“พระองค์ทรงพาข้าพเจ้าไปตามทางชอบธรรม”
“พระองค์ทรงพาข้าพเจ้าไปตามทางชอบธรรม”
เล่าโดย โอลกา แคมป์เบลล์
“แบบอย่างที่ดีเป็นเหมือนการสั่นระฆังเรียกคนอื่น ๆ ให้เดินตาม.” เอมิลีน้องสาวฉันพูด. “พี่สั่นระฆังและฉันขานรับ.” เธอเขียนมาแสดงความยินดีกับฉันในวาระครบ 60 ปีของการทำงานรับใช้เต็มเวลา. ฉันขอเล่าชีวิตตัวเองในวัยสาวและเล่าว่าฉันเริ่มงานประจำชีพอันยาวนานนี้ได้อย่างไร.
ฉันเกิดวันที่ 19 มกราคม 1927 ในครอบครัวชาวยูเครน อาศัยในฟาร์มใกล้เมืองวาคา รัฐซัสแคตเชวัน ทางตอนกลางภาคตะวันตกของแคนาดา. ฉันกับบิลล์น้องชายคู่แฝดเป็นลูกคนที่หกและที่เจ็ดในจำนวนลูกแปดคน. พวกเราเด็กตัวเล็ก ๆ ก็ช่วยพ่อคนขยันของเราทำงานในฟาร์ม. ภายในบ้านหลังเล็กที่เราพักอาศัย แม่ดูแลพวกเราอย่างทะนุถนอม ทั้ง ๆ ที่แม่ปวดด้วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุให้แม่เสียชีวิตในที่สุด. อายุแม่ตอนนั้นเพิ่ง 37 ปี และอายุฉันแค่ 4 ขวบเท่านั้น.
หกเดือนหลังจากแม่ตาย พ่อแต่งงานใหม่. ต่อจากนั้น คนในบ้านต่างก็เครียดเพราะมีการทุ่มเถียงกันวุ่นวาย ซึ่งพวกเราต้องได้มาอยู่ร่วมบ้านกับลูกสาวห้าคนของแม่เลี้ยงด้วย! ฉันเองก็พยายามแสดงความเคารพนับถือแม่เลี้ยง แต่จอห์นพี่ชายของฉันนี่สิลำบากใจมากกว่า.
ในช่วงปลายทศวรรษ 1930 ฉันกับบิลล์ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยม ซึ่งทำให้เราสามารถหนีพ้นความยุ่งเหยิงวุ่นวายที่บ้านได้. เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่อเค้าว่าใกล้จะมาถึง ลัทธิชาตินิยมก็แพร่หลายอยู่ทั่วไป. ครูคนใหม่ของเรากำหนดให้มีการเคารพธง และเด็กหญิงคนหนึ่งไม่ยอมทำ. พวกนักเรียนรุมกันว่าเธออย่างเจ็บแสบ. อย่างไรก็ดี ฉันชื่นชมความกล้าของเธอและก็ถามเธอถึงเหตุผลที่ไม่ทำความเคารพธง. เธอชี้แจงว่าเธอเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ ซึ่งบางครั้งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวา และเธอถวายความซื่อสัตย์ภักดีแด่พระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น.—เอ็กโซโด 20:2, 3; กิจการ 5:29.
ฉันออกจากบ้านเพียงลำพัง
ปี 1943 ฉันได้งานทำที่เมืองปรินซ์อัลเบิร์ต เป็นงานขนของใส่รถบรรทุกและนำส่งลังบรรจุน้ำอัดลม. ด้วยความต้องการการชี้นำจากพระเจ้า ฉันซื้อพระคัมภีร์มาอ่านแต่เห็นว่ายากเกินจะเข้าใจ ฉันหมดหนทางจนต้องร้องไห้. ฉันมีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ก็แค่บทสวดข้าแต่พระบิดาที่บันทึกในมัดธาย 6:9-13.
วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ฉันได้ฟังสตรีเจ้าของบ้านซึ่งเคร่งศาสนาเล่าอย่างอวดตัวว่าได้ผลัก “ผู้หญิงที่สอนไบเบิล” ออกไปจากบ้าน. ฉันประหลาดใจว่า ‘เธอหยาบคายขนาดนั้นทีเดียวหรือ?’ สองสามสัปดาห์ต่อมา วันอาทิตย์นั้นฉันป่วยพักอยู่บ้านและไม่ได้เข้าโบสถ์. “ผู้หญิงที่สอนไบเบิล” กลับมาอีก.
“คุณอธิษฐานไหม?” เธอถาม.
“ใช่จ้ะ ตามบทสวดข้าแต่พระบิดา” ฉันตอบ.
ครั้นเธออธิบายความหมายของถ้อยคำที่พระเยซูตรัส ฉันก็ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ. เธอสัญญาจะกลับมาอีกในวันพุธ.
เมื่อเจ้าของบ้านกลับมา ฉันเล่าด้วยความตื่นเต้นเกี่ยวกับ “ผู้หญิงที่สอนไบเบิล” ซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวา. ฉันตกใจเพราะเจ้าของบ้านได้ขู่ว่า “ลองดู ถ้าเขากลับมาวันพุธนี้ ฉันจะไล่เธอสองคนออกไปพ้นบ้านเลย!”
ฉันสืบไปตามบ้านในละแวกนั้นเพื่อจะหาพยานฯคนนั้นที่ฉันรู้ชื่อว่านางแรมเพล. เมื่อพบเธอแล้ว ฉันก็บอกให้เธอรู้ถึงปัญหานี้และขอเธอบอกฉันทุกสิ่งที่เธอจะบอกได้เกี่ยวกับไบเบิล. ดูเหมือนว่าเราพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่เยเนซิศถึงวิวรณ์! เธอเปรียบเทียบยุคปัจจุบันกับสมัยโนฮา เมื่อพระเจ้าทรงนำจุดจบมาสู่โลกอธรรมและทรงช่วยโนฮาและครอบครัวให้รอดชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกที่รับการชำระให้สะอาด.—มัดธาย 24:37-39; 2 เปโตร 2:5; 3:5-7, 12.
ภายหลังการสนทนาอย่างยืดยาวแล้ว นางแรมเพลพูดขึ้นว่า “ฉันรู้สึกว่าคุณยอมรับแล้วว่าหลักคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลเป็นความจริง. ภายในสองสัปดาห์นี้จะมีการประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวา คุณน่าจะรับบัพติสมา.” คืนนั้นฉันนอนไม่หลับ เฝ้าแต่คิดเรื่องต่าง ๆ ที่ได้เรียนมา. การรับบัพติสมาดูจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก. กระนั้น ฉันก็อยากรับใช้พระเจ้า! ถึงแม้ความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลของฉันมีไม่มาก แต่ฉันได้รับบัพติสมาตอนอายุ 16 ปี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 1943.
ย้ายข้ามประเทศ
เดือนพฤศจิกายน เฟรดพี่ชายขอให้ฉันไปเป็นแม่บ้านดูแลบ้านสามชั้นที่เขาอาศัยอยู่ที่เมืองโทรอนโต ในภาคตะวันออกของแคนาดา. ฉันตอบตกลง โดยหวังว่าที่นั่นฉันจะมีอิสระมากขึ้นในการนมัสการพระยะโฮวา. ก่อนย้ายฉันแวะไปเยี่ยมแอนน์ พี่สาวซึ่งยังอยู่ในซัสแคตเชวันใกล้ ๆ กัน. เธอทำให้ฉันรู้สึกประหลาดใจ—แอนน์และดอริสพี่สาวอีกคนของฉันก็กำลังศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวาอยู่ด้วย ทั้งยังได้แนะนำฉันให้ศึกษาเช่นเดียวกัน. ตอนนั้น ฉันเลยบอกความลับแก่พี่สาวว่าฉันเป็นพยานฯที่รับบัพติสมาแล้ว.
ฉันกับเอมิลีน้องสาวจับรถไฟไปถึงโทรอนโต. บิลล์ได้มารับที่สถานีและพาเราไปยังบ้านซึ่งเขาอยู่ร่วมกับเฟรดและจอห์น. ฉันถามเฟรดว่ามีใครอีกอยู่ในบ้านนี้. เขาตอบว่า “เธอจะไม่มีวันเชื่อหรอก. จำอะเล็กซ์ รี้ดได้ไหมที่เคยอยู่เมืองเดียวกับเรา? เขาอาศัยอยู่ชั้นบน และคน ๆ นี้แปลกพิลึก เขาไปสนใจนักศึกษาพระคัมภีร์เหล่านั้น!” ฉันดีใจเหลือเกิน.
ฉันย่องขึ้นไปพบอะเล็กซ์อย่างเงียบ ๆ และเตรียมจะไปร่วมประชุมในคืนนั้น. ฉันต้องการไปทันทีเพื่อว่าพวกพี่ชายจะไม่ทันได้ห้ามปรามฉัน. ไม่นานต่อมา ถึงแม้ฉันไม่เคยศึกษาพระคัมภีร์เป็นทางการ แต่ฉันก็ได้ออกทำงานเผยแพร่เป็นครั้งแรก. ฉันชอบคุยกับชาวยูเครน โดยใช้ภาษาที่ฉันได้เรียนรู้สมัยเป็นเด็ก.
บิลล์ชอบอ่านวารสารหอสังเกตการณ์ ซึ่งฉันมักจะวางไว้ในห้องของเขา. ภายหลังเขาย้ายไปที่บริติชโคลัมเบีย ภาคตะวันตกของแคนาดา ฉันบอกรับหอสังเกตการณ์ ส่งเป็นของขวัญให้เขา. โดยปกติแม้เขาไม่ใช่คนคุยเก่ง แต่เขาได้เขียนจดหมายยาวสิบหน้ากระดาษขอบคุณฉัน. ต่อมา เขาก็อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและกลายเป็นคริสเตียนผู้ดูแลที่กระตือรือร้น. ดังนั้น ฉันปลื้มปีติอย่างยิ่งที่พี่ ๆ น้อง ๆ
ห้าคน ได้แก่บิลล์, แอนน์, เฟรด, ดอริส, และเอมิลีได้เข้ามาเป็นผู้นมัสการที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา!วันที่ 22 พฤษภาคม 1945 รัฐบาลแคนาดาได้เพิกถอนคำสั่งห้ามการงานของพยานพระยะโฮวา. * เวลานั้นฉันไม่รู้เลยว่าพวกเราถูกห้ามจนกระทั่งได้ยินคำประกาศนั้น. ฉันกับเพื่อนชื่อจูดี ลูกัส ตัดสินใจรับเอางานรับใช้เต็มเวลาฐานะไพโอเนียร์ทางตะวันออกสุดของประเทศในมณฑลควิเบกที่ประชาชนพูดภาษาฝรั่งเศส. ครั้นดอริสพี่สาวและเอมิลีน้องสาวของฉันได้ยินเรื่องแผนการของเรา ทั้งสองจึงตัดสินใจเป็นไพโอเนียร์ในแวนคูเวอร์ มณฑลบริติชโคลัมเบีย อีกด้านหนึ่งของทวีป.
การขัดขวางสิทธิทางศาสนาในควิเบก
การย้ายของฉันไปยังคิวเบกไม่ใช่แค่ย้ายที่อยู่. พยานพระยะโฮวาที่นั่นได้เผชิญการขัดขวางงานประกาศอย่างดุเดือด. * เราเบิกบานใจที่ได้ร่วมแจกแผ่นพับการเกลียดชังอันเผ็ดร้อนรุนแรงที่ควิเบกแสดงต่อพระเจ้า ต่อพระคริสต์ และเสรีภาพเป็นความอับอายของแคนาดาทั้งประเทศ. ข่าวสารที่ร้อนแรงเช่นนั้นได้เปิดโปงการดำเนินงานขัดขวางทางศาสนาต่อต้านพยานพระยะโฮวา.
ในช่วง 16 วัน แต่ละวันประมาณตีสอง เราเริ่มงานอย่างเงียบ ๆ ด้วยการสอดแผ่นพับไว้ใต้ประตูบ้าน. ณ อพาร์ตเมนต์หลังหนึ่ง เราได้ยินว่าตำรวจกำลังตามมา. เราหนีการสืบหาโดยไปหลบซ่อนในตรอกแคบ ๆ. วันรุ่งขึ้นเรากลับไปเสนอหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ตามถนนอีก. หลายเดือนผ่านไป ตำรวจจับกุมพวกเราหลายครั้งนับไม่ถ้วน. เพื่อเตรียมตัวหากจะติดคุก ฉันมีแปรงสีฟันและดินสอเขียนคิ้วติดตัวตลอดเวลา.
เดือนพฤศจิกายน 1946 นาทาน นอรร์ จากบรุกลิน นิวยอร์ก ซึ่งเป็นผู้ที่นำหน้าในงานทั่วโลกของพยานพระยะโฮวาในเวลานั้นได้มาเยี่ยม. ท่านเชิญพวกเราที่เป็นไพโอเนียร์ 64 คนในมณฑลควิเบกเข้าเรียนรุ่นที่เก้าของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดในเซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก. ที่โรงเรียนแห่งนี้ เราเรียนหลักสูตรเร่งรัดเป็นเวลาห้าเดือนเกี่ยวกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล. หลังจากสำเร็จการศึกษาในเดือนสิงหาคม ปี 1947 แล้ว เราถูกส่งไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วควิเบก เพื่อตั้งประชาคมใหม่.
งานรับใช้ที่ให้ความพอใจยินดี
พวกเราสาวโสดสี่คนถูกส่งไปที่เมืองเชอร์บรุก. เราตั้งใจฝึกพูดภาษาฝรั่งเศสอย่างแข็งขัน ระหว่างทางไปและกลับจากเขตงาน เราหัดผันรูปคำกริยาต่าง ๆ หลายหนให้ขึ้นใจ. ช่วงพักกินอาหารกลางวัน บางครั้งเราไม่มีเงินซื้ออาหาร เราก็กลับบ้านและเรียนหนังสือ. เคย์ ลินฮอร์สเพื่อนร่วมงานของฉันเป็นนักไวยากรณ์อย่างแท้จริง. ทีแรก เธอสอนไวยากรณ์อังกฤษให้ฉันก่อนเพื่อทีหลังจะได้เข้าใจไวยากรณ์ฝรั่งเศส.
เรื่องเด่นในงานไพโอเนียร์ของฉันเกิดขึ้นที่เมืองวิกตอเรียวิลล์ เมืองเล็กมีประชากรประมาณ 15,000 คนในเวลานั้น. ที่นั่นหาคนพูดภาษาอังกฤษแทบไม่มี ฉะนั้น สภาพแวดล้อมจึงเหมาะที่สุดสำหรับเราที่จะปรับปรุงการพูดภาษาฝรั่งเศสให้ดีขึ้น. สัปดาห์แรกที่อยู่ที่นั่นเราตื่นเต้นมาก. ทุกแห่งที่เราไป ผู้คนตกลงรับสรรพหนังสือของเรา. เมื่อเรากลับไปอีก ทุกบ้านปิดประตูและมู่ลี่หน้าต่างก็ปิดด้วย. เกิดอะไรขึ้นล่ะ?
บาทหลวงท้องถิ่นได้เตือนประชาชนไม่ให้ฟังพวกเรา. ดังนั้น เมื่อเราไปตามบ้าน พวกเด็ก ๆ เดินตามไปห่าง ๆ แล้วขว้างก้อนหินและหิมะใส่เรา. ถึงกระนั้นก็ยังมีหลายคนต้องการฟังข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล. ทีแรก พวกเขาให้พวกเราไปหาได้เฉพาะตอนกลางคืน. ครั้นพวกเขาก้าวหน้าในความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิลแล้ว จึงศึกษากันโดยไม่หลบ ๆ ซ่อน ๆ ถึงแม้เพื่อนบ้านจะไม่พอใจก็ตาม.
ในช่วงทศวรรษ 1950 ฉันพร้อมด้วยพี่สาวน้องสาวได้กลับไปเยี่ยมเมืองวาคา. ณ การประชุมประชาคม เรา
ได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับงานประกาศให้พี่น้องฟัง. หลังจากนั้น ผู้ดูแลผู้เป็นประธานได้บอกเราว่า “คุณแม่ของคุณจะปลื้มปีติมากทีเดียวเมื่อได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายและรู้ว่าพวกลูก ๆ เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา!” เขาชี้แจงว่าก่อนแม่ตาย แม่เคยได้ศึกษาพระคัมภีร์กับสตรีพยานฯคนหนึ่ง. เรากลั้นน้ำตาไม่อยู่ที่รู้ว่าแม่ได้รับเอาความจริงในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งถ้าอายุแม่ไม่สั้นก็คงได้สอนพวกเราให้รู้ความจริงอย่างแน่นอน.แต่งงานแล้วร่วมกันในงานรับใช้
ปี 1956 ฉันได้พบเมอร์ตัน แคมป์เบลล์ เขาเป็นพยานฯ ติดคุกอยู่นาน 27 เดือนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะรักษาฐานะความเป็นกลางของคริสเตียน. เขาปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่แห่งพยานพระยะโฮวาในบรุกลินมาเกือบสิบปีแล้ว. มอร์ตันมีคุณสมบัติฝ่ายวิญญาณดี ๆ หลายอย่าง และฉันมองว่าเขาจะเป็นสามีที่ดี. เราติดต่อกันทางจดหมายอยู่นานหลายเดือน และความนับถือและความชอบพอระหว่างเราลึกซึ้งยิ่งขึ้นจนกลายเป็นความรัก.
ฉันแต่งงานกับเมอร์ตันเมื่อวันที่ 24 กันยายน 1960. ช่างเป็นพระพรจริง ๆ ที่ได้ร่วมชีวิตนานถึง 47 ปีกับชายผู้ซึ่งดำเนินชีวิตตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลอย่างแท้จริง! เมอร์ตันทำงาน 58 ปีในแผนกการรับใช้ ซึ่งให้การช่วยเหลือและชี้นำประชาคมพยานพระยะโฮวาทั่วประเทศสหรัฐ. งานที่ฉันทำมานาน 30 กว่าปีในสำนักเบเธลบรุกลินเป็นงานสรรหาเครื่องตกแต่งห้องรับรองแขก และตอนหลังได้ช่วยแต่งหอประชุมใหญ่หลายแห่งในเขตพื้นที่นครนิวยอร์ก. ครั้นแล้ว ในปี 1995 ฉันและเมอร์ตันก็ย้ายไปที่ศูนย์การศึกษาว็อชเทาเวอร์ที่แพตเทอร์สัน ห่างจากนครนิวยอร์กไปทางเหนือประมาณ 110 กิโลเมตร.
เมื่อฉันออกจากบ้านตอนอายุ 12 ขวบ ฉันไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะมีพี่น้องชายหญิงห้อมล้อมอยู่มากมายในประชาคม รวมทั้งพี่ ๆ น้อง ๆ ของฉันเอง. ฉันเฝ้าคอยท่าเวลาในโลกใหม่ของพระเจ้า เมื่อพวกเราจะได้อยู่ล้อมหน้าล้อมหลังแม่ และเล่าความเป็นไปต่าง ๆ ขณะที่แม่หลับรอการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเล่าให้แม่ฟังถึงความรักใคร่ของพระยะโฮวาที่ทรงใฝ่พระทัยดูแลลูก ๆ ของแม่ให้ได้มารู้จักพระองค์. พวกเราชื่นชมยินดีเพียงใดที่พระยะโฮวาทรงนำพวกเราไปใน “ทางชอบธรรม”!—บทเพลงสรรเสริญ 23:3.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 21 เนื่องจากพยานพระยะโฮวารักษาความเป็นกลาง รัฐบาลจึงสั่งห้ามองค์การของพยานฯเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1940.
^ วรรค 23 เพื่อจะรู้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับการกดขี่ทางศาสนาในควิเบก ดูวารสารตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 22 เมษายน ปี 2000 หน้า 20-23.
[ภาพหน้า 27]
คุณพ่อคุณแม่กับบ้านที่ฉันอยู่ร่วมกับท่านและพี่น้องอีกเจ็ดคน
[ภาพหน้า 29]
กับเพื่อนร่วมงานทำการเผยแพร่ในเมืองออตตาวา ปี 1952
[ภาพหน้า 29]
กับพี่ ๆ น้อง ๆ (จากซ้ายไปขวา) แอนน์, แมรี, เฟรด, ดอริส, จอห์น, ฉัน, บิลล์, และเอมิลี
[ภาพหน้า 29]
กับเมอร์ตัน ในปัจจุบัน