ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘พระบัญญัติเป็นพี่เลี้ยงของเรา’

‘พระบัญญัติเป็นพี่เลี้ยงของเรา’

‘พระ​บัญญัติ​เป็น​พี่​เลี้ยง​ของ​เรา’

มี​เด็ก​สัก​กี่​คน​หยั่ง​รู้​คุณค่า​ของ​กฎ​ระเบียบ​และ​การ​ตี​สอน? มี​ไม่​มาก. สำหรับ​เด็ก ๆ แล้ว การ​มี​ข้อ​จำกัด​เป็น​เรื่อง​น่า​เบื่อ. อย่าง​ไร​ก็​ดี คน​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ​ใน​การ​ช่วยเหลือ​เด็ก ๆ รู้​ว่า​การ​ควบคุม​ดู​แล​อย่าง​ดี​นั้น​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​ยิ่ง. และ​เมื่อ​พวก​เขา​โต​ขึ้น เด็ก​ส่วน​ใหญ่​ดู​เหมือน​จะ​สำนึก​รู้​คุณค่า​ของ​การ​ชี้​นำ​ที่​ได้​รับ. อัครสาวก​เปาโล​ได้​ใช้​ตัว​อย่าง​คน​ที่​ได้​ปก​ปัก​รักษา​เด็ก​เป็น​ภาพ​แสดง​ถึง​แง่​มุม​หนึ่ง​แห่ง​สัมพันธภาพ​ระหว่าง​พระ​ยะโฮวา​กับ​ประชาชน​ของ​พระองค์​ที่​ค่อย ๆ พัฒนา​ขึ้น.

คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​บาง​คน​ที่​อยู่​ใน​แคว้น​กาลาเทีย​ของ​โรม​ยืนกราน​ว่า​พระเจ้า​ทรง​โปรดปราน​เฉพาะ​แต่​คน​ที่​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​ซึ่ง​พระเจ้า​ได้​ประทาน​ให้​แก่​ชาติ​อิสราเอล​ผ่าน​ทาง​โมเซ​เท่า​นั้น. อัครสาวก​เปาโล​รู้​ว่า​การ​คิด​เช่น​นี้​ไม่​ถูก​ต้อง เพราะ​พระเจ้า​ได้​ประทาน​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​แก่​บาง​คน​ซึ่ง​ไม่​เคย​ถือ​บัญญัติ​ของ​ยิว​เลย. (กิจการ 15:12) ดัง​นั้น เปาโล​จึง​ได้​แก้ไข​ความ​คิด​ผิด ๆ โดย​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ. ใน​จดหมาย​ที่​มี​ไป​ยัง​คริสเตียน​ที่​กาลาเทีย ท่าน​เขียน​ว่า “พระ​บัญญัติ​จึง​เป็น​พี่​เลี้ยง​ที่​พา​เรา​ไป​ถึง​พระ​คริสต์.” (กาลาเทีย 3:24) ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า หน้า​ที่​ของ​พี่​เลี้ยง “มี​ความ​เป็น​มา​อัน​ยาว​นาน​และ​สำคัญ​มาก.” การ​เข้าใจ​ภูมิหลัง​นี้​ช่วย​เรา​ให้​เข้า​ถึง​จุด​ที่​เปาโล​กำลัง​ยก​ขึ้น​มา.

พี่​เลี้ยง​และ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ

ใน​ครอบครัว​ที่​มี​อัน​จะ​กิน​ชาว​กรีก, โรมัน, และ​กระทั่ง​ครอบครัว​ของ​ชาว​ยิว​เอง​ด้วย​ซ้ำ​ไป มี​การ​ใช้​พี่​เลี้ยง​อย่าง​แพร่​หลาย​เพื่อ​ดู​แล​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​กับ​เด็ก​จาก​ทารก​จน​กระทั่ง​ย่าง​เข้า​สู่​วัย​หนุ่ม​สาว. โดย​ทั่ว​ไป พี่​เลี้ยง​เป็น​ทาส​ที่​ได้​รับ​ความ​ไว้​วางใจ มัก​เป็น​คน​มี​อายุ​ซึ่ง​จะ​ทำ​หน้า​ที่​คน​รับใช้​เพื่อ​คอย​ดู​ให้​แน่​ใจ​เรื่อง​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​เด็ก​และ​ดู​ว่า​สิ่ง​ที่​บิดา​ประสงค์​ต่อ​เด็ก​ได้​รับ​การ​สนอง​ตอบ. พี่​เลี้ยง​จะ​อยู่​กับ​เด็ก​ตลอด​ทั้ง​วัน ไม่​ว่า​เด็ก​จะ​ไป​ที่​ไหน, ดู​เรื่อง​สุขอนามัย, พา​ไป​โรง​เรียน, รวม​ถึง​การ​ถือ​หนังสือ​และ​อุปกรณ์​อื่น ๆ ให้ และ​คอย​ดู​แล​เรื่อง​การ​เรียน.

ตาม​ปกติ พี่​เลี้ยง​ไม่​ได้​เป็น​ครู. เขา​เพียง​แต่​จัด​การ​ดู​แล​ตาม​การ​ชี้​แนะ​ของ​บิดา​ใน​แง่​ของ​การ​ปก​ปัก​คุ้มครอง แทน​ที่​จะ​เป็น​ครู​ที่​สอน​วิชา​ความ​รู้​ต่าง ๆ. กระนั้น เขา​ให้​การ​อบรม​ทาง​อ้อม​โดย​การ​ดู​แล​และ​การ​ใช้​ระเบียบ​วินัย. สิ่ง​นี้​รวม​ถึง​การ​สอน​มารยาท, การ​ว่า​กล่าว​ตักเตือน, และ​แม้​แต่​การ​ตี​จริง ๆ เมื่อ​กระทำ​ผิด​ด้วย​ซ้ำ. จริง​อยู่ หน้า​ที่​หลัก​ใน​การ​สอน​เด็ก​อยู่​ที่​บิดา​มารดา. กระนั้น ขณะ​เมื่อ​เด็ก​โต​ขึ้น พี่​เลี้ยง​สอน​เขา​ว่า​ควร​เดิน​อย่าง​สง่า​งาม​ตาม​หน​ทาง, ควร​ใส่​เสื้อ​คลุม, นั่ง, และ​รับประทาน​อาหาร​อย่าง​มี​มารยาท, และ​ควร​ลุก​ขึ้น​ให้​ความ​เคารพ​ผู้​ใหญ่, ควร​ให้​ความ​รัก​ต่อ​บิดา​มารดา และ​อื่น ๆ.

เพลโต​นัก​ปรัชญา​ชาว​กรีก (428-348 ก่อน​สากล​ศักราช) รู้​ซึ้ง​ว่า​อารมณ์​ของ​เด็ก​ต้อง​ได้​รับ​การ​ควบคุม. เขา​เขียน​ว่า “แกะ​หรือ​สัตว์​กิน​หญ้า​ยัง​ต้อง​มี​คน​เลี้ยง​ฉัน​ใด เด็ก​ก็​ต้อง​มี​พี่​เลี้ยง และ​ทาส​ก็​ต้อง​มี​นาย​ฉัน​นั้น.” ทัศนะ​นี้​อาจ​ดู​สุด​โต่ง กระนั้น คำ​กล่าว​นี้​ก็​เห็น​ได้​ว่า​เพลโต​คิด​อย่าง​ไร.

การ​ที่​อยู่​กับ​เด็ก​ตลอด​เวลา​จึง​ทำ​ให้​พี่​เลี้ยง​ได้​ชื่อ​ว่า​เป็น​ผู้​คุ้มครอง​ที่​ใจ​ร้าย​และ​ผู้​คุม​กฎ​เจ้า​ระเบียบ, ที่​มา​ของ​ความ​จุก​จิก​จู้จี้, ความ​น่า​เบื่อ​และ​การ​บ่น​ว่า​ไม่​รู้​จบ. แม้​จะ​ได้​ชื่อ​เช่น​นั้น พี่​เลี้ยง​ก็​ให้​การ​ปก​ปัก​รักษา ทั้ง​ทาง​ศีลธรรม​และ​ทาง​ร่าง​กาย. แอปเปียน​นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​กรีก​ซึ่ง​มี​ชีวิต​ใน​ศตวรรษ​ที่​สอง​สากล​ศักราช​กล่าว​ถึง​เรื่อง​พี่​เลี้ยง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ระหว่าง​เดิน​ทาง​ไป​โรง​เรียน เขา​ได้​ใช้​แขน​โอบ​กอด​เด็ก​ใน​การ​ดู​แล​เอา​ไว้​เพื่อ​ปก​ป้อง​จาก​คน​ที่​จะ​มา​ฆ่า. เมื่อ​เขา​ไม่​ยอม​ปล่อย​เด็ก ทั้ง​พี่​เลี้ยง​และ​เด็ก​ถูก​สังหาร.

สภาพ​ความ​ไร้​ศีลธรรม​แพร่​หลาย​ใน​โลก​สมัย​กรีก. เด็ก ๆ โดย​เฉพาะ​เด็ก​ผู้​ชาย ต้อง​ได้​รับ​การ​ปก​ป้อง​จาก​คน​ล่วง​ละเมิด​ทาง​เพศ. ฉะนั้น พี่​เลี้ยง​จะ​เข้า​ร่วม​ชั้น​เรียน​ของ​เด็ก​เพราะ​มี​ครู​หลาย​คน​ที่​ไม่​อาจ​ไว้​ใจ​ได้. ลิเบนิอัส​นัก​พูด​ชาว​กรีก​ซึ่ง​มี​ชีวิต​ใน​ศตวรรษ​ที่​สี่ ส.ศ. ถึง​กับ​กล่าว​ว่า​พี่​เลี้ยง​ต้อง​ลง​มือ​ทำ​เยี่ยง “ผู้​ปก​ปัก​รักษา​ของ​คน​วัย​แรก​แย้ม,” ที่​จะ “กัน​พวก​ก้อร่อก้อติก, ผลัก​ไส​ไล่​ส่ง​พวก​นี้, และ​ไม่​ยอม​ให้​มา​ใกล้​ชิด​กับ​เด็ก​ผู้​ชาย.” พี่​เลี้ยง​หลาย​คน​ได้​รับ​ความ​เคารพ​นับถือ​จาก​คน​ที่​เขา​ให้​การ​ปก​ป้อง. หิน​เหนือ​หลุม​ศพ​ให้​การ​ยืน​ยัน​ว่า​ผู้​ใหญ่​ที่​กตัญญู​ยัง​คง​รู้สึก​รักใคร่​ต่อ​อดีต​พี่​เลี้ยง​เมื่อ​พวก​เขา​สิ้น​ชีวิต​ไป.

พระ​บัญญัติ​ถูก​ใช้​เป็น​พี่​เลี้ยง

ทำไม​อัครสาวก​เปาโล​จึง​เปรียบ​เทียบ​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​กับ​พี่​เลี้ยง? อะไร​ทำ​ให้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​นี้​เหมาะ​สม​อย่าง​ยิ่ง?

ประการ​แรก​คือ​ลักษณะ​แห่ง​กฎหมาย​ที่​มุ่ง​ปก​ป้อง. เปาโล​อธิบาย​ว่า​พวก​ยิว “ถูก​กัก​ให้​อยู่​ใต้​พระ​บัญญัติ.” จึง​ราว​กับ​ว่า​พวก​เขา​อยู่​ใน​การ​ควบคุม​อารักขา​ของ​พี่​เลี้ยง. (กาลาเทีย 3:23) พระ​บัญญัติ​มี​อิทธิพล​ต่อ​แง่​มุม​ทุก​อย่าง​ของ​ชีวิต ควบคุม​ราคะ​ตัณหา. พระ​บัญญัติ​ควบคุม​พฤติกรรม​ของ​เขา​และ​ตักเตือน​เขา​เสมอ​ถึง​ข้อ​บกพร่อง​ของ​เขา ช่วย​ชาว​อิสราเอล​แต่​ละ​คน​ให้​ตระหนัก​ถึง​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​ตน.

พระ​บัญญัติ​ยัง​ให้​การ​ปก​ป้อง​จาก​อิทธิพล​ที่​ทำ​ให้​เสื่อม​ทราม เช่น ศีลธรรม​และ​กิจ​ปฏิบัติ​ทาง​ศาสนา​ที่​เสื่อม​เสีย​ของ​ชาติ​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ล้อม​รอบ​อิสราเอล. ตัว​อย่าง​เช่น ข้อ​ห้าม​ของ​พระเจ้า​เรื่อง​การ​แต่งงาน​กับ​คน​นอก​รีต​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​สวัสดิภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ทั้ง​ชาติ. (พระ​บัญญัติ 7:3, 4) กฎหมาย​ดัง​กล่าว​ได้​ทำ​ให้​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​คง​ความ​บริสุทธิ์​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ได้​เตรียม​พวก​เขา​ไว้​พร้อม​ต้อนรับ​พระ​มาซีฮา. นี่​เป็น​การ​จัด​เตรียม​ด้วย​ความ​รัก​อย่าง​แท้​จริง. โมเซ​ได้​เตือน​ใจ​ชาว​อิสราเอล​เพื่อน​ร่วม​ชาติ​ของ​ท่าน​ว่า “บิดา​ตี​สั่ง​สอน​บุตร​ชาย​ของ​ตน​ฉัน​ใด, พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า​ก็​ได้​ตี​สั่ง​สอน​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ฉัน​นั้น.—พระ​บัญญัติ 8:5.

อย่าง​ไร​ก็​ดี จุด​สำคัญ​ใน​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​คือ​ลักษณะ​เฉพาะ​กาล​ใน​อำนาจ​หน้า​ที่​ของ​พี่​เลี้ยง. เมื่อ​เด็ก​เติบโต​เป็น​ผู้​ใหญ่ เขา​ก็​ไม่​ได้​อยู่​ใต้​การ​ควบคุม​ของ​พี่​เลี้ยง​อีก​แล้ว. เซโนโฟน​นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​กรีก (431-352 ก่อน ส.ศ) ได้​เขียน​ว่า “เมื่อ​พ้น​วัย​เด็ก​และ​เริ่ม​เป็น​หนุ่ม บิดา​มารดา​ก็​ให้​เขา​ละ​จาก [พี่​เลี้ยง] และ [ครู] เขา​ไม่​ได้​อยู่​ใต้​การ​กำกับ​ของ​คน​เหล่า​นั้น​อีก​ต่อ​ไป แต่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เลือก​ทาง​ชีวิต​เอง.”

เป็น​เช่น​นั้น​กับ​ขอบ​เขต​แห่ง​อำนาจ​ของ​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ. วัตถุ​ประสงค์​ของ​พระ​บัญญัติ​นั้น​เป็น​แบบ​เฉพาะ​กาล—“เพื่อ​ทำ​ให้​การ​ละเมิด​ปรากฏ​ชัด​จน​กว่า​ผู้​สืบ​เชื้อ​สาย [พระ​เยซู​คริสต์] ที่​ได้​รับ​คำ​สัญญา​นั้น​จะ​มา.” อัครสาวก​เปาโล​ได้​อธิบาย​ว่า​สำหรับ​พวก​ยิว​แล้ว พระ​บัญญัติ​เป็น “พี่​เลี้ยง​ที่​พา​เรา​ไป​ถึง​พระ​คริสต์.” เพื่อ​ชาว​ยิว​ร่วม​สมัย​กับ​เปาโล​จะ​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า พวก​เขา​ต้อง​ยอม​รับ​บทบาท​ของ​พระ​เยซู​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า. ครั้น​เมื่อ​พวก​เขา​ยอม​รับ​แล้ว วัตถุ​ประสงค์​ของ​พี่​เลี้ยง​ก็​สิ้น​สุด​ลง.—กาลาเทีย 3:19, 24, 25.

พระ​บัญญัติ​ที่​พระเจ้า​ได้​ประทาน​ให้​แก่​ชาติ​อิสราเอล​นั้น​ไม่​มี​ข้อ​บกพร่อง. พระ​บัญญัติ​นั้น​บรรลุ​วัตถุ​ประสงค์​ตาม​ที่​พระเจ้า​ทรง​กำหนด​ไว้​อย่าง​ครบ​ถ้วน—คือ​ปก​ปัก​รักษา​ประชาชน​ของ​พระองค์​และ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ตระหนัก​ถึง​มาตรฐาน​อัน​สูง​ส่ง​ของ​พระองค์. (โรม 7:7-14) พระ​บัญญัติ​เป็น​พี่​เลี้ยง​ที่​ดี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม บาง​คน​ซึ่ง​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปก​ป้อง​ของ​พระ​บัญญัติ​อาจ​รู้สึก​ว่า​ข้อ​เรียก​ร้อง​เป็น​ภาระ​หนัก. โดย​เหตุ​นี้ เปาโล​จึง​เขียน​ได้​ว่า​เมื่อ​เวลา​กำหนด​ของ​พระเจ้า​มา​ถึง “พระ​คริสต์​ทรง​ซื้อ​เรา​ให้​พ้น​คำ​แช่ง​สาป​ใน​พระ​บัญญัติ.” พระ​บัญญัติ​เป็น “คำ​แช่ง​สาป” เฉพาะ​ใน​แง่​ที่​ว่า​ทำ​ให้​ชาว​ยิว​ที่​ไม่​สมบูรณ์​ต้อง​อยู่​ใต้​มาตรฐาน​ที่​พวก​เขา​ไม่​อาจ​บรรลุ​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน. พระ​บัญญัติ​เรียก​ร้อง​ให้​ทำ​พิธีกรรม​ต่าง ๆ อย่าง​เคร่งครัด. ครั้น​คน​ยิว​ใด ๆ ได้​รับ​เอา​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู​อัน​เป็น​การ​จัด​เตรียม​ที่​เหนือ​กว่า การ​ยึด​ติด​อยู่​กับ​คำ​สั่ง​ห้าม​โดย​ทาง​พี่​เลี้ยง​ก็​ไม่​จำเป็น​อีก​ต่อ​ไป.—กาลาเทีย 3:13; 4:9, 10.

ด้วย​เหตุ​นี้ จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​เปาโล​ที่​เปรียบ​เทียบ​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​กับ​พี่​เลี้ยง​จึง​มุ่ง​เน้น​ถึง​บทบาท​หน้า​ที่​เพื่อ​การ​ชี้​นำ​และ​ลักษณะ​เฉพาะ​กาล​ของ​พระ​บัญญัติ. การ​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​มา​ทาง​การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ แต่​มา​จาก​การ​ยอม​รับ​พระ​เยซู​และ​แสดง​ความ​เชื่อ​ใน​พระองค์.—กาลาเทีย 2:16; 3:11.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21]

“ผู้​ปกครอง” และ “พ่อ​บ้าน”

นอก​จาก​เขียน​เกี่ยว​กับ​พี่​เลี้ยง อัครสาวก​เปาโล​ยัง​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​เกี่ยว​กับ “ผู้​ปกครอง” และ “พ่อ​บ้าน” ด้วย. ที่​กาลาเทีย 4:1, 2 (ฉบับ​แปล 2002) อ่าน​ได้​ว่า “ตราบ​ใด​ที่​ทายาท​ยัง​เป็น​เด็ก​อยู่ เขา​ก็​ไม่​ต่าง​อะไร​กับ​ทาส​เลย ถึง​แม้​เขา​จะ​เป็น​เจ้าของ​ทรัพย์​สมบัติ​ทั้ง​หมด แต่​เขา​ก็​อยู่​ใต้​บังคับ​ของ​ผู้​ปกครอง​และ​พ่อ​บ้าน จน​ถึง​เวลา​ที่​บิดา​ได้​กำหนด​ไว้.” บทบาท​หน้า​ที่​ของ “ผู้​ปกครอง” และ “พ่อ​บ้าน” ต่าง​ไป​จาก​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เป็น​พี่​เลี้ยง ทว่า​จุด​ที่​เปาโล​ต้องการ​กล่าว​ถึง​นั้น​โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว​เหมือน​กัน.

ภาย​ใต้​กฎหมาย​โรมัน มี​การ​แต่ง​ตั้ง “ผู้​ปกครอง” โดย​ชอบ​ด้วย​กฎหมาย​เพื่อ​ลง​มือ​กระทำ​ฐานะ​ผู้​คุ้มครอง​เด็ก​กำพร้า​และ​ดู​แล​ด้าน​การ​เงิน​ของ​เด็ก​จน​กระทั่ง​เขา​เป็น​ผู้​ใหญ่. ฉะนั้น เช่น​ที่​เปาโล​กล่าว​มา แม้​ตาม​ทฤษฎี​แล้ว​เด็ก​เป็น “เจ้าของ” มรดก​ของ​เขา แต่​เมื่อ​เขา​ยัง​เป็น​เด็ก เขา​ไม่​ต่าง​จาก​ทาส​ที่​ไม่​ได้​ครอบครอง​มรดก​นั้น.

อีก​ด้าน​หนึ่ง “พ่อ​บ้าน” เป็น​ตัว​แทน​ใน​การ​ดู​แล​เรื่อง​ทรัพย์​สิน​ทั้ง​หมด​ใน​บ้าน. ฟลาวิอุส โยเซฟุส​นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ยิว​กล่าว​ว่า​เด็ก​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ชื่อ​เฮอร์เคนัส​ได้​ขอ​จดหมาย​มอบ​อำนาจ​จาก​บิดา​ให้​พ่อ​บ้าน​จ่าย​เงิน​แก่​เฮอร์เคนัส​เพื่อ​ซื้อ​สิ่ง​ใด ๆ ที่​เขา​ต้องการ.

ดัง​นั้น คล้าย​กัน​กับ​การ​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​พี่​เลี้ยง การ​อยู่​ใต้ “ผู้​ปกครอง” หรือ “พ่อ​บ้าน” บ่ง​ความ​หมาย​ถึง​การ​ขาด​เสรีภาพ​ขณะ​ที่​คน​เรา​ยัง​เป็น​เด็ก​อยู่. มี​คน​ควบคุม​ชีวิต​ของ​เด็ก​จน​กว่า​ถึง​เวลา​ที่​บิดา​กำหนด​ไว้.

[ภาพ​หน้า 19]

ภาพ​วาด​บน​แจกัน​ของ​กรีก​สมัย​โบราณ​เป็น​ภาพ​พี่​เลี้ยง​กับ​ไม้เท้า​ของ​เขา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

National Archaeological Museum, Athens

[ภาพ​หน้า 19]

รูป​บน​ถ้วย​สมัย​ศตวรรษ​ที่​ห้า​ก่อน ส.ศ. แสดง​ถึง​พี่​เลี้ยง (กับ​ไม้เท้า) กำลัง​มอง​ดู​อยู่​ขณะ​ที่​เด็ก​ใน​การ​ดู​แล​ได้​รับ​การ​สอน​เรื่อง​กาพย์​กลอน​และ​ดนตรี

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Bildarchiv Preussischer Kulturbesitz/Art Resource, NY