ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

วิธีที่เรานมัสการพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญไหม?

วิธีที่เรานมัสการพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญไหม?

วิธี​ที่​เรา​นมัสการ​พระเจ้า​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ไหม?

“ศาสนา​เป็น​สิ่ง​ที่​ฝัง​ราก​ลึก​ใน​ธรรมชาติ​ของ​มนุษย์.” นั่น​คือ​คำ​กล่าว​ของ​ศาสตราจารย์​แอ​ลิสเตอร์ ฮาร์ดี​ใน​หนังสือ​ธรรมชาติ​ด้าน​วิญญาณ​ของ​มนุษย์ (ภาษา​อังกฤษ). ผล​การ​สำรวจ​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ดู​เหมือน​จะ​สนับสนุน​ข้อ​สรุป​ดัง​กล่าว. การ​สำรวจ​ครั้ง​นี้​พบ​ว่า​ประชากร​โลก​ประมาณ 86 เปอร์เซ็นต์​อ้าง​ว่า​ปฏิบัติ​ศาสนา​รูป​แบบ​ใด​รูป​แบบ​หนึ่ง.

จาก​การ​สำรวจ​ยัง​พบ​ด้วย​ว่า​ศาสนา​ที่​ผู้​คน​นับถือ​แบ่ง​ได้​เป็น 19 ศาสนา​ใหญ่ ๆ และ​ผู้​ที่​บอก​ว่า​เป็น​คริสเตียน​มา​จาก​นิกาย​ต่าง ๆ ถึง 37,000 นิกาย. นี่​ไม่​ได้​ทำ​ให้​คุณ​สงสัย​หรอก​หรือ​ว่า​วิธี​นมัสการ​ต่าง ๆ เหล่า​นี้​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ของ​พระเจ้า​เหมือน​กัน​ทั้ง​หมด​ไหม? ที่​จริง​แล้ว เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ไหม​ว่า​เรา​จะ​นมัสการ​พระองค์​อย่าง​ไร?

ใน​เรื่อง​สำคัญ​มาก​อย่าง​นี้​เรา​ไม่​สามารถ​จะ​ตัดสิน​โดย​อาศัย​เพียง​ความ​รู้สึก​หรือ​ความ​คิด​เห็น​ส่วน​ตัว. ตาม​หลัก​เหตุ​ผล​แล้ว เรา​จำเป็น​ต้อง​ดู​ว่า​พระเจ้า​ทรง​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​นี้. เพื่อ​จะ​รู้​ทัศนะ​ของ​พระเจ้า เรา​ควร​ค้น​ดู​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. เพราะ​เหตุ​ใด? ก็​เพราะ​พระ​เยซู​คริสต์​เอง​ได้​ตรัส​ใน​คำ​อธิษฐาน​ถึง​พระเจ้า​ว่า “คำ​ของ​พระองค์​เป็น​ความ​จริง.” (โยฮัน 17:17) และ​อัครสาวก​เปาโล​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ได้​กล่าว​ยืน​ยัน​ว่า “พระ​คัมภีร์​ทุก​ตอน​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​และ​มี​ประโยชน์​เพื่อ​การ​สอน การ​ว่า​กล่าว การ​จัด​การ​เรื่อง​ราว​ให้​ถูก​ต้อง.”—2 ติโมเธียว 3:16.

คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ไม่​ใช่​การ​นมัสการ​ทุก​อย่าง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ของ​พระเจ้า. เรา​พบ​ตัว​อย่าง​ใน​ประวัติศาสตร์​หลาย​ตัว​อย่าง​เกี่ยว​กับ​รูป​แบบ​การ​นมัสการ​ทั้ง​ที่​พระเจ้า​ทรง​ยอม​รับ​และ​ไม่​ยอม​รับ. หาก​เรา​พิจารณา​ตัว​อย่าง​เหล่า​นี้​ให้​ถี่ถ้วน เรา​จะ​ได้​เรียน​ว่า​เรา​ต้อง​ทำ​อะไร​และ​ต้อง​ไม่​ทำ​อะไร​เพื่อ​การ​นมัสการ​ของ​เรา​จะ​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระเจ้า.

ตัว​อย่าง​สมัย​โบราณ

โดย​ทาง​ผู้​พยากรณ์​โมเซ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​กฎหมาย​ชุด​หนึ่ง​แก่​ชาว​อิสราเอล​เพื่อ​สอน​พวก​เขา​ให้​รู้​ว่า​ควร​นมัสการ​อย่าง​ไร​พระองค์​จึง​จะ​ยอม​รับ. เมื่อ​ประชาชน​ปฏิบัติ​ตาม​กฎหมาย​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​มัก​เรียก​กัน​ว่า​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ พระเจ้า​ทรง​ยอม​รับ​พวก​เขา​เป็น​ประชาชน​ของ​พระองค์​และ​ทรง​อวย​พร​พวก​เขา. (เอ็กโซโด 19:5, 6) แม้​จะ​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระเจ้า​เช่น​นั้น แต่​ชาว​อิสราเอล​ก็​ไม่​ได้​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​รูป​แบบ​การ​นมัสการ​ที่​พระเจ้า​ยอม​รับ. พวก​เขา​เลิก​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​และ​หัน​ไป​ปฏิบัติ​ศาสนา​ของ​ชน​ชาติ​อื่น​ที่​อยู่​ราย​รอบ.

ใน​สมัย​ของ​ผู้​พยากรณ์​ยะเอศเคล​และ​ยิระมะยา​เมื่อ​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​ก่อน​สากล​ศักราช ชาว​อิสราเอล​จำนวน​มาก​ไม่​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​แต่​ไป​ผูก​มิตร​สนิทสนม​กับ​ชน​ชาติ​รอบ​ข้าง. โดย​ทำ​ตาม​ธรรมเนียม​ประเพณี​ของ​ชน​เหล่า​นั้น​และ​เข้า​ร่วม​ใน​เทศกาล​ต่าง ๆ ของ​พวก​เขา ชาว​อิสราเอล​จึง​กำลัง​ปฏิบัติ​ศาสนา​แบบ​ผสมผสาน. ชาว​อิสราเอล​หลาย​คน​กล่าว​ว่า “เรา​จะ​เป็น​ดุจ​นานา​ประเทศ, ดุจ​ครอบครัว​แห่ง​แผ่นดิน​ทั้ง​ปวง, เพื่อ​จะ​ได้​คำนับ (รูป) ไม้​และ​หิน.” (ยะเอศเคล 20:32; ยิระมะยา 2:28) พวก​เขา​อ้าง​ว่า​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา แต่​ขณะ​เดียว​กัน​พวก​เขา​ก็​กราบ​ไหว้ “รูป​เคารพ​ทั้ง​หลาย” และ​ถึง​กับ​ถวาย​บุตร​ชาย​ของ​ตน​เป็น​เครื่อง​บูชา​แก่​รูป​เหล่า​นั้น​ด้วย.—ยะเอศเคล 23:37-39; ยิระมะยา 19:3-5.

นัก​โบราณคดี​เรียก​รูป​แบบ​การ​นมัสการ​เช่น​นี้​ว่า​การ​ผสมผสาน​ทาง​ศาสนา ซึ่ง​เป็น​การ​นมัสการ​พระ​หลาย​องค์​ใน​เวลา​เดียว​กัน. บาง​ครั้ง​พวก​เขา​ก็​อ้าง​ถึง​การ​นมัสการ​แบบ​นี้​โดย​ใช้​คำ​ง่าย ๆ ว่า ศาสนา​แบบ​ชาว​บ้าน​หรือ​ศาสนา​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม. ทุก​วัน​นี้ ผู้​คน​มาก​มาย​รู้สึก​ว่า​ใน​สังคม​ที่​ยอม​ให้​มี​ความ​เชื่อ​ที่​แตกต่าง​หลาก​หลาย​ของ​เรา​นี้ เรา​ควร​เปิด​ใจ​ให้​กว้าง​ยอม​รับ​ทุก​สิ่ง รวม​ทั้ง​ศาสนา​ด้วย. ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​รู้สึก​ว่า​ไม่​มี​อะไร​ผิด​ถ้า​พวก​เขา​จะ​นมัสการ​พระเจ้า​ใน​วิธี​ใด​ก็​ได้​ที่​ตน​พอ​ใจ. เป็น​เช่น​นั้น​จริง​ไหม? เรื่อง​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ยอม​ให้​และ​มี​ใจ​กว้าง​เท่า​นั้น​ไหม? ขอ​พิจารณา​ลักษณะ​บาง​อย่าง​ของ​ศาสนา​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​ที่​ชาว​อิสราเอล​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ได้​ปฏิบัติ และ​ดู​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นั้น​ก่อ​ผล​อย่าง​ไร.

การ​นมัสการ​แบบ​ผสมผสาน​ของ​ชาว​อิสราเอล

ศูนย์กลาง​การ​นมัสการ​แบบ​ผสมผสาน​ของ​ชาว​อิสราเอล​คือ “ที่​นมัสการ​บน​เนิน​สูง” หรือ​สถาน​นมัสการ​ท้องถิ่น​ที่​มี​แท่น​บูชา, แท่น​เผา​เครื่อง​หอม, หลัก​ศิลา​ศักดิ์สิทธิ์, และ​เสา​ไม้​ศักดิ์สิทธิ์​ซึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​อะเชรา เทพ​ธิดา​แห่ง​การ​เจริญ​พันธุ์​ของ​ชาว​คะนาอัน. มี​ศูนย์กลาง​การ​นมัสการ​เช่น​นั้น​อยู่​หลาย​แห่ง​ใน​ยูดาห์. ที่​พงศาวดาร​กษัตริย์​ฉบับ​สอง 23:5, 8 กล่าว​ถึง “ที่​นมัสการ​บน​เนิน​สูง​ตาม​หัวเมือง​ทั้ง​หลาย​ใน​ประเทศ​ยูดา, และ​ใน​ที่​แขวง​ที่​ล้อม​รอบ​กรุง​ยะรูซาเลม, . . . ตั้ง​แต่​เมือง​เฆบา [ชายแดน​ทาง​เหนือ] จน​ถึง​เมือง​บะเอ็ลซาบา [ชายแดน​ทาง​ใต้].”

ณ ที่​นมัสการ​เหล่า​นี้ ชาว​อิสราเอล​ได้ “เผา​เครื่อง​หอม​บูชา​แก่​พระ​บาละ, แก่​ดวง​อาทิตย์, ดวง​จันทร์, แก่​ดวง​ดาว​สิบ​สอง​ราศี, และ​แก่​ดวง​ดารา​ทั้ง​ปวง​ใน​ท้องฟ้า.” พวก​เขา​มี​เรือน​สำหรับ “พวก​น้อง​สวาท [“โสเภณี​ชาย,” ล.ม.] . . . อยู่​ริม​โบสถ์​แห่ง​พระ​ยะโฮวา” และ​ได้ “เผา​ลูก​ชาย​หรือ​ลูก​หญิง​ของ​เขา​บูชา​แก่​พระ​โมเล็ค.”—2 กษัตริย์ 23:4-10.

นัก​โบราณคดี​ได้​พบ​รูป​ปั้น​ดิน​เผา​หลาย​ร้อย​ชิ้น​ใน​เยรูซาเลม​และ​ยูดาห์ โดย​ส่วน​ใหญ่​พบ​ใน​ซาก​บ้าน​เรือน​ส่วน​ตัว. รูป​ปั้น​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​เป็น​รูป​ผู้​หญิง​เปลือย​ซึ่ง​มี​หน้า​อก​ใหญ่​เกิน​ธรรมดา. ผู้​เชี่ยวชาญ​ชี้​ว่า​รูป​ปั้น​เหล่า​นี้​เป็น​รูป​ของ​อัชโทเรท​และ​อะเชรา เทพ​ธิดา​แห่ง​การ​เจริญ​พันธุ์. เชื่อ​กัน​ว่า​รูป​ปั้น​ดัง​กล่าว​เป็น “เครื่อง​ลาง​ที่​ช่วย​ให้​ตั้ง​ครรภ์​และ​กำเนิด​บุตร.”

ชาว​อิสราเอล​มี​ทัศนะ​เช่น​ไร​ต่อ​ศูนย์กลาง​การ​นมัสการ​แบบ​ผสมผสาน​เหล่า​นี้​ใน​ท้องถิ่น? ศาสตราจารย์​เอฟราอิม สเติร์น แห่ง​มหาวิทยาลัย​ฮีบรู​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า ที่​นมัสการ​บน​เนิน​สูง​เหล่า​นี้​คง​ได้​สร้าง​ขึ้น​เพื่อ “อุทิศ​แด่​พระ​ยาห์เวห์ [พระ​ยะโฮวา].” ข้อ​ความ​จารึก​ที่​พบ​ใน​โบราณ​สถาน​ต่าง ๆ ดู​เหมือน​สนับสนุน​ความ​เห็น​ดัง​กล่าว. ตัว​อย่าง​เช่น ข้อ​ความ​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ข้า​ขอ​อวย​พร​ท่าน​ใน​นาม​ของ​พระ​ยาห์เวห์​แห่ง​ซะมาเรีย​และ​ใน​นาม​อะเชรา​ของ​พระองค์” และ​อีก​ข้อ​ความ​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ข้า​ขอ​อวย​พร​ท่าน​ใน​นาม​ของ​พระ​ยาห์เวห์​แห่ง​เท​มาน​และ​ใน​นาม​อะเชรา​ของ​พระองค์!”

สอง​ตัว​อย่าง​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ชาว​อิสราเอล​ได้​อะลุ่มอล่วย​โดย​ผสมผสาน​การ​นมัสการ​อัน​บริสุทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เข้า​กับ​กิจ​ปฏิบัติ​นอก​รีต​ที่​น่า​ละอาย. ผล​ที่​ได้​คือ​ความ​เสื่อม​ทาง​ศีลธรรม​และ​การ​นมัสการ​ที่​เป็น​มลทิน. พระเจ้า​ทรง​มี​ทัศนะ​เช่น​ไร​ต่อ​การ​นมัสการ​แบบ​อะลุ่มอล่วย​เช่น​นั้น?

ปฏิกิริยา​ของ​พระเจ้า​ต่อ​การ​นมัสการ​แบบ​ผสมผสาน

พระเจ้า​ทรง​แสดง​ความ​ไม่​พอ​พระทัย​และ​ทรง​กล่าว​ประณาม​การ​นมัสการ​ที่​เสื่อม​ทราม​ของ​ขาว​อิสราเอล​โดย​ตรัส​ผ่าน​ผู้​พยากรณ์​ยะเอศเคล​ว่า “ใน​บรรดา​ที่​เจ้า​อาศัย​อยู่​หัวเมือง​ทั้ง​ปวง​ก็​จะ​ต้อง​พัง​ทำลาย, และ​ที่​สูง​ทั้ง​ปวง​จะ​ต้อง​สาบสูญ, เพื่อ​แท่น​ทั้ง​ปวง​ของ​เจ้า​จะ​ได้​อันตรธาน​สาบสูญ​และ​รูป​เคารพ​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า​จะ​ต้อง​หัก​พัง​ทำลาย​และ​รูป​สลัก​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า​จะ​ต้อง​ฟัน​เสีย, และ​การ​ทั้ง​ปวง​ของ​เจ้า​จะ​ต้อง​ฉิบหาย​ไป.” (ยะเอศเคล 6:6) ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ถือ​ว่า​การ​นมัสการ​เช่น​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​อาจ​ยอม​รับ​ได้​เลย​และ​ทรง​ปฏิเสธ​การ​นมัสการ​เช่น​นั้น.

พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​การ​ทำลาย​นั้น​จะ​เกิด​ขึ้น​อย่าง​ไร. “นี่​แน่ะ, เรา​จะ​ใช้ . . . นะบูคัดเนซัร​กษัตริย์​เมือง​บาบูโลน​ผู้​เป็น​คน​ใช้​ของ​เรา . . . แล​เรา​จะ​พา​เขา​ทั้ง​หลาย​มา​ต่อ​สู้​ประเทศ​นี้, แล​ต่อ​สู้​ชาว​เมือง​ประเทศ​นี้, แล​ต่อ​สู้​บรรดา​เมือง​ทั้ง​ปวง​อัน​ล้อม​รอบ​นั้น, แล​เรา​จะ​ทำลาย​เมือง​ทั้ง​ปวง​นั้น​ให้​สิ้นเชิง . . . แล​ประเทศ​นี้​ทั้ง​หมด​จะ​เป็น​ร้าง​ทั้ง​นั้น.” (ยิระมะยา 25:9-11) จริง​ตาม​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์ ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. ชาว​บาบิโลน​ได้​มา​ต่อ​สู้​เยรูซาเลม​และ​ทำลาย​เมือง​นี้​กับ​พระ​วิหาร​อย่าง​สิ้นเชิง.

เกี่ยว​กับ​การ​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม ศาสตราจารย์​สเติร์น​ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​ได้​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ทาง​โบราณคดี “แสดง​ชัด​ถึง​สิ่ง​ที่​กล่าว​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล (2 กษัตริย์ 25:8; 2 โครนิกา 36:18, 19) เกี่ยว​กับ​การ​ทำลาย, การ​เผา, และ​การ​พัง​ทลาย​ของ​บ้าน​เรือน​และ​กำแพง.” เขา​ให้​ข้อ​สังเกต​อีก​ว่า “หลักฐาน​ทาง​โบราณคดี​ของ​ช่วง​ดัง​กล่าว​ใน​ประวัติศาสตร์​เยรูซาเลม . . . ถือ​ได้​ว่า​เป็น​หลักฐาน​ที่​น่า​ทึ่ง​ที่​สุด​เท่า​ที่​พบ​ใน​สถาน​ที่​ใด ๆ ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.”

มี​บทเรียน​อะไร​สำหรับ​เรา?

บทเรียน​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​สำหรับ​เรา​คือ พระเจ้า​ไม่​ทรง​ยอม​รับ​การ​นมัสการ​ซึ่ง​พยายาม​จะ​ผสมผสาน​คำ​สอน​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก​เข้า​กับ​หลัก​คำ​สอน, ธรรมเนียม​ประเพณี, หรือ​พิธีกรรม​ของ​ศาสนา​อื่น ๆ. นี่​เป็น​บทเรียน​ที่​อัครสาวก​เปาโล​เข้าใจ​ชัดเจน​และ​นำ​มา​ใช้​กับ​ตัว​ท่าน​เอง. ท่าน​ถูก​เลี้ยง​ดู​ให้​เป็น​ฟาริซาย​ชาว​ยิว ได้​รับ​การ​สอน​และ​ฝึกฝน​ให้​ชำนาญ​ใน​ข้อ​กำหนด​กฎหมาย​ของ​นิกาย​นี้. เมื่อ​ใน​ที่​สุด​ท่าน​ได้​มา​เรียน​และ​ยอม​รับ​ว่า​พระ​เยซู​คือ​พระ​มาซีฮา​ตาม​สัญญา ท่าน​ทำ​อย่าง​ไร? ท่าน​กล่าว​ว่า “สิ่ง​ใด​ที่​เคย​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ข้าพเจ้า ข้าพเจ้า​ถือ​ว่า​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ไร้​ประโยชน์​เพราะ​เห็น​แก่​พระ​คริสต์.” ท่าน​ละ​ทิ้ง​แนว​ทาง​เดิม ๆ และ​เข้า​มา​เป็น​ผู้​ติด​ตาม​ที่​ภักดี​ของ​พระ​คริสต์.—ฟิลิปปอย 3:5-7.

ใน​ฐานะ​มิชชันนารี​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ที่​ต่าง ๆ เปาโล​คุ้น​เคย​ดี​กับ​กิจ​ปฏิบัติ​ทาง​ศาสนา​และ​ศีลธรรม​จรรยา​ตาม​หลัก​ปรัชญา​ของ​ผู้​คน​หลาก​หลาย​เชื้อชาติ. ฉะนั้น ท่าน​จึง​เขียน​ไป​หา​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์​ดัง​นี้: “ความ​สว่าง​จะ​รวม​กับ​ความ​มืด​ได้​อย่าง​ไร? พระ​คริสต์​กับ​เบลิอัล​เข้า​กัน​ได้​อย่าง​ไร? คน​ที่​เชื่อ​มี​ส่วน​กับ​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​ได้​อย่าง​ไร? พระ​วิหาร​ของ​พระเจ้า​มี​ข้อ​ตก​ลง​กับ​รูป​เคารพ​ได้​อย่าง​ไร? . . . พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ว่า ‘ฉะนั้น จง​แยก​ออก​มา​จาก​พวก​เขา​และ​อยู่​ต่าง​หาก และ​เลิก​แตะ​ต้อง​สิ่ง​ที่​ไม่​สะอาด’ ‘และ​เรา​จะ​รับ​พวก​เจ้า​ไว้.’ ”—2 โครินท์ 6:14-17.

เมื่อ​เรา​เข้าใจ​แล้ว​ว่า​พระเจ้า​ทรง​ถือ​ว่า​วิธี​ที่​เรา​นมัสการ​พระองค์​เป็น​เรื่อง​สำคัญ เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘พระเจ้า​ทรง​ยอม​รับ​การ​นมัสการ​แบบ​ไหน? ฉัน​จะ​ใกล้​ชิด​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร? โดย​ส่วน​ตัว​แล้ว​ฉัน​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​นมัสการ​พระเจ้า​อย่าง​ที่​พระองค์​ทรง​ยอม​รับ?’

พยาน​พระ​ยะโฮวา​ยินดี​จะ​ช่วย​คุณ​หา​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้​และ​คำ​ถาม​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล. เรา​ขอ​เชิญ​คุณ​ติด​ต่อ​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​ใกล้​บ้าน​คุณ​หรือ​เขียน​มา​ยัง​ผู้​จัด​พิมพ์​วารสาร​นี้​เพื่อ​ขอ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ฟรี​ใน​เวลา​และ​สถาน​ที่​ที่​คุณ​สะดวก.

[ภาพ​หน้า 10]

สถาน​ที่​สำหรับ​นมัสการ​รูป​เคารพ​ใน​สมัย​โบราณ​ที่​เทลอารัด อิสราเอล

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Garo Nalbandian

[ภาพ​หน้า 10]

รูป​ปั้น​เทพ​ธิดา​อัชโทเรท​จาก​บ้าน​เรือน​ของ​ชาว​ยูดาห์​โบราณ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photograph © Israel Museum, Jerusalem; courtesy of Israel Antiquities Authority