากครอบครัวที่อยู่กันอย่างเงียบ ๆ และผมรู้สึกว่ายากที่จะบอกเล่าความรู้สึกส่วนตัวอย่างเปิดเผย. นี่ทำให้ภรรยาข้องขัดใจ. ครอบครัวของภรรยาจะแสดงความรู้สึกอย่างชัดเจน จึงไม่ยากที่ภรรยาจะสื่อความให้ผมเข้าใจความรู้สึกของเธอ.”
เหตุผลในการพยายามร่วมกันแก้ปัญหา
นักวิจัยบางคนพบว่าเครื่องชี้วัดที่วางใจได้มากที่สุดว่าชีวิตสมรสจะประสบความสุขมากเพียงไรนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าพวกเขาบอกรักกันบ่อยแค่ไหน. เพศสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่สมรสและฐานะการเงินที่มั่นคงก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เครื่องชี้วัดที่วางใจได้มากที่สุดว่าชีวิตสมรสจะมีความสุขก็คือสามีและภรรยามีวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ดีเพียงใด.
นอกจากนั้น พระเยซูได้ตรัสว่าไม่ใช่มนุษย์ แต่พระเจ้าต่างหากทรงผูกพันชายหญิงไว้ด้วยกันเมื่อทั้งคู่แต่งงาน. (มัดธาย 19:4-6) เหตุฉะนั้น ชีวิตสมรสที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นการให้เกียรติพระเจ้า. ในทางกลับกัน ถ้าสามีไม่แสดงความรักและไม่คำนึงถึงความรู้สึกของภรรยา พระยะโฮวาพระเจ้าจะไม่สดับคำอธิษฐานของเขา. (1 เปโตร 3:7) ถ้าภรรยาไม่นับถือสามี จริง ๆ แล้วเธอก็ไม่ได้นับถือพระยะโฮวาผู้ทรงตั้งสามีเป็นประมุขของครอบครัว.—1 โครินท์ 11:3.
กุญแจสู่ความสำเร็จ—หลีกเลี่ยงรูปแบบคำพูดที่ยังความเสียหาย
ไม่ว่าการสื่อความของคุณหรือภูมิหลังของครอบครัวจะเป็นลักษณะใดก็ตาม มีรูปแบบคำพูดที่ยังความเสียหายซึ่งพึงละเว้น หากคุณจะใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างได้ผล. ลองถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้:
‘ฉันต้านทานแรงกระตุ้นให้โต้ตอบอย่างเจ็บแสบไหม?’
สุภาษิตที่คมคายข้อหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เมื่อกวนจมูกก็ได้เลือดออกมา; เมื่อกวนโทโสก็ได้การทะเลาะวิวาท.” (สุภาษิต 30:33) นั่นหมายถึงอะไร? ขอพิจารณาเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง. การพูดคุยที่เริ่มด้วยความคิดเห็นต่างกันในการจัดงบใช้จ่ายของครอบครัวให้สมดุล (“เราต้องระมัดระวังการจับจ่ายด้วยบัตรเครดิต”) อาจแปรเปลี่ยนเป็นการโจมตีลักษณะนิสัยของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว (“คุณไม่สำนึกถึงความรับผิดชอบเลย”). ถ้าคู่สมรส ‘กวนจมูกคุณ’ ด้วยการโจมตีลักษณะนิสัยของคุณ คุณก็คงอยาก “กวนจมูก” กลับทันควัน. อย่างไรก็ตาม การแก้เผ็ดมีแต่ทำให้โมโหและจะกลายเป็นการขัดแย้งอย่างรุนแรง.
ยาโกโบผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลได้เตือนว่า “คิดดูสิ! ไฟนิดเดียวก็ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่! ลิ้นก็เป็นเหมือนไฟ.” (ยาโกโบ 3:5, 6) เมื่อคู่สมรสไม่ควบคุมลิ้นตัวเอง ข้อขัดแย้งนิด ๆ หน่อย ๆ ก็อาจไหม้โพลงขึ้นและลุกลามอย่างรวดเร็วเกินจะควบคุมได้. การทุ่มเถียงอย่างเผ็ดร้อนซ้ำซากในชีวิตสมรสย่อมไม่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อความรักจะสามารถเติบโตได้.
แทนที่จะแก้เผ็ด คุณจะเลียนแบบพระเยซูได้ไหม เมื่อถูกเยาะเย้ยถากถาง “พระองค์ไม่ได้ด่าตอบ”? (1 เปโตร 2:23) วิธีดับความโกรธเมื่อทะเลาะกันได้เร็วที่สุดคือการยอมรับทัศนะของคู่สมรสและขอโทษที่คุณมีส่วนทำให้เกิดข้อขัดแย้ง.
ลองวิธีนี้: ครั้งต่อไปหากเกิดข้อขัดแย้งขึ้น ถามตัวเองว่า ‘ฉันจะเสียหายไหมถ้าฉันยอมรับความกังวลของคู่สมรส? ฉันได้ทำอะไรซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา? อะไรยับยั้งไม่ให้ฉันกล่าวคำขอโทษที่ได้พลาดผิดไป?’
‘ฉันถือว่าความรู้สึกของคู่สมรสเป็นเรื่องเล็กน้อยไหม?’
พระคำของพระเจ้าสั่งดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงมีความคิดจิตใจอย่างเดียวกัน แสดงความเห็นอกเห็นใจกัน.” (1 เปโตร 3:8) ขอพิจารณาเหตุผลสองประการซึ่งทำให้คุณอาจไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้อนี้. ประการแรก อาจเป็นเพราะคุณไม่เข้าใจความคิดความรู้สึกของคู่สมรสลึกซึ้งพอ. ยกตัวอย่าง ถ้าคู่สมรสรู้สึกวิตกกังวลมากกว่าคุณ คุณอาจอยากจะพูดว่า “ไม่เห็นจะต้องกังวลมากขนาดนี้เลย.” เจตนาของคุณก็เพื่ออยากจะช่วยคู่สมรสให้มองปัญหาด้วย เหตุและผล. อย่างไรก็ดี คำพูดเช่นนั้นแทบไม่ได้ช่วยให้เกิดความสบายใจ. ทั้งภรรยาและสามีจำเป็นต้องรู้ว่าคนที่ตนรักนั้นเข้าใจและมีความรู้สึกร่วมกับตน.
การทะนงตนเกินควรอาจเป็นเหตุให้คนเราดูหมิ่นความรู้สึกของคู่สมรส. คนหยิ่งทะนงพยายามยกตนข่มผู้อื่นอย่างไม่ละลด. เขาอาจใช้คำพูดที่ไม่ดีหรือพูดเปรียบเทียบในเชิงลบ. พิจารณาตัวอย่างของพวกฟาริซายและอาลักษณ์สมัยพระเยซู. เมื่อคนหนึ่ง แม้เป็นพวกฟาริซายด้วยกัน ได้แสดงความคิดเห็นต่างไปจากคนหยิ่งยโสพวกนั้น พวกเขาได้ใช้คำพูดเจ็บแสบและดูถูกผู้นั้น. (โยฮัน 7:45-52) พระเยซูไม่เป็นอย่างนั้น. พระองค์ร่วมความรู้สึกกับคนอื่นเมื่อเขาเผยความรู้สึกของตัวเองให้พระองค์ทราบ.—มัดธาย 20:29-34; มาระโก 5:25-34.
ขอให้นึกถึงปฏิกิริยาของตัวเองว่าเป็นอย่างไรเมื่อคู่สมรสแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เขาเป็นห่วง. คำพูด, น้ำเสียง, และสีหน้าของคุณแสดงความรู้สึกร่วมไหม? หรือคุณมักจะรีบพูดราวกับว่าคุณไม่สนใจความรู้สึกของคู่สมรสเสียเลย?
ลองวิธีนี้: ในสองสามสัปดาห์ข้างหน้า ให้สังเกตการพูดจาของคุณต่อคู่สมรส. ถ้าคุณพูดแบบไม่สนใจหรือพูดให้เจ็บใจ จงขอโทษทันที.
‘ฉันมักคาดไว้ก่อนไหมว่าคู่สมรสของฉันมีเจตนาเห็นแก่ตัว?’
“โยบนั้นยำเกรงพระเจ้าด้วยเปล่าประโยชน์หรือ? พระองค์มิได้สร้างรั้วล้อมรอบเขาไว้หรือ? และล้อมรอบเรือนและอะไรอะไรที่เขามีอยู่ทุกด้านหรือ?” (โยบ 1:9, 10) ซาตานอาศัยถ้อยคำเหล่านั้นตั้งข้อสงสัยในเจตนาของโยบผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า.
ถ้าคู่สมรสไม่ระวัง เขาก็อาจตกอยู่ในสภาพคล้ายกัน. ตัวอย่างเช่น ถ้าคู่สมรสทำบางอย่างเป็นพิเศษให้คุณ คุณสงสัยว่าเขามีเจตนาแอบแฝงต้องการผลตอบแทน หรือเขาทำเพื่อปกปิดบางอย่างไม่ให้คุณรู้อย่างนั้นไหม? ถ้าคู่สมรสทำผิดพลาด คุณถือว่าข้อผิดพลาดนั้นเป็นการยืนยันว่าเขาหรือเธอเห็นแก่ตัวและไม่ใส่ใจเช่นนั้นไหม? คุณนึกขึ้นได้ทันทีไหมว่าเขาเคยผิดพลาดแบบเดียวกันในอดีต และคุณก็คิดหมายในใจจะไม่ลืมการผิดครั้งนี้ด้วย?
ลองวิธีนี้: เขียนรายการสิ่งดี ๆ ซึ่งคู่สมรสเคยทำเพื่อคุณ และเขียนว่าเขาอาจมีเจตนาดีอะไรที่อยากจะทำสิ่งนั้นให้คุณ.
อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ความรัก . . . ไม่จดจำเรื่องที่ทำให้เจ็บใจ.” (1 โครินท์ 13:4, 5) รักแท้หยั่งเห็นและรู้ว่าเราต่างก็เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์และทำผิดได้. แต่รักแท้จะไม่จดจำความผิดพลาด. เปาโลกล่าวอีกว่าความรัก “เชื่อทุกสิ่ง.” (1 โครินท์ 13:7) ความรักชนิดที่คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนนั้นไม่ใช่แบบเชื่อคนง่าย แต่พร้อมจะไว้วางใจกันเสมอ. รักแท้ไม่คิดระแวงสงสัย. ความรักที่คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนนี้เต็มใจให้อภัย พยายามมองว่าคนอื่นมีเจตนาดี. (บทเพลงสรรเสริญ 86:5; เอเฟโซส์ 4:32) เมื่อคู่สมรสแสดงความรักชนิดนี้ต่อกัน เขาจะประสบความสุขในชีวิตสมรส.
ถามตัวเองว่า . . .
-
คู่สมรสที่กล่าวในตอนต้นบทความนี้ได้ทำผิดพลาดอย่างไร?
-
ฉันจะหลีกเลี่ยงอย่างไรที่จะไม่ทำผิดพลาดทำนองนี้ในชีวิตสมรส?
-
ฉันจะต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเองตรงจุดไหนมากที่สุดดังที่ได้แนะนำไว้ในบทความนี้?
^ วรรค 3 นามสมมุติ.