ความยินดีตลอดชีวิตของผมในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า
ความยินดีตลอดชีวิตของผมในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า
เล่าโดย บิลล์ ยาเรมชัก
ในเดือนมีนาคม 1947 เพียงสองสามสัปดาห์ภายหลังจบหลักสูตรอบรมมิชชันนารีรุ่นที่แปดของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ที่เซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผมกำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางไปยังเขตมอบหมายต่างแดน—สิงคโปร์ แดนไกลนั่นเอง.
เดฟ ฟาร์เมอร์ เพื่อนชาวแคนาดาซึ่งจบหลักสูตรโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่เจ็ดจะร่วมทำงานด้วยกันกับผม. เราลงเรือมารีนแอดเดอร์ ซึ่งในอดีตเคยเป็นเรือลำเลียงทหาร เดินทางจากซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย.
ท่าเรือในประเทศทางตะวันออกแห่งแรกที่เรือเข้าจอดได้แก่ฮ่องกง. สิ่งที่เราพบเห็นที่นั่นทำให้เราถึงกับตกตะลึง. ความเสียหายอันเป็นผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 มีอยู่ทั่วทุกแห่ง—ผู้คนนอนตามทางเดิน อดอยากและส่ออาการใกล้ตาย. เรารีบกลับมาที่เรือและออกจากท่ามุ่งสู่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์.
ที่มะนิลาก็เช่นเดียวกัน เรามองเห็นผลเสียหายอันร้ายกาจของสงคราม. ท่าเรือระเกะระกะไปด้วยเสากระโดงที่จมอยู่เนื่องจากถูกทำลายโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตร มีความขัดสนข้นแค้นอยู่รอบตัวเรา. พยานพระยะโฮวาไม่กี่คนได้มารับเราไปที่หอประชุมราชอาณาจักร. พวกเขาร่าเริงทั้ง ๆ ที่เผชิญปัญหามากมาย.
จากนั้น เรือของเราแวะที่ท่าเมืองปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) ในอินโดนีเซีย. สงครามกลางเมืองกำลังดุเดือดและการสู้รบก็อยู่ไม่ไกล ดังนั้น เขาจึงไม่อนุญาตให้เราขึ้นฝั่ง. ขณะเรือออกจากท่าจะไปสิงคโปร์ ผมเริ่มสงสัยว่าจะมีอะไรรออยู่ที่นั่น. นี่หรือคือสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในดินแดนแถบตะวันออกอันสวยงามตามที่เราเคยได้อ่านในหนังสือการท่องเที่ยว?
ชั่วเวลาสองสามวัน ความหวั่นหวาดของผมก็หมดสิ้น. เรื่องราวน่าทึ่งกำลังคลี่คลายซึ่งจะพิสูจน์อย่างปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่าเดฟกับผมอยู่ในงานมอบหมายที่พระเจ้าพอพระทัยให้ทำ.
วิธีที่เราได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศ
ประมาณหนึ่งเดือนภายหลังออกเดินทางจากซานฟรานซิสโกมาแล้ว ในที่สุดเรือได้เข้าเทียบท่าที่เกาะเซนต์จอห์น ด่านกักกันโรคติดต่อของสิงคโปร์. เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองขึ้นมาบนเรือเพื่อตรวจผู้โดยสารตามขั้นตอนของกฎหมาย และหนังสือเดินทางของเราถูกประทับตรา “อนุญาตให้ขึ้นฝั่ง.” เช้าวันรุ่งขึ้น เรือก็เข้าเทียบท่า. เราขึ้นฝั่งหลังจากพนักงานประจำเรือได้ตรวจเอกสารของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.
วันรุ่งขึ้น เรากลับไปที่ท่าเรือเพื่อบอกลาเพื่อนมิชชันนารีที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน. พวกเขาจะเดินทางต่อไปยัง
ประเทศอินเดียและเกาะลังกา (เดี๋ยวนี้เรียกศรีลังกา). เมื่อกัปตันเรือเห็นพวกเรา เขาได้ลงมาที่ท่าเทียบและเผชิญหน้าพวกเรา. เขาโกรธมากพร้อมกับตะโกนว่าเราไม่มีสิทธิ์จะออกจากเรือ. ก่อนหน้านี้ ขณะอยู่กลางทะเล นายแฮกซ์เวิร์ทหัวหน้ากองตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งกัปตันมิให้ปล่อยพวกเราออกจากเรือเมื่อเรือไปถึงสิงคโปร์. เราไม่รู้คำสั่ง เช่นเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ซึ่งปล่อยให้เราออกจากเรือ.เมื่อพวกเราถูกนำตัวมาพบนายแฮกซ์เวิร์ท เขาต้อนรับเราด้วยกิริยาเกรี้ยวกราด. เขาตะโกนใส่หน้าและพูดว่าไม่อนุญาตให้พวกเราเข้าประเทศสิงคโปร์. เนื่องจากเราไม่ตระหนักในเรื่องการห้ามดังกล่าว เราให้เขาดูหนังสือเดินทางที่มีตราประทับของทางราชการว่า “อนุญาตให้ขึ้นฝั่ง”. เขาโกรธมากและคว้าหนังสือเดินทางจากมือของเราและขีดฆ่าคำเหล่านั้นออก. แต่อนิจจา เรือออกจากท่าเสียแล้ว! นายแฮกซ์เวิร์ทได้ยึดหนังสือเดินทางของเราไว้นานถึงหนึ่งปี ในที่สุดก็ส่งคืนพร้อมกับประทับตรา “อนุญาตให้ขึ้นฝั่ง.”
งานรับใช้เกิดผลในสิงคโปร์
เมื่อเรามาถึงในเดือนเมษายนปี 1947 ชายคนหนึ่งชื่อโจชัวเป็นพยานฯคนเดียวในสิงคโปร์. เขารับใช้ฐานะผู้ประกาศเต็มเวลา หรือไพโอเนียร์กระทั่งเสียชีวิตไปเมื่อต้นทศวรรษ 1970. มิช้ามินาน บางคนที่ได้เรียนรู้ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลก็เริ่มบอกเล่าความจริงแก่ผู้อื่น. คำอธิษฐานของเราที่ขอให้มีคนงานมากขึ้นเพื่อช่วยงานเก็บเกี่ยวฝ่ายวิญญาณเริ่มได้รับคำตอบ.—มัดธาย 9:37, 38.
ปี 1949 ขณะนายแฮกซ์เวิร์ทหยุดงานระยะยาวไปพักผ่อนที่ประเทศอังกฤษ มิชชันนารีชายหญิงหกคนที่จบจากโรงเรียนกิเลียดรุ่น 11 ก็ได้มาถึงสิงคโปร์. ระหว่างนั้น เดฟ มิชชันนารีที่ร่วมงานกับผมมานานหลายปีจำเป็นต้องจากสิงคโปร์ไป เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง. เขาจึงไปอยู่ในประเทศออสเตรเลีย รับใช้อย่างซื่อสัตย์กระทั่งสิ้นชีวิตเมื่อปี 1973. ไอลีน แฟรงส์เป็นหนึ่งในกลุ่มมิชชันนารีใหม่หกคน ซึ่งผมได้แต่งงานกับเธอในปี 1956.
ในช่วงหลายปีนั้น เรานำการศึกษากับหลายคนซึ่งได้เข้ามาเป็นพยานฯพร้อมลูกของเขา. แม้แต่ทุกวันนี้ มีบางคนยังคงรับใช้ประเภทเต็มเวลาในต่างแดน. ประสบการณ์ที่น่าปีติยินดีรายหนึ่งเกี่ยวกับเลสเตอร์และโจนี เฮย์เนสสองสามีภรรยาชาวอเมริกันซึ่งอาศัยอยู่ในสิงคโปร์. เราเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพวกเขาในช่วงทศวรรษ 1950. ทั้งสองทำความก้าวหน้า รับเอาความจริงในคัมภีร์ไบเบิลอย่างรวดเร็ว และได้รับบัพติสมาภายหลังกลับไปที่สหรัฐ. ต่อมาเลสเตอร์กับโจนีก็ทำงานประกาศเผยแพร่อย่างบังเกิดผล. เขาได้ช่วยหลายคนเข้ามาเป็นพยานฯรวมทั้งลูกของเขาสามคนด้วย.
โจนีเขียนว่า “เมื่อฉันนึกย้อนไปปีนั้นในสิงคโปร์ วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปจริง ๆ. ถ้าเราไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคุณ เราอาจยังคงย้ายไปไหนต่อไหนรอบโลก. ฉันยินดีจริง ๆ ที่คุณเป็นคนสอนความจริงให้แก่เลสเตอร์ เพราะตั้งแต่แรกเขาได้ผู้สอนที่คอยพร่ำสอนเขาให้มีความรักต่อพระยะโฮวาและต่อพี่น้องคริสเตียนของเรา. เขาไม่เคยลืมสิ่งนั้น.”
การรับใช้ฐานะครอบครัวในสิงคโปร์
ในปี 1962 เหตุการณ์หนึ่งที่ไม่คาดหมายได้ทำให้งานมอบหมายของเราเปลี่ยนไป. แพทย์ประจำครอบครัวบอกข่าวแก่ไอลีนว่าเธอตั้งครรภ์. เราเองต้องการทำงานต่อไปในฐานะมิชชันนารี แต่จะทำงานนั้นและเลี้ยงดูลูกไปพร้อมกันได้อย่างไร? นาทาน เอช. นอรร์ ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้ดูแลกิจกรรมของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกได้เขียนจดหมายถึงเรา สนับสนุนผมให้หางานอาชีพเพื่อจะอยู่ได้ในสิงคโปร์. เรื่องนี้เป็นสิ่งท้าทายที่หนักเอาการ.
คนต่างชาติส่วนใหญ่ถูกว่าจ้างให้ทำงานเป็นผู้บริหารในบริษัทของต่างประเทศ. ส่วนผมไม่มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจ เนื่องจากผมเริ่มงานประกาศเต็มเวลาเมื่อ 23 ปีก่อนหน้านี้ภายหลังเรียนจบ. ดังนั้น ผมได้จ้างบริษัทจัดหางานในลอนดอนให้ทำประวัติย่อ ซึ่งอาศัยข้อมูลของการเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาในต่างประเทศ และบริษัทจัดหางานได้ส่งประวัติข้อมูลนี้ไปให้บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทที่ทำธุรกิจในสิงคโปร์.
มีจดหมายตอบกลับมาถึงผมเรื่อย ๆ และแจ้งว่า “เราเสียใจที่ไม่มีตำแหน่งงานเหมาะกับผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นคุณ.” พวกเขาถือว่าผมมีคุณสมบัติสูงเกินไป! หลายเดือนผ่านไป จูดีทารกตัวน้อยของเราก็คลอด. ตอนนั้นบราเดอร์นอรร์เยือนสิงคโปร์ ท่านจึงแวะไปเยี่ยมทั้งแม่และลูกในโรงพยาบาล. ท่านยืนยันให้เรามั่นใจว่า “คุณสามารถอยู่ในบ้านมิชชันนารีได้ตราบเท่าที่ต้องการ จนกว่าบิลล์จะได้งานทำ.”
ไม่กี่เดือนต่อมา ผมได้ทำงานกับสายการบินระหว่างประเทศฐานะเป็นตัวแทนฝ่ายขาย. รายได้น้อยแทบไม่พอกับค่าครองชีพ. สองปีถัดมา สายการบินของอเมริกาได้จ้างผมและจ่ายเงินให้มากเป็นสองเท่า. ในที่สุด ผมกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผมยังมีเวลามากขึ้นด้วยสำหรับครอบครัวและงานเผยแพร่.
เราจัดให้วิถีชีวิตของเรารวมจุดอยู่ที่งานรับใช้พระยะโฮวา โดยยึดเอาผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณเป็นอันดับแรก. ทั้งนี้ทำให้ผมได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่างในองค์การ. ไอลีนกลับเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลาอีกครั้งหนึ่ง. ในระหว่างนั้น งานประกาศราชอาณาจักรในสิงคโปร์เจริญรุ่งเรืองดี. พอถึงกลางทศวรรษ 1960 เราได้ซื้อตึกสองชั้นที่สวยงามในย่านใจกลางเมืองเพื่อใช้เป็นหอประชุมพยานพระยะโฮวา. หอประชุมแห่งนี้มีสี่ประชาคมใช้ร่วมกัน.
งานของเราถูกสั่งห้าม!
ในเวลาต่อมา เมฆทะมึนปรากฏราง ๆ บนขอบฟ้าบอกเหตุว่าการต่อต้านใกล้จะมาถึง. วันที่ 14 มกราคม 1972 เราไปยังหอประชุมราชอาณาจักรเพื่อเข้าร่วมการประชุมอย่างที่เคยไปทุกสัปดาห์. แต่ที่ประตูใหญ่นั้นมีโซ่คล้องอยู่และใส่กุญแจ. ป้ายติดประกาศบอกให้ทราบว่าการจดทะเบียนประชาคมพยานพระยะโฮวาในสิงคโปร์ถูกเพิกถอนไปแล้ว. เราถูกสั่งห้าม! *
การปิดหอประชุมราชอาณาจักรไม่ได้ทำให้เรายุติการนมัสการพระยะโฮวา แต่คำถามในใจผมคือ ‘พระเจ้ามีพระทัยประสงค์เช่นไรสำหรับครอบครัวของผม?’ ผมหา
เหตุผลว่าถ้าเราถูกขับออกนอกประเทศ เราจะไม่สามารถกลับมาเยี่ยมพวกพี่น้องในสิงคโปร์ได้อีก. ดังนั้น ผมจึงขอร้องผู้จัดการบริษัทช่วยผมให้ได้งานในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย. แล้วทีนี้ครอบครัวของเราจะสามารถเดินทางไปกลับได้ไม่ยาก. ผมประหลาดใจมาก เมื่อเขาเสนองานในตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานที่กัวลาลัมเปอร์ และผมจะได้รับเงินเดือนเพิ่มสองเท่าและยังมีผลประโยชน์อื่น ๆ ด้วย.แล้วผมก็สงสัยว่า ‘นี่เป็นพระทัยประสงค์ของพระเจ้าหรือที่เราจะย้ายจากสิงคโปร์จากพวกพี่น้องของเราไป?’ ในฐานะครอบครัว เรายกเอาเรื่องนี้ขึ้นทูลอธิษฐานต่อพระยะโฮวา. เราลงความเห็นว่าพระยะโฮวาเป็นผู้นำเรามาที่นี่. ผมจึงตัดสินใจเด็ดขาดว่า—เราจะอยู่ต่อ. ผู้จัดการตกตะลึงเมื่อผมไม่รับข้อเสนอของเขาที่จะให้ผลประโยชน์ด้านการเงิน.
การดำเนินชีวิตและทำงานภายใต้คำสั่งห้ามเป็นความกดดันอย่างแท้จริง เพราะเราเสี่ยงที่จะถูกจับกุมคุมขังเสมอ ๆ. มีหลายโอกาสจริง ๆ ที่ทำให้เราหยั่งรู้ค่าถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 34:7 ที่ว่า “ทูตของพระยะโฮวาแวดล้อมเหล่าคนที่ยำเกรงพระองค์, และทรงช่วยเขาให้พ้นจากภัยอันตราย.”
งานมอบหมายใหม่
ในที่สุด ปี 1993 หลังจากรับใช้ที่ประเทศสิงคโปร์นานกว่า 46 ปี เราถูกขอให้ย้ายไปนิวซีแลนด์ ที่นั่นเราสามารถรับใช้โดยไม่เครียดและกังวลมากนัก. คงไม่ต้องบอกหรอกว่า เราเศร้าใจสักเพียงใดที่ต้องจากเพื่อน ๆ ที่รักของเราในสิงคโปร์ ผู้ซึ่งเรารู้สึกผูกพันรักใคร่อย่างมาก. กระนั้น เราได้กำลังใจที่รู้ว่าความเชื่อของพวกเขาตั้งอยู่บนฐานรากอันมั่นคง สร้างด้วยวัตถุทนไฟ. นี่แหละทำให้พวกเขาสามารถยืนหยัดอยู่ได้เมื่อเผชิญการทดลองต่าง ๆ ที่ต้องอดทนอยู่เรื่อยมา.—1 โครินท์ 3:12-14.
บัดนี้ หลังจากมาอยู่ในนิวซีแลนด์นานกว่า 14 ปี แม้ผมและไอลีนตอนนี้อยู่ในวัยชราแล้วแต่ก็ยังคงชื่นชมยินดีในงานรับใช้ฐานะไพโอเนียร์พิเศษ. พี่ชายสองคนของผม—ไมก์ อายุ 94 และปีเตอร์ อายุ 90—ยังมีชีวิตอยู่และรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ที่ประเทศแคนาดา.
ปี 1998 จูดี ลูกสาวของเราย้ายกลับไปประเทศแถบตะวันออกและรับใช้อยู่ที่นั่นหลายปี. ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เธอเขียนถึงเรามีข้อความดังนี้: “ลูกขอบพระคุณพระยะโฮวาทุก ๆ วันไม่เว้นสำหรับสิทธิพิเศษอันน่าพอใจอย่างยิ่งที่ลูกได้มารับใช้ที่นี่! ลูกขอบคุณพ่อและแม่ด้วยสำหรับการอบรมเลี้ยงดูด้วยความรักในทุก ๆ ด้านและการเสียสละที่พ่อกับแม่ได้ทุ่มเทเพื่อลูกและยังทำอยู่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปได้.” ปี 2003 จูดีกลับนิวซีแลนด์เพื่อมาดูแลช่วยเหลือผมและไอลีนตามที่จำเป็น. *
เรารู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาที่สภาพการณ์ของเราทำให้เราสามารถขานรับเสียงเรียกของนายที่ต้องการจำนวนคนทำงานเกี่ยวมากขึ้น. การตอบรับของเราเช่นนี้ยังผลเป็นความยินดีเหลือพรรณนา. และเมื่อ “โลกกำลังจะสูญไป” ตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าจะเป็นอย่างนั้น พวกเราจะชื่นชมกับการสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญาอันน่าพิศวงของพระเจ้าที่ว่า “ผู้ที่ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าจะคงอยู่ตลอดไป.”—1 โยฮัน 2:17.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 25 ดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 มิถุนายน 1972 หน้า 341–349.
^ วรรค 32 ไอลีนที่รักของผมล่วงลับไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2008 ขณะมีการเตรียมบทความนี้.
[ภาพหน้า 29]
โจชัวเป็นพยานฯคนเดียวในสิงคโปร์ตอนที่เรามาถึงในปี 1947
[ภาพหน้า 29]
กับเดฟ ฟาร์เมอร์ในฮ่องกง ระหว่างเดินทางไปสิงคโปร์ ปี 1947
[ภาพหน้า 29]
กับไอลีน ปี 1958
[ภาพหน้า 31]
กับจูดี ลูกสาวของเรา
[ที่มาของภาพ]
Kimroy Photography
[ที่มาของภาพหน้า 28]
Kimroy Photography