“สงครามเพื่อยุติสงครามทั้งหลาย”
“สงครามเพื่อยุติสงครามทั้งหลาย”
‘ผมขอสัญญากับท่านว่านี่จะเป็นสงครามครั้งสุดท้าย—สงครามเพื่อยุติสงครามทั้งหลาย.’—วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ (1913-1921).
นั่นคือความคาดหวังอันสูงส่งของผู้นำคนหนึ่งของโลกเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ประมาณ 90 ปีมาแล้ว. สงครามโลกครั้งนั้นน่าสะพรึงกลัวจนฝ่ายที่ได้รับชัยชนะต่างต้องการ—และจำเป็นต้อง—เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ มากมายที่พวกเขาทุ่มเททำไปนั้นจะนำผลประโยชน์ถาวรมาให้. แต่สงครามของมนุษย์แทบไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาสงครามที่ฝังรากลึก.
ราว ๆ 20 ปี หลังจากประธานาธิบดีวิลสันด่วนให้คำมั่นสัญญาดังกล่าว สงครามโลกครั้งที่สองก็ระเบิดขึ้น. สงครามครั้งนี้ก่อความเสียหายและคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าสงครามโลกครั้งก่อนหลายเท่า. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอีกยี่สิบปี ทำให้การสังหารคนหมู่ใหญ่เป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม. เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง บรรดาผู้นำของโลกก็ตระหนักว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามขึ้นนั้นมีมากยิ่งกว่าแต่ก่อน.
ปี 1945 นายพลดักลาส แมกอาเทอร์ ของสหรัฐประกาศว่า “นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของเรา. ถ้าเราไม่คิดหาระบบที่ดีกว่านี้และมีความเสมอภาคกว่านี้ อาร์มาเก็ดดอนจะมาหาเราแน่.”
นายพลแมกอาเทอร์รู้ว่าระเบิดปรมาณูสองลูกก่อผลเช่นไรต่อนางาซากิและฮิโรชิมาในช่วงวันท้าย ๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง. การทำลายล้างอันน่าสยดสยองที่เกิดกับสองเมืองนี้ของญี่ปุ่นทำให้เขาบัญญัติความหมายใหม่ให้กับคำ “อาร์มาเก็ดดอน” ว่าเป็นสงครามนิวเคลียร์ทำลายโลก ซึ่งอาจหมายถึงอวสานของอารยธรรมบนดาวเคราะห์ของเรา.
มนุษยชาติยังคงหวั่นวิตกว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก. เมื่อถึงทศวรรษ 1960 ประเทศมหาอำนาจโลกได้คิดยุทธวิธีหนึ่งขึ้นที่เรียกว่า “พินาศก็พินาศด้วยกัน.” เป้าหมายของพวกเขาคือเพื่อจะมีขีปนาวุธหรือระบบส่งขีปนาวุธจำนวนมากพอที่จะรับประกันได้ว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองในชาติศัตรูกับ 50 เปอร์เซ็นต์ของภาคอุตสาหกรรมในชาตินั้นจะถูกทำลาย ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มสงคราม. แทบไม่มีใครรู้สึกอุ่นใจกับยุทธวิธีเพื่อรักษาความสงบในโลกดังกล่าว.
ทุกวันนี้ อาวุธนิวเคลียร์ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นและสงครามในภูมิภาคต่าง ๆ ยังเป็นเหตุให้ผู้คนเสียชีวิตมากมายจนไม่อาจนับจำนวนได้. ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ทำลายโลกยังคงทำให้มนุษย์หวาดหวั่น. แม้ผู้คนอยากเห็นสงครามยุติเหลือเกิน แต่ก็แทบไม่มีใครเชื่อว่าสงครามหรือยุทธวิธีอื่นใดจะทำให้ความหวังนั้นเป็นจริงได้.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงสงครามหนึ่งซึ่งแตกต่างจากสงครามอื่น ๆ และเป็นสงครามที่จะยุติสงครามทั้งหลาย. พระคัมภีร์เรียกสงครามนี้ว่า “อาร์มาเก็ดดอน”—คำเดียวกับที่ผู้คนมักเอาไปเกี่ยวข้องกับมหันตภัยนิวเคลียร์ทำลายโลก. อาร์มาเก็ดดอนจะยุติสงครามจริง ๆ ได้อย่างไร? บทความต่อไปจะพิจารณา.
[ที่มาของภาพหน้า 3]
DTRA Photo
[ที่มาของภาพหน้า 4]
Nagasaki, Japan, 1945: USAF photo