พระองค์ทรงเข้าใจความเจ็บปวดของเรา
จงใกล้ชิดพระเจ้า
พระองค์ทรงเข้าใจความเจ็บปวดของเรา
“ความเห็นอกเห็นใจคือความเจ็บปวดของคุณในหัวใจผม.” นี่เป็นคำพูดของมิชชันนารีพยานพระยะโฮวาผู้สูงวัยคนหนึ่งที่ได้พรรณนาคุณลักษณะอันดีเลิศนี้. พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นตัวอย่างเด่นที่สุดในเรื่องความเห็นอกเห็นใจ. พระองค์ทรงรู้สึกปวดร้าวพระทัยในยามที่ประชาชนของพระองค์ทนทุกข์. เราแน่ใจได้อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้? ความร่วมรู้สึกของพระยะโฮวาด้วยพระทัยรักใคร่เอ็นดูปรากฏเด่นชัดทั้งในคำตรัสและการกระทำของพระเยซูขณะอยู่บนแผ่นดินโลก. (โยฮัน 5:19) ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่พรรณนาไว้ในโยฮัน 11:33-35.
เมื่อลาซะโรสหายของพระเยซูเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พระเยซูจึงเสด็จไปยังหมู่บ้านที่ลาซะโรอยู่. พอจะเข้าใจได้ว่ามาเรียและมาร์ทาพี่สาวลาซะโรคงเป็นทุกข์โศกเศร้ามาก. พระเยซูรักครอบครัวนี้อย่างยิ่ง. (โยฮัน 11:5) แล้วตอนนี้พระองค์จะทำอย่างไร? บันทึกบอกว่า “เมื่อพระเยซูทรงเห็น [มาเรีย] กับพวกยิวที่มาด้วยพากันร้องไห้ก็สะเทือนพระทัยและเป็นทุกข์ พระองค์ตรัสว่า ‘พวกเจ้าเอาศพเขาไว้ที่ไหน?’ พวกเขาทูลว่า ‘พระองค์เจ้าข้า เสด็จมาดูเถิด.’ พระเยซูทรงกันแสง.” (โยฮัน 11:33-35) ทำไมพระเยซูทรงกันแสง? จริงอยู่ ลาซะโรเพื่อนที่รักของพระองค์เสียชีวิตไปแล้ว แต่พระเยซูกำลังจะแก้ไขด้วยการปลุกเขาให้เป็นขึ้นจากตาย. (โยฮัน 11:41-44) มีอะไรอื่นอีกไหมที่กระทบอารมณ์ความรู้สึกของพระเยซู?
โปรดสังเกตถ้อยคำที่ยกมากล่าวข้างต้นอีกที. โปรดสังเกตว่า เมื่อพระเยซูเห็นมาเรียและคนเหล่านั้นที่มาด้วยพากันร้องไห้ พระองค์ “สะเทือนพระทัย” และ “เป็นทุกข์.” คำภาษาเดิมที่ใช้ ณ ที่นี้บ่งชี้ภาวะที่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง. * สิ่งที่พระเยซูมองเห็นมีผลกระทบต่อพระองค์มาก. อารมณ์ความรู้สึกอันแรงกล้าของพระองค์เห็นได้จากน้ำพระเนตรที่เอ่อล้น. เป็นที่กระจ่างชัดว่า พระเยซูทรงรู้สึกสะเทือนพระทัยก็เพราะความเจ็บปวดของผู้อื่น. เมื่อคนที่คุณรักร้องไห้เสียใจ คุณเคยสะเทือนใจจนร้องไห้ด้วยกันกับเขาไหม?—โรม 12:15.
ความร่วมรู้สึกของพระเยซูช่วยเราเรียนรู้คุณลักษณะและแนวทางต่าง ๆ ของพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์. ขอให้ระลึกว่าพระเยซูทรงสะท้อนคุณลักษณะของพระบิดาได้อย่างสมบูรณ์แบบจนพระองค์สามารถตรัสว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดาด้วย.” (โยฮัน 14:9) ดังนั้น เมื่อเราอ่านว่า “พระเยซูทรงกันแสง” เราก็แน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาเองทรงเจ็บปวดด้วยเมื่อเหล่าผู้นมัสการพระองค์เจ็บปวด. ที่จริง ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ก็ได้ยืนยันข้อเท็จจริงนี้. (ยะซายา 63:9; ซะคาระยา 2:8) พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่มีความรักใคร่เอ็นดูมากสักเพียงใด!
ความร่วมรู้สึกดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใกล้. เมื่อเรารู้สึกท้อแท้หรือซึมเศร้า เพื่อนผู้ซึ่งเข้าใจสภาพการณ์ของเราและร่วมแสดงความเห็นอกเห็นใจทำให้เราอยากเข้าใกล้. มากกว่านั้นสักเพียงใดที่เราถูกชักนำให้เข้ามาใกล้ชิดพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความเมตตาสงสาร ผู้ทรงรู้สึกถึงความเจ็บปวดของเราและเข้าใจสาเหตุที่เราร้องไห้!—บทเพลงสรรเสริญ 56:8.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 คำภาษากรีกที่มีการแปลว่า “กันแสง” บ่อยครั้งหมายถึง “ร้องไห้โดยไม่มีเสียง” ขณะที่คำที่ใช้พรรณนาการร้องไห้ของมาเรียและคนอื่น ๆ อาจให้ความหมายในเชิง “ร้องไห้เสียงดัง, ร้องไห้คร่ำครวญ.”